บทความของศูนย์จีนศึกษา

ศูนย์จีนศึกษา

การศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้เรื่องจีน เริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมกับกระแสการส่งเสริมเอเชียศึกษาทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ การเกิดสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีน ในปีพ.ศ.2510 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ก่อตั้งสถาบันเอเชียศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ โดยทำการสอน วิจัย และเผยแพร่เรื่องจีนเป็นกิจกรรมสำคัญ ภายหลังไทย-จีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว และสถาบันเอเชียศึกษาได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 และกิจกรรมเรื่องจีนศึกษามีมากขึ้น ในปีพ.ศ.2538 ซึ่งเป็นวโรกาสที่ไทย-จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 20 ปี สถาบันเอเชียศึกษา จึงได้ก่อตั้งศูนย์จีนศึกษาขึ้น เพื่อการทำวิจัยในลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชา คือ ครอบคลุมความรู้ในหลายด้านที่เกี่ยวกับจีน ได้แก่ การเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคม วัฒนธรรมและภาษา รวมทั้งความรู้ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับจีน เพื่อสร้างฐานข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องจีนศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นบริการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนในระดับต่างๆ และเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเรื่องจีนศึกษากับนักวิชาการเรื่องจีนศึกษาทั่วโลก


Websites http://www.csc.ias.chula.ac.th 
facebook page ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ Chinese Studies Center, CU | Facebook


ช่องทางการรับชมและติดตามผลงานของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ซึ่งได้มีการรวบรวมไว้ในรูปแบบของ Podcast จีนศึกษา
soundcloud https://bit.ly/3vzdVkG
apple podcast https://apple.co/2P2KMxg
Spotify https://spoti.fi/38RJj43
youtube https://bit.ly/3rVKGGB

เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์

ทุกท่านคงทราบข่าวการเดินทางมาไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว การเดินทางมาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือความร่วมมือร่วมกันโดยมีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งหนึ่งในวาระสำคัญของการเยือนไทยครั้งนี้ที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ คือ การลงนามความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) ระหว่างจีนและไทย ที่ระบุให้ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย และผู้ถือหนังสือเดินทางกึ่งราชการ รวมถึงหนังสือเดินทางธรรมดาของจีน โดยสามารถพำนักในประเทศคู่ตกลงได้ไม่เกิน 30 วัน สามารถขอขยายเวลาได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน ภายในกรอบเวลาพำนักในประเทศ 180 วัน ซึ่งการฟรีวีซ่านี้ครอบคลุมเฉพาะการเดินทางเพื่อท่องเที่ยว ไม่ครอบคลุมการพำนักถาวร การทำงาน การศึกษา กิจกรรมด้านสื่อ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตล่วงหน้า

สำหรับไทยแล้วได้มีการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนก่อน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่มีวันหยุดยาวช่วงวันชาติจีน ยาวไปถึงช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยและช่วงต้นปีที่ตรงกับช่วงวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีนของจีน ซึ่งนอกจากจีนแล้วในช่วงเวลาเดียวกันไทยยังยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวให้กับคาซัคสถานด้วย โดยรัฐบาลไทยให้เหตุผลว่านักท่องเที่ยวคาซัคสถานเป็นตลาดใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อไทยประกาศยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนจึงเกิดคำถามขึ้นในเวลาเดียวกัน ว่าเหตุใดไทยจึงยกเว้นวีซ่าให้จีนฝ่ายเดียว ทำไมจีนไม่ยกเว้นวีซ่าให้แก่ไทยบ้าง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นนี้อย่างแพร่หลาย ทั้งที่กล่าวว่าไทยพยายามฝักไฝ่ฝ่ายจีน ไทยกำลังตกเป็นเบี้ยล่างของจีน ต่อไปไทยจะกลายเป็นมณฑลไท่กั๋ว ฯลฯ อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวว่าไทยและจีนมีการหารือเรื่องการยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวไทยที่จะเดินทางเข้าจีนหลายครั้งตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 แล้ว แต่เพิ่งมีข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2567

1. ฟรีวีซ่าแล้วใครวิน (win)?

การยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนที่เกิดขึ้นแล้วและการยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2567 ถูกคาดหวังว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อทั้งสองประเทศหลายประการในหลากหลายมิติ  

ประการแรก เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของไทยและจีน นักท่องเที่ยวไทยและจีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ สำหรับไทย อย่างที่ทุกคนทราบว่านักท่องเที่ยวจีนเคยเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของไทยติดต่อกันมาหลายปี สร้างรายได้นับแสนล้านบาทต่อปี แต่นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหายไปจำนวนมากและยังไม่สามารถฟื้นคืนจำนวนกลับมาได้ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยและรายได้ของประเทศ รัฐบาลไทยจึงคาดหวังว่าการยกเว้นวีซ่าจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่จีนเองก็พยายามเปิดประเทศและเปิดกว้างต่อทั่วโลก ถึงแม้ว่ารายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ใช่รายได้หลักของประเทศ แต่การกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าจีนย่อมส่งผลดีต่อจีน นัยหนึ่งเป็นอีกช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่ยังชะลอตัว การยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวไทยจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวไทยที่เป็นขาประจำ และเป็นการเปิดตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวไทยหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยเดินทางไปจีน ซึ่งกระแสการท่องเที่ยวในประเทศจีนมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อพิจารณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ของไทยที่นำเสนอรีวิวการท่องเที่ยวในจีน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติของจีน เช่น ลี่เจียง จางเจียเจี้ย ฮาร์บิ้น การท่องเที่ยวเพื่อซื้อของหรือหาลู่ทางนำเข้าสินค้าจีนตามเมืองค้าส่ง เช่น อี้อู กวางเจา การท่องเที่ยวเพื่อชมความเป็นเมือง เช่น นครเซี่ยงไฮ้ นครฉงชิ่ง หรือแม้กระทั่งการรีวิวห้องน้ำตามสถานที่ต่างๆ ของจีน ล้วนได้รับความสนใจเชิงบวกจากนักท่องเน็ตไทยจำนวนมาก 

ประการที่สอง เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน  การยกเว้นวีซ่าจะทำให้เกิดการเดินทางระหว่างกันมากขึ้น อาจนำมาซึ่งโอกาสในการทำการค้าการลงทุนตามมา ในส่วนของไทยได้มีการส่งเสริมให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมานักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับต้นๆ ของไทยโดยเฉพาะการลงทุนผ่าน BOI และการลงทุนในพื้นที่ EEC การลงทุนจากจีนจึงถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ในส่วนของจีน รัฐบาลจีนเปิดกว้างและส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรม โดยมีการออกนโยบายและเพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง การยกเว้นวีซ่าจีนแก่นักท่องเที่ยวไทยและจีน ถึงแม้จะไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนโดยตรง แต่ก็ส่งผลโดยอ้อมต่อการค้าการลงทุนไทย-จีน ทั้งในมิติการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และโอกาสอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเดินระหว่างประเทศสะดวกขึ้น

ประการที่สาม การท่องเที่ยวเปรียบเสมือนสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน การส่งเสริมให้คนจีนและไทยเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันจะกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม ซึ่งในมิติของการขยาย Soft power  (หรืออำนาจละมุน) วัฒนธรรมถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยได้มีความสนใจและมีแนวคิดในการส่งเสริม soft power ด้านต่างๆ โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 ด้าน (5F) ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fight) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival) การท่องเที่ยวจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนกิจกรรม 5F ดังกล่าว โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสนใจในวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมแล้ว การยกเว้นวีซ่ายังเป็นโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนในมิติอื่นๆ ที่มีผลกระทบสำคัญต่อทั้งสองประเทศด้วย เช่น การสมรสข้ามวัฒนธรรม การอพยพย้ายถิ่นถาวร การย้ายถิ่นเพื่อการศึกษา ฯลฯ 

ประการที่สี่ นอกจากผลประโยชน์ระดับประเทศแล้ว ในระดับประชาชนก็ได้รับประโยชน์โดยตรงเช่นกัน สำหรับไทยแล้วการยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจีนคือการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยดังเดิม ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา ไทยจะเคยมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าในบางช่วงเวลา หรือมีการใช้ระบบ E-VISA และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถขอ visa on arrival (VOA) ได้ แต่การเดินทางผ่าน ตม.ไทยที่ผ่านมานั้นยังใช้เวลานานหลายชั่วโมง ทั้งด้วยระบบที่ไม่เสถียรกอปรกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาก  ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากใช้เวลาในการผ่าน ตม.นานถึง 2-3 ชั่วโมง บางรายใช้เวลานานถึง 3-4 ชั่วโมง สร้างความไม่สะดวกและความไม่ประทับใจแก่นักท่องเที่ยวจีนจนเกิดการบอกต่อและไม่อยากกลับมาเที่ยวซ้ำ ขณะที่การยกเว้นวีซ่าในปัจจุบันนั้นนักท่องเที่ยวจีนจะใช้เวลาในการผ่านด่าน ตม. คนละไม่กี่นาทีเท่านั้น ดังนั้นประชาชนในฐานะนักท่องเที่ยวจึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์ทางตรงเต็มๆ นอกจากนี้ ยังมีข่าวหลุดออกมาประปรายว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเรียกเงินสินบน หรือรับเงินพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกพิเศษให้แก่นักท่องเที่ยวจีนบางรายด้วย การยกเว้นวีซ่านอกจากจะลดขั้นตอน ประหยัดเวลาแล้ว ยังสามารถช่วยลดปัญหาการทุจริตในหมู่เจ้าหน้าที่ได้ด้วย ถือเป็นการอำนวยความความสะดวกและแก้ไขปัญหาให้แก่นักท่องเที่ยวจีนอย่างแท้จริง

อีกประการหนึ่ง ในทางอ้อมการยกเว้นวีซ่าทำให้เกิดการเดินทางมากขึ้น หลายสายการบินจึงเริ่มมีการเพิ่มเส้นทางและเพิ่มเที่ยวบินในหลายจุดหมายปลายทางเพื่อรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งอัตราค่าตั๋วเครื่องบินยังมีแนวโน้มที่จะลดราคาลง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้เดินทางท่องเที่ยว

.

2. ฟรีวีซ่าจีน-ไทยสะท้อนให้เห็นอะไร?

          สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการยกเว้นวีซ่าไทย-จีนอันดับแรก คือความสัมพันธ์ไทย-จีนที่ก้าวไปอีกระดับ การยกเว้นวีซ่าระหว่างไทยและจีนเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเป็นรูปธรรม และสะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การเป็นประชาคมที่มีโชคชะตาร่วมกันจีน-ไทย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นนิมิตหมายอันดี และเป็นการเฉลิมฉลองล่วงหน้าสำหรับวาระการครบครอบ 50 แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน ในปี 2568

          ลำดับต่อมา สำหรับไทยแล้วการยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจีนคือการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยดังเดิม เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีการพึ่งพาจีนอยู่มาก หรืออาจจะมากเกินไป หากขาดนักท่องเที่ยวจีนไปไทยจะได้รับผลกระทบลูกใหญ่ ไทยจึงต้องพยายามหาหนทางในการดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมา ในส่วนของจีน การยกเว้นวีซ่าสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่จีนมีต่อไทย หากพิจารณาถึงที่ผ่านมา จีนมีการยกเว้นวีซ่าให้แก่หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ เพื่อทำธุรกิจ ท่องเที่ยว เยี่ยมเยียนครอบครัว และการแวะเปลี่ยนเครื่องเพื่อเดินทางต่อ ซึ่งการยกเว้นวีซ่าดังกล่าวนั้น มิได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังมีนัยยะด้านการต่างประเทศและความมั่นคงแฝงด้วย ดังนั้น การที่จีนยกเว้นวีซ่าให้แก่ไทยนั่นย่อมหมายถึงว่าไทยมีความหมายหรือมีความสำคัญบางประการต่อจีนเช่นกัน ขณะเดียวกันเรื่องของวีซ่าเป็นเรื่องเกี่ยวพันถึงความมั่นคงของประเทศ การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวไทยยกเว้นวีซ่าเข้าจีนได้ นั่นหมายความว่าจีนพิจารณาแล้วว่านักท่องเที่ยวไทยมิได้มีปัญหาหรือมีพฤติกรรมอันจะเป็นภัยคุกคามต่อจีน

(บทความนี้ยังไม่จบ โปรดติดตามเนื้อหาตอนถัดไป >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2))


บทความล่าสุด

Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)

(PART II: The Rise of Global Semiconductor Demand: A Choke Point amidst U.S.-China Geopolitical Tech War) Sasirada Sringam Picture Source: Foreign Policy: “Semiconductors and the U.S.-China Innovation Race: Geopolitics of the supply chain and the central role of Taiwan” Nowadays, semic

2567
-
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
-
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ (บทความนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอนก่อนหน้า >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)) 3. ความกังวลและความท้าทายของไทยเมื่อฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน           นับแต่ไทยประกา

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ กัมพูชาอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพนันได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยอุตสาหกรรมการพนันสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาลและทำให้กัมพูชากลายเป็นประเทศที่มีคาสิโนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตามมาด้วยเมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์) ปัจจุบันคาสิโนมักกระจุกตัวอยู่บริเวณช

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2566
กระแสเอเชีย
“ตู้ห่าว” ภาพสะท้อน “ชาวจีนอพยพใหม่” ในไทย
“ตู้ห่าว” ภาพสะท้อน “ชาวจีนอพยพใหม่” ในไทย

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ภาพตู้เย่ว์เซิง ผู้ทรงอิทธิพลในเซี่ยงไฮ้ (ภาพจาก https://www.sohu.com/a/251327986_557768) . นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ตู้ห่าว” นายทุนจีนที่ถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้างและถูกสืบสาวเรื่องราวชีวิตอย่างละเอียด ตู้ห่าวเป็นนายทุนจีนที่เข้ามาประกอบธุรกิจสีเทารายให

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2566
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์จีนศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330