กิจกรรมของศูนย์เกาหลีศึกษา

ศูนย์เกาหลีศึกษา

ด้วยสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประเทศที่มีความสำคัญมายาวนาน ทั้งทางด้านความรู้วิทยาการ สังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสาธารณรัฐเกาหลีได้ขยายอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไปทั่วทุกภูมิภาค และกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ประเทศไทยจะพัฒนาความร่วมมือใด ๆ กับสาธารณรัฐเกาหลี  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของสาธารณรัฐเกาหลีอย่างลึกซึ้งและเป็นระบบ  

ศูนย์เกาหลีศึกษา (Korean Studies Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีภารกิจด้านวิจัยและวิชาการ บุกเบิกและเผยแพร่องค์ความรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือและสร้าง เครือข่ายวิจัยและวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มุ่งเป็นแหล่งข้อมูลเกาหลีศึกษาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับประเทศไทย รวมถึงกับประเทศอื่นในเอเชียและโลก

ที่ผ่านมาสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนการทำวิจัยด้านเกาหลีศึกษา และได้ดำเนินการบริหารเงินทุนสนับสนุนการวิจัยด้านเกาหลีศึกษาของศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียเพื่อการศึกษาขั้นสูง (Asia Research Center) ได้แก่ ทุนวิจัยภายในประเทศ 1 ปี ทุนสนับสนุการตีพิมพ์ผลงานวิจัยการ ทุนวิจัยไปทำวิจัย ณ สาธารณรัฐ เกาหลี ระยะเวลา 6 เดือนหรือ 1 ปี ได้อย่างมีระบบก่อให้เกิดงานวิจัยด้านเกาหลีศึกษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นรากฐานความมั่นคงในองค์ความรู้

อีกทั้ง ภายใต้การมุ่งเน้น ส่งเสริมและสนับสนุนทั้งงานวิจัยและงานวิชาการได้ในหลากหลายมิติของสถาบันเอเชียศึกษา ทำให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการวิจัยและด้านวิชาการเกี่ยวกับเกาหลีศึกษาในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดตั้งศูนย์เกาหลีศึกษาภายใต้สถาบันเอเชียศึกษา การร่วมพัฒนาและบริหารหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเกาหลีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ/หลักสูตรสหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย และการต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านเกาหลีศึกษาสู่สาธารณะ




พันธกิจ

ศูนย์เกาหลีศึกษา มีหน้าที่ในการวิจัยและวิชาการ บุกเบิกและเผยแพร่องค์ความรู้ เชื่อมโยงความร่วมมือและสร้างเครือข่ายวิจัยและวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ  และเป็นแหล่งข้อมูลเกาหลีศึกษาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับประเทศไทย รวมถึงกับประเทศอื่นในเอเชียและโลก

ผศ.ดร.สุภาพร บุญรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ






เสวนาวิชาการ

ศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียของมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง สถาบันเอเชียศึกษา ขอเชิญชวนอาจารย์ นักวิจัย สมัครรับทุนสนับสนุนประจำปี พ.ศ. 2568

1. ทุนวิจัยภายในประเทศ ระยะเวลา 1 ปี
โครงการวิจัยทุกสาขา แต่ถ้าเป็นโครงการวิจัยด้านเกาหลีศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม หรือโครงการวิจัยที่มีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาของสาธารณรัฐเกาหลีจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยมีหัวข้อหรือประเด็นหลัก (Theme) ดังนี้

1) ผู้นำแห่งอนาคต ขับเคลื่อนสังคมอุดมปัญญาแห่งอนาคตอย่างปกติสุขและเป็นที่รับรู้ได้
2) วิจัยนวัตกรรมที่มีประโยชน์สูงเพื่อสังคม
3) การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ได้แก่ การเป็นแหล่งอ้างอิง เครือข่ายแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เป็นต้น
* จากยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2564 – 2567 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและยุทธศาสตร์ของสถาบันเอเชียศึกษา

*** เมื่อได้รับสนับสนุนทุนวิจัยภายในประเทศ ผลงานต้องได้รับการตีพิมพ์หรือเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI  หรือ SCOPUS
*** งบประมาณสนับสนุนโครงการละ 50,000 บาท ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ***ผู้ที่เคยได้รับทุนจะต้องเว้นระยะไปอีก 2 ปี จึงจะสมัครขอรับทุนใหม่ได้

คุณสมบัติ ผู้สมัครต้องเป็นหัวหน้าโครงการโดยมีวุฒิปริญญาเอกหรือเทียบเท่า หรือระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขึ้นไป หัวหน้าโครงการ 1 คน ยื่นสมัครทุนสนับสนุนได้ 1 โครงการเท่านั้น หากเคยได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ฯ งานวิจัยดังกล่าวจะต้องอนุมัติปิดโครงการเป็นที่เรียบร้อย กรรมการพิจารณาความสมเหตุสมผลของงบประมาณตามจริงและตัดสินว่าจะอนุมัติโครงการหรือไม่  

หมดเขตวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567

2. ทุนตีพิมพ์ผลงานวิชาการ ในรูปแบบตำรา หนังสือ หรือ E-book

ทุนตีพิมพ์ผลงานวิชาการ ในรูปแบบตำรา หนังสือ หรือ E-book ด้านเกาหลีศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม หากมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาของสาธารณรัฐเกาหลีจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
***
งบประมาณสนับสนุน ไม่เกิน 100,000 บาท 

คุณสมบัติ ผู้สมัครต้องเป็นหัวหน้าโครงการโดยมีวุฒิปริญญาเอกหรือเทียบเท่า หรือระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขึ้นไป กรรมการพิจารณาความสมเหตุสมผลของงบประมาณตามจริง

หมดเขตวันที่ 31 ตุลาคม.. 2567

3. ทุนสนับสนุนเพื่อไปทำวิจัย ณ สาธารณรัฐเกาหลี ระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี (International Scholar Exchange Fellowship-ISEF)

ทุนสนับสนุนอาจารย์หรือนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในประเทศไทย วุฒิปริญญาเอกและอายุไม่เกิน 50 ปี ไปทำวิจัยที่สาธารณรัฐเกาหลีเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จากเว็บไซต์ https://www.chey.org/Eng/Isef/Apply/isefGuid.aspx

     * การตัดสินพิจารณาขั้นสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับ Chey Institute for Advanced Studies (CIAS)

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและส่งโครงการวิจัยเป็นภาษาไทย ตามแบบฟอร์มของศูนย์ฯจำนวน 9 ชุด พร้อมไฟล์อิเล็กทรอนิกส์
ส่งมาที่ ศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียของมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง (Asia Research Center)
ชั้น 16 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท วังใหม่ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

โทรศัพท์ 02-2183203 โทรสาร 02-2193805  อีเมล  arckfas@chula.ac.th

หมดเขตวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567 (นับจากวันประทับตราไปรษณีย์)


รายละเอียด

วันที่

18 กรกฎาคม 2567 - 31 ตุลาคม 2567

สถานที่

ศูนย์ส่งเสริมการวิจัยในภูมิภาคเอเชียของมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง (Asia Research Center) ชั้น 16 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท วังใหม่ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 02-2183203 โทรสาร 02-2193805 อีเมล arckfas@chula.ac.th

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์เกาหลีศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) ชั้น 16 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. 10330