เผยแพร่: 20 พ.ย. 2560 10:29 โดย: ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล
ผศ. สุรัตน์ โหราชัยกุล
คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ
แม้อินทิรา คานธีจะเกิดในครอบครัวเนห์รูที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมั่งคั่ง แต่ชีวิตของเธอก็เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความขุ่นเคืองมากมาย ครั้งหนึ่งนักเขียนนวนิยายชื่อดัง ไอริส เมอร์ดอค ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนแบดมินตันด้วยกัน เขียนถึงเธอว่าเป็นคนไม่มีความสุข ว้าเหว่ และไม่แน่ใจอนาคตตัวเอง เพียงไม่กี่วันก่อนเธอจะถูกสังหารในปี 1984 เธอกล่าวความในใจต่อเพื่อนสนิทคนหนึ่งว่า “ฉันแน่ใจเลยว่าในตัวฉันไม่มีอะไรน่าชื่นชมสักอย่าง” จากวรรณกรรมชีวประวัติของอินทิรา พอสรุปได้ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ชีวิตของเธอตั้งแต่เด็กจนถึงวัย 18 ปีไม่มีความสุขมากนักคือ (1) การที่เธอถือกำเนิดเป็นบุตรีคนเดียวของยวาฮัรลาล เนห์รูในช่วงเวลาที่เขากำลังนำพาครอบครัวเนห์รูเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ และ (2) การที่ครอบครัวทางฝ่ายพ่อปฏิบัติไม่ดีต่อแม่ ซึ่งเป็นคนที่เธอรักและสงสารมากที่สุดคนหนึ่งในชีวิต
จำต้องขยายความให้ทราบว่า ในปี 1915 สองปีก่อนอินทิราจะถือกำเนิด คานธี (หรือมหาตมาคานธีในเวลาต่อมา) กลับจากแอฟริกาใต้มายังอินเดีย และอีกไม่นานนักที่อิทธิพลของคานธีจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของครอบครัวเนห์รูอย่างมหันต์ กล่าวได้ว่า คานธีแทบจะกลายเป็นคู่แข่งกับโมตีลาล เนห์รูในความเป็นพ่อของยวาฮัรลาลเลยทีเดียว วิถีแบบคานธีว่าด้วยสัตยาเคราะห์และอหิงสา รวมถึงการใช้ผ้าคาดีและการต่อต้านสินค้าต่างประเทศได้เข้าสู่อานันท์ภวัน คฤหาสน์ของตระกูลเนห์รูที่ครึกครื้นไปด้วยงานเลี้ยงในสวนและแขกผู้สง่างาม จำต้องตระหนักด้วยว่า อินทิราเกิดประมาณเจ็ดเดือนหลังจากคานธีได้เริ่มวิถีอารยะขัดขืนในอินเดียครั้งแรก หรือ ‘สัตยาเคราะห์จัมปารัน’
ในช่วงแรก เช่นเดียวกับชาวอินเดียหัวสมัยใหม่หลายคน สมาชิกครอบครัวเนห์รูยังรู้สึกลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงตามแบบคานธี แต่การสังหารหมู่ปี 1919 ณ ยาเลียนวาลาบาค เมืองอมฤตสระ ปัญจาบ ซึ่งสำแดงถึงความอยุติธรรมและความโหดร้ายของอังกฤษ ดังที่อินทิราได้กล่าวไว้ “ได้ขจัดความอิหลักอิเหลื่อและความคลางแคลงใจ” ของครอบครัวเนห์รูไปไม่น้อยเลยทีเดียว ยวาฮัรลาลที่กลับมาจากอังกฤษเป็น “ชาวอังกฤษมากกว่าชาวอินเดีย” ซึ่งในเวลาต่อมาเขาคร่ำครวญว่า ณ ขณะนั้นเขา “เป็นคนอวดดีที่แทบไม่มีสิ่งน่ายกย่องเลย” ได้ใช้เวลากว่าสองทศวรรษเพื่อลงมือปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ให้ตนเองเป็นคนอินเดีย ในกระบวนการสร้างตัวตนที่ว่านี้ โมตีลาล อินทิรา และคนอื่นๆ จะได้รับผลกระทบไปด้วย
โมตีลาลเลิกอาชีพนักกฎหมาย และนำผลิตภัณฑ์ต่างชาติมูลค่ามหาศาลโยนเข้าในกองไฟในนามของการไม่ร่วมมือกับอังกฤษ อันเป็นกลยุทธ์สำคัญในขบวนการชาตินิยมนำโดยคานธี แท้จริงแล้ว ก็ใช่ว่าโมตีลาลจะมีความสุขกับการเปลี่ยนแปลงนี้นัก เพราะตนไม่ประสงค์จะยอมรับหลักการแบบคานธี แต่ก็ยอมที่จะไม่ร่วมมือกับอังกฤษเพื่อลูกชายของตน เพื่อว่าจะได้ใกล้ชิดกับลูกยิ่งขึ้น เดินร่วมทางกับลูก และติดตะรางกับลูก ดังที่ สแตนลีย์ โวลเพิร์ต ผู้เขียนชีวประวัติยวาฮัรลาลคนหนึ่งระบุว่า “เพราะลูกชายของเขาปฏิเสธที่จะสืบทอดกิจการด้านกฎหมายอันร่ำรวยของเขา เขาจึงทำอาชีพการเมืองอย่างลูกชายแทน” วิชัยลักษมีน้องสาวของยวาฮัรลาลเล่าว่า “คานธีครอบงำครอบครัวของเราอย่างหนักเสียจนเขาเป็นผู้ตัดสินใจแม้กระทั่งว่าฉันจะสวมส่าหรีชุดไหนในงานแต่งงานของตัวเอง ซึ่งจะเป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นผ้าคาดีเท่านั้น แม่ฉันโกรธเรื่องนี้มาก ส่วนบา [หรือกัสตูร์บา ภรรยามหาตมาคานธี] เองทอส่าหรีผ้าคาดีอย่างดีให้ฉัน ย้อมสีชมพู”
อินทิราในวัยเด็กซึ่งถูกเหน็บแนมว่าเหตุไฉนจึงเล่นตุ๊กตาของต่างชาติจำต้องสละตุ๊กตาตัวโปรดที่ผลิตในฝรั่งเศส ยืนดูตุ๊กตาหลอมละลายไปในกองไฟด้วยอารมณ์โศกสลดสะพรึงกลัว และด้วยหน้าที่ต่อปิตุภูมิ เธอได้สารภาพในเวลาหลายปีต่อมาว่า “ตุ๊กตาตัวนั้นเป็นเพื่อนฉัน เป็นลูกฉัน … ทุกวันนี้ฉันยังแหยงการจุดไม้ขีดไฟอยู่เลย” การใช้นามสกุลเนห์รูมิได้แสดงถึงความร่ำรวยและมีอภิสิทธิ์อีกต่อไป ต่อแต่นี้ไปจะกลับกลายเป็นสมาชิกครอบครัวกบฏ และก็ด้วยหน้าที่ต่อปิตุภูมินี่เองที่ทำให้ยวาฮัรลาลยืนกรานที่จะถอนเธอออกจากโรงเรียนเซนต์เซซิเลียในอัลลาฮาบาด โดยให้เหตุผลว่าโรงเรียนดังกล่าวเป็นของอังกฤษ ดังนั้นแล้ว ย่อมเป็นการละเมิดหลักการของพรรคคองเกรสที่จะต้องต่อต้านต่างชาติ อินทิราต้องถูกให้ออกจากโรงเรียนแล้วมาเรียนที่บ้านด้วยคำสั่งของบิดา ซึ่งสร้างเธอเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพในวัยเจ็ดขวบ
ยวาฮัรลาลมักเขียนถึงอินทิราด้วยว่า เธอกับเขาโชคดีแค่ไหนที่มีส่วนร่วมปลดแอกอินเดีย ในการสนทนากับผู้เล่าชีวประวัติของอินทิราคนหนึ่ง ปริยังกา คานธี หลานสาวของอินทิราเล่าว่า “คุณย่าเป็นนักปฏิวัติ และเป็นเช่นนั้นตลอดชีวิตของเธอ” เรายังสังเกตได้อีกด้วยว่าบรรยากาศมีลักษณะปฏิวัติอยู่เพียงใด ดังที่แผ่นป้ายหน้าอานันท์ภวัน (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสวราชภวัน) จารึกไว้ว่า “บ้านหลังนี้เป็นยิ่งกว่าสิ่งปลูกสร้างจากอิฐและปูน เป็นบ้านที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาติเรา ภายในกำแพงบ้านหลังนี้มีการตัดสินใจครั้งใหญ่และเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่เกิดขึ้นมากมาย”
เกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพของอินทิรา ตอนที่อินทิราเกิด โมตีลาลได้ระงับความเข้าใจใดๆ ก็ตามที่ว่าเขาไม่พอใจกับหลานสาวเกิดใหม่ของเขา เขาคลายบรรยากาศในบ้าน โดยเฉพาะกับสวรูปรานีภรรยาของเขาที่ได้โพล่งออกมาว่า “น่าจะเป็นเด็กผู้ชาย” โดยดุเธอว่า “เราเลี้ยงลูกชายกับลูกสาวของเรามาแตกต่างกันหรือ หล่อนไม่รักพวกเขาเท่ากันดอกหรือ เด็กหญิงคนนี้แหละจะล้ำค่ากว่าหลานชายเป็นพันคน” เกี่ยวกับความชื่นชอบเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงนี้ อินทิราเขียนไว้ว่า “ถึงครอบครัวฉันจะไม่หัวโบราณขนาดที่จะมองว่าการให้กำเนิดเด็กผู้หญิงเป็นเรื่องโชคร้าย แต่ก็ยังมองว่าเด็กผู้ชายเป็นสิทธิพิเศษและมีความจำเป็นอยู่ดี” สิทธิพิเศษและความจำเป็นดังกล่าวนั้นมีผลกระทบต่อเพศสภาพของเธอไม่น้อยเลยทีเดียว อัตลักษณ์ช่วงต้นๆ ของเธอเป็นเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และเธอก็มักจะพูดเองด้วยว่าไม่เคยมองตนเองเป็นเด็กหญิงหรือผู้หญิงเลย
ในวัยที่อินทิรากำลังเติบโต หลายคนรับรู้ว่าเธอเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย แต่แท้จริงแล้ว อินทิราเป็นคนแข็งกร้าวไม่น้อยเลย โดยเฉพาะเวลาที่กมลามารดาของเธอถูกเพิกเฉยหรือถูกหยามเกียรติ กมลามาจากครอบครัวแคชเมียร์ที่อาศัยอยู่ในเดลี เธอพูดได้แต่ภาษาฮินดี และไม่มีความรู้เกี่ยวกับตะวันตก เมื่อเธอแต่งงานกับยวาฮัรลาล เธอต้องประสบกับสมาชิกครอบครัวเนห์รูที่นอกจากจะใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับดีมากแล้ว ยังมีความเจนโลกและทันสมัยแบบตะวันตกด้วย อินทิรารู้สึกโกรธแค้นมากเมื่อคุณย่าสวรูปรานีและอาวิชัยลักษมีประพฤติไม่ดีต่อมารดาของเธอ บ่อยครั้งด้วยที่ทั้งสองทำตัวจองหองและสบประมาทกมลา การที่กมลาไม่สามารถมีลูกชายให้ครอบครัวเนห์รูได้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เธอไม่ได้รับการยอมรับ ในปี 1924 กมลาซึ่งมีสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรงนักได้ให้กำเนิดบุตรชายก่อนกำหนด เด็กน้อยคนนี้ตายในเวลาสองวันหลังคลอด และแลดูคล้ายว่าความหวังที่กมลาจะได้รับการยอมรับจากครอบครัวเนห์รูก็จบสิ้นไปพร้อมกับเด็กคนนี้ด้วย
ยิ่งยวาฮัรลาลเข้าร่วมขบวนการชาตินิยมอย่างเต็มตัว เขาก็ยิ่งมีเวลาให้กมลาน้อยลง อินทิราเคยเขียนจดหมายตัดพ้อต่อว่าพ่อของเธอว่า “พ่อรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้นที่บ้านเวลาที่พ่อไม่อยู่ พ่อรู้ไหมว่าเวลาแม่ป่วย มีคนอยู่เต็มบ้าน แต่ไม่มีสักคนเดียวที่จะไปหาแม่ หรือนั่งกับแม่แค่สักครู่ และเวลาที่แม่เจ็บปวดแสนสาหัส ก็ไม่มีใครช่วยเธอสักคนเดียว … ไม่ปลอดภัยเลยที่ทิ้งแม่ไว้ตามลำพัง” ในปี 1934 ในขณะที่อินทิรากำลังศึกษาอยู่ที่ศานตินิเกตัน กมลาป่วยหนักอีกครั้ง และในปี 1936 กมลาก็สิ้นชีพ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อินทิราวัย 18 ปีรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวกับเหตุการณ์นี้มาก ในภายหลังเธอพยายามให้ผู้คนจดจำแม่ของเธอว่าเป็นทั้งนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดียและเป็นนักสตรีนิยมที่น่ายกย่อง แม้จะมีมูลให้ผู้คนจดจำกมลาในลักษณะดังกล่าว แต่การที่อินทิรายกย่องสถานภาพของกมลาก็บ่งบอกด้วยว่า เธอประสงค์จะให้แม่เป็นที่จดจำว่ามีบทบาทเท่าเทียมกับพ่อของเธอ ดังที่เธอเคยกล่าวว่า “ฉันเป็นลูกสาวผู้ชายที่พิเศษกับผู้หญิงที่น่านับถือ” และแม้อินทิราจะใช้คำคุณศัพท์ “พิเศษ” อธิบายพ่อ แต่เธอก็ไม่เคยยกโทษให้พ่อที่ไม่ดูแลแม่อย่างเต็มที่ ความโกรธแค้นที่เธอมีต่อวิชัยลักษมีนั้นไม่เคยเลือนรางจางหาย ในปี 1970 เมื่ออินทิราในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ยกอานันท์ภวันให้มูลนิธิยวาฮัรลาล เนห์รู เธอปฏิเสธมิให้วิชัยลักษมีอาศัยอยู่ในอานันท์ภวันต่อ แม้แต่งานสมรสของสัญชัย คานธีบุตรคนที่สองของเธอในปี 1974 วิชัยลักษมีก็ไม่ได้รับเชิญด้วย
ในขณะที่ขบวนการชาตินิยมอินเดียท้าทายอังกฤษเพื่อเอกราชอินเดีย อินทิราก็ท้าทายพ่อและครอบครัวเพื่อเอกราชของตน เมื่อเธอคิดที่จะสมรสกับเฟโรซ คานธี ชาวอินเดียเชื้อสายปาร์ซีที่เธอรักมาก ส่วนหนึ่งเพราะเฟโรซเคยดูแลกมลาในยามป่วย ดังที่เธอเคยกล่าวว่า “เฟโรซคอยอยู่เคียงข้างฉันตลอด” อินทิราเคยสำแดงความภูมิใจในการท้าทายพ่อและครอบครัวของตนในประเด็นนี้ว่า “ในการแต่งงานกับเฟโรซฉันได้ทำลายประเพณีอันคร่ำครึ … ซึ่งมันก็ได้ ‘ทำให้พายุก่อตัวขึ้น’ … ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลายคนในครอบครัวฉันจะไม่สบอารมณ์” ยวาฮัรลาลต่อต้านความคิดของบุตรีที่จะเลือกเฟโรซเป็นคู่ครองอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่เพราะเฟโรซมาจากเชื้อสายปาร์ซีหรือวรรณะอื่น หากแต่เพราะเฟโรซมาจากชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างจากอินทิรา
เมื่อรู้แล้วว่าพ่อไม่มีทางยอมแน่ อินทิราจึงหันไปพึ่งคานธี บุคคลที่เธอไม่ได้รู้สึกชอบนักในช่วงแรกแต่ก็ยังเคารพอยู่บ้าง เพราะคานธีเป็นดังที่เธอกล่าวไว้ว่า “… ไม่เคยมองความเห็นอันตรงไปตรงมาว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย” ในภายหลังอินทิรายอมรับว่า ตนนั้นมองคานธีคลาดเคลื่อนไป ในมุมมองของอินทิรา สิ่งที่คานธีได้ทำไว้หาใช่การต่อต้านการคิดอย่างมีเหตุผลดั่งที่เธอเคยคิดไม่ หากแต่ท่านมหาตมามีความจำเป็นต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายและนำมวลชนปลดแอกอินเดียจากบริติชราช เมื่อเรื่องราวความรักระหว่างอินทิรากับเฟโรซแพร่กระจายสู่สาธารณะ ทำให้คานธีได้รับจดหมายที่มีเนื้อหาเชิงเหยียดหยามเฟโรซ และต่อต้านความสัมพันธ์ของทั้งสอง ในที่สุดคานธีจึงตัดสินใจแทรกแซงและเขียนจดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณะในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ หริชน ของตนว่า “ความผิดข้อเดียวของเขา [เฟโรซ] … คือเขาบังเอิญเป็นชาวปาร์ซี ตลอดมาและจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ายังคงเป็นปรปักษ์หนักแน่นกับการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเปลี่ยนศาสนาเพียงเพื่อจะแต่งงาน … เขา [เฟโรซ] พยาบาลกมลา เนห์รูในยามเธอเจ็บป่วย เขาเป็นเหมือนลูกชายเธอ ความใกล้ชิดระหว่างทั้งคู่ [อินทิรากับเฟโรซ] พัฒนาตามธรรมชาติ”
ในที่สุดยวาฮัรลาลก็ยอมให้ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1942 และทั้งสองก็ให้กำเนิดบุตรชายสองคน ราจีฟ และสัญชัย คานธีในปี 1944 และปี 1946 ตามลำดับ สุนิล คิลนานี นักวิชาการเชี่ยวชาญอินเดียคนสำคัญกล่าวไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของตนว่า นามสกุลของเฟโรซที่สะกดเป็น ‘Gandhy’ ถูกเปลี่ยนเป็น ‘Gandhi’ “เพื่อปกปิดที่มา” คิลนานีไม่ได้ให้เหตุผลเบื้องหลังการปกปิดนี้ สันนิษฐานได้ว่า น่าจะเพื่อลดแรงต้านดังที่สะท้อนจากการที่ผู้คนเขียนจดหมายถึงคานธี ในช่วงแรกความรักระหว่างทั้งสองดูหวานแหววมาก และเพียงหกเดือนหลังแต่งงาน ทั้งสองก็ติดคุกเพราะเข้าร่วมอย่างแข็งขันในการรณรงค์ให้อังกฤษยุติการปกครองอินเดีย หรือ ‘Quit India’ ที่นำโดยคานธี เมื่อออกจากคุกแล้ว ทั้งสองก็มีโอกาสใช้ชีวิตคู่รักอยู่ด้วยกันพักใหญ่ ก่อนที่ความสัมพันธ์จะเริ่มเปลี่ยนไปในทางเลวร้ายเพราะเหตุผลบางประการ รวมถึงความเจ้าชู้ของเฟโรซ และแล้วอินทิราก็นำลูกทั้งสองของเธอย้ายไปอยู่กับพ่อที่เดลี เมื่อพ่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียในปี 1947 ทิ้งให้เฟโรซอยู่ในบ้านที่เมืองลัคเนาตามลำพัง แม้จะแยกกันอยู่ แต่ทั้งสองยังดำเนินความสัมพันธ์กันทั้งในเรื่องส่วนตัวและการเมือง ดังที่อินทิราแท้งลูกในปี 1949 และดังที่เธอได้ช่วยทั้งพ่อและสามีในการรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง

เหตุผลที่อินทิราตัดสินใจย้ายไปอยู่กับพ่อยังค่อนข้างคลุมเครือ อาจจะเป็นไปได้ว่า เธอได้ตัดสินใจเลือกพ่อแล้วในเวลานี้ และดังที่เธอเคยเกริ่นไว้ เธอจะย้ายไปอยู่กับสามีเพื่อสร้างครอบครัวอีกครั้งเมื่อพ่อสิ้นบุญ แต่ก็เป็นไปได้ด้วยว่า อินทิรามองเห็นศักยภาพของตนที่จะเล่นการเมืองต่อจากพ่อ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานปรากฏให้เห็นเลยว่ายวาฮัรลาลนั้นประสงค์จะให้ลูกสาวสืบทอดอำนาจจากตน ในปี 1960 เฟโรซถึงแก่กรรมด้วยหัวใจล้มเหลว ทำให้อินทิราเสียใจมากอีกครั้งนับตั้งแต่การจากไปของแม่เธอ อีกสี่ปีต่อมายวาฮัรลาลก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาแตก และเมื่อบุรุษสองคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธอต้องจากไป (คนหนึ่งคือคนรักที่เข้ามาชดเชยความรักที่ขาดหายไปแต่กลับทรยศเธอในภายหลัง อีกคนคือพ่อที่เธอรักแต่ก็ไม่เคยยกโทษให้เพราะดูแลแม่ไม่เต็มที่) ความเป็นตัวตนแท้จริงของอินทิราก็จะปรากฏให้เห็นในอีกไม่นานนัก
ในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของ ‘เพื่อถิ่นอินเดีย : 100 ปีชาตกาล อินทิรา คานธี’ ผู้เขียนจะอธิบายการดำเนินนโยบายภายในและการต่างประเทศของอินทิรา คานธี และนัยของการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่มีต่ออินเดียร่วมสมัย