สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

สาวอัฟกันผู้ทรงอิทธิพลในโลกยุคใหม่

โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย


.

หลังจากนิตยสาร Forbes ได้เผยรายชื่อภายใต้แคมเปญ ‘30 Under 30 Asia’ หรือ 30 ผู้ทรงอิทธิพลในเอเชียที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ประจำปี 2021 ทำให้เด็กสาวชาวอัฟกานิสถานกลุ่มหนึ่งกลายเป็นที่จับตามอง  เนื่องจากพวกเธอเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่อายุน้อยที่สุดในบรรดารายชื่อทั้งหมด ปีนี้มีผู้ถูกเสนอชื่อจากประเทศต่าง ๆ เกือบ 3,000 ราย โดย Forbes แบ่งรายชื่อออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ด้านบันเทิงและกีฬา ด้านสื่อ การตลาด และโฆษณา ด้านผู้ประกอบการเพื่อสังคม สุดท้าย คือ  ด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์ ซึ่ง Afghan Girls Robotic Team ได้รับคัดเลือก

Afghan Girls Robotic Team ประกอบด้วยสมาชิกหญิงล้วน 5 คน คือ Somaya Faruqi อายุ 18 ปี Elham Mansoori อายุ 17 ปี Ayda Hayderpoor อายุ 16 ปี ส่วน Florance Pouya และ Diana Wahabzada มีอายุเพียง 15 ปี พวกเธอร่วมกันพัฒนาเครื่องช่วยหายใจที่มีน้ำหนักเบา สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องถึง 10 ชั่วโมงจากพลังงานแบตเตอรี่ ที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายในการผลิตเพียง 700 USD ซึ่งถือว่าถูกกว่าราคาเครื่องช่วยหายใจแบบเดิมถึง 3 เท่า ผลงานชิ้นนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศอัฟกานิสถาน

.

Afghan Girls Robotic Team

สมาชิก Afghan Girls Robotic Team (จากซ้าย) Elham Mansoori, Diana Wahabzada, Somaya Faruqi, Florance Pouya และ Ayda Hayderpoor (ที่มาภาพ: Forbes)

.

เด็กสาวกลุ่มนี้เคยตกเป็นข่าวดังเมื่อปี 2017 จากกรณีที่ถูกปฏิเสธวีซ่าการเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อไปร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ในกรุงวอชิงตันดีซี หลังถูกปฏิเสธจากสถานทูตในกรุงคาบูลครั้งที่สองโดยไม่ได้รับชี้แจงเหตุผล (คาดว่าเป็นเพราะนโยบายการกระชับการเข้าสู่อเมริกาสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความกังวลว่าผู้ยื่นคำร้องจะไม่เดินทางกลับประเทศ) พวกเธอได้ระบายความในใจผ่านทางโซเชียลมีเดีย ความสนใจของสาธารณชนประกอบกับแรงกดดันจากสื่อนานาชาติทำให้ท้ายที่สุดรัฐบาลสหรัฐต้องออกการรับรองเป็นสถานะพิเศษให้พวกเธอเดินทางเข้ามาแข่งขันได้ ผลลัพธ์ที่มากกว่าการครอบครองเหรียญรางวัลในการแข่งขันครั้งนี้ ก็คือ การได้เป็นแรงบันดาลใจแห่ง ‘ความกล้าหาญ’ ฟันฝ่าอุปสรรคซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับหญิงสาวที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา ความสำเร็จบนเวทีโลกยังกระตุ้นให้เด็กสาวอัฟกันคนอื่น ๆ ไขว่คว้าการศึกษาในระดับสูง เพราะปัจจุบันภายใต้การปราบปรามการรู้หนังสือของกลุ่มตาลีบันส่งผลให้มีผู้หญิงเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้

เบื้องหลังความสำเร็จของทีมหุ่นยนต์นี้เกิดจากการสนับสนุนของที่ปรึกษา Roya และ Elaha Mahboob ซีอีโอหญิงรายแรกของบริษัทเทคโนโลยีในอัฟกานิสถาน Afghan Citadel Software (ACS) สองพี่น้องยังร่วมกันก่อตั้ง Digital Citizen Fund กองทุนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เน้นดำเนินโครงการเสริมสร้างความรู้ทางดิจิตอล เพื่อเด็กผู้หญิงมัธยมปลายที่มีอายุประมาณ 14-15 ปี ที่เมืองเฮรัต ก่อนหน้านี้ Roya ได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกจากนิตยสาร Times ประจำปี 2013 ส่วน Elaha เคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นบุคคลทรงอิทธิพลของเอเชียในปี 2018 ทั้งสองคนผลักดันผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี สร้างทักษะเพื่อการแข่งขันที่จำเป็นในตลาดโลก ที่สำคัญคือการพยายามให้ชาวอัฟกันเปลี่ยนความคิดที่มีต่อผู้หญิงในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการทำงานนอกบ้าน

ในแวดวงศิลปะ-บันเทิง Paradise Sorouri แร็ปเปอร์หญิงคนแรกของประเทศ มีบทบาทเป็นกระบอกเสียงให้กับหญิงสาวชาวอัฟกัน เธอได้รับการจัดให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลของเอเชียในปี 2017 ด้วยวัยเพียง 27 ปี เนื้อหาในเพลงของ Paradise มิได้บอกเล่าเรื่องราวความรักของคนวัยหนุ่มสาว แต่กลับพูดถึงความการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง  ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความยากจน และผลพวงของสงคราม ผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ เพลง ‘Nalestan’

การแร็ปเนื้อท้าทาย เช่น “พวกเขาเผาหน้าฉันในนามของศาสนาอิสลาม” “อย่าบอกฉันว่าการศึกษาเป็นสิทธิ์ของผู้ชายเท่านั้น” “พวกเขาขายฉันเพราะฉันเป็นผู้หญิงเท่านั้น” “ทำไมผู้หญิงจึงถูกราดน้ำกรดบนใบหน้าเมื่อไม่ยอมถูกข่มขืน” “ทำไมผู้หญิงถึงถูกครอบครองจากสามีที่จุดไฟเผาพวกเธอได้” รวมถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านเสียงเพลงต้องแลกมากับอันตราย เธอเคยถูกขู่ฆ่าข่มขืน และเคยถูกลอบทำร้ายด้วยกลุ่มชาย 10 คน แล้วปล่อยทิ้งให้เจียนตายข้างถนน เพราะการร้องเพลงของผู้หญิงในที่สาธารณะถือเป็นความผิดตามกฎหมายชารีอะฮ์ที่บังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในประเทศอัฟกานิสถาน แม้ปัจจุบัน Paradise ต้องอพยพไปอยู่ในต่างประเทศ แต่เธอก็ยังยืนหยัดที่จะลุกขึ้นพูดเพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง ด้วยเชื่อว่า ‘ความเงียบไม่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง’

Sonita Alizadeh วัย 24 ปี ก็เป็นแร็ปเปอร์หญิงอีกคนซึ่งเป็นผู้ทรงอิทธิพลของเอเชีย ในวัยเด็กครอบครัวของเธอต้องหนีสงครามไปอยู่ที่อิหร่าน เธอเริ่มหัดอ่านและเขียนหนังสือด้วยตัวเอง โดยมี Yas แร็ปเปอร์ชาวอิหร่านเป็นแรงบันดาลใจทางดนตรีจนได้ฝึกแต่งเพลงของตนเองขึ้นมา ในปี 2014 Sonita ชนะการประกวดการแต่งเพลงเพื่อให้ชาวอัฟกันมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม้เธอจะนำเงินรางวัลกลับมาให้ที่บ้าน แต่ครอบครัวกลับตอบแทนด้วยการบังคับให้ Sonita แต่งงานกับชายสูงวัย เพื่อแลกกับเงินประมาณ 9,000 USD

Rokhsareh Ghaemmaghami ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิหร่านได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ โดยมอบเงินจำนวน 2,000 USD ให้แม่ของ Sonita เพื่อขอยืดเวลาการแต่งงานออกไป ช่วงนั้นเองที่ Sonita ได้ลุกขึ้นตอบโต้สังคมผ่านบทเพลง ‘Brides for Sale’ หรือ ‘เจ้าสาวสำหรับขาย’ สะท้อนปัญหาการบังคับให้แต่งงานในวัยเด็ก ชีวิตช่วงหลบหนีการถูกบังคับให้แต่งงานโดยไม่มีสิทธิ์เลือกถูกนำมาถ่ายทอดผ่านสารคดีเรื่อง Sonita (2015) ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ชม ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัล World Documentary Audience Award และ Grand Jury Prize ในเทศกาล The Sundance Film Festival ปัจจุบัน Sonita ลี้ภัยมาอาศัยอยู่ที่นิวยอร์คเพื่อการศึกษาและความปลอดภัยในชีวิต แต่เธอยังคงผลิตผลงานเพลงที่พูดถึงปัญหาสังคมออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเพลง Get Lost, Child Labor, Bad Girls และ Breathe

.

Sonita Alizadeh สวมชุดเจ้าสาวแล้วประทับบาร์โค้ดที่หน้าผาก เสมือนเป็นสินค้าที่ถูกวางขายในท้องตลาด
ภาพจากมิวสิควิดีโอเพลง ‘Brides for Sale’

.

มากไปกว่าความสามารถทางดนตรีที่ Paradise และ Sonita มีแล้ว ยังเห็นได้ชัดว่าพวกเธอมี ‘ความกล้าหาญ’ มากพอที่จะรับแรงต้านของผู้มีอำนาจในสังคมจากการลุกขึ้นเป็นกระบอกเสียงตะโกนความจริงให้โลกรู้ถึงชะตาชีวิตของการเกิดเป็นผู้หญิงอัฟกัน นอกจากการสร้างสรรค์บทเพลงสะท้อนสังคมแล้ว ทั้งคู่ยังมีบทบาทในการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีร่วมกับสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้หญิงคนอื่น ๆ เหมือนที่เธอเคยตกเป็นเหยื่อมาก่อน

การเผยรายชื่อผู้ทรงอิทธิพลที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ของ Forbes ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ตอกย้ำว่าขณะนี้โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่กำลังผลักดันให้โลกหมุนไปข้างหน้าในทิศทางที่พวกเขาอยากจะให้เป็น หญิงสาวชาวอัฟกันเหล่านี้ต่างเคยพบกับความไม่เท่าเทียมบนดินแดนแห่งสงครามอันยาวนานซึ่งตนไม่ได้เลือก ท้ายที่สุดพวกเธอแสดงให้เห็นว่า นับจากนี้การเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นและการประสบความสำเร็จในชีวิต จะไม่มีข้อจำกัดสำหรับการเป็นเด็กหรือการเกิดเป็นผู้หญิงก็ตาม


.

อ้างอิง

“Afghan Girls Robotics Team Arrives in US Just in Time.” https://apnews.com/article/north-america-donald-trump-ap-top-news-afghanistan-politics-2865fc1324f04946bb6dce8d91f298d0.

Arab News. “Afghan Robotics Team Builds COVID-19 Ventilator,” April 10, 2020. https://arab.news/pvn46.

“First Female Afghan Rapper, Paradise Sorouri: ‘I’ve Received Threats, But Won’t Stop.’” https://bust.com/music/11107-first-female-afghan-rapper-paradise-sorouri-ive-received-threats-but-wont-stop.html.

Forbes. “Forbes 30 Under 30 Directory.” Accessed May 6, 2021. https://www.forbes.com/30-under-30/directory.

Fox News. “Working to Change Perception of Women in Afghanistan.” http://video.foxnews.com/v/2325297526001/.

The National. “Rokhsareh Ghaemmaghami Documentary Aims to Change Fate of Afghan Teen,” March 8, 2016. https://www.thenationalnews.com/arts-culture/rokhsareh-ghaemmaghami-documentary-aims-to-change-fate-of-afghan-teen-1.226279.


บทความล่าสุด

น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
-
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา

ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ (บทความนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอนก่อนหน้า >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)) 3. ความกังวลและความท้าทายของไทยเมื่อฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน           นับแต่ไทยประกา

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ทุกท่านคงทราบข่าวการเดินทางมาไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว การเดินทางมาในครั้

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น

โดย ดร.ทรายแก้ว ทิพากร                                                                                         พรรคการเมืองของทุกประเทศมีความจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อให้สามารถเล่นบทบาททางการเมืองของตน แต่บทบาทของเงินทุนทางการเมืองเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อการเมืองมากที่สุด ทุ

ดร.ทรายแก้ว ทิพากร
2567
กระแสเอเชีย