บทความของศูนย์แม่โขงศึกษา

ศูนย์แม่โขงศึกษา

facebook page Mekong Chula | Facebook

แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป โดยไหลผ่านดินแดนของประเทศต่างๆ  ถึง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน (มณฑลยูนนาน) พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แม่น้ำโขงจึงเป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางอารยธรรม ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่หล่อหลอมขึ้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของภูมิภาคนี้ วิถีชีวิตของประชาชนทั้ง 6ประเทศต่างผูกพันกับแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาสูงนี้ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เองที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวโยงกับแม่น้ำสายนี้

สถาบันเอเชียศึกษามีความสนใจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาเป็นระยะเวลานาน ในเบื้องต้นนั้นได้มีการจัดตั้งโครงการเครือข่ายแม่น้ำโขง (Mekong Development Research Network) ขึ้นในปี พ.ศ.2536 เพื่อเป็นศูนย์บริหารและประสานงานกับหน่วยงานและประเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรจากแม่น้ำโขง โดยได้ให้การสนับสนุนการทำวิจัยระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการทรัพยากรลุ่มแม่น้ำโขง และจัดประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในการใช้ทรัพยากรของแม่น้ำสายนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีผลงานอาทิ Maps of International Borders Between Mainland Southeast Asian Countries and Background Information concerning population Movements at these Borders (1998)           การที่แม่น้ำโขงตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญได้กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับดินแดนบริเวณดังกล่าว ทั้งจากองค์กรของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมาแม่น้ำโขงได้ทวีความสำคัญอย่างเป็นพลวัต อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ ดังนั้น สถาบันเอเชียศึกษาจึงเห็นความจำเป็นในการศึกษาทำความเข้าใจแม่น้ำโขงในมิติต่างๆ และได้ขยายโครงสร้างของงานจากโครงการเครือข่ายแม่น้ำโขงมาเป็นศูนย์แม่โขงศึกษาเพื่อสานต่อและพัฒนาความรู้ในปี พ.ศ.2544 โดยเน้นถึงการศึกษาพลวัตของแม่น้ำโขงอันสัมพันธ์กับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังได้ขยายความสนใจไปสู่ประเด็นฐานรากของแม่น้ำโขง อันได้แก่ ประวัติศาสตร์ ผู้คน และวัฒนธรรม โดยมองแม่น้ำโขงในฐานะที่เป็นสายน้ำที่มีชีวิต

ขอบเขตการดำเนิน

ศูนย์แม่โขงศึกษา เป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งศึกษาวิจัย ค้นคว้า และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีนตอนใต้ โดยเน้นวิธี การศึกษาที่เรียกว่า อาณาบริเวณศึกษา ที่มุ่งอธิบายความเปลี่ยนแปลงจากมุ่งมองภายใน ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงมุมมองภายในของประเทศ ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรอบด้านและเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมองการเปลี่ยนแปลงในเชิงของการเป็นอนุภูมิภาค (sub-region) เนื่องจากประเทศในอนุภูมิภาคฯ ล้วนมีความใกล้ชิดทางด้านภูมิศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีประสบการณ์ร่วมในพัฒนาการของประเทศที่คล้ายคลึงกัน ตลอดจนการเชื่อมโยง ระหว่างกัน (Connectivity) ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งทางกายภาพ ความเชื่อมโยงของ องค์กร ตลอดจนการเชื่อมโยงของประชาชน ที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ สนับสนุนให้เกิดการยกระดับของการบูรณาการภายในอนุภูมิภาคฯ และก่อให้เกิดการ ประสานประโยชน์ร่วมกันที่มากขึ้น  องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ ศูนย์ฯ ได้ผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในทุกภาคส่วนของสังคม ผ่านการบริการด้านวิชาการ ทั้งการจัดสัมมนาทางวิชาการ การให้คำปรึกษาทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วน ร่วมในการกำหนดนโยบายที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านี้สามารถก่อให้เกิด ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์

1) เพื่อศึกษาค้นคว้าทางวิชาการใน เรื่องที่เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลมุ่แม่น้ำ โขง ซึ่งกำลังพัฒนาเข้าสู่การเป็น ประชาคมอาเซียน

2) เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิง ให้ คำปรึกษา และเสริมสร้างความ เข้าใจ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในเรื่องที่ เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

3) เพื่อพัฒนาให้เกิดเครือข่ายความ ร่วมมือทางวิชาการ ทั้งใน ระดับชาติ และระดับนาชาติ

การให้บริการด้านวิชาการ

1) เป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานรัฐ และเอกชนในการศึกษาหรือทำ โครงการเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน

2) จัดอบรมองค์ความรู้เกี่ยวกับ ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

3) บรรยายในหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน และการจัดการเรียน การสอน ตลอดจนการตีพิมพ์ บทความทางวิชาการ และเผยแพร่ ผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ

4) การจัดสัมมนาวิชาการเผยแพร่ ประจำปีของศูนย์

ความปกติใหม่ ใน ทะเลจีนใต้

โดย ศูนย์แม่โขงศึกษา  สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ขณะที่โลกเผชิญกับโรคระบาด ปักกิ่งกลับขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้อย่างก้าวร้าว จนถูกกล่าวหาว่า  “ฉวยโอกาส” จากวิกฤต เพื่อเปลี่ยนกฎของเกมตามต้องการหรือแท้จริงแล้วเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่พญามังกรได้วางไว้แม้ โควิด-๑๙ จะไม่เกิดขึ้นก็ตาม และ “ความปกติใหม่” ในทะเลจีนใต้ หลังการระบาดสิ้นสุดจะเป็นเช่นไร ?

พฤติการณ์ของจีนในทะเลจีนใต้ขณะที่เพื่อนบ้านปั่นป่วนกับการระบาดของโควิด-๑๙ จากการที่เรือยามฝั่งของจีนจมเรือประมงเวียดนาม หรือเรือสำรวจไห่หยาง ตี้จื้อ ๘ ขนาบข้างด้วยเรือยามฝั่ง เข้าคุกคามการทำงานเรือสำรวจเวสต์             คาเพลล่าของบริษัทน้ำมันเปโตรนาสในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย แม้กัวลาลัมเปอร์จะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ แต่ปักกิ่งอ้างว่าไม่ได้รุกล้ำน่านน้ำพิพาท เพราะไม่มีน่านน้ำพิพาท เนื่องจากจีนยึดถือแผนที่เส้นประ ๙ เส้น (Nine-Dash Line Map)

เวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าเป็นคู่พิพาทกับจีนต่อปัญหาในทะเลจีนใต้ เฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งเขตปกครองพิเศษของจีนบนหมู่เกาะสแปรตลีย์ และหมู่เกาะพาราเซล ด้วยการตั้งเมืองซานซาขึ้นดูแลเกาะซีซา,จงซา, หนานซาและน่านน้ำในทะเลจีนใต้ รวมทั้งการตั้งชื่อเกาะ และลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น แนวปะการัง, ภูเขาใต้ทะเล, สันเขา และสันดอนที่จมอยู่ใต้น้ำในพื้นที่พิพาท เป็นภาษาจีน หรือการสร้างสถานีวิจัยใหม่ ๒ แห่งและสนามบินที่สามารถรองรับเครื่องบินทหารบนเกาะเทียมบริเวณแนวปะการังเฟียรี ครอส รีฟ และซูบี รีฟ

โควิด-๑๙ ยังทำให้โอกาสของเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนลดน้อยลงในการผลักดันวาระเพื่อคัดง้างกับจีนโดยเร่งรัดฉันทามติประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ขณะที่ฟิลิปปินส์แม้จะยังคงแสดงจุดยืนเคียงข้างเวียดนาม และอึดอัดต่อความก้าวร้าวของปักกิ่งจากการที่เรือจีนล็อคเป้าเรดาร์ปืนไปที่เรือลาดตระเวนบีอาร์พี คอนราโด ยัป ในน่านน้ำพิพาท แต่ปัญหาการระบาดที่กำลังเผชิญ ทำให้มนิลา และประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต ต้องชั่งน้ำหนักความสมดุล ระหว่างผลประโยชน์ของประเทศ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากปักกิ่ง หรือสนับสนุนเวียดนามต่อปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับจีน

อินโดนีเซียเป็นอีกประเทศที่กังวลต่อการเข้ามาจับปลาที่ผิดกฎหมายของเรือประมงจีนบริเวณหมู่เกาะนาทูนา ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย โดยมีเรือยามฝั่งคุ้มกัน แม้จีนไม่ได้โต้แย้งอำนาจอธิปไตยของอินโดนีเซีย แต่อ้างว่าเป็นพื้นที่จีนทำการประมงมาแต่โบราณ จาการ์ตาจึงประท้วงปักกิ่ง ซึ่งอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ตามแผนที่เส้นประ ๙ เส้น และทำให้ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด สั่งการให้มีการลาดตระเวนทางทะเลเพิ่มขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าจีนจะไม่บุกรุกเข้ามาในน่านน้ำตน

การปฏิบัติการของจีนในทะเลจีนใต้ โดยใช้กองเรือยามฝั่ง  (CCG) ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจงใจ และเป็นกลยุทธ์ที่ปักกิ่งวางไว้ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่แสดงออกในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดความเสี่ยงเมื่อเทียบกับการใช้เรือรบ เพราะจีนไม่ต้องการถูกมองว่าก่อสงคราม

ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ทำให้วอชิงตันกล่าวหาว่า ปักกิ่งใช้ประโยชน์จากการระบาดใหญ่ในภูมิภาค และเรียกร้องให้หยุดการระรานเพื่อนบ้าน พญาอินทรียังท้าทายพญามังกร โดยอ้าง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ด้วยการส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ เข้าไปปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งส่งเรือโจมตียกพลขึ้นบกยูเอสเอส อเมริกา เรือพิฆาตยูเอสเอส แบร์รี และเรือลาดตระเวน ยูเอสเอส บังเกอร์ ฮิลล์ ปฏิบัติการฝึกซ้อมการเดินเรือในทะเลจีนใต้ ใกล้พื้นที่พิพาทระหว่างจีนและมาเลเซีย ร่วมกับเรือฟริเกตพารามัตต้าของออสเตรเลีย ซึ่งสร้างความไม่สบายใจแก่มาเลเซีย ที่เกรงว่าจะเพิ่มความตึงเครียด และระดับสถานการณ์ จนเกินขีดที่มาเลเซียจะจัดการได้ แม้จะไม่พอใจการรุกล้ำของจีนก็ตาม

ขณะที่พญามังกรก็ไม่แยแสการยั่วยุของอเมริกา โดยจัดให้มีการฝึกซ้อมในทะเลจีนใต้ของเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง และฝึกปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ของกองเรือคุ้มกันการเดินเรือ ชุดที่ ๓๕ ประกอบด้วย เรือพิฆาตไท่หยวน, เรือฟริเกตจิงโจวและเรือส่งกำลังบำรุงเฉาหู หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดน นอกชายฝั่งโซมาเลีย

จริงๆแล้ว จีนอาจไม่ได้ฉวยโอกาส แต่การระบาดช่วยให้จีนได้เปรียบในเวลาที่สถานที่ของการแพร่ระบาดได้ย้ายไปยังประเทศอื่น และอยู่ห่างจากจีนทำให้จีนสามารถใช้ประโยชน์ความเปราะบางของเพื่อนบ้านผ่านการให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมความร่วมมือในการต่อสู้กับโรคระบาด ขณะเดียวกันปักกิ่งยังต้องการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ไปยังวอชิงตัน และเพื่อนบ้านว่า โควิด-19 หรือวิกฤตใดๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบ ทำให้ความสามารถในการป้องกันตัวของจีนน้อยลงหรือหยุดอิทธิพลของปักกิ่งในทะเลจีนใต้ได้แม้ต้องแลกกับความไม่ไว้วางใจของเพื่อนบ้าน

สถานการณ์การระบาดยังทำให้เป็นไปได้ลำบากสำหรับวอชิงตันในการต่อกรกับปักกิ่งจากความสามารถในการพร้อมรบที่ลดระดับต่ำลงอย่างมีนัยยะหลังสูญเสียขีดความสามารถของกองเรือที่ ๗ บางส่วนไป จนไม่สามารถปฏิบัติการได้จากการที่ลูกเรือ ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ และยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ติดเชื้อโควิด-๑๙ รวมทั้งการส่งเรือรบเข้าไปในทะเลจีนใต้น้อยลงหลังการระบาด การยกเลิกหรือเลื่อนการฝึกซ้อมร่วมทางทหาร เช่น การฝึกซ้อมรบริมแพค, การฝึก               บาลิกาตันกับฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

การระบาดยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศในอาเซียน จนต้องตัดลดรายจ่ายป้องกันประเทศ เช่น อินโดนีเซีย  จำนวน ๕๘๘ ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เผชิญแรงกดดันจากปัญหางบประมาณ ซึ่งหมายถึงการลาดตระเวนทางทะเลที่น้อยลง จีนซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการระบาดที่กำลังฟื้นตัว และพยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ที่เสียหายจากการส่งความช่วยเหลือที่เรียกว่า “การทูตหน้ากาก” (Mask Diplomacy) ไปยังเพื่อนบ้าน ด้วยการบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีรักษา ซึ่งช่วยบรรเทาความกังวลที่มีต่อโครงการ  Belt and Road Initiative (BRI) ว่าเป็น “การทูตกับดักหนี้” (Debt Trap Diplomacy) การให้ความช่วยเหลือในยามวิกฤตยังทำให้จีนก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ในฐานะ “ผู้มีพระคุณ”

ความปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน หลังการระบาดสิ้นสุด ก็คือ หลายชาติในอาเซียนจำต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีนมากยิ่งขึ้น จนไม่สามารถท้าทายอิทธิพลจีนในทะเลจีนใต้ได้ นอกจากจะบริหารความสัมพันธ์กับปักกิ่ง อย่างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ภายในประเทศกับปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก..


อ้างอิงจาก :

“South China Sea: What’s Behind China-Vietnam Tensions Amid COVID–19?”
Diplomat, April 10, 2020
https://thediplomat.com/2020/04/south-china-sea-whats-behind-china-vietnam-tensions-amid-covid-19/
“U.S. military faces down two challenges in western Pacific: COVID-19 and China”
Japan Times, May 20, 2020
https://www.japantimes.co.jp/news/2020/05/20/asia-pacific/us-military-western-pacific-coronavirus-china/
“Under Cover of Pandemic, China Steps Up Brinkmanship in South China Sea”
Foreign Policy, May 14, 2020
https://foreignpolicy.com/2020/05/14/south-china-sea-dispute-accelerated-by-coronavirus/
“Why is the US escalating its presence in the South China Sea amid the coronavirus pandemic?”
South China Morning Post, 17 May, 2020
https://www.scmp.com/comment/opinion/article/3084517/why-us-escalating-its-presence-south-china-sea-amid-coronavirus
“A Cold War Is Heating Up in the South China Sea”
Bloomberg, 22 May, 2020
https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2020-05-21/u-s-china-tension-over-trade-covid-19-rises-in-south-china-sea


บทความล่าสุด

ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา

ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์
2567
กระแสเอเชีย
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ กัมพูชาอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพนันได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยอุตสาหกรรมการพนันสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาลและทำให้กัมพูชากลายเป็นประเทศที่มีคาสิโนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตามมาด้วยเมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์) ปัจจุบันคาสิโนมักกระจุกตัวอยู่บริเวณช

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2566
กระแสเอเชีย
เวียดนาม ๑ ปี หลัง CPTPP เร็วไป เกินจะตัดสิน “ได้” หรือ “เสีย”
เวียดนาม ๑ ปี หลัง CPTPP เร็วไป เกินจะตัดสิน “ได้” หรือ “เสีย”

โดย ภาณุรักษ์ ต่างจิตร หลัง CPTPP  มีผลบังคับใช้ (๑๔ มกราคม ๒๕๖๒) ยังยากที่จะแยกผลประโยชน์ของ CPTPP ออกจาก FTA อื่นๆ ที่เวียดนามเข้าร่วม แม้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามประเมินว่าจะช่วยขยายตลาด และเพิ่มการส่งออก แต่การส่งออกไปตลาด CPTPP ปี ๒๕๖๒ ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ยกเว้นเม็กซิโกแ

ภาณุรักษ์ ต่างจิตร
2563
กระแสเอเชีย
เลือกตั้งเมียนมา ๒๕๖๓ หนังคนละม้วน
เลือกตั้งเมียนมา ๒๕๖๓ หนังคนละม้วน

เมียนมากำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๓๗ ล้านคน และพรรคการเมืองประมาณ ๙๗ พรรค ที่ยื่นจดทะเบียนต่อ UEC (Union Election Commission) แม้จะเป็นประเด็นเห็นต่างในหมู่พรรคการเมืองจากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-๑๙ ซึ่งพรรคเล็กๆ มองว่า โรคระบาดจะทำให้มีผู้มา

ศูนย์แม่โขงศึกษา
2563
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์แม่โขงศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 3 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

02-218-7468

02-218-7459