Publication

Home / Publication

เพื่อถิ่นอินเดีย : 100 ปีชาตกาล อินทิรา คานธี (ตอน 2/3)

เผยแพร่: 20 พ.ย. 2560 10:29   โดย: ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

ผศ. สุรัตน์ โหราชัยกุล
คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ

แม้อินทิรา คานธีจะเกิดในครอบครัวเนห์รูที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมั่งคั่ง แต่ชีวิตของเธอก็เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความขุ่นเคืองมากมาย ครั้งหนึ่งนักเขียนนวนิยายชื่อดัง ไอริส เมอร์ดอค ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนแบดมินตันด้วยกัน เขียนถึงเธอว่าเป็นคนไม่มีความสุข ว้าเหว่ และไม่แน่ใจอนาคตตัวเอง เพียงไม่กี่วันก่อนเธอจะถูกสังหารในปี 1984 เธอกล่าวความในใจต่อเพื่อนสนิทคนหนึ่งว่า “ฉันแน่ใจเลยว่าในตัวฉันไม่มีอะไรน่าชื่นชมสักอย่าง” จากวรรณกรรมชีวประวัติของอินทิรา พอสรุปได้ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ชีวิตของเธอตั้งแต่เด็กจนถึงวัย 18 ปีไม่มีความสุขมากนักคือ (1) การที่เธอถือกำเนิดเป็นบุตรีคนเดียวของยวาฮัรลาล เนห์รูในช่วงเวลาที่เขากำลังนำพาครอบครัวเนห์รูเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ และ (2) การที่ครอบครัวทางฝ่ายพ่อปฏิบัติไม่ดีต่อแม่ ซึ่งเป็นคนที่เธอรักและสงสารมากที่สุดคนหนึ่งในชีวิต

จำต้องขยายความให้ทราบว่า ในปี 1915 สองปีก่อนอินทิราจะถือกำเนิด คานธี (หรือมหาตมาคานธีในเวลาต่อมา) กลับจากแอฟริกาใต้มายังอินเดีย และอีกไม่นานนักที่อิทธิพลของคานธีจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของครอบครัวเนห์รูอย่างมหันต์ กล่าวได้ว่า คานธีแทบจะกลายเป็นคู่แข่งกับโมตีลาล เนห์รูในความเป็นพ่อของยวาฮัรลาลเลยทีเดียว วิถีแบบคานธีว่าด้วยสัตยาเคราะห์และอหิงสา รวมถึงการใช้ผ้าคาดีและการต่อต้านสินค้าต่างประเทศได้เข้าสู่อานันท์ภวัน คฤหาสน์ของตระกูลเนห์รูที่ครึกครื้นไปด้วยงานเลี้ยงในสวนและแขกผู้สง่างาม จำต้องตระหนักด้วยว่า อินทิราเกิดประมาณเจ็ดเดือนหลังจากคานธีได้เริ่มวิถีอารยะขัดขืนในอินเดียครั้งแรก หรือ ‘สัตยาเคราะห์จัมปารัน’

ในช่วงแรก เช่นเดียวกับชาวอินเดียหัวสมัยใหม่หลายคน สมาชิกครอบครัวเนห์รูยังรู้สึกลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงตามแบบคานธี แต่การสังหารหมู่ปี 1919 ณ ยาเลียนวาลาบาค เมืองอมฤตสระ ปัญจาบ ซึ่งสำแดงถึงความอยุติธรรมและความโหดร้ายของอังกฤษ ดังที่อินทิราได้กล่าวไว้ “ได้ขจัดความอิหลักอิเหลื่อและความคลางแคลงใจ” ของครอบครัวเนห์รูไปไม่น้อยเลยทีเดียว ยวาฮัรลาลที่กลับมาจากอังกฤษเป็น “ชาวอังกฤษมากกว่าชาวอินเดีย” ซึ่งในเวลาต่อมาเขาคร่ำครวญว่า ณ ขณะนั้นเขา “เป็นคนอวดดีที่แทบไม่มีสิ่งน่ายกย่องเลย” ได้ใช้เวลากว่าสองทศวรรษเพื่อลงมือปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ให้ตนเองเป็นคนอินเดีย ในกระบวนการสร้างตัวตนที่ว่านี้ โมตีลาล อินทิรา และคนอื่นๆ จะได้รับผลกระทบไปด้วย

โมตีลาลเลิกอาชีพนักกฎหมาย และนำผลิตภัณฑ์ต่างชาติมูลค่ามหาศาลโยนเข้าในกองไฟในนามของการไม่ร่วมมือกับอังกฤษ อันเป็นกลยุทธ์สำคัญในขบวนการชาตินิยมนำโดยคานธี แท้จริงแล้ว ก็ใช่ว่าโมตีลาลจะมีความสุขกับการเปลี่ยนแปลงนี้นัก เพราะตนไม่ประสงค์จะยอมรับหลักการแบบคานธี แต่ก็ยอมที่จะไม่ร่วมมือกับอังกฤษเพื่อลูกชายของตน เพื่อว่าจะได้ใกล้ชิดกับลูกยิ่งขึ้น เดินร่วมทางกับลูก และติดตะรางกับลูก ดังที่ สแตนลีย์ โวลเพิร์ต ผู้เขียนชีวประวัติยวาฮัรลาลคนหนึ่งระบุว่า “เพราะลูกชายของเขาปฏิเสธที่จะสืบทอดกิจการด้านกฎหมายอันร่ำรวยของเขา เขาจึงทำอาชีพการเมืองอย่างลูกชายแทน” วิชัยลักษมีน้องสาวของยวาฮัรลาลเล่าว่า “คานธีครอบงำครอบครัวของเราอย่างหนักเสียจนเขาเป็นผู้ตัดสินใจแม้กระทั่งว่าฉันจะสวมส่าหรีชุดไหนในงานแต่งงานของตัวเอง ซึ่งจะเป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นผ้าคาดีเท่านั้น แม่ฉันโกรธเรื่องนี้มาก ส่วนบา [หรือกัสตูร์บา ภรรยามหาตมาคานธี] เองทอส่าหรีผ้าคาดีอย่างดีให้ฉัน ย้อมสีชมพู”

อินทิราในวัยเด็กซึ่งถูกเหน็บแนมว่าเหตุไฉนจึงเล่นตุ๊กตาของต่างชาติจำต้องสละตุ๊กตาตัวโปรดที่ผลิตในฝรั่งเศส ยืนดูตุ๊กตาหลอมละลายไปในกองไฟด้วยอารมณ์โศกสลดสะพรึงกลัว และด้วยหน้าที่ต่อปิตุภูมิ เธอได้สารภาพในเวลาหลายปีต่อมาว่า “ตุ๊กตาตัวนั้นเป็นเพื่อนฉัน เป็นลูกฉัน … ทุกวันนี้ฉันยังแหยงการจุดไม้ขีดไฟอยู่เลย” การใช้นามสกุลเนห์รูมิได้แสดงถึงความร่ำรวยและมีอภิสิทธิ์อีกต่อไป ต่อแต่นี้ไปจะกลับกลายเป็นสมาชิกครอบครัวกบฏ และก็ด้วยหน้าที่ต่อปิตุภูมินี่เองที่ทำให้ยวาฮัรลาลยืนกรานที่จะถอนเธอออกจากโรงเรียนเซนต์เซซิเลียในอัลลาฮาบาด โดยให้เหตุผลว่าโรงเรียนดังกล่าวเป็นของอังกฤษ ดังนั้นแล้ว ย่อมเป็นการละเมิดหลักการของพรรคคองเกรสที่จะต้องต่อต้านต่างชาติ อินทิราต้องถูกให้ออกจากโรงเรียนแล้วมาเรียนที่บ้านด้วยคำสั่งของบิดา ซึ่งสร้างเธอเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพในวัยเจ็ดขวบ

ยวาฮัรลาลมักเขียนถึงอินทิราด้วยว่า เธอกับเขาโชคดีแค่ไหนที่มีส่วนร่วมปลดแอกอินเดีย ในการสนทนากับผู้เล่าชีวประวัติของอินทิราคนหนึ่ง ปริยังกา คานธี หลานสาวของอินทิราเล่าว่า “คุณย่าเป็นนักปฏิวัติ และเป็นเช่นนั้นตลอดชีวิตของเธอ” เรายังสังเกตได้อีกด้วยว่าบรรยากาศมีลักษณะปฏิวัติอยู่เพียงใด ดังที่แผ่นป้ายหน้าอานันท์ภวัน (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสวราชภวัน) จารึกไว้ว่า “บ้านหลังนี้เป็นยิ่งกว่าสิ่งปลูกสร้างจากอิฐและปูน เป็นบ้านที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาติเรา ภายในกำแพงบ้านหลังนี้มีการตัดสินใจครั้งใหญ่และเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่เกิดขึ้นมากมาย”

เกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพของอินทิรา ตอนที่อินทิราเกิด โมตีลาลได้ระงับความเข้าใจใดๆ ก็ตามที่ว่าเขาไม่พอใจกับหลานสาวเกิดใหม่ของเขา เขาคลายบรรยากาศในบ้าน โดยเฉพาะกับสวรูปรานีภรรยาของเขาที่ได้โพล่งออกมาว่า “น่าจะเป็นเด็กผู้ชาย” โดยดุเธอว่า “เราเลี้ยงลูกชายกับลูกสาวของเรามาแตกต่างกันหรือ หล่อนไม่รักพวกเขาเท่ากันดอกหรือ เด็กหญิงคนนี้แหละจะล้ำค่ากว่าหลานชายเป็นพันคน” เกี่ยวกับความชื่นชอบเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงนี้ อินทิราเขียนไว้ว่า “ถึงครอบครัวฉันจะไม่หัวโบราณขนาดที่จะมองว่าการให้กำเนิดเด็กผู้หญิงเป็นเรื่องโชคร้าย แต่ก็ยังมองว่าเด็กผู้ชายเป็นสิทธิพิเศษและมีความจำเป็นอยู่ดี” สิทธิพิเศษและความจำเป็นดังกล่าวนั้นมีผลกระทบต่อเพศสภาพของเธอไม่น้อยเลยทีเดียว อัตลักษณ์ช่วงต้นๆ ของเธอเป็นเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และเธอก็มักจะพูดเองด้วยว่าไม่เคยมองตนเองเป็นเด็กหญิงหรือผู้หญิงเลย

ในวัยที่อินทิรากำลังเติบโต หลายคนรับรู้ว่าเธอเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย แต่แท้จริงแล้ว อินทิราเป็นคนแข็งกร้าวไม่น้อยเลย โดยเฉพาะเวลาที่กมลามารดาของเธอถูกเพิกเฉยหรือถูกหยามเกียรติ กมลามาจากครอบครัวแคชเมียร์ที่อาศัยอยู่ในเดลี เธอพูดได้แต่ภาษาฮินดี และไม่มีความรู้เกี่ยวกับตะวันตก เมื่อเธอแต่งงานกับยวาฮัรลาล เธอต้องประสบกับสมาชิกครอบครัวเนห์รูที่นอกจากจะใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับดีมากแล้ว ยังมีความเจนโลกและทันสมัยแบบตะวันตกด้วย อินทิรารู้สึกโกรธแค้นมากเมื่อคุณย่าสวรูปรานีและอาวิชัยลักษมีประพฤติไม่ดีต่อมารดาของเธอ บ่อยครั้งด้วยที่ทั้งสองทำตัวจองหองและสบประมาทกมลา การที่กมลาไม่สามารถมีลูกชายให้ครอบครัวเนห์รูได้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เธอไม่ได้รับการยอมรับ ในปี 1924 กมลาซึ่งมีสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรงนักได้ให้กำเนิดบุตรชายก่อนกำหนด เด็กน้อยคนนี้ตายในเวลาสองวันหลังคลอด และแลดูคล้ายว่าความหวังที่กมลาจะได้รับการยอมรับจากครอบครัวเนห์รูก็จบสิ้นไปพร้อมกับเด็กคนนี้ด้วย

ยิ่งยวาฮัรลาลเข้าร่วมขบวนการชาตินิยมอย่างเต็มตัว เขาก็ยิ่งมีเวลาให้กมลาน้อยลง อินทิราเคยเขียนจดหมายตัดพ้อต่อว่าพ่อของเธอว่า “พ่อรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้นที่บ้านเวลาที่พ่อไม่อยู่ พ่อรู้ไหมว่าเวลาแม่ป่วย มีคนอยู่เต็มบ้าน แต่ไม่มีสักคนเดียวที่จะไปหาแม่ หรือนั่งกับแม่แค่สักครู่ และเวลาที่แม่เจ็บปวดแสนสาหัส ก็ไม่มีใครช่วยเธอสักคนเดียว … ไม่ปลอดภัยเลยที่ทิ้งแม่ไว้ตามลำพัง” ในปี 1934 ในขณะที่อินทิรากำลังศึกษาอยู่ที่ศานตินิเกตัน กมลาป่วยหนักอีกครั้ง และในปี 1936 กมลาก็สิ้นชีพ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อินทิราวัย 18 ปีรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวกับเหตุการณ์นี้มาก ในภายหลังเธอพยายามให้ผู้คนจดจำแม่ของเธอว่าเป็นทั้งนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดียและเป็นนักสตรีนิยมที่น่ายกย่อง แม้จะมีมูลให้ผู้คนจดจำกมลาในลักษณะดังกล่าว แต่การที่อินทิรายกย่องสถานภาพของกมลาก็บ่งบอกด้วยว่า เธอประสงค์จะให้แม่เป็นที่จดจำว่ามีบทบาทเท่าเทียมกับพ่อของเธอ ดังที่เธอเคยกล่าวว่า “ฉันเป็นลูกสาวผู้ชายที่พิเศษกับผู้หญิงที่น่านับถือ” และแม้อินทิราจะใช้คำคุณศัพท์ “พิเศษ” อธิบายพ่อ แต่เธอก็ไม่เคยยกโทษให้พ่อที่ไม่ดูแลแม่อย่างเต็มที่ ความโกรธแค้นที่เธอมีต่อวิชัยลักษมีนั้นไม่เคยเลือนรางจางหาย ในปี 1970 เมื่ออินทิราในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ยกอานันท์ภวันให้มูลนิธิยวาฮัรลาล เนห์รู เธอปฏิเสธมิให้วิชัยลักษมีอาศัยอยู่ในอานันท์ภวันต่อ แม้แต่งานสมรสของสัญชัย คานธีบุตรคนที่สองของเธอในปี 1974 วิชัยลักษมีก็ไม่ได้รับเชิญด้วย

ในขณะที่ขบวนการชาตินิยมอินเดียท้าทายอังกฤษเพื่อเอกราชอินเดีย อินทิราก็ท้าทายพ่อและครอบครัวเพื่อเอกราชของตน เมื่อเธอคิดที่จะสมรสกับเฟโรซ คานธี ชาวอินเดียเชื้อสายปาร์ซีที่เธอรักมาก ส่วนหนึ่งเพราะเฟโรซเคยดูแลกมลาในยามป่วย ดังที่เธอเคยกล่าวว่า “เฟโรซคอยอยู่เคียงข้างฉันตลอด” อินทิราเคยสำแดงความภูมิใจในการท้าทายพ่อและครอบครัวของตนในประเด็นนี้ว่า “ในการแต่งงานกับเฟโรซฉันได้ทำลายประเพณีอันคร่ำครึ … ซึ่งมันก็ได้ ‘ทำให้พายุก่อตัวขึ้น’ … ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลายคนในครอบครัวฉันจะไม่สบอารมณ์” ยวาฮัรลาลต่อต้านความคิดของบุตรีที่จะเลือกเฟโรซเป็นคู่ครองอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่เพราะเฟโรซมาจากเชื้อสายปาร์ซีหรือวรรณะอื่น หากแต่เพราะเฟโรซมาจากชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างจากอินทิรา

เมื่อรู้แล้วว่าพ่อไม่มีทางยอมแน่ อินทิราจึงหันไปพึ่งคานธี บุคคลที่เธอไม่ได้รู้สึกชอบนักในช่วงแรกแต่ก็ยังเคารพอยู่บ้าง เพราะคานธีเป็นดังที่เธอกล่าวไว้ว่า “… ไม่เคยมองความเห็นอันตรงไปตรงมาว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย” ในภายหลังอินทิรายอมรับว่า ตนนั้นมองคานธีคลาดเคลื่อนไป ในมุมมองของอินทิรา สิ่งที่คานธีได้ทำไว้หาใช่การต่อต้านการคิดอย่างมีเหตุผลดั่งที่เธอเคยคิดไม่ หากแต่ท่านมหาตมามีความจำเป็นต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายและนำมวลชนปลดแอกอินเดียจากบริติชราช เมื่อเรื่องราวความรักระหว่างอินทิรากับเฟโรซแพร่กระจายสู่สาธารณะ ทำให้คานธีได้รับจดหมายที่มีเนื้อหาเชิงเหยียดหยามเฟโรซ และต่อต้านความสัมพันธ์ของทั้งสอง ในที่สุดคานธีจึงตัดสินใจแทรกแซงและเขียนจดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณะในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ หริชน ของตนว่า “ความผิดข้อเดียวของเขา [เฟโรซ] … คือเขาบังเอิญเป็นชาวปาร์ซี ตลอดมาและจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ายังคงเป็นปรปักษ์หนักแน่นกับการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเปลี่ยนศาสนาเพียงเพื่อจะแต่งงาน … เขา [เฟโรซ] พยาบาลกมลา เนห์รูในยามเธอเจ็บป่วย เขาเป็นเหมือนลูกชายเธอ ความใกล้ชิดระหว่างทั้งคู่ [อินทิรากับเฟโรซ] พัฒนาตามธรรมชาติ”

ในที่สุดยวาฮัรลาลก็ยอมให้ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1942 และทั้งสองก็ให้กำเนิดบุตรชายสองคน ราจีฟ และสัญชัย คานธีในปี 1944 และปี 1946 ตามลำดับ สุนิล คิลนานี นักวิชาการเชี่ยวชาญอินเดียคนสำคัญกล่าวไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของตนว่า นามสกุลของเฟโรซที่สะกดเป็น ‘Gandhy’ ถูกเปลี่ยนเป็น ‘Gandhi’ “เพื่อปกปิดที่มา” คิลนานีไม่ได้ให้เหตุผลเบื้องหลังการปกปิดนี้ สันนิษฐานได้ว่า น่าจะเพื่อลดแรงต้านดังที่สะท้อนจากการที่ผู้คนเขียนจดหมายถึงคานธี ในช่วงแรกความรักระหว่างทั้งสองดูหวานแหววมาก และเพียงหกเดือนหลังแต่งงาน ทั้งสองก็ติดคุกเพราะเข้าร่วมอย่างแข็งขันในการรณรงค์ให้อังกฤษยุติการปกครองอินเดีย หรือ ‘Quit India’ ที่นำโดยคานธี เมื่อออกจากคุกแล้ว ทั้งสองก็มีโอกาสใช้ชีวิตคู่รักอยู่ด้วยกันพักใหญ่ ก่อนที่ความสัมพันธ์จะเริ่มเปลี่ยนไปในทางเลวร้ายเพราะเหตุผลบางประการ รวมถึงความเจ้าชู้ของเฟโรซ และแล้วอินทิราก็นำลูกทั้งสองของเธอย้ายไปอยู่กับพ่อที่เดลี เมื่อพ่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียในปี 1947 ทิ้งให้เฟโรซอยู่ในบ้านที่เมืองลัคเนาตามลำพัง แม้จะแยกกันอยู่ แต่ทั้งสองยังดำเนินความสัมพันธ์กันทั้งในเรื่องส่วนตัวและการเมือง ดังที่อินทิราแท้งลูกในปี 1949 และดังที่เธอได้ช่วยทั้งพ่อและสามีในการรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง

ภาพแรก : พิธีสมรสระหว่างอินทิรา กับ เฟโรซ คานธี ในปี 1942, ภาพที่สอง : อินทิรา, ยวาฮัรลาล, ราจีฟ และสัญชัย คานธี ในสมัยที่ยวาฮัรลาลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (เครดิตทั้งสองภาพ : วิกิมีเดีย)

เหตุผลที่อินทิราตัดสินใจย้ายไปอยู่กับพ่อยังค่อนข้างคลุมเครือ อาจจะเป็นไปได้ว่า เธอได้ตัดสินใจเลือกพ่อแล้วในเวลานี้ และดังที่เธอเคยเกริ่นไว้ เธอจะย้ายไปอยู่กับสามีเพื่อสร้างครอบครัวอีกครั้งเมื่อพ่อสิ้นบุญ แต่ก็เป็นไปได้ด้วยว่า อินทิรามองเห็นศักยภาพของตนที่จะเล่นการเมืองต่อจากพ่อ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานปรากฏให้เห็นเลยว่ายวาฮัรลาลนั้นประสงค์จะให้ลูกสาวสืบทอดอำนาจจากตน ในปี 1960 เฟโรซถึงแก่กรรมด้วยหัวใจล้มเหลว ทำให้อินทิราเสียใจมากอีกครั้งนับตั้งแต่การจากไปของแม่เธอ อีกสี่ปีต่อมายวาฮัรลาลก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาแตก และเมื่อบุรุษสองคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธอต้องจากไป (คนหนึ่งคือคนรักที่เข้ามาชดเชยความรักที่ขาดหายไปแต่กลับทรยศเธอในภายหลัง อีกคนคือพ่อที่เธอรักแต่ก็ไม่เคยยกโทษให้เพราะดูแลแม่ไม่เต็มที่) ความเป็นตัวตนแท้จริงของอินทิราก็จะปรากฏให้เห็นในอีกไม่นานนัก

ในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของ ‘เพื่อถิ่นอินเดีย : 100 ปีชาตกาล อินทิรา คานธี’ ผู้เขียนจะอธิบายการดำเนินนโยบายภายในและการต่างประเทศของอินทิรา คานธี และนัยของการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่มีต่ออินเดียร่วมสมัย


Latest articles

Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)

(PART II: The Rise of Global Semiconductor Demand: A Choke Point amidst U.S.-China Geopolitical Tech War) Sasirada Sringam Picture Source: Foreign Policy: “Semiconductors and the U.S.-China Innovation Race: Geopolitics of the supply chain and the central role of Taiwan” Nowadays, semic

2024
-
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(1)
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(1)

(PART I: A Brief History and Taiwan’s IC Tech Development from Successful Democratization and Liberalization) Sasirada Sringam When discussing the world’s leading semiconductor companies, Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) is universally recognized. TSMC always ranks as the top

2024
-
Thailand-Nepal Ties: Time to Foster Relations through BIMSTEC
Thailand-Nepal Ties: Time to Foster Relations through BIMSTEC

Dr. Pramod Jaiswal . Thailand and Nepal have been bound by culture and shared values historically, demonstrating support for each other in regional and international forums. Though relations have fostered in the last six decades, there can be a lot more done to deepen ties between the

Dr. Pramod Jaiswal
2022
กระแสเอเชีย
Understanding Korea: Multicultural Korea
Understanding Korea: Multicultural Korea

Korakot Rueanjun Korea is one of the countries of which their culture is vibrant and unique. The vividness of Korean culture including arts, music, architecture, cuisine, and clothing represents the nation’s identity and the worthful cultural legacy that put together tradition and mode

Korakot Rueanjun
2022
Asia Trends