สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

โอลิมปิกโตเกียว 2020 โอลิมปิกครั้งที่สองของญี่ปุ่น

โดย ดร.ทรายแก้ว ทิพากร


คบเพลิงโอลิมปิกถูกจุดขึ้นที่ประเทศกรีกตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2020 แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด การแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 32 นี้ต้องเลื่อนออกไป ในปีนี้ญี่ปุ่นเริ่มวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกเมื่อวันพฤหัสที่ 25 มีนาคม 2021 จากจังหวัดฟุกุชิมะ โดยใช้ผู้วิ่งคบเพลิง 10,000 คนผ่าน 47 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะใช้เวลา 121 วัน

ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ได้รับเกียรติเป็นผู้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนถึง 2  ครั้ง คือ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 16 ในปี 1964 (ประเทศเอเชียประเทศแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค) และในครั้งนี้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 ซึ่งถูกเลื่อนมาจากปี 2020 เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด  การเป็นผู้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแสดงถึงความเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับจากสังคมโลก ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ของประเทศเอเชียยังไม่เคยได้รับเกียรตินี้  จึงอาจกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นต้องมีความพิเศษจริงๆที่ได้จัดงานถึงสองครั้ง อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่การเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกของญี่ปุ่นไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น ความพยายามที่จะเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกทั้งสองครั้งของญี่ปุ่นล้วนประสบอุปสรรคมากมายจนต้องถูกเลื่อนออกไปทั้งสองครั้ง. นอกจากนี้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ยังมีความพิเศษในหลายๆด้าน

กีฬาโอลิมปิกในยุคปัจจุบันเริ่มขึ้นในปี 1896 ญี่ปุ่นเป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่ได้รับเกียรติเป็นผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ในปี 1964  (ตามด้วยสาธารณรัฐเกาหลี ในปี 1988 และ จีน ในปี 2008)[1]  กว่าจะได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกประเทศแรกของเอเชียนี้ ญี่ปุ่นต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย เริ่มตั้งแต่วิธีคิดของชาติตะวันตก ซึ่งในช่วงนั้นชาติตะวันออกยังเรียกว่าล้าหลังกว่าตะวันตกมาก  แต่เนื่องจากการแข่งขันโอลิมปิกเริ่มต้นโดยประเทศตะวันตก กีฬาหลายๆประเภทก็เป็นกีฬาของชาวตะวันตก เมื่อญี่ปุ่นต้องการจะเข้าสู่เวทีนานาชาติ ก็ต้องนำตัวเองไปวางในตำแหน่งที่ได้รับการยอมรับในฐานะประเทศชั้นนำของโลก  ญี่ปุ่นเปิดตัวที่จะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาตั้งแต่ปี 1932 ในช่วงนั้นกรุงโตเกียวมีคู่แข่งสำคัญคือโรมและเฮลซิงกิ เป้าหมายของญี่ปุ่นไม่ใช่เพียงประโยชน์ด้านการทูตวัฒนธรรมเท่านั้น ในปี 1940 ยังเป็นโอกาสของการครบรอบ 2,600 ปีของจักรพรรดิจิมมุ (จักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่น) จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่ชาวญี่ปุ่นจะได้เฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของชนชาติญี่ปุ่นด้วย

แต่แล้ว ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเปิดตัวเพียงปีเดียว ฝ่ายทหารญี่ปุ่นส่งกองทัพไปบุกแมนจูเรีย ประเทศจีน ญี่ปุ่นถูกประนามมากมายจากการตัดสินใจดังกล่าวนี้ การดำเนินกิจกรรมด้านการทหารในช่วงนั้น เป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมด้านการทูตวัฒนธรรมผ่านการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ฝ่ายพลเรือนตั้งเป้าไว้ ซึ่งในที่สุดจากบรรยากาศความไม่สงบที่ปรากฎทั่วไป คณะกรรมการโอลิมปิกของญี่ปุ่นได้ประกาศถอนตัวไปในปี 1938 และการจัดงานโอลิมปิก 1940 ก็ต้องยกเลิกไป น่าจะกล่าวได้ว่าความพยายามของญี่ปุ่นในช่วงแรก เพื่อให้ได้รับการยอมรับเข้าไปสู่สังคมของโลก ค่อนข้างจะผิดฝาผิดตัวไปบ้าง แต่ในที่สุดญี่ปุ่นก็ได้จัดการแข่งขันโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในปี 1964 หลังจากความตั้งใจเดิมถึง 24 ปี

อย่างไรก็ตาม ในงานกีฬาโอลิมปิก 1964 ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเปิดตัวออกสู่เวทีโลกอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากการเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงคราม ญี่ปุ่นสามารถแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นประเทศพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ในด้านการกีฬามีการใช้แผ่นนาฬิกาจับเวลาติดที่ขอบสระว่ายน้ำเพื่อใช้ในการตัดสินการแพ้ชนะในการแข่งขันว่ายน้ำ  ในด้านการคมนาคมขนส่งมีการเปิดตัวรถไฟชินคันเซนเป็นครั้งแรก วิ่งระหว่างโตเกียว-โอซาก้า นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียมซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น ที่ทำให้สามารถถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาออกสู่สายตาผู้ชมได้มากกว่าหนึ่งทวีปในเวลาเดียวกัน

ผลพวงจากการเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกส่งผลกระทบในระยะยาวสู่สังคมญี่ปุ่น งานโอลิมปิกเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองและนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวด้านการกีฬาของญี่ปุ่น การแข่งขันกีฬากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของชาวญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไป กีฬาฟุตบอลซึ่งเดิมเป็นกีฬาที่ไม่เป็นที่นิยมมากนักก็ได้รับการพัฒนาขึ้น ทำให้อีก 28 ปีต่อมาญี่ปุ่นและเกาหลีได้เป็นเจ้าภาพร่วมกันในการจัดการแข่งขันฟุตบอล FIFA World Cup ครั้งแรกในทวีปเอเชีย.

ในศตวรรษที่ 21 นี้ ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ด้วยปัญหาทางโครงสร้างมากมาย ทั้งสังคมสูงวัย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ ล่าสุดคือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง. ญี่ปุ่นตั้งใจที่จะให้กีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 นี้เป็นการเปิดตัวให้ชาวโลกเห็นว่า ในปัจจุบันญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวจากกรณีความเสียหายจากภัยพิบัติสึนามิและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดได้แล้ว ทั้งยังเพื่อให้ความหวังและกำลังใจแก่ชาวญี่ปุ่นว่าประเทศญี่ปุ่นกำลังจะกลับมารุ่งเรืองได้อย่างเดิม  แต่เมื่องานกำลังจะเริ่มได้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัสโคโรนา คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกจึงตัดสินใจให้เลื่อนการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและพาราลิมปิกออกไป 1ปี แต่จนบัดนี้สถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลายลง  ดูเหมือนว่าความพยายามที่จะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกของญี่ปุ่นแต่ละครั้งช่างเป็นความบังเอิญที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ผันผวนอย่างยิ่งของโลก และเป็นครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพต้องยอมเลื่อนการจัดงานออกไป

การเลื่อนจัดกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างความผิดหวังให้แก่ชาวญี่ปุ่นโดยทั่วไป  ฝ่ายรัฐบาลของญี่ปุ่นก็คาดหวังผลได้จากการจัดงานครั้งนี้ไม่น้อย ญี่ปุ่นรับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในยุคของรัฐบาลอาเบะ เป็นความหวังและชัยชนะอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาล เพราะการได้เป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ และทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยนายอาเบะซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในยุคหลังสงคราม ถือว่าเป็นผลงานจากความพยายามตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายรัฐบาลและประชาชนคาดหวังว่าการแข่งขันกีฬาและการท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี อีกทั้งผลสำเร็จจากการจัดงานน่าจะช่วยให้ช่วงสุดท้ายก่อนการหมดวาระของนายอาเบะเป็นไปอย่างราบรื่นสง่างาม  แต่เมื่อจำเป็นต้องตัดสินใจเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ความหวังทั้งหมดนี้เริ่มเลือนราง และเมื่อเวลาผ่านไปสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสทั่วโลกก็ยังไม่คลี่คลาย ท่ามกลางความหวาดกลัวความสูญเสียที่จะเกิดจากโรคระบาด  ความหวังของการจัดการแข่งขันโอลิมปิกก็ยิ่งดูยากลำบากขึ้น

แต่ล่าสุดในช่วงนี้ ญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกให้สำเร็จ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการทุ่มทุนในการเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ และระบบงานต่าง ๆ เพื่อการแข่งขันกีฬาเป็นไปด้วยความปลอดภัยที่สุด ซึ่งจะทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้เป็นโอลิมปิกที่แพงที่สุด

การจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก คือการสร้างตลาดด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่มหาศาลที่จะก่อให้เกิดรายได้หลักๆ แก่เจ้าภาพผู้จัดงานและคณะกรรมการโอลิมปิก (International Olympic Committee) (แหล่งรายได้หลักๆของคณะกรรมการโอลิมปิกคือสัมปทานการถ่ายทอดกีฬา ซึ่ง NBC บริษัทของสหรัฐอเมริกาจ่ายสัมปทานไว้ถึง 477 พันล้านเยน) 

ในปี 2013 เมื่อโตเกียวได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพนั้น มีการประเมินค่าใช้จ่ายโดยประมาณอยู่ที่ 734 พันล้านเยน[2] แต่เมื่อต้องเลื่อนการจัดออกไปก็ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายถึง 300 พันล้านเยน และในเดือนธันวาคม 2020 ได้มีการเตรียมงบประมาณกันใหม่โดยมีมูลค่าถึง 1.64 หมื่นล้านเยน เกือบ 1 ใน 3 จะหมดไปกับการจัดสถานที่และอุปกรณ์เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายจำนวนหลักๆต้องมาจากงบประมาณของทั้งกรุงโตเกียวและงบประมาณแผ่นดิน

เรามักจะคิดว่าผู้จัดงานจะสามารถทำกำไรได้จากการขายบัตรเข้าชมกีฬา รวมไปถึงของที่ระลึกต่าง ๆ แต่ปรากฏว่าในที่สุด ประเทศต่าง ๆรวมทั้งญี่ปุ่นเองก็ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสครั้งนี้ได้ ทั้งยังไม่มีใครจะบอกได้ว่าการแพร่ระบาดจะยุติลงเมื่อใด คณะกรรมการโอลิมปิกโตเกียวได้ตัดสินใจจัดการแข่งขันกีฬาแบบไม่อนุญาตให้ผู้ชมจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาชมกีฬาในญี่ปุ่น นั่นหมายความว่าค่าบัตรเข้าชมที่ได้มีการซื้อขายไปล่วงหน้าจะต้องมีการคืนเงิน (บัตรเข้าชมกีฬาที่จะต้องมีการคืนเงินประมาณ 630,000 ใบทั้งโอลิมปิกฤดูร้อนและพาราลิมปิก) ทั้งนี้ผู้ชมกีฬาภายในประเทศเองก็จะต้องมีจำนวนน้อยลง จากมาตรการเว้นระยะ ไม่สามารถขายบัตรที่นั่งชมได้ตามจำนวนที่คาดไว้แต่เดิม

อย่างไรก็ตาม ในเชิงเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นจะมีแต่การสูญเสีย อย่างน้อยที่สุด การใช้จ่ายของรัฐก็จะกระจายออกสู่ชุมชนของญี่ปุ่นเอง อีกทั้งความพิเศษต่าง ๆ ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้จะเป็นที่กล่าวถึงกันทั่วไป และน่าจะสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี

ดังนั้น ความพิเศษของกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ นอกจากการที่ญี่ปุ่น ประเทศเอเชีย จะได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพเป็นครั้งที่สอง  ยังเป็นกีฬาโอลิมปิกที่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยสำหรับญี่ปุ่น คือต้องถูกเลื่อนการแข่งขันกีฬาออกไป ทำให้การแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้เป็นการจัดการแข่งขันกีฬาที่แพงที่สุด  ซ้ำจะเป็นการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกที่จะไม่มีผู้ชมจากต่างประเทศเข้าร่วมชมการแข่งขันสด  ประเด็นเหล่านี้จะเป็นที่จดจำกันไปอีกนาน ญี่ปุ่นต้องการให้กีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 เป็นการทูตวัฒนธรรมขนาดใหญ่  ภาพลักษณ์ในสายตาของต่างประเทศจะเป็นการฉายภาพญี่ปุ่นที่สามารถฟื้นตัวจากภัยพิบัติในปี 2011 และภายในประเทศจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ  ให้ความหวังแก่ชาวญี่ปุ่นว่า แม้จะต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมานาน ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาภัยพิบัติ แต่ญี่ปุ่นได้กลับมาเป็นประเทศที่เข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง   สัญลักษณ์หรือแมสคอตของกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้คือ การ์ตูนที่ดูเหมือนหุ่นยนตร์ในอนาคต ชื่อ มิไรโทวะ ซึ่งหมายถึงอนาคตที่เป็นนิรันดร์ และโซไมตี้ซึ่งมาจากชื่อดอกซากุระสีชมพู แต่ออกเสียงคล้ายภาษาอังกฤษที่แปลว่าความแข็งแกร่ง น่าจะสะท้อนให้เห็นภาพที่สังคมญี่ปุ่นต้องการฉายออกมาให้โลกได้รับรู้คือญี่ปุ่นที่เข้มแข็งและอนาคตที่เป็นนิรันดร์ ไม่ว่าทั้งญี่ปุ่นและทั่วโลกจะประสบภัยพิบัติจากโรคระบาด จนการแข่งขันกีฬาอาจจะไม่สามารถจัดเต็มรูปแบบ หรืออาจจะเป็นการแข่งขันโอลิมปิกที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด แต่การแข่งกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 ก็จะต้องเกิดขึ้น และจะเป็นที่กล่าวขานกันไปอีกนาน


Notes

[1] “History of The Modern Summer Games”, Encyclopedia Britanica. Retrieved June 15, 2020 from www.britanica.com.

[2] Ryusei Takahashi. “How monay and politics dictate the Tokyo Games,” Japan Times [Online] retrieved March 25, 2021 from https://www.japantimes.co.jp/news/2021/03/25/national/olympics-enormous-costs/


บทความล่าสุด

น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
-
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา

ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 2)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ (บทความนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอนก่อนหน้า >> เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)) 3. ความกังวลและความท้าทายของไทยเมื่อฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน           นับแต่ไทยประกา

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)
เมื่อจีนและไทยฟรีวีซ่า : ประโยชน์ ข้อกังวลและความท้าทายต่อไทย (ตอนที่ 1)

โดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ทุกท่านคงทราบข่าวการเดินทางมาไทยของ หวังอี้ (Wang Yi) ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว การเดินทางมาในครั้

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น
วัฒนธรรม (ที่ไม่ชัดเจน) ว่าด้วยเงินบริจาคของพรรคการเมืองญี่ปุ่น

โดย ดร.ทรายแก้ว ทิพากร                                                                                         พรรคการเมืองของทุกประเทศมีความจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อให้สามารถเล่นบทบาททางการเมืองของตน แต่บทบาทของเงินทุนทางการเมืองเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อการเมืองมากที่สุด ทุ

ดร.ทรายแก้ว ทิพากร
2567
กระแสเอเชีย