บทความของศูนย์จีนศึกษา

ศูนย์จีนศึกษา

การศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้เรื่องจีน เริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมกับกระแสการส่งเสริมเอเชียศึกษาทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ การเกิดสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีน ในปีพ.ศ.2510 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ก่อตั้งสถาบันเอเชียศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ โดยทำการสอน วิจัย และเผยแพร่เรื่องจีนเป็นกิจกรรมสำคัญ ภายหลังไทย-จีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว และสถาบันเอเชียศึกษาได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 และกิจกรรมเรื่องจีนศึกษามีมากขึ้น ในปีพ.ศ.2538 ซึ่งเป็นวโรกาสที่ไทย-จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 20 ปี สถาบันเอเชียศึกษา จึงได้ก่อตั้งศูนย์จีนศึกษาขึ้น เพื่อการทำวิจัยในลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชา คือ ครอบคลุมความรู้ในหลายด้านที่เกี่ยวกับจีน ได้แก่ การเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคม วัฒนธรรมและภาษา รวมทั้งความรู้ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับจีน เพื่อสร้างฐานข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องจีนศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นบริการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนในระดับต่างๆ และเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเรื่องจีนศึกษากับนักวิชาการเรื่องจีนศึกษาทั่วโลก


Websites http://www.csc.ias.chula.ac.th 
facebook page ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ Chinese Studies Center, CU | Facebook


ช่องทางการรับชมและติดตามผลงานของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ซึ่งได้มีการรวบรวมไว้ในรูปแบบของ Podcast จีนศึกษา
soundcloud https://bit.ly/3vzdVkG
apple podcast https://apple.co/2P2KMxg
Spotify https://spoti.fi/38RJj43
youtube https://bit.ly/3rVKGGB

เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากเหตุการณ์ที่นายหวังซิง (หรือชื่อเล่นว่าซิงซิง) นักแสดงชาวจีนถูกหลอกให้มาแคสงานแสดงที่ประเทศไทย แต่สุดท้ายกลับถูกพาไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และถูกพาข้ามพรมแดนไปยังประเทศเมียนมาแล้วหายสาบสูญไป กระทั่งแฟนสาวของซิงซิงได้ออกมาขอความช่วยเหลือจากทางการไทยและจีน ร่วมกันช่วยเหลือนำตัว ซิงซิงกลับมาได้ เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าซิงซิงนั้นเป็นหนึ่งในเหยื่อการค้ามนุษย์ของอาชญากรรมข้ามชาติจีนเทาที่กำลังขยายบทบาทและอิทธิพลอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายชาติใด ทั้งนี้ กรณีของซิงซิงนั้นถือว่าโชคดีที่ได้รับการช่วยเหลือหลุดพ้นออกมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ส่วนหนึ่งเพราะมีการกระพือเรื่องไปถึงสื่อต่างๆ จนบานปลาย การเก็บตัวซิงซิงไว้จึงไม่สู้ดีนัก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครทราบได้ว่าการปล่อยตัวซิงซิงออกมานั้น ต้องแลกเปลี่ยนกับอะไรหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์แล้วไม่สามารถกลับออกมาได้ ถึงแม้จะมีการร้องขอความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายก็ตาม การช่วยเหลือคนที่เข้าไปอยู่ในอาณาจักรมืดไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการได้ง่าย เพราะเบื้องหลังธุรกิจและอาณาจักรเหล่านี้ถูกควบคุมด้วยผู้มีอิทธิพลที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองและความมั่นคงในระดับประเทศ



อาชญากรรมจีนเทา “ต้มตุ๋น” ระดับโลก

การหลอกลวงไปใช้แรงงานและค้ามนุษย์ในอาณาจักรจีนเทาเป็นเพียงอาชญากรรมข้ามชาติรูปแบบหนึ่งเท่านั้น แท้จริงแล้วใต้เงาอาณาจักรสีเทาของเหล่าทุนจีนยังมีธุรกิจและอาชญากรรมอีกหลายรูปแบบที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อตัวบุคคลและต่อประเทศ เช่น การผลิตและค้ายาเสพติด การพนันออนไลน์ การค้าประเวณี การค้าสัตว์ป่า ฯลฯ ซึ่งฐานปฏิบัติการธุรกิจมืดเหล่านี้ล้วนรายล้อมอยู่รอบประเทศไทย ประเทศไทยจึงตกอยู่ในสภาพที่เป็นทางผ่านของอาชญากรรมเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ธุรกิจมืดที่ถูกพูดถึงและน่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงทางเทคโนโลยี (หรือการหลอกลวงทางโทรคมนาคม) ซึ่งมีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการ ปัจจุบันเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การหลอกลวงทางเทคโนโลยีจึงกลายเป็นธุรกิจมืดที่มีกลไกครบวงจร เริ่มตั้งแต่การซื้อขายข้อมูล การจัดฉากสร้างสถานการณ์ การลงมือหลอกลวง และการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างบิ๊กเดต้าและ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย ซึ่งการหลอกลวงทางเทคโนโลยีที่ปรากฎแพร่หลายในสังคมตอนนี้เกิดขึ้นด้วย 2 วัตถุประสงค์หลัก คือการหลอกลวงเพื่อเอาเงิน และการหลอกลวงเพื่อให้มาร่วมขบวนการ

ภาพตัวอย่างประกาศรับสมัครงานที่ปอยเปต (ภาพจากเฟซบุ๊ค)“การหลอกเพื่อเอาเงิน” ปรากฏหลากหลายรูปแบบ อาทิ การหลอกลวงผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ (หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์) โดยจะใช้โทรศัพท์มือถือส่วนบุคคลเท่านั้น ขบวนการมิจฉาชีพจะอุปโลกน์เหตุการณ์ขึ้นมา เช่น กล่าวหาว่ามีการนำส่งพัสดุผิดกฎหมาย กล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นต่อการฟอกเงิน การปลอมตัวหรือแอบอ้างเป็นคนรู้จัก ฯลฯ เพื่อให้ผู้รับสายตกใจและยอมทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพบอก หรือการหลอกลวงให้กดลิ้งค์เพื่อแฮ้กค์โทรศัพท์มือถือและยักยอกเงินจากแอพฯ ธนาคาร การหลอกรูปแบบนี้มักสร้างสถานการณ์ล่อลวงให้คนกดลิ้งค์ เช่น กรอกข้อมูลเพื่อสมัครงาน กรอกข้อมูลเพื่อรับรางวัล กดลิ้งค์เพื่อดูข้อมูลลับ ฯลฯ หรือการหลอกลวงให้ลงทุน โดยการสร้างโปรไฟล์ปลอมเป็นบุคคลหน้าตาดีและหาเหยื่อผ่านทางช่องทางแชตหรือแอพพลิเคชั่นหาคู่ต่างๆ แล้วพูดคุยหว่านล้อมให้ลงทุนเงินดิจิทัลหรือหุ้น ซึ่งครั้งสองครั้งแรกจะได้รับผลตอบแทนในอัตราสูงอย่างรวดเร็ว เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่าได้เงินจริงและยอมโอนเงินเข้าไปในระบบเพิ่ม จากนั้นจึงเชิดเงินหนีหายไป นอกจากนี้ ยังมีการหลอกให้เข้าไปเล่นพนันออนไลน์ โดยการสร้างแอคเค้าน์หน้าม้ารีวิวว่าได้เงินง่าย โดยเหยื่อที่หลงเข้าไปเล่นช่วงแรกจะได้เงิน ก่อนที่จะเสียเงินจนหมดตัว รวมถึงการหลอกล่อให้กู้เงินทางออนไลน์โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงลิ่วแล้วข่มขู่หรือประจานให้เหยื่ออับอาย อย่างไรก็ดี การหลอกลวงเพื่อเอาเงินนั้นยังมีอีกหลายรูปแบบด้วยสารพัดวิธีการ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับขบวนการสีเทาเหล่านี้นับหมื่นล้านบาท

ส่วน “การหลอกลวงเพื่อให้ร่วมขบวนการ” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามหลังอันเนื่องมาจากการขยายตัวของเครือข่ายจีนเทา ธุรกิจสีเทาเหล่านี้ทำรายได้ได้มหาศาลองค์กรจึงขยายตัวขึ้นและต้องการคนมาร่วมขบวนการมากขึ้น  และไม่ได้หลอกลวงเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังหลอกลวงคนในหลายประเทศทั่วโลกทั้งไทย จีน และประเทศต่างๆ โดยเป็นการหลอกลวงข้ามประเทศ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจึงยากที่จะเอาผิดหรือสาวถึงตัวผู้กระทำความผิดรายใหญ่ ถึงแม้ขบวนการเหล่านี้จะมีนายทุนชาวจีนอยู่เบื้องหลังแต่ฟันเฟืองที่ปฏิบัติงานเบื้องหน้าคือแรงงานชาติต่างๆ ที่รับบทเหมือนนักแสดงคอยพูดคุยและหลอกลวงคนชาติตัวเอง ดังนั้น ขบวนการนี้จึงต้องการคนชาติต่างๆ มาร่วมขบวนการจำนวนมากประหนึ่งเป็นองค์กรนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศถูกจำกัด อาณาจักรจีนเทาจึงขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายการล่อลวงแรงงานมาเพื่อร่วมขบวนการจึงเริ่มหนักหน่วงและโจ่งแจ้งขึ้น

สำหรับคนไทยการล่อลวงในช่วงแรกมักเป็นการชักชวนว่าเป็นการไปทำงานในสถานบันเทิง คาสิโน หรือเป็นแอดมินเว็บพนันที่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่แท้จริงแล้วเป็นการหลอกเพื่อไปทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงคน คนที่ร่วมขบวนมีทั้งที่ถูกหลอกและที่สมัครใจไป แต่ระยะหลังคนไทยจำนวนมากเริ่มรู้ทัน บางส่วนหวาดกลัวและเริ่มไม่กล้าเสี่ยงไปทำงาน คนที่สมัครใจไปทำงานจึงหายากขึ้นจึงต้องใช้วิธีการล่อลวงคนเข้ามาด้วยสารพัดวิธี เช่น การหลอกว่าพามาทำงานประเภทอื่น การบังคับและใช้กำลังในการพามา โดยเฉพาะวิธีการให้เหยื่อคนเก่าไปเป็นนกต่อ หลอกล่อเหยื่อคนใหม่เข้ามาโดยให้ความหวังว่าถ้าหาคนใหม่มาแทนได้ครบจำนวนจะปล่อยตัวเป็นอิสระ บางรายได้รับการปล่อยตัวจริง แต่บางรายไม่ได้รับการปล่อยตัว ถูกทำร้าย ทำให้เสียชีวิตหรือถูกเรียกเงินค่าไถ่ตัวเองเพิ่ม


ภาพตัวอย่างประกาศรับสมัครงานที่ปอยเปต (ภาพจากเฟซบุ๊ค)

ด้วยธุรกิจมืดเหล่านี้ไม่ได้หลอกลวงแต่คนไทยตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ขบวนการนี้ต้องการคนชาติต่างๆ มาร่วมขบวนการเพื่อความแนบเนียนในการหลอกลวงคนชาตินั้นๆ จึงมีการหลอกคนจีน และชาติอื่นๆ มาด้วย ว่าจะเป็นอินเดีย บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคนที่เข้ามาร่วมขบวนการเหล่านี้ล้วนแต่ไม่ได้ค่าตอบแทนตามที่ตกลง ถูกใช้งานเป็นแรงงานทาส ถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างทารุณ หลายรายถูกขายต่อให้กับกลุ่มอื่นในเครือข่ายเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์อย่างเต็มตัว จำนวนไม่น้อยหายสาบสูญไปโดยที่ญาติไม่สามารถติดต่อได้อีก

ขบวนการจีนเทาลักษณะนี้สามารถดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยการหลอกลวงหลากหลายรูปแบบที่ผันแปรไปตามบริบทและสถานการณ์ในสังคม โดยอาศัยจุดอ่อนคือการเล่นกับความรู้สึกของเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้ตกใจจนขาดสติ การข่มขู่ให้หวาดกลัว หรือการอาศัยความโลภชักจูงให้คล้อยตาม ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองในพื้นที่ก็มีผลต่อการดำรงอยู่เช่นเดียวกันเพราะผลประโยชน์จากขบวนการจีนเทาไม่ได้ตกอยู่แค่ในมือกลุ่มผู้มีอิทธิพลชาวจีนเท่านั้นแต่ยังเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิผลในพื้นที่ด้วย โดยแรงจูงใจหลักประการเดียวของขบวนการจีนเทาคือ “การได้เงินก้อนใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว” ขบวนการเหล่านี้จึงไม่หมดไปถึงแม้จะมีการกวาดล้างจากรัฐบาลจีนที่ร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นก็ตาม

หลายเรื่องราวของ “แรงงานทาส” ใต้เงาอาณาจักรจีนเทา

แรงงานที่อยู่ในขบวนการจีนเทาถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่สุด ธุรกิจมืดและอาชญากรรมจีนเทาจะดำรงอยู่และขยายตัวขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีคนชาติต่างๆ เข้ามาร่วมเพราะอาชญากรรมนี้ต้องอาศัยคนชาติเดียวกันมาหลอกคนชาติเดียวกัน สปริงนิวส์สื่อออนไลน์ของไทยได้นำเสนอว่าอาณาจักรจีนเทาในเมืองเมียวดีมีแรงงานทาสจำนวนราว 6,000 คน ในจำนวนนี้ราวครึ่งหนึ่งเป็นคนจีน ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานต่างชาติจาก 21 ประเทศ ขณะที่ข้อมูลจากทางการจีนระบุว่าจากการสัมภาษณ์สวี่ลี่ผิง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (CASS) ให้ข้อมูลว่าในแต่ละปีมีชาวจีนประมาณ 70,000 คน (เฉลี่ยวันละเกือบ 200 คน) ถูกล่อลวงไปยังเมียนมา โดยในจำนวนนี้มีทั้งอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามนับล้าน และบุคคลที่มีการศึกษาสูงรวมอยู่ด้วย ผู้เขียนคาดว่าเหตุที่ระยะหลังขบวนการจีนเทาเริ่มหลอกลวงกลุ่มคนที่มีการศึกษาเข้าไปร่วมขบวนการอาจเป็นเพราะแรงงานระดับล่างเริ่มหลอกเหยื่อไม่สำเร็จ เพราะไม่มีความรู้และไหวพริบพอที่จะเจรจากับเหยื่อ
อย่างไรก็ดี การหลอกลวงเหยื่อมาเข้าร่วมขบวนการจะมีต้นทุนในช่วงแรก กล่าวคือมีการเตรียมตั๋วเครื่องบินให้หรือมีรถมารอรับพร้อมกับมีคนตามประกบ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการพาเหยื่อเข้าไปยังฐานปฏิบัติการเริ่มต้นที่หลักพันไปจนถึงหลักหลายหมื่นบาท บางรายถูกซื้อต่อมาจากขบวนการอื่น ทำให้แรงงานเหล่านี้ถูกกดดันอย่างมากจากหัวหน้าขบวนการในการให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามคำสั่งและเร่งทำผลงานเพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป



อาณาจักรจีนเทาเปรียบเสมือนค่ายกักกันที่มีบรรยากาศเหมือนเมืองจีนย่อมๆ ในอาณาจักรดังกล่าวมีโรงอาหาร ร้านขายของ ร้านสะดวกซื้อ คาราโอเกะ คาสิโน สถานบันเทิง หญิงบริการ ยาเสพติดครบวงจร อ้างอิงข้อมูลจากนิวยอร์คไทม์ระบุว่าภายในอาณาจักรจีนเทาในเมียนมาจะถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ของแก๊งต่างๆ ซึ่งจะมีหัวหน้าแก๊งคอยดูแลและกำกับงาน และมีหัวหน้าแก๊งย่อยต่อลงไปเป็นทอดๆ ในหนึ่งแก๊งจะแบ่งการทำงานกันเป็นหลายทีม เช่น ทีมเตรียมอุปกรณ์ (เช่น โทรศัพท์) ทีมขนส่งและรักษาความปลอดภัย ทีมฟอกเงิน ทีมบัญชี ฯลฯ โดยแต่ละแก๊งจะต้องจ่ายเงินค่าเช่าอาคาร ค่าน้ำ ค่าไฟให้กับหัวหน้าใหญ่ และจ่ายค่าคุ้มครองให้กับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ด้วย

แรงงานทุกชาติเมื่อเข้ามาแล้วถ้าเป็นเพศชายบางส่วนจะเริ่มต้นการเป็นทาสด้วยการถูกโกนผม การโกนผมนัยหนึ่งคือการแยกผู้ที่เข้ามาใหม่ อีกนัยหนึ่งทางจิตวิทยาถือเป็นการสร้างความกดดันทางจิตใจ ทำให้เหยื่อรู้สึกหวาดกลัวและถูกคุมคามเพื่อให้ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง แต่หากเหยื่อไม่ยอมปฏิบัติตามหรือทำตามไม่ได้ จะถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม และจะถูกขายต่อให้กับขบวนการอื่นในเครือข่าย แต่ถ้าเหยื่อยอมปฏิบัติตามและทำผลงานดีก็อาจได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติม หรือได้เลื่อนระดับขึ้นมาเป็นหัวหน้าและมีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น จากการบอกเล่าของแรงงานที่กลับออกมาได้ล้วนบอกว่าเมื่อเข้าไปแล้วทุกคนจะได้รับบทพูดและได้รับโอกาสในการฝึกฝนช่วงแรก โดยจะมีคนคอยพูดชักจูงให้ไม่หวั่นไหวต่อการกระทำผิด หลังจากหลอกลวงแรงงานเข้ามาได้แล้ว แรงงานเหล่านี้ถือเป็นแรงงานที่ไม่มีต้นทุน เพราะส่วนใหญ่แล้วแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับค่าตอบแทน ขณะเดียวกันขบวนการจีนเทายังใช้แรงงานทาสในการหาบัญชีม้าเพื่อปกปิดเส้นทางการเงิน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐติดตามและปราบปรามได้ยากขึ้น แรงงานทาสจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสีเทาสามารถดำเนินต่อไปได้และสร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้อยู่เบื้องหลัง

“อาณาจักรจีนเทา” อยู่ที่ไหนในภูมิภาค?

เป็นที่ทราบกันว่าอาณาจักรจีนเทาที่หลอกลวงคนในหลายประเทศมีฐานปฏิบัติการอยู่ใน 3 พื้นที่รายล้อมประเทศไทย ได้แก่ ลาว กัมพูชา และเมียนมา

  • “อาณาจักรจีนเทาในกัมพูชา” ตั้งอยู่ในสองพื้นที่คือ ‘สีหนุวิลล์’ ที่เป็นเมืองชายฝั่งติดกับอ่าวไทยและจังหวัดตราด และ ‘ปอยเปต’ ซึ่งเป็นเมืองชายแดนติดกับจังหวัดสระแก้วโดยมีแม่น้ำโขงกั้น ทั้งสองพื้นที่มีการลงทุนจากกลุ่มทุนจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะในธุรกิจคาสิโนและอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้เกิดปัญหาการฟอกเงิน การพนันออนไลน์ และการค้ามนุษย์ โดยมีกลุ่มทุนจีน เครือข่ายแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ และผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
  • “อาณาจักรจีนเทาในลาว” ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ ทางตอนเหนือของลาว ติดกับชายแดนไทยและเมียนมาในพื้นที่ที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำรวกไหลมาบรรจบกัน พื้นที่นี้เป็นอาณาจักรของคิงโรมันส์กรุ๊ปซึ่งมีจ้าวเหว่ยผู้มีอิทธิพลชาวจีนเป็นผู้ดูแล อาณาจักรคิงโรมันส์เช่าพื้นที่จากลาวเป็นเวลา 99 ปี เบื้องหน้าเป็นเสมือนแหล่งท่องเที่ยวคาสิโนทั่วไป แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยธุรกิจสีเทา เช่น การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์และค้าประเวณี การฟอกเงิน การค้าสินค้าเถื่อน ฯลฯ
  • “อาณาจักรจีนเทาในเมียนมา” ตั้งอยู่ใน ‘รัฐฉาน’ ตอนเหนือใกล้กับชายแดนจีน และ ‘รัฐกะเหรี่ยง’ ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทั้งสองพื้นที่เป็นฐานปฏิบัติงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ ภายใต้การดูแลของนายทุนชาวจีนและกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่

การเติบโตของธุรกิจจีนเทาและอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาคสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อหลายประเทศเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายคิดเป็นเม็ดเงินหลักหมื่นล้านบาท (หรือหลายหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จนทำให้องค์กรตำรวจสากล (Interpol) ประกาศว่าขบวนการเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยระดับโลก ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้แถลงการณ์สนับสนุนการปราบปรามธุรกิจสีเทาและเครือข่ายอาชกรรมข้ามชาตินี้ ระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ร่วมมือกับรัฐบาลลาวและกัมพูชาในการปราบปรามธุรกิจจีนเทา มีการทลายฐานปฏิบัติการและจับกุมชาวจีนที่ร่วมขบวนการทั้งที่ถูกหลอกและเต็มใจส่งกลับประเทศไปหลายครั้ง ทำให้ธุรกิจจีนเทาจำนวนหนึ่งย้ายไปตั้งฐานปฏิบัติการในเมียนมาแทน เพราะสามารถดำเนินกิจการได้สะดวกกว่า และปราศจากการกดดันจากรัฐบาลท้องถิ่น


ภาพการจับกุมขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดนเมียนมา-จีน (ภาพจากสื่อจีน 央视新闻)

จาก “ชายแดนจีน” เคลื่อนสู่ “ชายแดนไทย”            

ไม่นานมานี้รัฐบาลจีนได้ร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาในการปราบปรามและจับคุมขบวนการจีนเทาบริเวณชายแดนเมียนมา-จีน โดยในปี 2023 รัฐบาลเมียนมาได้ส่งมอบผู้กระทำผิดในฐานเข้าร่วมขบวนการให้แก่รัฐบาลจีนจำนวนประมาณ 41,000 คน ทำให้ฐานปฏิบัติการจีนเทาในเมียนมาได้ย้ายมาอยู่บริเวณชายแดนเมียนมา-ไทยแทน เพราะเป็นพื้นที่ที่ถูกเพ่งเล็งและได้รับความกดดันจากรัฐบาลจีนน้อยกว่า ฐานปฏิบัติการธุรกิจจีนเทาและแหล่งอาชญากรรมข้ามชาติบริเวณชายแดนเมียนมา-ไทยตั้งอยู่ใน 2 พื้นที่หลัก คือ (1) เมืองเมียวดี (2) เมืองชเวโก๊กโก ทั้ง 2 พื้นที่เป็นเมืองที่พัฒนาขึ้นใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายในเมืองเต็มไปด้วยตึกนับสิบคล้ายหมู่บ้าน มีคาสิโน และอสังหาริมทรัพย์เกิดใหม่จำนวนมาก หลายสื่อมีการนำเสนอว่าภายในอาณาจักรเหล่านี้อาจมีแรงงานมนุษย์อาศัยอยู่หลักแสนคน ซึ่งบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาเป็นพื้นที่ที่ปกครองโดยกองกำลังติดอาวุธโดยที่รัฐบาลเมียนมาไม่มีอำนาจในการกำกับดูแล ทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็น “สวรรค์แห่งอาชญากรรม” เป็นศูนย์กลางของการหลอกลวง การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน และการค้ามนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบ


ภาพอาณาจักรจีนเทาในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ตรงข้ามชายแดนไทย บริเวณจังหวัดตาก
(ภาพจาก Google Earth)

เหตุไฉน “ไทย” จึงกลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมนี้?

จากที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่าปัจจุบันฐานปฏิบัติการของจีนเทาได้ย้ายไปอยู่ในเมียนมาบริเวณตรงข้ามชายแดนไทย ดังนั้น การเดินทางไปสู่ฐานปฏิบัติการดังกล่าววิธีที่ดีที่สุดคือการเดินทางเข้าไทยและลักลอบข้ามไปทางพรมแดนธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องพาเหยื่อแรงงานทาสชาติต่างๆ เข้าไป การเดินทางผ่านไทยจึงสะดวกและแนบเนียนที่สุด แรงงานทาสส่วนใหญ่ถูกหลอกว่าให้มาทำงานที่ไทย เช่น กรณีซิงซิงถูกหลอกว่ามาแคสงานแสดง บางรายสมัครมาทำงานแอดมินเว็บจองโรงแรม หรืองานอื่นๆ ที่ใช้ภาษา เมื่อได้รับแจ้งให้เดินทางมาทำงานที่ประเทศไทยจึงวางใจและเชื่อถือ เพราะเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยไม่ใช่ฐานของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ โดยไม่รู้ว่าจะถูกหลอกหลังจากเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว ดังนั้น ไทยจึงกลายเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของขบวนการนี้ด้วยเหตุผลด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่สามารถลักลอบเดินทางข้ามพรมแดนได้สะดวกโดยไม่ผ่านจุดผ่านแดน และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยทำให้เหยื่อหลงเชื่อและยอมเดินทางมาประเทศไทย  

นอกเหนือจากปัจจัยหลักด้านบนแล้ว ไทยยังมีปัจจัยเอื้ออีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายของไทยที่ยังมีช่องโหว่และขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง การคอร์รัปชันและการทุจริตในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและเทคโนโลยี การเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจไทยและจีนทำให้เอื้อต่อการการใช้ไทยเป็นฐานในการทำธุรกิจเพื่อฟอกเงิน ตลอดจนโครงสร้างสังคมไทยที่อาจได้รับอิทธิพลมาจากระบบชนชั้น ศาสนา การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และทัศนคติที่สืบทอดมาในสังคมทำให้ “คนไทยอยากรวยแต่รักสบาย” ส่งผลให้มีคนไทยตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ทั้งตกเป็นเหยื่อในการถูกใช้เป็นแรงงานเพราะหวังได้งานสบายแต่ค่าตอบแทนสูง และตกเป็นเหยื่อทำให้สูญเสียเงินจากการอยากรวยทางลัดจากการลงทุนในหุ้นหรือการเล่นพนันออนไลน์

ผลกระทบต่อไทยไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวจีนหาย

กรณีของซิงซิงที่ถูกล่อลวงมาไทยกลายเป็นข่าวที่ถูกรับรู้เป็นวงกว้างทั้งในหมู่คนไทยและคนจีน ซึ่งส่งผลกระทบทางตรงต่อความเชื่อมั่นของคนจีนที่จะเดินทางมาไทย สื่อต่างๆ นำเสนอว่าในนักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนหนึ่งยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยวแระเทศไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีน (ปลายเดือนมกราคม 2025) รวมถึงกิจกรรมอีเว้นท์ต่างๆ ของชาวจีนที่จะมาจัดในไทยก็ได้รับการยกเลิกไปบางส่วน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและจีนต้องออกมาเร่งประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในประเทศไทย ขณะที่ในระยะยาว ความน่ากังวลที่เกิดขึ้นคือไทยอาจกลายเป็นจุดพักสำคัญของธุรกิจจีนเทา นอกเหนือจากการอาศัยไทยเป็นทางผ่านแล้ว ไทยยังอาจกลายเป็นแหล่งฟอกเงินที่สำคัญและอาจจะกลายเป็นแหล่งในการดำเนินการสีเทาอื่นๆ อีก เช่น การเปลี่ยนหรือซื้อขายสัญชาติ การเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยและซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวจีน เป็นต้น  นอกจากผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับคนจีนแล้ว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบทางตรงต่อคนไทยที่ถูกหลอก ทั้งที่ถูกหลอกเอาเงินและถูกหลอกไปทำงาน ล้วนเกิดความวิตกกังวลและก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางสังคม ขณะเดียวกัน ผลจากการมีอยู่ของธุรกิจและอาชญากรรมจีนเทายังเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของคนจีนในสายตาคนไทยบางส่วน อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างคนจีนกับคนไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนในระดับประชาชนได้ อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ถึงแม้จะไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินที่จะแก้ไข รัฐบาลไทยต้องยกเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญระดับชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งต่อการตกเป็นเหยื่อถูกหลอกและการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ และสร้างความตระหนักต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยปะละเลยต่อหน้าที่และมีการคอร์รัปชัน ขณะเดียวกันภาครัฐควรปรับแก้กฎหมายที่ยังมีช่องโหว่และเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น ที่สำคัญภาครัฐต้องมีการหารือและสร้างความร่วมมือกับจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคในการร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีผลต่อความมั่นคงระดับโลก ไทยไม่สามารถขับเคลื่อนฝ่ายเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายร่วมกัน


รายการอ้างอิง

  • Xinmin Weekly. (n.d.). 缅北电诈猖獗,“孤注一掷”点中了谁的痛点? Retrieved from https://m.xinminweekly.com.cn/content/19392.html
  • New York Times. (2023, December 19). 中国人被骗至缅甸:一个跨境网络诈骗帝国的崛起. Retrieved from https://www.nytimes.com/zh-hans/interactive/2023/12/19/chinese/myanmar-cyber-scam.html
  • Xinhua News. (2023, September 4). 境外电信诈骗犯罪持续高发,中国警方重拳出击. Retrieved from http://www.news.cn/world/2023-09/04/c_1212263781.htm

บทความล่าสุด

“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ การยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวจีนเติบโตขึ้นถึง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลูกเล่นหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเล่น “คำผวน” ซึ่งเป็นการเล่นคำโดยการสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะต้น กับเสียงสระและตัวสะกดและวรรณยุกต์ของคำจำนวน 2 พยางค์ขึ้นไป เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีควาหมายก็ได้

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์
2568
กระแสเอเชีย
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนที่ติดตั้งกลางสี่แยกห้วยขวางบนโลกอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และหลายฝ่ายให้ความสนใจ กระทั่งสำนักงานเขตห้วยขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกา

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)

(PART II: The Rise of Global Semiconductor Demand: A Choke Point amidst U.S.-China Geopolitical Tech War) Sasirada Sringam Picture Source: Foreign Policy: “Semiconductors and the U.S.-China Innovation Race: Geopolitics of the supply chain and the central role of Taiwan” Nowadays, semic

2567
-
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์จีนศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330