บทความของศูนย์จีนศึกษา

ศูนย์จีนศึกษา

การศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้เรื่องจีน เริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมกับกระแสการส่งเสริมเอเชียศึกษาทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ การเกิดสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีน ในปีพ.ศ.2510 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ก่อตั้งสถาบันเอเชียศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ โดยทำการสอน วิจัย และเผยแพร่เรื่องจีนเป็นกิจกรรมสำคัญ ภายหลังไทย-จีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว และสถาบันเอเชียศึกษาได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 และกิจกรรมเรื่องจีนศึกษามีมากขึ้น ในปีพ.ศ.2538 ซึ่งเป็นวโรกาสที่ไทย-จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 20 ปี สถาบันเอเชียศึกษา จึงได้ก่อตั้งศูนย์จีนศึกษาขึ้น เพื่อการทำวิจัยในลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชา คือ ครอบคลุมความรู้ในหลายด้านที่เกี่ยวกับจีน ได้แก่ การเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคม วัฒนธรรมและภาษา รวมทั้งความรู้ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับจีน เพื่อสร้างฐานข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องจีนศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นบริการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนในระดับต่างๆ และเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเรื่องจีนศึกษากับนักวิชาการเรื่องจีนศึกษาทั่วโลก


Websites http://www.csc.ias.chula.ac.th 
facebook page ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ Chinese Studies Center, CU | Facebook


ช่องทางการรับชมและติดตามผลงานของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ซึ่งได้มีการรวบรวมไว้ในรูปแบบของ Podcast จีนศึกษา
soundcloud https://bit.ly/3vzdVkG
apple podcast https://apple.co/2P2KMxg
Spotify https://spoti.fi/38RJj43
youtube https://bit.ly/3rVKGGB

ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา

โดย ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์


อ้างอิงภาพ: www.hk01.com

สถานการณ์การชุมนุมประท้วงของประชาชนคนฮ่องกงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องด้วยการชุมนุมอันยืดเยื้อและข่าวลือต่างๆ ที่มีมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้การชุมนุมนี้สร้างผลกระทบในวงกว้าง สถานการณ์การชุมนุมนี้มีสาเหตุมาจากการต่อต้านร่างกฏหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ภายหลังเริ่มบานปลายไปในเชิงการต่อต้านจีนมากกว่าจะต่อต้านร่างกฏหมาย และเมื่อเริ่มมีสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติหรือความสัมพันธ์ระหว่างจีนและฮ่องกงนั้น ก็ทำให้มีผู้ไม่ประสงค์ดีกลุ่มหนึ่ง (หรืออาจจะหลายกลุ่ม) ฉวยโอกาสสร้างความวุ่นวายต่างๆ ทั้งปล่อยข่าวลือ สร้างกระแสยุยงฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมบ้าง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อความวุ่นวายบ้าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็กล่าวโทษกันไปมาอย่างไม่ลดละ จนเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่ทั้งโลกต้องหันมาให้ความสนใจอย่างมาก

ด้วยสถานการณ์นี้มีความรุนแรงและการปลุกปั่นซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะมีต้นเหตุมาจากทางใดก็ตาม ต่างก็สร้างความหวาดระแวงให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนเองก็มิได้ไปลงพื้นที่เพื่อรับประสบการณ์ตรงมาแต่อย่างใด หากแต่ได้ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ห่างๆ และในระหว่างการค้นข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมนั้น ผู้เขียนก็ได้พบกับกิจกรรมหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันในโลกออนไลน์อยู่มาก คือ “การใช้ภาษาดาวอังคาร”

1. ความหมายและที่มาของการใช้ภาษาดาวอังคาร

ภาษาดาวอังคาร ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงภาษาของมนุษย์ดาวอังคาร ที่เดินทางมาจากนอกโลกจริงๆ แต่เป็นรูปแบบภาษาลับที่ใช้สื่อสารกันในวงแคบ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่น (ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในบริบทเดียวกัน หรือฝั่งฝ่ายเดียวกัน) สามารถเข้าใจความหมายที่สื่อสารได้ ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “ภาษากันสอด” ก็คงจะไม่ผิดนัก

ประเด็นการใช้ภาษาดาวอังคารนี้ มีมานานแล้วในโลกออนไลน์ ซึ่งการใช้ส่วนมากนั้นจะออกมาในรูปของการใช้คำแสลง หรือการจงใจพิมพ์ผิดๆ ถูกๆ เพื่อแสดงนัยบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นการพิมพ์ผิดจริงๆ ด้วยเหตุสุดวิสัย หรือจงใจใช้คำผิด เพราะคำที่ผิดนั้นพิมพ์ง่ายกว่าคำที่ถูก (เช่น คำว่า “จริง” การสะกดให้ถูกต้องจะต้องมี “ร” ด้วย แต่ภาษาในโลกออนไลน์บางครั้งก็เลือกที่จะพิมพ์เป็น “จิง” เพราะมีความรู้สึกว่าง่ายกว่าและสะดวกกว่าที่ได้กดแป้นพิมพ์น้อยลงไป 1 ครั้ง ในการไม่พิมพ์ “ร” ลงในคำ) หรือบางครั้งก็จงใจใช้คำผิดๆ สะกดผิดๆ เพื่อความน่ารัก ตลกๆ ใช้กันขำขันในกลุ่มเพื่อน จนกลายเป็นภาษาวิบัติไปก็มีเช่นกัน ทั้งนี้หากภาษาดาวอังคารนี้มีการใช้กันทั่วไปคล้ายภาษาวิบัติวัยรุ่นแล้วนั้น จะมาเป็นประเด็นอะไรกับการชุมนุมของฮ่องกงได้เล่า

เรื่องมีอยู่ว่า มีข่าวลือหนึ่ง (ผู้เขียนใช้คำว่าข่าวลือเพราะเป็นเพียงข่าวที่โพสต์กันบนอินเทอร์เน็ต) ซึ่งลือกันว่า มีกลุ่มผู้ไม่หวังดี ได้แฝงตัวเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง และทำการก่อความวุ่นวาย ทำร้ายร่างกายคนอื่น ทำลายทรัพย์สินและสถานที่ เพื่อสร้างภาพว่ากลุ่มผู้ชุมนุมของฮ่องกงมีลักษณะเป็นผู้ที่ก่อความวุ่นวาย ผู้ชุมนุมฮ่องกงไม่ต้องการถูกใส่ร้าย แต่จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันเรื่องนี้ได้ ผู้ชุมนุมฮ่องกงเลยได้ทำการนัดแนะกันด้วยภาษาดาวอังคาร (ที่ใช้กันในหมู่วัยรุ่น) ว่าจะเขียนป้ายที่ใช้ในการชุมนุมประท้วง ด้วยภาษาดาวอังคารนี้ หากใครอ่านออกและเข้าใจความหมายที่สื่อ แสดงว่าคนนั้นเป็นหนึ่งในพวกผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง แต่ถ้าใครอ่านไม่ออกหรืออ่านแล้วไม่เข้าใจเนื้อหาที่ป้ายนั้นบอก ก็ให้รู้กันว่าเจ้าคนนี้เป็นคนแฝงตัว (ซึ่งอาจจะเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่หรือคนต่างชาติก็ได้) ซึ่งคนฮ่องกงได้บัญญัติศัพท์ในภาษาดาวอังคารนี้ขึ้นมาคำหนึ่ง โดยใช้คำว่า “ผี” แทนความหมายของ “ผู้ไม่หวังดีที่เข้ามาแฝงตัว” และบัญญัติอีกคำว่า “คน” หมายถึง “ผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง ที่เป็นผู้ชุมนุมจริงๆ”

ภาษาดาวอังคารนั้นมีลักษณะพิเศษหลายประการ ที่เอาหลายภาษามาประยุกต์รวมกันออกมาเป็นรูปแบบใหม่ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้

2.ลักษณะของภาษาดาวอังคาร

ภาษาดาวอังคารโดยทั่วไปสามารถใช้ภาษาใดในโลกมาดัดแปลงก็ได้ แต่ในเหตุการณ์การชุมนุมที่ฮ่องกงนี้ จะใช้ภาษาจีนกวางตุ้งและภาษาอังกฤษเป็นหลัก และอาจมีภาษาจีนกลางปะปนมาบ้าง โดยลักษณะการใช้คำและรูปเขียนนั้น จะใช้ทั้งอักษรโรมันและอักษรจีนรวมถึงตัวเลขอารบิกปะปนกัน โดยผู้เขียนจะแจกแจงอธิบายลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้

2.1 ตัวอักษร

ตัวอักษรที่ใช้ส่วนใหญ่จะใช้อักษรโรมัน ด้วยการที่ไม่ต้องการให้จีนแผ่นดินใหญ่สามารถอ่านรู้เรื่องได้ การเขียนนั้นจึงออกมาในรูปของการใช้อักษรโรมันในรูปแบบต่างๆ 2.1.1 อักษรโรมันแบบหยวิดเพ็ง(粤拼)หรือระบบพินอินของภาษาจีนกวางตุ้ง เช่น “si doi gaak meng gwong fuk hoeng gong” อ่านว่า /ซี-ต่อย-กาก-เม้ง-กว๋อง-ฟก-เฮิง-ก๋อง/ อักษรจีนคือ “时代革命 光复香港”แปลว่า “ปฏิวัติยุคสมัยสร้างฮ่องกงให้กลับมายิ่งใหญ่” ระบบนี้เป็นระบบพินอินทางการระบบหนึ่งของภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งก็มีคนจีนแผ่นดินใหญ่หรือคนต่างชาติจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่รู้ภาษาจีนกวางตุ้ง หรืออาจจะพออ่านหยวิดเพ็งได้ ก็จะสามารถเดาความตัวอักษรภาษาดาวอังคารระบบนี้ได้ไม่ยากนัก ระบบนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เพราะคนรู้ค่อนข้างเยอะ ใช้ “กันสอด” ไม่ค่อยได้นั่นเอง

2.1.2 อักษรโรมันแบบตามเสียงอ่าน คือการใช้รูปแบบการพ้องเสียงของอักษรตัวนั้นๆ แทนเสียงในภาษาจีนกวางตุ้งลงไปเลย เช่น อักษร G คนทั่วไปอ่านว่า /จี/ พอถูกนำมาประยุกต์กับภาษาดาวอังคารนี้ ก็ถูกนำมาใช้แทนเสียงของคำว่า 知 ในภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า /จี/ แปลว่า “รู้” ซึ่งการเขียนในรูปแบบนี้ค่อนข้างจะอิสระและไม่มีหลักการตายตัว เช่นในคำว่า 知 นี้ อาจจะเขียนด้วยอักษรตัวจี G หรือจะสะกด Gi หรือ Ji ก็ได้เช่นกัน จึงมีการใช้ที่ค่อนข้างแพร่หลายมากกว่าระบบหยวิดเพ็ง เพราะสามารถดัดแปลงไปได้เรื่อยๆ หากยึดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เมื่อใช้กันนานเข้าคนอื่นอาจจะเริ่มจำได้ อ่านออกและเข้าใจความหมายนั้นก็ได้ แต่ระบบตามเสียงอ่านนี้ จะสะกดคำออกมาอย่างไร ใส่ลูกเล่นอะไรลงไป ก็สุดแท้แต่ผู้เขียนจะมีความคิดสร้างสรรค์เท่าใดนั่นเอง จึงมีคุณสมบัติในการ “กันสอด” ได้ดีทีเดียว

2.1.3 การใช้ตัวเลขอารบิกแทนเสียงอักษร คือการใช้ตัวเลข 0-9 มาแทนอักษรหรือคำที่ออกเสียงใกล้เคียงกับตัวเลขนั้น เช่น เลข 5 ภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า /อึ๋ง/ ออกเสียงคล้ายกับคำว่า 唔(不)อ่านว่า /อึ่ม/ แปลว่า “ไม่” หรือ เลข 4 ภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า /เสย/ ออกเสียงคล้ายคำว่า 死  อ่านว่า /เสย/ แปลว่า “ตาย” เป็นต้น ซึ่งลักษณะนี้มีปรากฏในภาษาจีนกลางเช่นกัน ส่วนมากจะใช้เป็นชุดตัวเลข เช่น 520 ภาษาจีนกลางอ่านว่า /อู่เอ้อหลิง/ ออกเสียงคล้ายกับคำว่า 我爱你 หว่ออ้ายหนี่/ ที่แปลว่า “ฉันรักเธอ” ตัวเลข 520 จึงนิยมใช้กันแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นคนจีนเป็นอย่างมาก หรือตัวเลข 1314 ภาษาจีนกลางอ่านว่า /อีซานอีซื่อ/ ออกเสียงคล้ายกับคำว่า 一生一世 /อีเซิงอีซื่อ/ แปลว่า “หนึ่งชาติหนึ่งภพ” ความหมายคือ “ตลอดชาติ/ชั่วชีวิต”ถ้ารวมกับ 520 ก็จะเป็นคำบอกรักที่สุดหวานซึ้ง 5201314 “ฉันจะรักเธอไปชั่วชีวิต”

รูปแบบอักษรทั้ง 3 แบบเป็นพื้นฐานหลักในการเขียนภาษาดาวอังคารนี้ แต่พื้นฐานด้านเสียงอ่านนั้นส่วนใหญ่จะอ้างอิงมาจากภาษาจีนกวางตุ้ง เพื่อไม่ให้คนจีนแผ่นดินใหญ่หรือคนต่างชาติอ่านเข้าใจความได้ แต่หากมีความรู้ภาษาจีนกวางตุ้งอยู่บ้าง ก็จะสามารถกระเทาะเปลือกของภาษาดาวอังคารนี้ออกได้อย่างไม่ยากเท่าไร และภาษาจีนกวางตุ้งก็เป็นหนึ่งในภาษาถิ่นจีนที่มีการใช้กันมากในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีใช้ไปทั่วจนถึงอเมริกาเสียด้วย จึงทำให้บางครั้งภาษาดาวอังคารนี้ก็ถูกชาวจีนโพ้นทะเลหรือคนรู้ภาษาจีนกวางตุ้ง มาเปิดเผยสิ่งที่จะซ่อนไว้ให้สาธารณะรู้เสียหมด ด้วยจุดด้อยข้อนี้ จึงทำให้คนฮ่องกงต้องพัฒนาระบบการเขียนภาษาดาวอังคารนี้ขึ้นไปอีกขั้น ในเมื่อสามารถอ่านออกในระดับเสียงอ่าน คนฮ่องกงเลยดัดแปลงภาษานี้ในระดับของการใช้คำศัพท์นั่นเอง

2.2 การใช้คำศัพท์

ในทางภาษาศาสตร์ ระดับของภาษาสามารถแบ่งได้เป็นหลายระดับ คือเสียง อักษร คำและรูปประโยค เพื่อชดเชยกับจุดอ่อนทางเสียงและอักษรของภาษาดาวอังคารของผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงนั้น บรรดาผู้ชุมนุมจึงปรับการใช้ในระดับคำ โดยนำเอาคำจากภาษาอื่นๆ มาประกอบด้วย ไม่ใช่ใช้พื้นฐานคำศัพท์มาจากภาษาจีนกวางตุ้งเพียงอย่างเดียว ซึ่งศัพท์ที่ยกมาประสมนี้ส่วนมากจะมาจากภาษาอังกฤษ ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนจะขอยกมานำเสนอดังต่อไปนี้

IF U WAI YI YAU GHOST, WRITE ON A PIECE OF PAPER
“NEI GI NG GI NGO UP MUD 7 AH?”

ประโยคนี้ผู้เขียนยกมาจากในอินเทอร์เน็ต ซึ่งประโยคนี้มีการใช้คำที่หลากหลาย สมชื่อภาษาดาวอังคารอย่างแท้จริง เพราะมีการประสมกันระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาจีนกวางตุ้ง รวมถึงการประสมกันระหว่างการใช้อักษรโรมันและเลขอารบิกอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนจะแยกอธิบายต่อไป

อนุประโยคแรกขึ้นต้นด้วย IF U คือภาษาอังกฤษ If you “ถ้าคุณ…” คำต่อมาเป็นภาษาจีนกวางตุ้ง wai yi อักษรจีนคือ怀疑 จีนกวางตุ้งอ่านว่า /หว่ายอี่/ จีนกลางอ่านว่า /หว๋ายอี๋/ แปลว่า “สงสัย” yau เป็นภาษาจีนกวางตุ้ง อักษรจีนคือ 有 จีนกวางตุ้งอ่านว่า /เหยา/ จีนกลางว่า /โหย่ว/ แปลว่า “มี” และ Ghost “ผี” (หมายถึงผู้แฝงตัวเข้ามาก่อความวุ่นวาย) รวมความกันว่า “ถ้าคุณสงสัยว่ามีคนแฝงตัวมา”

อนุประโยคต่อมาเป็นภาษาอังกฤษล้วน write on a piece of paper “ให้เขียนบนกระดาษหนึ่งแผ่น”

ประโยคต่อมาในเครื่องหมายฟันหนู คือข้อความที่ให้เขียนลงบนกระดาษ NEI GI NG GI เป็นการใช้อักษรโรมันถอดเสียงภาษาจีนกวางตุ้ง คำนี้อักษรจีนคือ 你知唔知(你知不知道) ภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า /เหนยจีอึ่มจี/ แปลว่า “คุณรู้ไม่รู้” ความหมายคือ “คุณรู้หรือไม่” NGO ก็เป็นภาษาจีนกวางตุ้ง อักษรคือ 我 อ่านว่า /หงอ/ แปลว่า “ฉัน” UP เป็นแสลงภาษาจีนกวางตุ้ง หมายถึง “พูด” MUD 7 เป็นภาษาจีนกวางตุ้ง คำว่า /มัด/ (乜)แปลว่า “อะไร” ใช้ในคำว่า 乜嘢/มัดแหย / (อักษร 乜 ตัวนี้ยังปรากฏในภาษาถิ่นอื่นๆ เช่น จีนแต้จิ๋วว่า /มิ/ ในคำว่า 乜个/มิไก๊/ หรือจีนฮากกาอ่านว่า /มะไก๊/) เลข 7 ภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า /ชัด/ พ้องเสียงกับอักษรซึ่งเป็นคำไม่สุภาพ ใช้ด่าคนโดยเฉพาะ โดยหมายถึงอวัยวะเพศชายและมีความหมายแฝงอีกนัยหนึ่งว่า “ไม่ฉลาด” อีกด้วย ส่วน AH? ก็เป็นคำลงท้ายประโยคเพื่อแสดงน้ำเสียงเชิงถาม ประโยคนี้หากนำมาแปลความรวมกัน จะได้ใจความว่า “คุณรู้หรือไม่ว่าฉันพูด /ชัด/ อะไร” (ผู้เขียนขออนุญาตไม่แปลคำว่า /ชัด/ เพราะเกรงว่าจะเป็นการไม่สมควร จึงขอละไว้ให้ท่านผู้อ่านไปคิดแต่งเติมเอาเอง)

การใช้คำในภาษาดาวอังคารนี้มีลักษณะที่เป็นอิสระ จะใช้ภาษาใดมาประสมในส่วนใด ล้วนขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ของผู้ใช้ทั้งสิ้น คำบางคำแม้เป็นคำเดียวกัน อาจใช้วิธีการนำเสนอได้หลายรูปแบบ ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอในส่วนถัดไป

2.3 รูปแบบการใช้สื่อความ

เป้าหมายหลักของการใช้ภาษาดาวอังคารนั้นคือการใช้สื่อความกันภายในกลุ่มเฉพาะ ในกรณีนี้คือใช้กันเฉพาะในผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้แฝงตัวหรือคนต่างชาตินั้นมารับรู้เรื่องราวการนัดแนะและวางแผนกันในกลุ่มผู้ชุมนุม รูปแบบการใช้จึงออกมาในลักษณะของการพยายามดัดแปลงการสะกดคำต่างๆ ให้แปลกและแหวกแนวมากที่สุด ซึ่งการใช้หยวิดเพ็งและภาษาอังกฤษนั้นจะมีการใช้ค่อนข้างน้อย แต่จะใช้การเขียนอักษรโรมันแทนเสียงแบบตามใจชอบของผู้ใช้แทน ซึ่งผู้เขียนจะขอหยิบยกมานำเสนอดังต่อไปนี้ กรณีคำว่า “时代革命,光复香港”(ปฏิวัติยุคสมัยสร้างฮ่องกงให้กลับมายิ่งใหญ่) ก็มีการเขียนออกมาได้ในหลายรูปแบบ ตามแต่ผู้ใช้จะพึงพอใจ เช่น si doi kak ming kwong fun hern kong! ในที่นี้เป็นการเขียนอักษรโรมันแทนเสียงอ่านภาษาจีนกวางตุ้ง แต่กลับมีลักษณะที่ผิดแผกไปจากระบบหยวิดเพ็งหรือระบบสัทอักษรของภาษาจีนกวางตุ้งอื่นๆ อยู่มาก เช่น การใช้อักษร k แทนเสียง “ก” ในคำว่า /กากเม้ง/ 革命 /กว๋องฟก/ 光复 /เฮิงก๋อง/ 香港 ทั้งที่ในระบบสัทอักษรของภาษาจีนกวางตุ้งนั้น จะกำหนดให้ใช้อักษร g แทนเสียง “ก” ส่วนอักษร k ให้แทนเสียง “ค” หรือการใช้ fun กับ hern แทนเสียง 复และ香 นั้น ก็เป็นการใช้อักษรโรมันมาแทนเสียง แถมยังแทนผิดอีกต่างหาก คืออักษร 复 มีเสียงในภาษาจีนกวางตุ้งเป็นเสียงตาย คือต้องสะกดด้วย แม่กก ต้องอ่านว่า /ฟก/ หยวิดเพ็งจะเขียนเป็น fuk สัทอักษรภาษาจีนกวางตุ้งจะเขียนเป็น fug1 ซึ่งล้วนแสดงลักษณะเสียงตายทั้งสิ้น แต่ภาษาดาวอังคารฉบับนี้ กลับกลายเป็นเสียงสะกดนาสิก แม่กน ไป หรือ 香 ที่ควรสะกดด้วยเสียงสะกดนาสิกแม่กง ออกเสียงเป็น /เฮิง/ หยวิดเพ็งเขียนเป็น hoeng สัทอักษรภาษากวางตุ้งเขียนเป็น hêng1 ก็ไปสะกดเป็น hern กลายเป็น /เฮิน/ ไป ซึ่งลักษณะนี้ผู้ที่ใช้ภาษาจีนกวางตุ้งเป็นภาษาแม่ ก็คงจะเดาได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับผู้ที่เพียงแค่รู้ภาษา แต่ไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์กับภาษานั้นอย่างแนบแน่น ก็จะเดาได้ลำบากเล็กน้อย จำจะต้องอาศัยบริบทโดยรอบมาประกอบด้วย

นอกจากนี้ยังมีการสะกดประโยคนี้ในรูปแบบอื่นๆ ดังนี้ TSZ DOI GUP MING KWONG FUK HEUNG KONG หรือ Si Doi Gark Ming Gwong Fook Heung Gong ซึ่งล้วนแล้วแต่แปลกสมชื่อภาษาดาวอังคารทั้งสิ้น

ในประเด็นนี้ทางผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงเองก็มีบางส่วนที่ไม่สนับสนุนการใช้ภาษาดาวอังคารแบบนี้ โดยให้เหตุผลว่าอาจสื่อความคาดเคลื่อนได้ ควรจะใช้อักษรโรมันตามระบบหยวิดเพ็ง หรือระบบสัทอักษรอื่นๆ ที่มีระบบระเบียบมากกว่านี้ ไม่ใช่ให้ใช้อะไรก็ได้ตามใจชอบแบบนี้ ซึ่งผู้เขียนก็พบว่าเป็นจริง คือการใช้ภาษาดาวอังคารนี้ในบางจุดนั้นแหวกแนวมาก ซึ่งผู้เขียนได้ทำการรวบรวมคำศัพท์หลายคำ ที่เขียนออกมาได้ในหลายรูปแบบในภาษาดาวอังคาร ซึ่งแต่ละคำนั้นล้วนแล้วแต่ชวนปวดหัวทั้งสิ้น ดังที่จะยกมานำเสนอต่อไปนี้

 3. ภาษาดาวอังคารของผู้ชุมนุมฮ่องกง

ฮ่องกงใช้ภาษาจีนกวางตุ้งในการสื่อสารพูดคุยกันทั่วไป อาจมีจีนกลางสำหรับใช้ติดต่อราชการหรือภาษาอังกฤษสำหรับติดต่อกับต่างชาติอยู่บ้าง แต่พื้นฐานภาษาหลักในฮ่องกงก็ยังคงเป็นภาษาฮ่องกง สำหรับภาษาฮ่องกงนี้ทางวิชาการจีนแบ่งว่า ภาษาจีนกวางตุ้งบนเกาะฮ่องกงกับภาษาจีนกวางตุ้งบนจีนแผ่นดินใหญ่มีลักษณะแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย จึงจัดให้เป็นภาษาถิ่นคนละถิ่นกัน แต่อยู่ในตระกูลเดียวกันคือภาษาถิ่นตระกูลเยว่ (粤方言) ซึ่งภาษาถิ่นตระกูลนี้ใช้กันทั่วไปในมณฑลกวางตุ้ง และเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งก็มีภาษาถิ่นย่อยอีกหลายๆ ถิ่นที่อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษานี้ ซึ่งเป็นการแบ่งกลุ่มภาษาตามลักษณะของภาษานั้นจริงๆ โดยไม่มีอคติด้านอื่นมาเกี่ยวข้อง แต่ในทางการเมืองกลับไม่เป็นแบบนั้น ในประเด็นที่ว่าฮ่องกงไม่ยอมรับการปกครองของจีน (บ้างลือว่าถึงขั้นเรียกร้องขอเอกราช) ในมุมมองนี้การจะเรียกภาษาถิ่นที่ใช้บนเกาะฮ่องกงว่าภาษาฮ่องกง จึงดูจะเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ของรัฐบาลจีน ที่จะให้ใช้คำศัพท์ที่แสดงการแบ่งแยก “คนของฉัน คนของเธอ ภาษาของฉัน ภาษาของเธอ” ที่อาจถูกนำมาแฝงแนวคิดการแบ่งแยก ในทางการเมือง จีนจึงไม่นิยมและไม่ค่อยปลื้มนักกับคำว่า “ภาษาฮ่องกง” เพราะมันสะท้อนภาพการแบ่งแยกออกมา ดังนั้นคำว่า “ภาษาฮ่องกง” นั้นจึงใช้ได้ในเชิงวิชาการด้านการศึกษาทางภาษาศาสตร์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงขอหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง โดยเลือกใช้คำว่าภาษาจีนกวางตุ้งมาตลอดบทความ เพียงแต่ยกประเด็นนี้สอดแทรกไว้เท่านั้น

ภาษาพื้นฐานของฮ่องกงเป็นภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งมีอักษรจีนเป็นอักษรเขียน (มีบางตัวที่ภาษาจีนกลางไม่ใช้) ซึ่งมีลักษณะตามแบบอย่างของอักษรจีนทั่วไป คืออักษร 1 ตัวแทนได้ 1 คำ แต่เมื่อนำมาทำเป็นภาษาดาวอังคาร คำเหล่านี้กลับมีรูปเขียนที่หลากหลายออกไปมาก ซึ่งจะขอยกตัวอย่างเอาไว้ดังนี้

 唔 (不)ภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า /อึ่ม/ แปลว่า “ไม่” สามารถเขียนได้หลายรูปดังนี้ : 5 , m , ng , um

知 ภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า /จี/ แปลว่า “รู้” สามารถเขียนได้ดังนี้ : G , Gee , Ji , Jee

得 ภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า /ตั๊ก/ แปลว่า “ได้” สามารถเขียนได้ดังนี้ : duc , duck , dac , dak

咁 ภาษาจีนกวางตุ้งอ่านว่า /กัม/ แปลว่า “เช่นนี้/อย่างนี้” สามารถเขียนได้ดังนี้ : Gum , Gam , Kam , Kum

ตัวอย่างข้างต้นเป็นการเลือกใช้รูปการเขียนภาษาดาวอังคารที่มาแทนเสียงของคำในภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีการใส่ลูกเล่นหลายๆ อย่าง เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่เข้าใจบริบทสามารถตีความได้นั่นเอง เช่นการใช้ duck แทน คำว่า 得 ซึ่ง หากใช้ dak หรือ dac บางครั้งผู้อ่านที่พอจะรู้ภาษาจีนกวางตุ้งบ้าง แม้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็สามารถคาดเดาได้ว่าคือคำใด ผู้ใช้บางคนจึงเลือกใช้ duck มาแทนเสียง /ตั๊ก/ โดยเขียนในรูป duck เพื่อให้คนสับสนว่า หมายถึง /ตั๊ก/ ในภาษาจีนกวางตุ้งที่แปลว่า “ได้” หรือหมายถึง /ดั๊ก/ ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า “เป็ด” กันแน่ 

ภาษาดาวอังคารในกลุ่มผู้ชุมนุมฮ่องกง จึงเป็นภาษาเขียนในโลกออนไลน์ ที่แปลกประหลาดและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ที่สะท้อนภาพความสร้างสรรค์ทางภาษา ในการเลี่ยงคำเลี่ยงพยางค์ หรือการเลือกใช้รูปแบบการเขียนแปลกๆ ใหม่ๆ มาใช้ในการสื่อความ ที่ได้ผลลัพธ์อย่างดีอีกด้วย

การใช้ภาษาดาวอังคารในกลุ่มผู้ชุมนุมหรือกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนหากมองด้วยมุมมองทางภาษาศาสตร์ ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้มีผลกระทบใหญ่หลวงอะไรต่อภาษา เพราะคำวิบัติเล็กน้อย การเขียนให้ตลกขบขัน น่ารักแหวกแนวตามประสาวัยรุ่น เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่กับภาษาทุกภาษาที่ยังมีชีวิตอยู่ เรียกได้ว่าไม่มีสิ่งใดน่าเป็นห่วง แต่เรื่องน่าเป็นห่วงกลับไปสะท้อนอยู่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ตามที่ผู้เขียนได้เกริ่นไว้แล้วบ้างในข้างต้น คือด้านการเมือง

3. มุมมองซ่อนเร้นของภาษาดาวอังคาร

 ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถถูกนำมาโยงเข้ากับการเมืองได้ ไม่เว้นแม้แต่ประเด็นด้านภาษาศาสตร์ ในเรื่องของชื่อเรียกภาษาดังที่ได้ยกตัวอย่างในข้างต้น ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกมาทำให้เกิดการอ่อนไหวทางการเมืองอยู่บ้าง ถึงแม้จะเกิดการโต้เถียงกัน แต่ภาพของชื่อเรียกภาษาก็ส่งผลได้ไม่มาก เพราะชื่อเรียกของภาษาไม่ใช่ตัวภาษาเอง จะเรียกด้วยชื่อใดก็ไม่ทำให้ภาษานั้นเปลี่ยนไป ปัญหาเชิงรูปธรรมจึงไม่มีให้เห็นมากนัก แต่สำหรับภาษาดาวอังคารนี้กลับเป็นการสะท้อนภาพการแบ่งแยกที่กว้างออกไปมากขึ้น ซึ่งสามารถแจกแจงเป็นสองประเด็นหลัก คือ การต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่และการอ้าแขนรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่

3.1 การต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่

ปัญหาเกาะฮ่องกงเป็นกระแสที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากในขณะนี้ สถานการณ์การชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านร่างกฏหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนบานปลายเป็นปัญหาการไม่ยอมรับรัฐบาลจีน ปัญหาส่วนนี้สะท้อนออกมาในหลายๆ ด้าน ผู้เขียนจะขอนำเสนอแง่มุมที่ภาษาดาวอังคารสะท้อนออกมาแต่เพียงเท่านั้น ภาษาดาวอังคารมีพื้นฐานเสียงมาจากภาษาจีนกวางตุ้ง ที่เป็นหนึ่งในภาษาถิ่นตระกูลใหญ่ 7 ตระกูลของจีน ซึ่งก็คือภาษาถิ่นตระกูลเยว่ ที่มีการใช้กันอยู่มากในเขตมณฑลกวางตุ้งรวมไปถึงเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง และเขตปกครองพิเศษอย่างฮ่องกงและมาเก๊า พื้นฐานเสียงและลักษณะของภาษาจีนกวางตุ้งมีความแตกต่างจากภาษาจีนกลางค่อนข้างมาก จึงทำให้การสื่อสารข้ามภาษาถิ่นกันเป็นไปอย่างยากลำบาก อีกทั้งภาษาจีนกวางตุ้งนั้นมีรายละเอียดที่ยากกว่าภาษาจีนกลางมาก เช่น วรรณยุกต์ภาษาจีนกลางมี 4 เสียง วรรณยุกต์ภาษากวางตุ้งมี 9 เสียง (6 เสียงไม่ซ้ำกันบวกกับ 3 เสียงที่ซ้ำกันแต่ใช้กับพยางค์คำตาย) ภาษาจีนกลางมีเสียงพยัญชนะที่เป็นตัวสะกดแค่ 2 เสียง คือ -n และ -ng (แม่กนและแม่กง) แต่ภาษาจีนกวางตุ้งมีเสียงพยัญชนะที่เป็นตัวสะกดถึง 6 เสียง คือ –m , –n , –ng , –p , –t , –k (แม่กม แม่กน แม่กง แม่กบ แม่กดและแม่กก) นอกจากนี้ภาษาจีนกวางตุ้งยังมีการใช้คำศัพท์เฉพาะ อักษรเฉพาะมากมายที่ไม่มีใช้ในภาษาจีนกลาง เช่น 唔 และ 咁 ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หรือการใช้ศัพท์เฉพาะที่แตกต่างจากภาษาจีนกลางเช่น “กินข้าว” ภาษาจีนกลางใช้ 吃饭 แต่ภาษาจีนกวางตุ้งใช้ 食饭 “พวก” (ในคำว่าพวกฉัน/พวกคุณ/พวกเขา) ภาษาจีนกลางใช้ 们 (我们/你们/他们)แต่จีนกวางตุ้งใช้ 哋 (我哋/你哋/佢哋)เป็นต้น และด้วยความที่เป็นภาษาถิ่น ทำให้ภาษาจีนกวางตุ้งจึงไม่ใช่ภาษาที่คนจีนทั่วไปจะสามารถฟังหรือพูดได้ ทำนองเดียวกันกับที่ไม่ใช่คนไทยทุกคนจะสามารถ อู้คำเมือง เว้าอีสานหรือแหลงใต้ได้ ภาษาจีนกวางตุ้งจึงเป็นเอกลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมย่อยที่มีความแตกต่างจากกลุ่มวัฒนธรรมภาษาจีนกลางอยู่มาก ในทางกลับกัน คนที่พูดภาษาจีนกวางตุ้งได้ ส่วนมากก็จะพูดภาษาจีนกลางได้ จึงเป็นข้อได้เปรียบของคนที่มีภาษาแม่เป็นภาษาถิ่นหรือรู้ภาษาถิ่นอยู่บ้าง

จากประเด็นความแตกต่างทางภาษา รวมกับการที่คนพูดภาษาจีนกลางไม่สามารถเข้าใจคนพูดภาษาจีนกวางตุ้งได้ทั้งหมด แต่คนพูดจีนกวางตุ้งกลับสามารถเข้าใจคนพูดภาษาจีนกลางได้นั้น ทำให้คนพูดภาษาจีนกลางจากจีนแผ่นดินใหญ่กับคนพูดภาษาจีนกวางตุ้งจากมณฑลกวางตุ้งก็ดีหรือเกาะฮ่องกงก็ดี เหมือนจะมีเส้นความต่างทางวัฒนธรรมบางๆ กั้นอยู่ แต่เส้นความต่างนี้อาจจะหนากว่าเล็กน้อยสำหรับฮ่องกง ฮ่องกงที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมานาน (99 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.1898-1997) ก็ได้ซึมซับวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปมาก คนฮ่องกงจึงถูกบ่มเพาะมาในรูปแบบตะวันตก ภายใต้การปกครองของอังกฤษ แต่เมื่ออังกฤษคืนฮ่องกงให้กับจีน คนฮ่องกงที่เคยชินกับระบอบการปกครองและระบบระเบียบต่างๆ ตามแบบตะวันตก ก็ไม่พอใจกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนที่เข้ามาควบคุม จนเป็นผลให้เกิดการตั้งฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษขึ้น การแก้ปัญหาดูจะไปได้สวยสำหรับการรับฮ่องกงกลับมา และตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษ คือให้ฮ่องกงปกครองตนเองตามระบอบเดิมที่เคยอยู่กับอังกฤษต่อไป

รัฐบาลจบ แต่ประชาชนกลับไม่จบ เมื่อคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่พูดภาษาจีนกลางเริ่มมองว่าคนฮ่องกงที่พูดภาษาจีนกวางตุ้งนั้นเป็นคนแปลกปลอม เป็นคนที่เคยอยู่กับอังกฤษ มิหนำซ้ำยังพูดคนละภาษากับตน และเริ่มการขีดเส้นกั้นกันในทางวัฒนธรรมและล้อเลียนภาษาจีนกวางตุ้งในด้านต่างๆ มากมาย กล่าวว่าเป็น “ภาษานก/ภาษากา” (鸟语)บ้าง หาว่าเป็น “ภาษากลายพันธุ์” (化外之语บ้าง โดยที่หารู้ไม่ว่าภาษาถิ่นทางภาคใต้อย่างภาษาถิ่นตระกูลเยว่ และภาษาถิ่นตระกูลหมิ่น (闽方言) (กลุ่มฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ไหหลำ) เป็นภาษาถิ่นที่เก็บลักษณะภาษาจีนโบราณเอาไว้ได้มาก ในขณะที่ภาษาจีนกลางเป็นภาษาที่มีพื้นฐานมาจากภาคเหนือที่เดิมเคยเป็นเขตของชนเผ่าอื่น ที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาตั้งรกราก และบางชนเผ่าก็มีอำนาจเข้มแข็งจนสามารถปกครองจีนได้ เช่นมองโกลและแมนจู และภาษาถิ่นภาคเหนือก็ได้รับอิทธิพลทางภาษาของภาษาชนเผ่าเหล่านี้เข้ามา เช่นเสียงพยัญชนะม้วนลิ้น (zh ch sh r) เสียงฐานนี้ไม่ปรากฏในภาษาจีนโบราณ และในภาษาถิ่นตระกูลเยว่และหมิ่นก็ไม่ปรากฏเสียงพยัญชนะฐานนี้เช่นกัน จึงสันนิษฐานกันว่าภาษาถิ่นเยว่และหมิ่น เป็นภาษาถิ่นที่เก็บลักษณะภาษาจีนโบราณไว้ได้มากกว่าภาษาจีนกลาง เพราะฉะนั้นการกล่าวว่าภาษาจีนกวางตุ้งเป็นภาษากลายพันธุ์ ก็เป็นการกล่าวหาที่ผิดไปจากหลักความเป็นจริง เพราะความเป็นจริงแล้วภาษาถิ่นต่างๆ นั้นได้เก็บเอารูปแบบดั้งเดิมของภาษาจีนไว้ ภาษาจีนกลางต่างหากที่กลายพันธุ์ไปตามอิทธิพลมองโกลและแมนจู

กลับมาที่ประเด็นด้านการต่อต้านจีน ความแตกต่างทางภาษาที่มีอยู่ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแสดงออกถึงการต่อต้านจีน คือการใช้ภาษาจีนกวางตุ้ง (ที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่พูดแต่ภาษาจีนกลางไม่สามารถอ่านหรือฟังรู้เรื่องได้) มาประดิษฐ์เป็นภาษาดาวอังคาร เอาไว้ใช้สื่อสารกันเฉพาะวงเสียเลย ภาษาดาวอังคารของผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง จึงสะท้อนภาพการต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ออกมา ในรูปของการใช้ภาษาถิ่นมาต่อสู้กับภาษาจีนกลางที่กำลังแพร่หลายนั่นเอง

3.2 การรับวัฒนธรรมตะวันตก

การใช้ภาษาถิ่นจีนมาแสดงภาพการต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ (จีนกลาง) เป็นการสะท้อนในมุมมองการแบ่งแยกเบื้องต้น แต่ในขั้นที่ลึกกว่า คือการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา เพื่อสะท้อนภาพว่าฮ่องกงเป็นตะวันตกมากกว่าจะเป็นจีน

การรับวัฒนธรรมตะวันตกปรากฏอยู่ในการใช้ภาษาดาวอังคารในการใช้อักษรโรมันในการเขียน หากจะกล่าวว่าภาษาดาวอังคารที่สร้างบนพื้นฐานเสียงภาษาจีนกวางตุ้ง ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้คนจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่ไม่รู้ภาษาจีนกวางตุ้งนั้นได้ปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะลำพังภาษาจีนกวางตุ้งเองก็มีอักษรเฉพาะและคำศัพท์เฉพาะที่ได้ยกไว้แล้วบ้างในข้างต้นอยู่มากพอสมควร ซึ่งคำบางคำหรืออักษรบางตัวก็เป็นการรักษามรดกจากจีนโบราณไว้ คือเป็นรูปคำโบราณ รูปอักษรโบราณ เช่น 食 คำนี้ใช้ในจีนโบราณหมายถึง “กิน” แต่ในจีนกลางปัจจุบันกลับใช้ในความหมายว่า “เกี่ยวกับของกิน/การกิน” เช่น 食品 “อาหาร” 食堂 “โรงอาหาร” ไม่ได้ใช้กับคำกริยาว่า “กิน” โดยตรงเหมือนภาษาถิ่นต่างๆ หรืออักษรภาษาถิ่นทั้งหลายเช่น 唔、咁、乜、冇 (อ่านว่า /โหมว/ แปลว่า “ไม่มี” เล่นลูกเล่นกับคำว่า 有 ที่แปลว่า “มี” โดยการเอาขีดขวาง 2 ขีดภายในตัวอักษรออก จากความหมายว่า “มี” พอ 2 ขีดหายไป เลยกลายเป็น “ไม่มี”)

ที่จะกล่าวคือ ลำพังลักษณะของภาษาจีนกวางตุ้ง ก็มีเอกลักษณ์มากพอที่จะใช้เป็นภาษาสื่อความเฉพาะกลุ่มได้อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องไปเลือกใช้อักษรโรมันและกลุ่มตัวเลขอารบิกเลย การใช้อักษรโรมันแทนที่อักษรจีนนั้นเป็นภาพสะท้อนการรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยว่าภาษาจีนกวางตุ้ง แท้จริงก็มีสถานะเป็นเพียงภาษาถิ่นหนึ่งของจีนเท่านั้น ถ้าหากฮ่องกงอยากจะแสดงความแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ การเลือกใช้เสียงภาษาจีนกวางตุ้งมาวางรากให้กับการใช้ภาษาดาวอังคารนั้น ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องละเอาอักษรจีนไว้เบื้องหลังด้วย จึงจำเป็นต้องใช้อักษรโรมันมาเขียนภาษาดาวอังคารที่ประดิษฐ์ขึ้นบนพื้นของภาษาจีนกวางตุ้ง เพื่อแสดงภาพให้โลกเห็นว่า ฮ่องกงไม่ได้ใช้ภาษาจีนกลางและไม่ได้ใช้อักษรจีน และสะท้อนภาพของแนวคิดที่ว่า “ฮ่องกงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน” ออกมา ผ่านทางการใช้ภาษาดาวอังคาร ที่ทั้งรูปเขียนและเสียงอ่านแตกต่างจากภาษาราชการของจีนที่ใช้กันทั่วไป ก็คือภาษาจีนกลางนั่นเอง

4. สรุปภาษาดาวอังคารกับการชุมนุมของฮ่องกง

ท้ายที่สุด ภาษาดาวอังคารที่ใช้กันในกลุ่มผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงนั้น จะเป็นเครื่องมือในการต่อต้านจีนจริงๆ หรือไม่ คงต้องดูจากจุดประสงค์ด้านอื่นๆ ต่อไป เพราะการจะต่อต้านกันจนให้เกิดการแยกรัฐแยกประเทศนั้น ไม่สามารถตัดสินได้จากการดูจากแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเท่านั้น จะต้องตีความจากหลายบริบททั้งสังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง และอื่นๆ อีกมากมายหลายมิติ ถึงจะสรุปภาพและจุดประสงค์ที่แน่ชัดของการชุมนุมหรือการประท้วงนั้นๆ ออกมาได้

ในที่นี้ผู้เขียนหยิบยกภาพสะท้อนเล็กๆ ในการต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่และการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกที่แฝงไว้ในรูปแบบของภาษาดาวอังคาร ภาษาประดิษฐ์ที่มีฐานเสียงมาจากภาษาถิ่นจีนและมีรูปตัวเขียนจากอักษรโรมัน ที่สะท้อนภาพไม่เอาจีนกลางและเอาตะวันตกออกมาให้เห็น ซึ่งเป็นการแบ่งแยกเชิงวัฒนธรรม ที่ถึงแม้รัฐบาลและประชาชนแต่ละคนจะออกมากล่าวว่า การแบ่งแยกเชิงวัฒนธรรมนั้นไม่มีผลกระทบหรือการแบ่งแยกเชิงวัฒนธรรมนั้นไม่มีจริง จีนและฮ่องกงเป็นหนึ่งเดียว แตกต่างกันเพียงระบอบการปกครอง แนวคิดสวยหรูนี้อาจเป็นที่พอฟังให้ชื่นใจได้ว่าสถานการณ์คงจะไม่แย่ลงไปกว่าเดิม แต่ในความเป็นจริงเมื่อคนสองคนพูดกันคนละภาษา เขียนตัวหนังสือคนละรูปแบบกัน ก็เปรียบเป็นคนต่างชาติต่างภาษาไปเสียแล้ว เช่นนี้แล้วในบริบทของฮ่องกงนี้จะตัดสินว่าฮ่องกงไม่ได้ต่อต้านจีน ก็ดูจะเป็นการไม่ยอมรับความจริง หรือหากจะฟันธงว่าฮ่องกงต่อต้านจีนและต้องการแยกประเทศ ก็ดูจะเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป เนื่องด้วยการแยกรัฐแยกประเทศนั้นต้องพิจารณาจากเงื่อนไขหลายอย่าง ซึ่งภาษาและวัฒนธรรมนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายส่วนที่ว่านั้นเอง แต่หากจะตัดสินจากด้านเดียว คือด้านภาษาตามที่ผู้เขียนหยิบยกมานำเสนอนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดทีเดียวว่าฮ่องกงกำลังพยายามแยกตัวจากจีน และที่น่าคิดอีกอย่างก็คือการใช้ภาษาจะสามารถเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้หรือไม่ คงต้องศึกษารายละเอียดให้มากขึ้นกว่านี้ต่อไป



อ้างอิง

大學中文.(2017) 語文知識.來自火星的文字 [Facebook Post] Retrieved September 5,2019 from https://www.facebook.com/unichinese/photos/nei-g-5-g-lee-gui-up-gan-mud-ne/

查小欣.(2016) 辣词 | 香港人为何不说“七”和“九”?[Online] Retrieved September 17,2019 from https://pinyin.sogou.com/zimeiti/article/1649?rf=index

衛生根.lihkg.(2019) [8.18] TAI DUC MING NGO KONG MUD YEA GEH, YUP LAI [Online Blog] Retrieved August 14,2019 from https://lihkg.com/thread/1478855/page/1

The Hong Kong Polytechnic University.Jyutping Database. [Online] Retrieved August 14,2019 from http://www.iso10646hk.net/jp/database/index.jsp

走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ. 520 อู่ เอ้อ หลิง = 我爱你 หว่อ อ้าย หนี่ บอกรักผ่านตัวเลขแบบชาวจีน. [Online] Retrieved September 5,2019 from https://thaiphdinchina.wordpress.com/2016/05/20/

廖俊升.【光復紅土】示威者呼籲「捉鬼」要理性,見可疑人應拍低勿傷害. [Online] Retrieved August 30,2019 from https://www.hk01.com/18區新聞/364980/

陈欣彤.【逃犯條例】連登仔倡以奇招「捉鬼」港式英語網上突然再爆紅. [Online] Retrieved August 30,2019  from https://www.hk01.com/政情/365180/

 พิชชาภา ทุมดี. สรุปงานเสวนาเรื่อง “ฮ่องกง ทำไมต้องประท้วง?” . [Online] Retrieved August 29,2019 from http://www.csc.ias.chula.ac.th/2019/08/20/สรุปงานเสวนาวิชาการ-เรื/

ณัฐเมธี สัยเวช. ภาษาวิบัติ, จิงง่ะ? . [Online] Retrieved September 2,2019 from  https://thaipublica.org/2014/06/language-crisis-really/

《广州音字典普通话对照》/ 华南师范大学.韶关:广东人民出版社,1994.9

《汉语方言学基础教程》/ 李小凡、项梦冰.北京:北京大学出版社,2010.9

《汉语方言比较研究》/ 李如龙.北京:商务印书馆,2003

《大话方言》/ 易中天.上海:上海文艺出版社,2018.1

ภาษา อักษรและคำคมสุภาษิตจีน / ถาวร สิกขโกศล . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว , 2560

ภาษาจีนกวางตุ้ง 1 / เจิ้งเอี้ยนเอี้ยน . กรุงเทพฯ : สำนักมหาวิทยาลัยรามคำแหง , 2553

ความหมายของสัทวิทยาภาษาจีนโบราณ / จตุวิทย์ แก้วสุวรรณ์ . วารสารมนุษยศาสตร์; Vol 23 No 1 (2016): มกราคม-มิถุนายน 2559; 22-38


บทความล่าสุด

Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)

(PART II: The Rise of Global Semiconductor Demand: A Choke Point amidst U.S.-China Geopolitical Tech War) Sasirada Sringam Picture Source: Foreign Policy: “Semiconductors and the U.S.-China Innovation Race: Geopolitics of the supply chain and the central role of Taiwan” Nowadays, semic

2567
-
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
-
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ (บทความนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอนก่อนหน้า >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)) 3. ความกังวลและความท้าทายของไทยเมื่อฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน           นับแต่ไทยประกา

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ทุกท่านคงทราบข่าวการเดินทางมาไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว การเดินทางมาในครั้

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ กัมพูชาอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพนันได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยอุตสาหกรรมการพนันสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาลและทำให้กัมพูชากลายเป็นประเทศที่มีคาสิโนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตามมาด้วยเมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์) ปัจจุบันคาสิโนมักกระจุกตัวอยู่บริเวณช

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2566
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์จีนศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330