สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

ญี่ปุ่นลดวันทำงานเพื่อคุณภาพแรงงาน

โดย ทรายแก้ว ทิพากร


แรงงานเป็นองค์ประกอบสำคัญของการผลิต การดูแลแรงงานจึงมีความหมายครอบคลุมถึงการจัดหาแรงงานให้พอเพียง การจัดหาแรงงานที่มีทักษะเหมาะแก่ความต้องการของธุรกิจ การคำนวณค่าตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพ การดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการทำความเข้าใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  ประเด็นเหล่านี้สำหรับประเทศญี่ปุ่นเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน นอกจากญี่ปุ่นจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมระดับแนวหน้าที่มีความต้องการแรงงานจำนวนมากแล้ว ญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะสังคมสูงวัยที่นับวันปริมาณแรงงานในประเทศกำลังเสื่อมถอยลง และวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นก็มีความเฉพาะตัว การจัดการเกี่ยวกับแรงงานจึงเป็นวาระแห่งชาติที่ทั้งภาครัฐบาลและธุรกิจเอกชนให้ความร่วมมือกัน หนึ่งในความพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพแรงงานให้มีประสิทธิภาพนี้คือ การปรับลดเวลาในการทำงานลง  โดยเมื่อต้นปี พรรครัฐบาล LDP (Liberal Democratic Party) ได้ริเริ่มความคิดที่จะลดวันทำงานเหลือ 4 วันต่อ 1 อาทิตย์ และต่อมาในเดือนมิถุนายน 2021 คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและงบประมาณ (Council on Economic and Fisal Policy) ได้เสนอมาตรการดังกล่าวเป็นทางเลือกสำหรับองค์กรต่างๆ  แม้มาตรการลดวันทำงานนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น เช่นอังกฤษและนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็มีมาตรการเช่นนี้  แต่สำหรับญี่ปุ่นมาตรการนี้สะท้อนนัยยะอย่างไรบ้าง และจะส่งผลให้นายจ้างได้แรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้นได้จริงหรือไม่

(ที่มาภาพ: Getty Images )

สำหรับสังคมญี่ปุ่นมีประเด็นที่ควรได้รับความสนใจเมื่อศึกษาเกี่ยวกับแรงงานอยู่ 3 ประเด็นหลักๆที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  กล่าวคือประการแรก ในยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังรุ่งเรือง วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นเป็นรูปแบบการจ้างงานตลอดชีพ ใช้วิธีจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ที่ดูมีศักยภาพ มาอบรมความรู้เกี่ยวกับการทำงานในบริษัทตามตำแหน่งงานต่างๆ พนักงานก็จะย้ายตำแหน่งวนไปในบริษัทรวมตลอดถึงเลื่อนขั้นขึ้นไปจนเกษียณ ลูกจ้างต้องมาทำงานแต่เช้าและเลิกงานค่ำ หลังจากนั้นก็อาจมีธรรมเนียมไปกินดื่มหลังเวลาทำงาน ทำให้ครอบครัวของมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้คล้ายๆกัน คือผู้ชายต้องไปทำงานนอกบ้านเต็มเวลาทั้งวัน ผู้หญิงต้องอยู่บ้านดูแลบ้านดูแลครอบครัว   เมื่อจำนวนประชากรลดลง เกิดการขาดแคลนแรงงานมากขึ้น รัฐบาลของนายอาเบะได้มีความพยายามส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในสังคม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความเท่าเทียมกันในสังคม รวมไปถึงต้องการให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เมื่อมีนโยบายเช่นนี้ก็ต้องจัดโครงสร้างให้เอื้อต่อการที่ผู้หญิงจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ ด้วยการจัดโครงสร้างการทำงานให้แรงงานสามารถจัดความสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตประจำวัน  ซึ่งในการเสนอของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและงบประมาณก็ได้แจ้งว่า ข้อเสนอนี้เป็นไปเพื่อเปิดโอกาสให้แก่ความสมดุลของชีวิต

ความขาดแคลนแรงงานเป็นเหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้สังคมญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จำนวนประชากรในวัยแรงงานที่มีจำนวน 87 ล้านคนในปี 1995 จะลดเหลือ 70 ล้านคนในปี 2030  เป็นเหตุให้ต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ญี่ปุ่นต้องมีมาตรการต่างๆที่ดึงดูดให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น ทั้งยังต้องมีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆที่เอื้อประโยชน์ให้แก่แรงงานต่างชาติที่เข้ามาใช้ชีวิตในญี่ปุ่น สังคมญี่ปุ่นที่ไม่คุ้นเคยกับการมีคนต่างวัฒนธรรมเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน ต้องปรับตัวเพราะความจำเป็นเรื่องแรงงาน ดังนั้น หากสามารถใช้แรงงานภายในญี่ปุ่นให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็จะช่วยบรรเทาความเดือนร้อนได้ดีขึ้น มาตรการลดวันทำงานนี้หวังว่าจะช่วยให้คนทำงานมีเวลาที่จะทำกิจกรรมส่วนตัวได้มากขึ้น แทนที่จะต้องลาออกจากเพื่อไปดูแลครอบครัว

นอกจากนี้ การที่อัตราการเกิดลดลงยังมีเหตุมาจากที่หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นไม่ต้องการมีลูก เนื่องจากภาระและความยากลำบากในการเลี้ยงลูกในขณะที่พ่อแม่ก็ต้องทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว เมื่อเป็นเช่นนี้ การสร้างบรรยากาศให้พ่อแม่รุ่นใหม่สามารถมีเวลาสำหรับกิจกรรมของลูก น่าจะกระตุ้นให้ครอบครัวมีลูกกันมากขึ้น เป็นการเพิ่มจำนวนประชากรอีกทางหนึ่ง อีกทั้งเมื่อครอบครัวมีเวลาที่จะทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น การบริโภคภายในประเทศก็จะเพิ่มขึ้น น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย

ประเด็นร้อนของสังคมญี่ปุ่นในยุคนี้คือการตายจากการทำงานหนัก ซึ่งรวมไปถึงการฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากการต้องทำงานหนักในที่ทำงาน ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Karoshi  เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในช่วง 10 ปีนี้ ชีวิตคนทำงานในญี่ปุ่นที่ต้องเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน และต้องทำงานเป็นช่วงเวลายาวนาน ไม่มีเวลาพักผ่อน เป็นผลมาจากวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น ที่เป็นรู้กันมานานว่าให้ความสำคัญกับการมานั่งอยู่ที่ทำงานมากพอๆกับผลผลิตของงาน  ไม่ว่าระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับแรงงานจะกำหนดไว้อย่างไร แต่ถ้าคนทำงานไม่แสดงตนว่าอุทิศเวลาให้กับงาน เช่น มีการลาหยุดด้วยเหตุผลส่วนตัว คนงานก็จะถูกมองด้วยสายตาไม่ดี คนทำงานในหน่วยงานของญี่ปุ่นจึงมักไม่กล้าขอลาหยุด เพราะไม่เพียงแต่จะอาจจะทำให้เจ้านายไม่พอใจ ยังถูกมองว่าเป็นภาระให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ดังนั้นแม้ลูกจ้างจะมีวันหยุดได้ตามที่หน่วยงานกำหนด แต่ลูกจ้างมักไม่ใช้สิทธินี้ ได้มีการสำรวจโดยรัฐบาลในปี 2018 และพบว่ามีการใช้วันหยุดเพียงร้อยละ 52.4 ของจำนวนวันหยุดที่กำหนด[1]

(ที่มาภาพ: © Yuya Shino © Reuters )

การมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานไม่สามารถลาหยุดได้เช่นนี้เป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควรของคนงาน รวมไปถึงการฆ่าตัวตายจากการทำงานหนัก ซึ่งเหตุสลดที่เกิดขึ้นเป็นได้กลายเป็นข่าวใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นอยู่เสมอ

ข่าวการทำงานหนัก มีจำนวนชั่วโมงยาวนานอยู่ในที่ทำงาน ทำให้คนทั่วไปมักคิดว่าคนญี่ปุ่นทำงานเก่ง ขยัน และมีประสิทธิภาพ แต่ Japan Productivity Center ได้ทำการศึกษาสำรวจเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงานของคนงานชาวญี่ปุ่นและพบว่าชาวญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G7 ในช่วงปี 2015-2019 ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานต่อคนลดลงอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 0.3 ต่อปี[2]

ปัญหาเหล่านี้ประกอบกันขึ้นทำให้เราเห็นได้ว่ารูปแบบของการทำงานในญี่ปุ่น และวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญต่อการมาปรากฏตัวที่ที่ทำงานและการอุทิศเวลาให้กับการทำงาน ซึ่งแสดงถึงความจงรักภักดีต่อองค์กร นำไปสู่ประสิทธิภาพของการทำงาน ส่งอิทธิพลต่อชีวิตครอบครัวของชาวญี่ปุ่นและสังคมญี่ปุ่นโดยรวม การแก้ไขปรับปรุงรูปแบบและวิถีชีวิตของคนทำงานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสังคมญี่ปุ่นที่การเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ   

แนวคิดเกี่ยวกับความจำเป็นและความพยายามที่จะปรับปรุงรูปแบบและวัฒนธรรมการทำงานเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมานาน แต่ความริเริ่มที่ชัดเจนมีขึ้นตั้งแต่สมัยที่นายชินโสะ อาเบะเป็นนายกรัฐมนตรี จากความร่วมมือของภาคธุรกิจขนาดใหญ่และรัฐบาล โดยได้มีการออกกฏหมายเพื่อจัดการปฏิรูปรูปแบบการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การปรับแก้กฏหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก เช่น กฏหมายมาตรฐานแรงงาน กฏหมายเกี่ยวกับการจ้างงานและการทำสัญญาจ้างต่างๆ  กฏหมายเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน  กฏหมายเกี่ยวกับสุขอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และกฏหมายเกี่ยวกับการจ้างและดูแลลูกจ้างชั่วคราว เป็นต้น ความซับซ้อนของการจัดการปฏิรูปเกิดจากความแตกต่างหลากหลายของรูปแบบการจ้างงานต่างๆ และลักษณะงานที่มีความต้องการแตกต่างกัน ทั้งนี้เป้าหมายหลักๆของการปฏิรูปในช่วงนี้คือ 1) การปฏิรูปวิถีการทำงานอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง 2) ลดจำนวนชั่วโมงในการทำงาน ทำให้ชั่วโมงของการทำงานมีความยืดหยุ่น และหลากหลาย และ 3) การมีเงื่อนไขที่เป็นธรรมสำหรับการจ้างงานในทุกรูปแบบ[3]

นับตั้งแต่กฎหมายปฏิรูปรูปแบบการทำงานมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2018 มาจนถึงช่วงที่นายอาเบะพ้นจากตำแหน่งไปในปลายปี 2020 การดำเนินการในทางปฏิบัติหน่วยงานต่างๆ ยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่ในหลากหลายประเด็น และยังคงแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการบริหารบุคลากรของตน เนื่องจากการจ้างงานสำหรับแต่ละประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรมก็มีความต้องการที่หลากหลายแตกต่างกัน  กฎหมายปฏิรูปนี้ได้เปิดช่องให้แต่ละบริษัทมีทางเลือกในการบริหารจัดการแรงงานของตนเอง ไม่ได้เป็นข้อบังคับที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามในรูปแบบเดียวกัน เป้าหมายไม่ใช่การลดชั่วโมงการทำงาน แต่อยู่ที่การจัดสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต โดยต้องดูแลจัดการเรื่องประสิทธิภาพในการผลิตด้วย

นายจ้างบางส่วนมีประเด็นว่าหากให้ลดชั่วโมงทำงานลง ประสิทธิภาพการทำงานจะดีขึ้นเหมาะสมกับจำนวนชั่วโมงที่ลดเวลาลงไปหรือไม่ หรือหากได้วันหยุดเพิ่ม ลูกจ้างจะใช้เวลาว่างไปพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจที่ดีขึ้นหรือไม่  บางบริษัทใหญ่ได้ทดลองให้ลูกจ้างของตนลดเวลาการทำงานลง โดยค่าตอบแทนก็ลดลงเป็นสัดส่วนกัน แต่ไม่ใช่ลูกจ้างทุกคนจะพอใจที่จะได้ค่าตอบแทนลดลงเมื่อลดชั่วโมงการทำงานลง ในทางปฏิบัติ บางบริษัทจึงให้ทางเลือกแก่ลูกจ้างว่าจะสมัครใจเลือกรูปแบบทำงานแบบใด 

ผู้ศึกษาเกี่ยวกับแรงงานบางคนกล่าวว่า การที่ลูกจ้างไม่สามารถหยุดงานได้ ต้องมาทำงานทุกวัน ไม่ได้มีสาเหตุการขาดแคลนแรงงาน แต่ปัญหาอยู่ที่ลูกจ้างของบริษัทไม่คุ้นเคยกับการช่วยทำงานแทนกัน เพราะไม่เคยได้รับการอบรมให้ทำงานแทนกัน คนทำงานรุ่นเก่าที่มีวิธีคิดแบบวิถีเก่าที่ลูกจ้างต้องอุทิศตนให้กับบริษัท โดยแบ่งแยกบทบาทของชายกับหญิงอย่างชัดเจน คนกลุ่มนี้ยังไม่พร้อมที่จะปรับรูปแบบการทำงาน แต่เป็นคนรุ่นที่ในปัจจุบันเป็นหัวหน้างาน  ส่วนคนรุ่นใหม่ดูจะมีความกระตือรือร้นที่จะลดเวลาทำงานมากกว่า บางบริษัทจึงมีความพยายามที่จะเปิดช่องทางและโอกาสของการสื่อสารภายในกันให้มากขึ้น[4]  จึงน่าจะกล่าวได้ว่า การมีกฎหมายที่เปิดทางเลือกให้แก่การลดชั่วโมงทำงานในช่วงนี้ หากประสบความสำเร็จแล้ว น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในสังคมญี่ปุ่นทีเดียว

            ตัวช่วยที่สำคัญคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 และระยะเวลายาวนานของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งอิทธิพลต่อการปฏิรูปด้านแรงงานของญี่ปุ่นอย่างมีนัยยะสำคัญทีเดียว

เมื่อการแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นขอความร่วมมือให้หน่วยงานต่างๆจัดการทำงานจากทางไกล สำนักงานญี่ปุ่นซึ่งคุ้นเคยกับการทำงานบนกระดาษมากกว่าบนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ประสบอุปสรรคมากมายจากการปรับรูปแบบการทำงาน นอกจากนี้วัฒนธรรมการทำงาน ที่ให้ความสำคัญต่อการมานั่งที่ทำงาน ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการปรับตัวเช่นกัน จนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าสังคมญี่ปุ่นค่อนข้างเปลี่ยนแปลงช้า  แต่เมื่อเวลาผ่านไปและอีกบางส่วนของสังคมที่ได้มีการทำงานจากทางไกลกันไปแล้ว คนงานจำนวนหนึ่งเริ่มคุ้นเคยและปรับตัวได้ บางคนได้กลับไปทำงานจากที่บ้านเกิดของตน และบางคนตัดสินใจย้ายออกไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัดโดยสื่อสารกับองค์กรผ่านทางอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ ทำให้เมื่อมีการสำรวจอีกครั้งหนึ่งในเดือนเมษายน 2020 โดยสำนักงานกรุงโตเกียว มีบริษัทที่ใช้วิธีทำงานจากทางไกลถึงร้อยละ 56.6 ดูเหมือนญี่ปุ่นจะสามารถปรับปรุงรูปแบบการทำงานได้ภายในช่วง 2 ปีของสถานการณ์โควิด ทั้งๆที่ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติ การเปลี่ยนแปลงคงต้องใช้เวลานานกว่านี้มาก

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิด แม้การทำงานจากทางไกลจะเป็นวิถีปฏิบัติกันมากขึ้น แต่เป้าหมายที่พึงประสงค์ของกฏหมายปฏิรูปรูปแบบการทำงานคือการลดชั่วโมงทำงานเพื่อให้มีการพักผ่อน และใช้ชีวิตที่สมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว ยังไม่สามารถเห็นผลอย่างชัดเจน ยิ่งในช่วงหลังนี้การทำงานจากทางไกลที่คาดว่าน่าจะนำไปสู่ขั้นต่อไปคือคนงานพอใจที่ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น และนำไปสู่การปรับสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต กลับกลายเป็นความยากลำบากและเป็นอุปสรรคในการทำงาน ทำให้บางองค์กรหันกลับมาทำงานในออฟฟิศกันอีก จนดูเหมือนจะเป็นกระแสย้อนกลับ ได้มีการสำรวจโดยสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมเมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นครั้งที่สาม และพบว่า บริษัทที่ยังคงยินดีจัดการทำงานจากทางไกลส่วนใหญ่เป็นบริษัทใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานมาก่อน และอีกประเภทหนึ่งคือบริษัทประเภทสตาร์ทอัพ  แต่นอกจากนั้นก็เปลี่ยนใจกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศกัน กระแสย้อนกลับนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปแรงงานเพียงใด

หลังจากที่บริษัทต่างๆได้ทดลองทำงานจากทางไกลกันไประยะหนึ่งก็พบได้ว่า ปัจจัยที่สนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานจากทางไกลได้แก่ ประเภทของอาชีพ อาชีพบางประเภทไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจากทางไกล เช่น ผู้ที่ทำงานบริการ แพทย์พยาบาลผู้ทำงานด้านสาธารณสุข และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้แรงงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์การสื่อสารและทัศนคติในการบริหารงาน.  แม้แต่ทัศนคติในการทำงานของคนในระดับบริหารซึ่งมักเป็นผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกับการติดต่อสื่อสารแบบญี่ปุ่นเช่นการสังเกตุท่าทีของกันและกัน ต้องเห็นหน้าเห็นตากัน หรือการออกคำสั่งและการสื่อสารที่ใช้กิริยาท่าทาง ก็พบว่าการทำงานที่ไม่ได้พบเจอกันเป็นอุปสรรคต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญต่อการปฏิรูปรูปแบบการทำงานในญี่ปุ่น  ในปัจจุบันองค์ประกอบทางประชากรได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรเอาใจใส่ กล่าวคือคนรุ่นใหม่ ทัศนคติใหม่ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นแรงงานที่บริษัทต้องการมากที่สุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์มีการสำรวจทัศนคติโดยบริษัทจัดหาแรงงานและพบว่า ร้อยละ 57.2 ของนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานทำในรุ่นนี้มองหางานที่ยอมให้มีการทำงานจากทางไกล และร้อยละ 77 คิดว่าหากเป็นไปได้ ก็สนใจที่มีชั่วโมงทำงานแบบยืดหยุ่น[5] ความต้องการของคนรุ่นใหม่นี้น่าจะเป็นแรงกดดันให้นายจ้างต้องปรับตัวหากต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งทำให้เราคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตหลังจากโควิดจบลง วิถีการทำงานในญี่ปุ่นจะไม่กลับมาเหมือนเดิมแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงาน ย่อมต้องส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆของสังคมด้วย สังคมญี่ปุ่นหลังยุคโควิดจะเป็นอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนอาจจะไม่ยาวนานจนเกินไป


Notes

[1] Danielle Demetriou. “How the Japanese are putting an end to extreme work weeks.” BBC (online) Retrieved September 20, 2021 from https://www.bbc.com/worklife/article/20200114-how-the-japanese-are-putting-an-end-to-death-from-overwork

[2] Kazuaki Nagata.  “Suga’s first growth strategy met with calls to tackle Japan’s chronic labor issues” Japan Times (Online) Retrieved September 20, 2021 from https://www.japantimes.co.jp/news/2021/06/18/national/suga-economic-growth-strategy/

[3] Danielle Demetriou. “How the Japanese are putting an end to extreme work weeks.” BBC (online) Retrieved September 20, 2021 from https://www.bbc.com/worklife/article/20200114-how-the-japanese-are-putting-an-end-to-death-from-overwork

[4] Kentaro Shiozaki. “A 4-day workweek? Japan gives the idea serious thought,” Asia Nikkei. Retrieved April 13, 2021 from https://asia.nikkei.com/Business/Business-trends/A-4-day-workwiik-Japan-gives-the-idea-serious-thought

[5] Alex K.T. Martin.COVID-19 was meant to start a remote work revolution in Japan — that didn’t happen,” Japan Times. (online) Retrieved September 19, 2021 fromhttps://www.japantimes.co.jp/news/2021/09/19/business/pandemic-japan-remote-work-failure/


บทความล่าสุด

น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
-
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา

ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ (บทความนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอนก่อนหน้า >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)) 3. ความกังวลและความท้าทายของไทยเมื่อฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน           นับแต่ไทยประกา

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ทุกท่านคงทราบข่าวการเดินทางมาไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว การเดินทางมาในครั้

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น

โดย ดร.ทรายแก้ว ทิพากร                                                                                         พรรคการเมืองของทุกประเทศมีความจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อให้สามารถเล่นบทบาททางการเมืองของตน แต่บทบาทของเงินทุนทางการเมืองเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อการเมืองมากที่สุด ทุ

ดร.ทรายแก้ว ทิพากร
2567
กระแสเอเชีย