ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นเกี่ยวกับ Soft Power (อำนาจอ่อน) ของจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ กล่าวคือ จีนได้ใช้ Soft Power เพื่อเพิ่มอิทธิพลในเวทีโลก โดยมุ่งสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก พร้อมกับสื่อภาพจำของจีนในฐานะชาติมหาอำนาจ (Arif, 2017) อย่างสร้างสรรค์ ในการนี้ ได้เลือกใช้ช่องทางผสมผสาน ได้แก่ ศิลปะ วัฒนธรรม ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ การค้า และการลงทุนกับประเทศหุ้นส่วน โดยมีนัยสำคัญ คือ การเสริมความมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศ การเข้าถึงแหล่งพลังงาน และการลดอิทธิพลของมหาอำนาจรายอื่นในขอบเขตภูมิรัฐศาสตร์โลก ทั้งนี้การใช้ Soft Power ของจีนเต็มไปด้วยความซับซ้อนและผูกโยงกันจนเป็นพหุมิติจนยากแก่การศึกษาให้ครอบคลุมในคราวเดียว ทางเลือกหนึ่งในการเริ่มทำความเข้าใจจีนในกรอบคำถาม “โอกาส” หรือ “ภัยคุกคาม” (Opportunities vs Threats) ซึ่งนอกจากจะตอบสนองต่อความเร่งด่วนแล้ว ยังอาจจะช่วยอนุมานรูปแบบการเข้ามาของจีน ปัจจัยแวดล้อมและผลกระทบได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะที่มีต่อประเทศไทย ทั้งยังจะได้เตรียมความพร้อมและแนวทางรับมืออย่างเหมาะสม โดยประเด็นที่ควรจะเร่งศึกษาจากการใช้ Soft Power ของจีนในประเทศไทย คือ ประเด็นในด้านการศึกษา ด้วยปรากฏข้อบ่งชี้ที่เป็นผลโดยตรงและผลพวงที่ตามมา ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ไทยและจีนในอนาคตได้ ดังข้อมูลต่อไปนี้ ประการแรก คือ การจัดตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนแบบให้เปล่าในประเทศไทยในนาม ‘สถาบันขงจื่อ’ รวมตลอดถึงการแลกเปลี่ยนทุนสนับสนุนอาจารย์อาสาสมัครชาวจีนให้เข้ามาสอนให้กับสถาบันขงจื่อ และให้อาจารย์ฝ่ายไทยไปสอนที่สถาบันการศึกษาคู่สัญญาในประเทศจีน ประการที่สอง คือ ความช่วยเหลือเกี่ยวกับครูอาสาสมัครชาวจีนในการสอนภาษาจีนในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย จนทำให้เกิดภาวะการพึ่งครูชาวจีนในการสอนภาษาจีน ประการที่สาม กลุ่มทุนชาวจีนเข้ามาซื้อกิจการของสถานศึกษาในประเทศไทย เนื่องจากสถานศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาของไทยเป็นที่นิยมสำหรับนักศึกษาชาวจีน และประการสุดท้าย คือ ผลจากการเข้ามาของกลุ่มทุนและนักศึกษาชาวจีนรุ่นใหม่จำนวนมากในประเทศไทย ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของสถานศึกษาและสภาพแวดล้อมโดยรอบ จนเป็นประหนึ่งนิคมทางวัฒนธรรมจีนใหม่
ด้วยเหตุข้างต้น จึงนำไปสู่การจัดทำโครงการวิจัย เรื่อง “การขยายตัวของจีนในเอเชีย ผ่านการใช้ Soft Power ในมิติการศึกษา : กรณีศึกษาประเทศไทย เพื่อไขข้อบ่งชี้ดังกล่าว โครงการวิจัยนี้จะศึกษากรณีประเทศไทยในมิติการศึกษา ทั้งนี้ผลผลิตที่เป็นรายงานวิจัยจะทำหน้าที่เป็นบันทึกทางความรู้และพื้นฐานทางความคิดที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของไทยในการตั้งรับต่อการใช้ Soft Power ของจีนในภาพรวมได้อย่างเหมาะสมและรอบด้าน ในแง่นี้โครงการวิจัยจะช่วยเสริมการขยับตัวของภาคความมั่นคงด้วยชุดความรู้ที่ทันกับสถานการณ์ รวมทั้งเปิดพื้นที่การมองสู่โลกของวัฒนธรรมสัมพันธ์ที่อาจแตกต่างไปจากแนวความรู้เดิมของฝ่ายไทย
