บทความของศูนย์จีนศึกษา

ศูนย์จีนศึกษา

การศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้เรื่องจีน เริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมกับกระแสการส่งเสริมเอเชียศึกษาทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ การเกิดสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีน ในปีพ.ศ.2510 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ก่อตั้งสถาบันเอเชียศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ โดยทำการสอน วิจัย และเผยแพร่เรื่องจีนเป็นกิจกรรมสำคัญ ภายหลังไทย-จีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว และสถาบันเอเชียศึกษาได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 และกิจกรรมเรื่องจีนศึกษามีมากขึ้น ในปีพ.ศ.2538 ซึ่งเป็นวโรกาสที่ไทย-จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 20 ปี สถาบันเอเชียศึกษา จึงได้ก่อตั้งศูนย์จีนศึกษาขึ้น เพื่อการทำวิจัยในลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชา คือ ครอบคลุมความรู้ในหลายด้านที่เกี่ยวกับจีน ได้แก่ การเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคม วัฒนธรรมและภาษา รวมทั้งความรู้ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับจีน เพื่อสร้างฐานข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องจีนศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นบริการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนในระดับต่างๆ และเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเรื่องจีนศึกษากับนักวิชาการเรื่องจีนศึกษาทั่วโลก


Websites http://www.csc.ias.chula.ac.th 
facebook page ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ Chinese Studies Center, CU | Facebook


ช่องทางการรับชมและติดตามผลงานของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ซึ่งได้มีการรวบรวมไว้ในรูปแบบของ Podcast จีนศึกษา
soundcloud https://bit.ly/3vzdVkG
apple podcast https://apple.co/2P2KMxg
Spotify https://spoti.fi/38RJj43
youtube https://bit.ly/3rVKGGB

“ตู้ห่าว” ภาพสะท้อน “ชาวจีนอพยพใหม่” ในไทย

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์


A picture containing text, person, black, person

Description automatically generated

ภาพตู้เย่ว์เซิง ผู้ทรงอิทธิพลในเซี่ยงไฮ้
(ภาพจาก https://www.sohu.com/a/251327986_557768)

.

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ตู้ห่าว” นายทุนจีนที่ถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้างและถูกสืบสาวเรื่องราวชีวิตอย่างละเอียด ตู้ห่าวเป็นนายทุนจีนที่เข้ามาประกอบธุรกิจสีเทารายใหญ่ที่ใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งพำนักและทำเงินมาเป็นเวลานับสิบปี จากรายงานข่าวระบุว่าตู้ห่าวมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสถานบันเทิง บ่อนการพนัน ทัวร์ศูนย์เหรียญ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนับสิบแห่ง ตลอดจนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การค้ายาเสพติด ใช้นอมินีในการซื้อขายที่ดินและมีความเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลหลายราย ซึ่งตู้ห่าวเป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียวของชาวจีนที่เข้ามาหากินในไทยเท่านั้น ยังมีชาวจีนอีกจำนวนมากที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ในไทยทั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย ผิดกฎหมาย และอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ทั้งที่เป็นชาวจีนทั่วไปและที่เป็นผู้มีอิทธิพล ชาวจีนเหล่านี้ถูกจัดเป็น “ชาวจีนอพยพใหม่” ที่อพยพมาไทยด้วยเป้าหมายบางประการ การเคลื่อนไหวของชาวจีนเหล่านี้มีความน่าสนใจและอาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้ เพราะการใช้ชีวิตของชาวจีนกลุ่มนี้มีลักษณะจำเพาะต่างจากผู้อพยพชาติอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนจะขยายความในลำดับถัดไป

.

ตู้ห่าว “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้เมืองไทย”

ตู้ห่าวมีชื่อจริงว่าตู้ห้าวเจ๋อ เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองเฉิงไห่ในนครซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง (เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว) อย่างไรก็ดี ตู้ห้าวเจ๋อเป็นที่รู้จักในชื่อตู้ห่าวมากกว่า ในปี ค.ศ.2018 สื่อออนไลน์จีนมีการรายงานว่าตู้ห่าวเป็นนักธุรกิจจีนที่ประสบความสำเร็จในเมืองไทย มีนิสัยถ่อมตัวและชอบช่วยเหลือตอบแทนสังคม ชาวจีนอพยพใหม่ที่ประสบปัญหาในไทยมักได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากตู้ห่าว อีกทั้งสื่อจีนยังรายงานว่าตู้ห่าวเป็นผู้ที่มีความรักชาติและพยายามที่จะช่วยชาติจีนพัฒนา “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)” จึงได้รับการยกย่องจากชาวจีนอพยพใหม่ด้วยกันว่าเป็น “ตู้เย่ว์เซิงเมืองไทย” (สมาพันธ์วัฒนธรรมจีน-ไทย, 2018) อนึ่ง ในประวัติศาสตร์จีนตู้เย่ว์เซิงคือหนึ่งในเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้กุมอิทธิพลของเซี่ยงไฮ้ ณ ช่วงเวลานั้น ทั้งบ่อนการพนันและธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ ล้วนอยู่ในอุ้งมือของตู้เย่ว์เซิง นอกจากนี้ ตู้เย่ว์เซิงยังเป็นคนรักชาติ เห็นได้ชัดสุดจากเครื่องแต่งกายที่ใส่ ตู้เย่ว์เซิงจะสวมใส่ชุดผ้าไหมจีนเป็นประจำ เปรียบเทียบกันแล้วเหมือนกับตู้ห่าวที่กุมอิทธิพลในธุรกิจหลายอย่างในเมืองไทย

ตู้ห่าวเริ่มต้นชีวิตในเมืองไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อนตั้งแต่ยังเป็นวัยละอ่อนโดยเป็นการมาแบบตัวเปล่าไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ก่อนค่อยๆ ขยับขยายจนกลายเป็นนายทุนรายใหญ่ระดับประเทศ ชีวิตของตู้ห่าวได้แต่งงานกับภรรยาชาวไทยที่เป็นข้าราชตำรวจมียศใหญ่โต อีกทั้งเครือญาติของภรรยายังเป็นนักการเมืองและข้าราชการชั้นสูง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเหตุใดการเปลี่ยนสัญชาติของตู้ห่าวจึงกระทำได้โดยง่ายหลังแต่งงานกับภรรยาชาวไทยเพียง 3 ปี  ขณะที่ชาวต่างชาติหลายรายใช้ความพยายามเป็นสิบปียังไม่สามารถเปลี่ยนสัญชาติได้ ยกตัวอย่างเช่น นายเช ยอง ซอก หรือโค้ชเช ผู้ฝึกสอนเทควันโดให้แก่นักกีฬาทีมชาติไทย ผู้ซึ่งทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศยังใช้เวลากว่า 10 ปีจึงได้รับสัญชาติไทย หรือตอนผู้เขียนไปเก็บข้อมูลที่ภาคใต้ ได้พบชาวจีนอพยพใหม่รายหนึ่งที่แต่งงานกับภรรยาชาวไทยมาเป็นสิบปี ประกอบอาชีพเปิดร้านขายอุปกรณ์มือถือได้ตัดพ้อกับผู้เขียนว่าการขอเปลี่ยนสัญชาตินั้นยากเหลือเกิน เขาตั้งใจจะใช้ชีวิตบั้นปลายในไทยไม่อพยพกลับจีนแล้วจึงอยากเปลี่ยนสัญชาติแต่ก็ดำเนินการไม่สำเร็จเสียที ปัจจุบันตู้ห่าวมีชื่อไทยว่านายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ การที่ตู้ห่าวมีชื่อและสัญชาติไทยเช่นนี้ล้วนมีผลดีต่อการดำเนินธุรกิจและซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ นับแต่โดนจับกุมมีการขยายผลพบว่าตู้ห่าวถือหุ้นในบริษัทหลายสิบแห่ง อีกทั้งยังมีการซื้อคอนโดและบ้านหรูอีกหลายสิบหลังทั่วประเทศ มีทรัพย์สินหลักพันล้านบาท

ภาพคฤหาสน์และรถหรูของตู้ห่าวที่โดนอายัด
(ภาพจาก สนข.Nation https://www.nationtv.tv/news/crime/378894440)

.

ตู้ห่าว VS ชาวจีนอพยพใหม่

จากกรณีของตู้ห่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นเป็นขุมทองของชาวจีนรุ่นใหม่ที่ต้องการบรรลุสู่การเป็นคนรวย ซึ่งนอกจากตู้ห่าวแล้วยังมีชาวจีนอีกจำนวนมากที่เข้ามาแสวงโชคสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตัวเองในเมืองไทย ชาวจีนเหล่านี้เข้ามาลงหลักปักฐานในไทยระยะยาว บางส่วนมีความสนใจที่จะเปลี่ยนโอนสัญชาติเพื่อประโยชน์บางประการ  ลักษณะของตู้ห่าวและชาวจีนที่เข้ามาปักหลักทำธุรกิจในไทยเช่นนี้ถือว่าเป็นลักษณะหนึ่งของ “ชาวจีนอพยพใหม่” หรือที่ตรงกับภาษาจีนว่า “ซินอี๋หมิน” อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมิได้หมายความว่าชาวจีนอพยพใหม่เป็นกลุ่มนายทุนจีนสีเทาหรือเป็นกลุ่มที่เข้ามาประกอบกิจกรรมในเชิงลบแต่เพียงอย่างเดียว ชาวจีนอพยพใหม่มีความหมายที่กว้างครอบคลุมชาวจีนหลากหลายกลุ่มคนซึ่งจะอธิบายในย่อหน้าถัดไป

คำว่า “ชาวจีนอพยพใหม่” หรือ “ซินอี๋หมิน” ในไทยนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและคุ้นหูสักเท่าใดนัก เป็นคำที่ใช้จำกัดความถึงพลวัตของชาวจีนโพ้นทะเลในยุคปัจจุบันซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างไปจากชาวจีนโพ้นทะเลหรือชาวจีนรุ่นเก่าที่อพยพเข้ามา ในวงวิชาการทั้งในประเทศจีนและทั่วโลกได้อธิบายความหมายของชาวจีนอพยพใหม่ในภาพกว้างไว้คล้ายคลึงกัน กล่าวคือหมายถึง “ชาวจีนที่อพยพออกนอกประเทศหลังจีนเปิดประเทศ (หลังปี ค.ศ.1978) และมีการปักหลักตั้งถิ่นฐานในประเทศปลายทางอย่างถาวรหรือกึ่งถาวร” ซึ่งชาวจีนเหล่านั้นอาจยังคงถือสัญชาติจีนหรือเปลี่ยนสัญชาติแล้วก็ได้ ชาวจีนอพยพใหม่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย ตั้งแต่นายทุนใหญ่ระดับประเทศ ชนชั้นกลางทั่วไปไปจนกระทั่งชนชั้นแรงงานระดับรากหญ้า เมื่ออพยพมาไทยแล้วชาวจีนกลุ่มนี้มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย อาทิ ประกอบธุรกิจ ค้าขาย ลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก เป็นพนักงานบริษัท ครูสอนภาษา พักผ่อนเกษียณอายุ หรือแม้กระทั่งอาชีพใหม่ๆ อย่างอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) บนสื่อสังคมออนไลน์ก็มีปรากฏให้เห็น เป้าหมายในการอพยพมาไทยของชาวจีนกลุ่มนี้คือเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ แสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเดิม และแสวงหาแหล่งพำนักใหม่ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่สามารถตอบโจทย์ชาวจีนกลุ่มนี้ได้เพราะมีโอกาสทางเศรษฐกิจสูง ชาวจีนสามารถเข้าถึงการลงทุน ทำการค้า จัดตั้งโรงงาน หรือมีโอกาสหางานทำได้ง่าย ขณะเดียวกันบ้านเมืองก็มีความเจริญ ลักษณะสังคมก็มีความเป็นมิตรกับชาวต่างชาติต่างภาษา ไม่มีการเหยียดหรือกีดกันทางเชื้อชาติ  ด้านที่พักหรือที่อยู่อาศัยก็มีราคาไม่สูง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับราคาที่อยู่อาศัยในจีน อีกทั้งยังมีกฎหมายที่เปิดช่องให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้ ประเทศไทยจึงถือเป็นสวรรค์แห่งหนึ่งของชาวจีนอพยพใหม่ แต่อย่างไรก็ดี นอกจากประเทศไทยแล้วยังมีอีกหลายที่ที่เป็นสวรรค์ของชาวจีนอพยพใหม่เช่นเดียวกัน อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา มาเลเซีย ลาว กัมพูชา ฯลฯ

.

.

อย่างไรก็ตาม โดยสรุปแล้วชาวจีนอพยพใหม่ในไทยประกอบด้วยคนหลายกลุ่มทั้งนายทุนจีน นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า ครูอาจารย์ พนักงานบริษัท ลูกจ้าง ฯลฯ แต่สิ่งที่จะบ่งชี้ว่าชาวจีนคนไหนเป็นชาวจีนอพยพใหม่นั้นมิใช่ลักษณะการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมที่ดำเนินแต่เป็นลักษณะของการตั้งถิ่นฐาน หากมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยระยะยาวหรือถาวรไม่ว่าด้วยเหตุผลใดจะถือว่าเป็นชาวจีนอพยพใหม่ อาทิเช่นตู้ห่าวอยู่ในไทยมาหลายสิบปีกระทั่งมีการเปลี่ยนสัญชาติ เช่นนี้จึงจัดว่าเป็นชาวจีนอพยพใหม่ แต่หากการเดินทางมาอยู่อาศัยในไทยเพียงชั่วคราวอย่างนักศึกษาจีน นักท่องเที่ยวจีน หรือนักลงทุนจีนที่อยู่อาศัยในจีนเป็นหลักเช่นนี้จะไม่ถูกจัดเป็นชาวอพยพใหม่

.

ชาวจีนอพยพใหม่มาทำอะไรในไทย?

ชาวจีนอพยพใหม่ส่วนใหญ่เลือกอพยพมาไทยเพราะไทยเป็นประเทศที่มีความเจริญในระดับหนึ่งถึงแม้อาจจะไม่เท่าประเทศทางซีกโลกตะวันตกหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ถือว่ามีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อีกทั้งยังมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ กล่าวคือมีโอกาสในการประกอบอาชีพ ลงทุน ดำเนินธุรกิจต่างๆ ชาวจีนอพยพใหม่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย อาทิ

  • “นักลงทุน” เช่น การจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่
  • “ค้าขาย” เปิดกิจการต่างๆ เช่น ร้านค้าปลีก-ส่ง ร้านอาหาร ลักษณะกิจการการค้าของชาวจีนอพยพใหม่สามารถจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ คือ 1) จำหน่ายสินค้าของไทยเพื่อคนจีน เช่น เครื่องสำอาง หมอนยางพารา เครื่องหนัง ฯลฯ 2) จำหน่ายสินค้านำเข้าจากจีนเพื่อคนไทย เช่น เครื่องนอน ผ้าม่าน เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้จิปาถะ ฯลฯ และ 3) จำหน่ายสินค้านำเข้าจากจีนเพื่อคนจีนในไทย เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบในการปรุงอาหาร ฯลฯ
  • “เปิดบริษัท” เช่น บริษัทนำเข้า-ส่งออกสินค้าไทย-จีน บริษัทขนส่งระหว่างประเทศ หรือธุรกิจการค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไทย-จีน
  • “สอนภาษาจีน” มีชาวจีนอพยพใหม่จำนวนมากประกอบอาชีพเป็นครู-อาจารย์ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน และยังมีบางส่วนเปิดธุรกิจโรงเรียนหรือสถาบันสอนภาษาเป็นของตนเอง
  • “ติดตามคู่สมรส” มีชาวจีนจำนวนไม่น้อยอพยพมาไทยเพราะติดตามคู่สมรสชาวไทยมา โดยเลือกที่จะมาปักหลักตั้งถิ่นฐานในไทยด้วยเห็นว่ามีวิถีชีวิตที่สบาย มีโอกาสทำมาหากินมากกว่าอยู่จีน
  • “ติดตามลูก” ชาวจีนที่อพยพมาเพื่อติดตามลูกหลานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนใหญ่นิยมส่งลูกหลานมาเรียนในโรงเรียนนานาชาติในไทย (โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต) เนื่องจากค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพในไทยไม่สูงมาก ชาวจีนที่อพยพมาเพื่อติดตามลูกหลานมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในภาษาจีนว่า “เผยตู๋ มาม่ะ” หรือ “เผยตู๋ ฟู่หมู่” อย่างไรก็ดี รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ได้ให้นิยามของชาวจีนกลุ่มนี้เป็นภาษาไทยว่า “ผู้ปกครองที่เป็นเพื่อนเรียน” 
  • “เกษียณอายุ” การมาเกษียณอายุและใช้ชีวิตหลังเกษียณในไทยเริ่มมีปรากฏให้เห็นมากขึ้นในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีอากาศดี วิถีชีวิตเรียบง่าย มีสถานพยาบาลรองรับ ขณะที่ไทยเองก็มีการออกวีซ่าเกษียณอายุ (Non-O) ให้แก่ชาวต่างชาติโดยมีข้อจำกัดที่ไม่ยุ่งยากจึงมีชาวจีนย้ายถิ่นฐานเข้ามาเพิ่มขึ้นเพื่อการนี้ ระยะหลังจึงเริ่มมีนายทุนจีนเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (คอนโด) เพื่อรองรับผู้สูงอายุชาวจีนที่ต้องการมาใช้ชีวิตบั้นปลายในไทยด้วย

ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างอาชีพของชาวจีนอพยพใหม่เท่านั้น ยังมีอาชีพอื่นๆ อีกที่ผู้เขียนยังมิได้กล่าวถึง ในจำนวนนี้มีจำนวนมากที่ประกอบอาชีพโดยผิดกฎหมาย อาทิ ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ใช้วีซ่าเข้าเมืองผิดประเภท อยู่เกินกำหนดวีซ่า (overstay) เป็นต้น ผู้เขียนพบว่าชาวจีนอพยพใหม่จำนวนมากเข้าประเทศไทยมาด้วยวีซ่าท่องเที่ยวเพื่อหางาน บางรายไปสมัครเรียนตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่ออาศัยวีซ่านักเรียนในการอยู่ไทย นอกจากนี้ยังมีชาวจีนจำนวนมากไม่ได้มีงานประจำแต่ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ทั่วไป เช่น รับแปลเอกสาร รับพาเที่ยว รับหิ้ว (pre-order) สินค้าไทย-จีน เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าลักษณะการประกอบอาชีพของชาวจีนอพยพใหม่นั้นมักจะเกี่ยวพันกับชาวจีนด้วยกัน หรือเกี่ยวพันกับประเทศแม่ของตน เช่น การค้าขาย หากไม่จำหน่ายสินค้าของจีนก็เป็นการจำหน่ายให้กับคนจีน หากทำธุรกิจมักเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับจีนหรือเพื่อรองรับชาวจีน เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อนักท่องเที่ยวจีน ร้านอาหารจีน สอนภาษาจีน เป็นต้น อย่างกรณีของตู้ห่าวที่โดนจับก็เนื่องมาจากการเปิดผับจินหลิงย่านยานนาวา ซึ่งเป็นผับวีไอพีที่ต้อนรับเฉพาะลูกค้าชาวจีนเท่านั้น ขณะที่บริษัทนำเที่ยวของตู้ห่าวที่ภูเก็ตก็เป็นบริษัทนำเที่ยวครบวงจรที่รับเฉพาะกรุ๊ปทัวร์จีนเช่นเดียวกัน

ภาพป้ายจากสำนักงานเขตห้วยขวางบริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญช่วงตรุษจีนปี 2566

.

ชาวจีนอพยพใหม่อยู่ที่ไหน?

แท้จริงแล้วชาวจีนอพยพใหม่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทยทั้งในจังหวัดเล็กและจังหวัดใหญ่ แต่ที่เห็นได้ชัดคือในพื้นที่ๆ มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูง ยกตัวอย่างเช่น

“ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญและย่านพระรามเก้า กรุงเทพฯ” บริเวณนี้ถือเป็นย่านการค้าและย่านพักอาศัยสำคัญสำหรับชาวจีนอพยพใหม่ในกรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมที่มีทุกอย่างที่ชาวจีนอพยพใหม่ต้องการและถูกเรียกขานว่าเป็น “ไชน่าทาวน์แห่งใหม่” ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยร้านค้าสินค้าไทย เช่น เครื่องสำอาง หมอนยางพารา เครื่องหนัง สินค้าที่ระลึกต่างๆ รวมถึงร้านนวด บริษัทขนส่งจีน ที่พักโฮสเทลและร้านอาหารจีน โดยชาวจีนในไทยและนักท่องเที่ยวจีนจะมาซื้อสินค้าของฝากกันที่นี้แล้วส่งขนส่งกลับไปยังประเทศจีน เรียกได้ว่าจุดเดียวมีให้บริการทุกอย่างครบ

“ถนนเสือป่าและสำเพ็ง กรุงเทพฯ” เป็นย่านการค้าที่ชาวจีนอพยพใหม่เริ่มเข้าไปทำการค้ามากขึ้นทดแทนชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นเก่าและผู้ประกอบการชาวไทย ชาวจีนอพยพใหม่เหล่านี้เข้ามาเปิดร้านค้าปลีก-ส่งโดยนำเข้าสินค้าจีนเองจึงมีต้นทุนและราคาขายที่ถูกกว่าร้านค้าชาวไทย เมื่อมาประกอบธุรกิจจนตั้งตัวได้แล้วจึงมีการชักชวนเพื่อนฝูงหรือเครือญาติในจีนให้มาประกอบกิจการด้วยกัน ชาวจีนที่ทำการค้าในย่านนี้จึงขยายตัวขึ้นซึ่งก่อให้เกิดเสียงโอดครวญจากผู้ประกอบการชาวไทยและคนในท้องถิ่นไม่น้อย เนื่องจากผู้ประกอบการชาวไทยต้องบินไปสั่งซื้อสินค้าจากจีนทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่าผู้ประกอบการชาวจีน ขณะที่อาคารพาณิชย์และร้านค้าบริเวณดังกล่าวก็มีราคาค่าเช่าที่สูงขึ้น เพราะมีนายทุนจีนมากว้านเช่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวไปจนผู้ประกอบการไทยไม่สามารถสู้ราคาได้ไหว 

“ถนนนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่” เป็นย่านการค้าที่ผู้ประกอบการจีนมาเปิดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านค้าสินค้าของฝาก ร้านอาหาร ร้านสปา ร้านแลกเงิน บริษัทขนส่ง ฯลฯ มีบรรยากาศคึกคักมากโดยเฉพาะช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และซบเซามากในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดเพราะนักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้

“ชลบุรีและระยอง” เป็นอีกพื้นที่สำคัญที่มีชาวจีนอพยพใหม่เข้าไปตั้งถิ่นฐานเยอะ เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เดินทางสะดวก ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิและอู่ตะเภา สามารถประกอบธุรกิจและพักผ่อนหย่อนใจได้ โดยเฉพาะที่ระยองมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจีน ทำให้มีชาวจีนเดินทางไปทำงานในโรงงานในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก บริเวณไม่ไกลจากโรงงานจะพบเห็นอาคารชุดจำนวนมากขึ้นเป็นหมู่บ้านซึ่งเป็นที่พักของพนักงานชาวจีน ตามใต้อาคารจะมีร้านสะดวกซื้อของชาวจีน ร้านอาหารตามสั่งจีนเพื่อรองรับชาวจีนที่พักอาศัยในบริเวณนั้น

“ภูเก็ต” เป็นพื้นที่หนึ่งที่เต็มไปด้วยชาวจีนทั้งที่เข้ามาท่องเที่ยวและเข้ามาอยู่อาศัย ถือได้ว่าเป็นทำเลทองสำหรับชาวจีนอพยพใหม่เพราะสามารถประกอบกิจการได้หลากหลายโดยเฉพาะธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งภูเก็ตมีจุดเด่นทั้งในด้านความเจริญ ความสะดวกสบาย มีทรัพยากรการท่องเที่ยว มีสนามบินนานาชาติและโรงเรียนนานาชาติรองรับ อีกทั้งมีห้องพักและวิลล่าหรูในสถานที่ตากอากาศหลายแห่งปล่อยเช่าระยะยาวให้กับชาวจีนโดยเฉพาะด้วย ชาวจีนที่อยู่ที่นี่จึงมีทั้งที่มาเพื่อประกอบอาชีพและพักผ่อนระยะยาว

ภาพร้านค้าชาวจีนบนถนนนิมมานฯ เชียงใหม่

.

เครือข่ายหลากสีของชาวจีนอพยพใหม่

ชาวจีนอพยพใหม่ในไทยส่วนใหญ่อพยพมาภายใต้การแนะนำ ชักชวน หรือการให้ความช่วยเหลือจากพรรคพวกชาวจีนด้วยกัน โดยแบ่งเป็นสองกรณีคือ หนึ่ง ตนเองอพยพมาก่อนแล้วได้ดิบได้ดีจึงชักชวนเพื่อนฝูงหรือเครือญาติให้อพยพมาตามภายใต้ความช่วยเหลือของตน ด้วยหวังให้เพื่อนฝูงหรือเครือญาติประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีขึ้นเช่นตน สอง เห็นพรรคพวกอพยพไปแล้วได้ดิบได้ดีจึงสอบถามหาลู่ทางเพื่ออพยพบ้าง โดยอาศัยคำแนะนำและความช่วยเหลือของพรรคพวกที่ตั้งรกรากอยู่ก่อน ดังนั้น เครือข่ายถึงเป็นกลไกสำคัญในการอพยพของชาวจีนอพยพใหม่ ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวจีนเหล่านี้ยังยึดกับแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมกวนซี (Guanxi) กล่าวคือยังมีการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคล อาทิ เครือญาติหรือพวกพ้อง ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันบางประการ แนวคิดดังกล่าวมีรากมาจากแนวคิดของขงจื่อที่กล่าวว่าการให้การช่วยเหลือผู้อื่นถือเป็นคุณธรรมที่พึ่งมีประการหนึ่ง และเมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้วต้องมีการตอบแทนการให้ความช่วยเหลือนั้นเพื่อเป็นการขอบคุณและให้เกียรติแก่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (Ma, 2560) ฉะนั้นเมื่อชาวจีนอพยพใหม่อพยพมาไทยแล้วจึงมีการไปหาสู่และมีการให้ความช่วยเหลือกัน

ผู้เขียนเคยไปมาหาสู่กับชาวจีนอพยพใหม่ในภาคอีสานรายหนึ่ง ชาวจีนรายนั้นได้พาผู้เขียนไปพบกับบรรดาชาวจีนอพยพใหม่ที่มาเปิดร้านค้าในตลาดแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นบรรดาชาวจีนได้มีการปรับทุกข์กันเรื่องการค้าขายที่ซบเซาด้วยสถานการณ์โควิด-19 เพื่อนชาวจีนของผู้เขียนได้บอกกับทุกคนว่า “มีปัญหาอะไรก็ให้บอกกล่าวกัน อะไรช่วยกันได้จะได้ช่วยกัน พวกเราคนจีนด้วยกันต้องหาทางช่วยเหลือกันอยู่แล้ว” ซึ่งเมื่อมีการช่วยเหลือกัน ผู้ได้รับความช่วยเหลือจะรู้สึกขอบคุณและต้องหาโอกาสตอบแทน ขณะที่ผู้ให้การช่วยเหลือก็รู้สึกได้หน้าและได้แสดงอำนาจบารมีที่ตนเองมี ซึ่งเรื่องหน้าตาในสังคมเป็นสิ่งสำคัญมากในหมู่ชาวจีน

นอกเหนือจากเครือข่ายชาวจีนด้วยกันแล้วชาวจีนอพยพใหม่ในไทยโดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาประกอบธุรกิจและลงทุนยังนิยมสร้างเครือข่ายกับบุคคลที่มีชื่อเสียงในไทยหรือเข้าหากลุ่มข้าราชการชั้นสูงด้วย ทั้งในกลุ่มนักการเมือง ผู้บริหารระดับท้องถิ่น ข้าราชการทหารและตำรวจ เห็นได้ชัดจากช่วงเทศกาลต่างๆ ชาวจีนเหล่านี้จะเดินสายเข้าเยี่ยมคารวะและมอบของกำนัลชิ้นใหญ่ให้แก่บุคคลเหล่านี้ ขณะเดียวกันบุคคลเหล่านี้ก็นิยมเชิญชาวจีนมาร่วมงานกิจกรรมต่างๆ ของตน อาทิ งานวันเกิด งานฉลองตามเทศกาลต่างๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อชาวจีนไปร่วมงานเหล่านี้จะไม่เคยไปด้วยมือเปล่า บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพล อย่างน้อยก็มีอิทธิพลในระดับท้องถิ่นซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือชาวจีนเหล่านี้ได้ในยามมีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการการอำนวยความสะดวกบางประการ ชาวจีนบางรายนิยมถ่ายรูปกับบุคคลที่มีอิทธิพลหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงโดยมีการนำรูปภาพไปโพสโชว์ตามสื่อโซเชียลมีเดียของตน บางรายมีการอัดภาพแขวนไว้ในสำนักงานของตน ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างเครดิตหรือให้หน้าแก่ตนเอง แต่อีกส่วนหนึ่งเพื่อปกป้องการมารบกวนจากบุคคลที่มารีดไถผลประโยชน์ ผู้เขียนได้ข้อมูลจากชาวจีนว่าข้าราชการมีสีบางรายมีการเรียกเก็บเงินเพื่อแลกกับการถ่ายภาพคู่กันด้วย แต่มิแน่ใจว่าเป็นการเรียกเก็บจากคนกลางหรือจ่ายให้กับข้าราชการรายนั้นโดยตรง

นอกจากที่กล่าวมา ผู้เขียนยังพบว่าหลักสูตรอบรมต่างๆ ก็เป็นช่องทางสำคัญในการสร้างเครือข่ายของชาวจีนอพยพใหม่ บางหลักสูตรเป็นหลักสูตรของทหารที่อบรมให้แก่บุคคลทั่วไป บางหลักสูตรเป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารชั้นสูงซึ่งมีการเก็บค่าอบรมค่อนข้างสูง เสมือนเป็นกิจกรรมที่พบปะแลกเปลี่ยนคอนเน็กชันกันมากกว่า อย่างไรก็ดี ยังมีชาวจีนอพยพใหม่อีกจำนวนมากที่อพยพมาไทยด้วยตัวเองโดยการหาข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมีชาวจีนอพยพใหม่จำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตเรียบง่ายกับครอบครัวโดยไม่มีเครือข่ายความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีอิทธิพลใดๆ

.

ความท้าทายของไทยต่อชาวจีนอพยพใหม่

ทุกวันนี้เรื่องชาวจีนอพยพใหม่ในไทยถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามหน้าสื่อต่างๆ ขณะที่ในวงวิชาการก็มีงานศึกษาเรื่องชาวจีนอพยพใหม่ในไทยปรากฏมากขึ้นโดยเฉพาะในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขยายตัวและการเคลื่อนไหวของชาวจีนอพยพใหม่มีความเด่นชัดขึ้นและมีผลกระทบต่อสังคมทั้งในเชิงบวกและลบ ในด้านดีการเคลื่อนไหวของชาวจีนอพยพใหม่อาจมีส่วนในการช่วยพัฒนาความเป็นเมือง ทำให้เกิดความเจริญด้านวัตถุ มีการนำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีส่วนช่วยส่งเสริม soft power และวัฒนธรรมไทย แต่บางส่วนก็มีการกระทำที่ผิดกฎหมายหรืออาศัยช่องว่างทางกฎหมายดำเนินการ ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยตั้งแต่การลักลอบเข้าเมือง การใช้วีซ่าผิดประเภท การจดทะเบียนสมรสเท็จไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบระดับประเทศอย่างการใช้นอมินีดำเนินธุรกิจและกว้านซื้อที่ดิน การขยายเครือข่ายสีเทา การค้ามนุษย์ การใช้ไทยเป็นฐานในการประกอบอาชญากรรม การค้ายาเสพติด ฯลฯ ดังนั้น การศึกษาและติดตามสถานการณ์ของชาวจีนอพยพใหม่จึงมีความสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดการต่อการเข้ามาของชาวจีนที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ตลอดจนอุดรอยรั้วปรับแก้กฎหมายที่มีช่องโหว่และล้าสมัย อีกทั้งควรมีการกวดขันจับกุมต่อการกระทำผิดอย่างเคร่งครัด ทั้งผู้กระทำผิดชาวจีนและชาวไทยที่มีส่วนร่วม เพราะหากปล่อยให้ชาวจีนกลุ่มนี้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จนเกินขอบเขตกว่าจะรู้ตัวอีกทีสถานการณ์อาจเลวร้ายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ ผู้ที่รับผลกระทบทั้งหมดก็หนีไม่พ้นประชาชนชาวไทย

.


.

รายการอ้างอิง

[1] สมาพันธ์วัฒนธรรมจีน-ไทย. (2018) . สัมภาษณ์ประธานสมาพันธ์ตู้ห่าว (泰中文联监委会主席杜浩访谈) . Sohu News (搜狐新闻). https://www.sohu.com/a/260040655_450778

[2] Ma Guitong. (2560). ความหมายและลักษณะของวัฒนธรรมกวนซี่ของสังคมชาวจีน. ผู้จัดการออนไลน์. https://mgronline.com/china/detail/9600000122762


บทความล่าสุด

Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)

(PART II: The Rise of Global Semiconductor Demand: A Choke Point amidst U.S.-China Geopolitical Tech War) Sasirada Sringam Picture Source: Foreign Policy: “Semiconductors and the U.S.-China Innovation Race: Geopolitics of the supply chain and the central role of Taiwan” Nowadays, semic

2567
-
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
-
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ (บทความนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอนก่อนหน้า >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)) 3. ความกังวลและความท้าทายของไทยเมื่อฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน           นับแต่ไทยประกา

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ทุกท่านคงทราบข่าวการเดินทางมาไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว การเดินทางมาในครั้

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ กัมพูชาอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพนันได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยอุตสาหกรรมการพนันสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาลและทำให้กัมพูชากลายเป็นประเทศที่มีคาสิโนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตามมาด้วยเมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์) ปัจจุบันคาสิโนมักกระจุกตัวอยู่บริเวณช

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2566
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์จีนศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330