กิจกรรมของศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Websites ศูนย์อินเดียศึกษา
facebook page Indian Studies Center

ศูนย์อินเดียศึกษา

 สารจากอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเทศไทยกับประเทศอินเดียเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ แต่หากมองจากมิติศาสนา วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศนับย้อนกลับไปในอดีตกาลได้อย่างยาวนาน และคงไม่ผิดด้วยหากจะกล่าวว่า อัตลักษณ์ของไทยในหลายแง่ก็มีความเป็นอินเดียอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย/อาเซียน–อินเดียได้ดำเนินมาสู่ความใกล้ชิดมากขึ้น และยังได้ขยายขอบเขตครอบคลุมปริมณฑลด้านต่างๆ มากขึ้นด้วย รวมถึงด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และความมั่นคง

ผมรู้สึกยินดีมากที่ศูนย์อินเดียศึกษา (ศอ.) ได้พยายามสุดความสามารถเพื่อทำให้จุฬาฯ เป็นแหล่งความรู้ด้านอินเดียศึกษาในแขนงวิทยาต่างๆ หลายกิจกรรมของ ศอ. ที่ผ่านมานั้น เปิดโอกาสให้ประชาคมทั้งในและนอกรั้วจุฬาฯ มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับอินเดียนานัปการ

บัดนี้ ศอ. ได้สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของศูนย์ และเพื่อขยายขอบเขตการเรียนรู้เกี่ยวกับอินเดีย และความสัมพันธ์ไทย/อาเซียน–อินเดีย อันจะทำให้ ศอ. เป็นแหล่งข้อมูลและความรู้ของสาธารณชนสืบไป

ผมเชื่อมั่นว่า เว็บไซต์นี้จะมีประโยชน์แก่ทุกคน โดยเฉพาะผู้สนใจด้านอินเดียศึกษาและความสัมพันธ์ไทย/อาเซียน-อินเดีย และเชื่อด้วยว่า ผู้ใช้เว็บไซต์นี้จะมีบทบาทสำคัญช่วยพัฒนาเว็บไซต์นี้ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ข้อคิดและข้อเสนอแนะเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน

ด้วยความเคารพ

ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

 สารจากผู้อำนวยการ ศอ.

หากมองเพียงระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ความสัมพันธ์ไทยกับอินเดียที่เริ่มสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ก็ต้องนับว่ามีอายุไม่นานนัก เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่ไทยเจริญความสัมพันธ์ด้วย ทว่าเราย่อมมิอาจละเว้นที่จะพิจารณาแง่มุมทางวัฒนธรรม ภาษา ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ ของอินเดียที่หยั่งรากอยู่ในวิถีชีวิตไทยมายาวนาน และผสมกลมกลืนกับอัตลักษณ์ความเป็นไทยอย่างมิอาจแยกขาดจากกันได้ เช่น ศาสนาพุทธที่ชาวไทยส่วนใหญ่นับถือนั้น ถือกำเนิดในอนุทวีปอินเดีย อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์และศาสนาฮินดูที่มีต้นตอจากอนุทวีปอินเดียยังปรากฏให้เห็นในวัฒนธรรมไทยอย่างชัดแจ้ง และแม้แต่คำศัพท์ในภาษาไทยที่ผมใช้เขียนสารนี้ ก็มีรากเหง้ามาจากภาษาบาลีสันสกฤตเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น คงไม่ผิดอีกเช่นกัน ถ้าจะกล่าวว่า อินเดียดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ยังเป็นแหล่งอารยธรรมบ่งบอกความเป็นไทยได้มากพอสมควร

ช่างน่าเสียดายที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียต้องชะงักงันเนื่องด้วยต่างประเทศเข้ามายึดครองอินเดียเป็นเวลานาน แม้อินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองระดับโลกว่าด้วยสงครามเย็น จึงทำให้ทั้งสองมิอาจดำเนินความสัมพันธ์ได้อย่างแน่นแฟ้น ครั้นเมื่อสงครามเย็นยุติลงในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ บริบทเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศก็เปลี่ยนไป ทำให้ทั้งสองประเทศหันมากระชับมิตรภาพระหว่างกันได้ในที่สุด

ปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา สัมพันธภาพระหว่างทั้งสองประเทศได้เข้าสู่ระดับที่เรียกได้ว่าแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และได้ขยายขอบเขตครอบคลุมปริมณฑลเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการศึกษาด้วย ทว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองจะมองในระดับทวิภาคีแต่ลำพังมิได้ เพราะข้อเท็จจริงในวันนี้บ่งชี้ด้วยว่า อินเดียกับอาเซียนให้ความสำคัญแก่กันมากเป็นพิเศษ

ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษา (ศอ.) ผมมองเห็นปัญหาที่ว่า แม้สังคมไทยจะได้รับอิทธิพลจากอินเดียมาเนิ่นนาน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่เรายังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับอินเดียในหลายมิติ จึงเห็นว่า การมีเว็บไซต์ที่ดีนั้น นอกจากจะช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมของ ศอ. แล้ว ยังจะช่วยให้สาธารณชนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับอินเดีย ทั้งอินเดียโบราณและอินเดียร่วมสมัยในมิติต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้งเท่าที่จะทำได้ด้วย และผมยังเชื่อมั่นด้วยว่า ข้อมูลและความรู้เหล่านี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย–ไทย/อาเซียน พัฒนาไปอย่างยั่งยืน

ท้ายสุดนี้ ผมใคร่ขอให้ผู้ใช้เว็บไซต์นี้ช่วยติชม เพื่อพัฒนาเว็บไซต์นี้ให้เป็นแหล่งข้อมูลและความรู้ด้านอินเดียศึกษาที่ดีที่สุดในสังคมไทย

ด้วยประณาม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล

 ประวัติความเป็นมาของ ศอ.

ศูนย์อินเดียศึกษา (ศอ.) จัดตั้งตามมติสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๗๓๒ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเจิมป้ายและเปิด ศอ. อย่างเป็นทางการ

ศอ. มีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ ได้แก่

  • เป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการด้านอินเดียศึกษา
  • พัฒนาเครือข่ายทางวิชาการด้านอินเดียศึกษา
  • ส่งเสริมความสัมพันธ์อันยั่งยืนระหว่างประชาชนไทยกับอินเดีย

ศอ. มีภารกิจหลัก ๒ ประการ ได้แก่

  • จัดบรรยายสาธารณะและกิจกรรมทางวัฒนธรรม ตลอดจนผลิตสื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ
  • อำนวยความสะดวกในการศึกษา – วิจัย ของนักวิชาการและนิสิต

ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ศอ. ได้ย้ายมาสังกัดสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

ชื่อและโลโก้ ศอ.

ชื่อ ศอ.

  • ชื่อเต็มภาษาไทย : ศูนย์อินเดียศึกษา
  • ชื่อย่อภาษาไทย :  ศอ.
  • ชื่อเต็มภาษาฮินดี : चूड़ालंकरण विश्वविद्यालय का भारतीय अध्ययन केंद्र
  • ชื่อย่อภาษาฮินดี :  चू.भा.कें.
  • ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ : Indian Studies Center
  • ชื่อย่อภาษาอังกฤษ : IS

โลโก้ ศอ.

  • ศอ. มีโลโก้ทั้งหมด ๓ แบบ แต่ละแบบประกอบด้วยตราสัญลักษณ์พระเกี้ยว และชื่อ ศอ. เป็นภาษาไทย ฮินดี และอังกฤษตามลำดับ ศอ. จะใช้โลโก้แบบที่ ๑ (ไม่มีกรอบ) แบบที่ ๒ (มีกรอบ) หรือแบบที่ ๓ (วงกลม) เท่านั้น
  • ศอ. นิยมใช้โลโก้แบบที่ ๑ และ ๒ ในป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ และใช้แบบที่ ๓ เป็นภาพ Profile เฟสบุ๊คของ ศอ. ซึ่งมีชื่อว่า Indian Studies Center

แบบที่ ๑

แบบที่ ๒

แบบที่ ๓


 

ชื่อและโลโก้ คนบ. จุฬาฯ

ชื่อของ คนบ. จุฬาฯ

  • ชื่อเต็มภาษาไทย : เครือข่ายคลังสมองนโยบายของบิมสเทค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ชื่อย่อภาษาไทย : คนบ. จุฬาฯ
  • ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ : BIMSTEC Network of Policy Think Tanks, Chulalongkorn University
  • ชื่อย่อภาษาอังกฤษ :  BNPTT, CU

โลโก้ คนบ. จุฬาฯ


 

แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับอินเดีย

เสวนาวิชาการ

งาน “ข้าวฟ่างกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Millets and Sustainable Development)

วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 – คุณสุนิว โคธารี นักธุรกิจและนักการกุศลชาวอินเดียในประเทศไทย ร่วมกับศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “ข้าวฟ่างกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Millets and Sustainable Development) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีข้าวฟ่างสากล 2023 (International Year of Millets 2023) ณ ห้องแกรนด์บอลรูมชั้น 4 โรงแรมเรดิสันบลูพลาซ่า กรุงเทพฯ โดยนายนาเกช ซิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ให้เกียรติเข้าร่วมงานในฐานะแขกรับเชิญพิเศษ

ที่มาของกิจกรรมนี้ สืบเนื่องจากสหประชาชาติได้ประกาศรับรองให้ปี 2023 เป็นปีข้าวฟ่างสากล ตามข้อเสนอของอินเดีย ซึ่งมีแนวคิดในการส่งเสริมข้าวฟ่างให้เป็นธัญพืชทางเลือกในระบบอาหารโลก ด้วยเหตุที่ข้าวฟ่างสายพันธุ์ต่างๆ ใช้ปริมาณน้ำและเวลาปลูกน้อย ทนต่อสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง และสภาพดินที่เป็นกรด มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง กิจกรรมในงานประกอบด้วย (1) การบรรยายทางวิชาการ โดย อ. กิตติพงศ์ บุญเกิด อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ. ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2) การแสดงชัยปุรีกถัก หัวข้อ “ธัญชาติแห่งความสถาพร โดย นางสาว อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ (3) ร่วมชิมอาหารอินเดียและไทยที่ทำจากข้าวฟ่างหลากหลายชนิด วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกษตรกรไทยสามารถได้รับจากข้าวฟ่าง รวมถึงการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจากการชิมอาหารข้าวฟ่าง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริโภคข้าวฟ่างอย่างแพร่หลายมากขึ้นในชีวิตประจำวัน

งานเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับโดย ดร. มนีษา โบส (Manisha Bose) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และหนึ่งในทีมงานจัดงานครั้งนี้ Manisha Pandey Bose อาจารย์มนีษาได้เกริ่นถึงความผูกพันระหว่างไทยกับอินเดียที่ยึดโยงกันด้วยวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ก่อนจะพาเราเข้าสู่การมองอินเดียที่มีทั้งความทันสมัยและยังนิยมความรู้โบราณ กล่าวคือในขณะที่อินเดียได้ส่งจันทรยาน-3 ไปยังดวงจันทร์ อินเดียก็มิได้เพิกเฉยต่อภูมิปัญญาโบราณอย่างการบริโภคข้าวฟ่าง ซึ่งมองดูจากธรรมชาติของข้าวฟ่างแล้ว กล่าวได้ว่า เป็นธัญพืชที่จะช่วยเรารับมือกับภาวะภูมิอากาศผันแปรได้อย่างดียิ่ง อาจารย์จบท้ายการกล่าวต้อนรับโดยยกโศลกจากพระคัมภีร์อุปนิษัทว่า
“आहारशुद्धौ सत्त्वशुद्धिः सत्त्वशुद्धौ ध्रुवा स्मृतिः।स्मृतिलम्भे सर्वग्रंथीनां विप्रमोक्षः॥”“
อาหารศุเทฺธา สตฺตฺวศุทฺธิะ สตฺตฺวศุเทฺธา ธฺรุวา สฺมฺฤติะฯสฺมฺฤติลเมฺภ สฺรวคฺรํถีนำ วิปฺรโมกฺษะ ๚”
“เมื่ออาหารบริสุทธิ์ จิตใจก็บริสุทธิ์ จิตใจบริสุทธิ์ไซร้ ความทรงจำก็ตั้งมั่นความทรงจำตั้งมั่นไซร้ เงื่อนปมในใจทั้งปวงก็คลายออกแล”
อันมีความหมายว่าอาหารที่บริสุทธิ์เป็นเครื่องบำรุงจิตใจและความทรงจำ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ในท้ายที่สุด
หลังจากนั้น อาจารย์มนีษาก็ได้เชิญ นายนาเกซ ซิงห์ (Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย Nagesh Singh ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน ใจความสำคัญที่ท่านทูตอินเดียประสงค์จะสื่อก็คือ ที่อินเดียต้องเสนอให้สหประชาชาติประกาศปี ค.ศ. 2023 เป็นปีข้าวฟ่างสากล ก็เพราะข้าวฟ่างสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคนในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราประสงค์จะรับมือกับความไม่มั่นคงทางอาหารท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่านทูตตระหนักดีว่า การที่จะทำให้ข้าวฟ่างเป็นทางเลือกได้ ก็ต้องทำให้คนรู้จักข้าวฟ่างเสียก่อน เพราะเหตุนี้ด้วยอินเดียจึงประสงค์จะเห็นปีแห่งข้าวฟ่าง สำหรับประเทศไทยที่ขึ้นชื่อในเรื่องการท่องเที่ยวและอาหารนั้น ปฏิเสธมิได้ว่า ประเทศไทยสามารถมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้าวฟ่างในระดับโลกได้ หลังจากนั้น ท่านทูตก็เน้นว่า ข้าวฟ่างมีบทบาทสำคัญเพียงใดในประวัติศาสตร์อินเดีย ตราบจนทุกวันนี้เกษตรกรอินเดียยังคงพึ่งพาพืชผลเหล่านี้เพื่อดำรงชีพ ท่านทูตชวนคิดด้วยว่า การปลูกข้าวฟ่างในหลายประเทศก็ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ข้าวฟ่างสามารถเจริญเติบโตในสภาพแห้งแล้งที่คุณภาพดินไม่ค่อยจะดีนักได้ แต่ก็น่าเสียดายที่เรานิยมบริโภคข้าวฟ่างน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะรูปแบบการบริโภคสมัยใหม่ ท่านทูตกล่าวต่อว่า การมุ่งเน้นไปยังข้าวฟ่างเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในปัจจุบันนั้นสมเหตุสมผลมาก เพราะข้าวฟ่างใช้การปลูกแบบฤดูปลูกที่สั้น นั่นคือ สามารถพัฒนาจากเมล็ดไปสู่พืชพร้อมเก็บเกี่ยวได้ในเวลาเพียงประมาณ 65 วัน นอกจากนั้นแล้ว เมล็ดพืชเหล่านี้สามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลาสองปีขึ้นไป โดยใช้พื้นที่จัดเก็บเพียงเล็กน้อย ในประเด็นสารอาหารจากข้าวฟ่าง ท่านทูตกล่าวว่า ข้าวฟ่างเป็นธัญพืชที่มีสารอาหารดี มีดัชนีน้ำตาลในเลือดต่ำ ล้วนแต่ช่วยส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีได้เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์น้ำมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ข้าวฟ่างสามารถเป็นทางเลือกแทนพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำมาก และหากความต้องการข้าวฟ่างเพิ่มขึ้นอีก ก็จะทำให้เกษตรกรมีแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนได้ด้วย สุดท้ายก่อนขอบคุณผู้จัดงานนี้ ท่านทูตก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนทราบว่า วันที่ 3-5 พฤศจิกายนปีนี้ ณ กรุงนิวเดลี รัฐบาลอินเดียจะจัดงาน “World Food India” ครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงภาพรวมการแปรรูปอาหารระดับโลกควบคู่ไปกับมรดกทางอาหารของอินเดียหลังจากท่านทูตกล่าวเสร็จ ก็ถึงตาอาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ Kittipong Boonkerd หัวข้อที่อาจารย์กิตติพงศ์ได้รับมอบหมายให้เกียรติบรรยายคือ “ข้าวฟ่างในวัฒนธรรมอินเดีย” อาจารย์กิตติพงศ์บรรยายได้ดีเยี่ยมมาก เริ่มจากคุณลักษณะของอาหารที่ดีโดยอิงจากบทที่ 14 ของพระคัมภีร์ภควัทคีตา ซึ่งจำแนกคุณลักษณะ 3 ประการของสรรพสิ่งอันเกิดขึ้นจากธรรมชาติ ดังนี้
(1) สัตตวะ (ความบริสุทธิ์ ไร้มลทิน ความสุข ความมั่นคง)
(2) รชะ (สิ่งย้อม ความยั่วเย้า ทำให้สับสนอลหม่าน)
(3) ตมะ (ความมืด อวิชชา การล่อลวงให้ลุ่มหลง ทำให้ประมาท เกียจคร้าน)
หลังจากนั้นอาจารย์ก็เข้าสู่ “สาตวิกโภชนะ” หรืออาหารที่ทำให้อายุยืน มีความบริสุทธิ์ ทำให้มีกำลัง ไร้โรค มีสุข ทำให้จิตใจแจ่มใส อาจารย์กิตติพงศ์เสนอว่า มีหลักฐานที่แสดงถึงการมีอยู่ของข้าวฟ่างในแหล่งโบราณคดีร่วมอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุที่เมืองโลถาล (Lothal) มลรัฐคุชราต สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุราว 3,700 ปี ในระยะเวลาอันสั้นอาจารย์กิตติพงศ์รีบปูเนื้อหาเข้ามาสู่อินเดียปัจจุบันที่นิยมปลูกข้าวฟ่าง เนื่องจากอาจารย์กิตติพงศ์เป็นอาจารย์เชี่ยวชาญภาษาฮินดีที่ให้ความสำคัญทั้งภาษาศาสตร์และวรรณคดีฮินดี อาจารย์กิตติพงศ์จึงได้พรรณนาให้เห็นด้วยว่า สำนวนหรือวัฒนธรรมทางภาษาฮินดีสัมพันธ์กับชีวิตอย่างไร ตัวอย่างที่ท่านยกมาแสดงในงานคือ สำนวนภาษาฮินดีที่ว่า बाजरा बरसना (บาจรา บรัสนา) ซึ่งแปลว่า “ฝนข้าวฟ่าง” หรือแปลเป็นไทยก็คือ ฝนตกปรอยๆ เป็นเพียงละอองเบาบาง ซึ่งเป็นสำนวนที่สำแดงว่าโดยลักษณะธรรมชาติแล้ว ข้าวฟ่างใช้ปริมาณน้ำน้อยมากในการเพาะปลูก แต่ใครที่รู้จักอาจารย์กิตติพงศ์เป็นอย่างดีก็จะทราบว่า อาจารย์เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและศาสนาด้วย เพราะอาจารย์ไม่เคยเชื่อว่าการศึกษาภาษาโดยลำพังจะทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ด้วยเหตุนี้อาจารย์กิตติพงศ์จึงนิยมเปรียบเทียบบทกวีของไทยกับบทกวีของอินเดียอยู่บ่อยครั้ง และแน่นอนว่าแทบทุกครั้งก็จะชี้ให้เห็นถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมอินเดีย อาจารย์กิตติพงศ์จบท้ายปาฐกถาของตนด้วยประเด็นข้าวฟ่างในกวีนิพนธ์ฮินดีร่วมสมัย ที่พรรณนาให้เห็นช่อข้าวฟ่างเรียวๆ ที่กำลังโบกสะบัดอยู่กลางท้องฟ้ายามสนธยาในฤดูหนาวนั้น มีความหมายที่แท้จริงอย่างตรงไปตรงมา สมกับความงามอันเรียบง่ายของนางผู้เป็นที่รักของตน ก่อนจะพูดถึงข้าวฟ่างในกวีนิพนธ์ของไทยเรา คือ ในมหาเวสสันดรชาดก ตอนที่กล่าวถึงนางอมิตตดาจัดสำรับให้ชูชกเพื่อเดินทาง ดังนี้
“…ทุกสิ่งสรรพ์เสร็จสรรพสำหรับจะเดินทาง ทั้งลูกเดือย ข้าวฟ่างต่างๆ ไม่อย่างเดียว ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวเม่า ข้าวพองเป็นของเดินทาง ถั่วงาสาคูข้าวตูข้าวตาก หลากๆ ไม่น้อย…“
ซึ่งอาจารย์กิตติพงศ์ก็ตบท้ายว่า ข้อความนี้อาจพิจารณาได้ว่า สังคมไทยโบราณก็เห็นคุณค่าและความสำคัญของข้าวฟ่างที่สะดวกแก่การบริโภค เหมาะสมที่จะนำติดตัวเป็นเสบียงในระหว่างเดินทางหลังจากอาจารย์กิตติพงศ์กล่าวปาฐกถาเสร็จ น้องแพร หรือนางสาวอิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ Ingkarat Sivamatheewit ก็ขึ้นมาเต้นกถัก (Kathak) ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชม กถักก็คือกถา ซึ่งก็คือ ถ้อยคำอธิบาย หรือเรื่องราว การเต้นของน้องแพรใช้ธีมว่า “ธัญชาติแห่งความสถาพร” การเต้นอันอ่อนช้อยและการแสดงท่าทางพร้อมกับสีหน้าช่างงดงาม และเล่าเรื่องตามธีมอย่างชัดเจน ขอขอบคุณน้องแพรที่อุตส่าห์เลื่อนเที่ยวบินกลับอินเดียเพื่องานนี้ ทุกครั้งที่ดูน้องแพรเต้นหรือแสดงโขนก็อดนึกคิดถึงอดีตไม่ได้ น้องแพรเคยมาที่ศูนย์อินเดียในสมัยที่เธอยังเรียนระดับ ม. ปลาย จากวันนั้นที่เธอบอกผมว่าเธอจะไปเรียนเต้นรำที่อินเดียจนถึงทุกวันนี้ กล่าวได้ว่า เธอเชี่ยวชาญการเต้นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากมุ่งมั่นเช่นนี้ต่อไป ก็คงไม่มีใครขวางทางการก้าวสู่ศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังของเธอได้ปาฐกถาอีกรายการหนึ่งคือ “ข้าวฟ่าง: ความยั่งยืนและความมั่นคงของมนุษย์” โดย ผศ. ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์, ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ สถาบันเอเชีย จุฬาฯ Jirayudh Jahangir Sinthuphan สำหรับผมอาจารย์จิรยุทธ์ก็คือมือหนึ่งของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะอาหาร ไม่ว่าจะวัฒนธรรมเอเชียใต้ ไม่ว่าจะรพินทรนาถ ฐากูร หรืออื่นๆ อีกมากมาย อาจารย์จิรยุทธ์คือผู้รู้อย่างถ่องแท้คนหนึ่งในประเทศไทย เช่นเดียวกับอาจารย์กิตติพงศ์ อาจารย์จิรยุทธ์ก็ทำให้เราทุกคนที่นั่งฟังได้เรียนรู้อะไรมากมาย อาจารย์ชี้ให้เห็นภาพใหญ่ก่อนว่า ข้าวฟ่างอยู่ในตระกูลใดของพืช และในโลกเขาปลูกกันที่ไหนบ้าง หลังจากนั้นอาจารย์ก็อธิบายให้ฟังว่าข้าวฟ่างนั้นสัมพันธ์กับความยั่งยืนอย่างไร ที่อาจารย์อธิบายทั้งหมดในเรื่องนี้มี 5 ประเด็นหลักคือ
(1) เติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ แม้ในที่แห้งแล้งหรือในดินที่แร่ธาตุต่ำ
(2) ทนทานต่อโรคพืชและความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
(3) มีสายพันธุ์ที่หลากหลาย หมุนเวียนปลูกได้ตลอดทั้งปี
(4) อุดมด้วยแร่ธาตุและสารอาหาร
(5) ประกอบอาหารและใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
รายการที่อาจารย์จิรยุทธ์บรรยายและถูกใจผมมากเป็นพิเศษหนีไม่พ้น 2 ประเด็นสำคัญ คือ
(1) ที่เกี่ยวกับอารียันต์ มันยีกุล
(2) ข้าวฟ่างกับความมั่นคงในแง่โจรสลัดทางชีวภาพ
เนื่องจากสองประเด็นนี้ถูกใจผม จึงใคร่ขอขยายความเพิ่มเติม สำหรับประเด็นแรก นายอารียันต์ มันยีกุล หรือ Dinshaw Gazdar ก็คือนักวิชาการเกษตรชาวอินเดียเชื้อสายปาร์ซี (Parsi) นอกจากเขาจะริเริ่มวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชแล้ว เขายังได้นำพันธุ์ข้าวฟ่างจากอินเดียมาทดลองปลูกในประเทศไทยและปรับปรุงสายพันธุ์ด้วย นี่ก็น่าจะสักประมาณปี ค.ศ. 1954 ตามคำบรรยายของอาจารย์จิรยุทธ์ ส่วนประเด็นที่สองที่น่าสนใจก็เพราะว่า คำว่า “ความมั่นคง” ในทัศนคติของอาจารย์จิรยุทธ์นั้น จำต้องคำนึงถึงประเด็นโจรสลัดทางชีวภาพด้วย เพราะเมื่อใดที่ผลผลิตทางเกษตรกรรมก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางพาณิชย์ ก็จะมีใครต่อใครที่พร้อมด้วยทุนทรัพย์ยื่นจดสิทธิบัตร ยึดทรัพย์สินที่เป็นของมนุษยชาติไปเป็นของตนเอง ผมเห็นด้วยกับอาจารย์จิรยุทธ์อย่างยิ่งว่าเรื่องนี้จะบั่นทอนความมั่นคงของผู้คนอีกมากมายหากเราไม่ระมัดระวังก่อนจะไปรับประทานอาหารในงานนี้ ซึ่งมีอาหารหลายรายการและที่ทำจากข้าวฟ่างด้วย รวมถึงขนมหวานข้าวฟ่างกะทิและข้าวฟ่างกวนของไทย นายสุนิว โคธารี (ภาพที่ 7) ก็ได้ขึ้นเวทีกล่าวขอบคุณแขกทุกคนที่มาร่วมงาน คุณสุนิวกล่าวเป็นภาษาไทยว่า“สวัสดีครับ มนัสเตผมขอกล่าวถวายพระแม่อันนปูรณาเทวี ประเทศอินเดียนับถือพระแม่อันนาปูนาเดวีมาก เพราะพระแม่เป็นผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์พืชแก่พวกเราผมขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ ปีนี้เป็นปีข้าวฟ่างสากล ผมจัดงานนี้เพื่อต้องการส่งเสริมข้าวฟ่าง เพราะผมมีความผูกพันอันลึกซึ้งกับข้าวฟ่าง ผมมาจากเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองที่บริโภคข้าวฟ่างมากที่สุด ข้าวฟ่างเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ข้าวฟ่างเป็นวิถีชีวิตด้วย ผมขอขอบคุณเกษตรกรทุกคนในโลกที่ช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่เราท้ายสุดนี้ ผมขอขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. มนีษา โบส และ บางกอกสกู๊ป ที่ได้ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ขอขอบคุณครับ”คุณสุนิวกล่าวคำขอบคุณด้วยความจริงใจ หลายคนในงานรู้สึกได้ว่า ข้าวฟ่างสำคัญสำหรับเขามาก แต่ที่คนส่วนใหญ่ในงานไม่ทราบก็คือ คุณสุนิวเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดียชาติพันธุ์มารวารี (Marwari) คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ความฟ่างสัมพันธ์กับชาวมารวารีจำนวนมาก เป็นสิ่งที่มิอาจแยกออกจากกันได้ กล่าวคือ สำหรับชุมชนมารวารี ข้าวฟ่างเป็นมากกว่าอาหาร ชาวมารวารีจำนวนมากระลึกถึงคุณของข้าวฟ่าง เพราะในบางยุคสมัยข้าวฟ่างที่ทนแดด ใช้น้ำน้อย และเปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูงนี้ ช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากความแห้งแล้งที่ยากลำบากที่สุด และแม้กระทั่งยามที่ต้องต่อสู้ในสงคราม มลรัฐราชสถาน (Rajasthan) ซึ่งคือบ้านเกิดของคุณสุนิว ทุกวันนี้ยังปลูกข้าวฟ่างเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ข้าวฟ่างจำพวก “Pearl Millets” ที่ปลูกกันในอินเดียไม่น้อยเลยนั้น ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งมาจากราชสถาน ซึ่งเป็นมลรัฐหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกรวมถึงชาวไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวกันนั้น แท้จริงแล้วมีอะไรมากกว่า เช่นหะวามะฮัล (Hawa Mahal) และวังอำพัน (Amber Palace) ในเมืองชัยปุระ (Jaipur) หรือวังนคร (City Palace) และทะเลสาบปิโจลา (Lake Pichola) ในเมืองอุทัยปุระ (Udaipur) ฯลฯ ที่สำคัญเมื่อมีโอกาสไปรับประทานอาหารในมลรัฐราชสถาน ก็พึงพิจารณาลิ้มรสอาหารที่ทำจากข้าวฟ่างอีกหลายหลากชนิดด้วย สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ชาวไทยต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่คิดแต่จะรับประทานเนื้อสัตว์แต่ประการเดียว เพราะรายการอาหารอินเดียจะไม่มีวันสมบูรณ์ หากไม่ได้รับประทานอาหารมังสวิรัติด้วย
ขอขอบพระคุณเอกอัครราชทูตอินเดีย และนักการทูตอินเดียที่มาร่วมงานกับอย่างคับคั่ง ขอขอบพระคุณ รศ.ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ที่ให้เกียรติเป็นประธานฝ่ายจุฬาฯ ในงานนี้ ขอขอบพระคุณ ศ. นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้บุกเบิกด้านการสาธารณสุขระดับโลกที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย (ภาพที่ 9) อาจารย์สุทธิพงศ์ได้สละเวลาอันมีค่าของท่านมาร่วมงานในวันนั้นเพียงเพราะท่านต้องการเรียนรู้ความหลากหลาย ขอขอบพระคุณ รศ. ดร. นพ. จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ บุคคลสำคัญผู้ให้แนวทางการวิจัยแก่ศูนย์อินเดีย จุฬาฯ ขอขอบคุณ ผศ. ดร. จิรยุทธ สินธุพันธุ์ และอาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด ที่ไม่เคยทำให้ผมผิดหวังในยามที่ผมต้องการเพิ่มเสริมความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่ทั้งสองถนัด ขอขอบคุณนางสาวอิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ ที่เต้นกถักได้อย่างงดงามยิ่ง ขอขอบคุณทีมงานทุกคน รวมถึง ดร. มนีษา โบส, นายณัฐ วัชรคิรินทร์ Natha Vacharakirin, นายราเชศ กุมาร (Rajesh Kumar) Rajesh Kumar และอีกหลายคนที่ทำให้งานนี้เป็นที่พึงพอใจของแขกร่วมงาน และขอขอบคุณพ่อครัวแม่ครัวที่ทำอาหารสุดอร่อย โดยฉพาะอาหารอินเดียที่ทำจากข้าวฟ่าง ขอขอบพระคุณคุณสุนิว โคธารีที่ริเริ่มจัดงานนี้ ทำให้ความเป็นนักศึกษาของผม ที่ใฝ่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียอันกว้างใหญ่ไพศาลและหลากหลายในด้านต่างๆ ได้รับข้อมูลและความรู้เพิ่มเติมอย่างอิ่มใจยิ่ง

สุรัตน์ โหราชัยกุล


รายละเอียด

วันที่

7 ตุลาคม 2566

เวลา

17:00 - 19:00

สถานที่

ณ ห้องแกรนด์บอลรูมชั้น 4 โรงแรมเรดิสันบลูพลาซ่า กรุงเทพฯ

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์อินเดียศึกษา)

ชั้น ๑๗ อาคารเฉลิมราชกุมารี ๖๐ พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐

๐ ๒๒๑๘ ๓๙๔๕

๐ ๒๒๑๘ ๓๙๔๖