สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

Pranab Mukherjee (1935-2020): การจากลาพร้อมคุณูปการสำคัญต่ออินเดีย

โดย ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม


อ้างอิงภาพจาก Northeast Live Tv. Com

“ข้าพเจ้าอยู่โรงพยาบาล เนื่องจากผลตรวจเลือดของข้าพเจ้ามีผลบวก ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้มิตรสหายที่คลุกคลีกับข้าพเจ้าเมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาเข้ารับการตรวจเลือดโดยด่วน”

Pranab Mukherjee, ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2563

การจากไปเป็นสัจธรรมที่แท้จริง

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 กำลังกัดกินสังคมอินเดีย ซึ่งไม่มีท่าทีจะชะลอตัวลงด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3,810,625 ณ วันที่ 2 กันยายน 2563 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 66,871 คน และรักษาหายกว่า 2,931,005 คน อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 นั้นเป็นที่มาของการสูญเสียอย่างมากมายทั้งทรัพยากรบุคคล ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความสงบสุขในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน

ในช่วง 2 วันก่อนหน้าซึ่งตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม 2563 กระผมต้องแอบร้องไห้เมื่อรับทราบข่าวการจากไปของ “ท่านปรานาบ มุคเคอร์จี” (Pranab Mukherjee) หรือ “ปรณพ มุขรจี” บุคคลอันเป็นที่รักอย่างไม่มีวันหวนคืน แม้จะยังไม่ได้รับการยืนยันสาเหตุของการเสียชีวิต แต่นักวิเคราะห์ส่วนมากมองว่า นอกจากมุคเคอร์จีจะล้มในห้องน้ำแล้ว การสูญเสียครั้งนี้อาจมีความเกี่ยวโยงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะท่านเสียชีวิตหลังจากรับทราบผลตรวจเลือดเป็นบวกเพียง 20 วัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่การจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืนของของมุคเคอร์จีนั้น รัฐบาลอินเดียได้ประกาศไว้อาลัยเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม – 6 กันยายน 2563 และให้เชิญธงชาติแค่เพียงครึ่งเสาเพื่อให้ความเคารพท่านมุคเคอร์จีอีกด้วย  

กระผมเคยเจอท่านมุคเคอร์จีในงานพระราชทานปริญญาบัตรสมัยเรียนอยู่ประเทศอินเดียประมาณ 5 ปีที่แล้ว ท่านเป็นผู้นำทางการเมืองผู้ทรงอิทธิพลและทำงานการเมืองพร้อมกับอดีตนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี และนายกรัฐมนตรีท่านอื่น ๆ เนื่องจากท่านมีประสบการณืทางการเมืองอย่างยาวนาน เพราะท่านเริ่มทำงานการเมืองในปี 1969 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2020 ขณะอายุ 84 ปี รวมแล้วท่านอยู่บนเส้นทางการเมืองอินเดียประมาณ 50 ปีในฐานะสมาชิกพรรคการเมืองครองเกรสอินเดีย (Indian National Congress) จนบางครั้งท่านถูกขนานนามว่า “ผู้ใกล้ชิดและผู้ที่เคารพภักดีอินทิรา คานธีมากที่สุด”

ท้ายที่สุด แม้การจากไปเป็นสัจธรรมของชีวิต แต่บางครั้งการสูญเสียผู้นำคนสำคัญก็บ่งบอกถึงการหล่นหายไปของบางสิ่งอย่างไม่มีวันหวนคืน โดยเฉพาะผู้ทรงอิทธิพลและมากไปด้วยคุณูปการเพื่อสังคม กระนั้น การสูญเสียก็อาจเป็นโอกาศของการงอกเงยของเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไปในอนาคต

เส้นทางชีวิตของ Pranab Mukherjee

มุคเคอร์จีเป็นชาวเมืองมิราตี (Mirati) แห่งรัฐเบงกอลตะวันตก (West Bengal) ซึ่งถือกำเนิดในวันที่ 11 ธันวาคม 1935 ท่านได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก “Kamada Kinkar Mukherjee” ผู้เป็นบิดา ซึ่งเป็นนักสู้เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชให้กับอินเดียจากอาณานิคมอังกฤษ บิดาของท่านเคยทำงานให้กับพรรคครองเกรสอินเดียและเคยถูกจำคุกในฐานะนักโทษทางการเมืองที่ต่อต้านอาณานิคมอังกฤษเป็นเวลาหลายปี หลังอินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 บิดาของท่านได้รับการคัดเลือกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐเบงกอลในปี 1952-1964  

ท่านมุคเคอร์จีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ รวมทั้งกฎหมายจาก Suri Vidyasagar College ซึ่งขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัยกัลกัตตา (University of Calcutta) ในปี 1963 ท่านมุคเคอร์จีเริ่มต้นทำงานด้วยการสอนหนังสือในวิทยาลัยเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกัลกัตตา อีกทั้งท่านยังเป็นนักเขียนและบรรณาธิการภาษาเบงกาลีฉบับรายเดือนและต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์

ในปี 1957 มุคเคอร์จีแต่งงานกับ Suvra Mukherjee ซึ่งเธอเสียชีวิตเมื่อปี 2015 รวมอายุ 74 ปี ขณะมุคเคอร์จีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอินเดีย การสูญเสียครั้งนั้นส่งผลทางจิตใจของมุคเคอร์จีอย่างหนัก จนท่านดูซูบไปในเวลาต่อมา

 ในป 1969 มุคเคอร์จีได้ลงสนามการเมืองและได้รับชนะการเลือกตั้งในฐานะสมาชิกวุฒิสภา (Rajya Sabha) หรือสภาสูงของรัฐสภาอินเดีย ในฐานะตัวแทนชาวเบงกอลของพรรคครองเกรส ท่านดำรงตำแหน่งดังกล่าวยาวนานถึง 4 สมัยและในปี 2004 ท่านได้รับชัยชนะในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย (Lok Sabha) หรือ สภาล่างจนกระทั่งปี 2012 หลังจากนั้นก็เริ่มตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 13 ของอินเดียจนกระทั่งปี 2017 (25 กรกฎาคม 2012 – 25 กรกฎาคม 2017) ซึ่งตั้งแต่ปี 2012-2020 มุคเคอร์จีไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด แต่ก็ทำหน้าที่ในรัฐสภาอย่างเดิม

มุคเคอร์จีเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อินเดียในปี 1980-1982 ภายใต้รัฐบาลอินทิรา คานธี หลังอินทิรา คานธีถูกสังหารในปี 1984 ท่านก็ได้เลือกให้ลูกชายของอดีตนายกคือ ราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น ท่านมุคเคอร์จีก็ได้ก่อตั้งพรรคการเมืองของตนเองที่ชื่อว่า “Rashtriya Samajwadi Congress” (RSC) แต่ในปี 1989 พรรค RSC กลับได้รับความนิยมค่อนข้างน้อยในหมู่ชาวเบงกอล

มุคเคอร์จีจึงตัดสินใจร่วมพรรค RSC กับพรรคครองเกรสอินเดีย (INC) ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของราจีฟ คานธี มุคเคอร์จีเริ่มดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 1973-1975 เช่น กระทรวงการพัฒนาอุตสาหกรรม กระทรวงการขนส่งทางเรือและทางบก กระทรวงเหล็กและอุตสาหกรรม ในปี 1975 มุคเคอร์จีเริ่มดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงภาษีและการธนาคาร (1975-1977) หลังจากนั้นท่านจึงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา เช่น กระทรวงพาณิชย์ (1982-1984 / 1993-1995) กระทรวงการต่างประเทศ (1995-1996 / 2006-2009) กระทรวงกลาโหม 2004-2006 กระทรวงการคลัง 2009-2012 และอื่น ๆ

มุคเคอร์จีทำงานการเมืองอย่างยาวนาน ซึ่งร่วมงานกับผู้นำอินเดียหลายยุคสมัย เช่น อินทิรา คานธี (Indira Gandhi 1966-1977 และ 1980-1984) ราจีฟ คานธี (1984-1989) พี.วี. นาราซิมฮา ราว (P.V. Narasimha Rao 1989-1996) และ มาน โมฮาน สิงห์ (Manmohan Singh 2004-2014) อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งสูงสุดในทางการเมืองของมุคเคอร์จีคือ ประธานาธิบดี ซึ่งตำแหน่งเดียวที่ท่านไม่ได้รับการคัดเลือกคือ นายกรัฐมนตรีของอินเดีย

ในประเด็นดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนได้กล่าวว่า “มุคเคอร์จีใช้ชีวิตด้วยความเพียบพร้อมทุกอย่าง เหลือแค่เพียงตำแหน่งเดียวที่ท่านยังไม่ได้รับ นั่นก็คือ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งแน่นอน มุคเคอร์จีก็รู้ดีว่า ตำแหน่งนี้อาจเป็นไปได้ยากสำหรับตนเอง เนื่องจากโซเนีย คานธี ไม่ค่อยพอใจ อีกอย่างโซเนีย คานธีก็รู้ดีว่า หากมุคเคอร์จีสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โซเนียอาจเสียผลประโยชน์และไม่สามารถควบคุมเกมการเมืองของมุคเคอร์จีได้อีกต่อไป”

กระนั้น มุคเคอร์จีก็ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในการอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยอดเยี่ยมระดับโลกในปี 1984 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยอดเยี่ยมแห่งเอเชียปี 2010 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยอดเยี่ยมแห่งปี 2010 แต่รางวัลที่ทรงคุณค่าที่สุดสำหรับมุคเคอร์จีในฐานะพลเมืองอินเดียที่ได้ทำผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติคือ รางวัล Padma Vibhushan ในปี 2008 และต่อมาท่านได้รับรางวัลสูงสุดของอินเดียเพื่อแสดงถึงการอุทิศตนเพื่อสังคมนั่นก็คือ Bharat Ratna ในปี 2019

มุคเคอร์จีเขียนหนังสือประมาณ 9 เล่ม ตั้งแต่ปี 1984-2017 โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐศาสตร์การเมืองอินเดีย รวมทั้งประเด็นว่าด้วยการสร้างชาติ ซึ่งหนังสือเล่มแรกของท่านนั้นคือ Beyond Survival: Emerging Dimensions of Indian Economy (1984) ถือเป็นงานเขียนที่ท่านผลิตออกมาหลังจากทำงานการเมืองมากกว่า 15 ปี อีกทั้งงานเขียนในช่วงหลังการลอบสังหารราจีฟ คานธีอย่าง Challenges Before the Nation (1992) ส่วนงานเขียนเล่มสุดท้ายของท่านคือ The Coalition Years: 1996 – 2012 (2017)

กล่าวได้ว่า ในวงการการเมืองอินเดียนั้น มุคเคอร์จีถือเป็นปรมาจารย์ทางการเมืองที่มีประสบการณ์และทำงานร่วมกับผู้นำทางการเมืองถึง 5 สมัย ซึ่งจำนวน 3 ใน 5 ของผู้นำเหล่านั้นได้เสียชีวิตไปนานแล้ว มุคเคอร์จีจึงกลายเป็นผู้นำอาวุโสที่มีทักษะและชั้นเชิงทางการเมืองมากกว่านักการเมืองคนอื่น ๆ ความล้ำลึกในเชิงยุทธ์ทางการเมืองของมุคเคอร์จีกลายเป็นที่นิยมของพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามอย่าง Sharad Yadav ซึ่งถึงกับชื่นชมท่านมุคเคอร์จีว่า “ประเทศชาติต้องการประธานาธิบดีอย่างปรานาบ มุคเคอร์จี”

แม้มุคเคอร์จีจะจากไปอย่างไม่มีหวนคืน กระนั้นท่านได้ทิ้งทายาททางการเมืองไว้อย่างน้อย 2 คนคือ Abhijit Mukherjee ลูกชายคนโต ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคครองเกรสอินเดียเขตจันกิปุร (Jangipur) รัฐเบงกอลตะวันตก อีกทั้งยังมีลูกสาวอีกคนคือ Sharmistha Mukherjee ซึ่งเป็นผู้รับไม้ต่อทางการเมืองสังกัดพรรคครองเกรสอินเดีย

แนวคิดและการต่อสู้

มุคเคอร์จีเจริญรอยตามแนวคิดทางการเมืองของมหาตมะ คานธีและยาวาฮาร์ลาล เนห์รู โดยเฉพาะการสนับสนุนมุมมองการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุอินเดียที่ทุกคนจะต้องมีความอดทนอดกลั้น ถ้อยทีถ้อยอาศัยและให้เกียรติซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสานเสวนาระหว่างกันเพื่อรับมือกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ จิตวิญญาณของอินเดียมุ่งเน้นการสร้างสังคมแห่งความหลากหลายและการอดทนอดกลั้นระหว่างกัน ซึ่งสิ่งดังกล่าวถือเป็นจุดแข็งของอินเดียใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มุคเคอร์จีเคยกล่าวถึงคานธีว่า “คานธีไม่ได้เป็นแค่เพียงบิดาแห่งชาติ แต่ท่านเป็นผู้สร้างศีลธรรมเพื่อนำทางของชาติเรา คานธีมองว่า อินเดียเป็นสถานที่ของผู้คนในการรวมตัวกันและอยู่ร่วมกันด้วยความเท่าเทียมและได้รับโอกาสของความเท่าเทียมเหล่านั้น เนื่องจากประเทศชาติคือ สถานที่อยู่แบบสังคมพหุ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย คานธีวางรูปแบบของการคิดและการทำงานร่วมกันของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยเหตุนี้ คานธีจึงเป็นหนึ่งในมรดกทางความคิดให้กับผู้คนในประเทศนี้ ซึ่งมีความเป็นหนึ่งเดียวของผู้คนท่ามกลางความหลากหลายทางด้านอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนาและรูปแบบการใช้ชีวิตที่มันหลากหลาย มุมมองของคานธีจึงไม่ใช่แค่เพียงเรื่องเล่าในอดีต แต่กลับเป็นหมุดหมายสำคัญของอนาคตชาติอีกด้วย” ( Speech of Shri Pranab Mukherjee, Former President of India, “Is Gandhian Path the Right Way Forward for the Conflict Torn World Today” at Teen Murti Bhavan, New Delhi, September 30, 2019)

มุคเคอร์จีเป็นหนึ่งในผู้นำที่เรียกร้องถึงสิทธิขึ้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น สิทธิทางความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ สิทธิในการต่อต้านการรุกราน สิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิในวัฒนธรรมและการศึกษา และอื่น ๆ หลักมุ่งของอารยธรรมอินเดียนั่นก็คือ โลกทั้งใบนั้นเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำการขอพรเพื่อให้เกิดสันติสุข และมีสุขภาพที่ดี สังคมอินเดียมีฐานเดิมคือ อยู่ด้วยกัน ผสมกลมกลืนกัน หมายถึงการอยู่ร่วมกันของความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ศรัทธา ภาษา ซึ่งทำให้อินเดียกลายเป็นพื้นที่พิเศษ ที่จะต้องมีการเรียนรู้ระหว่างกัน ไม่ใช่แค่เพียงการอดทนอดกลั้นระหว่างกัน แต่เป็นการเคารพความแตกต่างระหว่างกันด้วย สิ่งนี้เป็นการตระหนักร่วมของผู้คนในรุ่นถัดไป (Speech of Shri Pranab Mukherjee, Former President of India on the occasion of the 11th Foundation Day of Foundation for Restoration of National Values (FRNV) at DMRC Auditorium, New Delhi, June 8, 2019)

แม้มุคเคอร์จีจะดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่สำคัญให้กับประเทศชาติอย่างมากมาย แต่ท่านกลับพูดว่า “แม้ข้าพเจ้าจะเสียสละให้กับประเทศชาติมากมายขนาดไหน แต่ข้าพเจ้ากลับได้รับสิ่งต่าง ๆ ที่ประเทศนี้ให้กับข้าพเจ้ามากกว่า”  ท้ายที่สุด ท่านได้รับการกล่าวขานให้เป็น “Bharat Ratna Shri Pranab Mukherjee”

กระผมขอให้ท่าน “Rest in Peace” หรือ “ไปสู่สุขคติ” หลังจากที่ท่านนั้นได้เหนื่อยมาอย่างยาวนานสำหรับการทุ่มเทและอุทิศตนเพื่อสังคม


อ่านเพิ่มเติมใน


บทความล่าสุด

เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค
เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเหตุการณ์ที่นายหวังซิง (หรือชื่อเล่นว่าซิงซิง) นักแสดงชาวจีนถูกหลอกให้มาแคสงานแสดงที่ประเทศไทย แต่สุดท้ายกลับถูกพาไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และถูกพาข้ามพรมแดนไปยังประเทศเมียนมาแล้วหายสาบสูญไป กระทั่งแฟนสาวของซิงซิงได

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ การยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวจีนเติบโตขึ้นถึง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลูกเล่นหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเล่น “คำผวน” ซึ่งเป็นการเล่นคำโดยการสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะต้น กับเสียงสระและตัวสะกดและวรรณยุกต์ของคำจำนวน 2 พยางค์ขึ้นไป เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีควาหมายก็ได้

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์
2568
กระแสเอเชีย
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนที่ติดตั้งกลางสี่แยกห้วยขวางบนโลกอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และหลายฝ่ายให้ความสนใจ กระทั่งสำนักงานเขตห้วยขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกา

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย