สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

การเหยียดชาติพันธุ์-ศาสนา: ปัจจัยอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญาในพม่า

โดย กรกช เรือนจันทร์


กรณีปัญหาชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ ชาวโรฮิงญาถูกลิดรอนความมั่นคงของมนุษย์อันเป็นสิ่งที่คนทุกคนควรได้รับ ไม่ว่าจะเรื่องความปลอดภัย ปัญหาเรื้อรัง อย่างเช่น ความหิว โรคภัย การถูกควบคุม การปกป้องจากการบ่อนทำลาย หรืออุบัติเหตุต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ประเด็นปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ที่ชาวโรฮิงญาประสบมี 6 ประเด็นจาก 7 ประเด็นสำคัญที่ United Nations Development Programme (UNDP) (1994) ได้แยกประเภทไว้ ได้แก่ ปัญหาการถูกกีดกันทางการเมือง การไม่ได้รับสิทธิให้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การเข้าไม่ถึงโภชนาการที่เหมาะสม ปัญหาทางสุขภาพ การถูกละเมิดความปลอดภัยส่วนบุคคล และปัญหาความปลอดภัยในชุมชน

ชาวโรฮิงญาต้องตรากตรำความไม่มั่นคงต่าง ๆ จากการที่พวกเขาถูกไม่นับรวมในกระบวนการทางการเมืองและการที่รัฐบาลมีนโยบายกีดกันพวกเขา อย่างการที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายพลเมืองใหม่ในปี 1982 ที่ไม่ระบุว่าชาวโรฮิงญาเป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ในแผ่นดินพม่า ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่ถูกนับรวมเป็นชาวพม่า ไม่มีสัญชาติ และ กลายเป็นคนไร้รัฐในที่สุด (อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ, 2013, 7) ซ้ำร้ายชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งต้องออกเดินทางจากพม่าและมาให้ชีวิตบนเรือดังปรากฏการณ์เรือมนุษย์ในปี 2558 บางส่วนได้ตกเป็นเหยื่อวงจรอุบาทว์ของการค้ามนุษย์ เมื่อพิจารณาประเด็นปัญหาที่ชาวโรฮิงญาประสบจะสังเกตได้ว่าเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดจากการกีดกันและความไร้สัญชาติ ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา คือ การให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิที่จะมีสัญชาติซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการได้รับการยอมรับในฐานะพลเมืองเป็นสิ่งที่จะทำให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิในการดำรงชีวิต ได้รับความเท่าเทียมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ถึงกระนั้นทางออกของปัญหามนุษยชนระดับโลกดังกล่าวจะดูเรียบง่ายแต่กลับทำให้เป็นจริงได้ยาก เพราะปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา คือ การเหยียดชาติพันธุ์-ศาสนาในพม่า

.

“ทางออกของปัญหามนุษยชนดูเรียบง่ายแต่กลับทำให้เป็นจริงได้ยาก
เพราะปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา คือ การเหยียดชาติพันธุ์-ศาสนาในพม่า”

.

การเหยียดชาติพันธุ์และศาสนาที่มีความรุนแรงในปัจจุบันจนเกิดปัญหาต่อชาวโรฮิงญา กล่าวได้ว่าเป็นมรดกจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในช่วงที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม (ค.ศ.1824-1948) ได้มีชาวต่างชาติเข้ามาในพม่าจำนวนมาก เช่น ชาวจีนและชาวอินเดียเป็นพิเศษ Linda Crossman (2014, 17) กล่าวว่าชาวอินเดียมีบทบาทสำคัญเพราะอังกฤษใช้ชาวอินเดียเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการดูแลพม่า อย่างในเขตหุบเขาตอนใต้ “Southern Valleys” ที่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย การถูกชาวต่างชาติควบคุมดูแลในช่วงอาณานิคมทำให้ชาวพม่าไม่พอใจ อีกทั้งยังมีความไม่เท่าเทียมและความโกรธแค้นจากการถูกกดขี่จากทั้งโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจ อย่างกรณีที่ชาวพม่าจำนวนมากได้กลายเป็นลูกหนี้ต่อระบบกู้ยืมเงินของชาวอินเดีย ส่งผลให้ผู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้คืนต้องสูญเสียที่ดินทำนาไป ความเกลียดกลัวคนต่างชาติในปัจจุบันจึงเกิดขึ้นและบ่มเพาะมาอย่างยาวนานจากความไม่พอใจชาวต่างชาติที่เข้ามามีอภิสิทธิและสถานะเหนือกว่าชาวพม่าในพื้นที่ที่เป็นบ้านเกิดของตน

 ความเกลียดชังนี้ส่งผลต่อชาวโรฮิงญาโดยตรง เพราะถึงแม้บรรพบุรุษชาวโรฮิงญาจะเข้ามาตั้งรกรากในพม่าตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 7 และมีความสัมพันธ์กับพม่ามาหลายศตวรรษ แต่การที่ชาวโรฮิงญามีลักษณะทางกายภาพ ภาษา วัฒนธรรมและศาสนาที่คล้ายกับคนในแถบเอเชียใต้ ทำให้ชาวพม่าไม่เห็นพวกเขาเป็นชาวพม่าดั้งเดิม แต่กลับเห็นเป็นชาวบังคลาเทศและชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาตอนช่วงอาณานิคม (เอนกชัย เรืองรัตนากร, 2015, 78)

ภายหลังได้รับเอกราช การเหยียดชาติพันธุ์ในพม่ายังได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลในปี ค.ศ. 1962 นายพลเนวิน (Ne Win) อ้างความชอบธรรมจากปัญหาชนกลุ่มน้อยเข้ายึดอำนาจรัฐบาลอูนุ นายพลเนวินมีทัศนคติกับชนกลุ่มน้อยในด้านลบและไม่ยอมรับการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานวัฒนธรรมที่แตกต่าง ดูได้จากคำพูดของนายพลท่านนี้ในวันที่ทำรัฐประหาร “federalism is impossible—it will destroy the Union” (International Crisis Group, 2011,15) ด้วยเหตุนี้ เขาจึงใช้นโยบายวิถีพม่าสู่สังคมนิยม สร้างระบบที่รวมแนวคิดชาตินิยม สังคมนิยมและพุทธศาสนา มี “disciplined democracy” (Linda Crossman 2014, 21) ที่บอกว่าชนกลุ่มน้อยและชาวต่างชาติจะยึดครองพม่าหากไม่ถูกควบคุมโดยทหารและนโยบายกระบวนการทำให้เป็นพม่า (Burmanization) ที่พยายามที่จะลบอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์อื่นและคงไว้ซึ่งความเป็น “พม่า” อย่างเดียว

ในประเด็นของศาสนา พุทธศาสนามีความสำคัญต่อพม่ามาก ไม่ว่าจะในช่วงก่อนยุคอาณานิคม ช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หรือช่วงหลังได้รับเอกราชแล้ว สำหรับช่วงก่อนเป็นอาณานิคม พุทธศาสนามีอิทธิพลในทุกแง่มุมของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวิถีการดำเนินชีวิต การศึกษา สถานะทางสังคม ล้วนถูกกำหนดโดยคำสอนทางพุทธศาสนา รวมถึงการปกครองก็ใช้หลักการทางพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันพุทธศาสนาก็ได้รับการปกป้องจากชนชั้นปกครองเช่นกัน

ต่อมาในช่วงอาณานิคม พุทธศาสนากลับถูกลดความสำคัญลงเพราะมีการศึกษาแบบตะวันตกและศาสนาคริสต์เข้ามาในพม่า ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนพม่าที่เปลี่ยนเป็นศาสนาคริสต์และคนพม่าที่ยังศรัทธาในพุทธศาสนา ถึงขนาดที่คนพม่าส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธกล่าวถึงคนที่เปลี่ยนศาสนาว่าเป็น “disloyal citizens of the Buddhist kingdom of Burma” (Linda Crossman 2014, 16)   ถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาในช่วงนี้จะถูกสั่นคลอน แต่พระสงฆ์ยังคงมีบทบาทสำคัญทางการเมือง เพราะหลังจากที่ถูกลดบทบาทและความศักดิ์สิทธิ์ลง พระสงฆ์ได้ออกมาต่อต้านแนวทางแบบตะวันตกและกลายเป็นกำลังชาตินิยมที่สำคัญในการต่อต้านเจ้าอาณานิคมอย่างเช่น พระสงฆ์ที่การปลุกระดมมวลชนเพื่อต่อต้านอังกฤษของพระสงฆ์ อู โอตตะมะ

ภายหลังพม่ามีเอกราชเป็นของตัวเอง พุทธศาสนาก็ได้รับการพลิกฟื้นให้เป็นศูนย์รวมทางจิตใจและมีบทบาทต่อวิถีชีวิตชาวพม่าอีกครั้งส่งผลให้พระสงฆ์กลับมาเป็นผู้นำทางจิตใจและผู้มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการเมืองอย่างเต็มขั้น อย่างไรก็ดี เพราะพม่าเพิ่งผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายจากการตกเป็นเมืองขึ้น รวมถึงผลจากการใช้นโยบาย “Burmanization” ประชาชนเลยมีกำแพงต่อการเปิดรับความแตกต่างที่หนาขึ้น อีกทั้งการเหยียดชาติพันธุ์และศาสนายังรุนแรงขึ้นอีกเพราะการเกิดขึ้นอุดมการณ์พุทธศาสนา-ชาตินิยมสุดโต่ง ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของพระอู วีระธู ผู้ขับเคลื่อนขบวนการ969 ขบวนการนี้ได้ถ่ายทอดและสั่งสอนอุดมการณ์ต่อต้านชาวมุสลิมและความเกลียดกลัวชาวต่างชาติให้แก่พุทธศาสนิกชน สร้างภาพลักษณ์ชาวมุสลิมให้เป็นศัตรู ด้วยความหวังที่จะคงไว้ซึ่ง “ความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติและศาสนา” (เอนกชัย เรืองรัตนากร, 2015, 84)  ถึงแม้ว่าคำสั่งสอนของพระวีระธูจะแฝงไปด้วยความเหยียดชาติพันธุ์และศาสนาและมีนัยยะทางการเมือง อย่างเช่นการโยนความผิดเรื่องความเสื่อมโทรมทางวัฒนธรรมและปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำให้เป็นฝีมือของชาวโรฮิงญา พระวีระธูและขบวนการ969 ยังคงได้รับความเคารพศรัทธา ด้วยเหตุผลที่ว่าพระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจและเป็นผู้ชี้นำสั่งสอนชาวพม่าที่นับถือศาสนาพุทธอันเป็นอัตลักษณ์ของชาวพม่าและเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมและความเป็นชาติพม่าอีกทั้งความคิดเหยียดเชื้อชาติและศาสนาที่เป็นมรดกจากช่วงอาณานิคมและนโยบายของนายพลเนวินทำให้ขบวนการมีผู้สนับสนุนจำนวนมาก

เหตุการณ์ต่าง ๆ ของพม่าที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเรื่องประวัติศาสตร์การตกเป็นอาณานิคม การปกครองภายใต้รัฐบาลทหาร และกลุ่มพุทธศาสนา-ชาตินิยมสุดโต่ง ได้หล่อหลอมความคิดชาวพม่าให้ไม่ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันแม้จะมีความแตกต่าง ในทางกลับกันยังสร้างความคิดที่ว่าพม่าจะอยู่รอดได้ ถ้าทุกคนเป็น “พม่า” ที่มีวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาเดียวกัน ฝังความเกลียดกลัวความแตกต่างและการเหยียดชาติพันธุ์-ศาสนาในใจประชาชน การเหยียดศาสนา-ชาติพันธุ์จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญาเพียงเพราะพวกเขาไม่มีความเป็น “พม่า” คือไม่นับถือศาสนาพุทธ และมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคนบังคลาเทศ


.

อ้างอิง

Akkanut Wantanasombat, “The Rohingya from Burmese Perspective” (Southeast Asia Seminar on Catching up the Southeast Asian new body: States, markets and public spheres at Bangkok-Phuket, Thailand on 25-29 September 2013), 1-28.

International Crisis Group (ICG), Myanmar: A New Peace Initiative, Asia Report N°214 (30 November 2011), 1-29. https://d2071andvip0wj.cloudfront.net/214-myanmar-a-new-peace-initiative.pdf

Linda Crossman, “Myanmar’s Rohingya refugees the search for human security” (M.A., Georgetown University, 2014), 1-104.

UNDP, 1994, Human Development Report 1994: New Dimensions of Human Security. http://www.hdr.undp.org/en/content/human-development-report-1994.

เอนกชัย เรืองรัตนากร, “บทบาทของอุดมการณ์”พุทธศาสนา-ชาตินิยมสุดโต่ง” กับความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธยะไข่กับชาวมุสลิม โรฮิงญา” วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี ที่11, ฉบับที่2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2558): 73-98.


บทความล่าสุด

น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
-
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา

ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ (บทความนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอนก่อนหน้า >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)) 3. ความกังวลและความท้าทายของไทยเมื่อฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน           นับแต่ไทยประกา

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ทุกท่านคงทราบข่าวการเดินทางมาไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว การเดินทางมาในครั้

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น

โดย ดร.ทรายแก้ว ทิพากร                                                                                         พรรคการเมืองของทุกประเทศมีความจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อให้สามารถเล่นบทบาททางการเมืองของตน แต่บทบาทของเงินทุนทางการเมืองเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อการเมืองมากที่สุด ทุ

ดร.ทรายแก้ว ทิพากร
2567
กระแสเอเชีย