สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

โควิด-19 กับสถานการณ์แม่บ้านไทยและบทบาทของสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกง

โดย พิชชาภา ทุมดี


ที่มาภาพ: กระทรวงแรงงงาน

          นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ที่ทั่วโลกได้รู้จักกับโรคโควิด-19 การทำงานที่บ้านกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของประชากรโลก ฮ่องกงซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติแห่งหนึ่งก็ได้รับผลกระทบจากโรคนี้อย่างมหาศาลเช่นกัน ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ออกจากบ้านไปทำงานเพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฮ่องกง มีคนกลุ่มหนึ่ง “ทำงานที่บ้าน” เป็นปกติมาแต่ไหนแต่ไร คอยดูแลบ้าน คอยสนับสนุนให้ฟันเฟืองนี้เดินไปได้อย่างไม่ติดขัด แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมาในสังคม พวกเขากลับได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสร้างคุณูปการให้สังคมเช่นเดียวกับกลุ่มคนอื่น

          เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 สำนักงานแรงงานฮ่องกงออก Press Release ขอความร่วมมือให้แรงงานบ้านต่างชาติ หรือ แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้าน (Foreign Domestic Workers) อยู่ในบ้านในวันหยุด เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายไวรัสเพื่อความปลอดภัยของตนเองและนายจ้าง ขณะเดียวกันก็ให้นายจ้างเจรจากับลูกจ้างให้เข้าใจถึงความคับขันของสถานการณ์ ให้ “เสียสละ” วันหยุดไม่ออกไปนอกบ้านเพื่อความปลอดภัยของคนในบ้าน รวมถึงมิให้นายจ้างบังคับใช้งานลูกจ้างในวันหยุดด้วย และออก Press Release ย้ำอีกครั้งในวันที่ 27 มีนาคม 2563 รวมทั้งมาตรการเยียวยาของรัฐโดยการแจกเงินสนับสนุนแก่ผู้พำนักถาวร ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแบ่งแยกและการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมและประเด็นปัญหามากมายตามมา ซึ่งก่อนอื่นต้องอธิบายถึงสภาพการณ์ของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านในฮ่องกงเป็นเบื้องต้นก่อน

การพักอาศัยในบ้านเดียวกับนายจ้างตามกฎหมาย

          จากสถิติปลายเดือนมีนาคม 2562 แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านในฮ่องกงมีจำนวนประมาณ 391,600 คน[1] โดยมีชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็นชาวอินโดนีเซีย และไทย ตามลำดับ ปัจจุบันการจ้างแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านของฮ่องกงนั้นแตกต่างจากประเทศไทย ตามรายละเอียดข้อ 3 ข้อ 5 และข้อ 9 ของสัญญาจ้างมาตรฐานตามกฎหมายฮ่องกง กำหนดให้ตลอดระยะเวลาการจ้างงาน ให้ลูกจ้างทำงานและพักอาศัยใต้ชายคาเดียวกับนายจ้างโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเป็นที่พักอาศัยที่เหมาะสมและมีความเป็นส่วนตัว รวมถึงนายจ้างต้องดูแลเรื่องค่าอาหารและค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ของลูกจ้างด้วย

การกำหนดให้อาศัยในบ้านเดียวกับนายจ้างนี้แต่เดิมก็ทำให้เกิดปัญหากับลูกจ้างอยู่แล้ว เช่น เนื่องจากพื้นที่อาศัยของคนฮ่องกงมีจำกัด ทำให้บ้านที่มีขนาดเล็กอยู่แล้วไม่สามารถจัดหาที่อยู่ที่เหมาะสมตามกฎหมายให้ลูกจ้างได้ ทำให้บางคนจำเป็นต้องอยู่ในห้องเก็บของ ห้องใต้บันใด ห้องน้ำ อยู่ร่วมกับสมาชิกคนอื่นในบ้าน หรือแม้กระทั่งอาศัยร่วมห้องกับแรงงานซึ่งเป็นเพศตรงข้าม ทำให้ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งสภาพดังกล่าวขัดกับรายละเอียดในสัญญาจ้างมาตรฐาน นอกจากนี้ยังทำเกิดกรณีลูกจ้างถูกใช้งานอย่างหนักเนื่องจากสามารถถูกเรียกใช้ได้ตลอดเวลา เป็นต้น

          เมื่อเกิดโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้มองเห็นปัญหาเหล่านี้ชัดเจนขึ้นรวมถึงเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา แน่นอนว่าทุกอาชีพต่างได้รับผลกระทบ แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านก็เช่นกัน จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างๆ สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านพบในช่วงโควิด-19 โดยทั่วไปหลักๆ แล้วคือ การได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมที่เกิดจากรัฐบาลและที่เกิดจากนายจ้าง

ประเภทแรก เกิดจากการออกประกาศของสำนักงานแรงงานฮ่องกงขอความร่วมมือให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านไม่ออกนอกบ้านในวันหยุดดังที่กล่าวถึงข้างต้น ถึงแม้ภายใต้บทบัญญัติการจ้างงาน แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านสามารถมีวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อยหนึ่งวัน และนายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้ เว้นแต่มีกรณีฉุกเฉิน ทำให้สภาพการณ์ของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านเริ่มตึงเครียดขึ้นหลังจากมีการประกาศดังกล่าว นอกจากนี้ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐมนตรีการคลังของฮ่องกงได้ประกาศมาตรการแจกเงินเยียวยาจากรัฐบาลแก่ผู้พำนักถาวรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เป็นจำนวน 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากตามบทบัญญัติคนเข้าเมือง มาตรา 2(4) แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านไม่มีสิทธิยื่นขอเป็นผู้พำนักถาวรในฮ่องกงได้ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในฮ่องกงนานเท่าใดก็ตาม (ยกเว้นผู้ที่ได้รับสิทธิในการพำนักในฮ่องกงก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2540) ซึ่งแตกต่างจากชาวต่างชาติที่ทำอาชีพอื่นที่สามารถยื่นขอเป็นผู้พำนักถาวรได้หากอาศัยอยู่ในฮ่องกง 7 ปีติดกันขึ้นไป ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยานี้จากรัฐบาล

ประเภทที่สอง หลังจากการประกาศขอความร่วมมือให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านอยู่บ้านในวันหยุดของสำนักงานแรงงาน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านมากขึ้น โดยนายจ้างบางคนอ้างว่ารัฐบาลออกกฎหมายห้ามออกจากบ้าน อีกทั้งไม่เชื่อใจลูกจ้างว่าจะสามารถดูแลสุขอนามัยของตนเองได้ดีพอและจะเป็นพาหะนำไวรัสกลับมาบ้าน จึงข่มขู่และกดดันไม่ให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านออกจากบ้านในวันหยุดประจำสัปดาห์ มิเช่นนั้นจะถูกยกเลิกวีซ่า ซึ่งลูกจ้างก็ไม่ได้มีอำนาจต่อรองอยู่แล้ว บางคนถูกไล่ออกกลางคันเนื่องจากเรียกร้องสิทธิในวันหยุดประจำสัปดาห์กับนายจ้าง หรือบางคนไม่กล้ามีปากเสียงกับนายจ้างจึงได้แต่อยู่บ้านและทำงานในวันหยุด จากผลสำรวจของ Asian Migrants Coordinating Body, the Mission for Migrant Workers และ the Asian Pacific Mission for Migrants พบว่า แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านถึง 40% ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้าน และเกือบ 20% ไม่ได้วันหยุดประจำสัปดาห์[2] จากความกังวลเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยที่เพิ่มขึ้นทำให้นายจ้างจู้จี้จุกจิกมากขึ้น โดยต้องการให้ลูกจ้างทำความสะอาดบ่อยครั้ง รวมถึงการที่คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน ทำให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่บ้านด้วยกันทั้งวัน คอยรับคำสั่งจากนายจ้างตลอดเวลา ลูกจ้างจึงเกิดความรู้สึกถูกจับจ้องและมีปริมาณงานมากขึ้นในแต่ละวัน ขาดพื้นที่ส่วนตัว ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล นอกจากนี้ ผลสำรวจข้างต้นยังพบว่า 14% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เคยได้หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์หรือเจลทำความสะอาดต่างๆ และ 8 ใน 10 คน ต้องซื้อหน้ากากและแอลกอฮอล์หรือเจลทำความสะอาดเอง ถึงแม้จะหาซื้อได้ตามท้องตลาดแต่ก็มีราคาแพงสวนทางกับรายได้ ทำให้เป็นภาระทางการเงิน (ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายฮ่องกงที่บังคับใช้กับสัญญาจ้างงานที่ลงนามตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2562 เป็นต้นไป คือ 4,630 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน เท่ากับประมาณ 18,514 บาท)

สถานการณ์แรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านในฮ่องกง

อย่างไรก็ดี สภาพการณ์ที่พบในข่าวส่วนใหญ่ดังที่กล่าวไปข้างต้นเป็นสภาพการณ์โดยทั่วไปซึ่งสำรวจจากแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานรับใช้ในบ้านเป็นหลักเนื่องจากมีจำนวนมากที่สุด และชาวอินโดนีเซียรองลงมา ทำให้ไม่ทราบถึงสภาพการณ์ที่แน่ชัดของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านชาวไทยว่าได้รับผลกระทบแบบเดียวกันนี้หรือไม่

จากการที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์นางพบสุข กาสิงห์ ประธานสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกง (Thai Migrant Workers Union Hong Kong: TMWU)[3] ทำให้ทราบว่า จากสถิติในเดือนมกราคม 2563 แรงงานข้ามชาติชาวไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านในฮ่องกงมีทั้งหมดจำนวน 2,100 คน ซึ่งมีมากเป็นอันดับ 3 จากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านทั้งหมดในฮ่องกง ส่วนสภาพการณ์ของแรงงานชาวไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านค่อนข้างแตกต่างจากสภาพการณ์ของชาวฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกงได้ทำแบบสำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านในฮ่องกง ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนพฤษภาคม 2563 มีผู้ให้ข้อมูลและตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 100 คน สำรวจโดยการแจกแบบสำรวจตามสวนสาธารณะซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวในวันหยุดประจำสัปดาห์ของแรงงานบ้านรวมถึงสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ผลสำรวจพบว่า 93% ของผู้ให้ข้อมูลได้รับข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ผ่านทางนายจ้าง 87% ของผู้ให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ได้ครอบคลุมและทันสถานการณ์โดยใช้โซเชียลมีเดีย ผ่านทางเฟสบุ๊กขององค์กรภาครัฐ เช่น เพจสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง เพจ Royal Thai Consulate-General, Hong Kong หรือองค์กรเอกชน เช่น เพจ สหภาพแรงงานไทยในฮ่องกง (Thai Migrant Workers Union TMWU Hong Kong) หรือเฟสบุ๊กส่วนตัวของประธานสหภาพแรงงานฯ ซึ่งทั้งหมดนี้มีการอัพเดตข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ทำให้แรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านในฮ่องกงมีความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและทราบข้อมูลต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที 78% รับรู้ข้อมูลจากการติดต่อสื่อสารกันในกลุ่มเพื่อน และ 62% ของผู้ให้ข้อมูลได้รับข่าวสารทางโทรทัศน์

สำหรับอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย เจลและแอลกอฮอล์ล้างมือ 95% ของผู้ให้ข้อมูลได้รับแจกอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจากนายจ้าง นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนโดยการแจกอุปกรณ์ป้องกันจากองค์กรเอกชนต่างๆ เช่น ศูนย์คริสตจักรไทยพระพร OXFAM  สหภาพแรงงานไทยในฮ่องกง ซึ่งทางสหภาพแรงงานฯ ได้ดำเนินการแจกทุกวันอาทิตย์ นางพบสุข กาสิงห์ให้สัมภาษณ์ว่าเหตุที่แรงงานข้ามชาติชาวไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านไม่ค่อยขาดแคลนหน้ากากอนามัยเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากทางสหภาพแรงงาน ซึ่งทรัพยากรที่ได้มาแจกนั้นมาจากความช่วยเหลือกันในสหพันธุ์สหภาพแรงงานบ้านเอเชียในฮ่องกง (Hong Kong Federation of Asian Domestic Workers Unions: FADWU) ซึ่งสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกงเป็นสมาชิกอยู่อีกด้วย รวมถึงสมาคมรวมไทยในฮ่องกง สมาคมสตรีไทยในฮ่องกง เรียกได้ว่ามีการช่วยเหลือกันในเครือข่ายที่เข้มแข็ง[4]

นอกจากนี้แรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านก็ยังได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐบาลเช่นกัน โดยได้รับแจกหน้ากากอนามัยจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ผ่านตัวแทนสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกง ถึงแม้จำนวนหน้ากากอนามัยที่ทางรัฐบาลไทยแจกนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการก็ตาม อีกทั้งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 รัฐบาลฮ่องกงก็ได้ประกาศแจกหน้ากากอนามัยแบบผ้า (CuMask+TM) แก่ผู้ถือบัตรประชาชนฮ่องกงทุกคน รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านเช่นกัน โดยกำหนดให้ลงทะเบียนรับทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2563 และจะจัดส่งให้ถึงบ้านภายในสองสัปดาห์ ส่วนมาตรการเยียวยาของรัฐบาลฮ่องกงโดยการแจกเงินสนับสนุนแก่ผู้พำนักถาวรนั้น แน่นอนว่าแรงงานข้ามชาติชาวไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านก็ไม่ได้รับเงินสนับสนุนส่วนนี้

 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ด้านอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากนายจ้าง นอกจากนั้นแรงงานข้ามชาติชาวไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านในฮ่องกงยังได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกงเป็นหลัก รวมถึงองค์กรภาคเอกชนอื่นๆ และการช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อน ส่วนความช่วยเหลือจากรัฐบาลฮ่องกงนั้น เนื่องจากตามบทบัญญัติการจ้างงานซึ่งเป็นกฎหมายหลักด้านสิทธิและการคุ้มครองแรงงานของฮ่องกง ความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านที่พักอาศัย อาหารการกินและการรักษาพยาบาลล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของนายจ้างทั้งสิ้น ทำให้รัฐบาลมิได้ออกมาตรการช่วยเหลือใดเพิ่มอีก เพราะถือว่าสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายดังกล่าว และนายจ้างมีภาระหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านอยู่แล้ว รวมถึงได้กำหนดบทลงโทษต่างๆ เอาไว้อย่างชัดเจนหากนายจ้างละเมิดสิทธิของลูกจ้าง

จากกรณีแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานรับใช้ในบ้านที่ถูกยกเลิกสัญญาจ้างเนื่องจากออกจากบ้านในวันหยุดจนเกิดเป็นข้อพิพาทกับนายจ้าง สำหรับแรงงานข้ามชาติชาวไทยฯ ปัจจุบันยังไม่เกิดกรณีเช่นนี้ ประธานสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกงได้ให้ข้อมูลถึงลักษณะทั่วไปของแรงงานข้ามชาติชาวไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้าน ที่มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดข้อพิพาทกับนายจ้างในกรณีดังกล่าวได้ 3 ประการ[5] ดังนี้ (1) แรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านส่วนใหญ่อยู่ในฮ่องกงเป็นระยะเวลานาน ประมาณ 10 – 30 ปีขึ้นไปและอายุค่อนข้างมากแล้ว ทำให้เข้าใจวิธีการสื่อสารและสามารถใช้ภาษากวางตุ้งสื่อสารกับนายจ้างได้ (2) แรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านส่วนใหญ่มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว สามารถใช้ภาษากวางตุ้งสื่อสารกับนายจ้างได้โดยตรง แตกต่างจากแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซียที่ทำงานรับใช้ในบ้านซึ่งส่วนใหญ่ถูกจ้างให้ดูแลเด็กเล็กและใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เนื่องจากนายจ้างต้องการให้บุตรฝึกภาษาอังกฤษ อีกทั้งนายจ้างที่มีบุตรยังมีความกังวลด้านสุขอนามัยเป็นพิเศษเนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคระบาด  (3) แรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกงเป็นอย่างดี เมื่อใดที่แรงงานฯ เกิดความขัดแย้งหรือไม่สามารถสื่อสารกับนายจ้างได้ สหภาพแรงงานไทยในฮ่องกงจะช่วยแนะนำวิธีการสื่อสารกับนายจ้างหรือแม้กระทั่งเข้าไปช่วยอธิบายหรือเจรจาไกล่เกลี่ยกับนายจ้างด้วยตนเอง กล่าวได้ว่าในหมู่แรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านแก้ไขปัญหาโดยใช้การสื่อสารเป็นหลักและได้ความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกง ทำให้ไม่ค่อยเกิดกรณีพิพาทกับนายจ้างจนถึงขั้นเลิกจ้างทันทีอันเนื่องมาจากโควิด-19 มีเพียงแต่กรณีเลิกจ้างเนื่องจากปัญหาการทำงานของลูกจ้างเฉพาะบุคคลหรือสิ้นสุดสัญญาซึ่งเป็นกรณีทั่วไป แต่ไม่สามารถกลับประเทศไทยได้จึงต้องขอความช่วยเหลือจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง

 ส่วนผลกระทบที่แรงงานข้ามชาติชาวไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านได้รับในช่วงโควิด-19 นี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น นายจ้างมีความกังวลต่อการระบาดของโรคทำให้ต้องทำความสะอาดบ้านบ่อยครั้งขึ้น ทำอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านที่ต้องดูแลเด็ก ซึ่งนายจ้างจะเข้มงวดกว่าปกติ   ซึ่งเป็นผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านโดยทั่วไป ผลที่เกิดขึ้นคือทำให้แรงงานฯ เกิดความเครียด นอกจากนี้ยังมีเรื่องวันหยุดประจำสัปดาห์ ซึ่งในกรณีของแรงงานข้ามชาติไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านนั้นส่วนใหญ่สามารถออกมาพักผ่อนในวันหยุดประจำสัปดาห์ตามสวนสาธารณะได้ตามปกติ แต่ก็มีบางส่วนที่อยู่แต่ในบ้านเช่นกัน ทั้งนี้ โดยทั่วไปทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็กังวลกับการแพร่ระบาดของโรคจึงไม่ค่อยออกจากบ้านกันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะได้รับการร้องทุกข์เข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน แต่ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาที่แก้ไขได้โดยการเจรจา ทางสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกงมีวิธีการช่วยเหลือโดยถามไถ่ พร้อมทั้งให้กำลังใจและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาจากเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงานฯ ไม่ว่าจะเป็นการออกไปแจกของและพบปะพี่น้องแรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านตามสวนสาธารณะทุกวันอาทิตย์หรือการติดต่อประธานสหภาพแรงงานฯ โดยตรง รวมถึงมีการให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องตลอดทางเครือข่ายออนไลน์ของสหภาพแรงงานฯ การให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดและความกระตือรือร้นในการกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงเช่นนี้ช่วยสร้างความอุ่นใจ คลายความเครียดและวิตกกังวลของแรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านในสภาพวิกฤตแบบนี้ได้

นอกจากนี้ประธานสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกงยังอธิบายถึงกระบวนการร้องเรียนในกรณีแรงงานถูกละเมิดสิทธิ สามารถร้องเรียนคณะกรรมาธิการความเท่าเทียมทางโอกาสของฮ่องกงได้ แต่แรงงานบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงสิทธิและรายละเอียดในข้อกฎหมายดังกล่าว มีเพียงกรรมการของสหภาพแรงงานฯ ที่รู้ รวมถึงกรณีถูกเลิกจ้างทันทีเช่นกัน ถึงแม้จะสามารถร้องเรียนต่อกรมแรงงานและเรียกร้องเงินค่าแทนการแจ้งล่วงหน้าและเงินชดเชยอื่นๆ ได้ตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติแล้วกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1 ปีและมีอุปสรรคมาก ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการยื่นเอกสารให้ทางราชการฮ่องกงซึ่งมีหลายขั้นตอน หรือกระบวนการร้องเรียนที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า รวมถึงปัญหาด้านการสื่อสาร ถึงแม้จะมีสายด่วนร้องทุกข์แต่ก็ไม่มีบริการภาษาไทย หากจะไปสถานีตำรวจก็ต้องรู้ภาษากวางตุ้งหรือภาษาอังกฤษ และถึงแม้ทางการฮ่องกงจะมีบริการล่ามภาษาไทย แต่ก็ให้บริการเฉพาะในเวลาราชการเท่านั้น แต่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านโดยทั่วไปแล้วทำงานในวันราชการและมีวันหยุดประจำสัปดาห์เพียงหนึ่งวันคือวันอาทิตย์ ทำให้คนที่มาอยู่ไม่นานและพูดภาษาอังกฤษหรือกวางตุ้งไม่ได้ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้รวมถึงไม่สามารถไปร้องเรียนในเวลาราชการได้ อีกทั้งตามกฎหมายฮ่องกง เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือถูกยกเลิกสัญญาจ้างและไม่สามารถหานายจ้างใหม่ได้ทันเวลา แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านต้องออกจากฮ่องกงภายใน 14 วันนับจากวันสิ้นสุดสัญญาจ้างเดิม เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างนายจ้างและแรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านขึ้น

ด้วยอุปสรรคด้านระบบที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึงลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีลักษณะประนีประนอม ไม่ชอบทะเลาะเบาะแว้งและมีความอดทน มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนสูง ความกังวลว่าจะตกงาน และกระบวนการเปลี่ยนนายจ้างที่ต้องใช้ระยะเวลา ทำให้ไม่ค่อยเกิดกรณีการร้องเรียนของแรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านจนถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลมากนัก

ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 ในฮ่องกงจะค่อนข้างคงที่ อีกทั้งทางการฮ่องกงก็ได้ผ่อนคลายมาตรการของการเว้นระยะห่างทางสังคมบางส่วน รวมถึงอนุญาตให้มีการชุมนุมกันเป็นกลุ่มในที่สาธารณะถึง 8 คนได้ (ประกาศเมื่อ 19 พฤษภาคม 2563) แต่แรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านและนายจ้างต่างก็ตระหนักดีว่าไม่ควรชะล่าใจเด็ดขาด ทำให้ปริมาณงานของแรงงานไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านยังคงหนักเช่นเดิมดังช่วงแรกของการระบาดของโรค

สรุป

สรุปได้ว่า ผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติชาวไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านในฮ่องกง โดยทำให้นายจ้างเกิดความกังวลเรื่องสุขภาพอนามัยเป็นพิเศษ ทำให้ปริมาณงานบ้านหนักขึ้นโดยทั่วกัน แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็ยังได้วันหยุดประจำสัปดาห์คือวันอาทิตย์​ตามสิทธิที่ควรได้รับ และมีการพบปะรวมกลุ่มกันที่สวนสาธารณะตามปกติภายใต้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมของรัฐบาล รวมถึงมีการช่วยเหลือและให้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วและทั่วถึงในกลุ่มเพื่อน นอกจากนี้สหภาพแรงงานไทยในฮ่องกงยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ทำให้ปัจจุบันโดยทั่วไปแรงงานข้ามชาติชาวไทยที่ทำงานรับใช้ในบ้านมีสภาพจิตใจที่ดี ไม่ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตมากนัก รวมถึงไม่เกิดกรณีพิพาทร้ายแรงกับนายจ้างจนทำให้เกิดการยกเลิกสัญญาจ้างทันทีหรือฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน

อย่างไรก็ดี ประเด็นการทำงานหนักของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านยังคงเป็นประเด็นที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและเดินขบวนเรียกร้องเสมอมา ถึงแม้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านในฮ่องกงจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากสหภาพแรงงาน แต่พวกเขาก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเห็นค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อีกทั้งงานที่พวกเขาทำก็มีคุณค่าและสร้างคุณูปการให้สังคมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาชีพอื่นๆ ในยามวิกฤตเช่นนี้ แน่นอนว่าทุกคนย่อมได้รับผลกระทบ แต่หากนายจ้างมีความเห็นอกเห็นใจ เชื่อใจ และปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านอย่างมีมนุษยธรรม รวมถึงภาครัฐมีข้อกำหนดทางกฎหมายที่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านมากขึ้น อาจทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างน้อยลง ไม่เกิด “วิกฤต” ซ้อนในวิกฤต รวมถึงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านในฮ่องกงดีขึ้นในระยะยาว


อ้างอิง

พบสุข กาสิงห์. ประธานสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกง. (24 พฤษภาคม 2563). สัมภาษณ์.

Employment Ordinance (Cap.57) , 2019

Alexandra Chan. (2020, April 14). Hong Kong’s Domestic Workers: When ‘Stay at Home’ Means ‘Live at Work’. The Diplomat. Retrieved from https://thediplomat.com/2020/04/hong-kongs-domestic-workers-when-stay-at-home-means-live-at-work/

Chris Lau. (2020, March 17). Hong Kong’s ‘live-in’ rule for domestic workers leads to working on rest day, appeals of government policy argues. South China Morning Post.  Retrieved from https://www.scmp.com/news/hong-kong/law-and-crime/article/3075631/hong-kongs-live-rule-domestic-workers-leads-working

Jason Y. NG. (2020, April 10). Why domestic workers are the unsung heroes of Hong Kong’s coronavirus crisis. Hong Kong Free Press. Retrieved from https://hongkongfp.com/2020/04/10/why-domestic-workers-are-the-unsung-heroes-of-hong-kongs-coronavirus-crisis/

Immigration Department, the Government of the HKSAR.  Standard Employment Contract and Terms of Employment for Helpers. Retrieved from https://www.immd.gov.hk/eng/forms/forms/fdhcontractterms.html

Migrant Solidarity Committee Autonomous 8a. (2020, March 16). Care workers in the epidemic—Part 1: Care work, employment and race.  Lausan. Retrieved from https://lausan.hk/2020/care-workers-in-the-epidemic-part-1/

Research Office Legislative Council Secretariat. (2019). Policy protecting the rights of foreign domestic helpers in selected places. Retrieved from https://www.legco.gov.hk/research-publications/english/1819rt09-policy-protecting-the-rights-of-foreign-domestic-helpers-in-selected-places-20190726-e.pdf

Raquel Carvalho. (2020, March 1). Coronavirus fuels rise in Hong Kong domestic worker sackings. South China Morning Post. Retrieved from https://www.scmp.com/week-asia/economics/article/3052799/coronavirus-fuels-rise-hong-kong-domestic-worker-sackings

Raquel Carvalho. (2020, February 28). Stressed, isolated: Migrants face increased mental health risks amid coronavirus crisis. South China Morning Post. Retrieved from https://www.scmp.com/week-asia/people/article/3052929/stressed-isolated-migrants-face-increased-mental-health-risks-amid

Raquel Carvalho. (2020, April 9). Hong Kong domestic workers ‘angry’ at exclusion from coronavirus relief measures. South China Morning Post. Retrieved from https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3079281/hong-kong-domestic-workers-angry-exclusion-coronavirus-relief

Raquel Carvalho. (2020, February 4). ‘It’s chaos’: Hong Kong’s domestic workers call for help amid coronavirus outbreak. South China Morning Post. Retrieved from https://www.scmp.com/week-asia/health-environment/article/3048893/its-chaos-hong-kongs-domestic-workers-call-help-amid

Sunday Examiner. (2020, March 20). Foreign domestic workers deprived of rights during pandemic survey says.  Sunday Examiner. Retrieved from http://www.examiner.org.hk/2020/03/20/foreign-domestic-workers-deprived-of-rights-during-pandemic-survey-says/news/hongkong/

The Government of the Hong Kong Special Administrative Region. (2020, January 30).  Labour Department encourages foreign domestic helpers to stay home on their rest day [Press Release]. Retrieved from https://www.info.gov.hk/gia/general/202001/30/P2020013000428.htm

The Government of the Hong Kong Special Administrative Region. (2020, March 27). Labour Department again appeals to foreign domestic helpers to refrain from gathering and crowding in public places [Press Release]. Retrieved from https://www.info.gov.hk/gia/general/202003/27/P2020032700238.htm


Notes

[1] Research Office Legislative Council Secretariat. (2019). Policy protecting the rights of foreign domestic helpers in selected places. Retrieved from https://www.legco.gov.hk/research-publications/english/1819rt09-policy-protecting-the-rights-of-foreign-domestic-helpers-in-selected-places-20190726-e.pdf

[2] ผลสำรวจเมื่อวันที่ 8-10 มีนาคม 2563 จากแรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านผู้ตอบแบบสอบถามทางออนไลน์ 1,127 คน

[3] เป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชัน Whatsapp เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2563

[4] พบสุข กาสิงห์. ประธานสหภาพแรงงานไทยในฮ่องกง. (24 พฤษภาคม 2563). สัมภาษณ์.

[5] Ibid.


บทความล่าสุด

น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
-
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา

ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ (บทความนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอนก่อนหน้า >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)) 3. ความกังวลและความท้าทายของไทยเมื่อฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน           นับแต่ไทยประกา

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ทุกท่านคงทราบข่าวการเดินทางมาไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว การเดินทางมาในครั้

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น

โดย ดร.ทรายแก้ว ทิพากร                                                                                         พรรคการเมืองของทุกประเทศมีความจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อให้สามารถเล่นบทบาททางการเมืองของตน แต่บทบาทของเงินทุนทางการเมืองเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อการเมืองมากที่สุด ทุ

ดร.ทรายแก้ว ทิพากร
2567
กระแสเอเชีย