ดร. ทรายแก้ว ทิพากร

ในที่สุด ธันวาคม 2022 หลังจากการศึกษาสถานการณ์มานานพอสมควร รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศเตรียมตัวรับมือกับภัยคุกคามที่เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของประเทศ วันที่ 16 ธันวาคม คณะรัฐมนตรีได้รับรองเอกสารด้านความมั่นคง 3 ฉบับ ได้แก่ 1) National Security Strategy เอกสารระดับสูงสุดในการวางแนวทางยุทธศาสตร์สำหรับการทูต การป้องกันประเทศ เศรษฐกิจเพื่อความมั่นคง เทคโนโลยี และการข่าว 2) National Defense Strategy เอกสารซึ่งกำหนดเป้าหมายในการป้องกันประเทศและวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น และ 3) The Defense Buildup Program หรือโครงการป้องกันประเทศในระยะกลาง ซึ่งวางแผนการใช้จ่ายและการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ โดยสรุปเนื้อหาหลักๆ เป็นการปรับปรุงเป้าหมายและวิธีการป้องกันตนเองของญี่ปุ่นให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่เพียงการปรับปรุงกองกำลังป้องกันตนเองเท่านั้น แต่เป็นการระดมพลังของประเทศญี่ปุ่นเข้าด้วยกันทีเดียว น่าสงสัยว่า อะไรคือสาเหตุที่รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเช่นนี้ มาตรการยกระดับการป้องกันตนเองเช่นนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในภูมิภาคหรือไม่ มาตรการเช่นนี้จะหมายถึงโอกาสของสงครามครั้งใหญ่ดังเช่นเมื่อ 80 ปีที่แล้วหรือไม่
สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความใกล้ชิดระหว่างจีนกับรัสเซียตั้งแต่ก่อนรัสเซียจะบุกโจมตียูเครน ไม่ได้จืดจางลงเมื่อเกิดสงคราม ผนวกกับกิจกรรมของฝ่ายทหารทั้งรัสเซียและจีนในแถบแปซิฟิกเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจับตามองและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รัสเซียกับญี่ปุ่นเป็นคู่ปรับกันมานาน ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองประเทศก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับเขตแดนโดยเฉพาะส่วนเหนือของเกาะฮอกไกโด เมื่อรัสเซียบุกยูเครน ญี่ปุ่นแสดงท่าที่ชัดเจนคือเข้าข้างฝ่ายตรงข้ามกับรัสเซีย ทั้งยังมีมาตรการแซงค์ชั่นทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ส่วนรัสเซียก็ได้แสดงแสนยานุภาพทางทหารเพื่อป้องปรามการรุกรานจากฝั่งแปซิฟิกเช่น จัดการซ้อมรบในช่วงเดือนมิถุนายน
ในช่วงเวลาเดียวกัน จีนซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้ขยับขยายอิทธิพลทางการทหารมากขึ้น มีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้นในเวทีโลกทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งตอบโต้การท้าทายในรูปแบบต่างๆของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ในปี 2022 จีนได้เลือกประธานาธิบดีสี จิ้นผิงให้ดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นสมัยที่ 3 เป็นการสนับสนุนเสถียรภาพทางการเมืองจีน เป็นการยืนยันว่าจีนจะยังคงมีทิศทางที่จะสถาปนาสถานะที่มั่นคงของตนในฐานะผู้นำหนึ่งของโลก การดำเนินการต่างๆของจีนในทะเลจีนใต้ และท่าทีของจีนต่อกรณีไต้หวัน ทำให้ญี่ปุ่นกังวลใจอย่างยิ่ง เพราะไต้หวันอยู่ห่างจากดินแดนของญี่ปุ่น (เกาะโยนากุนิ) เพียงร้อยกว่ากิโลเมตร ในระยะหลังมานี้มีเรือและเครื่องบินของจีนรุกล้ำเข้ามาในบริเวณชายแดนถี่ขึ้นมาก กรณีรัสเซียบุกยูเครนอาจกระตุ้นให้จีนใช้กำลังยึดไต้หวัน ซึ่งจะไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวญี่ปุ่นอย่างแน่นอน
เกาหลีเหนือเป็นเพื่อนบ้านอีกประเทศหนึ่งที่กดดันให้ญี่ปุ่นต้องปรับมุมมองและมาตรการในการรักษาความมั่นคงของตนเอง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง ได้มีการทดลองขีปนาวุธข้ามเกาะญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่ปี 1998 เป็นครั้งแรก ในปัจจุบันเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ การทดลองขีปนาวุธในรูปแบบต่างๆตลอดจนการทดลองนิวเคลียร์เพิ่มความถี่ขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดปี 2022 จนแม้แต่ในวันที่ 31 ธันวาคมได้มีการยิงขีปนาวุธถึง 37 เซ็ท อีกทั้งเกาหลีเหนือยังแสดงท่าทีว่ามีความตั้งใจที่จะใช้อาวุธร้ายแรงหากมีการสู้รบ ภัยคุกคามจากขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือเป็นความจริงที่ชาวญี่ปุ่นมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องคอยวิ่งเข้าที่กำบังยามมีสัญญาณเตือนดังขึ้น

ภายในภาวะแวดล้อมที่คุกคามเช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมที่จะรับมืออย่างไร
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้จัดการเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นไม่กลับมาเป็นประเทศก่อสงครามอีก รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นสละสิทธิที่จะใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ดังนั้นญี่ปุ่นจะไม่มีกองทหารบกเรืออากาศ ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีเพียงกองกำลังป้องกันตนเอง (SDF) เท่านั้น ได้มีการทำสนธิสัญญาให้สหรัฐฯเข้ามาตั้งกองทหารในญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่จังหวัดโอกินาวา เพื่อช่วยดูแลความมั่นคงให้ญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นกลับมาเสริมสร้างกองทัพขึ้นอีก การจัดการในลักษณะนี้ทำให้ญี่ปุ่นดูเหมือนไม่ใช่ประเทศปกติที่สามารถดูแลความมั่นคงของตนเองได้ ทั้งยังต้องพึ่งพิงสหรัฐฯในการดูแลความปลอดภัยของประเทศ แต่ในปัจจุบันนี้ความมั่นใจว่าสหรัฐฯจะดูแลป้องกันประเทศญี่ปุ่นจากภัยคุกคาม นับวันจะน้อยลงทุกที นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ให้ความสำคัญต่อประเทศของตนเองก่อน อีกทั้งความเสื่อมถอยของสหรัฐฯทั้งในทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการเมืองในเวทีโลก เป็นความจริงที่ญี่ปุ่นต้องพิจารณาอย่างจริงจัง
จากเอกสารทั้ง 3 ฉบับที่ได้รับการปรับปรุง รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าในปี 2027 จะเป็นปีที่สำคัญ เพราะเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งกองทัพประชาชนปลดแอกของจีน รัฐบาลสีจิ้นผิงน่าจะต้องแสดงแสนยานุภาพเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์นี้ ซึ่งอาจหมายถึงการบุกเข้ายึดไต้หวัน นั่นหมายความว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่สหรัฐฯจะต้องเข้าช่วยเหลือไต้หวัน หรือเกี่ยวข้องกับการสู้รบอย่างใดอย่างหนึ่ง และเป็นไปได้สูงมากที่ฐานทัพสหรัฐฯในญี่ปุ่นจะต้องเป็นเป้าหมายของการถูกโจมตี รัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่สามารถนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และควรต้องมีการเตรียมพร้อมหากมีเหตุการณ์สู้รบในภูมิภาคเกิดขึ้นจริง ได้มีการสำรวจศักยภาพโดยรวมของประเทศ ทั้งศักยภาพของกองกำลังป้องกันตนเองตลอดจนศักยภาพด้านการเงินและเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจในครั้งนี้ ญี่ปุ่นจะต้องระดมสรรพกำลังในทุกๆด้าน พลังของชาติญี่ปุ่นที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนี้หมายรวมถึง ศักยภาพด้านการทูต การป้องกันประเทศ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และศักยภาพด้านการข่าว องค์ความรู้ต่างๆของญี่ปุ่นเหล่านี้ต้องถูกรวมกันเข้ามาเพื่อการป้องกันประเทศ จะมีการขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งรัฐบาลอาจพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานวิจัยขึ้นเอง ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ญี่ปุ่นมีความร่วมมือในการศึกษาวิจัยด้านอาวุธกับสหรัฐฯ มานาน จากประเด็นนี้แสดงให้เห็นได้ว่า ญี่ปุ่นจะนำจุดเด่นของตนเองคือเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้อย่างเต็มศักยภาพ
ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนากองกำลังป้องกันตนเองที่มีศักยภาพในการสู้รบ แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่เปลี่ยนไปในการป้องกันประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ จากนี้ไปญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ใช้การตอบโต้ หรือ counterstrike capability เป็นมาตรการในการป้องกันประเทศ มาตรการตอบโต้หมายถึงญี่ปุ่นจะสามารถใช้อาวุธตอบกลับการโจมตีจากศัตรู เช่น ญี่ปุ่นสามารถส่งอาวุธเข้าไปทำลายฐานที่ตั้งขีปนาวุธของศัตรูได้ เป็นการตีความ “การป้องกันตนเอง” ในความหมายที่กว้างขึ้น ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมานานตั้งแต่ช่วงสงครามเกาหลี (ทศวรรษ 1950) ว่า การไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรหมายถึงญี่ปุ่นจะนั่งเฉยๆ แม้จะถูกคุกคาม วิธีคิดเช่นนี้ได้รับการส่งเสริมในสมัยของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะเมื่อสภาพแวดล้อมทางความมั่นคงของญี่ปุ่นเริ่มทวีความไม่แน่นอนมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2015 ได้มีการปรับปรุงทิศทางการป้องกันประเทศด้วยแนวคิด collective self-defense ซึ่งหมายถึง หากมีสถานการณ์คุกคามที่อาจนำไปสู่การโจมตีญี่ปุ่น กองกำลังของญี่ปุ่นสามารถเข้าให้การสนับสนุนกองกำลังของชาติอื่นที่เข้ามาช่วยเหลือ โดยได้มีการวางกฎเกณฑ์ไว้ว่า ญี่ปุ่นจะใช้กำลัง เมื่อมีการโจมตีญี่ปุ่นหรือประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของชาติ และไม่มีวิธีอื่นอีกแล้วที่จะขจัดปัดเป่าภัยคุกคามนั้น โดยจะจำกัดการใช้กำลังให้อยู่ในระดับน้อยที่สุด ดังนั้นในครั้งนี้แม้จะเพิ่มมาตรการของการป้องกันประเทศจาก ‘การป้องกันร่วม’ เป็นการ ‘ตอบโต้’ แต่รัฐบาลก็จะยังคงใช้กฎเกณฑ์เดิมดังกล่าวเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ

รัฐบาลญี่ปุ่นน่าจะพิจารณาอย่างดีแล้วว่า การเปิดตัวเป็นศัตรูกับจีนเป็นความคิดที่ไม่ฉลาดเลย เพราะนอกจากจีนจะเป็นประเทศที่ใหญ่กว่ามาก จีนยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างมาก ยุทธศาสตร์ใหม่นี้จึงไม่มุ่งเป้าไปที่จีนในฐานะศัตรู แต่จีนเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างสูงในการดำเนินงานทางการทูตเพื่อสันติ และการมีศักยภาพในการป้องปรามก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
มาตรการดังกล่าวข้างต้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ซึ่งได้รับการพิจารณามาโดยลำดับเช่นกัน นอกจากการปรับขึ้นงบประมาณของกระทรวงกลาโหมแล้ว กระทรวงที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็ได้รับการปรับเพิ่มงบประมาณด้วย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม การกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และการท่องเที่ยว ซึ่งดูแลเกี่ยวกับการก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินและท่าเรือ โดยรัฐบาลเตรียมแผนการจัดหารายได้จากการออกพันธบัตร และขึ้นภาษี ได้แก่ ภาษีนิติบุคคล ภาษีรายได้ และภาษียาสูบ นาย Yoichi Miyazawa ประธานคณะกรรมาธิการด้านภาษีของพรรค LDP ให้สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคมว่า ญี่ปุ่นมีแผนที่จะจัดสรรงบประมาณสำหรับการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้นได้ถึง 2% ของ GDP มีการประมาณว่า งบประมาณประจำปีของญี่ปุ่นในปีหน้าอาจจะพุ่งสูงถึง 114 ล้านล้านเยน (trillion yen) จากปัจจัยค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงเวลานี้ และจะเป็นภาระอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
หากรัฐบาลญี่ปุ่นมีการตัดสินใจยกระดับมาตรการป้องกันประเทศในลักษณะนี้เมื่อช่วง 4-5 ปีก่อน ทั่วโลกจะต้องตื่นตัวว่าญี่ปุ่นตั้งใจจะกลับมากระหายสงครามอีกหรือไม่ และแม้แต่ชาวญี่ปุ่นกันเองก็คงจะมีการต่อต้านกันมากมาย ดังที่เกิดขึ้นในสมัยนายกอาเบะ แต่ในช่วงนี้ปฏิกิริยาเหล่านี้กลับเบาลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในประเทศญี่ปุ่นเอง ภัยคุกคามทั้งจากเกาหลีเหนือและสถานการณ์ของภูมิภาคเป็นสิ่งที่ชัดเจนจนสามารถสัมผัสได้ ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ดูจะเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการป้องกันภัยดังกล่าว พร้อมทั้งต้องยอมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจครั้งนี้
ไม่เพียงแต่สถานการณ์ภายนอกที่เป็นปัจจัยคุกคาม สังคมญี่ปุ่นเมื่อผ่านสถานการณ์โควิดมาแล้ว 2 ปีได้เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ผนวกกับปัญหาพื้นฐานของสังคมคือ สังคมสูงวัย จำนวนประชากรเริ่มลดลง (สูงที่สุดในปี 2010) และปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงถึง 262.5% ของ GDP สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ G-7 น่าจะเป็นปัจจัยท้าทายไม่เพียงต่อรัฐบาลญี่ปุ่นเท่านั้น สังคมญี่ปุ่นโดยรวมก็ต้องปรับตัวกันทั้งหมด
ภาวะ new normal ของญี่ปุ่นไม่ใช่เพียงสถานการณ์ภายหลังจากโควิดเฉกเช่นประเทศอื่นๆ ปัจจัยเกี่ยวกับโอกาสของความรุนแรงในภูมิภาคจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมญี่ปุ่นโดยรวมในอนาคตอันใกล้นี้
บรรณานุกรม :
1.Takahashi Kosuke. “Japan’s Major Turning Point on Defense Policy” The Diplomat Retrieved December 29, 2022 from
2.Kojiro Tanikawa, “Defense Perspective: Forward Reconnaissance / Include industry, academia and Coast Guard in all-hands approach”, Yomiuri Shimbun Online. Retrieved December 25, 2022 from https://japannews.yomiuri.co.jp/politics/political-series/20221225-79372/
3.Michitaka Kaiya, “Defense Perspective: Forward Reconnaissance / Self-Defense Forces to be transformed into ‘fighting force’”, Yomiuri Shimbun Online. Retrieved December 24, 2022 from
4.“Defense Perspective: Forward Reconnaissance / Details on tax hikes to fund defense spending still undecided”, Yomiuri Shimbun online. Retrieved December 25, 2022. From https://japannews.yomiuri.co.jp/politics/political-series/20221225-79609/
5.Jennifer Lind, “Japan Steps Up”, Foreign Affairs Online. Retrieved December 23, 2022 from https://www.foreignaffairs.com/japan/japan-steps
6.“LDP mulling corporate, income tax hikes to fund defense budget increase”, Yomiuri Shimbun Online. Retrieved October 15, 2022 from
7.Tomohiro Ebuchi, “Japan’s debt pile grows as government bonds hit record $7tn.” Nikkei Asia Online Retrieved January 2, 2023, from https://asia.nikkei.com/Business/Markets/Bonds/Japan-s-debt-pile-grows-as-government-bonds-hit-record-7tn#:~:text=With%20general%20government%20debt%20equivalent,%25%20and%20Germany%20at%2069.6%25.