เมียนมากำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๓๗ ล้านคน และพรรคการเมืองประมาณ ๙๗ พรรค ที่ยื่นจดทะเบียนต่อ UEC (Union Election Commission) แม้จะเป็นประเด็นเห็นต่างในหมู่พรรคการเมืองจากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-๑๙ ซึ่งพรรคเล็กๆ มองว่า โรคระบาดจะทำให้มีผู้มาเลือกตั้งน้อย และการชุมนุมที่ถูกจำกัดไม่เกิน ๕ คน เพื่อควบคุมโรค อาจทำให้การเลือกตั้งไม่ยุติธรรม เพราะพรรคใหญ่ๆ เช่น NLD (National League for Democracy) ในฐานะรัฐบาลมีโอกาสเหนือพรรคเล็ก จากคะแนนเสียงในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับพิษ โควิด-๑๙ ขณะที่พรรคอื่นทำไม่ได้ และการที่พรรคใหญ่มีทรัพยากรมากกว่าพรรคเล็ก ทำให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเชียลมีเดียมีความได้เปรียบกว่า
นอกจากนี้ความขัดแย้งในพื้นที่รัฐยะไข่และรัฐชินที่กำลังสู้รบกันระหว่างกองทัพเมียนมากับกองทัพอาระกันทำให้เกรงว่าจะมีปัญหากับการเลือกตั้งนอกจากจะหยุดยิงเสียก่อน มิเช่นนั้นอาจเหมือนการเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่หลายเขต ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชาติพันธุ์ ถูกยกเลิกการเลือกตั้ง เพราะกองทัพและ UEC เห็นว่าไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสของพรรคชาติพันธุ์
หลังชัยชนะอย่างถล่มทลายของ NLD ในการเลือกตั้งพ.ศ. ๒๕๕๘ ด้วยการชูนโยบายปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ยุติความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เกือบ ๕ ปี ที่รัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี “ดอว์ ซู” ในฐานะ “ที่ปรึกษาของรัฐ” และรัฐมนตรีต่างประเทศ ต้องเผชิญปัญหาที่เป็นความท้าทายเชิงโครงสร้าง เฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นอุปสรรคต่อการการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ที่ให้อำนาจกองทัพแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงด้านความมั่นคง ได้แก่ กลาโหม,มหาดไทย และกิจการชายแดน โดยสงวนโควตา ๑ ใน ๔ ของที่นั่งในสภาให้กองทัพ เป็นผลให้กองทัพมีอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการปฏิรูปแทบเป็นไปไม่ได้ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกิน ๓ ใน ๔ ของสภา
. NLD ยังล้มเหลวในการสร้างสันติภาพ และแก้ไขความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ทั้งปัญหาในรัฐยะไข่, รัฐคะฉิ่น และพื้นที่ชาติพันธุ์อื่่นๆ แม้จะมีการประชุมสันติภาพปางโหลงแห่งศตวรรษที่ ๒๑ หลายครั้ง ก็ไม่มีผลต่อการหยุดความรุนแรงจากการสู้รบ หรือยุติความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ได้ รวมถึงการหยุดชะงักของกระบวนการสร้างสันติภาพ แม้จะมีความหวังจากการเจรจาหยุดยิง แต่กองทัพกลับปฏิเสธข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิง กับกองทัพอาระกันระหว่างการระบาดของโควิด-๑๙ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลเคยประกาศสงบศึกชั่วคราวก่อนหน้านี้ แต่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบไม่สนใจ ตลอดจนการตั้งชื่อสะพานอองซาน ในรัฐมอญ และการสร้างรูปปั้นอองซาน ในรัฐกะยา ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์มองว่าเป็นสัญลักษณ์การปกครองของคนเชื้อสายพม่า (Burmese) ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง NLD กับกลุ่มชาติพันธุ์ และพรรคชาติพันธุ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเลวร้ายลง และถือเป็นความผิดพลาดทางการเมืองครั้งใหญ่ที่อาจทำร้ายพรรคซูจี และสูญเสียการสนับสนุนจากกลุ่มชาติพันธ์ุ นอกจากนี้ ปัญหาโรฮิงญาที่อยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) กำลังถูกสหภาพยุโรปพิจารณาคว่ำบาตรทางการค้า อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและแรงงานหลายแสนคนในร่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงของ NLD ไม่นับรวมความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนต่างประเทศ (FDI) ที่เติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่เปิดประเทศ
แม้ NLD จะมีผลงานก้าวหน้าในการต่อสู้กับคอรัปชั่น การปฏิรูปการศึกษา และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ผลการเลือกตั้งซ่อม พ.ศ. ๒๕๖๑ ชี้ชะตาว่า NLD กำลังสูญเสียความนิยมในรัฐชาติพันธุ์ การที่ USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกองทัพ และพรรคชาติพันธุ์ได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาจากความผิดหวังใน NLD แม้ NLD จะได้คะแนนนิยมจากตัว ซูจี ในพื้นทีเมือง บริเวณภาคกลาง และเขตร่างกุ้ง แต่จำนวนที่นั่งในพื้นที่ชาติพันธุ์ ซึ่งมีมากกว่า ๑ ใน ๔ ของสภาอาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลของ NLD และต้องไม่ลืมว่าที่นั่งของ NLD ในการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๘ กว่าร้อยละ ๘๐ มาจากพื้นที่ชาติพันธุ์
USDP ซึ่งพ่ายการเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่ยังคงเป็นพรรคที่ใหญ่เป็นอันดับสองในสภา และยังได้ที่นั่งเพิ่มหลายครั้งในการเลือกตั้งซ่อม พ.ศ. ๒๕๖๐ และ ๒๕๖๑ การที่ USDP ชนะเลือกตั้งในพื้นที่ชาติพันธุ์ เพราะได้รับการสนับสนุนจากทหาร และครอบครัว รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจ การชูนโยบายปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนเลือกพรรคนี้ โดย USDP คาดหวังว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๓ จึงพยายามสร้างพันธมิตรกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ภาพลักษณ์ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับทัดมาดอว์ ทำให้ยากที่จะได้รับเลือกในหลายพื้นที่ แต่คาดว่า USDP จะได้ที่นั่งมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
หลังความล้มเหลวของพรรคชาติพันธุ์ในการเลือกตั้งพ.ศ. ๒๕๕๘ และความผิดหวังต่อ NLD ทำให้พรรคชาติพันธุ์รวมตัวเป็นพันธมิตรการเมืองภายใต้ร่มธงเดียวกัน เช่น KSPP (Kachin State People’s Party) เป็นการรวมกันของ ๓ พรรค ในรัฐคะฉิ่น ที่ไม่ต้องการแข่งขันกันเอง ซึ่งสร้างความท้าทายต่อ NLD และแนวคิดคล้ายๆกัน กำลังปรากฏในรัฐมอญ, รัฐกะเหรี่ยง และรัฐกะยา โดยเฉพาะรัฐฉาน และรัฐยะไข่ ที่กลุ่มชาติพันธุ์มีความแข็งแกร่งเช่นรัฐยะไข่ซึ่ง ANP (Arakan National Party ) เป็นพรรคชาติพันธุ์ที่ได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งพ.ศ. ๒๕๕๘ และเป็นรัฐที่ NLD แพ้ แต่คนของ ANP กลับไม่ได้รับตำแหน่งบริหารในรัฐยะไข่ สร้างความไม่พอใจจากคนในพื้นที่ต่อ NLD ขณะที่ในพื้นที่อื่นๆนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีอิทธิพลจำกัด
แม้ประวัติศาสตร์การเมืองของเมียนมา พรรคใหญ่จะได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเล็กและผู้สมัครอิสระ แต่ NLD อาจพบกับวิบากกรรมจากการที่สมาชิกพรรคที่มีคะแนนนิยมสูงบางคนอาจลงสมัครอิสระ รวมทั้งการตั้งพรรคใหม่ของนักการเมือง เช่น UBP (Union Betterment Party) โดย ฉ่วย มาน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือ People’s Party โดย โก โก จีอดีตแกนนำคนรุ่น ๘๘ รวมทั้งการรวมตัวเป็นพันธมิตรของพรรคเล็กๆ เช่น United Political Parties Alliance (UPPA) เป็นกลุ่มที่ ๔ ของเมียนมา ต่อจาก UNA (United Nationalities Alliance ). NBF (Nationalities Brotherhood Federation) และ Federal Democracy Alliance (FDA) ซึ่งอาจทำให้ NLD เสียที่นั่งไปไม่น้อย และจะชนะมากพอจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ หากทำไม่ได้ NLD คงต้องเจรจาต่อรองกับพรรคอื่นๆเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม
การเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๖๓ แตกต่างกับพ.ศ. ๒๕๓๓ และ ๒๕๕๘ เพราะทั้งสองครั้งเป็นการลงประชามติโดยพฤตินัยในการคัดค้านการปกครองของกองทัพหรือทัดมาดอว์ มากกว่าจะเป็นการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตย โดยมี ซูจี และ NLD เป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงและความหวังเพื่ออนาคตที่ดีกว่าแต่ไม่ใช่ความนิยมใน NLD ความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นต่อ NLD ในพื้นที่ชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เปลี่ยนไปสนับสนุนพรรคชาติพันธุ์ เป็นผลให้ NLD ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งถึง ๔ ครั้ง ในพ. ศ. ๒๕๖๑ ขณะที่พื้นที่ชาติพันธุ์ได้กลายเป็นจุดชี้ขาดการเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๓ NLD อาจยังคงได้รับเสียงข้างมากถือเป็นโอกาสแก้ตัวสำหรับจัดการปัญหาการปฏิรูปรัฐธรรมนูญไปจนกระทั่งการจัดการความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ แต่ชัยชนะอย่างถล่มทลายจะไม่เกิดขึ้นอีกการเลือกตั้งครั้งนี้จะก้าวข้ามไปสู่ประชาธิปไตยคุณภาพที่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มต่างๆท่ามกลางความหลากหลายของพรรคการเมือง ทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นการประนีประนอมในกระบวนการสร้างสันติภาพ แต่เหรียญอีกด้าน การเลือกตั้ง คือ การแข่งขันที่มีทั้ง ชัยชนะ และความพ่ายแพ้ขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยยังไม่มั่นคงสามารถย้อนกลับไปสู่การปกครองระบบเผด็จการทหารได้ทุกเวลา และรับประกันไม่ได้ว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก
อ้างอิงจาก
- နန့်ခိုင် “SNDP က ၂၀၂၀ ရွေးကောက်ပွဲတွင် လူငယ်နှင့်အမျိုးသမီး ၄၅ ရာခိုင်နှုန်း ဝင်ရောက်ယှဉ်ပြိုင်မည်”
Mizzima, October 21, 2019.
http://www.mizzimaburmese.com/article/61765 - ဇူးဇူ “၂၀၂၀ ရွေးကောက်ပွဲ ပုံမှန်အချိန်တိုင်း ကျင်းပနိုင်မလား”The Irrawaddy, April 30, 2020.
https://burma.irrawaddy.com/news/2020/04/30/221757.html - “သီဟလွင်,၂၀၂၀ ရွေးကောက်ပွဲတွင် မဲရုံများ ထပ်တိုးဖွင့်လှစ်မည်”The Irrawaddy, June 2 , 2020.
https://burma.irrawaddy.com/news/2020/06/02/223774.html - “ရခိုင်မှာ ရွေးကောက်ပွဲကာလ လုံခြုံမှုရှိနိုင်မလား” RFA, June 4, 2020
https://www.rfa.org/burmese/program_2/election-rakhine-06042020191619.html - “ကိုဗစ်ကာလဖြစ်သော်လည်း လာရောက်မဲပေးရန် ရွေးကောက်ပွဲကော်မရှင် တိုက်တွန်း” The Myanmar Times, June 7, 2020
https://myanmar.mmtimes.com/news/139997.html - ၀ဏ္ဏအောင် “ပြင်ဆင်ဆောင်ရွက်နေကြောင်း DPNS ပြေ”
7 day.news, June 8, 2020
https://7day.news/detail?id=188309#Politics#Mekong Chula