สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

เพื่อถิ่นอินเดีย : 100 ปีชาตกาล อินทิรา คานธี (ตอน 1/3)

เผยแพร่: 11 ต.ค. 2560 12:17   โดย: ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล
คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ

ในช่วงทศวรรษ 1980 สมัยที่ผู้เขียนกำลังศึกษาระดับมัธยมในเมืองเดห์ราดูน รัฐอุตตรประเทศ (ปัจจุบันเดห์ราดูนอยู่ในรัฐอุตตรขัณฑ์) ประเทศอินเดีย ทุกปีที่โรงเรียนหยุดยาวในช่วงเทศกาลดุสเสหรา ผู้เขียนจะไปพักบ้านญาติซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง เดือนตุลาคม ปี 1984 เป็นดุสเสหราแรกที่ผู้เขียนในวัย 14 ปีเดินทางกับญาติวัยเดียวกันคนหนึ่งที่เรียนโรงเรียนเดียวกันไปพักกับพี่สาวผู้เขียนที่เดลี

เมื่ออยู่เดลีครบตามกำหนดแล้ว เราทั้งสองก็ตัดสินใจกลับเดห์ราดูนในวันที่ 1 พฤศจิกายน หนึ่งวันก่อนเดินทางกลับเดห์ราดูน พี่สาวผู้เขียน ญาติคนดังกล่าว และผู้เขียน (จำไม่ได้ว่ามีคนอื่นด้วยหรือไม่) ได้ออกไปรับประทานอาหารมื้อสายด้วยกันในย่านกะโรลบาค เดลี ผู้เขียนเห็นคนอินเดียจำนวนหนึ่งตั้งใจฟังวิทยุที่วางแนบหูอย่างใจจดใจจ่อ จำได้ว่า ผู้เขียนชวนพี่สาวสังเกตความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวด้วย แต่ท้ายที่สุด เราทั้งสองก็ลงความเห็นว่า คนอินเดียเหล่านี้อาจจะกำลังฟังการถ่ายทอดเสียงการแข่งขันคริกเก็ต กีฬาที่ชาวอินเดียคลั่งไคล้อยู่ก็ได้

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน เราทั้งสองตื่นแต่เช้าตามแผนเพื่อขึ้นรถสามล้อเครื่องแบบอินเดียไปสถานีรถบัส ระหว่างทางเห็นร่องรอยร้านค้าบางแห่งถูกเผาทำลาย มีเศษไม้เศษเหล็กวางกีดขวางอยู่ทั้งข้างและกลางถนนเป็นระยะๆ คนขับรถสามล้อเครื่องหันมาบอกอะไรเรา แต่เพราะผ้าชอว์ลที่คลุมศีรษะและใบหน้าของเขาเพื่อกันลมหนาวในยามเช้าตรู่ ผู้เขียนจึงฟังเข้าใจแต่คำว่า “เมื่อวานเกิดเหตุ”

เราทั้งสองซื้อตั๋วรถบัสและเดินทางออกจากเดลีมุ่งหน้าไปยังเดห์ราดูน ระหว่างทางก็เห็นชาวฮินดูกลุ่มหนึ่งตั้งด่านโดยใช้หินและไม้วางขวางเลนขวาสลับเลนซ้าย คนที่ร่วมกันตั้งด่านมีสีหน้าโกรธแค้นเรื่องอะไรบางอย่าง คนขับรถบัสขับผ่านด่านแรกโดยชะลอเพื่อจะเบี่ยงขวาก่อนจะเบี่ยงซ้ายกลับมาในเลนของตน ช่วงที่ชะลอรถ ผู้เขียนได้ยินคนที่ร่วมตั้งด่านคนหนึ่งตะโกนถามคนขับรถว่ามีชาวซิกข์ในรถหรือไม่ คนขับรถจะได้ตอบหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่เขาก็ขับต่อไป หลังจากนั้น ผู้เขียนก็เห็นชาวฮินดูในวัยกลางคนมีด้ายสีแดงผูกข้อมือขวาหันไปพูดคุยกับสตรีชาวซิกข์ที่โดยสารมาในรถด้วยกัน ไม่ทราบว่าคุยอะไรกัน ทันทีที่คุยจบ สตรีคนนี้ก็รีบถอดกำไลข้อมือหลายขอนเก็บไว้ในกระเป๋าหนังสีดำ แล้วใช้กิ๊บเหน็บผมให้สั้นเพียงบ่าเพื่อเจือจางความเป็นซิกข์ของตน

ผ่านไปอีกพักใหญ่ รถต้องจอดตามด่านต่างๆ ที่ชาวฮินดูตั้งไว้อีก 2-3 แห่ง มีอยู่ด่านหนึ่ง ชาวฮินดูที่ตั้งด่านไม่ยอมให้รถเคลื่อนต่อไป แม้คนขับรถบัสได้ลงจากรถไปเจรจาแล้วก็ตาม กลุ่มที่ตั้งด่านขอส่งตัวแทนสองคนขึ้นตรวจบนรถว่ามีชาวซิกข์โดยสารมาหรือไม่ ในขณะนั้น ผู้เขียนก็เริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดได้ ตั้งแต่การฟังวิทยุ “เมื่อวานเกิดเหตุ” ร้านค้าที่ถูกเผา และเศษเหล็กเศษไม้ที่วางอยู่ข้างหรือกลางถนน จำได้ว่าสิ่งที่ตนสรุปคือ คงมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และเกี่ยวข้องกับชาวซิกข์อย่างไร โชคดีที่สองคนที่ขึ้นมาตรวจบนรถไม่ได้เอะใจกับสตรีซิกข์คนดังกล่าว

ครั้นเมื่อเดินทางถึงเดห์ราดูน ทั้งผู้เขียนและญาติก็ไม่อาจเดินทางไปไหนได้ เพราะคนแถวนั้นบอกว่าเหลือเวลาอีกไม่นานก่อนทางการจะประกาศเคอร์ฟิวห้ามผู้คนออกจากบ้าน ผู้เขียนถามชายชราคนหนึ่งในสถานีว่า ถ้าจะนั่งรถสามล้อเครื่องไปโรงเรียนคุรุนานักอะคาเดมี ควรไปขึ้นรถที่ใด ทันทีที่ได้ยินชื่อโรงเรียน ซึ่งตั้งตามพระนามคุรุองค์แรกของศาสนาซิกข์ ชายชราก็ตอบในทำนองว่า โรงเรียนน่าจะปิดอยู่ เพราะเหตุการณ์เมื่อวานที่องครักษ์ชาวซิกข์สังหารอินทิรา คานธี ชายชราแนะนำให้ไปหาที่พักอาศัยอื่น ผู้เขียนและญาติจึงตัดสินใจเดินเท้าไปบ้านญาติที่อยู่ไม่ห่างจากสถานี เราทั้งสองใช้เวลาอยู่บ้านญาติประมาณ 3-4 วันก่อนจะเดินทางเข้าหอพักโรงเรียน

แม้โรงเรียนคุรุนานักอะคาเดมี จะก่อตั้งโดยชาวซิกข์ และมีคุรุทวารา (วัดซิกข์) ขนาดเล็กในโรงเรียน แต่ก็มีนักเรียนและบุคลากรหลายระดับที่นับถือศาสนาอื่นด้วย จำได้ว่า นักเรียนแต่ละคนจะมีกลุ่มที่ตนสังกัดอยู่ และบางครั้งอาจจะสังกัดมากกว่าหนึ่งกลุ่มด้วย กลุ่มที่ว่านี้อาจจะเป็นกลุ่มฟุตบอล กลุ่มคริกเก็ต กลุ่มชอบหนีโรงเรียนไปดูภาพยนตร์ในเมือง ฯลฯ สมาชิกของแต่ละกลุ่มมีทั้งนักเรียนซิกข์ ฮินดู และมุสลิมปะปนกันอยู่ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของกลุ่ม แต่หลังจากเหตุการณ์จลาจลดังกล่าว ซึ่งทำให้ชาวซิกข์ถูกสังหารไปประมาณ 3,000 คน บรรยากาศในโรงเรียนก็เปลี่ยนไปมากพอสมควร การจับกลุ่มเริ่มอิงศาสนามากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ ฮินดูกับซิกข์จะแยกกันจับกลุ่มมากขึ้น ส่วนมุสลิมยังสลับสับเปลี่ยนเข้ากลุ่มต่างๆ เหมือนเดิม

ภาพซ้าย : ศพของชาวซิกข์ที่ถูกสังหารบนรถไฟ วางอยู่บนรถเข็นสัมภาระในสถานีรถไฟนิวเดลี (เครดิต : Ashok Vahie) ภาพขวา : ร้านค้าของชาวซิกข์ในคอนนอท์เพลส ใจกลางเมืองเดลี ที่ถูกเผาโดยฝูงชน (เครดิต : บีบีซี)

อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนเป็นชาวไทย เพื่อนๆ ชาวซิกข์และฮินดูจึงมาระบายความในใจของตนให้ผู้เขียนฟังเป็นครั้งคราว เพื่อนชาวซิกข์ชื่อสุรินเดอร์ ซิงห์ ธามียา เคยบอกผู้เขียนในทำนองว่า สิ่งที่ฝูงชนชาวฮินดูกระทำต่อชาวซิกข์ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า ทำร้าย หรือทำลายทรัพย์สิน เป็นเรื่องโหดร้ายเหลือคณานับ ชาวฮินดูนิยมใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น แม้ว่าองครักษ์ที่สังหารอินทิราจะเป็นชาวซิกข์ก็ตาม แต่องครักษ์ทั้งสองหาใช่ตัวแทนของชาวซิกข์ทั้งหมดไม่ กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะคิดเหมือนสุรินเดอร์ เพื่อนซิกข์บางคนสื่อกับผู้เขียนในทำนองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดยืนยันแล้วว่า ซิกข์กับฮินดูคงอยู่ร่วมกันโดยสันติไม่ได้

เพื่อนชาวฮินดูบางคนที่กลัวจะสูญเสียเพื่อนฮินดูแอบบอกผู้เขียนว่า การกระทำของรัฐบาลก็เรื่องหนึ่ง แต่เมื่อใดก็ตามที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นหัวชนกลุ่มน้อยและทำกับพวกเขาดังที่เกิดขึ้น ก็ล้วนแต่นำความอับอายมาให้เราทุกคนในฐานะผู้ศรัทธาศาสนาฮินดู มีเพื่อนชาวฮินดูบางคนที่แสดงทรรศนะแบบสุดโต่งด้วย พวกนี้มักจะนินทาชาวซิกข์ว่าเป็นผู้บ่อนทำลายเอกภาพของประเทศ กลุ่มนี้จะมองในลักษณะคล้ายกันว่า ก็สาสมแล้วที่ชาวซิกข์ต้องได้รับบทเรียนแบบนี้ ส่วนครูและบุคลากรในโรงเรียนที่พูดถึงความปรองดองและต่อต้านการใช้ความรุนแรงอย่างจริงใจก็มีอยู่บ้าง แต่ที่ต้องพูดเพราะเป็นคำสั่งของครูใหญ่ก็มีไม่น้อย ยังมีอีกหลายคนที่เก็บความคับแค้นไว้ในใจโดยเลือกที่จะไม่พูดถึงเหตุการณ์นี้อีก แม้โรงเรียนจะไม่ประสบความรุนแรงในหมู่นักเรียน แต่ความแตกแยกระหว่างอัตลักษณ์ทางศาสนาโดยเฉพาะระหว่างซิกข์กับฮินดูก็ค่อนข้างชัดแจ้งพอสมควร

หากมีโอกาสถามชาวอินเดียเกี่ยวกับอินทิรา คานธี คำตอบจะเป็นไปในลักษณะชอบหรือเกลียดเท่านั้น คนที่ชื่นชมเธอมักจะจดจำนโยบายขจัดความยากจนของเธอ หรือการที่เธอทำให้อินเดียมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก โดยเอาชนะสงครามกับปากีสถานในปี 1971 และทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในปี 1974 ผู้ที่เกลียดชังเธอก็จะมีเหตุผลของตนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการบั่นทอนประชาธิปไตยอินเดียเมื่อเธอประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติในปี 1975 หรือความพลาดพลั้งของเธอในการจัดการปัญหาการแบ่งแยกดินแดนโดยชาวซิกข์กลุ่มหนึ่ง หรือเพียงเพราะเธอเป็นทายาททางการเมืองของยวาฮัรลาล เนห์รูแห่งพรรคคองเกรส ต่างก็ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนจำนวนมาก

แม้อินทิราจะเป็นทั้งที่รักและที่ชัง กระนั้นก็ตาม มิอาจปฏิเสธได้ว่า ความนิยมในตัวเธอสูงมากอย่างผิดปกติ ในเดือนธันวาคม ปี 1999 สิบห้าปีเศษหลังเธอถูกสังหาร สำนักข่าวบีบีซีออนไลน์รายงานว่า “อินทิรา คานธี ได้รับการโหวตให้เป็นสตรีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 1,000 ปี ในโพลของบีบีซีนิวส์ออนไลน์” เว็บไซต์ดังกล่าวยังรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า “นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดียตีคู่กับสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 มาในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายน แต่ก็แซงขึ้นไปเป็นอันดับสูงสุดของโพลได้ด้วยคะแนนท่วมท้น” ในเดือนมกราคมปี 2006 หลังมรณกรรมของอินทิราผ่านไป 21 ปีเศษ Center for Developing Societies ศูนย์คลังสมองด้านการเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังของอินเดีย ได้สำรวจความเห็นชาวอินเดียทั่วประเทศ พบว่า อินทิราเป็นชาวอินเดียที่เป็นที่รู้จักที่สุดรองจากมหาตมาคานธี ผลสำรวจนี้สร้างความประหลาดใจไม่น้อย เพราะอินทิราเป็นที่รู้จักมากกว่ายวาฮัรลาล บิดาของเธอเสียอีก

ในวาระ 100 ปีชาตกาล อินทิรา คานธี อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะถามคำถามสำคัญ 2 ข้อ ได้แก่ (1) อินทิรา คานธีคือใคร และ (2) การดำเนินนโยบายภายในและการต่างประเทศของอินทิรามีสาระสำคัญอะไรบ้าง และมีนัยสำคัญต่ออินเดียร่วมสมัยอย่างไร

อินทิรา คานธีคือใคร

อินทิรา คานธีเกิดวันที่ 19 พฤศจิกายน ปี 1917 ในอานันท์ภวัน เมืองอัลลาฮาบาด รัฐอุตตรประเทศ เธอเป็นบุตรีคนเดียวของยวาฮัรลาล และกมลา เนห์รู อานันท์ภวันเป็นบ้านหลังมหึมาของโมตีลาล เนห์รู ปู่ของอินทิราซึ่งประกอบอาชีพเป็นนักกฎหมายที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งในสมัยนั้น อานันท์ภวันนอกจากจะเป็นบ้านหลังแรกในอัลลาฮาบาดที่มีน้ำประปาและไฟฟ้าแล้ว ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสันทนาการต่างๆ รวมถึงสระว่ายน้ำในร่มและสนามเทนนิสด้วย คงไม่ผิดด้วยหากจะกล่าวว่า แม้แต่ในมาตรฐานปัจจุบัน อานันท์ภวันที่ประกอบด้วย 42 ห้องก็ดูโอ่อ่ามาก

โมตีลาลนอกจากจะหาเงินได้มากมายแล้ว เขายังใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยด้วย โมตีลาลเชี่ยวชาญหลายภาษา และมีบุคลิกภาพ ‘สมัยใหม่’ ที่มีวัฒนธรรมอังกฤษ เปอร์เซีย และฮินดูผสมผสานกัน เขาเชื่อมั่นในพหุนิยมและฆราวาสนิยมด้วย ลักษณะดังกล่าวตกทอดถึงสมาชิกอานันท์ภวันหลายคน รวมถึงยวาฮัรลาลและอินทิรา อย่างไรก็ตาม ในบางเรื่องบางประเด็นโมตีลาลก็ยังคงความเป็นชนชั้นพราหมณ์หัวอนุรักษนิยมอยู่ ภริยาของโมตีลาลคือสวรูปรานี เธอเป็นคนที่ยึดติดขนบเดิมแบบเอาเรื่องทีเดียว โมตีลาลกับสวรูปรานีมีลูกด้วยกันสามคน ลูกชายคนโตคือยวาฮัรลาล ลูกสาวสองคนคือวิชัยลักษมีและกฤษณา โมตีลาลรักลูกทั้งสามคน แต่โปรดปรานลูกชายมากเป็นพิเศษ

ภาพซ้าย : นั่งจากซ้ายไปขวาคือ สวรูปรานี, โมตีลาล และกมลา เนห์รู ยืนจากซ้ายไปขวาคือ ยวาฮัรลาล, วิชัยลักษมี, กฤษณา, อินทิรา และ อาร์. เอส. บัณฑิต (สามีวิชัยลักษมี) (เครดิต : วิกิมีเดีย) ภาพขวา : ส่วนหนึ่งของอานันท์ภวัน หรือสวราชภวันในปัจจุบัน (เครดิต : วิกิมีเดีย)

ยวาฮัรลาลศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนฮาร์โรว์ ระดับปริญญาตรีที่ทรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และศึกษากฎหมาย ณ อินเนอร์ เทมเปิล ลอนดอน ยวาฮัรลาลกลับสู่อินเดียจากอังกฤษในปี 1912 และยึดอาชีพนักกฎหมายอยู่ไม่กี่ปีก่อนจะเข้าสู่การเมือง ในปี 1916 พ่อแม่ของเขาตบแต่งเขากับกมลา กอล ซึ่งยวาฮัรลาลคัดค้านแต่ก็ไม่ถึงกับหัวชนฝา ปีถัดมากมลาก็ให้กำเนิดบุตรสาวชื่อ อินทิรา ปรียทรรศินี

สำหรับการศึกษาปฐมวัยของอินทิรา โมตีลาลให้เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์เซซิเลียในอัลลาฮาบาด แต่ยวาฮัรลาลให้เธอออกจากโรงเรียนดังกล่าวเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ แล้วให้ครูสอนพิเศษมาสอนที่บ้าน ในปี 1926 กมลาล้มป่วย ตรวจพบว่าเป็นวัณโรคในปอด ครอบครัวเนห์รูจึงเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อให้กมลาได้รักษาตัวกับผู้เชี่ยวชาญวัณโรคที่นั่น ในสวิตเซอร์แลนด์ ยวาฮัรลาลส่งอินทิราเข้าเรียนใน เลกอลแองแตร์นาซิยงนาล หลังจากนั้นจึงส่งไปเรียนที่เลกอลนูแวล ในเมืองแบกซ์ ซึ่งอยู่ห่างจากพ่อแม่เป็นระยะทางประมาณสองชั่วโมง ในเดือนพฤษภาคมปี 1931 ตามคำแนะนำของมหาตมาคานธี อินทิราได้เข้าเรียนที่พิวพิลส์โอนสกูลในเมืองปูนา โรงเรียนแห่งนี้บริหารจัดการโดยนักสังคมศึกษาผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด นามว่า เจฮังกีร์ วากิล และภรรยาของเขา กูนเวอร์ไบ ซึ่งอินทิราเรียนจบด้วยเกรดระดับปานกลาง ในปี 1934 หลังจากการสอบ Matriculation อินทิราก็เข้าศึกษาในศานตินิเกตัน มหาวิทยาลัยแนวใหม่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันงดงาม ก่อตั้งโดยรพินทรนาถ ฐากูร ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล จากนั้นเธอเดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนแบดมินตัน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีเอกชนอังกฤษที่เข้มงวดทางวิชาการ เพื่อเตรียมสอบเอนทรานซ์เข้าอ๊อกซฟอร์ด ในปี 1936 เธอเข้าสอบเอนทรานซ์สุดหินยาวนานเจ็ดชั่วโมงที่ซอมเมอร์วิลล์ คอลเลจ อ๊อกซฟอร์ด เธอสอบตกครั้งแรกและครั้งที่สอง มาผ่านเอาครั้งที่สาม เพราะไปติดวิชาภาษาละตินที่เธออ่อนและเกลียดมาก แม้จะเข้าเรียนที่อ๊อกซฟอร์ดได้ แต่ในปี 1938 เธอตัดสินใจลาออกเพราะภาษาละตินที่เธอเกลียดกลัวนั่นเอง ทำให้เธอไม่จบการศึกษาระดับปริญญา

ในปี 1941 อินทิราสมรสกับเฟโรซ คานธี ให้กำเนิดบุตรชายสองคน คือราจีฟกับสัญชัย เมื่อยวาฮัรลาลได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากอินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 เธอก็ย้ายไปอยู่บ้านบิดาในฐานะปฏิคม ในปี 1959 เธอทะยานขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานพรรคคองเกรส และหลังจากยวาฮัรลาลถึงแก่อสัญกรรมในปี 1964 เธอก็เข้าร่วมรัฐบาล ลาล บาฮาดูร ศาสตรี ในฐานะรัฐมนตรีสารสนเทศและการออกอากาศ เมื่อศาสตรีเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายในปี 1966 ความทะเยอทะยานทางการเมืองของเธอก็ปรากฏชัด เธอก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สามและหญิงคนแรกของอินเดีย เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงปี 1977

ภาพซ้าย : อินทิรากับเฟโรซ คานธี (เครดิต : วิกีมีเดีย) ภาพขวา : ราจีฟ อินทิรา และสัญชัย คานธี (เครดิต : วิกีมีเดีย)

กล่าวได้ว่า จากปี 1966 ถึง 1971 เธอขึ้นถึงจุดสูงสุดของอำนาจ ในปี 1971 เธอได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นด้วยคำขวัญ ‘Garibi Hatao’ (ขจัดความจน) และนำอินเดียสู่ชัยชนะทางการทหารเหนือปากีสถาน มีผลให้ปากีสถานตะวันออกแยกออกจากปากีสถานตะวันตกเป็นประเทศบังคลาเทศ ในเดือนพฤษภาคม 1974 รัฐบาลอินเดียที่เธอเป็นผู้นำได้ทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกในทะเลทรายโปคราน เพื่อตอบโต้สนธิสัญญาการเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ปี 1970 เธอมองว่าสนธิสัญญาดังกล่าวให้ความชอบธรรมในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์แก่มหาอำนาจ 5 ประเทศ และปิดกั้นอินเดียในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ระหว่างช่วงเวลานี้ อินทิราได้รับการสรรเสริญว่าเป็น ‘จักรพรรดินีแห่งอินเดีย’

ในปี 1975 อินทิราพลิกผันตัวเองจากจักรพรรดินีมาเป็นจอมเผด็จการแห่งอินเดีย ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นเวลา 21 เดือนที่อินเดียพ้นจากความเป็นประชาธิปไตย เพราะมีการระงับสิทธิพลเมือง มีผู้ถูกจับกุมคุมขังนับพันคน มีโครงการกวาดล้างสลัมและทำหมันหมู่ และสื่อก็ถูกคัดกรองอย่างหนัก โดยไม่มีใครคาดคิดเลย ในปี 1977 อินทิราก็ประกาศการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นการยุติภาวะฉุกเฉิน อินทิรากับพรรคคองเกรสพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 1977 และพรรคชนตาก็ก้าวสู่อำนาจ เป็นจุดจบช่วงเวลา 11 ปีที่เธอเป็นนายกรัฐมนตรี

ในปี 1979 รัฐบาลพรรคชนตาล่ม และอินทิราก็กลับมาอีกครั้งอย่างผ่าเผย เธอเอาชนะการเลือกตั้งทั่วไป และสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 ในวันที่ 14 มกราคม 1980 ห้าเดือนหลังจากอินทิราชนะเลือกตั้ง สัญชัยลูกชายคนเล็กของเธอก็เครื่องบินตกเสียชีวิต ช่วงปีท้ายๆ ที่เธอครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิดความรุนแรงระส่ำระสายทั่วประเทศ เธอสั่งดำเนินการปฏิบัติการดาวสีฟ้า ใช้กองกำลังเข้าจู่โจมมหาวิหารทองคำฮัรมันดีร์ ซาฮิบเพื่อถล่มผู้ก่อการร้ายชาวซิกข์ที่เรียกร้องให้สร้างประเทศใหม่สำหรับชาวซิกข์ที่เรียกว่าคาลิสถาน การตัดสินใจนี้เอง ส่งผลให้เธอถูกสังหารด้วยน้ำมือองครักษ์ชาวซิกข์สองคน ในวันที่ 31 ตุลาคม ปี 1984

อมิตาภ บัจจัน และราจีฟ คานธียืนข้างศพอินทิรา คานธี (เครดิต : Ashok Vahie)

ชีวประวัติโดยสังเขปของอินทิราที่พรรณนามาทั้งหมด คงทำให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมชีวิตของเธอได้ไม่น้อยแล้ว ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะวิเคราะห์ความเป็นตัวตนของเธอว่าเพราะเหตุใดเธอจึงมีชีวิตที่ไม่มีความสุข ก่อนจะตอบคำถามว่า การดำเนินนโยบายภายในและการต่างประเทศของอินทิรามีสาระสำคัญอะไรบ้าง และมีนัยสำคัญต่ออินเดียร่วมสมัยอย่างไร


บทความล่าสุด

เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค
เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเหตุการณ์ที่นายหวังซิง (หรือชื่อเล่นว่าซิงซิง) นักแสดงชาวจีนถูกหลอกให้มาแคสงานแสดงที่ประเทศไทย แต่สุดท้ายกลับถูกพาไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และถูกพาข้ามพรมแดนไปยังประเทศเมียนมาแล้วหายสาบสูญไป กระทั่งแฟนสาวของซิงซิงได

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ การยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวจีนเติบโตขึ้นถึง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลูกเล่นหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเล่น “คำผวน” ซึ่งเป็นการเล่นคำโดยการสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะต้น กับเสียงสระและตัวสะกดและวรรณยุกต์ของคำจำนวน 2 พยางค์ขึ้นไป เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีควาหมายก็ได้

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์
2568
กระแสเอเชีย
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนที่ติดตั้งกลางสี่แยกห้วยขวางบนโลกอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และหลายฝ่ายให้ความสนใจ กระทั่งสำนักงานเขตห้วยขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกา

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย