สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : หนึ่งศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต

โดย ทรายแก้ว ทิพากร

ภาพประกอบจากเว็บไซต์ https://tanken.com/shinsai.html

.

ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกที่ยังมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งหากเกิดขึ้นในทะเลก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ และหากแผ่นดินไหวมีความรุนแรงมาก ทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นวงกว้าง เราเรียกเหตุการณ์นั้นว่าเป็นภัยพิบัติ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นได้ผ่านภัยพิบัติอย่างรุนแรงมาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 1 กันยายน 1923 แผ่นดินไหวที่ย่านคันโต ขนาดความรุนแรง 7.9 ริคเตอร์ มีผู้เสียชีวิตราว 105,000 คน ส่วนใหญ่เกิดจากไฟไหม้
  • ครั้งที่ 2 วันที่ 17 มกราคม 1995 แผ่นดินไหวในย่านฮันชิน-อาวาจิ ขนาดความรุนแรง 7.3 ริคเตอร์ มีผู้เสียชีวิตราว 5,500 คน ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดอากาศหายใจและสิ่งปลูกสร้างถล่ม
  • ครั้งที่ 3 วันที่ 11 มีนาคม 2011 แผ่นดินไหวทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่น ความรุนแรง 9 ริคเตอร์ มีผู้เสียชีวิตราว 18,000 ส่วนใหญ่เกิดจากการจมน้ำ

               เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติในแต่ละครั้ง จะมีการศึกษาผลกระทบจากภัยพิบัติเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ปรากฎการณ์ธรรมชาติสร้างความเสียหายต่อชีวิตของผู้คนมากเกินไป ตลอดจนศึกษาวิธีการจัดการในการรับมือกับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อหาทางปรับปรุงวิธีการบรรเทาทุกข์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนที่ยังมีการศึกษากันน้อยคือผลกระทบทางสังคมจากภัยพิบัติ เนื่องจากอาจต้องรอเวลายาวนาน หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว จึงจะสามารถเห็นผลกระทบทางสังคมได้อย่างชัดเจน ในโอกาสของการครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่ในย่านคันโตของญี่ปุ่น ศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษาได้จัดการสัมมนาเรื่อง การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : หนึ่งศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม

เราสามารถสรุปผลจากการสัมมนาได้ดังนี้

 ในปี 1923 แผ่นดินไหวในบริเวณใกล้กรุงโตเกียว ในช่วงนั้นสังคมญี่ปุ่นได้ผ่านการปฏิรูปตามแบบตะวันตก เปลี่ยนผ่านจากยุคเมจิ (1868-1912) เข้าสู่ยุคของพระจักรพรรดิไทโช (1912-1925) จากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่นก้าวขึ้นสู่การได้รับการยอมรับว่าอยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับประเทศตะวันตก ญี่ปุ่นได้เข้าไปรุกรานประเทศเกาหลี และยึดครองบางส่วนของจีนและรัสเซีย อีกทั้งยังได้เกณฑ์แรงงานจากเกาหลีเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของแรงงาน นักศึกษา และผู้ฝึกงานในรูปแบบต่างๆ  

บทเรียนที่เกิดจากแผ่นดินไหวสามารถแบ่งออกเป็นสองส่วน ในส่วนแรกเป็นเรื่องความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติและความเสียหายที่เกิดจากฝีมือมนุษย์   ส่วนที่สองเป็นการสะท้อนภาพทัศนคติของชาวญี่ปุ่นต่อแผ่นดินไหวครั้งนี้และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุแผ่นดินไหว

               ในส่วนแรก ความเสียหายพื้นฐานจากปรากฏการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากแรงสั่นสะเทือนซึ่งกินเวลานานถึง 8 นาที  เกิดคลื่นสึนามิ แผ่นดินถล่ม และไฟไหม้  เนื่องจากแผ่นดินไหวเกิดในช่วงเที่ยงวัน เป็นเวลาที่ผู้คนกำลังมีการจุดไฟเพื่อหุงหาอาหารกัน เมื่อสิ่งปลูกสร้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ถล่มลงมาจึงเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟลุกลามโดยง่าย  ทั้งยังมีสารเคมีของโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยซึ่งไหลออกมาเมื่อสิ่งปลูกสร้างถล่ม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่านที่มีไฟไหม้ลุกลามอย่างกว้างขวางเป็นย่านที่มีบ้านเรือนหนาแน่น โดยเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วันกว่าจะสามารถควบคุมเพลิงได้ คิดเป็นพื้นที่ถูกเพลิงไหม้ 34.7 ตร.กม. ได้มีการศึกษาบทเรียนจากเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนที่มักขนย้ายสมบัติข้าวของออกจากบ้านเพื่อหนีไฟ พฤติกรรมนี้ทำให้ถนนหนทางเต็มไปด้วยข้าวของ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร

               ท่ามกลางความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ยังมีความเสียหายที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เกิดข่าวลือว่ามีการวางเพลิงและการระเบิดในจุดต่างๆเป็นฝีมือของชาวเกาหลี  ทั้งยังวางยาพิษในบ่อน้ำทำให้คนจำนวนมากไม่กล้าดื่มน้ำ ชาวเกาหลียังก่อการจลาจลให้เกิดความวุ่นวายต่างๆนานา ความลือนี้ทำให้เกิดการประทุษร้ายต่อชาวเกาหลี มีกลุ่มคนออกมาตั้งศาลเตี้ย ตรวจจับ ทำร้าย และสังหารคนที่ดูคล้ายชาวเกาหลี ทั้งๆที่เหยื่อบางคนก็เป็นชาวญี่ปุ่น ข่าวลือเหล่านี้ยังก่อความสับสนต่อเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือและรักษาความปลอดภัย กว่าเจ้าหน้าที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ต้องใช้เวลาถึง 3 วัน  แม้ต่อมาจะมีการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ที่ทำผิด แต่เชื่อกันว่าจำนวนเหยื่อทั้งชาวเกาหลี จีน และญี่ปุ่นมีจำนวนทั้งหมดกว่า 1,000 คน จากเหตุการณ์นี้ ในเวลาต่อมานำไปสู่ความระมัดระวังในการเผยแพร่ข่าว และตรวจสอบข่าวลือให้ชัดเจนก่อนที่จะเผยแพร่ออกไป

               บทเรียนจากความเสียหายในครั้งนี้ทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นเกี่ยวกับธรรมชาติของภัยพิบัติ แม้ว่าไฟไหม้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในญี่ปุ่น และชาวญี่ปุ่นค่อนข้างมีความเชี่ยวชาญในการดับเพลิง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้อันเนื่องจากแผ่นดินไหวนี้ การจัดการดับเพลิงแบบสมัยใหม่ที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงต้องเผชิญกับความท้าทายที่ควรได้รับการถอดบทเรียน ทั้งในส่วนของการจัดการกับอุปกรณ์ การวางระบบส่งน้ำเพื่อดับเพลิง การจัดการพนักงานดับเพลิง การจัดการเรื่องการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ ลักษณะของอาคารบ้านเรือนที่อยู่กันอย่างหนาแน่น ทำด้วยวัสดุที่ติดไฟง่าย และพฤติกรรมของมนุษย์ในช่วงที่มีเหตุเพลิงไหม้ เช่น การขนข้าวของออกมาวางไว้ในพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนอคติที่อาจนำไปสู่การแพร่กระจายข่าวลือ

               ในส่วนที่สอง ดังได้เกริ่นไว้ในตอนต้นว่าในทศวรรษ 1920 เมื่อเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหวนั้น ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม เพื่อให้พ้นจากการถูกยึดครองอย่างสมบูรณ์โดยประเทศตะวันตกที่เข้ามารุกราน ยึดเอาเมืองต่างๆเป็นอาณานิคม และแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน ญี่ปุ่นได้พัฒนาตนเองตามแบบประเทศมหาอำนาจตะวันตกเพื่อให้ได้รับการยอมรับ และญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง แต่ความทะเยอทะยานของญี่ปุ่นที่จะขยายอิทธิพลออกไปนอกเกาะญี่ปุ่น สร้างความกังวลให้แก่สหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังต้องการขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้เช่นกัน สหรัฐฯมองจีนเป็นตลาดสำหรับสินค้าของตน และต้องการให้ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ที่ตนเองจะสามารถเข้ามาแชร์ผลประโยชน์กับทุกฝ่ายได้อย่างราบรื่น จึงยินดีที่จะประสานประโยชน์กับญี่ปุ่นที่กำลังมีอิทธิพลในภูมิภาคนี้เช่นกัน  ส่วนประเทศฝรั่งเศสได้สานสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่น เพื่อต้องการร่วมมือกันในการปราบปรามกระแสต่อต้านอาณานิคมในดินแดนเมืองขึ้น เช่นในเวียดนาม และในเกาหลี กิจกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการยอมรับญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นประเทศที่ทัดเทียมกับเจ้าอาณานิคมตะวันตก

               ในส่วนภายในประเทศ การพัฒนาตนเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคมโลก ทำให้สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนจากสังคมอนุรักษ์นิยมที่ธำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และค่านิยมเดิมๆ ไปสู่วิถีชีวิตและค่านิยมแบบตะวันตก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สร้างความอึดอัดให้แก่กลุ่มคนที่ต้องการธำรงรักษาวิถีชีวิตแบบเดิม เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางเช่นนี้ จึงเกิดกระแสความเชื่อเผยแพร่กันออกไปว่า นี่คือการลงทัณฑ์จากพระเจ้า ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะสามารถดึงสังคมญี่ปุ่นให้หันกลับไปหาระบบคุณค่าแบบเดิมๆ และเปิดโอกาสให้กลุ่มอำนาจนิยมใช้เป็นข้ออ้างในการขับเคลื่อนประเทศไปได้ถึงขนาดนั้น

               ก่อนเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวในปี 1923 สังคมญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟูไปตามกระแสแนวคิดเสรีนิยม การปกครองแบบประชาธิปไตย ชาวญี่ปุ่นมีวิถีชีวิตที่หลงระเริงไปกับสิทธิเสรีภาพ เช่น เรียกร้องสิทธิสตรี สิทธิของแรงงาน ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบอุตสาหกรรมนำไปสู่วิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม ปัจเจกชนนิยม มีศีลธรรมที่เสื่อมโทรม เช่น เกิดสถานบันเทิงในหลากหลายรูปแบบ มีการบริโภคและแต่งกายแบบตะวันตก ดังนั้นหลังจากเหตุแผ่นดินไหว บรรดานักคิดคนสำคัญๆพากันกล่าวว่า ญี่ปุ่นถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากความมัวเมาลุ่มหลงในวัตถุนิยม ความพังพินาศของกรุงโตเกียวเป็นโอกาสของการสร้างเมืองหลวงในอุดมคติขึ้นใหม่ ทั้งยังเป็นโอกาสของการฟื้นฟูจิตวิญญาณและศีลธรรมของญี่ปุ่น

               การฟื้นฟูจิตวิญญาณและศีลธรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและนำโดยรัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลเป็นผู้กำหนดกรอบด้วยการประกาศพระราชกำหนดว่าด้วยการปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งชาติ (Imperial Rescript on the Cultivation of National Spirit, 1923) ซึ่งสอดคล้องกับพระราชกำหนดว่าด้วยการศึกษา (Imperial Rescript on Education) ซึ่งได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ในปี 1890 หรือสมัยพระจักรพรรดิเมจิ แนวทางของการฟื้นฟูจิตวิญญาณและศีลธรรมมีแนวคิดของลัทธิชินโตเป็นพื้นฐาน ทำให้พระจักรพรรดิถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง  มาตรการดังกล่าวเน้นความจงรักภักดีและอุทิศตน เสียสละเพื่อส่วนรวม เคร่งครัดในระเบียบวินัยและคุณธรรม ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เป็นต้น มีการปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้ลงไปถึงระดับรากหญ้า และส่งถึงเยาวชนตั้งแต่ยังเด็กๆผ่านทางระบบโรงเรียน   จึงอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่ในปี 1923 ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ยังส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง ทั้งยังเปิดคำถามให้เราเฝ้าดูต่อไปว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติ 311 ที่ย่านโทโฮกุ เมื่อปี 2011 จะทำให้สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนไปอีกเพียงใด

               เมื่อย้อนกลับมาดูกรณีของประเทศไทย ภัยพิบัติในเมืองไทยส่วนใหญ่เกิดจากน้ำท่วม ดินถล่ม และพายุ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมักเป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงวัย และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติได้น้อยกว่าบุคคลทั่วไป การศึกษาเกี่ยวกับภัยพิบัติในเมืองไทยได้ข้อสรุปว่า สังคมไทยยังขาดการจัดการองค์ความรู้ในการรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งอาจเกิดเนื่องจากการขาดความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ และขาดความสำนึกในการเตรียมความพร้อม ทำให้บทเรียนเกี่ยวกับการจัดการในช่วงภัยพิบัติได้รับการสื่อสารออกไปเป็นช่วงๆเท่านั้น การเตรียมความพร้อมมีขึ้นเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบาง และไม่มีการเชื่อมโยงการจัดการกับภัยพิบัติระหว่างระดับนโยบาย ท้องถิ่น และชุมชน

บทเรียนที่ได้จากการศึกษาแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ใช่เพียงเพื่อการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีก หรือเพื่อพัฒนาการจัดการบรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต แต่การเข้าใจการเมืองและวัฒนธรรมของสังคมในขณะนั้นอาจช่วยให้การจัดการรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  


อ้างอิง :

  1. กฤตพล วิภาวีกุล. (2023, สิงหาคม 23). การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : 1 ศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต. สัมมนาจัดโดยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพ.
  2. สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ. (2023, สิงหาคม 23). การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : 1 ศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต. สัมมนาจัดโดยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพ.
  3. Alexandre Barthel. (2023, สิงหาคม 23). การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : 1 ศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต. สัมมนาจัดโดยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพ.
  4. Jun Suzuki. (2023, สิงหาคม 23). การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : 1 ศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต. สัมมนาจัดโดยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพ.

บทความล่าสุด

“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ การยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวจีนเติบโตขึ้นถึง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลูกเล่นหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเล่น “คำผวน” ซึ่งเป็นการเล่นคำโดยการสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะต้น กับเสียงสระและตัวสะกดและวรรณยุกต์ของคำจำนวน 2 พยางค์ขึ้นไป เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีควาหมายก็ได้

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์
2568
กระแสเอเชีย
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนที่ติดตั้งกลางสี่แยกห้วยขวางบนโลกอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และหลายฝ่ายให้ความสนใจ กระทั่งสำนักงานเขตห้วยขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกา

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา

ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์
2567
กระแสเอเชีย