บทความของศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา

facebook page JapanAsean Chula | Facebook

ศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา

ในปี 2018 โครงการญี่ปุ่นศึกษาได้รับการยกระดับขึ้นเป็นศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีความเชื่อมโยงกับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และสถานการณ์ที่ประเด็นปัญหาของสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในแง่ความซับซ้อนของปัญหา และความซับซ้อนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งระหว่างภาคีในประเทศและระหว่างประเทศ การรับมือกับประเด็นทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมิติที่ซับซ้อนนี้ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางกว่าความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี   

ศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัยในมิติต่างๆของความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน สร้างเครือข่ายนักวิชาการและผู้สนใจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เผยแพร่ความรู้และผลงานวิจัยให้แก่สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสอน การจัดประชุม สัมมนา ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและเพื่อประโยชน์ของความร่วมมือกันต่อไป

วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น

โดย ดร.ทรายแก้ว ทิพากร

                                                                                       

พรรคการเมืองของทุกประเทศมีความจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อให้สามารถเล่นบทบาททางการเมืองของตน แต่บทบาทของเงินทุนทางการเมืองเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อการเมืองมากที่สุด ทุกประเทศพยายามออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อควบคุมและจัดระเบียบให้การรับจ่ายเงินทุนทางการเมืองเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ถูกต้อง ตรวจสอบได้ แต่การควบคุมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทาย และมักมีอุปสรรคจากความไม่เต็มใจที่จะดำเนินการอยู่ภายใต้ระเบียบเหล่านั้น   ในปีนี้ญี่ปุ่นประสบปัญหาเรื่องความโปร่งใสของเงินทุนทางการเมืองตั้งแต่เริ่มต้นปี มีการเปิดโปงเกี่ยวกับทุจริตในพรรครัฐบาล LDP ที่ยิ่งสอบสวนก็ยิ่งขยายวงกว้างออกไป ยิ่งก่อวิกฤติให้กับชื่อเสียงและคะแนนนิยมต่อตัวนายกรัฐมนตรีมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เปิดโปงทุจริตในการเมืองญี่ปุ่นเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่นำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบทางการเมืองของญี่ปุ่นไปอย่างมีนัยยะสำคัญ การเปิดโปงความไม่โปร่งใสครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อการเมืองของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน

ข่าวครึกโครมเกี่ยวกับความผิดปกติของรายงานการรับจ่ายเงินบริจาคทางการเมืองของพรรค LDP เริ่มมีสัญญาณมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้า โดยหนังสือพิมพ์ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้สนับสนุนเป็นผู้เปิดโปงความผิดปกตินี้ จนกระทั่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจึงเป็นผู้แจ้งความต่อสำนักงานอัยการ ณ  กรุงโตเกียวเมื่อปี 2023[1] และได้เริ่มมีการสอบสวนความจริงกันในเดือนพฤศจิกายน  การกล่าวหาครั้งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มย่อยภายในพรรค 5 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงกลุ่มของนายคิชิดะเอง และกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เคยเป็นกลุ่มของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะคือมีสมาชิกถึง 99 คน มีอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำกลุ่มมาหลายคน ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนให้นายคิชิดะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้  กรณีความไม่ชัดเจนในที่มาของเงินบริจาคและรายได้ของนักการเมืองในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการทุจริตของสมาชิกพรรคคนใดคนหนึ่ง  ความผิดปกติในรายการรับ-จ่ายเงินบริจาคทางการเมือง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเกี่ยวกับวัฒนธรรมของพรรค LDP  จึงเท่ากับเป็นการเปิดโปงวิถีปฏิบัติที่ไม่โปร่งใสของพรรค LDP และเนื่องจาก LDP เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องนับทศวรรษ  วัฒนธรรมของพรรค LDP จึงหมายถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของญี่ปุ่น

.

กลุ่มย่อย (faction) ภายในพรรค LDP

               พรรค LDP ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1955 เนื่องจากในภาวะของการแข่งขันระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์กับเสรีนิยมในยุคนั้น  เมื่อเกิดสถานการณ์ที่พรรคฝ่ายสังคมนิยมดูจะได้รับความนิยมจากประชาชนมาก  ค่ายเสรีนิยมจึงสนับสนุนให้พรรคอนุรักษ์นิยม 2 พรรคใหญ่รวมตัวกัน พรรค Liberal Democratic Party (LDP) จึงเกิดจากการรวมกันของพรรคเสรีนิยมและพรรคประชาธิปไตย  กลายเป็นพรรคสายอนุรักษ์นิยมที่มีทิศทางเอนเข้าหา สหรัฐอเมริกา  หลังจากรวมตัวกันแล้ว สมาชิกของแต่ละพรรคยังคงจับกลุ่มกันเหนียวแน่น ต่อมาได้เปลี่ยนสภาพเป็นกลุ่มย่อยที่มีความเป็นสถาบันของตนเองภายในพรรคใหญ่  แม้เมื่อพรรค LDP ดำเนินการต่อมาภายใต้สภาพแวดล้อมของสังคมญี่ปุ่นที่เปลี่ยนแปลงไป กลุ่มย่อยยังคงมีความสำคัญ ทั้งยังพัฒนารูปแบบของความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม คือมีสมาชิกในสังกัด แม้จำนวนอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่สมาชิกก็มีภารกิจที่ต้องอุทิศตนเพื่อกลุ่ม มีโครงสร้างทางสังคมตามลำดับสถานะสูงต่ำ  มีการพบปะอย่างสม่ำเสมอ และต้องมีการจัดกิจกรรมหาเงินทุน  บทบาทสำคัญทางการเมืองของกลุ่มย่อยคือบทบาทเกี่ยวกับการเลือกประธานพรรค ซึ่งหมายถึงตำแหน่งที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น  และในด้านการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ

               เชื่อกันว่าระบบกลุ่มย่อย (faction) ในพรรคใหญ่ของญี่ปุ่นดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุสำคัญของความไม่โปร่งใสทางการเมืองอย่างเป็นระบบ เพราะผู้นำกลุ่มมีภารกิจที่จะต้องหาเงินมาช่วยสนับสนุนลูกกลุ่มของตน (ในอดีต ประเทศญี่ปุ่นมีการแบ่งเขตเลือกตั้งให้มีขนาดใหญ่ แต่ละเขตมีผู้แทนได้ 3-5 คน หมายความว่า แต่ละเขตจะมีผู้สมัครหลายคนจากพรรคเดียวกัน และในช่วงของการเลือกตั้ง สำนักงานพรรคในแต่ละเขตไม่สามารถช่วยผู้สมัครได้มากนักเพราะผู้สมัครมีหลายคน ทำให้ผู้สมัครต้องช่วยตัวเองด้วยการจัดตั้งกลุ่มผู้สนับสนุนของตนเองในพื้นที่ (Koenkai) และดูแลหัวคะแนนเหล่านี้ตลอดปี ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายมาก  ผู้นำกลุ่มจึงเป็นผู้ที่ช่วยลูกกลุ่มเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้)  ผู้นำที่มีลูกกลุ่มจำนวนมากก็หมายถึงคะแนนเสียงที่จะได้รับในระหว่างการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานพรรค  หลังจากนั้นสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกรัฐสภาก็จะช่วยกันยกมือให้ประธานพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรี  ตามมาด้วยการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้แก่แต่ละกลุ่ม  ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มมักจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมาก เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมวงกว้าง และแม้จะก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้ากลุ่ม(โดยสมัครใจ) ก็ยังคงเป็นผู้มีอิทธิพลที่สามารถส่งเสริมให้นักการเมืองรุ่นถัดไปได้เป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้ากลุ่มที่มีอิทธิพลมากๆมักได้รับการขนานนามว่าเป็น king maker

หลังจากมีข่าวอื้อฉาวที่ครึกโครมวงการเมืองญี่ปุ่นมาเป็นระยะๆ ได้มีความพยายามที่จะลดอิทธิพลของกลุ่ม หรือ faction ลงไปด้วยการปรับแก้ไขข้อบังคับและกฎหมายเกี่ยวกับเลือกตั้งต่างๆ แต่ความเป็นกลุ่ม  (faction) ก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน อิทธิพลและความเหนียวแน่นอาจจะลดลงไปบ้าง แต่ก็แสดงให้เห็นว่า faction ภายในพรรค LDP เป็นการรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้มีรูปแบบที่เป็นทางการ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน เป็นวิถีปฏิบัติที่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมของสังคมญี่ปุ่น และดำรงคงอยู่ตราบเท่าที่กลุ่มสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่เป็นสมาชิก

.

กลุ่มกับความไม่โปร่งใสทางการเมือง

ปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบในวงการเมืองของญี่ปุ่นได้รับเปิดโปงมาเป็นระยะๆ ตัวอย่างของการเปิดโปงการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ๆ เช่น กรณีบริษัท Lockheed ในสมัยนายกรัฐมนตรีคากุเออิ ทานากะ (Kakuei Tanaka) ในทศวรรษ 1970 ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีทานากะต้องลาออกจากตำแหน่ง และตั้งถูกดำเนินคดี นายทานากะได้รับการกล่าวขานว่าเป็น king maker ในยุคนั้น

ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 จนถึงต้นทศวรรษ 1990 ได้เกิดกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับที่มาของรายได้ของสมาชิกพรรค LDP สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของพรรค LDP และทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาในทางการเมืองของญี่ปุ่น ได้แก่กรณี หุ้นบริษัท Recruit ในสมัยนายกรัฐมนตรีโนโบรุ ทาเคชิตะ (Noboru Takeshita) ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกไปในปี 1988 ต่อด้วยกรณีบริษัท Sagawa Kyubin ในช่วงปี 1991 ที่เกี่ยวพันกับรองนายกรัฐมนตรีชิน คาเนมารุ (Shin Kanemaru) ซึ่งเป็น king maker คนสำคัญในยุคสมัยนั้นเช่นกัน ทำให้นายคาเนมารุถูกดำเนินคดี การสืบสวนกรณีอื้อฉาวเหล่านี้ได้เปิดโปงถึงเส้นทางของเงินทุนทางการเมือง เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกพรรค และผู้บริจาคทางการเมือง ส่งผลกระทบให้เกิดเหตุการณ์พลิกผันทางการเมืองครั้งใหญ่ ทั้งยังนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเงินทุนทางการเมือง และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีกหลายฉบับที่เป็นพื้นฐานของภูมิทัศน์ทางการเมืองของญี่ปุ่นในปัจจุบัน

หลังจากกรณีบริษัท Sagawa Kyubin พรรค LDP สูญเสียความนิยมอย่างหนักและไม่ได้รับเลือกเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 1993 ทั้งๆ ที่เคยเป็นพรรครัฐบาลมาตลอด 38 ปี ในช่วงนั้นนอกจากประเด็นความสั่นคลอนของสถาบันทางการเมือง ยังเป็นช่วงของวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก สังคมญี่ปุ่นกำลังต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบใหม่ที่มีความโปร่งใสชัดเจน การเพลี่ยงพล้ำของพรรค LDP จึงเปิดทางไปสู่การแก้ไขปรับปรุงในเชิงโครงสร้าง โดยหนึ่งในเป้าหมายของการปรับปรุงทางการเมืองก็คือการยกเลิกระบบกลุ่ม (faction) ภายในพรรค และทำให้การเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากดังแต่ก่อน เช่น รัฐบาลมีเงินสนับสนุนให้แก่พรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภา และที่สำคัญคือมีการลดขนาดเขตเลือกตั้งให้เล็กลง ทำให้ 1 เขตมีผู้แทนได้เพียง 1 คน เพื่อให้ตัวแทนพรรคในแต่ละเขตสามารถช่วยเหลือผู้สมัครของตนได้เต็มที่

               ผลจากการปรับแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งในครั้งนั้น ทำให้ในปัจจุบันมีสมาชิกพรรคจำนวนมากขึ้นที่ไม่สังกัดกลุ่มใดๆ ทั้งยังสามารถเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญได้ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเด ซูกะ แต่การจับกลุ่มก็ยังมีความสำคัญ โดยมีนัยยะว่าเป็นกลุ่มของคนที่มีแนวนโยบายเดียวกัน

               ในครั้งนี้ ความผิดปกติเกิดขึ้นในระดับพรรค แล้วจึงมีการสืบสาวไปถึงตัวบุคคล กล่าวคือ พรรค LDP เป็นผู้จัดงานเพื่อหารายได้จากการขายบัตรให้แก่ผู้สนับสนุน ซึ่งอาจเป็นบริษัทห้างร้านต่างๆ ราคาหน้าบัตรประมาณ 20,000 เยน โดยสมาชิกพรรคต้องรับบัตรไปช่วยกันขาย สมาชิกที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภามาแล้วหลายสมัย หรือดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองจะได้โควต้าบัตรไปขายตามสัดส่วน หากสมาชิกท่านใดสามารถขายบัตรได้มากกว่าที่ได้โควต้า ก็จะมีการโอนเงินส่วนเกินให้แก่สมาชิกท่านนั้นเป็นการส่วนตัว กิจกรรมเหล่านี้จะได้มีการบันทึกและทำรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง (ตามระเบียบ การบริจาคที่มีมูลค่าเกิน 200,000 เยนจะต้องมีการรายงานทั้งชื่อผู้บริจาคและจำนวนเงิน) แต่กลับพบว่า กลุ่มสำคัญๆในพรรค LDP ไม่ได้ทำรายงานเงินบริจาคส่วนเกินที่โอนคืนให้แก่สมาชิกรายบุคคล  ซึ่งคาดกันว่าจำนวนเงินดังกล่าวอาจสูงถึง 500 ล้านเยน[2]  และสมาชิกที่ได้รับเงินโอนคืนก็ไม่ได้รายงานต่อหน่วยงานใด อีกทั้งผู้บริจาคก็พบว่าตนเองไม่มีชื่ออยู่ในรายนามผู้บริจาค[3]

การเปิดโปงครั้งนี้นำไปสู่การตรวจสอบที่ขยายวงกว้าง มีสมาชิกอาวุโสระดับสูงของพรรคถูกตกเป็นเป้าหมายสำคัญ เช่น นายมัทสุโน (Hirokazu Matsuno) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเลขาธิการของกลุ่ม Seiwa Seisaku Kenkyukai กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดภายในพรรค LDP กลุ่มดังกล่าวนี้มีสมาชิกดำรงตำแหน่งต่างๆในรัฐบาลหลายคน  เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการและตำรวจได้เรียกสอบปากคำสมาชิกคนสำคัญอื่นๆของพรรค เช่น อดีตเลขาธิการพรรค เลขาธิการของกลุ่มย่อยต่างๆ ทั้งยังได้เข้าตรวจค้นสำนักงานของกลุ่มเหล่านี้  จนในที่สุด นำไปสู่การจับกุมสส.สมาชิกพรรค นายอิเคดะ (Yoshitaka Ikeda) พร้อมทั้งเลขานุการ ในเดือนมกราคม 2024[4]

 วัฒนธรรมที่ขาดความโปร่งใสของพรรค LDP ได้ถูกเปิดโปงอีกครั้ง ก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อพรรค LDP และทำให้คะแนนนิยมต่อนายกรัฐมนตรีตกต่ำลงอย่างมาก จากร้อยละ 30 เมื่อปลายปี 2023 (เนื่องจากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจที่อาจต้องขึ้นภาษีเพื่อนำมาใช้จ่ายทางการป้องกันประเทศและการลาออกของรัฐมนตรีจากกรณีอื้อฉาวในหลายๆกรณี)  เหลือเพียงร้อยละ 17 เป็นสถิติที่ต่ำที่สุดตั้งแต่พรรค LDP ได้รับเลือกเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมั่นคงอีกครั้งในปี 2012[5]  นายกคิชิดะได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการประกาศลาออกจากกลุ่มของตนเอง  ตลอดจนเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสในครั้งนี้ ทั้งยังมีสมาชิกพรรคหลายคนที่ลาออกไป แต่ก็ยังไม่สามารถฉุดความเชื่อมั่นกลับมาได้ ทั้งจากภายนอกพรรคคือประชาชนทั่วไป ทั้งภายในพรรคเอง ก็มีสมาชิกทั้งสังกัดกลุ่มและไม่สังกัดกลุ่มที่ไม่พอใจวิธีการแก้ปัญหาของนายคิชิดะ

เฉพาะประเด็นเงินบริจาคทางการเมืองก็เป็นประเด็นที่ทุกประเทศล้วนต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการควบคุมดูแล เพื่อไม่ให้เกิดความไม่โปร่งใส นำไปสู่วิกฤติศรัทธาของประชาชน ญี่ปุ่นยังมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่พรรครัฐบาลแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยภายในพรรค ทำให้ประเด็นการควบคุมเงินบริจาคทางการเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้น ผลจากการเปิดโปงในครั้งนี้ทำให้อนาคตของนายคิชิดะในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ดูจะมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ระบบกลุ่มเป็นวิถีปฏิบัติมาช้านาน เป็นความพอใจของสมาชิกพรรคเอง ไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนแน่นอน ตราบใดที่ระบบกลุ่มยังเป็นผู้เชื่อมประสาน “เงิน” เข้ากับ “ตำแหน่ง”  กลุ่มในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็จะยังคงอยู่  ส่วนในระยะยาว ความพยายามที่จะควบคุมและสร้างความชัดเจนโปร่งใสเกี่ยวกับเงินทุนทางการเมืองจากนี้ไป อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติบางประการภายในพรรค LDP ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

.


อ้างอิง

[1] Michael MacArhur Bosack. Unpacking the scandal Rocking LDP to its core, Japan Times. Available December 8, 2023 from https://www.japantimes.co.jp/commentary/2023/12/08/japan/ldp-factioin-parties-scandal/

[2] Kantaro Komiya. Explainer: What is the fundraising scandal engulfing Japan’s ruling party? Reuters. Available December 14, 2023 from https://www.reuters.com/world/asia-pacific/what-is-fundraising-scandal-engulfing-japans-ruling-party-2023-12-14/

[3] Distrust Grow Over Fund Raising Scandal, Yomiuri Shimbun. (online) Available December 17, 2023 from https://japannews.yomiuri.co.jp/politics/politics-government/20231217-156305/

[4] Prosecutors make first arrest in LDP political funding scandal, Kyodo News. (online) Available January 7, 2024 from https://www.japantimes.co.jp/news/2024/02/07/japan/crime-legal/ldp-ikeda-arrest/

[5] Japan PM Kishida/s cabinet approval hits record low at 17.1%. Reuters. Available December 14, 2023 from https://www.reuters.com/world/asia-pacific/kishdas-cabinet-approval-hits-record-low-171-jiji-2023-122-14/TOKYO


บทความล่าสุด

ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต (ตอนที่ 2): บทเรียนที่ได้และมาตรการรับมือ
ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต (ตอนที่ 2): บทเรียนที่ได้และมาตรการรับมือ

บทความนี้เป็นบทแปลการบรรยายของ Prof. Dr. Suzuki Jun จาก Faculty of Letters University of Tokyo ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่และภัยพิบัติญี่ปุ่น ในงานสัมมนาแบบไฮบริด เรื่อง “การเมือง-วัฒนธรรมในภัยพิบัติ: 1 ศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ - ประจวบเห

ดร.กฤตพล วิภาวีกุล
2567
กระแสเอเชีย
ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต (ตอนที่ 1): ภาพรวมความเสียหาย
ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต (ตอนที่ 1): ภาพรวมความเสียหาย

บทความนี้เป็นบทแปลการบรรยายของ Prof. Dr. Suzuki Jun จาก Faculty of Letters University of Tokyo ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่และภัยพิบัติญี่ปุ่น ในงานสัมมนาแบบไฮบริด เรื่อง “การเมือง-วัฒนธรรมในภัยพิบัติ: 1 ศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ - ประจวบเหม

ดร.กฤตพล วิภาวีกุล
2566
กระแสเอเชีย
การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : หนึ่งศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต
การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : หนึ่งศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต

โดย ทรายแก้ว ทิพากร ภาพประกอบจากเว็บไซต์ https://tanken.com/shinsai.html . ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกที่ยังมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งหากเกิดขึ้นในทะเลก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ และหากแผ่นดินไหวม

ดร.ทรายแก้ว ทิพากร
2566
กระแสเอเชีย
การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : ย้อนรอย 100 ปีของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 (ตอนที่ 1)
การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : ย้อนรอย 100 ปีของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 (ตอนที่ 1)

โดย ดร. กฤตพล วิภาวีกุล ภาพที่ 1 : ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนในย่านคันดะหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต (ที่มา The Great Kanto Earthquake.com) . การศึกษาเกี่ยวกับภัยพิบัติในประเทศไทยส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับการจัดการภัยพิบัติ ทั้งการเฝ้าระวัง การเตรียมแผนรับมือและการตอบสนองของรั

ดร.กฤตพล วิภาวีกุล
2566
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์ญี่ปุ่น-อาเชียนศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

02-218-7464

02-255-1124