กิจกรรมของศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย

ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย

ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ในการดำเนินการวิจัยที่สนับสนุนให้เกิดแนวคิดเชิงนโยบายที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง โดยประสานกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรภาคเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการย้ายถิ่น รวมทั้งจัดกิจกรรมทางวิชาการในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือที่นำนักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมมือกับองค์กร สถาบัน ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อนำข้อค้นพบจากงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ในการชี้นำเชิงนโยบาย และวางแนวทางปฏิบัติในการสร้างความเข้าใจเงื่อนไขและรูปแบบอันหลากหลายของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้อพยพย้ายถิ่น รวมทั้งการตระหนักถึงท่าทีขององค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองต่อผู้อพยพย้ายถิ่น

Websites About Us | mysite (wixsite.com)
facebook page https://www.facebook.com/ARCMChula

เป้าหมาย

  • เพื่อดำเนินงานศึกษาวิจัยและสร้างนวัตกรรม/องค์ความรู้ภายใต้ประเด็น “รูปแบบการย้ายถิ่นและงานในอนาคต” (Migration Patterns and Future Work) และร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะในเรื่องการย้ายถิ่นในระดับชาติและระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ในการผลักดันนโยบายและการดำเนินงานเกี่ยวกับการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ การย้ายถิ่นที่ปลอดภัย และการคุ้มครองแรงงานย้ายถิ่นตามแนวคิด Collaborative Democracy เพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนระดับชาติและระดับภูมิภาค ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ
  • เพื่อพัฒนานักวิจัยและนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาให้เป็นผู้ชำนาญการในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ สามารถเอื้อประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย วงวิชาการ และการพัฒนาสังคมอย่างสูงสุด

แผนที่นำทางของการดำเนินงาน (Road Map)

แผนการดำเนินงาน 5 ปีของศูนย์ฯ มุ่งเน้นการดำเนินโครงการวิจัยและเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบบทความวิชาการในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ รวมถึงการสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม ต่อหน่วยงาน องค์กร และชุมชน ไปจนถึงระดับชาติ ภายใต้ประเด็น (theme) ที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นและการพัฒนา 3 ประเด็น ประกอบด้วย

  • ประเด็นที่ 1: แรงงานย้ายถิ่น และผู้ย้ายถิ่น จำนวน 5 โครงการ
  • ประเด็นที่ 2: การค้ามนุษย์ จำนวน 2 โครงการ
  • ประเด็นที่ 3: ผู้ลี้ภัย/ผู้พลัดถิ่น จำนวน 2 โครงการ

เสวนาวิชาการ

เวทีประชาคมและงานวิจัย เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเพื่อยกระดับความมั่นคงและคุณภาพชีวิตเมืองชายแดนของอำเภอเมือง

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมหว้ากอ ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการจัดทำเวทีประชาคมและงานวิจัย เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเพื่อยกระดับความมั่นคงและคุณภาพชีวิตเมืองชายแดนของอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโครงการของ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี  นายกองโท ปรีดา สุขใจ ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นายเดชา เรืองอ่อน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ผศ.ทิวา ศุภจรรยา และคณะนักวิจัย จากศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการประชุม (งานวิจัยและเวทีประชาคมจะมีขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2567 – มกราคม 2568)


รายละเอียด

วันที่

9 กรกฎาคม 2567

เวลา

09:00 - 12:00

สถานที่

ณ ห้องประชุมหว้ากอ ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330