กิจกรรมของศูนย์เกาหลีศึกษา

ศูนย์เกาหลีศึกษา

ด้วยสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประเทศที่มีความสำคัญมายาวนาน ทั้งทางด้านความรู้วิทยาการ สังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสาธารณรัฐเกาหลีได้ขยายอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไปทั่วทุกภูมิภาค และกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ประเทศไทยจะพัฒนาความร่วมมือใด ๆ กับสาธารณรัฐเกาหลี  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของสาธารณรัฐเกาหลีอย่างลึกซึ้งและเป็นระบบ  

ศูนย์เกาหลีศึกษา (Korean Studies Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีภารกิจด้านวิจัยและวิชาการ บุกเบิกและเผยแพร่องค์ความรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือและสร้าง เครือข่ายวิจัยและวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มุ่งเป็นแหล่งข้อมูลเกาหลีศึกษาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับประเทศไทย รวมถึงกับประเทศอื่นในเอเชียและโลก

ที่ผ่านมาสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนการทำวิจัยด้านเกาหลีศึกษา และได้ดำเนินการบริหารเงินทุนสนับสนุนการวิจัยด้านเกาหลีศึกษาของศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียเพื่อการศึกษาขั้นสูง (Asia Research Center) ได้แก่ ทุนวิจัยภายในประเทศ 1 ปี ทุนสนับสนุการตีพิมพ์ผลงานวิจัยการ ทุนวิจัยไปทำวิจัย ณ สาธารณรัฐ เกาหลี ระยะเวลา 6 เดือนหรือ 1 ปี ได้อย่างมีระบบก่อให้เกิดงานวิจัยด้านเกาหลีศึกษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นรากฐานความมั่นคงในองค์ความรู้

อีกทั้ง ภายใต้การมุ่งเน้น ส่งเสริมและสนับสนุนทั้งงานวิจัยและงานวิชาการได้ในหลากหลายมิติของสถาบันเอเชียศึกษา ทำให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการวิจัยและด้านวิชาการเกี่ยวกับเกาหลีศึกษาในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดตั้งศูนย์เกาหลีศึกษาภายใต้สถาบันเอเชียศึกษา การร่วมพัฒนาและบริหารหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเกาหลีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ/หลักสูตรสหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย และการต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านเกาหลีศึกษาสู่สาธารณะ




พันธกิจ

ศูนย์เกาหลีศึกษา มีหน้าที่ในการวิจัยและวิชาการ บุกเบิกและเผยแพร่องค์ความรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือและสร้างเครือข่ายวิจัยและวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ  และเป็นแหล่งข้อมูลเกาหลีศึกษาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับประเทศไทย รวมถึงกับประเทศอื่นในเอเชียและโลก

ผศ.ดร.สุภาพร บุญรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ






เสวนาวิชาการ

การประชุมวิชาการระดับชาติเกาหลีศึกษาครั้งที่ 10 “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับเกาหลีศึกษา”

ศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียของมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน การประชุมวิชาการระดับชาติเกาหลีศึกษาครั้งที่ 10 “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับเกาหลีศึกษา” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยในงานมีการลงนามในหนังสือรับรองความร่วมมือทางวิชาการในนามมหาวิทยาลัยโดยเครือข่ายทั้ง 8 สถาบัน ได้แก่

ศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียของมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบรูพา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ศูนย์เกาหลีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

การประชุมวิชาการครั้งนี้นับเป็นเวทีที่ส่งเสริมเกาหลีศึกษาในประเทศไทย เสริมสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับเกาหลีศึกษาและภาษาเกาหลีระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต และนักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้นักวิชาการและนักวิจัยเกิดการศึกษาค้นคว้าและทำวิจัยในด้านเกาหลีศึกษาและภาษาเกาหลีมากขึ้นแล้วนั้น ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาให้เกิดความมั่นคงและแข็งแกร่งทางวิชาการมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย ศูนย์ส่งเสริมการวิจัยฯ ได้เชิญนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัยร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้ด้วย


รายละเอียด

วันที่

23 สิงหาคม 2567

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์เกาหลีศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) ชั้น 16 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. 10330