สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต (ตอนที่ 1): ภาพรวมความเสียหาย

บทความนี้เป็นบทแปลการบรรยายของ Prof. Dr. Suzuki Jun จาก Faculty of Letters University of Tokyo ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่และภัยพิบัติญี่ปุ่น ในงานสัมมนาแบบไฮบริด เรื่อง “การเมือง-วัฒนธรรมในภัยพิบัติ: 1 ศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ – ประจวบเหมาะ เมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น. โดยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื้อหาของบทความชุดนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 จะกล่าวถึงลักษณะพิเศษของแผ่นดินไหวใหญ่คันโต ภาพรวมของแผ่นดินไหวและความเสียหาย สาเหตุของไฟไหม้ครั้งใหญ่ และตอนที่ 2 จะกล่าวถึงข่าวลือเกี่ยวกับชาวเกาหลี และบทเรียนที่ได้จากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต

แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย ดร. กฤตพล วิภาวีกุล

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกิดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ล่าสุดในค.ศ. 2011 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่น (แผ่นดินไหวโทโฮคุ) ทำให้เกิดคลื่นสึนามิสร้างความเสียหายและเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก่อนหน้านั้นเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน-อาวาจิในค.ศ. 1995 ซึ่งทำให้ทางด่วนยกระดับพังถล่มลงมา

เมื่อลองเปรียบเทียบภัยพิบัติเหล่านี้กับแผ่นดินไหวใหญ่คันโต พบว่าแม้จะเป็นภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวเหมือนกัน แต่ก็เกิดความเสียหายมากน้อยแตกต่างกันไป แผ่นดินไหวโทโฮคุเป็นแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาแผ่นดินไหวทั้ง 3 ครั้ง เนื่องจากศูนย์กลางอยู่ที่ก้นทะเล จึงเกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ และ 90% ของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายถูกคลื่นสึนามิพัดหายไป ส่วนแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน-อาวาจิ บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากพังถล่มลงมาเนื่องจากรอยเลื่อนของศูนย์กลางแผ่นดินไหวขยายตัวลงไปที่ใต้เมืองโดยตรง ผู้เสียชีวิต 90% มีสาเหตุจากการทับถมหรือหายใจไม่ออกที่เกิดจากการถล่มของอาคาร หากเปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวใหญ่ 2 ครั้งนี้พบว่า ผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโตเมื่อ 100 ปีก่อนเสียชีวิตเนื่องจากไฟไหม้มากถึง  90%

สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงทุกวันและระบบการตอบสนองต่อภัยพิบัติก็ก้าวหน้าขึ้นเช่นกัน ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติครั้งใหม่ ประสบการณ์จากภัยพิบัติในครั้งล่าสุดอาจมีความสำคัญมากก็จริง แต่เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติประเภทเดียวกันอย่างแผ่นดินไหวก็มีรูปแบบที่หลากหลาย การศึกษาบทเรียนจากภัยพิบัติในอดีตจึงมีความสำคัญด้วยเช่นกัน หนึ่งในลักษณะพิเศษของแผ่นดินไหวใหญ่คันโตคือขนาดของความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้ และอีกประการหนึ่งก็คือเกิดคดีฆาตกรรมขึ้นจำนวนมากจากการปล่อยข่าวลือที่เกิดขึ้นประมาณ 1 วันหลังจากเกิดแผ่นดินไหว

.

ภาพรวมและความเสียหายจากแผ่นดินไหว

ลำดับต่อไปนี้จะกล่าวถึงลักษณะและความเสียหายจากแผ่นดินไหวโดยอ้างอิงงานวิจัยของ Masayuki Takemura แผ่นดินไหวเกิดขึ้นติดต่อกัน 3 ครั้งในช่วงเวลาเที่ยงของวันที่ 1 กันยายน เกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรงต่อเนื่องนานถึง 8 นาที พื้นที่ที่ได้รับผลจากแผ่นดินไหวคือบริเวณชายฝั่งแปซิฟิกทางตอนใต้ของโตเกียว ครึ่งล่างของจังหวัดชิบะ และพื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดคานางาวะ ในคานางาวะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอย่างรุนแรงมากทำให้เแผ่นดินถล่มหลายครั้ง คลื่นสึนามิซัดเข้ามายังจุดที่ขบวนรถไฟล่วงตกลงในทะเลเนื่องจากแผ่นดินถล่มที่แม่น้ำเนบุซึ่งหันหน้าเข้าหาทะเล และมีหมู่บ้านถูกดินถล่มฝังซ้ำอีก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไป 420 คน เมื่อรวมกับเหตุการณ์เหล่านี้แล้ว คาดว่ามีผู้เสียชีวิต 1,013 คนจากเหตุดินถล่มและคลื่นสึนามิจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านอีก 4 แห่งที่บ้านเรือนพังพินาศมากกว่า 90% และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 12,591 คนจากเหตุสิ่งปลูกสร้างพังถล่มลงมา สิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นโครงสร้างไม้แบบญี่ปุ่น

  ไม้ Dozo-zukuri อิฐ อื่นๆ รวม
อาคาร 1 ชั้น 69.9 2.2 3.1 1.0 76.3
อาคาร 2 ชั้นขึ้นไป 18.9 1.4 2.3 1.2 23.7
Total 88.8 3.6 5.4 2.2 100

ตารางที่ 1 ข้อมูลอาคารแยกตามประเภทในเมืองโตเกียว ณ สิ้น ค.ศ. 1922 (ร้อยละ)

ตารางที่ 1 รวบรวมข้อมูลทางสถิติ ณ สิ้น ค.ศ. 1922 พบว่าในโตเกียวมีพื้นที่ทั้งหมดที่เป็นอาคารรวม 356,975 แห่ง ในจำนวนดังกล่าว 76% เป็นอาคาร 1ชั้น และ 24% เป็นอาคารสูงตั้งแต่ 2 ชั้น เนื่องจากมีอาคารแบบชั้นเดียวเฉพาะส่วนในอาคารสองชั้นรวมอยู่ด้วย จึงกล่าวได้ว่า 2 ใน 3 ของอาคารทั้งหมดเป็นอาคารชั้นเดียว ประมาณ 88.8% ของอาคารทั้งหมดทำจากไม้ ประมาณ 3.6% ที่เป็นอาคารทนไฟแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า “Dozo-zukuri” ซึ่งก็เป็นโครงสร้างจากไม้ แต่ผนังด้านนอกทั้งหมดทำจากดินเผาและฉาบปูนเพื่อไม่ให้เสาไม้สัมผัสกับภายนอก ประมาณ 5.4% เป็นอาคารทำจากอิฐ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่จากยุโรปในทศวรรษ 1850 ส่วนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเข้ามาแทนที่การก่ออิฐในอาคารขนาดใหญ่แบบใหม่ ถูกนับเป็น “ประเภทอื่น” ร่วมกับอาคารแบบอื่นๆ เช่น อาคารก่อสร้างด้วยหิน ซึ่งก็ยังมีสัดส่วนเพียง 2.2% เท่านั้น สาเหตุที่รายการนี้มีชั้น 2 มากกว่าชั้น 1 ก็เพราะว่าอาคารหลายหลังสูงถึง 9 ชั้นสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก อย่างไรก็ตาม บ้านไม้ชั้นเดียวและสองชั้นยังครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในเมือง

.

รูปที่ 2 ภาพถ่ายมุมสูงของกรุงโตเกียวบริเวณสถานีรถไฟชิมบาชิใน ค.ศ.​1904

รูปที่ 2 เป็นภาพถ่ายก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตเกือบ 20 ปี โตเกียวยังไม่มีโครงสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ความน่าสนใจอยู่ที่อาคารสไตล์ตะวันตกขนาดใหญ่เพียง 2-3 แห่ง โดยยังมีอาคารไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักจากตอนที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ด้านล่างของภาพคือสถานีชิมบาชิซึ่งเป็นสถานีปลายทางของโตเกียวในตอนนั้น

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวแล้วก็เกิดไฟไหม้ขึ้นหลายครั้งตามมาทันที สาเหตุหลักของเพลิงไหม้เกิดจากไฟที่ใช้สำหรับการประกอบอาหารกลางวัน ซึ่งไม่สามารถดับได้เนื่องจากบ้านเรือนพังถล่มลงมา และมีสารเคมีล่วงลงมาจากชั้นเก็บในพื้นที่เก็บของในโรงพยาบาลหรือมหาวิทยาลัย ผู้คนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงสามารถดับเพลิงได้หลายแห่ง แต่มีถึง 74 แห่งที่ไฟลุกลามไปยังอาคารอื่น แม้ในท้ายที่สุดจะสามารถหยุดเพลิงไหม้ได้ในในช่วงเช้าของวันที่ 3 หรือหลังจากเวลาผ่านไป 46 ชั่วโมงจากที่เริ่มเกิดเหตุ พื้นที่ถูกไฟเผาทำลายไป 34.7 ตร.กม. ในโตเกียว และ 13 ตร.กม. ในโยโกฮาม่า คนประมาณ 1.5 ล้านคนจากประชากร 2.27 ล้านคนในโตเกียว และประมาณ 320,000 คน จากประชากร 440,000 ในโยโกฮาม่าสูญเสียที่อยู่อาศัย ในช่วงแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน-อาวาจิก็เกิดไฟไหม้ขึ้นเช่นกัน แต่พื้นที่ที่ถูกไฟไหม้นั้นมีประมาณ 0.8 ตร.กม. เท่านั้น กล่าวคือเพลิงไหม้ในแผ่นดินไหวใหญ่คันโตมีขนาดใหญ่กว่าถึง 50 เท่า

             รูปที่ 3แสดงพื้นที่เมืองและพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ของโตเกียว ในโตเกียวสมัยปัจจุบันมีหอสังเกตุการณ์สูง 2 แห่ง ได้แก่ โตเกียวทาวเวอร์และสกายทรี หากลองหาตำแหน่งของหอสังเกตุการณ์นี้ จะพบว่าอยู่ตรงพื้นที่ขอบทางทิศใต้และทิศเหนือของพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้พอดี ดังนั้น หากมีโอกาสได้ไปเที่ยวโตเกียวก็ลองตรวจสอบตำแหน่งของหอสังเกตการณ์ทั้งสองนี้แล้วจินตนาการดูว่านั่นเป็นพื้นที่ที่ถูกเผาทำลาย

รูปที่ 3 พื้นที่ภายในเมืองโตเกียวและพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ (สีแดง)

.

สาเหตุการเกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่

ในโตเกียวซึ่งครั้งหนึ่งเรียกว่าเอโดะเกิดไฟไหม้ขึ้นบ่อยจนเป็นเรื่องปกติ ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เผาทำลายบ้านเรือนมากกว่า 1,000 หลังคาเรือนก็เกิดขึ้นทุก 1-2 ปี อย่างไรก็ตาม ด้วยการเปิดใช้ระบบน้ำประปาสมัยใหม่ใน ค.ศ. 1898 ทำให้ไฟไหม้ส่วนใหญ่ไม่เกิดขึ้นอีก การประปาในอดีตที่ผ่านมาจะเป็นไปตามหลักการไหลของน้ำในธรรมชาติ โดยน้ำจะถูกกักเก็บไว้ในบ่อหรือถังเก็บน้ำ เครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบใช้มือสามารถใช้งานในระบบการประปานี้ได้ แต่ไม่สามารถจ่ายน้ำในปริมาณที่จำเป็นสำหรับเครื่องสูบน้ำแบบไอน้ำ น้ำสำหรับเครื่องสูบน้ำแบบไอน้ำจึงใช้งานได้จำกัดอยู่แค่น้ำจากแม่น้ำและบ่อน้ำเท่านั้น

ระบบประปาสมัยใหม่เปิดใช้ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1898 สามารถส่งน้ำที่อัดแรงดันให้กระจายไปทั่วเมือง จึงเกิดความคิดที่จะใช้ระบบน้ำประปาเพื่อการดับเพลิง นำไปสู่การติดตั้งหัวดับเพลิงกระจายทั่วทุกพื้นที่ ทำให้สามารถใช้เครื่องสูบน้ำแบบไอน้ำได้ทุกที่ภายในเมือง นอกจากนี้ ทีมนักดับเพลิงก็ได้รับสายยางสำหรับเชื่อมต่อโดยตรงกับหัวจ่ายน้ำดับเพลิง แต่ในทางตรงข้ามก็ถูกลดจำนวนนักดับเพลิงลงเช่นกัน เมื่อเกิดไฟไหม้ทีมนักดับเพลิงในพื้นที่จะใช้สายยางฉีดน้ำ โดยต่อสายตรงกับหัวจ่ายน้ำดับเพลิงเพื่อฉีดน้ำดังในรูปที่ 4 หากไฟยังคงลุกลามไม่ยอมดับ ก็จะใช้มาตรการดับเพลิงเสริม ได้แก่ เครื่องสูบน้ำไอน้ำแบบลากม้าจำนวน 8 เครื่องสำหรับใช้ภายในเมืองที่มีประชากรจำนวน 1.43 ล้านคน

รูปที่ 4 A steam pump of main fire brigade that discharges water from a fire hydrant

เครื่องสูบน้ำแบบไอน้ำเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 20 เครื่องภายในค.ศ. 1916 เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ในปีต่อมาก็เริ่มนำรถดับเพลิงเข้ามาใช้และ 3 ปีก่อนเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ได้ยกเลิกการใช้เครื่องสูบน้ำแบบไอน้ำและเริ่มต้นยุคของรถเครื่องสูบน้ำ ในช่วงนี้เครื่องสูบน้ำแบบมือซึ่งมอบให้กับทีมนักดับเพลิงใช้เมื่อน้ำประปาไม่สามารถใช้งานได้ก็ถูกยกเลิกการใช้งานไป และขณะที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่เมืองโตเกียวมีรถเครื่องสูบน้ำจำนวน 38 คันเป็นกำลังหลักในการดับเพลิงภายในเขตเมืองที่มีประชากรจำนวน 2.27 ล้านคน การนำรถยนต์เครื่องสูบน้ำเข้ามาใช้งาน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเครื่องสูบแบบไอน้ำเกือบ 2 เท่า ทำให้บทบาทของทีมดับเพลิงสำรองซึ่งต่อมาเรียกว่าการดับเพลิงระบบสำรองลดน้อยลง  และเครื่องสูบน้ำแบบมือของทีมดับเพลิงซึ่งเหลือไว้ใช้ในยามที่ไม่มีน้ำประปาก็ถูกยกเลิกไปด้วยเช่นกัน

การตอบสนองต่อเหตุเพลิงไหม้สำหรับประชาชนในขณะนั้นแทบไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือแจ้งหน่วยดับเพลิงทางโทรศัพท์หรือใช้สัญญาณเตือนไฟไหม้ตามท้องถนนและรอการมาถึงของรถดับเพลิง ในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ แม้ว่าสายโทรศัพท์จะถูกตัดขาดเนื่องจากแผ่นดินไหว แต่รถดับเพลิงก็สามารถตอบสนองต่อเหตุไฟไหม้ในบริเวณใกล้เคียงได้โดยอาศัยข้อมูลจากหอสังเกตการณ์ของสถานีดับเพลิงและข้อมูลจากผู้อยู่อาศัยได้ จนสามารถดับเพลิงได้สำเร็จในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม จำนวนจุดที่ไฟลุกลามมีมากกว่าจำนวนรถสูบน้ำประมาณ 2 เท่า ผลที่ตามมาคือไฟลุกลามไปมากกว่าโดยที่รถดับเพลิงยังมาไม่ถึง นอกจากนั้น แม้ว่ารถเครื่องสูบน้ำจะรีบวิ่งไปถึงที่เกิดเหตุแล้ว แต่หัวสูบจ่ายน้ำไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

ระบบน้ำประปาของโตเกียวในสมัยนั้นส่งน้ำมาจากโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำเพียงแห่งเดียว แต่แผ่นดินไหวทำให้เส้นทางลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำไปยังโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียหาย และท่อซึ่งเชื่อมต่อกับเครื่องสูบน้ำสำหรับจ่ายน้ำที่โรงปรับปรุงคุณภาพน้ำก็ถูกทำลาย ด้วยเหตุนี้ น้ำประปาในที่สูงก็ถูกตัดขาดทันที ส่วนในที่ราบลุ่มน้ำในบ่อโรงบำบัดน้ำก็จะไหลไปยังที่ราบลุ่มด้วยกันเองจากแรงโน้มถ่วงเท่านั้น นักดับเพลิงมีเพียงสายยาง พวกเขาต่อท่อเข้ากับหัวจ่ายน้ำดับเพลิงตามสถานที่ต่างๆ แต่มีแรงดันน้ำไม่เพียงพอที่จะฉีดออกไป และถึงจะฉีดออกไปได้ทั้งในสภาพแบบนั้นก็ไม่ฉีดต่อเนื่องได้ไม่นานเนื่องจากอุปกรณ์ดับเพลิงสำรองต้องอาศัยแรงดันของน้ำประปา ในที่สุดจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงได้ในช่วงเวลาวิกฤติ

รูปที่ 5 แสดงพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ ณ เวลา 16:00 ของวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1923
ที่มา中村清二(1925):大地震による東京火災調査報告,『震災予防調査会報告』第百号戊,震災予防調査会

จากรูปที่ 5 แสดงพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้หลังเกิดแผ่นดินไหว 4 ชั่วโมง หรือเพียง 1 ใน 10 ของเวลาในการเผาไหม้ทำลายล้างทั้งหมดซึ่งกินเวลานานถึง 40 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าเพลิงไหม้ลุกลามจากจุดที่เกิดไฟไหม้หลายจุดทางตะวันตกและทางเหนือของพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ และทางตะวันออกของแม่น้ำสุมิดะ พื้นที่เหล่านี้เป็นที่ราบลุ่มซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีแม่น้ำไหลผ่าน บ้านเรือนหลายหลังพังทลายลงมาเมื่อเกิดการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเนื่องจากสภาพทางธรณีวิทยา และไฟไหม้ลุกลามขณะที่ชาวบ้านเร่งช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในบ้านที่พังถล่มลงมา ทางตะวันออกของแม่น้ำสุมิดะซึ่งไหลผ่านใจกลางกรุงโตเกียวเป็นที่ตั้งของโรงงานเสื้อผ้า (โรงงานและโรงเก็บ) ซึ่งกลายเป็นสถานที่อพยพที่ใหญ่ที่สุดในช่วงนั้น เพราะเป็นพื้นที่ว่างหลังจากการย้ายคลังเสื้อผ้าของกองทัพไปยังชานเมือง ทว่าพื้นที่โดยรอบของสถานที่แห่งนี้ถูกปิดล้อมด้วยไฟและเมื่อเกิดพายุลมบ้าหมูขึ้นในเวลาต่อมา ผู้คนและข้าวของต่างๆ ถูกพัดขึ้นกลางอากาศและลุกไหม้กลายเป็นพายุเพลิง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 40,000 คน นับเป็นสถานที่แห่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่คันโต

ผู้คนในสมัยนั้นส่วนใหญ่ยังขนข้าวของสัมภาระติดตัวออกไปภายนอกเมื่อเกิดไฟไหม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้ที่อาศัยในบ้านเช่าหรือห้องเช่า หากนำทรัพย์สินของตัวเองออกไปได้ ก็จะไม่เกิดความเสียหายใด แม้ว่าบ้านจะถูกไฟไหม้ก็ตาม ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ดำเนินสืบมาตั้งแต่ในอดีต แต่ด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ลดน้อยลง ทำให้ปริมาณข้าวของในครัวเรือนที่ต้องนำออกมาเพิ่มมากขึ้น ขณะนั้นโตเกียวมีรถยนต์ส่วนตัวเพียง 5,000 คัน และเป็นพาหนะสำหรับคนจำนวนจำกัดเท่านั้น แต่มีเกวียนลากมือ 80,000 คัน ดังนั้นคนที่สามารถใช้เกวียนได้ก็จะบรรทุกของใช้ในบ้านออกไป และในขณะที่คนไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ก็จะขนของใช้ในบ้านออกไปไว้ในที่โล่ง เป็นผลให้ถนนและพื้นที่โล่งเต็มไปด้วยข้าวของ โรงงานเสื้อผ้าเองก็เต็มไปด้วยของใช้ในบ้านและสัมภาระที่มาพร้อมกับผู้คนเช่นกัน

รูปที่ 6 ภาพการอพยพพร้อมสัมภาระของผู้คนในโตเกียวหลังจากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่คันโต ค.ศ. 1923

ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าพายุเพลิงก่อตัวขึ้นได้อย่างไรและจะป้องกันอย่างไร ทว่าพื้นที่อพยพที่เต็มไปด้วยผู้คนและสัมภาระเช่นโรงงานเสื้อผ้าแห่งนั้นก็ยังคงเป็นพื้นที่อันตราย เนื่องจากไฟที่โหมเข้าหาพร้อมกันทั้ง 3 ทิศทาง ยกเว้นเพียงด้านแม่น้ำสุมิดะ ในสมัยนั้นมีหลายกรณีที่ไฟโหมเข้ามาจากหลายทิศทางแต่ก็ยังพอมีโอกาสหลบหนีจากทิศทางตรงข้ามได้บ้าง แต่สำหรับกรณีโรงงานผ้าแห่งนั้นเกิดผลลัพธ์ที่น่าสลดหดหู่อย่างมาก การดับเพลิงอาจไม่สามารถควบคุมเพลิงให้สงบลงได้ทั้งหมด แต่หากสามารถชะลอการขยายตัวของเปลวไฟไปยังพื้นที่รอบ ๆ พื้นที่อพยพได้แม้เพียงบางส่วน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้

โตเกียวในสมัยนั้นมีทางน้ำเป็นจำนวนมากตั้งแต่ยุคเอโดะ ในเมืองมีสะพานมากถึง 675 แห่ง โดยในจำนวนนั้นเป็นสะพานทำด้วยไม้ 420 สะพาน ที่เชิงสะพานมักมีพื้นที่จัตุรัสขนาดเล็ก บริเวณนี้จึงเต็มไปด้วยสัมภาระของผู้อพยพ ไฟในเมืองจึงลุกลามไปยังสะพานที่ทำจากไม้ได้อย่างง่ายดายเนื่องจากบริเวณเหล่านั้นเต็มไปด้วยสัมภาระของผู้อพยพ สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำสุมิดะซึ่งไหลผ่านใจกลางกรุงโตเกียว เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการอพยพ และสินค้าจำนวนมากก็ถูกนำไปวางไว้ที่สะพานเหล็ก ทว่าเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นพื้นถนนที่ทำด้วยไม้ก็ถูกไฟไหม้จนพังพินาศ มีสะพานเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่รอดพ้นจากเพลิงไหม้ เพราะตำรวจและทหารบังคับให้ผู้คนทิ้งสัมภาระขณะพยายามข้ามสะพาน นอกจากนี้ เพลิงไหม้ที่สะพานยังทำให้ประชาชนอพยพได้ยากลำบากและขัดขวางความพยายามในการบรรเทาทุกข์ในภายหลังด้วย

หลังจากเกิดแผ่นดินไหว มีเรือหลายลำจอดอยู่ตามแม่น้ำและทางน้ำบรรทุกผู้อพยพและสัมภาระ คนเดินเรือจำนวนมากกลัวคลื่นสึนามิและไม่อยากออกทะเลจึงติดอยู่ในร่องน้ำแคบๆ  ซึ่งแม่น้ำและเรือก็ถูกไฟลามลุกท่วมในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ข้าวของในบ้านจำนวนมากถูกทิ้งไว้บนถนนและถูกเผาซึ่งยิ่งเร่งการลุกลามของไฟ การที่ผู้คนพากันขนข้าวของและสัมภาระกันออกไปจึงเป็นการช่วยให้ไฟลุกลามและทำให้การอพยพเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่เร่งการขยายตัวของไฟและทำให้ผู้คนไม่สามารถหลบหนีได้คือสะเก็ดไฟ ข้าวของที่ลุกไหม้ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าและตกลงมาตามทิศทางลม สะเก็ดไฟมีขนาดใหญ่แตกต่างกันไป หากตกลงมาบนหลังคาบ้านอย่างต่อเนื่อง หลังคาก็จะลุกไหม้ ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านที่อยู่ใต้ลมจึงปีนขึ้นไปบนหลังคาพร้อมด้วยไม้กวาดและน้ำเพื่อปัดสิ่งของที่ตกลงมาและดับไฟทันทีที่เริ่มลุกไหม้ หากมีกระเบื้องอยู่บนหลังคา โอกาสที่หลังคาจะติดไฟจากข้าวของที่ตกลงมาเหล่านี้ก็จะลดลง ดังนั้นตั้งแต่สมัยเอโดะจึงมีทั้งคำแนะนำและบางครั้งก็เป็นคำสั่งให้ปูกระเบื้องบนหลังคา และเมื่อไฟไหม้เริ่มลดน้อยลงในเวลาต่อมาผู้คนก็เลิกนิสัยปีนขึ้นไปบนหลังคา ทว่าเมื่อสิ่งปลูกสร้างถล่มลงมาหรือกระเบื้องมุงหลังคาสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจนร่วงลงมา ความเสี่ยงที่จะเกิดสะเก็ดไฟก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก บนแผนที่ในรูปที่ 7 สัญลักษณ์ ● แสดงถึงจุดเริ่มต้นของไฟไหม้ และ ▲ แสดงถึงจุดเริ่มลุกไหม้เนื่องจากสะเก็ดไฟ สะเก็ดไฟทะยานขึ้นเหนือแม่น้ำสุมิดะและกระจายตัวไปห่างไกลออกไปเกินกว่าที่เราจินตนาการได้ ในเวลาปกติคุณอาจสามารถรับรู้ได้ว่าเกิดการไหม้ด้วยกลิ่น แต่ในขณะที่โตเกียวกำลังลุกเป็นไฟทั้งเมืองเช่นนั้นก็จะคงสังเกตได้ยากมาก เป็นผลให้เกิดความรู้สึกว่าไฟลุกไหม้กะทันหัน และนำไปสู่ความเข้าใจผิดว่ามีคนวางเพลิง

รูปที่ 6 แสดงจุดที่เริ่มเกิดเพลิงไหม้ (●) และจุดเริ่มลุกไหม้เนื่องจากสะเก็ดไฟ (▲)
ที่มา 震災予防調査会 (1924)『火災動態図』

ในบทความต่อไป “ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต (ตอนที่ 2)” จะกล่าวถึงข่าวลือเกี่ยวกับชาวเกาหลีซึ่งว่าเป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้และความวุ่นวายภายหลังจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ นำไปสู่การใช้ความรุนแรงและการฆาตกรรมทั้งชาวเกาหลีและคนชาติอื่นๆ ซึ่งถูกเข้าใจผิดไปด้วย ตลอดจนย้อนทบทวนประสบการณ์และถอดบทเรียนที่ได้รับจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโต


รายการอ้างอิง

  • Jun Suzuki. (2023). Lessons Learned and Overview of the Great Kanto Earthquake.
  • การเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติ : 1 ศตวรรษแผ่นดินไหวใหญ่คันโต. สัมมนาจัดโดยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพ.

บทความล่าสุด

น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
-
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา

ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ (บทความนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอนก่อนหน้า >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)) 3. ความกังวลและความท้าทายของไทยเมื่อฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน           นับแต่ไทยประกา

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ทุกท่านคงทราบข่าวการเดินทางมาไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว การเดินทางมาในครั้

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น

โดย ดร.ทรายแก้ว ทิพากร                                                                                         พรรคการเมืองของทุกประเทศมีความจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อให้สามารถเล่นบทบาททางการเมืองของตน แต่บทบาทของเงินทุนทางการเมืองเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อการเมืองมากที่สุด ทุ

ดร.ทรายแก้ว ทิพากร
2567
กระแสเอเชีย