โดย ดร.อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
ภาพที่ 1: “การทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 84 ปี” ณ สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล สุขุมวิท 81 กรุงเทพฯ (5 กุมภาพันธ์ 2566)
.
“ความไม่รู้” สู่
“ความเป็นไปของชาวเนปาล”
หากเพื่อน ๆ ได้อ่าน บทความก่อนหน้า “คนไทยเชื้อสายเนปาล (ตอนที่ 1): ดาวเรืองมิร่วงโรย” ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ก็จะทำให้เข้าใจความเป็นมาของชาวเนปาลในประเทศไทยพอสมควร กระนั้น ยังมีอีกมากมายที่ชวนให้ตั้งคำถามและหาคำตอบ
เมื่อผมยิ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับ
“ชาวไทยเชื้อสายเนปาล” มากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งระลึกถึงมิตรสหายชาวเนปาลที่ผมคลุกคลีมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ศึกษาและเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผ่านคำถามสำคัญคือ
“ชาวไทยเชื้อสายเนปาลเป็นใครกันแน่ พวกเขามาจากไหน และมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร”
ยิ่งทำให้ผมเจอคำตอบมากมายเกี่ยวกับมิตรสหายกลุ่มนี้
ไม่เกินจริงที่ผมจะบอกว่า
หลังจากคำถาม “ชาวไทยเชื้อสายเนปาลเป็นใคร ?”
ทำให้ผมขับมอเตอร์ไซด์ไปยังทุกซอกซอยที่มีชาวเนปาลอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสุขุมวิท 81
สุขุมวิท 71 ปรีดีพนมยงค์ คลองตัน ประตูน้ำ
ราชปรารภ ห้างอินทรา และอื่น ๆ รวมทั้งร้านขายอาหาร เครื่องเทศ และอื่น ๆ
ที่มาชาวเนปาลพลุกพล่านและคลุกคลีจนยากจะจำแนกได้ผ่านสายตาความเป็นไทยของผม
กระนั้น
การเรียนรู้และเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทำให้พบกับชาวเนปาลหลาย ๆ คนไม่ว่าจะเป็น
ชาลี คุณลุงมลา อาจารย์ยากุล รัศมี กมลา พี่กันการ์ วิกกี้ ซีม พี่สุเทพ ลุงนีม
และคนอื่น ๆ ทั้งหมดนี้คือ มิตรสหายชาวเนปาลที่ใช้ชีวิตในประเทศไทย
แม้จะต่างกันโดยหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบ แหล่งพำนัก แต่ที่เหมือนกันคือ
“สายเลือดแห่งหิมาลัย”
การขับมอเตอร์ไซด์เวียนไปยังสถานที่ต่าง
ๆ ในกรุงเทพฯ ราว 1 เดือน ทำให้ผมพอสรุปได้ว่า
“ชาวเนปาลในไทยนั้นมีค่อนข้างหลากหลายพอสมควร
ทั้งรากรากที่จากมา ภาษาที่สื่อสาร อาหารที่ดื่มกิน ฐานถิ่นที่อาศัย
รวมทั้งความเป็นไปในปัจจุบัน”
อย่างไรก็ตาม ความไม่รู้ได้พาผมมาค้นหาความหมายและทำความเข้าใจความเป็นไปของชาวเนปาลในประเทศไทย ซึ่งสามารถสรุปได้อย่างน้อย 3 กลุ่มคือ
1. ชาวไทยเชื้อสายเนปาลจากพม่า
ชาวเนปาลกลุ่มนี้
เป็นกลุ่มคนที่มีเชื่อสายเนปาล ซึ่งมาจากพม่าโดยตรง โดยไม่ได้ผ่านชุมชนปิล็อก ทองผาภูมิ
กาญจนบุรี การเดินทางเข้ามาประเทศพม่าของชาวเนปาลโดยมาพร้อมกับทหารอังกฤษ เมื่อถึงตรงนี้
หลายคนอาจคิดว่า เนปาลคือ หนึ่งในเมืองอาณานิคมของอังกฤษ แต่ความจริงคือ
เนปาลเป็นประเทศเอกราช และไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเลย หนำซ้ำ เนปาล
เป็นเพียงประเทศเดียวหรือประเทศแนวหน้าของรัฐอิสระทั้งหลายที่ประกาศทำสงครามกับอาณาจิคมอังกฤษในยุคสมัยนั้น
แน่นอน สิ่งดังกล่าวก็ได้รับการยืนยันจากชาวเนปาลอย่างพี่อัสสชิตะ อวาเล
ที่ได้บอกว่า
“เนปาลไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอินเดีย แต่เนปาลเป็นหนึ่งในชาตินักสู้ที่ต่อสู้กับอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งแน่นอน เนปาลไม่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษเหมือนกับอินเดียหรือประเทศอื่น ๆ ในเอเชียใต้ ก่อนการเข้ามาของอังกฤษนั้น เนปาลเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าปัจจุบัน แต่เมื่ออังกฤษเริ่มขยายอำนาจ อังกฤษพยายามเข้ามายึดเนปาล แต่เนปาลไม่ยอม ผู้นำชาวเนปาลที่ต่อต้านอังกฤษคือ พิมเสน ทาปา (Bhimsen Thapa) นายกรัฐมนตรีเนปาล”
(อัสสชิตะ อวาเล, สัมภาษณ์, 2566)
แน่นอน พิมเสน ทาปา (Bhimsen
Thapa: 1775-1839) คือ นายกรัฐมนตรีชาวเนปาล หรือ “Mukhtiyar” ซึ่งเป็นผู้นำในช่วง 1806-1837 ท่านได้รับการยกย่องเป็น
“เป็นผู้นำชาวเนปาล” ที่ยาวนานที่สุด จากคำบอกเล่าดังกล่าว ยังระบุว่า
“สาเหตุสำคัญที่อังกฤษต้องการยึดเนปาลนั้นก็เพื่อเข้าไปยังทิเบต
อังกฤษพยายามขอดินแดนบางส่วนของเนปาล โดยบอกว่า ตนเองนั้นยึดได้ แต่นายกพิมเสน
ทาปา ไม่ยอม ต่อมาประกาศสงครามกับอังกฤษ ซึ่งนายกพิมเสน ทาปา
ขอความร่วมมือกับรัฐเล็ก ๆ ในเอเชียใต้เพื่อต่อสู้กับอังกฤษ
แต่หลายอาณาจักรไม่ให้ความร่วมมือ แม้ตอนแรกจะเห็นด้วยก็ตาม
ซึ่งอังกฤษออกอุบายว่าจะให้ตำแหน่งต่าง ๆ หากไม่เข้าร่วมเนปาล” (อัสสชิตะ อวาเล,
สัมภาษณ์, 2566)
พี่อัสสชิตะ อวาเลยังย้ำอีกว่า Anglo-Nepal
War เป็นสงครามที่ต่อสู้ระหว่างอังกฤษกับนายกพิมเสน ทาปา
ผู้นำชาวเนปาล ซึ่งเป็นสงคราม 2 ปี เนปาลสูญเสียกำลังพลไปมาก
และได้จัดการผู้นำระดับแนวหน้าของอังกฤษได้ อย่างไรก็ตาม สงครามครั้ง Anglo-Nepal
War ดังกล่าว ทำให้เนปาลเสียดินแดนบางส่วนให้กับอังกฤษ
ซึ่งมีการลงนามเพื่อยกดินแดนบางส่วนให้เนปาล แต่ พิมเสน ทาปา ไม่ยอม
อังกฤษจึงเข้ามาเชื่อมสัมพันธ์กับพระราชวัง เพื่อลงนาม “Sugauli Santi” หรือ “Sugauli treaty” ยกพื้นที่ประมาณร้อยละ 30-40 ให้กับอังกฤษ โดยพื้นที่ส่วนนั้นคือ ชายแดนแคชเมียร์และชายแดนลัดดากห์
ซึ่งเรียกพื้นที่ส่วนนั้นว่า Greater Nepal (สัมภาษณ์, 2566)
หลังสงครามจักรวรรดิอังกฤษและเนปาล
ส่งผลให้เกิดการสงบสุขและการร่างสัญญาฉบับหนึ่งที่เราเรียกว่า “ภายใต้สัญญา Sugauli
treaty ในปี 1816” นอกจากเสียพื้นที่ให้กับอังกฤษตามสัญญาฉบับดังกล่าวแล้ว
อังกฤษยังมีความลุ่มลึกในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง
โดยพวกเขามองว่า
“นายทหารกุรข่านั้นหนึ่งในเสี้ยนหนามสำคัญของอังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่ออังกฤษในอนาคต อังกฤษจึงทำข้อตกลงให้นายทหารกุรข่าลงนามเป็นทหารรับจ้างของอังกฤษในเวลาต่อมา ส่งผลให้นายทหารกุรข่าเกือบทั้งหมดได้ย้ายออกจากพื้นที่ในนามทหารรับจ้างไปยังพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลก แต่เหตุผลสำคัญคือ อังกฤษไม่อยากให้ทหารกุรข่าอยู่ในพื้นที่เนปาล เพราะพวกเขาอาจเป็นภัยความมั่นคงของอังกฤษ ข้อตกลงดังกล่าว กษัตริย์เนปาลได้ผลประโยชน์ และนายทหารจะได้ออกจากพื้นที่เนปาล โดยกษัตริย์เนปาลได้รับค่าตอบแทนจากเงินเดือนของนายทหารกุรข่า 1 ส่วน 3 จากข้อตกลงดังกล่าว ค่าจ้างนายทหารกุรข่าในช่วงนั้นได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าทหารอังกฤษ”
จาก Sugauli treaty นี้เองที่ทำให้ทหารกุรข่าเข้าร่วมกองกำลังอังกฤษ
พวกเขาจึงถูกส่งไปทั่วโลกตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวทั้งไปยังอิตาลี ฝรั่งเศส
ตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เมื่อรบเสร็จ
บางส่วนจากทหารกุรข่าไม่ได้กลับไปบ้านเกิด จึงวางรกรากในประเทศปลายทาง ลูกหลานที่เกิดมาก็ไม่รู้จะกลับไปได้อย่างไร
จึงวางรกรากในที่นั้น หนึ่งในกลุ่มนายทหารกุรข่าที่เลือกวางรกรากคือ
นายทหารที่เข้ามายังพม่า โดยทำงานให้กับ British East India Company
อย่างไรก็ตาม นอกจากกองทัพกุรข่าที่มาพร้อมกับอังกฤษตามข้อสังเกตของ
“Maximillian
Mørch” แล้ว ยังมีกลุ่มพ่อค้าชาวเนปาลติดตามทหารกลุ่มนี้เข้ามาด้วย
โดยเฉพาะพวกขายเครื่องประดับ ซึ่งผมได้รับการยืนยันจากชาวเนปาลอย่างพี่อัสสชิตะ
อวาเลที่ได้บอกว่า
“พ่อค้าชาวเนปาลก็ได้อพยพมาพม่าเพื่อทำการค้าขายกับชาวทหารกุรข่า หนึ่งในนั้นมีช่างผลิตเครื่องประดับหรือกลุ่มขายเครื่องเงิน พวกเขามาวางรกรากในพม่าตามฐานที่มั่นของทหารกุรข่า” (สัมภาษณ์, 2566)
อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญา
Sugauli
treaty เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม 1816
ระหว่าง British East India Company
และคุรุกาจราจ มิชรา (Gajraj Mishra) ท่านผู้นำชาวเนปาล
และนักการทูตชาวเนปาลในยุคดังกล่าว
ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวนั้นจัดทำในยุคสมัยสงครามระหว่างอังกฤษและชาวเนปาลในปี 1814-1816
ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งกองทัพกุรข่าอย่างที่นำเรียนมาข้างต้น
ต่อมากองพลกุรข่ากลุ่มดังกล่าวก็เริ่มเข้ามาพม่าในช่วงสงครามระหว่างอังกฤษและพม่าในปี
1824-1826
และ 1852-1853 ซึ่งสงครามทั้งสองช่วงนี้มทั้งนายทหารกุรข่าและชาวเนปาลที่ทำงานให้กับ
British East India Company เริ่มเข้ามายังพม่า เห็นได้จาก
แรงงานชาวเนปาลก็เริ่มเข้ามาพม่าในปี 1824 เช่นกัน
จนกระทั่งปี 1942 นั้นมีชาวเนปาลและทหารกุรข่ามากกว่า 200,000
คนอาศัยอยู่ในพม่า
อย่างไรก็ตาม
การอพยพครั้งสุดท้ายของชาวกุรข่านั้นคือ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เพื่อเป็นกองกำลังทหารภายใต้การบังคับของอังกฤษสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นที่กำลังยึดครองพม่า
เมื่อเสร็จสิ้นสงคราม นายทหารบางส่วนเดินทางกลับบ้านเกิด
ส่วนนายทหารกุรข่าที่เหลืออีกบางส่วนเริ่มวางรกรากในพม่า
แล้วได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองของพม่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 1947 แต่หลังจากนั้นไม่นาน ปัญหาใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
ซึ่งในช่วงการปกครองของนายพลเนวิน (General Ne Win) ในปี 1962
ที่พยายามสร้างรัฐสมัยใหม่ของพม่า (Burminization) และขับเคลื่อนเรื่องชาตินิยมพม่า
ส่งผลให้ชาวเนปาลและทหารกุรข่าถูกกีดกันจากการเป็นพลเมืองของพม่า
และยากที่จะอาศัยอยู่ในพม่าได้เหมือนก่อนหน้า (Maximillian Mørch, 2019)
อย่างไรก็ตาม จากการยืนยันของอัสสชิตะ
อวาเลนั้นไม่ได้มองว่า รัฐบาลเนวินกีดกันชาวเนปาล โดยพาะกลุ่มทหารกุรข่า
เพราะเนวินรู้ดีว่า พวกเขาเหล่านั้นมาเพื่อช่วยพม่ารบกับญี่ปุ่น
แต่กลุ่มคนที่เนวินปราบปรามคือ ชาวอินเดีย ซึ่งอัสสชิตะ อวาเล นำเสนอว่า
ในช่วงสมัยเนวิน เริ่มมีการขับไล่ชายอินเดียออกจากพม่า ในขณะชาวพม่านั้นได้รับสิทธิพิเศษในการอยู่ในพม่า สาเหตุสำคัญเพราะคนเหล่านั้นเป็นลูกหลานกุรข่า ซึ่งได้รับการเคารพจากเนวินและชาวพม่า เพราะพวกเขาเคยมาช่วยพม่ารบกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มีชาวเนปาลบางส่วนที่เป็นลูกหลานของกุรข่าที่เกิดในพม่าก็หนีออกจากพม่าเพราะกลัวทหารเนวิน ซึ่งกษัตริย์เนปาลก็ได้ให้พื้นที่อาศัยกับชาวเนปาลกลุ่มดังกล่าวจึงมีหมู่บ้านพวกเขาในเนปาลเรียกว่า “หมู่บ้านพม่า”
(อัสสชิตะ อวาเล, สัมภาษณ์, 2566)
แม้มีหลายคนที่กลับไปยังเนปาล
จนสามารถสร้างชุมชนที่เรียกว่า “หมู่บ้านพม่า” กระนั้น มีหลายคนที่วางรกรากในพม่า
หนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือ คุณพ่อของท่านบิชนุ บาฮาดุร เจฮตรีนั้นเกิดในเนปาลช่วง 1920
และเข้าร่วมกองทัพกุรข่า
โดยมาพม่าพร้อมกองทัพอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ซึ่งในช่วงนี้
มีนายทหารกุรข่าชาวเนปาลจำนวนมากที่เดินทางเข้าสู่พม่าพร้อมทหารของจักรวรรดิอังกฤษ
หลังภารกิจสงคราม นายทหารหลายคน รวมทั้งคุณพ่อของบิชนุ บาฮาดุร เจฮตรี
โดยเลือกวางรกรากในพม่า อย่างไรก็ตาม
ทหารกุรข่านั้นไม่ได้เป็นชาวเนปาลกลุ่มแรกที่วางรกรากในพม่า
เนื่องจากมีกลุ่มชาวเนปาลที่มาพร้อมกับจักรวรรดิอังกฤษก่อนหน้านี้ ซึ่งลูกหลานของชาวเนปาลกลุ่มดังกล่าวยังมีรกรากให้เห็นบริเวณปยีนอู้ลวีน
(Pyin Oo Lwin) เขตรัฐฉานนั่นเอง (Don Messerschmidt, 2010)
จากงานศึกษาของ Mrinalini
Rai พบว่า ในช่วงการปกครองของนายพลเนวินนั้น
ชาวเนปาลจำนวนมากต้องเดินทางกลับเนปาล โดยเฉพาะช่วง 1962-1988 กระนั้น มีชาวเนปาลบางส่วนเลือกอพยพไปยังอินเดียและบางส่วนไปยังประเทศไทย
โดยเฉพาะเข้ามาอยู่ทางชายแดนระหว่างไทยและพม่าทั้งในจังหวัดกาญจนบุรี
ระนองเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาเบื้องต้นของ “Maximillian
Mørch” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า
ชาวเนปาลกลุ่มแรกที่อพยพมาประเทศไทยนั้นเริ่มต้นขึ้นหลังจากวางรกรากในพม่าระยะเวลาหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า
ชาวกุรข่าที่อาศัยในพม่าและบุตรหลานที่ถือกำเนิดใหม่ก็ยากที่จะดำรงอยู่ในพม่า ณ
ช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่ยังคงอยู่ในพม่าและเป็นชุมชนชาวกุรข่า เช่น
เมืองปยีนอู้ลวีน (Pyin Oo Lwin) เมืองกะลอ (Kalaw) และเมืองตองยี Taunggyi) รัฐฉาน เมืองมิตจีนา ( Myitkyina) รัฐกะฉิ่น เป็นต้น กระนั้น
ชาวเนปาลบางส่วนก็เลือกไปยังประเทศอื่น หนึ่งในตัวเลือกคือ “ประเทศไทย”
ในฐานะประเทศริมพรมแดน
และชาวเนปาลจึงเลือกวางรกรากอย่างที่เราได้รับทราบกันในปัจจุบัน
จากงานศึกษาของ Don
Messerschmidt (2010) ระบุว่า
คนกลุ่มนี้ที่อาศัยในพม่าจะถูกเรียกว่า “พม่ากุรข่า” (Burmese Gurkhas) ปัจจุบันมีการผสมกลมกลืนระหว่างความเป็นเนปาล พม่า และไทย
ซึ่งชาวพม่ากรุข่านี้เป็นกลุ่มที่นิยมใช้ภาษาภาษาเนปาลในการสื่อสาร
แต่สามารถพูดภาษาพม่าได้ และอาศัยในประเทศพม่า
โดยมากับทหารของกองทัพอังกฤษในสมัยที่อังกฤษปกครองพม่า มีการคาดคะเนว่า
ปัจจุบันชาวพม่าเชื้อสายเนปาลนั้นอาจมีสูงถึง 1,000,000 คน
เพราะคนเหล่านี้เป็นรุ่นที่ 3 และที่ 4 ของชาวเนปาลที่อพยพมาอยู่ในพม่า โดยนับถือทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ
ซึ่งพวกเขาวางรกรากทั้งในหลาย ๆ เมืองทั้งย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พินอูลวิน และอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม
สิ่งที่น่าสังเกตจากกลุ่มชาวเนปาลในพม่าหรือที่เรียกว่า “ชาวพม่าเชื้อสายเนปาล”
นั่นก็คือ
“ชาวเนปาลที่อพยพมาจากพม่าเข้ามาไทยนั้นไม่เคยผ่านการวางรกรากในชุมชนเหมืองปิล็อก ทองผาภูมิมาก่อน กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มใหม่ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เข้ามาไม่ถึง 20 ปี หลังเกิดวิกฤติในพม่า โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปกครองและสถานการณ์โลก กลุ่มชาวเนปาลจากพม่านั้นเป็นกลุ่มแรงงานที่ย้ายเข้ามาเพราะมีข้อตกลงบางอย่างกับรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ถือหนังสือเดินทางพม่า ทำงานรับจ้างทั่วไป เช่น ในร้านอาหารไทย เช่น ใน Food Court และร้านขายของในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารต่างชาติ เช่น อินเดีย ไทย ปากีสถาน เนปาล อิตาลีย่านสุขุมวิท อีกทั้งร้านอาหารอาหรับย่านนานา อีกทั้งยังมีกลุ่มแม่ครัวพ่อครัว รวมทั้งเด็กเสิร์ฟจำนวนมากเป็นชาวเนปาลพม่า และร้านตัดสูท เฉพาะห้างอินทรา ประตูน้ำ มีชาวพม่าเชื้อสายเนปาลมากกว่าร้อยละ 90 ข้อสังเกตสำคัญสำหรับชาวพม่าเชื้อสายเนปาล นั่นก็คือ พวกเขาจะพูดภาษาเนปาลผสมฮินดี เพราะการใช้ชีวิตของพวกเขาจะคลุกคลีกับชาวอินเดียจึงได้รับอิทธิพลของภาษา ในขณะที่ชาวเนปาลทั่วไปที่อพยพมาโดยตรงจะไม่พูดภาษาฮินดีผสม ซึ่งสิ่งนี้คือ ข้อแตกต่างกันระหว่างเนปาลจากเนปาล และพม่าเชื้อสายเนปาล ในขณะที่ ชาวพม่าทั่วไป ส่วนใหญ่จะทำงานในโรงงาน ทำประมง นิคมอุตสาหกรรม ส่วนแรงงานชาวกัมพูชานั้นนิยมทำงานในไซด์ก่อสร้างร้อยละ 80 เป็นแรงงาน และกลุ่มแม่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นชาวลาว”
(อัสสชิตะ อวาเล, สัมภาษณ์, 2566)
อย่างไรก็ตาม สิ่งดังกล่าวข้างต้นนั้น
ผมไม่เคยมีความรู้มาก่อนแม้แต่น้อย
แต่การออกเดินทางและการแลกเปลี่ยนได้ทำให้ผมได้รับความรู้มากมาย คำบอกเล่าของอัสสชิตะ
อวาเลนั้นสอดคล้องกับประสบการณ์ของผมที่พบเจอ นั่นก็คือ ร้านอาหารบัดดี้
สถานีพัฒน์ เลียบทางรถไฟ ย่านคลองตัน ซึ่งทั้งวิกกี้และแซม
สองพี่น้องเป็นชาวพม่าเนปาลที่อพยพเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างร้านอาหารปากีสถานในประเทศไทย
อัสสชิตะ อวาเลยังย้ำว่า
“ปัจจุบันชาวพม่าเชื้อสายเนปาลร้อยละ 60-70 ย้ายมาอยู่ประเทศไทยเพราะเศรษฐกิจในพม่ามีปัญหา ส่วนชาวเนปาลเชื้อสายพม่าที่ทำงานอยู่ประตูน้ำนั้นสูงถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ สาเหตุที่ชาวเนปาลนิยมทำงานในศูนย์การค้า และเป็นที่ชื่นชอบของนายจ้างนั้น เพราะพวกเขาสามารถพูดได้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นพม่า เนปาลี อังกฤษ ฮินดี รวมทั้งไทย และอื่น ๆ คนกลุ่มนี้ตั้งใจทำงาน ไม่เที่ยวเตร่ แต่พยายามเก็บเงินและส่งเงินกลับพม่าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่ช่วงหลัง คนกลุ่มนี้ก็เริ่มนำครอบครัวมายังประเทศไทยมากขึ้น”
นี่คือ ข้อค้นพบประการแรกเกี่ยวกับชาวเนปาลในประเทศไทยที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน เหลือเชื่อว่า การขับรถมอเตอร์ไซด์เวียนพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ทำให้ผมได้รู้จักเพื่อร่วมโลกที่เราเรียกว่า “ชาวพม่าเชื้อสายเนปาล” มากขึ้น
2. ชาวไทยเชื้อสายเนปาลจากชุมชนปิล็อก
สำหรับชาวไทยเนปาลเชื้อสายปิล็อกนี้
ถือเป็นกลุ่มลูกหลานชาวไนปาลที่บรรพบุรุษอพยพมาพร้อมกับกองทัพอังกฤษ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
หลังจากการวางรกรากของชาวเนปาลในพม่าทั้งฐานะของกองทัพกุรข่าที่มาพร้อมกับอังกฤษ
และ เป็นนายทหารที่เข้ามาช่วงสงครามระหว่างอังกฤษและพม่าทั้งในปี 1824-1826
และ 1852-1853 อย่างไรก็ตาม
ชาวเนปาลแห่งเหมืองปิล็อกบางส่วนอย่างคุณลุงไมลา อาจารย์ยากุล ซึ่งถือกำเนิดในปิล็อกเมื่อปี
1952 (2495) ปัจจุบันอายุย่างเข้า 71 ปี
และเคยทำเหมืองในปิล็อกอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วต่อมาย้ายเข้ามากรุงเทพฯ ในปี 1975
(2518) โดยท่านกล่าวว่า
“พ่อของผมเป็นทหารบังคับภายใต้กองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตรงกับปี 1941 (2484) ซึ่งถูกบังคับให้ทำถนน โดยช่วงนั้นทหารญี่ปุ่นอยู่ในพม่าและกวาดต้อนผู้คนมาเป็นกรรมกร”
(ไมลา อาจารย์ยากุล, สัมภาษณ์, 2566)
แน่นอน ยุคแห่งการกวาดต้อนของญี่ปุ่นนั้น ชาวไทยเชื้อสายเนปาลก็เริ่มเข้ามาวางรกรากในปิล็อก เพราะเหมืองปิล็อกนั้นเริ่มทำเหมืองถ่านหินในปี 1940 เป็นต้นมา กระนั้น ถูกยอมรับให้เป็นสัญชาติไทยของชาวเนปาลเริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีพีเรนทระ กษัตริย์แห่งเนปาล (King Birendra Bir Bikram Shah Dev: 1945-2001) ทรงเสด็จเยือนชุมชนชาวเนปาลและเข้าคารวะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชการที่ 9 (King Bhumibol Adulyadej: 1927-2016) ในปี 1985 ส่งผลให้มีการช่วยเหลือชาวเนปาลพลัดถิ่นให้มีสัญชาติไทยในเวลาต่อมา (Maximillian Mørch, 2019)
ภาพที่ 2: คุณลุงไมลา อาจารย์ยากุล ชาวไทยเชื้อสายเนปาลจากชุมชนปิล็อก ณ สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล (5 กุมภาพันธ์ 2566)
อย่างไรก็ตาม
Maximillian
Mørch ยังระบุว่า แค่เพียงร้อยละ 5-10 ที่ชาวเนปาลได้รับสถานะพลเมืองหลังการช่วยเหลือหลังการพบปะครั้งดังกล่าวของกษัตริย์ไทยและเนปาล
ส่วนที่เหลือยังอยู่โดยไร้สถานะพลเมือง
ซึ่งถือเป็นสถานะที่ยังหดหู่ด้วยคำพูดที่ว่า “กลับบ้านไม่ต่างจากทาส
หรือจะอยู่เมืองไทยแบบไรสัญชาติ” ซึ่งแน่นอน หากพวกเขากลับเนปาล
พวกเขาก็ไม่สามารถพูดภาษาเนปาลได้อีกต่อไป
หากกลับบ้านเกิดอย่างพม่าก็ไม่ได้รับสถานะพลเมือง ส่วนอยู่ประเทศไทยก็ไร้สัญชาติ
หนึ่งในตัวอย่างชาวเนปาลที่เคยอยู่ในพม่าแล้วอพยพมาอยู่ไทยคือ
“บิชนุ บาฮาดุร เจฮตรี” (Bishnu Bahadur Chhetri)
ซึ่งเกิดและเติบโตในพม่า จนกระทั่งอายุ 27 ปี
เขาย้ายมายังประเทศไทย เนื่องจากปัญหาทางการเมืองในพม่า ณ ช่วงนั้น
ชาวไทนเชื้อสายเนปาลอีกท่านที่ผมรู้จักมักคุ้นนั่นก็คือ “ลุงนีม” อายุ 67 ปี (ชาวเนปาลรุ่นที่ 3) ถือกำเนิดในเหมืองปิล็อกเมื่อปี
1956 (2499) เติบโตในชุมชนชาวเนปาล อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี
คุณลุงเล่าว่า
“บรรพบุรุษของตนเองนั้นมาประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งออกเดินทางจากเนปาล สู่อินเดียผ่านพม่า แล้ววางรกรากในพม่าระยะหนึ่ง แล้วเดินทางเข้าประเทศไทย ชาวเนปาลส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นทำงานใน “เหมืองผีหลอก” หรือปัจจุบันเรียกว่า “เหมืองปิล็อก” ซึ่งเป็นแหล่งแร่ดีบุกและวุลแฟรม รวมทั้งแร่ทองคำ เทือกเขาตะนาวศรี ระหว่างชายแดนไทยและพม่า
(ลุงนีม, สัมภาษณ์, 2566)
ข้อความเบื้องต้นนั้นสอดคล้องกับข้อสังเกตของอัสสชิตะ
อวาเลที่ได้กล่าวว่า
“ชาวเนปาลในเหมืองปิล็อกเข้ามาในไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาวางรกราก ณ ทองผาภูมิ เพื่อทำเหมืองแร่ ซึ่งขณะนั้นพวกเขายังไม่ได้สัญชาติไทย เมื่อกษัตริย์เนปาลมาไทยในปี 1984 เพื่อช่วยเหลือชาวเนปาล โดยขอความกรุณาจากพระเจ้าอยู่หัวให้ช่วยเหลือชาวเนปาลกลุ่มนี้ โดยพวกเขาก็ได้สัญชาติในเวลาต่อมา ปัจจุบันพวกเขาได้กลายเป็น “คนไทยเชื้อสายเนปาล” เพราะเขามาวางรกรากในไทย ณ ทองผาภูมิ ปัจจุบันวางรกรากส่วนใหญ่ในสุขุมวิท 81 ชาวไทยเชื้อสายเนปาลกลุ่มนี้ มักพูดภาษาเนปาลผสมฮินดี แต่ช่วงหลังพวกเขานั้นพูดภาษาเนปาลค่อนข้างน้อย เพราะเขามักใช้ภาษาไทยในการสื่อสารมากกว่า อีกทั้งลูกหลานชาวไทยเชื้อสายเนปาลรุ่นที่ 3 และ 4 นั้นมักนิยมแต่งงานกับชาวไทย เพราะจะไม่มีการจับคู่แต่งงานเหมือนแต่ก่อน อีกทั้งโอกาสในการเดินทาง ศึกษา และพบเจอกับคนอื่นมากขึ้น ๆ”
ชาวไทยเชื้อสายเนปาลจากชุมชนปิล็อกแห่งนี้ส่วนใหญ่เลือกใช้เส้นทางชายแดนระหว่างพม่าและไทยเข้าสู่ประเทศไทย
ซึ่งปัจจุบันมีสูงเกือบ 100,000 คน
(ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2-3 ที่อยู่ในประเทศไทย) โดยร้อยละ 90
ใช้เส้นทางดังกล่าวอพยพเข้ามาในอดีตและก่อนจะมาถึงประเทศไทย
พวกเขาวางรกรากในพม่าระยะหนึ่ง
ภาพที่ 3: ชาวไทยเชื้อสายเนปาลจากชุมชนปิล็อก ณ สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล สุขุมวิท 81 กรุงเทพฯ ( 5 กุมภาพันธ์ 2566 )
จะเห็นได้ว่าเกือบทุกครอบครัวเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ไม่ต่างจากสายตระกูลของท่านพราหมณ์ที่เรียกว่า “Rikhiram Lamichhane” โดยผมได้คุยกับลูกหลานของท่านชื่อ “ชาลี” ผู้เป็นเสมือนครูของผมที่คอยบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับชาวเนปาลในไทย เขาบอกว่า
“คุณพ่อของคุณปู่ที่มาจากเนปาลแล้ววางรกรากในพม่า ส่วนคุณปู่เกิดในพม่า แล้วมาที่ชุมชนปิล็อก คุณปู่ชื่อ “Rikhiram Lamichhane” ย้ายมาจากพม่าขณะอายุ 15 ปี แล้วมาพบรักในชุมชนเหมืองปิล็อก แล้วแต่งงานกับคุณย่าชื่อ “กมลา” เป็นชาวเนปาลที่เกิดในเมืองตะเว ไม่ไกลจากชายแดนระนอง ที่ย้ายเข้ามาในปิล็อก โดยคุณพ่อของชาลีก็เกิดที่ปิล็อก ต่อมาย้ายไปอยู่ในระนอง ซึ่งไม่ไกลจากเกาะสอง เพราะมีชาวเนปาลอาศัยอยู่หลังจากนั้น เข้ากรุงเทพฯ ปัจจุบันวางรกรากในย่านสุขุมวิท
(ชาลี, สัมภาษณ์, 2566)
จากประเด็นดังกล่าวถือเป็นประวัติศาสตร์ค่อนข้างละเอียดและสำคัญ ซึ่งชาลียังย้ำว่า
“ขณะนั้นชาวเนปาลที่อยู่ในปิล็อกก็รู้สึกถึงความไม่มีเสถียรภาพของพวกเขา เนื่องจากถูกกินค่าแรงในการทำงาน จนกระทั่งบางส่วนเริ่มออกจากปิล็อก แล้วหางานที่อื่นทำ แต่มีบางส่วนที่ไม่ได้ย้ายออกจากชุมชนปิล็อก ซึ่งมีประมาณ 2-3 หลัง แต่พวกเขาก็เข้ามาในกรุงเทพฯ บ่อยเพื่อร่วมกิจกรรมของชาวไทยเนปาลและกระชับความสัมพันธ์กับเครือญาติ”
ปัจจุบัน “กมลา” (ดอกบัว) คุณย่าของชาลีอายุ 70 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนเนปาลย่านสุขุมวิทพร้อมกับลูกหลานของเธอ ซึ่งไม่ไกลจากวัดชาวเนปาล โดยสุขภาพของคุณย่ายังแข็งแรงและร่ำรวยด้วยประวัติศาสตร์เรื่องราวในอดีตของชาวเนปาลที่เข้ามาวางรกรากในประเทศไทยและย่านสุขุมวิทแห่งนี้ คุณย่าบอกว่า
“ชาวเนปาลนั้นได้ออกจากเหมืองปิล็อกหลังปิดกิจการลง แล้วเดินทางไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยทั้งในเชียงใหม่ กรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต ระนอง และเกาะสมุย รวมถึงย่านสถานีตากอากาศบางปู ในสมุทราปราการ มีมิตรสหายของบางคนที่คบหากันที่ปิล็อก แล้วมาเจอกันที่กรุงเทพฯ ซึ่งยังไปมาหาสู่กระทั่งปัจจุบัน”
ผมได้ความรู้จากชาลี หนุ่มเชื้อสายชาวไทยเนปาลหลายเรื่อง เขาเก่งทั้งทางด้านภาษา ศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมทั้งภาพยนตร์เนปาล โดยผมเป็นผู้ฟังเสียมากกว่า เพราะผมไม่มีความรู้อะไรเลย หนึ่งประเด็นที่ชาลีพูด ซึ่งผมก็เห็นด้วย นั่นก็คือ
“คนรุ่นเก่าที่รับรู้เรื่องราวและประวัติความเป็นมาของชาวเนปาลอพยพเริ่มล้มหายตายจากไป
หากไม่มีการเก็บบันทึกข้อมูลเหล่านี้ คลังความรู้จะหายไป เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มประติดประต่อเรื่องราวไม่ได้”
ชาวเนปาลหลายคนจึงบอกว่า
พวกเขาอยากอยู่ในไทย ทำงานในไทย และสามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย
และต้องการกลับไปเยี่ยมบรรพบุรุษที่เนปาลบ้างบางครั้ง
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปอยู่เป็นการถาวร
ส่วนชาวพม่ากุรข่าเองก็ต้องการย้ายมาอยู่ประเทสไทย เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวาย
ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขา (Maximillian
Mørch, 2019) สิ่งดังกล่าวเป็นความรู้ใหม่ของผมเกี่ยวกับชาวเนปาลพลัดถิ่น
ซึ่งหดหู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้เริ่ม้ตปนรับตัวเข้ากับสังคมไทย
โดยพาะการวางรกรากและปฏิสัมพันธ์กับชาวเอเชียใต้อื่น ๆ เช่น ชาวอินเดีย
ความสัมพันธ์ดังกล่าวกับชาติอินเดีย
ทำให้สตรีชาวไทยเชื้อสายเนปาลจำนวนมากเริ่มต้นทำงานกับครอบครัวชาวอินเดียที่สามารถพูดภาษาฮินดีได้
อีกทั้ง มีอาหารที่รับประทานนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกัน
สำหรับการอพยพของชาวเนปาลเข้ามาในไทยนั้น ส่วนใหญ่จะมากันแบบเครือญาติ และช่วยกันเกี่ยวกับเรื่องของที่พักอาศัยและหน้าที่การงาน
(Mrinalini
Rai, 2012: 6-7) อีกทั้งชาวเนปาล รวมทั้งชาวเอเชียใต้กลุ่มอื่น ๆ
ก็นิยมแต่งงานในหมู่ชาติพันธุ์เดียวกัน เพราะมีวัฒนธรรม
ต้นทุนทางความคิดและความรู้สึกที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังคงดำรง อัตลักษณ์ ภาษา ขนบธรรมเนียม
ประเพณีไว้กับผู้สืบสกุลต่อไป
กลุ่มชาวไทยเชื้อสายเนปาลนี้
เคยถูกระบุใน “อัตลักษณ์เอกสาร วงศาวิทยาการควบคุมประชากรของรัฐไทย” ว่า
“ผู้อพยพชาวเนปาลเคยถูกจำแนกไว้ภายใต้กลุ่มพลัดถิ่นจากพม่าและได้รับการลงทะเบียนสถานะในปี
พ.ศ. 2521
(1978) ก่อนจะถูกแยกออกมาเป็นกลุ่มเฉพาะภายใต้บัตรสีเขียวในปี 2530
(1987) กลุ่มชาวเนปาลอาศัยอยู่ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
บุตรหลานของกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับสิทธิในการขอสัญชาติไทย” (ปิ่นแก้ว
เหลืองอร่ามศรี, 2561: 248)
หนึ่งในตัวอย่างของลูกหลานชาวเนปาลในชุมชนเนปาลแห่งเหมืองปิล็อก
นั่นก็คือ คุณชาลีที่ผมได้นำเสนอมาตั้งแต่ต้น หลังจาก “เหมืองปิล็อก” (Pilok) ปิดตัวลงในปี 1980 ชาวเนปาลก็เริ่มอพยพเข้ากรุงเทพมหานครและเมืองท่องเที่ยวอื่น
ๆ เพื่อทำงานเลี้ยงชีพ ต่อมาก็กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต พัทยา เกาะสมุย เชียงใหม่ และอื่น ๆ
ซึ่งนิยมประกอบอาชีพร้านตัดเสื้อสูท ร้านอาหาร ร้านของชำ ร้านค้า เป็นต้น
หนึ่งในตัวอย่างของชาวเนปาลที่อพยพออกจากชุมชนปิล็อก ซึ่งระบุไว้ในงานเขียนของ “Ramesh Khadka” เรื่อง “Lost village of Nepalis in Thailand” นั่นก็คือ คุณลุงไมลา อชาร์ยา (Maila Acharya) อายุ 68 ปี (2018) ซึ่งออกจากชุมชนดังกล่าวในปี 1984 และมุ่งตรงมายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งแน่นอน ประสบการณ์ในการเดินทาง ต้องผ่านด่านตรวจ หรืออาจถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Ramesh Khadka, 2018)
ส่วนคุณยายไกลี รานา (Kaili Rana) อายุ 75 ปี (2018) ซึ่งถือกำเนิดและใช้ชีวิตในชุมชนปิล็อก โดยคุณยายเล่าให้ฟังเกี่ยวกับชีวิตของตนและชุมชนว่า ในปิล็อกนั้นมีการสร้างบ้านหลังเล็กจำนวน 12 หลัง ซึ่งอาจเรียกว่า “ชุมชนเนปาลขนาดย่อม” โดยมีกิจกรรมการเฉลิมฉลอง งานรื่นเริง งานเทศต่าง ๆ ด้วยกัน แต่วันนี้ ผู้คนที่นั่นย้ายออกจากปิล็อกไปหมดแล้ว เหลือเพียงความทรงจำดี ๆ ที่นึกกี่ครั้งก็น้ำตาไหล อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวเนปาลแห่งชุมชนปิล็อกอีกหลายท่านที่เคยใช้ชีวิตและย้ายออกจากเหมืองปิล็อกหลังเลิกกิจการ ไม่ว่าจะเป็น กัญจา รานา (Kancha Rana) อายุ 62 ปี เมื่อหลายปที่แล้ว ส่วน ลักษมัน กัตรี (Laxman Khatri) ออกจากปิล็อกเมื่อ 22 ปีที่แล้ว (Ramesh Khadka, 2018) แน่นอน คุณลุงนีมก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งหลังจากเราพูดคุยกัน ผมก็รู้ว่า ลุงออกจากปิล็อก แล้วเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่วัยหนุ่ม และได้พบรักกับสาวไทยเชื้อสายเนปาล ปัจจุบันวางรกรากในสมุทรปรากการ ไม่ไกลจากรถไฟฟ้าบีทีเอสเคหะและสถานีตากอากาศบางปู
จะเห็นได้ว่า
ชาวเนปาลจำนวนมากเข้ามาอาศัยในกรุงเทพมหานคร ออกจากชุมชนปิล็อก
หลังปิดเหมืองแน่นอน หนึ่งในศูนย์รวมของชาวเนปาลในกรุงเทพมหานครนั่นก็คือ สุขุมวิท
81
ซึ่งถือเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวเนปาลในกรุงเทพฯ โดยมี
“ตรีนาถเทวาลัย” หรือ สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล (Trinath Thai-Nepal
Association) เป็นแหล่งรวมตัวกัน โดยสถานดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อปี 1993
(2536) ซึ่งถือเป็นวัดที่ชาวเนปาลเข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ในกรุงเทพมหานครนั้นมีชาวไทยเนปาลประมาณ 7,000-8,000 คน (Spirit of Asia, 2563) น้องสุ หนึ่งในสมาชิกของชุมชนเนปาลย่านสุขุมวิทได้ยืนยันว่า
“วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงปี 2536 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน โดยการรวมเงินบริจาคของชาวไทยเสื้อสายเนปาล ซึ่งเป็นเสมือนจุดศูนย์รวมของชาวเนปาลในประเทศไทย”
(สุ, สัมภาษณ์, 2566)
สำหรับลุงไมลา
อาจารย์ยากุล ได้เล่าให้ผมฟังว่า
ชาวไทยเชื้อสายเนปาลจากชุมชนปิล็อกนั้นออกจากเหมืองแร่ดีบุก
เพราะคุณภาพชีวิตค่อนข้างแย่ อีกทั้งเหมืองเริ่มปิดตัว
จนกระทั่งมาใช้ชีวิตเริ่มต้น ณ กรุงเทพมหานครแล้วกระจายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ
ของประเทศไทย (สัมภาษณ์, 2566) ไม่ต่างจากครอบครัวของชาลี
รวมทั้งคุณปู่ “Rikhiram Lamichhane” และคุณย่า “กมลา”
ก็ได้ย้ายมาอยู่ใกล้กับวัดเพื่อความสิริมงคลของชีวิตจนกระทั่งปัจจุบัน
ความจริงผมได้เข้าไปวัดแห่งนี้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566
นอกจากวัดจะมีกิจกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมจัดงานแต่งงาน
งานมงคลต่าง ๆ ด้วย ซึ่งสำหรับชาวเนปาล
การจัดงานแต่งงานนั้นนิยมใช้วัดเป็นศูนย์กลาง
แน่นอน
วัดแห่งนี้เริ่มละทิ้งการบูชายัญและการบริโภคเนื้อสัตว์ในแบบเดิม ๆ
ที่เคยนิยมกันในอดีต
แต่หันกลับมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วยขนมหวานในการบูชาเทพเจ้า
ทั้งชาวพุทธและชาวฮินดูสามารถเข้ามาประกอบพิธีทางศาสนาด้วยกัน
ชาวเนปาลนิยมบูชาพระพิฆเนศ ขณะประสบพบเจอปัญหา หรืออุปสรรคต่าง ๆ
ที่ทำให้ขับข้องหมองใจ
ซึ่งมีพระพรหมเป็นเสมือนพระผู้สร้าง พระศิวะเป็นผู้รักษา ส่วนพระวิษณุคือ
ผู้ชุบชีวิตให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม
หนึ่งในเทพเจ้าที่ชาวเนปาลบูชานั่นก็คือ พระลักษมี ซึ่งถือเป็นเทพแห่งความมั่นคั่งที่จะดลบันดาลให้เงินทองไหลมาเทมาอย่างไม่ขาดสาย
ซึ่งชาวเนปาลจะมีวันแห่งการบูชาพระลักษมี
ส่วนเทพเจ้าอีกองค์ของชาวเนปาลที่นิยมบูชาคือ พระแม่สุรัสวดี
เป็นเทพแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะได้รับความนิยมในหมู่นักเรียนนักศึกษา (Spirit
of Asia, 2563 และชาลี, สัมภาษณ์, 2566)
ปัจจุบัน ชาวไทยเชื้อสายเนปาลจากชุมชนปิล็อกนั้นย้ายไปวางรกรากยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งเชียงใหม่ กรุงเทพ พัทยา เกาะสมุย ภูเก็ต กาญจนบุรี หัวหิน พังงา และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งชุมชนไทยเชื้อสายเนปาลจากเหมืองปิล็อกนั้นมีลูกหลานในประเทศไทยมากกว่า 6,000 คน (ไมลา อาจารย์ยากุล, สัมภาษณ์, 2566)
3. ชาวเนปาลในไทย
สำหรับชาวเนปาลในไทยคือ
ชาวเนปาลที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยไม่ได้ผ่านการวางรกรากทั้งพม่าหรือหมู่บ้านปิล็อกแห่งทองผาภูมิอย่าง
2
กลุ่มแรก เป็นชาวเนปาลที่มาอยู่นประเทศไทยทั้งเรียนพุทธศาสนาหรือทำธุรกิจ
หนึ่งในตัวอย่างที่คนไทยอาจรู้จักและคุ้นชินเป็นอย่างดีนั่นก็คือ อัสสชิตะ อวาเล
หรือที่เรียกว่า “ธันวา” ที่มีถิ่นฐานในเมืองปาตันแห่งหุบเขากาฐมาณฑุ
โดยบรรพบุรุษมีอาชีพทำอิฐและหม้อดินขาย
ซึ่งมาเรียนพุทธศาสนาในประเทศไทยโดยคำเชิญชวนของกงสุลไทย
เพราะพุทธศาสนานิกายเถรวาทเริ่มเข้าไปยังประเทศเนปาล
ส่งผลให้พระเนปาลหลายรูปมาศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทย
อัสสชิตะ อวาเลเริ่มเข้าสู่ทางพุทธธรรมด้วยการบวชเณรตอนอายุ 7 ขวบ และตอนอายุ 13 ขวบ หลังจากนั้นก็เข้าเรียนมัธยม แล้วมาศึกษาพุทธศาสนาในประเทสไทย ณ วัดสระเกศ หลังจากนั้นก็เรียนในมหามกุฏราชวิทยาลัยอีก 9 ปี แล้วศึกออกมาเพื่อใช้ชีวิตแบบฆราวาสขณะอายุ 29 ปี แล้วเริ่มต้นอาชีพด้วยการทำงานด้านสื่อสารมวลชน ด้วยการทำงานแปลข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย (สุเจน กรรพฤทธิ์, 2550)
ภาพที่ 4: “อัสสชิตะ อวาเล” หรือ “ธันวา” ชาวเนปาลผู้มาใช้ชีวิตในไทย
สำหรับกรณีของ “อัสสชิตะ อวาเล”
นั้นเขาได้เล่าให้ผมฟังว่า เขาเริ่มเข้ามาไทยเมื่อปี 1984
เพื่อบวชเรียน หนังจากนั้นก็ทำสื่อสารมวลชนในสำนักพิมพ์มติชน
อีกทั้งเริ่มเปิดอาหารเนปาลมาหลายปี แล้วมาเริ่มเปิดจริง ๆ ในย่านสุขุมวิท 31
แล้วต่อมามาเปิดสาขาที่ 2 ที่ประตูน้ำ
ซึ่งร้านสาขาที่ 2 นั้นเปิดมาประมาณ 5 ปี
หรือเริ่มต้นในช่วงก่อนโควิด ซึ่งต้องจ่ายค่าเช่าประมาณเดือนละ 60,000 บาท เพราะค่าเช่าสถานที่ย่านประตูน้ำก็ค่อนข้างแพงพอสมควร
ในขณะร้านบริเวณฟุตบาทประมาณ 2 เมตร วันละ 800-1,000 บาท
กรณีชาวเปาลที่อยู่ในไทยนั้น พวกเขามาตรงจากเนปาล 2,600 กว่าคน ประมาณ 1,300 กว่าคนเป็นนักศึกษา ทำงานในบริษัทเอกชน หรือ สำนักงานระหว่างประเทศ กลุ่มเอ็นจีโอ เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ และประกอบกิจการอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดจะถือ “ใบอนุญาตทำงาน” (Work Permit) หนึ่งในนั้นคือ วิศวกรชาวเนปาลที่เรียนจบจาก AIT ซึ่งเขาไม่ได้กลับไปเนปาล แต่ทำงานในไทย ซึ่งรถไฟฟ้าและอื่น ๆ (อัสสชิตะ อวาเล, สัมภาษณ์, 2566)
***หมายเหตุ***
บทความนี้อาจเป็นเรื่องเล่าขนาดยาวเกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายเนปาล
ซึ่งจะนำเสนอเป็นตอน ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานองค์ความรู้ให้กับมิตรสหาย โดยตอนต่อไป
เราจะมาเรียนรู้กันว่า ความเชื่อ ชีวิต และความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งชาวเนปาลแห่งเหมืองปิล็อก
ทองผาภูมิในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง คอยติดตามตอนต่อไปนะครับ
อ่านเพิ่มเติมใน
Don Messerschmidt. (2010). Nepalese in Bangkok. ECS Nepal.,73. http://ecs.com.np/features/nepalese-in-bangkok
Maximillian Mørch. (2019). Nepali Diaspora in Thailand struggles to get citizenship. The Record. April 6, 2019. https://www.recordnepal.com/nepali-diaspora-in-thailand-struggles-to-get-citizenship
Mrinalini Rai. (2012). Interrogating Diaspora in Migration: The Burmese Nepalis in Chiang Mai in Northern Thailand. 1-16
Mrinalini Rai. (2018). Shifting identities: perception and experiences of the Burmese Nepali Diaspora in Urban Chiang Mai, Thailand. Chiang Mai: Chiang Mai University Press.
Ramesh Khadka. (2018). Lost village of Nepalis in Thailand. Nepali times. June 17, 2018. https://www.nepalitimes.com/here-now/lost-village-of-nepalis-in-thailand/
Spirit of Asia. (2563). นมัสเต ชาวไทยเชื้อสายเนปาล. ไทย พีบีเอส. 12 กรกฎาคม 2563. https://www.youtube.com/watch?v=iyt-1kd4atI
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ. (2565). นักธุรกิจเนปาลต้องการสั่งซื้อสินค้าข้าวและน้ำตาล. กระทรวงการต่างประเทศ. 23 พฤศจิกายน 2565.
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2561). อัตลักษณ์เอกสาร วงศาวิทยาการควบคุมประชากรของรัฐไทย. เชียงใหม่: ศูนย์บริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สุเจน กรรพฤทธิ์. (2550). อัสสชิตะ อวาเล (ธันวา) นักข่าวชาวเนปาลที่ทำงานกับหนังสือพิมพ์ภาษาไทย. นิตยสารสารคดี ปีที่ 23 ฉบับที่ 268 เดือนมิถุนายน 2550. https://www.happyreading.in.th/article/detail.php?id=1473
สัมภาษณ์เชิงลึก
ลุงนีม, เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูต สัมภาษณ์, 30 มกราคม 2566 ณ สถานเอกอัครราชทูตเนปาล ประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานคร
ชาลี, ชาวไทยเชื้อสายเนปาล, สัมภาษณ์, 2 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล สุขุมวิท 81 กรุงเทพฯ
ไมลา อาจารย์ยากุล, ชาวไทยเชื้อสายเนปาล, สัมภาษณ์, 5 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล สุขุมวิท 81 กรุงเทพฯ
สุ, ชาวไทยเชื้อสายเนปาล, สัมภาษณ์, 5 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สมาคมตรีนาถไทย-เนปาล สุขุมวิท 81 กรุงเทพฯ
อัสสชิตะ อวาเล, ชาวเนปาลในไทย, สัมภาษณ์, 20 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ร้านอาหาร Himalaya Restaurant, ประตูน้ำ, กรุงเทพฯ