ในปี 2562 ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจและวิสัยทัศน์มุ่งเน้นการสร้างเสริมปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขท่ามกลางความหลากหลายทางศาสนา ชาติพันธุ์ รวมทั้งคติความเชื่อ และองค์ประกอบต่างๆ ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะนำเนื้อหาทั้งหมดที่เป็นข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์จากหนังสือ “สยาม-ปาตานี ใน ‘พื้นที่สีเทา’ บทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ก่อนค.ศ.๑๙๐๙” ซึ่งเป็นผลงานจากโครงการวิจัยที่จัดทำขึ้นในปี 2555 ที่มีชื่อว่า “การประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” มาสกัด สังเคราะห์ และถ่ายทอดเป็นเรื่องราวให้ชวนติดตามและน่าอ่านในรูปแบบหนังสือภายใต้ชื่อ “ลับลี้แต่ไม่ลี้ลับ : ปลายแผ่นดินด้ามขวานของไทย” ซึ่งจะมีเนื้อหาไม่ซับซ้อนหรือไม่หนักจนเกินไป กระชับ และเข้าใจง่ายสำหรับบุคคลทุกเพศทุกวัย โดยยังคงรักษาความเข้มข้นและความถูกต้องครบถ้วนของเนื้อหาอันเป็นหัวใจหลักของชิ้นงานไว้ไม่เปลี่ยนแปลง และในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มเติมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐมักนำไปบิดเบือน หรือนำมากล่าวอ้างโจมตีอย่างมีอคติ โดยการอธิบายอย่างมีเหตุผลและเป็นไปตามหลักวิชาในอีกส่วนหนึ่งด้วย นอกจากหนังสือแล้ว ศูนย์ฯ ยังมีการจัดทำข้อมูลความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญจากหนังสือฯ ผ่านแผ่นภาพอินโฟกราฟฟิก (Infographic) และการจัดทำข้อมูลความรู้ที่เป็นประเด็นสำคัญจากหนังสือฯ ผ่านภาพเคลื่อนไหว หรือที่เรียกว่าโมชั่นอินโฟกราฟฟิก (Motion Infographic) ไม่เพียงเท่านั้น ยังจะส่งผ่านข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์จากหนังสือเรื่องนี้ผ่านการสร้างเนื้อหาหนังสือแบบอิเล็คทรอนิคส์ (E-book) และการสัมมนาทางวิชาการระดับชาติสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดการขยายมุมมองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการทั้งในส่วนกลางและในส่วนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
