กิจกรรมของศูนย์จีนศึกษา

ศูนย์จีนศึกษา

การศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้เรื่องจีน เริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมกับกระแสการส่งเสริมเอเชียศึกษาทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ การเกิดสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีน ในปีพ.ศ.2510 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ก่อตั้งสถาบันเอเชียศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ โดยทำการสอน วิจัย และเผยแพร่เรื่องจีนเป็นกิจกรรมสำคัญ ภายหลังไทย-จีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว และสถาบันเอเชียศึกษาได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 และกิจกรรมเรื่องจีนศึกษามีมากขึ้น ในปีพ.ศ.2538 ซึ่งเป็นวโรกาสที่ไทย-จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 20 ปี สถาบันเอเชียศึกษา จึงได้ก่อตั้งศูนย์จีนศึกษาขึ้น เพื่อการทำวิจัยในลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชา คือ ครอบคลุมความรู้ในหลายด้านที่เกี่ยวกับจีน ได้แก่ การเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคม วัฒนธรรมและภาษา รวมทั้งความรู้ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับจีน เพื่อสร้างฐานข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องจีนศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นบริการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนในระดับต่างๆ และเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเรื่องจีนศึกษากับนักวิชาการเรื่องจีนศึกษาทั่วโลก


Websites http://www.csc.ias.chula.ac.th 
facebook page ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ Chinese Studies Center, CU | Facebook


ช่องทางการรับชมและติดตามผลงานของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ซึ่งได้มีการรวบรวมไว้ในรูปแบบของ Podcast จีนศึกษา
soundcloud https://bit.ly/3vzdVkG
apple podcast https://apple.co/2P2KMxg
Spotify https://spoti.fi/38RJj43
youtube https://bit.ly/3rVKGGB

พิธีเปิดหลักสูตรอบรมสำหรับผู้นำธุรกิจชาวจีน K-Academy for Chinese Business Leaders – KCBL รุ่นที่ 1

ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย จัดงานเปิดหลักสูตรอบรมสำหรับผู้นำธุรกิจชาวจีน K-Academy for Chinese Business Leaders – KCBL เป็นรุ่นแรก

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ณ ธนาคารกสิกรไทย ราษฎร์บูรณะ นาย บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย และ รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ดร.ดลยา เทียนทอง รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดหลักสูตรอบรมสำหรับผู้นำธุรกิจชาวจีน K-Academy for Chinese Business Leaders – KCBL รุ่นที่ 1

หลักสูตร KCBL เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย และศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการประสานรวมความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและด้านวิชาการ จะเริ่มดำเนินการอบรมตั้งแต่ 19 มกราคม – 11 เมษายน 2567 มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเสริมผู้นำธุรกิจชาวจีนเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและบริบททางธุรกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาคของไทย ตลอดจนเป็นแหล่งบ่มเพาะเครือข่ายทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ

ดร.อาร์ม กล่าวในงานเปิดหลักสูตรว่า “หลักสูตร KCBL เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นการประสานรวมความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและด้านวิชาการ ธนาคารกสิกรไทยถือเป็นธนาคารชั้นนำของไทยที่มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมทั่วภูมิภาคอาเซียน และมีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการลูกค้าชาวจีนอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางออนไลน์ การเป็นผู้นำการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในหลักสูตรนี้ ธนาคารกสิกรไทยจะเชิญผู้บริหารผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์การลงมือทำจริงมาถ่ายทอดโดยตรง และศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์วิจัยจีนศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย มุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับจีนและเป็นตัวกลางพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในการทำหลักสูตรนี้จุฬาฯ จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในประเทศไทยอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความสำเร็จในการทำธุรกิจในไทยในอนาคต”
หลักสูตร KCBL มีเนื้อหาครอบคลุม 5 หัวข้อหลัก ได้แก่
1. บริบททางธุรกิจในประเทศไทย
2. ความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนและการผสมผสานทางวัฒนธรรม
3. กฎหมายและกฎเกณฑ์ทางธุรกิจในไทย
4. การให้บริการทางการเงินในประเทศไทย
5. การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้มีความรู้ความเข้าใจด้านวิชาการที่เกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจไทย ทั้งจะยังได้สร้างเครือข่ายกับผู้บริหารและผู้ประกอบการธุรกิจ ตลอดจนการเสวนากับผู้บริหารระดับสูง นักวิชาการชั้นนำ และตัวแทนจากหน่วยงานรัฐของไทย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจบริบททางธุรกิจของไทยได้ลึกซึ้งขึ้น ผลักดันความร่วมมือและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น


รายละเอียด

วันที่

19 มกราคม 2567

สถานที่

ณ ธนาคารกสิกรไทย ราษฎร์บูรณะ

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์จีนศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330