บทความของศูนย์จีนศึกษา

ศูนย์จีนศึกษา

การศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้เรื่องจีน เริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมกับกระแสการส่งเสริมเอเชียศึกษาทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ การเกิดสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีน ในปีพ.ศ.2510 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ก่อตั้งสถาบันเอเชียศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ โดยทำการสอน วิจัย และเผยแพร่เรื่องจีนเป็นกิจกรรมสำคัญ ภายหลังไทย-จีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว และสถาบันเอเชียศึกษาได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 และกิจกรรมเรื่องจีนศึกษามีมากขึ้น ในปีพ.ศ.2538 ซึ่งเป็นวโรกาสที่ไทย-จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 20 ปี สถาบันเอเชียศึกษา จึงได้ก่อตั้งศูนย์จีนศึกษาขึ้น เพื่อการทำวิจัยในลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชา คือ ครอบคลุมความรู้ในหลายด้านที่เกี่ยวกับจีน ได้แก่ การเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคม วัฒนธรรมและภาษา รวมทั้งความรู้ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับจีน เพื่อสร้างฐานข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องจีนศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นบริการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนในระดับต่างๆ และเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเรื่องจีนศึกษากับนักวิชาการเรื่องจีนศึกษาทั่วโลก


Websites http://www.csc.ias.chula.ac.th 
facebook page ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ Chinese Studies Center, CU | Facebook


ช่องทางการรับชมและติดตามผลงานของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ซึ่งได้มีการรวบรวมไว้ในรูปแบบของ Podcast จีนศึกษา
soundcloud https://bit.ly/3vzdVkG
apple podcast https://apple.co/2P2KMxg
Spotify https://spoti.fi/38RJj43
youtube https://bit.ly/3rVKGGB

เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์

(บทความนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอนก่อนหน้า >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1))

3. ความกังวลและความท้าทายของไทยเมื่อฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน

          นับแต่ไทยประกาศยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจีนก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะความกังวลต่อประเด็นความมั่นคงว่าจะมีชาวจีนฉวยโอกาสดังกล่าวเข้ามากระทำการที่ “มิชอบ” หรือ “สีเทา” ในไทย นอกจากนี้ ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงบรรยากาศการท่องเที่ยวเมื่อนักท่องเที่ยวจีนกลับมา ซึ่งต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนในอดีตได้สร้างภาพจำที่ไม่ดีให้แก่คนไทย และคนไทยบางส่วนยังมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีต่อชาวจีนอยู่ จึงเป็นความท้าทายของไทยต่อการควบคุม ป้องกันและปราบปรามมิให้ความร่วมมือดังกล่าวนำมาซึ่งผลกระทบด้านอื่นๆ

  • ผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว

หากนักท่องเที่ยวจีนในไทยเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นทะลักเข้าไทย หลายคนอาจมีความกังวลว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร จะกระทบกับนักท่องเที่ยวคุณภาพชาติอื่นหรือไม่ บรรยากาศการท่องเที่ยวจะเสีย ทรัพยากรธรรมชาติจะเสื่อมโทรมหรือไม่?

          ต่อประเด็นนี้ หากมองโดยปราศจากอคติจะพบว่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนทุกวันนี้เปลี่ยนไป ชาวจีนรุ่นใหม่มีความเป็นสากลมากขึ้น ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น การเดินทางท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ (กรุ๊ปทัวร์) ลดลง เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น การเดินทางแบบกลุ่มขนาดเล็ก (private group) มีเพิ่มขึ้น การจับจ่ายในระหว่างท่องเที่ยวสูงขึ้น ในส่วนผู้สูงอายุที่เดินทางมากับทัวร์ก็ได้รับการควบคุมและแนะนำจากไกด์ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนปัจจุบันจึงไม่น่ากังวลเท่ากับยุคก่อน และหากปรากฎพฤติกรรมแย่กรณีร้ายแรงที่สุดก็คงไม่แย่ไปกว่ายุคก่อนที่กระแสการท่องเที่ยวไทยยังได้รับความนิยมสูง เช่น เสียงดัง สูบบุหรี่ ขากถุย ไม่รักษามารยาทในที่สาธารณะ ไม่ต่อคิว ไม่มีความเกรงใจต่อชุมชนและท้องถิ่น เป็นต้น

ด้านการเสื่อมโทรมของสถานที่ท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลนัก เพราะเป็นประเด็นที่ขึ้นอยู่กับการจัดการของไทยและผู้ดูแลสถานที่นั้นๆ ทั้งนี้ สถานที่บางแห่งอาจเปิดให้ท่องเที่ยวเป็นบางฤดูกาล หรือจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวก็ย่อมได้ เพื่อให้ธรรมชาติเกิดการฟื้นฟูและผู้คนไม่หนาแน่นเกินไป

  • การกลับมาของทัวร์ศูนย์เหรียญ

          ประเด็นที่น่ากังวลใจกว่าการเสื่อมโทรมด้านการท่องเที่ยวคือ การกลับมาของทัวร์ศูนย์เหรียญ นับแต่มีการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทัวร์ศูนย์เหรียญในไทยลดจำนวนลงไปมากเพราะนักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่หากกระแสความนิยมเที่ยวเมืองไทยในหมู่ชาวจีนกลับมา ทัวร์ศูนย์เหรียญก็มีโอกาสฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้

อย่างไรก็ดี การฟื้นคืนชีพของทัวร์ศูนย์เหรียญประเภทที่เป็นทัวร์ราคาถูกเกินกว่าความเป็นจริง เน้นการแวะหรือบังคับซื้อสินค้าราคาแพง อาจจะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับยุคการท่องเที่ยวไทยเฟื่องฟูในอดีตแล้ว เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมตามที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น อีกทั้งการเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตก็มีแพร่หลาย แต่ทัวร์ศูนย์เหรียญประเภทที่ใช้บริการแต่กิจการของชาวจีน เช่น รถทัวร์จีน ที่พักจีน ร้านอาหารจีน ร้านขายของของชาวจีน บริษัททัวร์ของชาวจีน ฯลฯ ทำให้รายได้กระจายอยู่แต่ในหมู่นายทุนชาวจีน ตกไม่ถึงผู้ประการไทยและท้องถิ่นอย่างแท้จริงน่าจะยังมีอยู่ จึงเป็นความท้าทายของไทยว่าจัดการต่อปัญหานี้อย่างไร ซึ่งปัญหานายทุนจีนดังกล่าวมิได้มีปรากฏแต่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีปรากฎให้เห็นทั่วไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

  • การเข้าประเทศเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว

          การอาศัยวีซ่าท่องเที่ยวเข้าประเทศเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว ถือเป็นประเด็นที่น่ากังวลใจมากและควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาถึงแม้จะมีการขอวีซ่า แต่มีคนจีนจำนวนไม่น้อยอาศัยวีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาดำเนินกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ประกอบธุรกิจ ทำงาน ทำธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งหากการกระทำเหล่านั้นเป็นเพียงการเข้าเมืองโดยใช้วีซ่าผิดประเภทเพื่อประกอบอาชีพทั่วไปก็ยังไม่ร้ายแรงมากนัก แต่หากเป็นการเข้ามาเพื่อดำเนินกิจกรรมลักษณะอื่น เช่น การค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด ลงทุนในธุรกิจผิดกฎหมาย จะน่ากังวลและส่งผลลบต่อไทยร้ายแรงยิ่งกว่า ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของไทยที่จะต้องติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดและวางมาตรการเพื่อป้องกันมิให้ชาวจีนมาฉกฉวยโอกาสดังกล่าว

  • การขยายตัวของจีนสีเทา

นอกเหนือจากทัวร์ศูนย์เหรียญ คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความกังวลว่าหากให้อนุญาตนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยได้อย่างเสรีแล้วจะยิ่งทำให้ “จีนสีเทา” ในไทยเพิ่มขึ้น เพราะคนจีนสามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวก ปราศจากการตรวจสอบที่มาที่ไป ในท้ายที่สุดไทยอาจเป็นฐานให้คนจีนเข้ามากระทำการที่ผิดกฎหมายหรือแสวงหาผลประโยชน์ในไทย

          ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “จีนสีเทา” มีความหมายอย่างไร? โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าจีนสีเทาหมายถึงชาวจีนหรือธุรกิจของชาวจีนที่ดำเนินการอย่างผิดกฎหมายในไทย  แต่จริงๆ แล้วชาวจีนหรือธุรกิจของชาวจีนที่ผิดกฎหมายในไทยควรเรียกว่า “จีนสีดำ” ส่วนจีนสีเทาคือ ชาวจีนหรือธุรกิจของชาวจีนที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายในการดำเนินการ เช่น การจดทะเบียนสมรสเท็จเพื่ออาศัยสิทธิ์คู่สมรสในการดำเนินการบางอย่าง การใช้นอมินีคนไทยในการถือหุ้น จดทะเบียน หรือดำเนินธุรกรรมต่างๆ ฯลฯ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่ไม่สุจริต เป็นสีขาวผสมสีดำ จึงเรียกว่าเป็นจีนสีเทา การเอาผิดหรือควบคุมชาวจีนกลุ่มนี้จึงกระทำได้อยาก

          อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตามความเป็นจริงจะพบว่าการเกิดขึ้นของจีนสีเทาในไทยนั้นมีมานานแล้ว ถึงแม้จะต้องมีการขอวีซ่าก็ตาม  ดังนั้น อาจจะคิดในอีกแง่หนึ่งได้ว่าการมีหรือไม่มีวีซ่าก็ไม่สามารถควบคุมการเข้ามาของจีนสีเทาได้ ยกตัวอย่างเช่น เคสขอทานข้ามชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ปรากฏข่าวการจับกุมแก๊งขอทานชาวจีนที่บ้างก็ถูกตัดมือ บ้างก็หน้าตาเป็นแผลเป็นจนไม่เหลือเค้าเดิม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ จากการสอบสวนพบว่าชาวจีนเหล่านี้มีการเดินทางเข้าออกไทยอยู่เป็นระยะ ที่สำคัญเป็นการเข้าออกอย่างถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วีซ่าท่องเที่ยว มีส่วนน้อยไปเปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าอื่น เช่น วีซ่านักเรียน หรือกรณีนายตู้ห่าว นักธุรกิจจีนผู้ร่ำรวยที่แต่งงานกับหญิงไทย ก็อาศัยเส้นสายในการเปลี่ยนสัญชาติและดำเนินธุรกิจสีเทาในไทย หรือกรณีการอุ้มชาวจีนไปเรียกค่าไถ่ หลายเคสที่เกิดขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมาล้วนเกิดขึ้นจากชาวจีนที่เดินทางเข้าประเทศโดยถูกกฎหมายทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องพึงระวังและควรทำคือ การติดตามอาชญากรรมและคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากชาวจีนหลังยกเว้นวีซ่า ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เพื่อพิสูจน์ว่าการยกเว้นวีซ่ามีผลต่อจำนวนธุรกิจจีนสีเทาและจำนวนอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับคนจีนในไทยหรือไม่ ส่วนการป้องกันหรือการปราบปรามจีนสีเทานั้น คงต้องมีการขุดรากถอนโคนในสองส่วนคือ ส่วนแรกคือการรื้อกฎหมายที่มีช่องโหว่ หรือไม่ทันยุคสมัย และส่วนที่สอง คือการหล่อหลอมให้คนไทยยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และผลประโยชน์ของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อไม่ให้คนไทยไปร่วมขบวนการกับชาวจีน

  • การระบาดเพิ่มขึ้นของกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ หรือมิจฉาชีพทางไซเบอร์

          ในส่วนที่มีความกังวลว่าการยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนจะทำให้คนไทยถูกหลอกทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น เช่น กรณีกลุ่มคอลเซ็นเตอร์นั้นไม่น่ามีมีผลกระทบมากนัก เพราะการหลอกลวงดังกล่าวต่อคนไทยนิยมตั้งฐานปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม แต่เพียงหลอกลวงและหลอกล่อให้คนไทยข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมขบวนการหลอกลวงคนไทยด้วยกันเองเท่านั้น กรณีที่มีการตั้งฐานปฏิบัติการในไทย เป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงคนจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอาศัยคนจีนที่อยู่ในไทยเป็นผู้ร่วมขบวนการ มีทั้งผู้ที่เต็มใจและผู้ที่ถูกหลอกลวงมาทำงาน แต่อย่างไรก็ดี การปฏิบัติการรูปแบบดังกล่าวกระทำได้ยากขึ้น เพราะทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนต่างปราบปราบและดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดอยู่ตลอด โดยเฉพาะรัฐบาลจีนได้จัดให้เรื่องดังกล่าวเป็นวาระสำคัญที่ต้อบกวาดล้างแพราะสร้างความเสียหายมหาศาลต่อชาวจีนและภาพลักษณ์ของประเทศ ในปี 2566-2567 ปรากฎข่าวและคลิปรัฐบาลจีนจับกุมและส่งกลับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยแล้วจำนวนหลายหมื่นคน

  • การเพิ่มขึ้นของชาวจีนและชาวจีนอพยพใหม่

การยกเว้นวีซ่าไทย-จีน ในระยะยาวมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีจำนวนชาวจีนในไทยจะเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะชาวจีนอพยพใหม่ (หมายถึงชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ไทยถาวรหรือระยะยาวเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ เช่น ทำการค้า ศึกษาต่อ รับจ้าง ฯลฯ) เนื่องจากการเดินทางระหว่างไทย-จีนสะดวกขึ้น ค่าใช้จ่ายน้อยลง ค่าเดินทางมีแนวโน้มจะถูกลงเพราะมีอุปสงค์จากทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อคนไทยและจีนเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้นย่อมก่อให้เกิดโอกาสในการประกอบอาชีพและช่องทางในการหารายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อไทย อย่างไรก็ดี ชาวจีนบางส่วนอาจอพยพมาด้วยเหตุผลอื่นที่มีใช่เหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ชื่นชอบบรรยากาศสังคมไทย อพยพมาเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณ อพยพมาเพื่อรักษาพยาบาล ฯลฯ ชาวจีนกลุ่มนี้อาจนำมาซึ่งประโยชน์ต่อไทย ประเด็นนี้จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไทยควรติดตามและเฝ้าระวัง เพราะก่อนไทยจะยกเว้นวีซ่าให้กับจีน โดยเฉพาะช่วงก่อนโควิด-19 ได้มีชาวจีนอพยพใหม่ในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งหากไทยมีการจัดการที่ดี ชาวจีนเหล่านี้อาจนำประโยชน์มาสู่ไทยได้

.

4. บทสรุปของการฟรีวีซ่า

          สุดท้ายนี้ การจะหาข้อสรุปว่ายกเว้นวีซ่าไทยและจีนนั้นดีหรือไม่? ใครได้ประโยชน์สูงสุด? นั้นคงพูดยาก ในส่วนของจีน การยกเว้นวีซ่าจีนให้แก่นักท่องเที่ยวไทยน่าจะมีไม่มีอะไรต้องกังวลนัก แต่ในส่วนของไทยการยกเว้นวีซ่าไทยให้นักท่องเที่ยวจีนหากจะกล่าวว่าดีหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับว่าพิจารณาในมุมไหน หากมองในเชิงเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการไทยและแรงงานไทยที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว เพราะนับตั้งแต่ไทยประกาศยกเว้นวีซ่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไทยเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น เห็นได้ชัดจากนับแต่ต้นปี 2567 เราเริ่มเห็นบรรยากาศนักท่องเที่ยวจีนและรถทัวร์จีนกลับมาจอดเรียงรายเต็มฝั่งถนนใกล้ท้องสนามหลวง แต่หากมองในเชิงความมั่นคง การหลั่งไหลเข้ามาของชาวจีนก็มีความเสี่ยงที่จะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ตามมา ฉะนั้น การยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจีนจึงมีนัยยะสำคัญมากกว่าแค่เรื่องท่องเที่ยว เช่นนี้จึงมิใช่ว่าไทยยกเว้นวีซ่าให้จีนแล้วรอชื่นชมกับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นแล้วจะจบ ถือว่าประสบความสำเร็จได้ หลังการยกเว้นวีซ่าไทยยังคงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในแง่ปลายทางของเม็ดเงินที่หมุนเวียน การเพิ่มขึ้นของจำนวนชาวจีนและอาชญากรรมจีนในไทย คุณภาพการท่องเที่ยวและการบริการ ความรู้สึกและความประทับใจของนักท่องเที่ยวและชุมชน ตลอดจนประเด็นอื่นๆ เพื่อให้การยกเว้นวีซ่าระหว่างไทยและจีนเป็นความร่วมมือไทยที่สร้างสรรค์และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง



บทความล่าสุด

Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)
Reasons behind Taiwan’s Global Leadership in the “Silicon Shield” of Semiconductors(2)

(PART II: The Rise of Global Semiconductor Demand: A Choke Point amidst U.S.-China Geopolitical Tech War) Sasirada Sringam Picture Source: Foreign Policy: “Semiconductors and the U.S.-China Innovation Race: Geopolitics of the supply chain and the central role of Taiwan” Nowadays, semic

2567
-
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
-
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ทุกท่านคงทราบข่าวการเดินทางมาไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว การเดินทางมาในครั้

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน
สถานการณ์อุตสาหกรรมการพนันในกัมพูชาและบทบาทของจีน

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ กัมพูชาอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพนันได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยอุตสาหกรรมการพนันสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาลและทำให้กัมพูชากลายเป็นประเทศที่มีคาสิโนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตามมาด้วยเมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์) ปัจจุบันคาสิโนมักกระจุกตัวอยู่บริเวณช

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2566
กระแสเอเชีย
“ตู้ห่าว” ภาพสะท้อน “ชาวจีนอพยพใหม่” ในไทย
“ตู้ห่าว” ภาพสะท้อน “ชาวจีนอพยพใหม่” ในไทย

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ภาพตู้เย่ว์เซิง ผู้ทรงอิทธิพลในเซี่ยงไฮ้ (ภาพจาก https://www.sohu.com/a/251327986_557768) . นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ตู้ห่าว” นายทุนจีนที่ถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้างและถูกสืบสาวเรื่องราวชีวิตอย่างละเอียด ตู้ห่าวเป็นนายทุนจีนที่เข้ามาประกอบธุรกิจสีเทารายให

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2566
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์จีนศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330