บทความของศูนย์เอเชียใต้ศึกษา

Websites South Asia Insight
facebook page ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | Facebook

ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา

ศูนย์ศึกษาเอเชียใต้เป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 2560 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภชจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยแห่งนี้ดำเนินงานด้านการวิจัยและเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียใต้ ประกอบด้วย 8 ประเทศ คือ อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังคลาเทศ เนปาล ภูฏาน อัฟกานิสถาน และมัลดีฟส์ ครอบคลุมประเด็นสำคัญทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง วัตถุประสงค์หลักของศูนย์เอเชียใต้ คือ การส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเอเชียใต้สู่สาธารณชน สร้างนักวิจัยไทยที่มีคุณภาพและขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากนี้ศูนย์เอเชียใต้ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ภาครัฐ เอกชน ประชาชนทั่วไป ในการวางแผนนโยบายและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้อีกด้วย 

คนไทยเชื้อสายเนปาล (ตอนที่1): ดาวเรืองมิร่วงโรย

โดย ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม


สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล ณ สุขุมวิท 81 กรุงเทพฯ (ภาพโดยผู้เขียน 5 กุมภาพันธ์ 2566)

เริ่มจาก “ความไม่รู้”

ผมไม่มีความรู้เรื่อง “ชาวไทยเชื้อสายเนปาล” เลยแม้แต่น้อย ผมรู้เพียงว่า “ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และเรื่องเล่า” เป็นสิ่งที่น่าสนใจเสมอ เพราะในเรื่องราวเหล่านั้นมักมีชีวิตของผู้คนอย่างพวกเราแฝงเร้นอยู่ เมื่อมีโอกาสได้คลุกคลีและรับรู้ของชีวิตคนที่ต้องดิ้นรน ทนสู้ หดหู่ สิ้นหวัง เอาชนะ ก็จะยิ่งทำให้หัวใจพองโต มาพร้อมกับแรงขับและ “บทเรียนชีวิต” ซึ่งยากจะประเมินค่าได้

“ชาวไทยเชื้อสายเนปาลคือใคร” ผมทบทวนประโยคข้างต้นอย่างจริงจังหลังแลกเปลี่ยนกับท่านคเณศ ประสาท ธกาล (H.E. Ganesh Prasad Dhakal) เอกอัครราชทูตเนปาล ประจำประเทศไทย ซอยปรีดี พนมยงค์ 27 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

การพบปะครั้งนั้นได้กระตุ้น “ต่อมอยากรู้” ให้มีชีวิตราวได้รับน้ำทิพย์ ยิ่ง “ได้ถกเถียง แลกเปลี่ยน รับฟังมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย” ยิ่งทำให้ความสนใจเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ท่านทูตได้ย้ำว่า

“สถาบันการศึกษา และนักวิชาการอาจมีภารกิจและความรับผิดชอบมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะหน้าที่ขับเคลื่อนองค์ความรู้ให้ผู้คนในสังคม แน่นอน หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ องค์ความรู้เกี่ยวกับเอเชียใต้ที่เป็นแหล่งร่ำรวยทางประวัติศาสตร์และอารยธรรม” (ท่านคเณศ ประสาท ธกาล, สัมภาษณ์, 2566)

คำพูดของท่านทูตฯ ทำให้รู้ว่า ชาวไทยกับชาวเนปาลนั้นแนบสนิทชิดกัน เพราะมีสายแห่งพุทธศาสนิกเชื่อมติดกัน ผมได้แต่นั่งยิ้มพลางเห็นด้วยกับคำพูดเหล่านั้น แน่นอน การแลกเปลี่ยนข้างต้นทำให้ผมเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเนปาลชัดขึ้น โดยเฉพาะการเป็น “แผ่นดินพุทธภูมิ” ที่สามารถเชื่อมโยงผ่านแนวคิดส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา (Buddhist circuit) ตามที่สองประเทศกำลังขับเคลื่อนร่วมกัน

ยิ่งคิด ยิ่งทำให้ผมเกิดคำถามอีกครั้งนั่นก็คือ แม้ไทยและเนปาลจะเป็น “แผ่นดินพุทธภูมิ” เหมือนกัน แต่ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ยังรู้จักเนปาลค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอินเดียหรือประเทศอื่น ๆ ในเอเชียใต้ ทั้งที่เนปาลนั้นเป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนาที่กลายเป็นมรดกของพุทธศาสนิกในประเทศไทยไม่ตางจากอินเดีย แต่องค์ความรู้เรื่องอินเดียกลับโดดเด่น เป็นที่รู้จักมากกว่า ส่วนองค์ความรู้เกี่ยวกับเนปาลนั้นยังน้อยและไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทย รวมทั้งตัวของผมเอง

“ชาวไทยเชื้อสายเนปาลคือใคร” ผมยังทบทวนสิ่งดังกล่าวขณะเดินทางกลับห้องพัก จนความสงสัยกัดกินเวลาของผมไปมากมายยากจะหลับลงได้ ผมจึงนึกคำพูดหนึ่งที่ยังกังวาน นั่นก็คือ

“การค้นคว้าที่ไม่รู้จบ มักเริ่มต้นจากความไม่รู้”

ผมบอกตัวเองก่อนหลับตาอย่างยากเย็นในคืนนั้น

.

เนปาลและดอกดาวเรืองที่ไม่รู้โรย

          เมื่อเริ่มศึกษาเรื่องชาวไทยเชื้อสายเนปาล ผมก็ได้เจอบทเพลงที่ (อาจ) สื่อถึงชาวเนปาลพลัดถิ่น แม้ผมจะถามชาวเนปาลหลาย ๆ คนที่พบเจอ หนึ่งในนั้นคือ “ชาลี” (Charlie Bhaskar) หนุ่มอายุสามสิบกว่าปี เป็นชาวไทยเชื้อสายเนปาลรุ่นที่ 3 ที่ใช้ชีวิตในประเทศไทย เขาเพิ่งกลับจากรับใช้ชาติให้กับกองทัพไทย ชาลีจบการศึกษาทางด้านภาพยนต์ระดับปริญญาตรี เคยทำงานกับสื่อกระแสหลักของสังคมไทยประมาณ 3-4 ปี ปัจจุบันทำธุรกิจของครอบครัวค้าขายรองเท้าย่านนานา ซึ่งผมถามว่า “ชาวเนปาลจะแทนตัวเองว่า “ดอกดาวเรือง” ไหม ?” ซึ่งเขาก็ไม่แน่ใจ โดยสะท้อนว่า  

ผมไม่รู้ว่า ชาวเนปาลแทนตัวเองว่าดอกดาวเรืองรึ่เปล่า… แต่สิ่งหนึ่งที่รู้คือ ดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวฮินดูและชาวพุทธที่มาจากเนปาลหรือเอเชียใต้จะใช้บูชาเทพเจ้าและทำพิธีทางศาสนา โดยส่วนตัว ไม่เคยอ่านเจอว่ามีการเรียกดอกดาวเรืองแทนชาวเนปาลพลัดถิ่น

(ชาลี, สัมภาษณ์, 2566)

ในขณะที่คุณลุงไมลา อาจารย์ยากุล ยืนยันว่า

“แม้จะไม่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับดอกดาวเรือง แต่ชาวเนปาลจะใช้ดอกดาวเรืองที่มีกลิ่นหอมในการบูชาเทพเจ้าและพิธีกรรมทางศาสนา”

(ไมลา อาจารย์ยากุล, สัมภาษณ์, 2566)

.

ข้อเสนอของไมลา อาจารย์ยากุลนั้นไม่ต่างจากข้อสังเกตของชาลี อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Mrinalini Rai ได้นำเสนอว่า “ชาวเนปาลพลัดถิ่น” จะเรียกตัวเองว่า “ดอกดาวเรือง” ผ่านบทเพลง “Phulera Phulyo Khaka ra Maka” หรือ “ดอกไม้บานสดสวยด้วยสีสัน” ที่ประพันธ์โดย “รอกกี ทาปา” (Rocky Thapa) เป็นนักร้องชาวพม่าเชื้อสายเนปาลผู้โด่งดัง ซึ่งเขาเคยร้องเพลงนี้เพื่อบ่งบอกถึงชีวิตของชาวเนปาลพม่าพลัดถิ่นเมื่อครั้งรัฐมนตรีแห่งเนปาลมาเยี่ยมพม่าในปี 1964 ซึ่งระบุว่า 

ดอกดาวเรือง ถือเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวฮินดูใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา

“ดอกดาวเรืองสะพรั่งบานทุกที่ด้วยสีทอง
แล้วกระจายสู่ดินแดนแปลกหน้าได้อย่างไรกัน ?
เมล็ดพันธุ์ไม้ดอกเหล่านั้นเป็นของพวกเรา
อย่าปล่อยให้มันหายไปจากแดนดินถิ่นแปลกหน้านี้เลย
เราจะทาหิมาลัยสีเงินด้วยสีเหลืองทอง
ดาวเรืองพันดอก เราพร้อมนำติดตัว
แล้วประดับไว้ในหัวใจของเรา 
และประดับเรือนร่างของแม่เราด้วยมาลัยดาวเรือง
พวกเราชาวเนปาล มีบ้านเกิดบนตักของหิมาลัย
และหยดเลือดบริสุทธิ์ของชาวเนปาลก็ไหลบนเรือนร่างของเรา
กลางวันได้สิ้นสุดลงแล้ว ความมืดของกลางคืนเข้าปกคลุมผืนดินแปลกหน้า
ไม้ดอกนี้เหี่ยวเฉาแล้ว โอ้พี่ชาย…โปรดนำมันกลับไปบ้านเกิดของเราเถิด”

(Mrinalini Rai, 2012: 9-10)

.

.

จะว่าไปแล้ว ผมก็เพิ่งรู้ว่า ชาวเนปาล (บางส่วน) แทนตัวเองว่า “ดอกดาวเรือง” ตามบทเพลงที่ขับร้องโดย “รอกกี ทาปา” นอกจากนี้ ผมไม่มีความรู้อื่นเลยเกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายเนปาล แม้จะมีงานศึกษาเกี่ยวกับชาวเอเชียใต้จำนวนมาก โดยเฉพาะอินเดีย ทั้งงานเขียนและงานแปลของอาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย หรือกิตติมา อมรทัต และนักเขียนท่านอื่น ๆ กระนั้น งานเขียนที่พูดถึงเนปาลนั้นมีค่อนข้างน้อย ยิ่งเกี่ยวโยงกับ “ชาวไทยเชื้อสายเนปาล” ด้วยแล้ว ยิ่งน้อยเป็นเท่าตัว

หากจะมีบ้างก็งานเขียนของ “Mrinalini Rai” (2018) เรื่อง “Shifting identities: perception and experiences of the Burmese Nepali Diaspora in Urban Chiang Mai, Thailand” งานเขียนของ “Don Messerschmidt” (2010) เรื่อง “Nepalese in Bangkok” หรือ “Maximillian Mørch” (2019) เรื่อง “Nepali Diaspora in Thailand struggles to get citizenship” รวมทั้ง “Ramesh Khadka” (2018) เรื่อง “Lost village of Nepalis in Thailand” และงานชิ้นอื่น ๆ ที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึง

งานเขียนที่กล่าวมาข้างต้นนั้นพูดถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของชาวเนปาลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทั้งในพม่าและไทยเมื่อครั้งจักรวรรดิอังกฤษล่าอาณานิคม ซึ่งไม่ต่างจากชาวเอเชียใต้เชื้อสายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ และอื่น ๆ งานเขียนเกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายเนปาลนั้นมีค่อนข้างน้อย ทั้งที่อาศัยในประเทศไทยขณะนี้ (2023) เกือบ 100,000 คนหรือมากกว่า ทั้งในเชียงใหม่ กรุงเทพ (สุขุมวิท สำโรง สวนหลวง และอื่น ๆ) หัวหิน พังงา พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม “ความไม่รู้” ทำให้ผมได้ออกเดินทางทั้งผ่านตัวอักษรที่ถูกบันทึกไว้และออกพบปะเยี่ยมเยือนชาวเนปาลในกรุงเทพฯ ทั้งชุมชน วัด ร้านค้า และเจ้าหน้าที่สถานทูต จึงพอได้รับรู้อะไรปลีกย่อยมาบ้างไม่มากก็น้อย การพบปะท่านทูตครั้งล่าสุดจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมนอนไม่หลับ จะว่าไปแล้ว ผมตาสว่างทุกครั้งเมื่อคำถามบางอย่างเกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายเนปาลโพล่งออกมา หนำซ้ำบทสนทนาระหว่างผมกับคุณลุงนีม (Neem) ยิ่งทำให้ผมระลึกเรื่องราวเหล่านั้นทั้งคืน โดยเฉพาะชีวิตชาวเนปาลในชุมชนขนาดย่อมแห่ง “เหมืองปิล็อก” อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี

ลุงนีม ชายชาวไทยเชื้อสายเนปาล วัย 67 ปี และ ผู้เขียน ภาพถ่ายเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2566

ลืมบอกไปว่า ลุงนีมเป็นชาวไทยเชื้อสายเนปาล ซึ่งทำงานอยู่ในสถานทูตเนปาล ประจำประเทศไทย ลุงนีม เกิดและเติบโตในชุมชนชาวไทยเนปาล ย่านทองผาภูมิ กาญจนบุรี คำว่า “ชุมชนชาวไทยเนปาลในทองผาภูมิ” ถือเป็นความรู้ใหม่ของผมเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม ผมพอจะมีมิตรสหายชาวเนปาลอยู่บ้าง โดยเฉพาะร้านประจำย่านซอยปรีดี พนมยงค์ที่ขายเครื่องเทศ มาสาลา ข้าวบัสมาตี ชา รวมทั้งผลิตภัณฑ์อินเดียหลากชนิด แต่พนักงานขายคือ “พี่กัน การ์” เป็นสาวพม่าเชื้อสายเนปาลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย

“พี่กัน การ์” เป็นลูกหลานของทหารกุรข่าที่เลือกวางรกรากในพม่าหลังสิ้นสุดสมรภูมิภายใต้การนำของจักรวรรดิอังกฤษ หลังจากนั้น เธออพยพมาอยู่ในกรุงเทพ และแต่งงานกับหนุ่มไทย มีลูกด้วยกัน 2 คน (กัน การ์, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2566) เธอพูดภาษาไทยได้ในระดับที่ดี อัธยาศัยดี มีมนุษย์สัมพันธ์ดี อีกทั้งเป็นมิตรกับลูกค้าหน้าประจำอย่างผม ทุกครั้งที่ไปซื้อ ผมจะได้ของแถมมาตลอด ไม่ขิง ก็หัวหอม บางทีก็ลดเงินให้บ้างเล็กน้อยตามปะสาแม่ค้ากับลูกค้า

แน่นอน ผมมักแวะเวียนไปร้านนี้บ่อย รวม ๆ มากกว่า 3 ปี เพราะผมต้องซื้อวัตถุดิบทำ “บิรยานี” (ข้าวหมกอินเดีย) การได้พบกับแม่ค้าชาวเนปาลจึงทำให้ผมพอนึกภาพทรงจำเกี่ยวกับชาวเนปาลได้บ้าง แม้ผมจะคุ้นเคยกับชาวเนปาลระดับหนึ่ง กระนั้น ความรู้เกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายเนปาลของผมยังผิวเผิน ฉาบฉวย และตื้นเขิน เพราะผมยังมีข้อสงสัยหลายอย่าง

นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ผมนอนไม่หลับ หนำซ้ำมีคำถามใหม่ ๆ มารุมเร้า จนยากจะหลับลงได้

.

.

*** บทความนี้เป็นเรื่องเล่าขนาดยาวเกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายเนปาล ซึ่งจะนำเสนอเป็นตอน ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานองค์ความรู้ให้กับมิตรสหาย โดยตอนต่อไป เราจะมาเรียนรู้กันว่า ทำไมชาวเนปาลถึงนิยมอาหารอินเดียและพวกเขาเข้ามาวางรกรากในประเทศไทยได้อย่างไร คอยติดตามตอนต่อไปนะครับ ***


อ่านเพิ่มเติมใน

Don Messerschmidt. (2010). Nepalese in Bangkok. ECS Nepal.,73.  http://ecs.com.np/features/nepalese-in-bangkok

Maximillian Mørch. (2019). Nepali Diaspora in Thailand struggles to get citizenship. The Record. April 6, 2019. https://www.recordnepal.com/nepali-diaspora-in-thailand-struggles-to-get-citizenship

Mrinalini Rai. (2012). Interrogating Diaspora in Migration: The Burmese Nepalis in Chiang Mai in Northern Thailand. 1-16

Mrinalini Rai. (2018). Shifting identities: perception and experiences of the Burmese Nepali Diaspora in Urban Chiang Mai, Thailand. Chiang Mai: Chiang Mai University Press.

Ramesh Khadka. (2018). Lost village of Nepalis in Thailand. Nepali times. June 17, 2018. https://www.nepalitimes.com/here-now/lost-village-of-nepalis-in-thailand/

สัมภาษณ์เชิงลึก

  • ลุงนีม, เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูต, สัมภาษณ์, 30 มกราคม 2566 ณ สถานเอกอัครราชทูตเนปาล ประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานคร
  • ท่านคเณศ ประสาท ธกาล, เอกอัครราชทูตเนปาล ประจำประเทศไทย, สัมภาษณ์, 30 มกราคม 2566 ณ สถานเอกอัครราชทูตเนปาล ประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานคร
  • ชาลี, ชาวไทยเชื้อสายเนปาล, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล สุขุมวิท 81 กรุงเทพฯ
  • ไมลา อาจารย์ยากุล, ชาวไทยเชื้อสายเนปาล, สัมภาษณ์, 5 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล สุขุมวิท 81 กรุงเทพฯ
  • กัน การ์, แม่ค้าชาวเนปาลเชื้อสายพม่า, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ย่านปรีดี พนมยงค์, กรุงเทพฯ

บทความล่าสุด

คนไทยเชื้อสายเนปาล (ตอนที่ 2): จากหิมาลัยสู่ไทยแลนด์
คนไทยเชื้อสายเนปาล (ตอนที่ 2): จากหิมาลัยสู่ไทยแลนด์

โดย ดร.อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม ภาพที่ 1:  “การทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 84 ปี” ณ สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล สุขุมวิท 81 กรุงเทพฯ (5 กุมภาพันธ์ 2566) . “ความไม่รู้” สู่ “ความเป็นไปของชาวเนปาล” หากเพื่อน ๆ ได้อ่าน บทความก่อนหน้า “คนไทยเชื้อสายเนปาล (ตอนที่ 1): ดาวเรืองมิร่วงโรย” ในช่วงเดือ

ดร.อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
2566
กระแสเอเชีย
Newton: เมื่อผู้จัดการหน่วยเลือกตั้งเอาจริง!
Newton: เมื่อผู้จัดการหน่วยเลือกตั้งเอาจริง!

โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย . การเลือกตั้งถือเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สร้างกระแสร้อนแรงได้ในทุกสังคมประชาธิปไตย บทความนี้ชวนผู้อ่านพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์อินเดียที่น่าจะเข้ากับสถานการณ์การเลือกตั้งของไทยในตอนนี้ได้ไม่น้อย ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า นิวตัน (Newton) กำกับโดย Amit V.

ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
2566
กระแสเอเชีย
Thailand-Nepal Ties: Time to Foster Relations through BIMSTEC
Thailand-Nepal Ties: Time to Foster Relations through BIMSTEC

Dr. Pramod Jaiswal Thailand and Nepal have been bound by culture and shared values historically, demonstrating support for each other in regional and international forums. Though relations have fostered in the last six decades, there can be a lot more done to deepen ties between the two

Dr. Pramod Jaiswal
2565
กระแสเอเชีย
The Library Bus: การเรียนรู้ที่ไม่เคยจบสิ้น
The Library Bus: การเรียนรู้ที่ไม่เคยจบสิ้น

โดย ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม เด็ก ๆ ในกรุงคาบูลกำลังนั่งอ่านหนังสือบนรถบัสเคลื่อนที่ ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มภาคประชาสังคม ที่ชื่อว่า Charmagz Team”(ที่มาภาพ: https://womenyoushouldknow.net/freshta-karim-mobile-library-reading-kabul) . “การศึกษา” กลายเป็นประเด็นสำคัญใ

ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
2565
กระแสเอเชีย
สาวอัฟกันผู้ทรงอิทธิพลในโลกยุคใหม่
สาวอัฟกันผู้ทรงอิทธิพลในโลกยุคใหม่

โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย . หลังจากนิตยสาร Forbes ได้เผยรายชื่อภายใต้แคมเปญ ‘30 Under 30 Asia’ หรือ 30 ผู้ทรงอิทธิพลในเอเชียที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ประจำปี 2021 ทำให้เด็กสาวชาวอัฟกานิสถานกลุ่มหนึ่งกลายเป็นที่จับตามอง  เนื่องจากพวกเธอเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่อายุน้อยที่สุดในบรรดาราย

ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
2565
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 3 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330