บทความของศูนย์แม่โขงศึกษา

ศูนย์แม่โขงศึกษา

facebook page Mekong Chula | Facebook

แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป โดยไหลผ่านดินแดนของประเทศต่างๆ  ถึง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน (มณฑลยูนนาน) พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แม่น้ำโขงจึงเป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางอารยธรรม ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่หล่อหลอมขึ้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของภูมิภาคนี้ วิถีชีวิตของประชาชนทั้ง 6ประเทศต่างผูกพันกับแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาสูงนี้ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เองที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวโยงกับแม่น้ำสายนี้

สถาบันเอเชียศึกษามีความสนใจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาเป็นระยะเวลานาน ในเบื้องต้นนั้นได้มีการจัดตั้งโครงการเครือข่ายแม่น้ำโขง (Mekong Development Research Network) ขึ้นในปี พ.ศ.2536 เพื่อเป็นศูนย์บริหารและประสานงานกับหน่วยงานและประเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรจากแม่น้ำโขง โดยได้ให้การสนับสนุนการทำวิจัยระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการทรัพยากรลุ่มแม่น้ำโขง และจัดประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในการใช้ทรัพยากรของแม่น้ำสายนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีผลงานอาทิ Maps of International Borders Between Mainland Southeast Asian Countries and Background Information concerning population Movements at these Borders (1998)           การที่แม่น้ำโขงตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญได้กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับดินแดนบริเวณดังกล่าว ทั้งจากองค์กรของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมาแม่น้ำโขงได้ทวีความสำคัญอย่างเป็นพลวัต อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ ดังนั้น สถาบันเอเชียศึกษาจึงเห็นความจำเป็นในการศึกษาทำความเข้าใจแม่น้ำโขงในมิติต่างๆ และได้ขยายโครงสร้างของงานจากโครงการเครือข่ายแม่น้ำโขงมาเป็นศูนย์แม่โขงศึกษาเพื่อสานต่อและพัฒนาความรู้ในปี พ.ศ.2544 โดยเน้นถึงการศึกษาพลวัตของแม่น้ำโขงอันสัมพันธ์กับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังได้ขยายความสนใจไปสู่ประเด็นฐานรากของแม่น้ำโขง อันได้แก่ ประวัติศาสตร์ ผู้คน และวัฒนธรรม โดยมองแม่น้ำโขงในฐานะที่เป็นสายน้ำที่มีชีวิต

ขอบเขตการดำเนิน

ศูนย์แม่โขงศึกษา เป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งศึกษาวิจัย ค้นคว้า และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีนตอนใต้ โดยเน้นวิธี การศึกษาที่เรียกว่า อาณาบริเวณศึกษา ที่มุ่งอธิบายความเปลี่ยนแปลงจากมุ่งมองภายใน ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงมุมมองภายในของประเทศ ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรอบด้านและเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมองการเปลี่ยนแปลงในเชิงของการเป็นอนุภูมิภาค (sub-region) เนื่องจากประเทศในอนุภูมิภาคฯ ล้วนมีความใกล้ชิดทางด้านภูมิศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีประสบการณ์ร่วมในพัฒนาการของประเทศที่คล้ายคลึงกัน ตลอดจนการเชื่อมโยง ระหว่างกัน (Connectivity) ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งทางกายภาพ ความเชื่อมโยงของ องค์กร ตลอดจนการเชื่อมโยงของประชาชน ที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ สนับสนุนให้เกิดการยกระดับของการบูรณาการภายในอนุภูมิภาคฯ และก่อให้เกิดการ ประสานประโยชน์ร่วมกันที่มากขึ้น  องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ ศูนย์ฯ ได้ผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในทุกภาคส่วนของสังคม ผ่านการบริการด้านวิชาการ ทั้งการจัดสัมมนาทางวิชาการ การให้คำปรึกษาทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วน ร่วมในการกำหนดนโยบายที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านี้สามารถก่อให้เกิด ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์

1) เพื่อศึกษาค้นคว้าทางวิชาการใน เรื่องที่เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลมุ่แม่น้ำ โขง ซึ่งกำลังพัฒนาเข้าสู่การเป็น ประชาคมอาเซียน

2) เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิง ให้ คำปรึกษา และเสริมสร้างความ เข้าใจ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในเรื่องที่ เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

3) เพื่อพัฒนาให้เกิดเครือข่ายความ ร่วมมือทางวิชาการ ทั้งใน ระดับชาติ และระดับนาชาติ

การให้บริการด้านวิชาการ

1) เป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานรัฐ และเอกชนในการศึกษาหรือทำ โครงการเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน

2) จัดอบรมองค์ความรู้เกี่ยวกับ ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

3) บรรยายในหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน และการจัดการเรียน การสอน ตลอดจนการตีพิมพ์ บทความทางวิชาการ และเผยแพร่ ผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ

4) การจัดสัมมนาวิชาการเผยแพร่ ประจำปีของศูนย์

ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กระทรวงการต่างประเทศ

โดย ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์


.

สาระสำคัญของการประชุม

การทำความเข้าใจกับบริบทของ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) ในช่วงระยะเวลา
๒๐ ปีที่ผ่านมา จำเป็นต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจเหตุการณ์ช่วงก่อนและหลังสงครามเย็น โดยเฉพาะนโยบายการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นผลงานของประเทศไทยที่สามารถปรับเปลี่ยนบริบททางการเมืองที่มีความสับสนอลหม่านให้กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ และต่อมาธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้สร้างกรอบในการเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ที่เรียกว่า โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ขึ้น มีประเทศญี่ปุ่นเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างความร่วมมือในพื้นที่ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ในภูมิภาคนี้

ในช่วงครึ่งทศวรรษ ๑๙๙๐ ได้เกิดการรวมตัวของประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนใหม่ ที่เรียกว่ากลุ่ม CMLV เพื่อลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ขณะที่ประเทศไทยได้ริเริ่ม ACMECS ขึ้นในเดือนเมษายน ๒๐๐๓ สมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติโรคซาร์ส โดยเสนอแนวคิดกับผู้นำลาว กัมพูชา และเมียนมา เป้าหมาย คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจร่วมของภูมิภาค เพื่อลดช่องว่างของการพัฒนา
ในภูมิภาค ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ตอบโจทย์นโยบายด้านการต่างประเทศของประเทศไทยในเวลานั้น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากบริบทภายนอกทำให้ประเทศในภูมิภาคหันมาสร้าง FTAs กันมากขึ้น โดยเฉพาะหลังประเทศจีนเข้า WTO 
ซึ่งได้หันมาสนใจเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มากขึ้น และกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา อีกหนึ่งจุดเปลี่ยน คือ ความก้าวหน้าของโครงการเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity) ที่เป็นผลจาก BALI CONCORD II เมื่อต้นปี ๒๐๑๖ ทำให้เกิดความร่วมมือกับ Strategic partners ผ่านการประชุมสารพัด (Sophisticated ASEAN) ภายใต้บริบทความร่วมมือในภูมิภาคที่มีความใกล้เคียงกับ ACMECS ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS), คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC), Mekong-Japan Cooperation (ประเทศญี่ปุ่น) Mekong-ROK Cooperation (ประเทศเกาหลีใต้), Mekong-Lancang Cooperation: MLC (ประเทศจีน), Lower Mekong Initiatives: LMI, Mekong-U.S. Partnership: MUSP (ประเทศสหรัฐอเมริกา), Mekong–Ganga Cooperation: MGC (ประเทศอินเดีย) เป็นต้น

ความก้าวหน้าของ ACMECS ในช่วงเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา มีความร่วมมือ ๕ สาขา ได้แก่ การค้าการลงทุน, การเกษตรและอุตสาหกรรม, การเชื่อมโยงด้านคมนาคม, การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศไทยได้ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอดแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

หลัง ๒๐ ปีผ่านไป เป้าหมายและการร่วมมือกันของ ACMECS ก็ยังคงเป็นการสร้างความร่วมมือกันในระหว่างประเทศ สิ่งที่แตกต่างก็คือ การพูดถึงเรื่องความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-traditional security), การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change), ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural disaster), อาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational crimes) และกลไกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ACMECS Senior finance officials, ACMECS Coordinating committees, Thailand’s proposal for secretariat set-up, ToR on engagement with DPs, ToR of ACMECS Development fund, ACMECS Master plan และสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น Financial, Digital economy และ Environmental 

สภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีปมปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม ได้กลายเป็นคำถามหลักของ ACMECS ในวันนี้ เช่น เรื่องภูมิศาสตร์ทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องของประเทศจีนและประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบทบาทสูงในยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น การศึกษาบริบทหรือยุทธศาสตร์สำคัญของมหาอำนาจทั้งสองจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งประเด็นจุดอ่อนจุดแข็งของภูมิภาคนี้กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ACMECS จะจัดการและดำรงอยู่ในระดับอนุภูมิภาคอย่างไรในโลกที่แบ่งเป็นหลายขั้ว (Multipolar) และเป็นฝักเป็นฝ่าย เพื่อสร้าง/รักษากติกาพหุภาคี/ภูมิภาค/อนุภูมิภาค ACMECS จะช่วยลดทอนความไม่เข้าใจกันระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างไร และจะทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานได้อย่างไร รวมถึงการใช้โอกาสในการสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างผลประโยชน์แบบแบ่งปันกันในอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดการความร่วมมือระหว่างประเทศภายนอกด้วยกันอย่างไร 

จุดแข็งของภูมิภาคนี้จำเป็นต้องมองว่าไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศจนกลายเป็นสงคราม แม้อาจจะมีความขัดแย้งเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา, ไทย-ลาว, ไทย-เมียนมา แต่ไม่ได้ก้าวข้ามไปจนถึงการทำสงครามระหว่างกัน ทำให้มีโอกาสขยายตัวในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ขณะที่จุดอ่อนของประเทศในภูมิภาคนี้ คือ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจน อาจจะเป็นเพราะความร่วมมือที่สำคัญยังไม่ครอบคลุมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการบริหารจัดการความร่วมมือที่แตกต่างกันของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการปกป้องผลประโยชน์ของภูมิภาคที่ยังไม่ดีเพียงพอ ความสลับซับซ้อนของปัญหาในภูมิภาค
ที่มากขึ้นซึ่งอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งและยากที่จะควบคุมได้ ทำให้ต้องมีการพัฒนาต่อไปในเรื่องของการสร้างความมั่นคง ความพอเพียงและความยั่งยืนในทุกมิติที่สำคัญในประเด็นเรื่องการข้ามแดน, ความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน, วิกฤติภูมิอากาศ  ตัวอย่างเช่นกรณีของอาชญากรรมทางไซเบอร์ ด้วยการเสริมสร้างระเบียบกติกาของภูมิภาค (Rules-based regional order) ให้เข้มแข็ง สร้างพื้นที่ให้มีศักยภาพเพื่อรองรับโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกเทคโนโลยีและดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์  (Artificial Intelligence: AI) ความท้าทายดังกล่าวจำเป็นต้องมองถึงการจัดการความร่วมมือระหว่างกัน

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นประเทศรอบบ้าน เช่น กัมพูชาและลาว กำลังพ้นสภาพการเป็นประเทศด้อยพัฒนาและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หรือการคาดหวังของประเทศไทยว่าประเทศเวียดนามจะเข้ามามีส่วนร่วมกับ ACMECS สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องกลับมาทบทวนและปรับปรุงเนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีของ ACMECS ว่าประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ควรจะให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสร้างความร่วมมือ สร้างการมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน เพื่อหาวิธีการดำเนินงานที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยและประเทศ
เพื่อนบ้านจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่สำคัญ คือ ปัญหาความซ้ำซ้อนของกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง
ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะทำอย่างไรให้ประเทศสมาชิกต่าง ๆ หันมาเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์อย่างไรจากกรอบความร่วมมือนี้ ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสามารถสร้างความพร้อมใหม่ให้กับภูมิภาคนี้

.

ที่มาภาพ: กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กระทรวงการต่างประเทศ

.

แนวทางการดำเนินนโยบายผ่านกรอบความร่วมมือ ACMECS (Overview of Policy Directions) สำหรับรัฐบาลใหม่

  • คงบทบาทกรอบความร่วมมือ ACMECS เท่าเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา หากรัฐสมาชิกให้ความสนใจทุ่มทรัพยากรไปที่กรอบความร่วมมืออื่น ๆ แทน กรอบความร่วมมือ ACMECS จะลดบทบาทไปเอง
  • เพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนสามเสาหลักของ ACMECS อันประกอบด้วย (๑) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (Seamless connectivity) (๒) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronised ACMECS economies) และ (๓) การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and sustainable ACMECS) เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น
  • ลดขอบข่ายความร่วมมือ และประเมินเป้าหมายในการทำงานว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนหรือซ้ำซ้อนกับกรอบ
    ความร่วมมืออื่น ๆ อย่างไรบ้าง โดยมุ่งเน้นไปที่การทำงานเชิงยุทธศาสตร์ด้านการค้าการลงทุนเศรษฐกิจเป็นหลัก เพื่อให้เป็นหัวใจของการทำงานของ ACMECS ในยุคปัจจุบัน

.

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

.      สร้างอัตลักษณ์ของ ACMECS ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

๑.๑.      ทบทวนยุทธวิธีการเสริมสร้างอัตลักษณ์ของ ACMECS เกี่ยวกับหลักการและเหตุผล การให้ความหมายของชื่อ ACMECS
ให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์หลักของการมีอยู่ของกรอบความร่วมมือว่าจะเดินไปในทิศทางใด ผ่านการทำความเข้าใจบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร สภาวะโลกร้อน โรคระบาด อาชญากรรมไซเบอร์ เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงาน เป็นต้น

๑.๒.    กำหนดยุทธศาสตร์การสื่อสาร (Communication strategies) อย่างต่อเนื่อง โดยใช้สื่อในการประชาสัมพันธ์กลไกการทำงานของกรอบความร่วมมือ เพื่อเผยแพร่หลักคิดที่มีความถูกต้องแม่นยำตามหลักความจริง อันเป็นการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ทั้งต่อรัฐสมาชิกและประชาชนทั่วไป

๑.๓.    ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชน โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจกรอบความร่วมมือ ACMECS ว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทย และไทยมีบทบาทสำคัญกับอนุภูมิภาคอย่างไร เนื่องจากทั้งภาครัฐและประชาชนจำนวนมากยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ ASEAN Community ที่เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคอาเซียน

๑.๔.     เพิ่มบทบาทของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อาทิ ภาคเอกชน ภาคการเงิน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ผ่านการดึงศักยภาพของแต่ละภาคส่วนในการร่วมกันผลักดันกรอบความร่วมมือเพื่อให้เกิดกระบวนการรับรู้การเป็นส่วนหนึ่งของ ACMECS (Inclusivity)

๒.  สื่อสารกับประเทศสมาชิก ACMECS

๒.๑.     กำหนดทิศทางยุทธศาสตร์แผนการดำเนินงานร่วม เพื่อลดทอนความไม่เข้าใจกันระหว่างประเทศสมาชิกและเป็นเวทีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน การสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ รวมถึง
การกำหนดทิศทางความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ และประเทศภายนอกภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและควบคุมได้ยาก เช่น วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ การเข้าสู่ยุคประชากรสูงวัย ประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ยังคงตกค้างมาจากยุคสงครามเย็น

๒.๒.     กำหนดจุดยืนร่วมเชิงภูมิรัฐศาสตร์ต่อประเทศมหาอำนาจ (Geopolitics) ภายใต้สภาวะโลกหลายขั้ว (Multipolar) ผ่านการทบทวนถึงคุณค่าพื้นฐาน (Basic value) ของกรอบความร่วมมือของ ACMECS ที่มีเป้าประสงค์ในการไม่ตกเป็นเบี้ยของประเทศมหาอำนาจและในวังวนของความขัดแย้งทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียและระดับโลก และมีอำนาจในการต่อรอง (bargaining power) เพื่อรักษาผลประโยชน์ของอนุภูมิภาคอย่างแท้จริง และรัฐสมาชิกจะไม่ถูกโดดเดี่ยวหากเกิดประเด็นข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจโดยกลุ่มทุนข้ามชาติ

๒.๓.     กำหนดทิศทางเพื่อลดความขัดแย้งและอคติต่อกัน แม้ว่าประเทศสมาชิก ACMECS จะไม่มีความขัดแย้งกันในระดับก่อสงคราม
แต่ความขัดแย้งเล็กน้อยตามแนวชายแดน หรือโลกออนไลน์ อาจยังเป็นอุปสรรคในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน รวมไปถึงการคงอยู่ของมุมมองแบบยุคสงครามเย็น (Cold war mentality) ที่อาจขัดขวางการเปิดพรมแดนความร่วมมือที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การมองบางประเทศเป็นคู่แข่ง การแข่งขันเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ การมองบางประเทศเป็นเพียงผู้รับความช่วยเหลือ เป็นต้น

๓.  ความท้าทายด้านความซ้ำซ้อนในกรอบความร่วมมือ

๓.๑      จำนวนกรอบความร่วมมือ: อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีกรอบความร่วมมือที่ยังดำเนินการอยู่ (active status) จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong Lancang Cooperation) กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา (Mekong–Ganga Cooperation) กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation) กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation) ข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน และการพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยมพัฒนากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม (CLV-DTA) ซึ่งมีเวียดนามเป็นผู้นำ ทำให้ ACMECS ต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับบทบาทให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และกระทบกับการกำหนดทิศทางของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

๓.๒      ดึงจุดเด่นของ ACMECS ในฐานะกรอบความร่วมมือพื้นถิ่น (Homegrown Initiative) จากการริเริ่มโดยไทย และเป็นเวทีที่ไทยได้มีบทบาทในการเป็นประเทศผู้นำและให้การสนับสนุนทางการเงินมาโดยตลอด ในระยะต่อไป การเปิดเวทีให้ประเทศสมาชิกได้มี
ส่วนร่วมในการสร้างความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ (Constructive engagement) นอกจากนี้ ACMECS ถือว่ามีศักยภาพในการเป็นกระดูกสันหลัง (backbones) ของอาเซียน เพื่อให้การดำเนินงานบางอย่างคล่องตัวขึ้นในระดับอนุภูมิภาค โดยยังคงพึงระวังในการสร้างก๊กการเมืองย่อยแยกระหว่างภาคพื้นทวีป (Mainland) และคาบสมุทร (Archipelago)

๔.  การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

๔.๑.     วางกรอบแนวทางการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เนื่องจากกรอบความร่วมมืออาจยังไม่ครอบคลุมการมีส่วนร่วมของ
ทุกภาคส่วน และความแตกต่างด้านการบริหารจัดการ ระบบราชการที่แตกต่างกันทำให้การประสานงานระหว่างส่วนต่าง ๆ
เกิดความล่าช้า หรือความต้องการไม่ตรงกันทำให้ความร่วมมือไม่เกิดประสิทธิผล การรับฟังเกี่ยวกับอุปสรรคและสิ่งที่เป็น
ความท้าทายในการทำงานร่วมกันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

๔.๒.     บูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน เนื่องจากการเพิ่มความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การสร้างปฏิสัมพันธ์หรือสัมพันธไมตรีทางการค้ากับประเทศกลุ่มที่เป็นคู่ค้าต่าง ๆ ในภูมิภาคและนอกภูมิภาคเพื่อยกบทบาทความสำคัญของกรอบความร่วมมือและขยายการค้าการลงทุนได้

๕.  สร้างความมั่นคง ความพอเพียง และความยั่งยืนในทุกมิติที่สำคัญ

ภูมิภาคนี้มีโอกาสในการสร้างความมั่นคง ความพอเพียง และความยั่งยืนในทุกมิติที่สำคัญ แต่มีความซับซ้อนเช่นในประเด็นของการข้ามแดน ภูมินิเวศ ความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนา การประกอบอาชีพระหว่างกันและกัน และการสร้างพื้นที่ให้มีศักยภาพรับโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกเทคโนโลยีและดิจิทัล และให้ทั่วถึงฐานรากประชาสังคม (social inclusion)  

.

ภาพบรรยากาศการสัมมนา ACMECS FORUM วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖


บทความล่าสุด

สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ กัมพูชาอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพนันได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยอุตสาหกรรมการพนันสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาลและทำให้กัมพูชากลายเป็นประเทศที่มีคาสิโนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตามมาด้วยเมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์) ปัจจุบันคาสิโนมักกระจุกตัวอยู่บริเวณช

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2566
กระแสเอเชีย
เวียดนาม ๑ ปี หลัง CPTPP เร็วไป เกินจะตัดสิน “ได้” หรือ “เสีย”
เวียดนาม ๑ ปี หลัง CPTPP เร็วไป เกินจะตัดสิน “ได้” หรือ “เสีย”

โดย ภาณุรักษ์ ต่างจิตร หลัง CPTPP  มีผลบังคับใช้ (๑๔ มกราคม ๒๕๖๒) ยังยากที่จะแยกผลประโยชน์ของ CPTPP ออกจาก FTA อื่นๆ ที่เวียดนามเข้าร่วม แม้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามประเมินว่าจะช่วยขยายตลาด และเพิ่มการส่งออก แต่การส่งออกไปตลาด CPTPP ปี ๒๕๖๒ ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ยกเว้นเม็กซิโกแ

ภาณุรักษ์ ต่างจิตร
2563
กระแสเอเชีย
ความปกติใหม่ ใน ทะเลจีนใต้
ความปกติใหม่ ใน ทะเลจีนใต้

โดย ศูนย์แม่โขงศึกษา  สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่โลกเผชิญกับโรคระบาด ปักกิ่งกลับขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้อย่างก้าวร้าว จนถูกกล่าวหาว่า  “ฉวยโอกาส” จากวิกฤต เพื่อเปลี่ยนกฎของเกมตามต้องการหรือแท้จริงแล้วเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่พญามังกรได้วางไว้แม้ โควิด-

ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2563
กระแสเอเชีย
เลือกตั้งเมียนมา ๒๕๖๓ หนังคนละม้วน
เลือกตั้งเมียนมา ๒๕๖๓ หนังคนละม้วน

เมียนมากำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๓๗ ล้านคน และพรรคการเมืองประมาณ ๙๗ พรรค ที่ยื่นจดทะเบียนต่อ UEC (Union Election Commission) แม้จะเป็นประเด็นเห็นต่างในหมู่พรรคการเมืองจากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-๑๙ ซึ่งพรรคเล็กๆ มองว่า โรคระบาดจะทำให้มีผู้มา

ศูนย์แม่โขงศึกษา
2563
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์แม่โขงศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 3 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

02-218-7468

02-218-7459