กิจกรรม โครงการประชุม สัมมนา เสวนาวิชาการ

หน้าแรก / กิจกรรม

เสวนาวิชาการ

ภูมิทัศน์ของความเปราะบางในสังคมเอเชีย: สังคมสูงวัย – ทางเลือก ทางออก ว่าด้วยวาระท้ายของชีวิต

งานเสวนาวิชาการ หัวข้อเรื่อง Landscape of vulnerability in Asia: Aged society – choices and innovation for the end-of-life
ภูมิทัศน์ของความเปราะบางในสังคมเอเชีย: สังคมสูงวัย – ทางเลือก ทางออก ว่าด้วยวาระท้ายของชีวิต

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 8.30 น. – 16.00 น.
ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยประเด็นที่ชวนให้สังคมขบคิดถึงอนาคตอันใกล้ต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทางสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งองค์กรภาคีเครือข่ายได้เล็งเห็นถึงสถานการณ์ทางวิชาการที่จำเป็นต่อการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนขึ้น การเสวนาวิชาการ หัวข้อเรื่อง “ภูมิทัศน์ของความเปราะบางในสังคมเอเชีย: สังคมสูงวัย – ทางเลือก ทางออก ว่าด้วยวาระท้ายของชีวิต” ที่จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2565 ระหว่างเวลา 08.30-16.00 น. ณ  ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ทางวิชาการต่อการยกระดับความเข้าใจ โดยเฉพาะในเชิงนโยบายทางสังคม ในการทำความเข้าใจฐานคิดทางวัฒนธรรมของสังคมเอเชียที่มีต่อความสูงวัยและความตาย ประสบการณ์ของผู้สูงวัยภายใต้ความกดทับอันซับซ้อนของโครงสร้างสังคม รวมถึงความเป็นไปได้ของฉากทัศน์ความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตผ่านมุมมองสหสาขา และท้ายที่สุดคือการร่วมกันออกแบบวาระท้ายและการจัดการผ่านนวัตกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์แห่งความเปราะบางนี้

ความกังวลกับปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” (complete-aged Society) ที่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด นับเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่หลายคนตั้งคำถามมาตลอด และเมื่อประชากรผู้สูงอายุ ในปี 2565 เพิ่มเป็น 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมดขณะที่อัตราการเกิดกลับลดลง ยิ่งเป็นอัตราเร่งให้การเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-Aged society) เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นเท่านั้น อะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของสังคมไทยยุคสูงวัยครองเมืองกัน?

          ภาพสะท้อนจากคลื่นสึนามิของมวลชนสูงวัยที่ย่อมสะเทือนกับทุกองคาพยพของสังคมนั้น ได้ถูกจินตนาการผ่านฉากทัศน์ในแวดวงวิชาการหลายสาขาความรู้ บทเรียนที่ได้จากสังคมในประเทศต่าง ๆ ได้ถูกนำมาขบคิดร่วมกันในหลายเวที หากแง่มุมที่ช่วยเปิดประสบการณ์ผ่านภาพยนตร์ โดยเฉพาะจากเรื่อง PLAN75 ก็ชวนให้จินตนาการทางสังคมที่เราต้องอยู่ร่วมกันภายใต้บรรยากาศของคนหลายวัย รวมไปถึงการร่วมตัดสินใจ และรับผิดชอบต่อทางเลือกเชิงนโยบายต่าง ๆ สัมผัสได้ชัดเจนขึ้น ปมเรื่องจากภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นทางเลือกเชิงนโยบายที่นำวิถีแห่งความตายมาใช้บริหารจัดการจำนวนประชากรสูงวัย สะท้อนให้เห็นถึงการเมืองเรื่องของชีวิตและความตาย (necropolitic) ที่ยิ่งเปิดมุมมองต่อการตั้งคำถามต่อหลักคิดและจริยศาสตร์ของความตายกับความหมายของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหันกลับมาพิจารณายังภูมิทัศน์ของความเปราะบางภายใต้สังคมเอเชีย ที่ไม่เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ในทวีปเอเชียเอง สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 58 ของประชากรสูงอายุรวมทั้งโลก และมีประชากรสูงอายุอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 11 ของประชากรอาเซียนทั้งหมด (สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย, 2019) และแม้ว่าความสูงวัยคือสถานการณ์ที่ทั่วทั้งโลกจะต้องเผชิญ แต่ในแง่มุมเชิงคุณค่าและวัฒนธรรมนั้น สังคมเอเชียกำลังถูกท้าทายและต้องการพื้นที่สหศาสตร์ในการถกเถียงและร่วมกันออกแบบอนาคตอันเป็นไปได้ ภายใต้คลื่นสึนามิแห่งความสูงวัยนี้ กลไกที่สังคมเอเชียมีต่อความเสื่อมทางกายภาพ ความเปราะบาง และความตายจำเป็นต้องถูกหยิบยกขึ้นมาคลี่ให้เห็น


ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียน online ได้ที่ https://forms.gle/5jKeJxLwBmHqpGGMA

https://fb.watch/gnfGvaZ1Rz/


รายละเอียด

วันที่

21 ตุลาคม 2565

เวลา

08:30 - 16:00

สถานที่

ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย