โดย ธันย์ชนก รื่นถวิล
The White Tiger (2021) เรื่องราวชีวิตของ ‘พลราม ฮาลวัย’ หนุ่มจากวรรณะคนทำขนมหวาน หรือ วรรณะฮาลวัย จากเด็กชายที่มีความโดดเด่นที่สุดในห้องเรียน แต่ต้องหยุดเรียนเพื่อมาทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านน้ำชา สู่คนขับรถเบอร์สอง ที่ไต่เต้า ถีบตัวเอง และคนอื่นขึ้นมาเป็นคนขับรถเบอร์หนึ่ง สู่ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในเมืองบังกาลอร์ในท้ายที่สุด กำกับโดย รามิน บรานี (Ramin Bahrani) ผู้กำกับฝีมือดี ลูกครึ่งอิหร่าน-อเมริกัน ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกัน (แปลฉบับภาษาไทยในชื่อ พยัคฆ์ขาวรำพัน) การันตีด้วยรางวัล Man Booker Prize ในค.ศ 2008 ของ อราวินด์ อดิกา (Aravind Adiga) นักเขียนเชื้อสายอินเดียคนที่ 4 ที่ได้รับรางวัลนี้ หลังจาก ซัลมาน รัชดี อรุณธตี รอย และ คิรัน ดีซาย (Kiran Desai)
The White Tiger สะท้อนให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ประเทศที่ภาคภูมิใจกับการเป็น ‘ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ผู้คนโดยเฉพาะคนชั้นล่างต้องถูกกดขี่จากระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง
ความเป็นประชาธิปไตยไม่ใช้แค่เกมทางการเมืองที่อยู่ในมือของนักการเมือง หรือ รัฐสภาเท่านั้น แต่การเมือง คือ เรื่องของพลเมืองทุกคน การเมือง คือ ความสัมพันธ์ วิถีชีวิต การต่อรองระหว่างกัน การเมือง คือ ความหวังจะสร้างโครงสร้างทางสังคมที่เป็นธรรม มีเสรีภาพที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถมีความฝันในแบบของตัวเอง โดยที่ไม่ถูกจำกัดด้วยชนชั้น วรรณะ (แม้กระทั่งถูกหัวเราะเยาะจากคนอื่น) ในอินเดียวรรณะเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่เกิด แม้ว่าในรัฐธรรมนูญของอินเดียได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีการระบุเรื่องการปฏิบัติต่อปัจเจกทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงฐานะ ชนชั้น วรรณะ แต่ก็ยังคงไม่ง่ายที่เราจะเห็นสังคมอินเดียที่ไร้วรรณะในเร็ววันนี้ เพราะระบบวรรณะได้กลายเป็นเนื้อเดียวกันกับวิถีชีวิตของคนส่วนหนึ่งไปแล้ว และอย่างน้อยๆ เราก็ไม่ควรลืมว่า อินเดียมีความหลากหลายเกินกว่าที่จะนำเรื่องวรรณะมาเหมารวมระบบโครงสร้างสังคมของอินเดียได้
มายาคติว่าด้วยวรรณะดูเหมือนจะอ่อนกำลังลง กลายเป็นเรื่องล้าสมัยในสายตาของคนรุ่นใหม่ แต่ความจนที่เกิดจากระบบโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันกลับทรงพลังขึ้น จากสภาพสังคม ระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนไป เดิมระบบวรรณะเป็นตัวการสำคัญที่กีดกันคนวรรณะล่างออกไปให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคม ถูกเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทุนนิยม ตัวอย่างจากภาพยนตร์ คือ การเติบโตขึ้นของเมืองบังกาลอร์ เมืองทางตอนใต้ที่ถูกขนานนามว่า ซิลิคอนแวลลีย์ของอินเดีย แหล่งรวมอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ สำหรับทุกคน แต่ในขณะเดียวกันก็ยิ่งสร้างช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากกว่าเดิม
.
..
.
เราจะเป็นเสือขาวได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในกรงไก่หรือเปล่า
The White Tiger ถูกเล่าผ่านการเขียนอีเมล ถึง เหวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนที่กำลังจะเดินทางมาเยือนอินเดีย โดย ‘ผม’ ซึ่งก็คือ พลราม เล่าเส้นทางชีวิตของตนเองก่อนจะกลายเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อฉายให้เห็นภาพว่าอินเดียกำลังกลายเป็นประเทศแห่งโอกาส แม้ว่าโอกาสที่ว่านั้นจะแลกมาด้วยอะไรก็ตาม สิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามไป คือ ระบบทุนขนาดใหญ่ที่เป็นเสมือนกรงทำให้คนจำนวนหนึ่งกลายเป็น ลูกไก่ในกำมือที่ถูกบีบก็ตายจะคลายก็รอด ต่อให้มือเพียงไม่กี่มือแต่สามารถบดขยี้ลูกไก่ที่มีอยู่ในสังคมอย่างมหาศาลได้อย่างง่ายดาย ผ่านการใช้โครงสร้างทางสังคมที่เอื้อผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กัน ทำให้เกิดวงจรแบบ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และสิ่งที่พลรามทำให้เราเห็น คือ สังคมยินดีที่จะให้เราขยับชนชั้นได้ หากเรามีเงินมากพอ โดยไม่สนใจว่าเงินจะมาจากไหน รวมทั้งภาพลักษณ์อันจอมปลอมของ นักสังคมนิยมผู้ยิ่งใหญ่ ในเรื่องผู้ไต่เต้าขึ้นมาจากชนชั้นล่าง ภายใต้ภาพฝันของคนชนชั้นล่างกลับเต็มไปด้วยความฉ้อฉลที่หาผลประโยชน์เข้าตัวไม่ต่างกัน
กรงไก่ที่ว่าเลยไม่ได้มีไว้สำคัญคนจนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นกรงขังขนาดใหญ่ในโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยว ที่บีบเค้นให้ไก่ในกรงจิกตีกันเอง ขวนขวายให้ตัวเองอยู่ดีมีสุขในกรง โดยไม่คิดสนใจว่านอกกรงมีอะไร เสมือนเราอยู่ในห้องที่ถูกทำให้เพดานต่ำลงทุกวัน โดยไม่ทันสังเกตหรือรู้ตัว เพราะถูกทำให้ชินว่า ‘นี่คือบ้านที่ดีที่สุดของเรา’
.
หากทุกคนทำได้เพียงอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ควรจะอยู่ สภาพสังคมนั้นจะเป็นอย่างไร ผู้หญิงในสังคมอินเดียก็เช่นกัน ในทัศนคติของผู้เขียนมองว่า The White Tiger คือเครื่องยืนยันในทัศนคติชายเป็นใหญ่ที่มีต่อผู้หญิง ด้วยท่าทีที่ปกติที่สุดเรื่องหนึ่ง จะเป็นอย่างไรหากเรื่องราวในคืนนั้นเป็นอโศกที่เป็นคนขับรถชนเด็กเด็กคนนั้น หรือเป็นตัวละครพี่ชายของพลรามเองที่กุมอำนาจในการจัดการชีวิตของทุกคนในครอบครัว ผลลัพธ์ในตอนท้ายจะออกมาเหมือนกันหรือไม่ มันง่ายกว่าที่จะให้ตัวละครผู้หญิงในเรื่องทั้งหลายเป็นผู้ก่อให้เกิดหายนะอย่างนั้นหรือ คำตอบของผู้เขียน คือ ใช่
คำตอบที่ตอบว่า ใช่
ในมุมหนึ่งคือการที่ตัวละครหญิงในเรื่องเหล่านี้ศิโรราบต่อสังคมแบบปิตาธิปไตย
แม้ว่าทุกตัวละครจะพยายามแสดงการต่อต้านขัดขืนในแบบของตัวเอง
หรือไม่มีโอกาสได้ขัดขืนหรือโต้แย้ง เช่น ญาติพี่น้องผู้หญิงของพลราม ถูกพูดจาแทะโลมจากพนักงานคนขับรถคนอื่นด้วยท่าทีที่ขบขัน
โดยเฉพาะตัวละคร พิงกี้ สุดท้ายความพยายามทั้งหมดของเธอ
จบลงด้วยการสร้างหายะที่ต้องให้ผู้ชายในเรื่องทั้งหมดช่วยเหลือเธอ
ส่วนตัวเองก็แค่หนีไป เมื่อมองย้อนกลับไปถึงรากเดิมตามแนวทางคติความเชื่อของวิถีฮินดูในยุคพระเวท
(Rig Veda period) ผู้หญิงมีสถานะสูงส่ง
กล่าวถึงพวกเธอในฐานะธรรมปัตนี (dharma Patni) ได้รับการศึกษา
มีอิสระเสรี และมีบทบาทสนับสนุนชีวิตครอบครัว ผู้หญิงและผู้ชายจึงถือได้ว่ามีความเท่าเทียมกันในทุกด้าน[1] หากแต่อินเดียเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย
จากการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา ทำให้ในยุคหลังผู้หญิงเริ่มถูกลดทอนความสำคัญลง
เริ่มถูกจัดที่ทางให้เป็นสมบัติของพ่อ ที่จะถูกส่งต่อไปสู่มือสามี มันน่าเศร้าที่ความภาคภูมิใจในความเป็นประชาธิปไตยของอินเดีย
ผู้หญิงไม่ได้ถูกนับรวมไปด้วย ผู้หญิงเองก็เป็นไก่ในกรง กรงที่ถูกสร้างขึ้นจากสังคมปิตาธิปไตย
ตกอยู่ในมือของผู้ชายที่คิดว่าตัวเองเป็นเสือแต่จริงๆ แล้วก็เป็นไก่ตัวหนึ่งเหมือนกัน
.
[1] Rout, N. (2016). Role of Women in Ancient India. Odisha Review, 43-48.
ที่มาภาพ:
1. https://www.vulture.com/article/the-white-tiger-aravind-adiga-ramin-bahrani-interview.html
2. https://www.republicworld.com/entertainment-news/web-series/the-white-tiger-twitter-reviews-are-in-neitizens-are-clearly-loving-it.html
3. https://www.vanityfair.com/hollywood/2021/01/the-white-tiger-brings-a-celebrated-novel-to-vivid-life