บทความของศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา

facebook page JapanAsean Chula | Facebook

ศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา

ในปี 2018 โครงการญี่ปุ่นศึกษาได้รับการยกระดับขึ้นเป็นศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีความเชื่อมโยงกับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และสถานการณ์ที่ประเด็นปัญหาของสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในแง่ความซับซ้อนของปัญหา และความซับซ้อนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งระหว่างภาคีในประเทศและระหว่างประเทศ การรับมือกับประเด็นทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมิติที่ซับซ้อนนี้ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางกว่าความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี   

ศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัยในมิติต่างๆของความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน สร้างเครือข่ายนักวิชาการและผู้สนใจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เผยแพร่ความรู้และผลงานวิจัยให้แก่สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสอน การจัดประชุม สัมมนา ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและเพื่อประโยชน์ของความร่วมมือกันต่อไป

ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต (ตอนที่ 2): บทเรียนที่ได้และมาตรการรับมือ

บทความนี้เป็นบทแปลการบรรยายของ Prof. Dr. Suzuki Jun จาก Faculty of Letters University of Tokyo ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่และภัยพิบัติญี่ปุ่น ในงานสัมมนาแบบไฮบริด เรื่อง “การเมือง-วัฒนธรรมในภัยพิบัติ: 1 ศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ – ประจวบเหมาะ เมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น. โดยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื้อหาของบทความชุดนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 กล่าวถึงลักษณะพิเศษของแผ่นดินไหวใหญ่คันโต ภาพรวมของแผ่นดินไหวและความเสียหาย สาเหตุของไฟไหม้ครั้งใหญ่ และตอนที่ 2 กล่าวถึงข่าวลือเกี่ยวกับชาวเกาหลี และบทเรียนที่ได้จากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต

แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย ดร. กฤตพล วิภาวีกุล

.

ข่าวลือเกี่ยวกับชาวเกาหลี

ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเสียหายจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโตอีกประการหนึ่งคือเหตุฆาตกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 2 กันยายน ในช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นกำลังปกครองเกาหลีในฐานะประเทศอาณานิคมอยู่  เกาหลีเคยเป็นประเทศที่มีเอกราชจนถึง ค.ศ.1910 จึงมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยประเทศให้เป็นเอกราชเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการเผยแพร่ข่าวสารทางลบในประเทศญี่ปุ่นเพื่อชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมของขบวนการเรียกร้องเอกราชเป็นกิจกรรมของชาวเกาหลีที่ชั่วร้าย

ขณะที่ไฟไหม้จากแผ่นดินไหวลุกลามกระจายตัวออกไป มีการปล่อยข่าวลือว่าชาวเกาหลีขว้างปาระเบิด วางเพลิง วางยาพิษลงในบ่อน้ำหรือก่อจลาจล สาเหตุของเรื่องนี้คือ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่จะเกิดเสียงระเบิดดังขึ้น เนื่องจากการระเบิดของก๊าซสำหรับการอุปโภคภายในเขตบ้านพักอาศัย หรือการระเบิดของก๊าซติดไฟที่สะสมอยู่ในห้องเก็บของ การขาดความรู้และความเข้าใจสถานการณ์เหล่านี้ก็ทำให้หวาดระแวงเกี่ยวกับเสียงระเบิด ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับสะเก็ดไฟ และความรู้สึกอึดอัดที่จะไม่สามารถดื่มน้ำจากบ่อน้ำตามปกติได้เนื่องจากน้ำประปาถูกตัดขาด ภายใต้ภาวะตื่นตระหนกอาจทำให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้สึกทางลบเหล่านี้เข้ากับขบวนการเคลื่อนไหวของชาวเกาหลี ตามที่พวกเขาได้รับรู้อยู่เป็นประจำผ่านการรายงานทางหนังสือพิมพ์ก็เป็นไปได้

ข่าวลือเริ่มแพร่กระจายขยายตัวออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วในขณะที่มีผู้อพยพเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งหวาดกลัวต่อกิจกรรมการเคลื่อนไหวของชาวเกาหลีจึงดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างรุนแรง หลังจากข่าวลือต่างๆ ได้รับการรายงานจนกลายเป็นข้อมูล กรมตำรวจนครบาลซึ่งรับผิดชอบด้านความมั่นคงในโตเกียว และสำนักงานความมั่นคงของกระทรวงมหาดไทยซึ่งดูแลความมั่นคงทั่วประเทศ ตลอดจนกองทัพบกซึ่งเป็นกองกำลังที่ได้รับอำนาจจากกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในเย็นของวันที่ 2 กันยายน เพื่อรับผิดชอบด้านความมั่นคง เมื่อหน่วยงานเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารได้ จึงต้องส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ตลอดทั้งคืนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมไปถึงยังออกคำสั่งให้จับกุมชาวเกาหลีที่พบเจอทันที การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเหล่านี้ยิ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าข่าวลือที่ได้ยินมาเป็นความจริง

สถานการณ์ที่แย่กว่านั้นคือการตอบสนองของกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งให้เฝ้าระวังในทุกท้องที่เนื่องจากได้รับข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ 2 กันยายน ชาวเกาหลีซึ่งเป็นสมาชิกของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชได้พยายามวางเพลิงเผาสถานที่ต่างๆ พบผู้ขว้างระเบิดและวางเพลิงด้วยการราดน้ำมันภายในกรุงโตเกียว แม้ว่าข้อมูลที่ได้รับมาเหล่านี้จะยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ แต่กลับมีคำสั่งส่งไปยังสถานีส่งสัญญาณของกองทัพเรือในฟูนาบาชิในวันถัดมาคือวันที่ 3 กันยายน และถูกคำสั่งเหล่านั้นก็ส่งต่อไปทั่วประเทศ ทำให้ตำรวจทั่วประเทศเริ่มใช้มาตรการระมัดระวังภัย ดังนั้น การระมัดระวังภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดใกล้เคียงซึ่งได้รับความเสียหายโดยตรงจากแผ่นดินไหวเพียงเล็กน้อยจึงกลายเป็นสถานการณ์ที่ยืนยันว่าข่าวลือที่ผู้อพยพนำเข้ามาในพื้นที่ด้วยเป็นความจริง

ประชาชนตอบสนองต่อข่าวลือด้วยการจัดตั้ง “กลุ่มศาลเตี้ย” (自警団,Jikeidan)  เป็นกลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธที่รวมตัวกันในเมืองต่างๆ ทั่วโตเกียวและหมู่บ้านในพื้นที่ชนบท เพื่อสอบสวนผู้อพยพหรือผู้คนที่พยายามเข้ามาในเขตที่อยู่อาศัยของพวกเขา พวกเขาตั้งด่านตรวจตามถนนหนทางและคอยสั่งผู้คนและรถที่ผ่านทางให้หยุดเพื่อสอบปากคำและไม่ให้เข้าไปพักในเมือง เมื่อพบคนที่พยายามหลีกเลี่ยงการสอบปากคำหรือให้คำตอบที่น่าสงสัย พวกเขาก็จะทำร้ายร่างกายทันที เนื่องจากจุดประสงค์หลักของการสอบปากคำนี้คือการค้นหาชาวเกาหลีที่ก่อความวุ่นวาย ดังนั้นคนที่ออกเสียงภาษาญี่ปุ่นแปลกแปร่งไม่ชัดเจนก็จะถูกตั้งข้อสงสัยไปด้วย มีกรณีคนซึ่งพูดภาษาถิ่นถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนเกาหลีอยู่หลายครั้ง เพราะฝ่ายที่ตรวจสอบเองก็ไม่ได้รู้ภาษาเกาหลีด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าชาวเกาหลีปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารก็ถูกกลุ่มศาลเตี้ยสอบปากคำด้วยเช่นกัน

ภาพที่ 1 กลุ่มศาลเตี้ย (ที่มา 太田 (1923)『避難から帰還迄』)

.

บางกรณีกลุ่มศาลเตี้ยจับกลุ่มคนที่พวกเขาคิดว่าน่าสงสัยและนำตัวไปที่สถานีตำรวจ แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่พวกเขาทำร้ายร่างกายหรือฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยเสียเอง ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมนี้เป็นจำนวนกี่ราย เหยื่อที่ถูกสังหารในเหตุฆาตกรรมครั้งนี้ซึ่งต่อมาได้รับการดำเนินคดีโดยกระทรวงยุติธรรมแบ่งออกเป็นชาวเกาหลี 231 คน ญี่ปุ่น 59 คน และจีน 3 คน แต่เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่านี่ไม่ใช่จำนวนเหตุฆาตกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยคาดว่าน่าจะมีเหยื่อชาวญี่ปุ่นและจีนประมาณ 1,000 รายที่ถูกสังหาร แต่บางทฤษฎีก็อ้างว่าเพียงผู้เสียชีวิตชาวเกาหลีก็มีจำนวนมากถึง 4,000 ราย

นี่ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มศาลเตี้ยทุกคนจะต้องเป็นฆาตกร เพราะชายฉกรรจ์ที่มีความกระตือรือร้นในเมืองแทบทุกคนก็เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มศาลเตี้ย ดังนั้นจึงมีศาลเตี้ยหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับลักษณะของผู้คนในแต่ละพื้นที่ กระทั่งเมื่อถึงวันที่ 3 กันยายน ผู้นำของตำรวจและทหารก็ตระหนักถึงความจริงที่ว่าไม่พบหลักฐานยืนยันการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของขบวนการเรียกร้องเอกราชชาวเกาหลี แต่กิจกรรมของกลุ่มศาลเตี้ยต่างหากที่ขัดขวางความพยายามช่วยเหลือผู้ประสบภัย และกลับเป็นเรื่องที่อันตรายยิ่งกว่า ดังนั้น ภายในวันเดียวกัน ผู้บัญชาการตำรวนจึงออกคำสั่งเตือนให้อย่าสับสนกับข่าวลือจนเกินจริง ในวันที่ 4 กันยายน กลุ่มศาลเตี้ยก็ได้รับคำสั่งห้ามพกพาอาวุธและการออกตรวจตรา จำนวนเหตุฆาตกรรมในโตเกียวเริ่มลดลงในวันที่ 4 กันยายน แต่ในจังหวัดข้างเคียงโดยรอบยังพบเห็นเหตุการณ์ฆาตกรรมและทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายชาวเกาหลีที่ถูกคุ้มกันหรือควบคุมตัวในสถานีตำรวจ

ในวันที่ 4 กันยายน เจ้าหน้าที่ตำรวจต่างก็ตระหนักได้แล้วว่าชาวเกาหลีจำนวนมากควรได้รับการคุ้มครองมากกว่า แต่ประชาชนในท้องถิ่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิดของพวกเขา พวกเขาคิดว่าความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเช่นนี้ต่างหากที่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่สามารถอธิบายการกระทำของกลุ่มศาลเตี้ยเหล่านี้ได้ทั้งหมดด้วยหลักเหตุผลว่าพวกเขาทำไปเพื่อปกป้องชุมชนของตน เพราะพบข้อบ่งชี้บางประการว่าพบผู้ที่มีแรงจูงใจในการกระทำของกิจกรรมกลุ่มศาลเตี้ย เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้ความรุนแรงในบรรดากลุ่มศาลเตี้ยด้วย

             สาเหตุหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการกระทำรุนแรงเช่นนี้ก็คือเกิดวัฒนธรรมซึ่งให้คุณค่ากับการใช้กำลังของผู้ชายในมุมมองเชิงบวกว่าเป็นความกล้าหาญ นักศึกษาชาวเกาหลีคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียลได้เขียนบทวิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ลงในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียลในปีที่เกิดแผ่นดินไหวว่า การศึกษาของญี่ปุ่นมีไว้เพื่อปลูกฝังความคิดว่าญี่ปุ่นเป็นชาติทหารซึ่งผ่านการสู้รบในสงครามมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการใช้ความรุนแรง

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ากองทัพญี่ปุ่นได้สังหารชาวเกาหลี 39 คนและชาวญี่ปุ่น 27 คน ในขณะปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดเหตุการณ์ที่ชาวเกาหลีหรือชาวญี่ปุ่นถูกเข้าใจผิดว่าเป็นชาวเกาหลีจนนำไปสู่การถูกสังหารในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นผลจากทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มศาลเตี้ยกับตำรวจจนถึงวันที่ 4 เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้พร้อมกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกก็ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจว่าเกิดเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่ขึ้นโดยชาวเกาหลี จนต้องส่งกองกำลังทหารมาเพื่อปราบปราม

.

บทเรียนที่ได้และมาตรการรับมือ

หลังเกิดแผ่นดินไหว มีการติดตั้งถังเก็บน้ำสำหรับดับเพลิงและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้น้ำจากแม่น้ำหรือคูเมืองในการดับเพลิงได้ง่ายขึ้นในกรณีที่ระบบน้ำประปาไม่สามารถใช้งานได้ ระบบดับเพลิงของทีมนักดับเพลิงปกติยังคงใช้รถดับเพลิงเป็นกำลังหลักจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 1930 จึงเริ่มมีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนในนาม “หน่วยป้องกันภัย” (警防団Keiboudan) เนื่องจากคาดว่าอาจมีการโจมตีทางอากาศจากภาวะสงคราม ต่อมาใน ค.ศ. 1939 ได้รวมหน่วยดับเพลิงเดิมเข้ากับองค์กรดังกล่าวจัดตั้งเป็น “หน่วยป้องกันภัยพลเรือน”(消防団,Shouboudan) และเริ่มใช้เครื่องสูบน้ำแบบน้ำมัน ภายหลังสงครามได้มีการจัดตั้งหน่วยป้องกันภัยพลเรือนขึ้นทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุนทีมดับเพลิงปกติที่ใช้รถดับเพลิง หน่วยป้องกันภัยพลเรือนจะออกปฏิบัติการดับเพลิงภายในท้องที่ของตัวเอง แต่โดยส่วนใหญ่รถดับเพลิงหลักมักจะไปถึงที่เกิดเหตุก่อนจึงแทบไม่ได้ใช้เครื่องสูบน้ำแบบน้ำมันเลย ด้วยเหตุนี้หน่วยป้องกันภัยพลเรือนในเมืองโกเบจึงไม่ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อม เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน-อาวาจิจึงประสบเหตุการณ์แบบเดียวกันกับหน่วยดับเพลิงของโตเกียวในเหตุแผ่นดินไหวใหญ่คันโต หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงกำหนดมาตรการให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบน้ำมันเผื่อเอาไว้ บทเรียนสำคัญที่ญี่ปุ่นได้เรียนรู้จากแผ่นดินไหวใหญ่ทั้งสองครั้งก็คือ แม้จะมีมาตรการป้องกันภัยพิบัติหลักด้วยรถดับเพลิงอยู่แล้ว แต่หน่วยป้องกันภัยพลเรือนที่เตรียมสนับสนุนพร้อมด้วยเครื่องสูบน้ำก็ยังมีความจำเป็นอยู่

ในเมืองใหญ่อย่างเช่นโตเกียวยังคงติดตั้งปั๊มเครื่องสูบน้ำแบบน้ำมันขนาดเล็กให้แก่กลุ่มผู้ดูแลท้องที่เกือบทุกชุมชน เป็นมาตรการป้องกันอัคคีภัยสำหรับเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี บ่อกักเก็บน้ำสำหรับดับเพลิงในปัจจุบันส่วนใหญ่จะฝังอยู่ใต้ดิน เนื่องจากเงื่อนไขการใช้ที่ดินและข้อกังวลด้านความปลอดภัย ทว่าการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเข้ากับบ่อกักเก็บน้ำสำหรับการดับเพลิงและปล่อยน้ำไปใช้ค่อนข้างยุ่งยากสำหรับผู้ที่ไม่เคยผ่านการฝึกฝนการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ผู้นำกิจกรรมป้องกันภัยในแต่ละท้องที่ย่อมเคยผ่านการฝึกอบรมการใช้งานเครื่องสูบน้ำมาแล้วไม่มากก็น้อย แต่ในปัจจุบันบุคลากรเหล่านี้มีจำนวนลดน้อยลงและกำลังอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังขาดการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอันตรายของสะเก็ดไฟ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการตัดสินใจว่าควรจะอพยพหนีเพลิงไหม้หรืออยู่ภายในชุมชนต่อไปเพื่อป้องกันการลุกลามของไฟ

การประกาศห้ามขนย้ายสัมภาระพกติดตัวมาด้วยขณะอพยพจากเพลิงไหม้ขนาดใหญ่เกิดขึ้นทันทีหลังจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่คันโต หลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบันในญี่ปุ่นจึงไม่มีผู้ใดขนสัมภาระติดตัวออกไปด้วยอีกแล้วขณะเกิดไฟไหม้ ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดการศึกษาให้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตมากกว่าสิ่งของมีค่า ที่จริงแล้วประชาชนทั่วไปต่างก็ทราบดีอยู่แล้วว่าการอพยพด้วยรถยนต์เป็นเรื่องที่อันตรายมาก ในกรณีของแผ่นดินไหวยิ่งมีความเสี่ยงที่รถยนต์อาจทำให้เกิดการจราจรติดขัดบนท้องถนน อีกทั้งรถยนต์ก็สามารถติดไฟได้ด้วย จึงอาจเป็นเหตุทำให้ผู้อพยพคนอื่นไม่สามารถเคลื่อนย้ายผ่านถนนหรือข้ามสะพานได้

ในปัจจุบันอาคารทนไฟมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของสะเก็ดไฟลดน้อยลงไปแล้ว แต่อาคารอาจจะสูญเสียความสามารถในการทนไฟเนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้อยู่ ปัจจุบันอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กยังคงเสียหายทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวหรือกระจกหน้าต่างแตกทำให้สูญเสียความสามารถในการทนไฟ แม้ว่าจะไม่ค่อยพบความเสียหายจากสะเก็ดไฟแล้ว แต่บทเรียนที่ได้รับจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโตก็คือแม้แต่อาคารสูงที่คิดว่ามีความสามารถในการทนไฟได้ ก็ต้องคำนึงถึงโอกาสที่อาจเกิดไฟลุกไหม้จากสะเก็ดไฟในขณะที่เกิดแผ่นดินไหว 

สำหรับข่าวลือขณะเกิดแผ่นดินไหว ปัจจุบันเราระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นอย่างมากโดยเฉพาะข่าวลือที่เกี่ยวข้องกับคนต่างชาติ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต ช่วงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิน-อาวาจิ ผู้ว่าราชการจังหวัดเฮียวโกะกล่าวว่ามีเพียงเรื่องนี้เท่านั้นที่เขานึกขึ้นมาได้เลยขณะที่เกิดแผ่นดินไหว ด้านหน่วยงานด้านสื่อสารมวลชนเองก็ระมัดระวังไม่ให้เกิดเผยแพร่ข่าวลือเกี่ยวกับกับคนต่างชาติเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ข่าวลือเกิดขึ้นแทบทุกวันผ่านทางโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่ไม่ผ่านหน่วยงานด้านสื่อสารมวลชน ทุกคนจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงบทเรียนที่เคยได้รับจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากลำบาก ปัจจุบันการปกครองแบบอาณานิคมได้หมดสิ้นไปแล้วและชาวญี่ปุ่นก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับชาวเกาหลีมากขึ้นแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดเรื่องแบบเดิมซ้ำขึ้นอีกจึงมีน้อยมาก แต่ก็ตามควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเข้าใจผิดจากผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในภัยพิบัติว่านั่นเป็นการกระทำของมนุษย์ และอาจเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มคนที่ไม่น่าไว้วางใจที่พวกเขาพบเจอในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ยังมีบทเรียนสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับข่าวลือเกี่ยวกับชาวเกาหลีในช่วงเกิดแผ่นดินไหว ปัญหาใหญ่ที่สุดอันเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของข่าวลือก็คือการสังหารชาวเกาหลีซึ่งเป็นการกระทำอันรุนแรงเกินกว่าเหตุ ขณะเดียวกันเหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้ความพยายามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยล่าช้าลงไปด้วย ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือมีผู้รอดชีวิตจำนวนไม่น้อยที่บาดเจ็บและติดอยู่ใต้ซากโรงงานเสื้อผ้าซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในแผ่นดินไหวใหญ่คันโต (อ่านรายละเอียดจากบทความตอนที่ 1)  ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บช่วงเย็นของวันที่ 1 และเจ้าหน้าที่ทีมช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งถูกส่งมาจากกองทัพหรือจากจังหวัดกุมมะมาถึงในบริเวณประสบภัยหลังเที่ยงคืนของวันที่ 2 แต่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่เหล่านั้นกลับมีบุคลากรทางการแพทย์เพียงไม่กี่คนและมีเวชภัณฑ์น้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้บาดเจ็บ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปถึงพื้นที่จึงทำได้เพียงรวบรวมผู้บาดเจ็บเพียงบางส่วนจากบริเวณใกล้เคียงไว้ภายในซากอาคารซึ่งหลงเหลือจากการถูกไฟไหม้ แต่แทบไม่สามารถรักษาผู้บาดเจ็บได้เลย ด้วยเหตุนี้ผู้บาดเจ็บที่เหลือส่วนใหญ่จึงอพยพไปยังบริเวณที่ไฟยังไม่ลุกลามไปถึงด้วยตัวเองหรือได้รับการช่วยเหลือจากญาติและคนรู้จัก กระทั่งเข้าสู่วันที่ 4 กองทัพถึงสามารถเริ่มการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเต็มรูปแบบ โดยใช้เปลหามเพื่อรวบรวมผู้คนทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในลักษณะเช่นนี้อาจสามารถทำให้รวดเร็วขึ้นกว่านี้ได้อีกหรือไม่ หนึ่งในสาเหตุของความล่าช้าคือขณะนั้นความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญสูงสุดแทน เนื่องจากข่าวลือที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 2 ในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของทหารและตำรวจกำลังรักษาผู้บาดเจ็บ ทว่ายังคงมีผู้บาดเจ็บและผู้อพยพอีกเป็นจำนวนมากมายมหาศาลถึงขนาดที่หากตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยขึ้นมาก็คงจะมีคนเบียดเสียดกันเข้ามาไม่ขาดสาย นี่เป็นปัญหาที่บรรดาเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องจัดการรับมือ

ในการช่วยผู้ที่ต้องการการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน จำเป็นต้องตรวจสอบพื้นที่ภัยพิบัติทั้งหมดและเข้าใจสถานการณ์ว่าผู้บาดเจ็บอยู่ที่ไหนและมีอาการอย่างไรบ้าง นอกจากนั้น การส่งทีมช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อช่วยผู้ประสบภัยไปยังสถานที่ซึ่งบริเวณโดยรอบถูกไฟเผาไหม้ เช่น ซากโรงงานเสื้อผ้าจำเป็นต้องนำเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนจัดหาน้ำดื่มและอาหารให้เพียงพอ นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้องใช้คน 4 คนต่อการหามเปล 1 ปาก จึงต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั่วไป ไม่ใช่แค่เพียงหน่วยงานทางการแพทย์ที่ถูกส่งเข้าไปเท่านั้น ทว่าตั้งแต่คืนวันที่ 2 ถึงวันที่ 3 พวกเขากลับให้ความสำคัญสูงสุดกับการรักษาความปลอดภัยจากปัญหาเรื่องคนเกาหลีแทนการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ถูกส่งไปยังพื้นที่ประสบภัยนั้นส่วนใหญ่พวกเขาเพิ่งเคยได้สัมผัสกับสถานการณ์ในพื้นที่ภัยพิบัติที่มีศพจำนวนมากอยู่ทุกที่และมีผู้บาดเจ็บเป็นครั้งแรก จึงยากต่อการตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นจากที่การทำสิ่งใดก่อน พวกเขามีเพียงปืนและดาบเท่านั้น เมื่อพวกเขาได้ยินข่าวลือจึงเชื่ออย่างง่ายดายเพราะข่าวลือเหล่านั้นสามารถโน้มน้าวใจพวกเขาได้ว่าการรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ดีนั้นเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด สถานการณ์นี้คงไม่แตกต่างกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและผู้นำทางทหารเช่นกัน

นอกจากนี้ ประมาณหนึ่งวันหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่คันโต เมื่อประชาชนผู้อาศัยรอบพื้นที่ภัยพิบัติส่วนใหญ่รับผู้ประสบภัยที่เป็นบุคคลในครอบครัวและคนรู้จักใกล้ชิดเข้าไปในบ้านแล้ว จึงมีเหตุผลมากพอที่จะดำเนินกิจกรรมเพื่อคุ้มครองท้องที่ของพวกเขา นอกจากนี้ เมื่อเรารู้สึกว่าเราต้องลงมือทำอะไรบางอย่างในภัยพิบัติครั้งใหญ่นี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว การรวมตัวกันในเมืองและทำกิจกรรมที่มีความรุนแรงอย่างศาลเตี้ยจึงน่าจะเพื่อช่วยบรรเทาความวิตกกังวลใจของพวกเขาได้ อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้เป็นการใช้แรงงานของประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ภัยพิบัติและทำให้การเพิ่มกำลังคนเพื่อกิจกรรมการช่วยเหลือให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยล่าช้าออกไป กล่าวได้ว่าข่าวลือเป็นข้ออ้างที่ดีในการเบี่ยงเบนความสนใจของทหาร ตำรวจ และประชาชนในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ยิ่งไปกว่านั้นนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ข่าวลือแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ท้ายที่สุดแล้วหากคุณสามารถรอดชีวิตจากภัยพิบัติครั้งใหญ่เช่นนี้ได้ อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะตอบกับตัวเองให้ได้ว่าคุณสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและควรทำอย่างไร หากจะมีเหตุผลที่ไม่สามารถทำเช่นนั้นก็ควรถามตัวเองอีกครั้งว่า มันไม่ควรมีสาเหตุมาจากข่าวลือที่เกิดขึ้นระหว่างความสับสนวุ่นวาย การตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นนี้ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากแผ่นดินไหวใหญ่คันโตด้วยเช่นกัน


บทความล่าสุด

วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น

โดย ดร.ทรายแก้ว ทิพากร                                                                                         พรรคการเมืองของทุกประเทศมีความจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อให้สามารถเล่นบทบาททางการเมืองของตน แต่บทบาทของเงินทุนทางการเมืองเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อการเมืองมากที่สุด ทุ

ดร.ทรายแก้ว ทิพากร
2567
กระแสเอเชีย
ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต (ตอนที่ 1): ภาพรวมความเสียหาย
ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต (ตอนที่ 1): ภาพรวมความเสียหาย

บทความนี้เป็นบทแปลการบรรยายของ Prof. Dr. Suzuki Jun จาก Faculty of Letters University of Tokyo ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่และภัยพิบัติญี่ปุ่น ในงานสัมมนาแบบไฮบริด เรื่อง “การเมือง-วัฒนธรรมในภัยพิบัติ: 1 ศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ - ประจวบเหม

ดร.กฤตพล วิภาวีกุล
2566
กระแสเอเชีย
การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : หนึ่งศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต
การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : หนึ่งศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต

โดย ทรายแก้ว ทิพากร ภาพประกอบจากเว็บไซต์ https://tanken.com/shinsai.html . ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกที่ยังมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งหากเกิดขึ้นในทะเลก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ และหากแผ่นดินไหวม

ดร.ทรายแก้ว ทิพากร
2566
กระแสเอเชีย
การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : ย้อนรอย 100 ปีของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 (ตอนที่ 1)
การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : ย้อนรอย 100 ปีของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 (ตอนที่ 1)

โดย ดร. กฤตพล วิภาวีกุล ภาพที่ 1 : ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนในย่านคันดะหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต (ที่มา The Great Kanto Earthquake.com) . การศึกษาเกี่ยวกับภัยพิบัติในประเทศไทยส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับการจัดการภัยพิบัติ ทั้งการเฝ้าระวัง การเตรียมแผนรับมือและการตอบสนองของรั

ดร.กฤตพล วิภาวีกุล
2566
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์ญี่ปุ่น-อาเชียนศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

02-218-7464

02-255-1124