โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
.
การเลือกตั้งถือเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สร้างกระแสร้อนแรงได้ในทุกสังคมประชาธิปไตย บทความนี้ชวนผู้อ่านพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์อินเดียที่น่าจะเข้ากับสถานการณ์การเลือกตั้งของไทยในตอนนี้ได้ไม่น้อย ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า นิวตัน (Newton) กำกับโดย Amit V. Masurkar ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และได้รับยกย่องบนเวทีระดับนานาชาติ หนังถ่ายทอดมุมมองตลกร้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ไม่ค่อยมีใครหยิบยกมากล่าวถึงนัก นั่นคือ “ผู้จัดการหน่วยเลือกตั้ง”
อินเดีย ถือเป็น ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
งบการเลือกตั้งถูกวางไว้สูงถึง 5,000 ล้านดอลล่าสหรัฐ มีหน่วยเลือกตั้งกว่า 9 ล้านหน่วย รองรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ
890 ล้านคนทั่วประเทศ เนื้อเรื่องในภาพยนตร์ไม่ได้ฟาดฟันด้วยการแข่งขันเอาชนะการเลือกตั้ง
แต่กลับชวนไปสำรวจกระบวนการประชาธิปไตยในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่สุ่มเสี่ยงกับการก่อการร้าย
ความท้าทายเหล่านี้ทำให้ตัวเอกของเรื่อง “นิวตัน” ถูกมอบหมายให้เข้าไปปฏิบัติงานจัดการหน่วยเลือกตั้งเพื่อผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น
76 คน
นิวตัน เป็นชื่อของตัวเอกที่ตั้งขึ้นเอง
แปลงมาจากชื่อเดิม Nutan Kumar (แปลว่า ลูกคนล่าสุด) การถูกเพื่อนล้อเลียนในวัยเด็กทำให้เขาเปลี่ยนจาก Nutan เป็น Newton ตามชื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงซึ่งเป็นรากฐานความรู้ของคนทั้งโลกไปตลอดกาล
ความช่างสังเกตและความเถรตรงกับชีวิต สร้างบุคลิกที่จริงจังให้กับนิวตัน ยิ่งเมื่อได้รับเลือกให้มาเป็นผู้จัดการหน่วยเลือกตั้งทั้งที่เป็นแค่ตัวสำรองก็ยิ่งทำให้เขายึดมั่นจะรับผิดชอบหน้าที่อย่างถึงที่สุด
ในสภาพการณ์จริง การเลือกตั้งทั่วประเทศของอินเดียกินเวลานานนับเดือน
แต่ละรัฐจัดการเลือกตั้งไม่ตรงกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบด้าน อาทิ
แผนการคมนาคมขนส่ง จำนวนเจ้าหน้าที่ ความปลอดภัยของพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างราบรื่น
โปร่งใส ยุติธรรม การเลือกตั้งใหญ่ล่าสุดในปี 2562 ใช้ระยะเวลาเลือกตั้งยาวนานถึง
39 วัน แต่การนับคะแนนจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศและเสร็จสิ้นภายในวันเดียวเท่านั้น
ปัจจุบันได้มีการนำเอาเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้เพื่อความสะดวกในการวัดผลและป้องกันการทุจริต
การป้องกันการทุจริตอีกทางหนึ่งคือการทำสัญลักษณ์ด้วยการป้ายหมึกสีน้ำเงินเข้มเป็นขีดยาวที่นิ้วชี้ข้างซ้ายของผู้มาใช้สิทธิ์ หมึกนี้จะไม่มีทางเลือนหายไปจนกว่าเล็บมือจะยาวและถูกตัดให้สั้นลงไปเรื่อย ๆ การใช้วิธีนี้ป้องกันการโกงเผื่อผู้ที่ลงคะแนนแล้วจะแอบมาสวมรอยเป็นคนอื่นเพื่อลงคะแนนซ้ำอีกไม่ได้ เครื่องหมายขีดยาวอาจจะดูไม่สวย แต่เชื่อเถอะว่าในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รอยหมึกที่เล็บนี้เป็นสัญญะทางคุณค่า บ่งบอกว่าบุคคลผู้นั้นมีความรับผิดชอบต่อการทำ “หน้าที่” ของพลเมืองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
กลับมาที่ภาพยนตร์กันต่อ จุดขัดแย้งของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อ ทีมผู้จัดการหน่วยเลือกตั้งทั้ง 4 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงอดิวาสี (ชนพื้นเมือง) ต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงโดยมีกองกำลังรักษาความปลอดภัยคุ้มครอง แต่ดูเหมือนว่าความจริงจังของพวกเขาจะถูกละเลยจากผู้บัญชาการทหาร ความผิดหวังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเดินทาง สถานที่จัดหน่วยเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์ไม่ยอมมาลงคะแนนเสียง จนท้ายที่สุดทหารต้องไปเกณฑ์ชาวบ้านมายังหน่วยเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่วายชาวบ้านกลับไม่เข้าใจว่าการเลือกตั้งผู้แทนไปนั่งในสภาที่กรุงเดลี ดินแดนอันไกลโพ้นจากพื้นที่บอบช้ำจากสงครามแห่งนี้ จะส่งผลกับชีวิตอันแร้นแค้นของพวกเขาได้อย่างไร บางคนไม่รู้จักผู้สมัคร ไม่รู้จักพรรค หรือแม้แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเครื่องลงคะแนนต้องใช้งานอย่างไร
.
(รูปจากภาพยนตร์: การลงคะแนนโดยใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์)
.
(รูปจากภาพยนตร์: นิ้วชี้ที่ขีดด้วยหมึกน้ำเงินแสดงสัญลักษณ์ว่าได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว)
.
ปัญหาที่เกิดขึ้นแม้จะคล้ายเป็นเรื่องตลก ในทางกลับกันได้สะท้อนบริบทของการเลือกตั้งทั่วโลก ซึ่งมีทั้งคนที่จริงจังกับการเลือกตั้ง บางคนมองว่าการลงคะแนนเสียงเป็นเรื่องเล่น ๆ บางคนไม่เข้าใจระบบการเลือกตั้งเลย หรือมองว่าเสียงของตนเองไม่มีวันเปลี่ยนแปลงประเทศได้ แต่ที่น่าสะเทือนใจที่สุด คือ การมองว่าการลงคะแนนเสียงของชาวบ้าน เป็นเพียงละครตบตาฉากหนึ่งที่ใช้เรียกภาพลักษณ์จากสื่อมวลชนเพื่อผลประโยชน์แก่ตนเอง
คำว่า “หน้าที่” เป็นสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึงบ่อยมาก
ในฉากที่เดินอยู่กลางป่า ผู้บัญชาการทหารได้ยื่นปืนลูกซองให้กับนิวตันลองถือไว้
แล้วกล่าวว่า “นี่แหล่ะคือน้ำหนักของชาติ ที่เราต้องแบกไว้บนบ่า”
หากปืนคือสิ่งที่ใช้ปกป้องประเทศของกองกำลังรักษาความปลอดภัยแล้ว การหอบหิ้วเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ของนิวตันก็คงเปรียบเสมือนการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวอินเดียเช่นกัน
ภาพยนตร์อาจจะกำลังตั้งคำถามถึงการประเมินค่าอยู่ที่ว่าเราทำหน้าที่ของตนเองและกำลังเคารพหน้าที่ของผู้อื่นอยู่หรือไม่
การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำมาซึ่งความเท่าเทียม เพราะไม่ว่าจะฐานะ วรรณะ
หรืออาชีพใด ก็ต่างมีสิทธิ์ในการลงคะแนน ‘หนึ่งเสียง’
เท่ากัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้จี้ใจดำให้เห็นปัญหาขั้นพื้นฐานของการลงคะแนนเสียง ก่อนจะด้อยค่าคะแนนเสียงที่สนับสนุนฝั่งตรงข้าม ต้องมองให้ออกก่อนว่าประชาชนทำความเข้าใจกับกติกาการเลือกตั้งดีแล้วหรือยัง การจัดการเลือกตั้งเริ่มจากความโปร่งใสยุติธรรมแล้วหรือยัง ท้ายที่สุดความพยายามของนิวตันอาจไม่ได้ไปได้สวยอย่างที่เขาอยากให้เป็น แต่ก็สำเร็จ สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมรับรู้ได้นั่นคือคำพูดสองประโยคของหญิงอดิวาสี ซึ่งกล่าวว่า
“ การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว
แม้แต่ป่าไม้ยังต้องใช้เวลาเติบโตนานนับปี ”
.