โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน
ปี ค.ศ. 2020 คือปีแห่งการวาระครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ (Aligarh Muslim University) นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศอินเดีย เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน (Sir Syed Ahmad Khan) เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ (Aligarh Muslim University) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 ซึ่งเป็นช่วงที่อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษามุสลิมในอินเดียจึงมักจะร่ำลึกถึงคุณูประการของเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน รัฐบุรุษและนักปฏิวัติมุสลิมคนสำคัญที่เป็นผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้จุดแสงสว่างแห่งวงการศึกษามุสลิมและเปลี่ยนแปลงสังคมมุสลิมในอินเดียด้วยอาวุธทางปัญญา
เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน เกิดวันที่ 17 ตุลาคม 1817 ในกรุงนิวเดลี ท่านสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ โมกุล (Mughal) ตำแหน่งของเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ได้รับการแต่งตั้งจากบาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 (Bahadur Shah Zafar or Bahadur Shah II) ซึ่งเป็นจักรพรรดิโมกุลคนสุดท้าย ในช่วงชีวิตของท่าน ท่านเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ชาวอินเดียถูกกดขี่ และเห็นชาวมุสลิมไม่ตระหนักรู้ถึงการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาในรูปแบบตะวันตก (www.amu.ac.in/ourfounder) เมื่ออินเดียเข้าสู่ยุคการปกครองแบบเบ็ดเสร็จของบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ได้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลในศาล และเริ่มซึมซับกับการบริหารแบบอังกฤษ ถึงแม้กระนั้นท่านทราบดีว่าสังคมมุสลิมในอินเดียหลังจากที่อาณาโมกุลล่มสลายอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ คุณภาพชีวิตตกต่ำ และเป็นผู้ไม่รู้หนังสือและอคติกับการศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตก ทำให้ไม่สามารถทำงานในสังคมได้ ในทางกลับกัน เซอร์ ชัยยิด มองว่าชาวฮินดูกลับมีความทะเยอทะยานต่อการศึกษา กลายเป็นผู้มีทักษะ มีความรู้ และสามารถประกอบอาชีพค้าขายได้ดีกว่าชาวมุสลิมในขณะนั้น
เมื่อท่านเซอร์ ชัยยิด มองว่า หากไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดก็จะยิ่งตอกย้ำความย่ำแย่ของสังคมมุสลิมในอินเดีย ท่านจึงจะผลันตัวเองจากเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลในศาลมาเป็นผู้ผลักดันการศึกษา โดยเริ่มก่อตั้งมัดดารอซะฮ์ (Madrassa) ในเมืองโมราดาบัด (Muradabad) ใน ค.ศ. 1859 แต่มัดดารอซะฮ์แห่งนี้ มีลักษณะการเรียนการสอนที่แตกต่างกับมัดดารอซะฮ์อื่น ๆ ทั่วไป กล่าว คือ เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ได้นำหลักวิชาการทั้งทางโลกและทางธรรมมารวมอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเน้นองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ทางศาสนาควบคู่กันไป โดยใช้ภาษาอุรดู ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอารบิก และภาษาอังกฤษ ใช้สำหรับการเรียนการสอนในมัดดารอซะฮ์
อุดมการณ์ทางการศึกษาเหล่านี้ถูกโจมตีจากกลุ่มมุสลิมดั่งเดิม โดยมีความกังวลว่า การศึกษาโดยใช้หลักวิชาทางวิทยาศาสตร์ และรูปแบบการเรียนแบบตะวันตก จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาศักยภาพของมุสลิมในอินเดีย และในแง่ของอุดมการณ์ทางศาสนาและความเข้มแข็งก็ควรต้องดำเนินการควบคู่กันไป แต่ความคิดริเริ่มเช่นนี้กลับทำให้ท่านเซอร์ ชัยยิด ตกอยู่ในชะตากรรมที่ยากลำบาก เนื่องจากมุสลิมส่วนใหญ่ยังมีความอคติต่ออังกฤษที่เข้ามายึดครองดินแดนมุสลิม อันเป็นดินแดนที่เคยมีความรุ่งเรืองในสมัยอาณาจักรโมกุล นอกจากนี้ การนำเอาวิชาการจากตะวันตกมาปรับใช้ในสังคมมุสลิมอินเดีย ท่านจึงถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มนักวิชาการทางศาสนาอิสลามในอินเดียโดยมองว่าเป็นการก่อให้เกิดการซึมซับวิถีทางตะวันตก และจะทำให้สังคมมุสลิมออกห่างจากหลักการศาสนาและหลักปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม เซอร์ ชัยยิด กลับแสดงให้เห็นว่า แนวคิดแบบเดิมกำลังทำให้เกิดข้อเสียเปรียบของสังคมมุสลิมในอินเดีย มุสลิมจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไร้การศึกษา และไร้ความสามารถ ทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ และอื่น ๆ ไม่ได้ ทำให้เสียโอกาสมากมายโดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการค้าขายกับอังกฤษ เนื่องจากมีอุปสรรคทางภาษาและทักษะทางฝีมือ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของมุสลิมในอินเดียย่ำแย่ เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน จึงมีทัศนะที่แตกต่างไปจากนักคิดมุสลิมทั่วไปโดยท่านมองว่า การศึกษาศาสนาและการศึกษาโลกสมัยใหม่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ท่านจึงส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการเรียนการสอนให้มีทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างเข้มข้น โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา วรรณะ และสีผิว และส่งสารไปยังกลุ่มมุสลิมทั่วอินเดียเพื่อเป็นผู้ร่วมปฏิรูปการศึกษาไปด้วยกัน จนได้รับการสนับสนุนมากมาย จนใน ค.ศ. 1877 ได้เริ่มก่อตั้งวิทยาลัยมุฮัมมะดัน แอลโกล โอเรียนตัล (1875-1920) (Muhammadan Anglo Oriental College) ในเมืองอาลีการ์ (เรียกตามสำเนียงท้องถิ่นว่า อลิฆัร) นำหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) มาปรับใช้ในวิทยาลัยแห่งนี้ โดยมีเป้าหมายในการใช้หลักสูตรแบบอังกฤษและดำรงไว้ซึ่งคุณค่าของศาสนาอิสลามในวิทยาลัยควบคู่กันไป
ด้วยอุดมการณ์ทางการศึกษาสมัยใหม่ตามหลักแนวคิดของเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ที่หลอมรวมวิชาการทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกันอย่างลงตัวทำให้เมืองอาลีการ์ เป็นพื้นที่แห่งขุมทรัพย์ทางวิชาการและพื้นที่ผลิตบุคลากรมุสลิมที่สำคัญของอินเดีย จากการเติบโตของวิทยาลัยมุฮัมมะดัน แอลโกล โอเรียนตัล มากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีชาวมุสลิม ฮินดู และคริสเตียนในอินเดีย มาศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น จึงต้องปรับเปลี่ยนสถานะจากวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ โดยก่อตั้งสำเร็จในปี ค.ศ. 1920 จากการสนับสนุนของนักวิชาการมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมาโดยตลอด
มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ได้ผลิตศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมาแล้วหลายคน อาทิ ดร.ซากิร ฮูเซน (Dr.Zakir Husain) อดีตประธานาธิบดีของอินเดีย นายมุฮัมมัด ฮามิด อันซฮรี อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้และอดีตรองประธานาธิบดีของอินเดียที่เพิ่งหมดวาระ นายอัยยูบ ข่าน (Ayyub Khan) อดีตประธานาธิบดีของปากีสถาน นายฟัซลี อิลาฮิ เชาดารี (Fazle llahi Chaudhari) อดีตประธานาธิบดีปากีสถาน และนายมันซูร อาลี (Mansoor Ali) อดีตนายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศ นับจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ จนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาเข้ามารับการศึกษาเกือบจะทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแอฟริกา เอเชียตะวันตก หรือตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างให้คนทุกชั้นวรรณะ ไม่ปิดกั้นในเรื่องของหลักความเชื่อ ศาสนาและเรื่องเพศ (จรัญ มะลูลีม, 2562)
ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตลง ท่านได้เขียนข้อความหนึ่งไว้ว่า “โอ้ ลูกหลานที่รักของข้าพเจ้า คุณมาถึง ณ สถานที่แห่งนี้ และขอให้จดจำไว้ว่า เมื่อข้าพเจ้าต้องทำภารกิจสำคัญนี้ มีข้อวิพากษ์วิจารณ์รอบตัวข้าพเจ้า ทั้งหยาบคายและทอดทิ้งข้าพเจ้า ชีวิตข้าพเจ้าต้องเจอกับความยากลำบากจนข้าพเจ้าดูแก่กว่าวัย ข้าพเจ้าผมร่วง สายตาเอียง แต่นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อวิสัยทัศน์ของข้าพเจ้า วิสัยทัศน์ข้าพเจ้าไม่เคยจางหาย การตัดสินใจของข้าพเจ้าไม่เคยผิดพลาด ข้าพเจ้าสร้างสถาบันแห่งนี้เพื่อลูกหลานทุกคน ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ทุกคนจะช่วยกันทำให้สถาบันเป็นแสงสว่างที่ส่องไปยาวไกล จนกระทั่งความหมองหม่นมลายหายไปจากรอบตัวของเรา” (Syed Javaid Zaidi, 2018)
ทัศนะของฮินดูทวาต่อเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน (Sir Syed Ahmad Khan)
สถานการณ์ในอินเดียปัจจุบัน จึงเป็นสถานการณ์ที่อยู่ท่ามกลางความกดดัน และความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลที่ถูกมองว่าใช้แนวทางของชาตินิยมฮินดู หนึ่งในทัศนะของฮินดูทวาที่มีต่อท่าน เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ได้วิเคราะห์ในประเด็นที่น่าสนใจว่า ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างศาสนา เชื้อชาติในอินเดีย Najmul Huda ได้วิเคราะห์ว่า ถ้าหากท่านเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ท่านคงนำพาความสันติสุขด้วยอาวุธทางปัญญา ท่านจะสงวนท่าทีต่อการนำไปสู่ความขัดแย้ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของมุสลิมในอินเดีย ท่านจะใช้สติปัญญาในการนำพามุสลิมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น Najmul Huda ยังวิเคราะห์ผ่านรายงานซาช่าร์ (Sachar report) ซึ่งเป็นรายงานที่ว่าด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ และสังคมของมุสลิมในอินเดีย โดยยกแบบอย่างของท่านเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ผู้ปฏิรูปการศึกษามุสลิมในอินเดียว่า เมื่อใดก็ตามที่อินเดียมีการเมืองที่ร้อนแรง มีการกระทบกระทั่งต่อความเท่าเทียมของศาสนา และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างศาสนา เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน จะมีลักษณะที่สงวนท่าทีต่อการแสดงออก ทั้งนี้ท่านทราบดีว่า นอกจากจะนำมาซึ่งความสูญเสีย และความแตกแยกระหว่างชาวอินเดียด้วยกันแล้ว ยังส่งผลต่อมุสลิมในอินเดียตามมาด้วย เนื่องจากมุสลิมยังคงยิดติดอยู่กับหลักแนวความคิดเชิงอนุรักษ์นิยม และไม่เปิดกว้างต่อการหลอมรวมวัฒนธรรมอื่น ๆ เพื่อเอกภาพของชาติ (Najmul Huda, 2020)
ดังนั้น ในวาระครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน จึงถูกหยิบยกจากฮินดูทวา เพื่อนำมาเป็นข้อคิดให้กับสังคมมุสลิมอินเดียในปัจจุบันว่า มุสลิมอินเดียกำลังสร้างความแตกแยกภายในประเทศ ทำลายประเทศด้วยการพึ่งพาอำนาจจากการเป็นสมาชิกทางการเมือง (บางพรรค) เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน แต่หากว่าท่านเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ยังคงมีชีวิตอยู่ ท่านจะตักเตือนต่อผู้นำเหล่านั้น (สมัยนั้นคือกลุ่มขุนนางมุสลิม) ให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดโดยคิดถึงผลประโยชน์แห่งชาติ คิดถึงรัฐธรรมนูญ คิดถึงผลประโยชน์มุสลิมในอินเดีย ท่านจึงต้องก่อตั้งกลุ่มนักปฏิรูปทางการศึกษา และพิสูจน์ให้เห็นว่า อิสลามสามารถหลอมรวมให้เข้ากับวัฒนธรรมอินเดียได้อย่างลงตัว และมุสลิมในอินเดียคือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติ
เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน มีวิสัยทัศน์ระหว่างศาสนากับการเมืองว่า “ต้องแยกกัน” เพราะศาสนาไม่สามารถจะผนวกร่วมกับผลประโยชน์ใด ๆ ได้ เว้นแต่การมุ่งหวังต่อผลตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น การสร้างสังคมที่สันติสุข ไม่สร้างความแตกแยกและความวุ่นวาย จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับมุสลิม ด้วยเหตุนี้ ทัศนะของเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ต่อฮินดูทวาจึงมีลักษณะประณีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย
อ้างอิง
- Syed Javaid Zaidi, (2018) website: gulf-times, online available at https://www.gulf-times.com/story/609635/Tribute-to-Sir-Syed-a-visionary-educationalist
- NAJMUL HODA, 2020, Hindutva to Sachar report — What Syed Ahmad Khan would have done today, online available at https://theprint.in/opinion/hindutva-to-sachar-report-what-syed-ahmad-khan-would-have-done-today/524910/
- จรัญ มะลูลีม มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 – 26 ธันวาคม 2562 ออนไลน์ https://www.matichonweekly.com/column/article_258975
- https://www.amu.ac.in/ourfounder.