สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กระทรวงการต่างประเทศ

โดย ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์


.

สาระสำคัญของการประชุม

การทำความเข้าใจกับบริบทของ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) ในช่วงระยะเวลา
๒๐ ปีที่ผ่านมา จำเป็นต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจเหตุการณ์ช่วงก่อนและหลังสงครามเย็น โดยเฉพาะนโยบายการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นผลงานของประเทศไทยที่สามารถปรับเปลี่ยนบริบททางการเมืองที่มีความสับสนอลหม่านให้กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ และต่อมาธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้สร้างกรอบในการเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ที่เรียกว่า โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ขึ้น มีประเทศญี่ปุ่นเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างความร่วมมือในพื้นที่ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ในภูมิภาคนี้

ในช่วงครึ่งทศวรรษ ๑๙๙๐ ได้เกิดการรวมตัวของประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนใหม่ ที่เรียกว่ากลุ่ม CMLV เพื่อลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ขณะที่ประเทศไทยได้ริเริ่ม ACMECS ขึ้นในเดือนเมษายน ๒๐๐๓ สมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติโรคซาร์ส โดยเสนอแนวคิดกับผู้นำลาว กัมพูชา และเมียนมา เป้าหมาย คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจร่วมของภูมิภาค เพื่อลดช่องว่างของการพัฒนา
ในภูมิภาค ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ตอบโจทย์นโยบายด้านการต่างประเทศของประเทศไทยในเวลานั้น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากบริบทภายนอกทำให้ประเทศในภูมิภาคหันมาสร้าง FTAs กันมากขึ้น โดยเฉพาะหลังประเทศจีนเข้า WTO 
ซึ่งได้หันมาสนใจเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มากขึ้น และกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา อีกหนึ่งจุดเปลี่ยน คือ ความก้าวหน้าของโครงการเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity) ที่เป็นผลจาก BALI CONCORD II เมื่อต้นปี ๒๐๑๖ ทำให้เกิดความร่วมมือกับ Strategic partners ผ่านการประชุมสารพัด (Sophisticated ASEAN) ภายใต้บริบทความร่วมมือในภูมิภาคที่มีความใกล้เคียงกับ ACMECS ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS), คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC), Mekong-Japan Cooperation (ประเทศญี่ปุ่น) Mekong-ROK Cooperation (ประเทศเกาหลีใต้), Mekong-Lancang Cooperation: MLC (ประเทศจีน), Lower Mekong Initiatives: LMI, Mekong-U.S. Partnership: MUSP (ประเทศสหรัฐอเมริกา), Mekong–Ganga Cooperation: MGC (ประเทศอินเดีย) เป็นต้น

ความก้าวหน้าของ ACMECS ในช่วงเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา มีความร่วมมือ ๕ สาขา ได้แก่ การค้าการลงทุน, การเกษตรและอุตสาหกรรม, การเชื่อมโยงด้านคมนาคม, การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศไทยได้ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอดแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

หลัง ๒๐ ปีผ่านไป เป้าหมายและการร่วมมือกันของ ACMECS ก็ยังคงเป็นการสร้างความร่วมมือกันในระหว่างประเทศ สิ่งที่แตกต่างก็คือ การพูดถึงเรื่องความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-traditional security), การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change), ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural disaster), อาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational crimes) และกลไกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ACMECS Senior finance officials, ACMECS Coordinating committees, Thailand’s proposal for secretariat set-up, ToR on engagement with DPs, ToR of ACMECS Development fund, ACMECS Master plan และสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น Financial, Digital economy และ Environmental 

สภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีปมปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม ได้กลายเป็นคำถามหลักของ ACMECS ในวันนี้ เช่น เรื่องภูมิศาสตร์ทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องของประเทศจีนและประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบทบาทสูงในยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น การศึกษาบริบทหรือยุทธศาสตร์สำคัญของมหาอำนาจทั้งสองจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งประเด็นจุดอ่อนจุดแข็งของภูมิภาคนี้กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ACMECS จะจัดการและดำรงอยู่ในระดับอนุภูมิภาคอย่างไรในโลกที่แบ่งเป็นหลายขั้ว (Multipolar) และเป็นฝักเป็นฝ่าย เพื่อสร้าง/รักษากติกาพหุภาคี/ภูมิภาค/อนุภูมิภาค ACMECS จะช่วยลดทอนความไม่เข้าใจกันระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างไร และจะทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานได้อย่างไร รวมถึงการใช้โอกาสในการสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างผลประโยชน์แบบแบ่งปันกันในอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดการความร่วมมือระหว่างประเทศภายนอกด้วยกันอย่างไร 

จุดแข็งของภูมิภาคนี้จำเป็นต้องมองว่าไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศจนกลายเป็นสงคราม แม้อาจจะมีความขัดแย้งเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา, ไทย-ลาว, ไทย-เมียนมา แต่ไม่ได้ก้าวข้ามไปจนถึงการทำสงครามระหว่างกัน ทำให้มีโอกาสขยายตัวในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ขณะที่จุดอ่อนของประเทศในภูมิภาคนี้ คือ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจน อาจจะเป็นเพราะความร่วมมือที่สำคัญยังไม่ครอบคลุมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการบริหารจัดการความร่วมมือที่แตกต่างกันของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการปกป้องผลประโยชน์ของภูมิภาคที่ยังไม่ดีเพียงพอ ความสลับซับซ้อนของปัญหาในภูมิภาค
ที่มากขึ้นซึ่งอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งและยากที่จะควบคุมได้ ทำให้ต้องมีการพัฒนาต่อไปในเรื่องของการสร้างความมั่นคง ความพอเพียงและความยั่งยืนในทุกมิติที่สำคัญในประเด็นเรื่องการข้ามแดน, ความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน, วิกฤติภูมิอากาศ  ตัวอย่างเช่นกรณีของอาชญากรรมทางไซเบอร์ ด้วยการเสริมสร้างระเบียบกติกาของภูมิภาค (Rules-based regional order) ให้เข้มแข็ง สร้างพื้นที่ให้มีศักยภาพเพื่อรองรับโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกเทคโนโลยีและดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์  (Artificial Intelligence: AI) ความท้าทายดังกล่าวจำเป็นต้องมองถึงการจัดการความร่วมมือระหว่างกัน

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นประเทศรอบบ้าน เช่น กัมพูชาและลาว กำลังพ้นสภาพการเป็นประเทศด้อยพัฒนาและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หรือการคาดหวังของประเทศไทยว่าประเทศเวียดนามจะเข้ามามีส่วนร่วมกับ ACMECS สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องกลับมาทบทวนและปรับปรุงเนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีของ ACMECS ว่าประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ควรจะให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสร้างความร่วมมือ สร้างการมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน เพื่อหาวิธีการดำเนินงานที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยและประเทศ
เพื่อนบ้านจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่สำคัญ คือ ปัญหาความซ้ำซ้อนของกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง
ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะทำอย่างไรให้ประเทศสมาชิกต่าง ๆ หันมาเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์อย่างไรจากกรอบความร่วมมือนี้ ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสามารถสร้างความพร้อมใหม่ให้กับภูมิภาคนี้

.

ที่มาภาพ: กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กระทรวงการต่างประเทศ

.

แนวทางการดำเนินนโยบายผ่านกรอบความร่วมมือ ACMECS (Overview of Policy Directions) สำหรับรัฐบาลใหม่

  • คงบทบาทกรอบความร่วมมือ ACMECS เท่าเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา หากรัฐสมาชิกให้ความสนใจทุ่มทรัพยากรไปที่กรอบความร่วมมืออื่น ๆ แทน กรอบความร่วมมือ ACMECS จะลดบทบาทไปเอง
  • เพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนสามเสาหลักของ ACMECS อันประกอบด้วย (๑) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (Seamless connectivity) (๒) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronised ACMECS economies) และ (๓) การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and sustainable ACMECS) เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น
  • ลดขอบข่ายความร่วมมือ และประเมินเป้าหมายในการทำงานว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนหรือซ้ำซ้อนกับกรอบ
    ความร่วมมืออื่น ๆ อย่างไรบ้าง โดยมุ่งเน้นไปที่การทำงานเชิงยุทธศาสตร์ด้านการค้าการลงทุนเศรษฐกิจเป็นหลัก เพื่อให้เป็นหัวใจของการทำงานของ ACMECS ในยุคปัจจุบัน

.

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

.      สร้างอัตลักษณ์ของ ACMECS ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

๑.๑.      ทบทวนยุทธวิธีการเสริมสร้างอัตลักษณ์ของ ACMECS เกี่ยวกับหลักการและเหตุผล การให้ความหมายของชื่อ ACMECS
ให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์หลักของการมีอยู่ของกรอบความร่วมมือว่าจะเดินไปในทิศทางใด ผ่านการทำความเข้าใจบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร สภาวะโลกร้อน โรคระบาด อาชญากรรมไซเบอร์ เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงาน เป็นต้น

๑.๒.    กำหนดยุทธศาสตร์การสื่อสาร (Communication strategies) อย่างต่อเนื่อง โดยใช้สื่อในการประชาสัมพันธ์กลไกการทำงานของกรอบความร่วมมือ เพื่อเผยแพร่หลักคิดที่มีความถูกต้องแม่นยำตามหลักความจริง อันเป็นการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ทั้งต่อรัฐสมาชิกและประชาชนทั่วไป

๑.๓.    ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชน โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจกรอบความร่วมมือ ACMECS ว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทย และไทยมีบทบาทสำคัญกับอนุภูมิภาคอย่างไร เนื่องจากทั้งภาครัฐและประชาชนจำนวนมากยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ ASEAN Community ที่เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคอาเซียน

๑.๔.     เพิ่มบทบาทของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อาทิ ภาคเอกชน ภาคการเงิน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ผ่านการดึงศักยภาพของแต่ละภาคส่วนในการร่วมกันผลักดันกรอบความร่วมมือเพื่อให้เกิดกระบวนการรับรู้การเป็นส่วนหนึ่งของ ACMECS (Inclusivity)

๒.  สื่อสารกับประเทศสมาชิก ACMECS

๒.๑.     กำหนดทิศทางยุทธศาสตร์แผนการดำเนินงานร่วม เพื่อลดทอนความไม่เข้าใจกันระหว่างประเทศสมาชิกและเป็นเวทีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน การสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ รวมถึง
การกำหนดทิศทางความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ และประเทศภายนอกภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและควบคุมได้ยาก เช่น วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ การเข้าสู่ยุคประชากรสูงวัย ประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ยังคงตกค้างมาจากยุคสงครามเย็น

๒.๒.     กำหนดจุดยืนร่วมเชิงภูมิรัฐศาสตร์ต่อประเทศมหาอำนาจ (Geopolitics) ภายใต้สภาวะโลกหลายขั้ว (Multipolar) ผ่านการทบทวนถึงคุณค่าพื้นฐาน (Basic value) ของกรอบความร่วมมือของ ACMECS ที่มีเป้าประสงค์ในการไม่ตกเป็นเบี้ยของประเทศมหาอำนาจและในวังวนของความขัดแย้งทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียและระดับโลก และมีอำนาจในการต่อรอง (bargaining power) เพื่อรักษาผลประโยชน์ของอนุภูมิภาคอย่างแท้จริง และรัฐสมาชิกจะไม่ถูกโดดเดี่ยวหากเกิดประเด็นข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจโดยกลุ่มทุนข้ามชาติ

๒.๓.     กำหนดทิศทางเพื่อลดความขัดแย้งและอคติต่อกัน แม้ว่าประเทศสมาชิก ACMECS จะไม่มีความขัดแย้งกันในระดับก่อสงคราม
แต่ความขัดแย้งเล็กน้อยตามแนวชายแดน หรือโลกออนไลน์ อาจยังเป็นอุปสรรคในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน รวมไปถึงการคงอยู่ของมุมมองแบบยุคสงครามเย็น (Cold war mentality) ที่อาจขัดขวางการเปิดพรมแดนความร่วมมือที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การมองบางประเทศเป็นคู่แข่ง การแข่งขันเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ การมองบางประเทศเป็นเพียงผู้รับความช่วยเหลือ เป็นต้น

๓.  ความท้าทายด้านความซ้ำซ้อนในกรอบความร่วมมือ

๓.๑      จำนวนกรอบความร่วมมือ: อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีกรอบความร่วมมือที่ยังดำเนินการอยู่ (active status) จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong Lancang Cooperation) กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา (Mekong–Ganga Cooperation) กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation) กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation) ข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน และการพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยมพัฒนากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม (CLV-DTA) ซึ่งมีเวียดนามเป็นผู้นำ ทำให้ ACMECS ต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับบทบาทให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และกระทบกับการกำหนดทิศทางของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

๓.๒      ดึงจุดเด่นของ ACMECS ในฐานะกรอบความร่วมมือพื้นถิ่น (Homegrown Initiative) จากการริเริ่มโดยไทย และเป็นเวทีที่ไทยได้มีบทบาทในการเป็นประเทศผู้นำและให้การสนับสนุนทางการเงินมาโดยตลอด ในระยะต่อไป การเปิดเวทีให้ประเทศสมาชิกได้มี
ส่วนร่วมในการสร้างความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ (Constructive engagement) นอกจากนี้ ACMECS ถือว่ามีศักยภาพในการเป็นกระดูกสันหลัง (backbones) ของอาเซียน เพื่อให้การดำเนินงานบางอย่างคล่องตัวขึ้นในระดับอนุภูมิภาค โดยยังคงพึงระวังในการสร้างก๊กการเมืองย่อยแยกระหว่างภาคพื้นทวีป (Mainland) และคาบสมุทร (Archipelago)

๔.  การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

๔.๑.     วางกรอบแนวทางการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เนื่องจากกรอบความร่วมมืออาจยังไม่ครอบคลุมการมีส่วนร่วมของ
ทุกภาคส่วน และความแตกต่างด้านการบริหารจัดการ ระบบราชการที่แตกต่างกันทำให้การประสานงานระหว่างส่วนต่าง ๆ
เกิดความล่าช้า หรือความต้องการไม่ตรงกันทำให้ความร่วมมือไม่เกิดประสิทธิผล การรับฟังเกี่ยวกับอุปสรรคและสิ่งที่เป็น
ความท้าทายในการทำงานร่วมกันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

๔.๒.     บูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน เนื่องจากการเพิ่มความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การสร้างปฏิสัมพันธ์หรือสัมพันธไมตรีทางการค้ากับประเทศกลุ่มที่เป็นคู่ค้าต่าง ๆ ในภูมิภาคและนอกภูมิภาคเพื่อยกบทบาทความสำคัญของกรอบความร่วมมือและขยายการค้าการลงทุนได้

๕.  สร้างความมั่นคง ความพอเพียง และความยั่งยืนในทุกมิติที่สำคัญ

ภูมิภาคนี้มีโอกาสในการสร้างความมั่นคง ความพอเพียง และความยั่งยืนในทุกมิติที่สำคัญ แต่มีความซับซ้อนเช่นในประเด็นของการข้ามแดน ภูมินิเวศ ความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนา การประกอบอาชีพระหว่างกันและกัน และการสร้างพื้นที่ให้มีศักยภาพรับโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกเทคโนโลยีและดิจิทัล และให้ทั่วถึงฐานรากประชาสังคม (social inclusion)  

.

ภาพบรรยากาศการสัมมนา ACMECS FORUM วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖


บทความล่าสุด

เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค
เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเหตุการณ์ที่นายหวังซิง (หรือชื่อเล่นว่าซิงซิง) นักแสดงชาวจีนถูกหลอกให้มาแคสงานแสดงที่ประเทศไทย แต่สุดท้ายกลับถูกพาไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และถูกพาข้ามพรมแดนไปยังประเทศเมียนมาแล้วหายสาบสูญไป กระทั่งแฟนสาวของซิงซิงได

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ การยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวจีนเติบโตขึ้นถึง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลูกเล่นหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเล่น “คำผวน” ซึ่งเป็นการเล่นคำโดยการสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะต้น กับเสียงสระและตัวสะกดและวรรณยุกต์ของคำจำนวน 2 พยางค์ขึ้นไป เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีควาหมายก็ได้

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์
2568
กระแสเอเชีย
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนที่ติดตั้งกลางสี่แยกห้วยขวางบนโลกอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และหลายฝ่ายให้ความสนใจ กระทั่งสำนักงานเขตห้วยขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกา

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย