Publication

Home / Publication

เพื่อถิ่นอินเดีย : 100 ปีชาตกาล อินทิรา คานธี (ตอน 1/3)

เผยแพร่: 11 ต.ค. 2560 12:17   โดย: ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล
คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ

ในช่วงทศวรรษ 1980 สมัยที่ผู้เขียนกำลังศึกษาระดับมัธยมในเมืองเดห์ราดูน รัฐอุตตรประเทศ (ปัจจุบันเดห์ราดูนอยู่ในรัฐอุตตรขัณฑ์) ประเทศอินเดีย ทุกปีที่โรงเรียนหยุดยาวในช่วงเทศกาลดุสเสหรา ผู้เขียนจะไปพักบ้านญาติซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง เดือนตุลาคม ปี 1984 เป็นดุสเสหราแรกที่ผู้เขียนในวัย 14 ปีเดินทางกับญาติวัยเดียวกันคนหนึ่งที่เรียนโรงเรียนเดียวกันไปพักกับพี่สาวผู้เขียนที่เดลี

เมื่ออยู่เดลีครบตามกำหนดแล้ว เราทั้งสองก็ตัดสินใจกลับเดห์ราดูนในวันที่ 1 พฤศจิกายน หนึ่งวันก่อนเดินทางกลับเดห์ราดูน พี่สาวผู้เขียน ญาติคนดังกล่าว และผู้เขียน (จำไม่ได้ว่ามีคนอื่นด้วยหรือไม่) ได้ออกไปรับประทานอาหารมื้อสายด้วยกันในย่านกะโรลบาค เดลี ผู้เขียนเห็นคนอินเดียจำนวนหนึ่งตั้งใจฟังวิทยุที่วางแนบหูอย่างใจจดใจจ่อ จำได้ว่า ผู้เขียนชวนพี่สาวสังเกตความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวด้วย แต่ท้ายที่สุด เราทั้งสองก็ลงความเห็นว่า คนอินเดียเหล่านี้อาจจะกำลังฟังการถ่ายทอดเสียงการแข่งขันคริกเก็ต กีฬาที่ชาวอินเดียคลั่งไคล้อยู่ก็ได้

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน เราทั้งสองตื่นแต่เช้าตามแผนเพื่อขึ้นรถสามล้อเครื่องแบบอินเดียไปสถานีรถบัส ระหว่างทางเห็นร่องรอยร้านค้าบางแห่งถูกเผาทำลาย มีเศษไม้เศษเหล็กวางกีดขวางอยู่ทั้งข้างและกลางถนนเป็นระยะๆ คนขับรถสามล้อเครื่องหันมาบอกอะไรเรา แต่เพราะผ้าชอว์ลที่คลุมศีรษะและใบหน้าของเขาเพื่อกันลมหนาวในยามเช้าตรู่ ผู้เขียนจึงฟังเข้าใจแต่คำว่า “เมื่อวานเกิดเหตุ”

เราทั้งสองซื้อตั๋วรถบัสและเดินทางออกจากเดลีมุ่งหน้าไปยังเดห์ราดูน ระหว่างทางก็เห็นชาวฮินดูกลุ่มหนึ่งตั้งด่านโดยใช้หินและไม้วางขวางเลนขวาสลับเลนซ้าย คนที่ร่วมกันตั้งด่านมีสีหน้าโกรธแค้นเรื่องอะไรบางอย่าง คนขับรถบัสขับผ่านด่านแรกโดยชะลอเพื่อจะเบี่ยงขวาก่อนจะเบี่ยงซ้ายกลับมาในเลนของตน ช่วงที่ชะลอรถ ผู้เขียนได้ยินคนที่ร่วมตั้งด่านคนหนึ่งตะโกนถามคนขับรถว่ามีชาวซิกข์ในรถหรือไม่ คนขับรถจะได้ตอบหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่เขาก็ขับต่อไป หลังจากนั้น ผู้เขียนก็เห็นชาวฮินดูในวัยกลางคนมีด้ายสีแดงผูกข้อมือขวาหันไปพูดคุยกับสตรีชาวซิกข์ที่โดยสารมาในรถด้วยกัน ไม่ทราบว่าคุยอะไรกัน ทันทีที่คุยจบ สตรีคนนี้ก็รีบถอดกำไลข้อมือหลายขอนเก็บไว้ในกระเป๋าหนังสีดำ แล้วใช้กิ๊บเหน็บผมให้สั้นเพียงบ่าเพื่อเจือจางความเป็นซิกข์ของตน

ผ่านไปอีกพักใหญ่ รถต้องจอดตามด่านต่างๆ ที่ชาวฮินดูตั้งไว้อีก 2-3 แห่ง มีอยู่ด่านหนึ่ง ชาวฮินดูที่ตั้งด่านไม่ยอมให้รถเคลื่อนต่อไป แม้คนขับรถบัสได้ลงจากรถไปเจรจาแล้วก็ตาม กลุ่มที่ตั้งด่านขอส่งตัวแทนสองคนขึ้นตรวจบนรถว่ามีชาวซิกข์โดยสารมาหรือไม่ ในขณะนั้น ผู้เขียนก็เริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดได้ ตั้งแต่การฟังวิทยุ “เมื่อวานเกิดเหตุ” ร้านค้าที่ถูกเผา และเศษเหล็กเศษไม้ที่วางอยู่ข้างหรือกลางถนน จำได้ว่าสิ่งที่ตนสรุปคือ คงมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และเกี่ยวข้องกับชาวซิกข์อย่างไร โชคดีที่สองคนที่ขึ้นมาตรวจบนรถไม่ได้เอะใจกับสตรีซิกข์คนดังกล่าว

ครั้นเมื่อเดินทางถึงเดห์ราดูน ทั้งผู้เขียนและญาติก็ไม่อาจเดินทางไปไหนได้ เพราะคนแถวนั้นบอกว่าเหลือเวลาอีกไม่นานก่อนทางการจะประกาศเคอร์ฟิวห้ามผู้คนออกจากบ้าน ผู้เขียนถามชายชราคนหนึ่งในสถานีว่า ถ้าจะนั่งรถสามล้อเครื่องไปโรงเรียนคุรุนานักอะคาเดมี ควรไปขึ้นรถที่ใด ทันทีที่ได้ยินชื่อโรงเรียน ซึ่งตั้งตามพระนามคุรุองค์แรกของศาสนาซิกข์ ชายชราก็ตอบในทำนองว่า โรงเรียนน่าจะปิดอยู่ เพราะเหตุการณ์เมื่อวานที่องครักษ์ชาวซิกข์สังหารอินทิรา คานธี ชายชราแนะนำให้ไปหาที่พักอาศัยอื่น ผู้เขียนและญาติจึงตัดสินใจเดินเท้าไปบ้านญาติที่อยู่ไม่ห่างจากสถานี เราทั้งสองใช้เวลาอยู่บ้านญาติประมาณ 3-4 วันก่อนจะเดินทางเข้าหอพักโรงเรียน

แม้โรงเรียนคุรุนานักอะคาเดมี จะก่อตั้งโดยชาวซิกข์ และมีคุรุทวารา (วัดซิกข์) ขนาดเล็กในโรงเรียน แต่ก็มีนักเรียนและบุคลากรหลายระดับที่นับถือศาสนาอื่นด้วย จำได้ว่า นักเรียนแต่ละคนจะมีกลุ่มที่ตนสังกัดอยู่ และบางครั้งอาจจะสังกัดมากกว่าหนึ่งกลุ่มด้วย กลุ่มที่ว่านี้อาจจะเป็นกลุ่มฟุตบอล กลุ่มคริกเก็ต กลุ่มชอบหนีโรงเรียนไปดูภาพยนตร์ในเมือง ฯลฯ สมาชิกของแต่ละกลุ่มมีทั้งนักเรียนซิกข์ ฮินดู และมุสลิมปะปนกันอยู่ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของกลุ่ม แต่หลังจากเหตุการณ์จลาจลดังกล่าว ซึ่งทำให้ชาวซิกข์ถูกสังหารไปประมาณ 3,000 คน บรรยากาศในโรงเรียนก็เปลี่ยนไปมากพอสมควร การจับกลุ่มเริ่มอิงศาสนามากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ ฮินดูกับซิกข์จะแยกกันจับกลุ่มมากขึ้น ส่วนมุสลิมยังสลับสับเปลี่ยนเข้ากลุ่มต่างๆ เหมือนเดิม

ภาพซ้าย : ศพของชาวซิกข์ที่ถูกสังหารบนรถไฟ วางอยู่บนรถเข็นสัมภาระในสถานีรถไฟนิวเดลี (เครดิต : Ashok Vahie) ภาพขวา : ร้านค้าของชาวซิกข์ในคอนนอท์เพลส ใจกลางเมืองเดลี ที่ถูกเผาโดยฝูงชน (เครดิต : บีบีซี)

อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนเป็นชาวไทย เพื่อนๆ ชาวซิกข์และฮินดูจึงมาระบายความในใจของตนให้ผู้เขียนฟังเป็นครั้งคราว เพื่อนชาวซิกข์ชื่อสุรินเดอร์ ซิงห์ ธามียา เคยบอกผู้เขียนในทำนองว่า สิ่งที่ฝูงชนชาวฮินดูกระทำต่อชาวซิกข์ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า ทำร้าย หรือทำลายทรัพย์สิน เป็นเรื่องโหดร้ายเหลือคณานับ ชาวฮินดูนิยมใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น แม้ว่าองครักษ์ที่สังหารอินทิราจะเป็นชาวซิกข์ก็ตาม แต่องครักษ์ทั้งสองหาใช่ตัวแทนของชาวซิกข์ทั้งหมดไม่ กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะคิดเหมือนสุรินเดอร์ เพื่อนซิกข์บางคนสื่อกับผู้เขียนในทำนองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดยืนยันแล้วว่า ซิกข์กับฮินดูคงอยู่ร่วมกันโดยสันติไม่ได้

เพื่อนชาวฮินดูบางคนที่กลัวจะสูญเสียเพื่อนฮินดูแอบบอกผู้เขียนว่า การกระทำของรัฐบาลก็เรื่องหนึ่ง แต่เมื่อใดก็ตามที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นหัวชนกลุ่มน้อยและทำกับพวกเขาดังที่เกิดขึ้น ก็ล้วนแต่นำความอับอายมาให้เราทุกคนในฐานะผู้ศรัทธาศาสนาฮินดู มีเพื่อนชาวฮินดูบางคนที่แสดงทรรศนะแบบสุดโต่งด้วย พวกนี้มักจะนินทาชาวซิกข์ว่าเป็นผู้บ่อนทำลายเอกภาพของประเทศ กลุ่มนี้จะมองในลักษณะคล้ายกันว่า ก็สาสมแล้วที่ชาวซิกข์ต้องได้รับบทเรียนแบบนี้ ส่วนครูและบุคลากรในโรงเรียนที่พูดถึงความปรองดองและต่อต้านการใช้ความรุนแรงอย่างจริงใจก็มีอยู่บ้าง แต่ที่ต้องพูดเพราะเป็นคำสั่งของครูใหญ่ก็มีไม่น้อย ยังมีอีกหลายคนที่เก็บความคับแค้นไว้ในใจโดยเลือกที่จะไม่พูดถึงเหตุการณ์นี้อีก แม้โรงเรียนจะไม่ประสบความรุนแรงในหมู่นักเรียน แต่ความแตกแยกระหว่างอัตลักษณ์ทางศาสนาโดยเฉพาะระหว่างซิกข์กับฮินดูก็ค่อนข้างชัดแจ้งพอสมควร

หากมีโอกาสถามชาวอินเดียเกี่ยวกับอินทิรา คานธี คำตอบจะเป็นไปในลักษณะชอบหรือเกลียดเท่านั้น คนที่ชื่นชมเธอมักจะจดจำนโยบายขจัดความยากจนของเธอ หรือการที่เธอทำให้อินเดียมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก โดยเอาชนะสงครามกับปากีสถานในปี 1971 และทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในปี 1974 ผู้ที่เกลียดชังเธอก็จะมีเหตุผลของตนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการบั่นทอนประชาธิปไตยอินเดียเมื่อเธอประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติในปี 1975 หรือความพลาดพลั้งของเธอในการจัดการปัญหาการแบ่งแยกดินแดนโดยชาวซิกข์กลุ่มหนึ่ง หรือเพียงเพราะเธอเป็นทายาททางการเมืองของยวาฮัรลาล เนห์รูแห่งพรรคคองเกรส ต่างก็ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนจำนวนมาก

แม้อินทิราจะเป็นทั้งที่รักและที่ชัง กระนั้นก็ตาม มิอาจปฏิเสธได้ว่า ความนิยมในตัวเธอสูงมากอย่างผิดปกติ ในเดือนธันวาคม ปี 1999 สิบห้าปีเศษหลังเธอถูกสังหาร สำนักข่าวบีบีซีออนไลน์รายงานว่า “อินทิรา คานธี ได้รับการโหวตให้เป็นสตรีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 1,000 ปี ในโพลของบีบีซีนิวส์ออนไลน์” เว็บไซต์ดังกล่าวยังรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า “นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดียตีคู่กับสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 มาในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายน แต่ก็แซงขึ้นไปเป็นอันดับสูงสุดของโพลได้ด้วยคะแนนท่วมท้น” ในเดือนมกราคมปี 2006 หลังมรณกรรมของอินทิราผ่านไป 21 ปีเศษ Center for Developing Societies ศูนย์คลังสมองด้านการเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังของอินเดีย ได้สำรวจความเห็นชาวอินเดียทั่วประเทศ พบว่า อินทิราเป็นชาวอินเดียที่เป็นที่รู้จักที่สุดรองจากมหาตมาคานธี ผลสำรวจนี้สร้างความประหลาดใจไม่น้อย เพราะอินทิราเป็นที่รู้จักมากกว่ายวาฮัรลาล บิดาของเธอเสียอีก

ในวาระ 100 ปีชาตกาล อินทิรา คานธี อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะถามคำถามสำคัญ 2 ข้อ ได้แก่ (1) อินทิรา คานธีคือใคร และ (2) การดำเนินนโยบายภายในและการต่างประเทศของอินทิรามีสาระสำคัญอะไรบ้าง และมีนัยสำคัญต่ออินเดียร่วมสมัยอย่างไร

อินทิรา คานธีคือใคร

อินทิรา คานธีเกิดวันที่ 19 พฤศจิกายน ปี 1917 ในอานันท์ภวัน เมืองอัลลาฮาบาด รัฐอุตตรประเทศ เธอเป็นบุตรีคนเดียวของยวาฮัรลาล และกมลา เนห์รู อานันท์ภวันเป็นบ้านหลังมหึมาของโมตีลาล เนห์รู ปู่ของอินทิราซึ่งประกอบอาชีพเป็นนักกฎหมายที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งในสมัยนั้น อานันท์ภวันนอกจากจะเป็นบ้านหลังแรกในอัลลาฮาบาดที่มีน้ำประปาและไฟฟ้าแล้ว ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสันทนาการต่างๆ รวมถึงสระว่ายน้ำในร่มและสนามเทนนิสด้วย คงไม่ผิดด้วยหากจะกล่าวว่า แม้แต่ในมาตรฐานปัจจุบัน อานันท์ภวันที่ประกอบด้วย 42 ห้องก็ดูโอ่อ่ามาก

โมตีลาลนอกจากจะหาเงินได้มากมายแล้ว เขายังใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยด้วย โมตีลาลเชี่ยวชาญหลายภาษา และมีบุคลิกภาพ ‘สมัยใหม่’ ที่มีวัฒนธรรมอังกฤษ เปอร์เซีย และฮินดูผสมผสานกัน เขาเชื่อมั่นในพหุนิยมและฆราวาสนิยมด้วย ลักษณะดังกล่าวตกทอดถึงสมาชิกอานันท์ภวันหลายคน รวมถึงยวาฮัรลาลและอินทิรา อย่างไรก็ตาม ในบางเรื่องบางประเด็นโมตีลาลก็ยังคงความเป็นชนชั้นพราหมณ์หัวอนุรักษนิยมอยู่ ภริยาของโมตีลาลคือสวรูปรานี เธอเป็นคนที่ยึดติดขนบเดิมแบบเอาเรื่องทีเดียว โมตีลาลกับสวรูปรานีมีลูกด้วยกันสามคน ลูกชายคนโตคือยวาฮัรลาล ลูกสาวสองคนคือวิชัยลักษมีและกฤษณา โมตีลาลรักลูกทั้งสามคน แต่โปรดปรานลูกชายมากเป็นพิเศษ

ภาพซ้าย : นั่งจากซ้ายไปขวาคือ สวรูปรานี, โมตีลาล และกมลา เนห์รู ยืนจากซ้ายไปขวาคือ ยวาฮัรลาล, วิชัยลักษมี, กฤษณา, อินทิรา และ อาร์. เอส. บัณฑิต (สามีวิชัยลักษมี) (เครดิต : วิกิมีเดีย) ภาพขวา : ส่วนหนึ่งของอานันท์ภวัน หรือสวราชภวันในปัจจุบัน (เครดิต : วิกิมีเดีย)

ยวาฮัรลาลศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนฮาร์โรว์ ระดับปริญญาตรีที่ทรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และศึกษากฎหมาย ณ อินเนอร์ เทมเปิล ลอนดอน ยวาฮัรลาลกลับสู่อินเดียจากอังกฤษในปี 1912 และยึดอาชีพนักกฎหมายอยู่ไม่กี่ปีก่อนจะเข้าสู่การเมือง ในปี 1916 พ่อแม่ของเขาตบแต่งเขากับกมลา กอล ซึ่งยวาฮัรลาลคัดค้านแต่ก็ไม่ถึงกับหัวชนฝา ปีถัดมากมลาก็ให้กำเนิดบุตรสาวชื่อ อินทิรา ปรียทรรศินี

สำหรับการศึกษาปฐมวัยของอินทิรา โมตีลาลให้เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์เซซิเลียในอัลลาฮาบาด แต่ยวาฮัรลาลให้เธอออกจากโรงเรียนดังกล่าวเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ แล้วให้ครูสอนพิเศษมาสอนที่บ้าน ในปี 1926 กมลาล้มป่วย ตรวจพบว่าเป็นวัณโรคในปอด ครอบครัวเนห์รูจึงเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อให้กมลาได้รักษาตัวกับผู้เชี่ยวชาญวัณโรคที่นั่น ในสวิตเซอร์แลนด์ ยวาฮัรลาลส่งอินทิราเข้าเรียนใน เลกอลแองแตร์นาซิยงนาล หลังจากนั้นจึงส่งไปเรียนที่เลกอลนูแวล ในเมืองแบกซ์ ซึ่งอยู่ห่างจากพ่อแม่เป็นระยะทางประมาณสองชั่วโมง ในเดือนพฤษภาคมปี 1931 ตามคำแนะนำของมหาตมาคานธี อินทิราได้เข้าเรียนที่พิวพิลส์โอนสกูลในเมืองปูนา โรงเรียนแห่งนี้บริหารจัดการโดยนักสังคมศึกษาผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด นามว่า เจฮังกีร์ วากิล และภรรยาของเขา กูนเวอร์ไบ ซึ่งอินทิราเรียนจบด้วยเกรดระดับปานกลาง ในปี 1934 หลังจากการสอบ Matriculation อินทิราก็เข้าศึกษาในศานตินิเกตัน มหาวิทยาลัยแนวใหม่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันงดงาม ก่อตั้งโดยรพินทรนาถ ฐากูร ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล จากนั้นเธอเดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนแบดมินตัน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีเอกชนอังกฤษที่เข้มงวดทางวิชาการ เพื่อเตรียมสอบเอนทรานซ์เข้าอ๊อกซฟอร์ด ในปี 1936 เธอเข้าสอบเอนทรานซ์สุดหินยาวนานเจ็ดชั่วโมงที่ซอมเมอร์วิลล์ คอลเลจ อ๊อกซฟอร์ด เธอสอบตกครั้งแรกและครั้งที่สอง มาผ่านเอาครั้งที่สาม เพราะไปติดวิชาภาษาละตินที่เธออ่อนและเกลียดมาก แม้จะเข้าเรียนที่อ๊อกซฟอร์ดได้ แต่ในปี 1938 เธอตัดสินใจลาออกเพราะภาษาละตินที่เธอเกลียดกลัวนั่นเอง ทำให้เธอไม่จบการศึกษาระดับปริญญา

ในปี 1941 อินทิราสมรสกับเฟโรซ คานธี ให้กำเนิดบุตรชายสองคน คือราจีฟกับสัญชัย เมื่อยวาฮัรลาลได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากอินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 เธอก็ย้ายไปอยู่บ้านบิดาในฐานะปฏิคม ในปี 1959 เธอทะยานขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานพรรคคองเกรส และหลังจากยวาฮัรลาลถึงแก่อสัญกรรมในปี 1964 เธอก็เข้าร่วมรัฐบาล ลาล บาฮาดูร ศาสตรี ในฐานะรัฐมนตรีสารสนเทศและการออกอากาศ เมื่อศาสตรีเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายในปี 1966 ความทะเยอทะยานทางการเมืองของเธอก็ปรากฏชัด เธอก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สามและหญิงคนแรกของอินเดีย เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงปี 1977

ภาพซ้าย : อินทิรากับเฟโรซ คานธี (เครดิต : วิกีมีเดีย) ภาพขวา : ราจีฟ อินทิรา และสัญชัย คานธี (เครดิต : วิกีมีเดีย)

กล่าวได้ว่า จากปี 1966 ถึง 1971 เธอขึ้นถึงจุดสูงสุดของอำนาจ ในปี 1971 เธอได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นด้วยคำขวัญ ‘Garibi Hatao’ (ขจัดความจน) และนำอินเดียสู่ชัยชนะทางการทหารเหนือปากีสถาน มีผลให้ปากีสถานตะวันออกแยกออกจากปากีสถานตะวันตกเป็นประเทศบังคลาเทศ ในเดือนพฤษภาคม 1974 รัฐบาลอินเดียที่เธอเป็นผู้นำได้ทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกในทะเลทรายโปคราน เพื่อตอบโต้สนธิสัญญาการเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ปี 1970 เธอมองว่าสนธิสัญญาดังกล่าวให้ความชอบธรรมในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์แก่มหาอำนาจ 5 ประเทศ และปิดกั้นอินเดียในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ระหว่างช่วงเวลานี้ อินทิราได้รับการสรรเสริญว่าเป็น ‘จักรพรรดินีแห่งอินเดีย’

ในปี 1975 อินทิราพลิกผันตัวเองจากจักรพรรดินีมาเป็นจอมเผด็จการแห่งอินเดีย ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นเวลา 21 เดือนที่อินเดียพ้นจากความเป็นประชาธิปไตย เพราะมีการระงับสิทธิพลเมือง มีผู้ถูกจับกุมคุมขังนับพันคน มีโครงการกวาดล้างสลัมและทำหมันหมู่ และสื่อก็ถูกคัดกรองอย่างหนัก โดยไม่มีใครคาดคิดเลย ในปี 1977 อินทิราก็ประกาศการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นการยุติภาวะฉุกเฉิน อินทิรากับพรรคคองเกรสพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 1977 และพรรคชนตาก็ก้าวสู่อำนาจ เป็นจุดจบช่วงเวลา 11 ปีที่เธอเป็นนายกรัฐมนตรี

ในปี 1979 รัฐบาลพรรคชนตาล่ม และอินทิราก็กลับมาอีกครั้งอย่างผ่าเผย เธอเอาชนะการเลือกตั้งทั่วไป และสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 ในวันที่ 14 มกราคม 1980 ห้าเดือนหลังจากอินทิราชนะเลือกตั้ง สัญชัยลูกชายคนเล็กของเธอก็เครื่องบินตกเสียชีวิต ช่วงปีท้ายๆ ที่เธอครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิดความรุนแรงระส่ำระสายทั่วประเทศ เธอสั่งดำเนินการปฏิบัติการดาวสีฟ้า ใช้กองกำลังเข้าจู่โจมมหาวิหารทองคำฮัรมันดีร์ ซาฮิบเพื่อถล่มผู้ก่อการร้ายชาวซิกข์ที่เรียกร้องให้สร้างประเทศใหม่สำหรับชาวซิกข์ที่เรียกว่าคาลิสถาน การตัดสินใจนี้เอง ส่งผลให้เธอถูกสังหารด้วยน้ำมือองครักษ์ชาวซิกข์สองคน ในวันที่ 31 ตุลาคม ปี 1984

อมิตาภ บัจจัน และราจีฟ คานธียืนข้างศพอินทิรา คานธี (เครดิต : Ashok Vahie)

ชีวประวัติโดยสังเขปของอินทิราที่พรรณนามาทั้งหมด คงทำให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมชีวิตของเธอได้ไม่น้อยแล้ว ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะวิเคราะห์ความเป็นตัวตนของเธอว่าเพราะเหตุใดเธอจึงมีชีวิตที่ไม่มีความสุข ก่อนจะตอบคำถามว่า การดำเนินนโยบายภายในและการต่างประเทศของอินทิรามีสาระสำคัญอะไรบ้าง และมีนัยสำคัญต่ออินเดียร่วมสมัยอย่างไร


Latest articles

Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)

(PART II: The Rise of Global Semiconductor Demand: A Choke Point amidst U.S.-China Geopolitical Tech War) Sasirada Sringam Picture Source: Foreign Policy: “Semiconductors and the U.S.-China Innovation Race: Geopolitics of the supply chain and the central role of Taiwan” Nowadays, semic

2024
-
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(1)
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(1)

(PART I: A Brief History and Taiwan’s IC Tech Development from Successful Democratization and Liberalization) Sasirada Sringam When discussing the world’s leading semiconductor companies, Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) is universally recognized. TSMC always ranks as the top

2024
-
Thailand-Nepal Ties: Time to Foster Relations through BIMSTEC
Thailand-Nepal Ties: Time to Foster Relations through BIMSTEC

Dr. Pramod Jaiswal . Thailand and Nepal have been bound by culture and shared values historically, demonstrating support for each other in regional and international forums. Though relations have fostered in the last six decades, there can be a lot more done to deepen ties between the

Dr. Pramod Jaiswal
2022
กระแสเอเชีย
Understanding Korea: Multicultural Korea
Understanding Korea: Multicultural Korea

Korakot Rueanjun Korea is one of the countries of which their culture is vibrant and unique. The vividness of Korean culture including arts, music, architecture, cuisine, and clothing represents the nation’s identity and the worthful cultural legacy that put together tradition and mode

Korakot Rueanjun
2022
Asia Trends