โดย ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์
เราคนไทยที่คุ้นชินกับนักท่องเที่ยวจีนในปัจจุบัน
ที่หลั่งไหลเข้ามาในไทยอย่างมากมาย บ้างก็เข้ามาเพื่อกินเที่ยวและดื่ม บ้างก็เข้ามาด้วยมีวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหรือการศึกษา
ในจำนวนนักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็มีไม่น้อยเลยที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อตามรอยความเชื่อความศรัทธา
เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าก่อนที่จีนจะเข้าสู่ยุคคอมมิวนิสต์
ที่ต่อต้านการนับถือศาสนาและความเชื่ออื่นๆ นอกจากลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น
ประเทศจีนหรืออย่างน้อยก็อาณาจักรจีนโบราณนั้นก็เคยมีศาสนา
ลัทธิความเชื่อเกิดขึ้นและเคยรับเอาศาสนาสำคัญอย่างพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติ
(อยู่ในบางยุคสมัย) แต่เมื่อคอมมิวนิสต์ปกครองบ้านเมือง
กลุ่มความคิดความเชื่ออื่นจำเป็นต้องหลีกทางให้กับการเป็นคอมมูน
การทำเพื่อส่วนรวมและการสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ ตามวิถีทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ศาสนาและลัทธิต่างๆ ก็ถูกกวาดหายไปจากจีน
เหลือไว้เพียงมรดกทางวัฒนธรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ด้วยความที่ห่างหายไปจากการศึกษาและเข้าใจและการมีชีวิตประจำวันที่คลุกคลีอยู่กับพระพุทธศาสนา
ทำให้คนจีนในยุคใหม่
ถึงแม้จะได้รับเสรีภาพมากขึ้นในการจะกระทำศาสนกิจตามความเชื่อดั้งเดิมก็ตาม
แต่ก็เป็นการรับรู้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจถึงแก่นของศาสนา
ในมุมมองของด้านนักท่องเที่ยวที่กล่าวไว้ข้างต้น
ก็จะเป็นกลุ่มของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อทำการเซ่นสรวง สักการะบูชาพระต่างๆ
ในประเทศไทย ที่มีชื่อเสียงที่สุดคงจะไม่พ้นศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์
เกี่ยวเนื่องกับศาลท้าวมหาพรหมฯ สื่อต่างๆ ทั้งทางจีนและทางไทย
ต่างก็นำเสนอชื่อเรียกของพระพรหม หรือท้าวมหาพรหมนี้ออกมาว่า 四面佛 (อ่านว่า sìmiàn fó /ซื่อเมี่ยนฝอ/)
แปลความหมายตามตัวอักษรว่า “พระสี่หน้า”
ซึ่งก็ตรงกับพระลักษณะขององค์ท้าวมหาพรหมจริงๆ หากแต่ประเด็นอยู่ที่ว่า คำว่า 佛 ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “พรหม” แต่แปลว่า
“พุทธ” ซึ่งอักษรตัวนี้เป็นอักษรที่ใช้ในการแปลคัมภีร์ทางศาสนา
โดยใช้แทนเสียงคำว่า बुद्ध /budḍha/
ในภาษาสันกฤต ซึ่งก็คือคำว่า “พุทธะ” ในภาษาไทย ซึ่งอักษร 佛ตัวนี้ มีเสียงอ่านตามเสียงภาษาจีนโบราณยุคต้นที่สืบสร้างกันว่า *bɯd
/บึด/ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเลือกใช้เสียงที่ใกล้เคียงกับภาษาต้นทางอย่างภาษาสันสกฤตมาก
คำว่า बुद्ध ถอดเสียงออกมาได้ว่า
/budḍha/ ซึ่งตามหลักสัทศาสตร์แล้วจะต้องอ่านออกเสียง [b]
หรือเทียบได้กับเสียง บ.ใบไม้ ในภาษาไทย
จะสังเกตได้ว่าทั้งภาษาจีนโบราณที่แปลทับเสียงคำนี้มาได้เลือกใช้อักษร 佛 ที่ในสมัยนั้นมีเสียงพยัญชนะต้นเป็นเสียง [b]
เพื่อให้ตรงกับภาษาต้นทาง ภาษาอังกฤษก็เช่นกัน ที่ถอดเสียงคำนี้เป็น
Buddha ที่คนฝรั่งอ่านกันว่า “บุดด้า” ก็ถอดเป็นเสียง
บ.ใบไม้ ตามภาษาต้นทาง จะพิเศษก็ที่ภาษาไทยของเราถอดเสียงนี้ออกมาเป็นเสียง [ph]
หรือ พ.พาน ไป ในภาษาไทยคำนี้จึงกลายเป็น “พุทธ” นั่นเอง
เช่นนี้แล้ว เมื่อ 佛 เป็นอักษรที่แปลทับเสียงคำว่า “พุทธ” ในภาษาสันสกฤต
ความหมายจึงครอบคลุมในบริบทของสิ่งที่เป็นพุทธเท่านั้น
(ตามจริงหมายถึงพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ภายหลังจึงหมายถึงสิ่งอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าได้ เช่น พระพุทธศาสนาหรือพระพุทธรูป)
อักษรนี้จึงไม่เหมาะที่จะนำมาแปลชื่อเรียกของท้าวมหาพรหม
ในจุดนี้คนไทยอย่างเราคงเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า “พรหม”
ที่เป็นมหาเทพผู้สร้างกับ “พุทธ” ที่แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เป็นคำสองคำ ที่นิยามสิ่งสองสิ่งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เราจึงไม่สามารถเอาคำว่า
“พุทธ” ไปแทนที่คำว่า “พรหม” ได้ และท้าวมหาพรหมจึงไม่สามารถใช้ชื่อเรียกว่า 四面佛 ได้
แต่คนจีนกลับไม่เข้าใจรายละเอียดในข้อที่ว่า “พุทธ” ไม่ใช่ “พรหม”
นี้ เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อย
เนื่องด้วยจีนก็เคยรับเอาแนวคิดและลัทธิความเชื่อของทั้งพราหมณ์และพุทธมาก่อน
(เช่นในวรรณคดีไซอิ๋วเป็นต้น) ซึ่งความไม่เข้าใจนี้
จะว่ามีสาเหตุมาจากการปฏิวัติวัฒนธรรมก็ดี
หรือจะเป็นอิทธิพลคอมมิวนิสต์ก็ดีหรือมาจากการแนะนำโดยคนไทยที่ก็สับสนระหว่างความเชื่อพราหมณ์และพุทธเสียเองก็ดี
ก็ส่งผลระยะยาวให้คนจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวหรือพักอาศัยในประเทศไทย
ได้ยินได้ฟังและรับรู้เข้าใจไปว่า “พรหม” คือ “พุทธ”
หากกล่าวว่าความเข้าใจผิดนี้เกิดจากคนจีนที่ผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรมและปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์มา
ทำให้ห่างหายจากการศึกษาแนวความเชื่อและวัฒนธรรมอื่นๆ มานาน
จนไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง “พุทธ” กับ “พรหม” ได้
ประจวบกับการมองว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ
สิ่งใดที่มีลักษณะเป็นรูปเคารพและได้รับการนับถือกราบไหว้
ก็เหมาเอาว่าเป็นพระพุทธรูปหรือเป็น “พุทธ” ไปทั้งหมด
ก็พอจะเป็นที่เข้าใจได้บ้างว่าเขาไม่รู้จริงๆ
หรือหากเป็นการนำเสนอแบบผิดๆ
จากคนไทยที่ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง “พรหม” กับ “พุทธ”
แล้วแปลชื่อเรียกตามความสะดวก เหมารวมรูปเคารพทุกอย่างว่าเป็น 佛 ไปทั้งหมด เช่นนี้เราคงต้องทบทวนตัวเราเอง
ในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศาสนากันใหม่ว่า
เราเข้าใจและรู้จักในสิ่งที่เรานับถืออยู่จริงหรือไม่
และเราพร้อมจะนำเสนอวัฒนธรรมด้านนี้ให้กับแขกบ้านแขกเมืองอย่างถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่
ดังนั้น ถ้า 四面佛 ที่สื่อทั้งหลายใช้กันจนเป็นคำสำคัญของท้าวมหาพรหมท่านแล้ว เป็นคำที่แปลความได้เพี้ยนไปจากความหมายเดิม คือทำให้คนจีนสับสนระหว่างพุทธกับพรหม เช่นนี้แล้วเราควรจะเรียกท้าวมหาพรหมว่าอย่างไรจึงจะถูกต้องตามความหมายดั้งเดิม
ภาษาจีนมีคำที่แปลทับเสียงคำว่า “พุทธ” คือ 佛 แล้วภาษาจีนมีคำที่แปลทับเสียงคำว่า “พรหม” หรือไม่
คำตอบคือมี และอักษรตัวนั้นคือ 梵 (อ่านว่า fàn /ฟ่าน/)
เมื่อเห็นอักษรตัวนี้หลายท่านคงจะนึกถึงคำว่า 梵语 (อ่านว่า fànyǔ /ฟ่านอวี่/)
ที่แปลว่า “ภาษาสันสกฤต” ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว คำนี้แปลว่าภาษาสันสกฤตจริงๆ
แต่คำว่า 梵 ยังกินความหมายถึง “สิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอินเดียโบราณ”
นอกจากนี้หากใช้วิธีสืบสร้างเสียงภาษาโบราณของอักษร 梵 เช่นเดียวกับที่สืบสร้างเสียงโบราณของคำว่า “พุทธะ”
ก็จะพบว่า อักษรตัวนี้มีเสียงอ่านในภาษาจีนโบราณยุคต้นว่า *bloms /โบลมส/ ซึ่งก็เป็นการถอดเสียงมาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า ब्रह्मा /brahmā/ ที่แปลว่า “พรหม” อีกด้วย) เช่นเดียวกับคำว่า “พุทธ” คำว่า
“พรหม” มีเสียงพยัญชนะต้นในภาษาต้นทางเป็นเสียง [b] หรือเสียง
บ.ใบไม้ ในภาษาไทย แต่หลักการถอดเสียงจากภาษาสันกฤตมาเป็นภาษาไทย
กลับถอดเสียงนี้ออกมาเป็นเสียง [ph] หรือ พ.พาน
ไปทั้งระบบ ทำให้เรามีชื่อเรียกทั้งพุทธและพรหม ที่แตกต่างจากภาษาอื่นๆ
(ภาษาจีนโบราณยุคต้นอ่าน /โบลมส/ ภาษาอังกฤษว่า Brahma /บรามา/)
แนวคิดศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์ปะปนกันมาช้านาน การที่คนจีนสมัยใหม่ที่ห่างหายไปจากการเข้าใจหลักศาสนาในข้อที่ว่า
“พุทธ” ไม่ใช่ “พรหม” จะเลือกแปล “ท้าวมหาพรหม”
เป็น “พระพุทธเจ้าสี่พักตร์” จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ในฐานะคนไทยที่เป็นเจ้าบ้าน เราจึงควรเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อในข้อนี้
เพื่อจะได้นำเสนอแนวคิดที่ถูกต้อง เกี่ยวกับความเชื่อและความศรัทธานี้
ว่าแท้จริงแล้ว สิ่งใดคือ “พรหม”
และช่วยปรับปรุงชุดความคิดของคนจีนที่ว่า รูปเคารพทุกอย่างเป็นของศาสนาพุทธ
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแปลที่ลักลั่นออกมาในภายภาคหน้า
เกรงว่าพระพุทธเจ้าจะถูกนำไปรวมร่างกับเทพองค์ต่างๆ จนปนเปไปหมด
หมายเหตุ : หากใช้คำว่า 梵 แทนคำว่า “พรหม” แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีคำขยายว่า “สี่พักตร์” หรือ 四面 อีกต่อไป เพราะคำว่า 梵 ก็กินความหมายของคำว่าพรหมและพระลักษณะของท้าวมหาพรหมไว้ครบถ้วนแล้ว ในจีนจึงใช้เป็นคำว่า 梵天 fàntiān แปลว่า “ท้าวมหาพรหม” นั่นเอง (คำนี้ใช้กันอย่างเป็นทางการในวงวิชาการด้านอินเดียศึกษาในจีน แต่ประชาชนคนทั่วไปต่างก็เรียกพระพรหมว่า 四面佛 กันจนเคยชินไปแล้ว) หรือหากจะใช้คำว่า “สี่พักตร์” เพื่อแสดงลักษณะเด่นของท้าวมหาพรหม ก็อาจจะเลือกแปลความด้วยคำใหม่ เป็น 四面神 sìmiàn shén /ซื่อเมี่ยนเสิน/ เทพเจ้าสี่หน้า ก็ดูจะเข้ากับบริบทของความเป็นเทพเจ้าของท่าน มากกว่าที่จะยัดเยียดการเป็นพระพุทธเจ้าให้กับท่านมากทีเดียว
อ้างอิง
[1] ZDic.net. สัทวิทยาภาษาจีน-เสียงโบราณยุคต้น “ฟ่าน”.
สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 จาก https://www.zdic.net/zd/yy/sgy/梵
[2] ZDic.net. สัทวิทยาภาษาจีน-เสียงโบราณยุคต้น
“ฝอ”. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 จาก https://www.zdic.net/zd/yy/sgy/佛
[3] “四面佛”非佛,〔泰〕 释阿难,《法音》ปี
2559 ฉบับที่ 1,หน้าที่ 59.
สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 จาก http://www.chinabuddhism.com.cn/fayin/dharma/2016.1/g201601f17.htm