
ภาพที่ 1 : ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนในย่านคันดะหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต (ที่มา The Great Kanto Earthquake.com)
.
การศึกษาเกี่ยวกับภัยพิบัติในประเทศไทยส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับการจัดการภัยพิบัติ ทั้งการเฝ้าระวัง การเตรียมแผนรับมือและการตอบสนองของรัฐบาลเมื่อเกิดสถานการณ์เป็นหลัก แต่หากขยายมุมมองให้ครอบคลุมบริบทอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้นแล้ว เราอาจศึกษาการตอบสนองของสังคมต่อภัยพิบัติในฐานะของพื้นที่ปะทะทางการเมืองวัฒนธรรมของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ เพราะภัยพิบัติเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่มีผู้คนจำนวนมากมายหลายแสนหรือหลายล้านคนประสบร่วมกัน จึงอาจสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ค่านิยมในสังคมและอุดมการณ์ทางการเมืองของสังคมนั้นได้ไม่มากก็น้อย
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 เป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้แก่ภูมิภาคคันโตในประเทศญี่ปุ่น แผ่นดินไหวและเพลิงไหม้ซึ่งเกิดขึ้นตามมาได้คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นไปมากกว่าหนึ่งแสนคน ทำลายอาคารบ้านเรือนในโตเกียวถึงเกือบครึ่งหนึ่ง แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตไม่เพียงสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้แก่ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อสังคมในหลากหลายมิติ และยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคม การช่วงชิงอำนาจนำทางการเมืองเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนอุดมการณ์ทางการเมืองของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1920-1930 อีกด้วย
ในทางสังคมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมของญี่ปุ่นหลังการปฏิรูปสู่ความเป็นสมัยใหม่ แม้ชาวญี่ปุ่นทั่วภูมิภาคคันโตจะต้องหวาดผวาไปพร้อมเพรียงกันเพราะแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตนี้ แต่ผลกระทบที่ได้รับภายหลังจากเกิดภัยพิบัติระหว่างชนชั้นนำกับกลุ่มเปราะบางในสังคมนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ในมิติทางการเมืองกระบวนการฟื้นฟูเมืองหลวงที่ได้รับความเสียหายครั้งใหญ่สะท้อนให้เห็นบทบาทของรัฐบาลและการมีส่วนร่วมของตัวแสดงทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ซึ่งพยายามนำเสนอแนวคิดและโครงการฟื้นฟูเมืองหลวง นำไปสู่การช่วงชิงทรัพยากรของประเทศเพื่อตอบสนองอุดมการณ์และผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มตนเอง นอกจากนั้น ภัยพิบัติใหญ่ครั้งนี้ไม่เพียงเป็นโอกาสในการสร้างเมืองโตเกียวขึ้นมาใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการฟื้นฟูอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นด้วย ความเสียหายจากแผ่นดินไหวกลายเป็นสัญลักษณ์เพื่อหล่อหลอมให้เกิดสำนึกความเป็นชาติและความสามัคคีผ่านทางเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาล
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 จึงมิใช่เพียงภัยพิบัติที่ทำลายล้างบ้านเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเหตุการณ์ทางสังคมที่มีผู้คนจำนวนหลายล้านชีวิตประสบร่วมกันจึงมีอิทธิพลต่อสังคมในหลากหลายมิติ บทความนี้จะย้อนรอยเหตุการณ์แผ่นไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 เพื่อทำความเข้าใจการเมืองวัฒนธรรมในภัยพิบัติผ่านทางเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ โดยแบ่งเนื้อหาของบทความออกเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นการสรุปภาพรวมของเหตุการณ์ ความเสียหายจากแผ่นไหว และการตอบสนองของรัฐบาลและบทบาทของภาคประชาชน ตอนที่สองจะกล่าวถึงการเมืองวัฒนธรรมในการฟื้นฟูญี่ปุ่นภายหลังจากเหตุแผ่นดินไหว ทั้งการฟื้นฟูทางกายภาพให้แก่เมืองหลวงโตเกียว และการฟื้นฟูทางจิตวิญญาณและอัตลักษณ์ความเป็นชาติให้แก่ชาวญี่ปุ่น
.
ความเสียหายจากแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 เป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียให้แก่ญี่ปุ่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มากยิ่งกว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีก 2 ครั้งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันซิน (ค.ศ. 1995) และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภาคตะวันออกของญี่ปุ่น (ค.ศ. 2011) มากกว่าทั้งด้านมูลค่าความเสียหายและจำนวนผู้เสียชีวิต จากข้อมูลในตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่าประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตและสูญหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตมีมากถึง 1.05 แสนคน มากกว่าเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีก 2 ครั้งประมาณ 10-20 เท่า มีอาคารบ้านเรือนถูกเผาและทำลายมากถึง 2.9 แสนหลัง มากกว่าเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีก 2 ครั้งประมาณ 2-3 เท่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีมูลค่า 5.5 พันล้านเยน คิดเป็นร้อยละ 37 ของจีดีพีในขณะนั้น และมีมูลค่ามากกว่างบประมาณของประเทศญี่ปุ่นในปีก่อนหน้าถึง 3.9 เท่า ในขณะที่เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีก 2 ครั้งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 2 และ 3 ของจีดีพี และเพียงร้อยละ 17 และ 12 ของงบประมาณของประเทศในปีก่อนหน้าเท่านั้น
จากการเปรียบเทียบข้อมูลในตารางที่ 1 จึงพอสรุปได้ว่าขนาดความเสียหายและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตรุนแรงกว่าอย่างมหาศาล สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือความแตกต่างของลักษณะของการเกิดความเสียหายจากภัยพับัติ สาเหตุของการเสียชีวิตในแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตถึงร้อยละ 90 เกิดจากเพลิงไหม้ ในขณะที่ผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันซินร้อยละ 70 เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจหรือถูกอาคารทับ และผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภาคตะวันออกร้อยละ 90 เสียชีวิตจากการจมน้ำหรือจากคลื่นสึนามินั่นเอง
.

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบข้อมูลความเสียหายและผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต (1923) ฮันชิน (1995) และภูมิภาคตะวันออกของญี่ปุ่น (2011) [1]
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในเขตตัวเมืองภายหลังการปฏิรูปสู่ความเป็นสมัยใหม่ในสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) กล่าวได้ว่าเป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อโตเกียวพัฒนากลายเป็น “สังคมเมือง” แล้ว อย่างไรก็ดี สังคมเมืองในสมัยไทโช (ค.ศ. 1912-1923) ยังขาดประสบการณ์และมาตรการรับมือที่เพียงพอสำหรับเหตุภัยพิบัติขนาดใหญ่ในเขตเมือง ดังนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตขึ้น พื้นที่ในเขตเมืองโดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยที่มีประชากรหนาแน่นจึงได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง โดยเฉพาะความเสียหายจากพายุเพลิงที่โหมกระหน่ำทำลายอาคารบ้านเรือนและคร่าชีวิตผู้คนนั้นรุนแรงยิ่งกว่าผลกระทบโดยตรงจากแผ่นดินไหวหลายสิบเท่า
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตเกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.ย. เวลา 11:58 นาฬิกา เป็นช่วงเที่ยงตรงซึ่งผู้คนกำลังประกอบอาหารสำหรับมื้อกลางวันเป็นเหตุให้เกิดแก๊สรั่วและเพลิงไหม้ลุกลามจากย่านการค้าและชุมชนแออัดในตัวเมืองโดยเฉพาะทางฝั่งทิศเหนือและตะวันออก เปลวเพลิงทำให้ระบบท่อน้ำประปาเสียหายจึงเป็นการยากที่หน่วยดับเพลิงและอาสาสมัครในชุมชนจะควบคุมเปลวเพลิงไว้ตั้งแต่ช่วงเริ่มเกิดเหตุ ไฟลุกลามขึ้นทันทีภายหลังแผ่นดินไหว แล้วขยายตัวกลายเป็นพายุเพลิงโหมกระหน่ำทำลายซากปรักหักพังอย่างรุนแรงในวันแรก แม้เปลวเพลิงจะอ่อนกำลังลงแต่ก็ยังลุกลามติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 46 ชั่วโมง และสงบลงช่วงเที่ยงของวันที่ 3 ก.ย. แผ่นดินไหวทำให้บ้านเรือนที่ส่วนใหญ่ทำจากไม้พังทลายลงกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตอาซากุสะ (Asakusa) คันดะ (Kanda) และฮนโจ (Honjo) ที่พื้นดินอ่อนนุ่มกว่าบริเวณอื่นเนื่องจากเป็นดินปากแม่น้ำ นอกจากนี้ สาเหตุที่เปลวเพลิงขยายวงกว้างและไม่ยอมสงบลง เนื่องจากมีกระแสลมแปรปรวนมากในวันที่ 1 และ 2 ก.ย. กระแสลมกรรโชกเปลี่ยนทิศทางไปมาอยู่ตลอดทำให้ยากต่อการคาดเดาเส้นทางการลุกลามของไฟ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก [2] [3]
นอกจากความไม่พร้อมของมาตรการรับมือภัยพิบัติในสมัยนั้นแล้ว ความเสียหายทางกายภาพที่เกิดขึ้นในเมืองโตเกียวยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมญี่ปุ่นหลังการปฏิรูปเมจิด้วย เนื่องจากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่างแตกต่างกันอย่างมาก พื้นที่สีแดงในภาพที่ 2 คือบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้หลังจากแผ่นดินไหว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบทางทิศเหนือและตะวันออกจากศูนย์กลางของโตเกียว (ที่ตั้งของพระราชวังจักรพรรดิ) บริเวณดังกล่าวเป็นย่านอุตสาหกรรมและการค้าที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่น เช่น นิฮนบาชิ(Nihonbashi) ฮนโก (Hongo) อาซากุสะ เคียวบาชิ (Kyobashi) ฟุคากาวะ (Fukagawa) ในขณะที่พื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของโตเกียวซึ่งเป็นพื้นที่ราบสูงเป็นเขตที่พักอาศัยของชนชั้นกลางมีการศึกษาและส่วนใหญ่รับราชการหรือทำงานในภาคบริการ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นอย่างรวดเร็วหลังแผ่นดินไหวทำให้ผู้คนในพื้นที่ประสบภัยทางฝั่งตะวันออกต้องอพยพเพื่อหนีการลุกลามของเพลิงไหม้ ผู้อพยพนับแสนที่หนีตายมาพร้อมข้าวของพยายามดิ้นรนหาทางออกจากตัวเมืองที่กำลังลุกเป็นไฟจนเกิดความโกลาหนวุ่นวายไปทั่ว ตรอกถนน สะพาน และแม่น้ำคราคร่ำไปด้วยคลื่นของฝูงชนที่หนีตายทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายหมื่นคนระหว่างการพยายามหลบหนีออกจากพื้นที่ประสบภัยทั้งจากไฟคลอกและจมน้ำตาย
.


.
พื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศเหนือและตะวันออกจากศูนย์กลางของกรุงโตเกียว (จุดสีเหลือง) เป็นย่านที่ผู้ใช้แรงงานอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นดังในภาพที่ 3 สังคมเมืองของโตเกียวขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ การขยายตัวของระบบรถรางภายในตัวเมืองโตเกียวตั้งแต่ ค.ศ. 1903 เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรในช่วงทศวรรษ 1900-1910 ออกไปสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในระยะห่างประมาณ 5 ก.ม. จากศูนย์กลางเมือง (พระราชวังจักรพรรดิ) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถกำกับดูแลการขยายตัวของเมืองให้เป็นระบบระเบียบได้ทั้งหมด ประชากรที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นในช่วงดังกล่าวเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมและการค้าซึ่งแผ่ขยายตัวจากย่านการค้าเดิมในยุคเอโดะที่เรียกว่า “เมืองใต้ปราสาท” (Joukamachi) ออกไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออก โดยเฉพาะในเขตฮนโจและฟุคากาวะ บริเวณนี้มีประชากรเพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 50 ในช่วง ค.ศ. 1908-1920 จากการสำรวจสัดส่วนของอาชีพประชากรใน ค.ศ.1920 ดังเช่นในภาพที่ 3 พบว่าประชากรที่อาศัยในย่านนี้มากกว่าร้อยละ 50 เป็นแรงงานในภาคการผลิตและก่อสร้าง (บริเวณสีส้มและแดง) ย่านเหล่านี้จึงมีทั้งอาคารพักอาศัยและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กตั้งเบียดเสียดสลับปะปนกัน กลายเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นสลัมสูง [4] นอกจากถนนหนทางในย่านเหล่านี้จะเล็กและคับแคบแล้ว ยังขาดการวางแนวป้องกันเพลิงให้หนาแน่นเพียงพอ แตกต่างจากย่านการค้าเดิมหรือเมืองใต้ปราสาทอย่างนิฮนบาชิหรือเกียวบาชิ [5]
แม้ญี่ปุ่นจะเคยประสบภัยพิบัติทั้งแผ่นดินไหวและเพลิงไหม้ในเขตเมืองมาหลายครั้งในยุคเอโดะ (ค.ศ.1603-1868) และสมัยเมจิ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโตนั้นรุนแรงเกินกว่าที่มาตรการรับมือภัยพิบัติในสมัยนั้นจะตอบสนองได้ ที่จริงแล้วเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ในสมัยเมจิทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นและชุมชนในโตเกียววางมาตรการรับมือเพลิงไหม้เอาไว้ในระดับหนึ่ง เช่น การก่อสร้างเมืองจากอิฐในย่านกินซา (Ginza Bricktown) (ค.ศ. 1870-1875) การประกาศใช้กฎหมายป้องกันอัคคีภัยในกรุงโตเกียว (ค.ศ.1881) กฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในเมือง (ค.ศ. 1919) มาตรการต่างๆ เหล่านี้ช่วยลดความเสียหายของเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในเขตเมืองโตเกียวให้อยู่ในวงจำกัด ขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่คันโต หน่วยดับเพลิงของกรมตำรวจมีนักดับเพลิงอยู่ทั้งหมด 824 คน ประจำอยู่ในสถานีดับเพลิง 6 แห่ง มีรถสูบน้ำ 38 คัน รถท่อลำเลียงน้ำ 17 คัน รถบันไดปีนที่สูง 5คัน นอกจากนั้นยังมีนักดับเพลิงอาสาสมัครอีก 40 กลุ่ม จำนวนคน 1,402 คน พร้อมด้วยรถลากติดตั้งสายฉีดน้ำปั๊มมือ 120 คัน โดยอาสาสมัครดับเพลิงเหล่านี้เป็นช่างฝีมือที่กระจายตัวอาศัยอยู่ภายในย่านต่างๆ แม้จะมีระบบป้องกัน อุปกรณ์ดับเพลิงและกำลังพลในระดับนี้ แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่คันโตขึ้น ระบบน้ำประปาก็ถูกตัดขาดทันทีพร้อมกับการลุกไหม้ของเปลวเพลิงเนื่องจากแก๊สรั่ว ทำให้การควบคุมเพลิงเป็นไปอย่างยากลำบากขาดทั้งน้ำประปาและไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดับเพลิงได้อย่างทันท่วงที กว่าจะควบคุมเพลิงให้สงบลงทั้งหมดก็กินเวลานานถึง 46 ชั่วโมง เกิดไฟไหม้รอบกรุงโตเกียวทั้งหมด 134 แห่ง เผาทำลายพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันออกของโตเกียวให้เหลือเพียงซากปรักหักพักและซากศพไหม้เกรียม อาณาบริเวณที่ถูกทำลายคิดรวมเป็นพื้นที่ถึงร้อยละ 43 ของกรุงโตเกียว [3] [5]
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและไฟไหม้ขนาดใหญ่ลุกลามขึ้นกลางกรุงโตเกียว ย่านที่มีประชากรแออัดหนาแน่นอย่างฮนโจ อาซากุสะ คันดะ และฟุคากาวะจึงเกิดความสับสนอลหม่านขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนอพยพหนีตายทั้งๆ ที่ยังหลงทิศหลงทาง ไม่รู้ว่าจะเคลื่อนตัวฝ่าฝูงพวกชนที่แตกตื่นไปทางใดดี บางพื้นที่ที่ตำรวจสามารถเข้าถึงได้ก็พอจะควบคุมความโกลาหลได้ในระดับหนึ่ง มีรายงานว่าตำรวจพยายามส่งเสียงนำทางให้ผู้อพยพเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ปลอดภัย เช่น สวนสาธารณะ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสุมิดะ หรือพื้นที่เปิดต่างๆ ทว่าสำหรับพื้นที่ที่ไม่สามารถควบคุมฝูงชนได้ การอพยพของผู้ประสบภัยจึงเป็นไปอย่างโกลาหลและเกิดโศกนาฏกรรมอันน่าสะเทือนใจหลายพื้นที่ หนึ่งในพื้นที่ที่เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่จากภัยพิบัติครั้งนี้คือเหตุเพลิงไหม้ที่โกดังผ้าฮนโจ (Honjo Clothing Depot) ภายในพื้นที่ประมาณ 1 เฮคเตอร์ของโกดัง มีผู้อพยพหลายหมื่นคนหลั่งไหลกันเข้ามาหลบภัยอย่างเบียดเสียดแออัดโดยไร้การนำทางหรือการควบคุมดูแล ดังนั้น เมื่อพายุเพลิงลุกลามเข้ามาถึงจึงทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน่าสลดใจภายในโกดังและบริเวณใกล้เคียงถึงราว 4 หมื่นคน [6]
.
มาตรการตอบสนองของรัฐบาลและบทบาทของภาคประชาชน
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางกายภาพให้แก่อาคารบ้านเรือนในโตเกียวเท่านั้น แต่ยังการทำลายระเบียบทางสังคมภายใต้การควบคุมของกฎหมาย เกิดเหตุวุ่นวาย การปล้นสะดมและการฆาตกรรมมากมายภายหลังภัยพิบัติ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการขาดแคลนสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยในพื้นที่ภัยพิบัติ นอกจากนั้นยังมีการปล่อยข่าวลือต่างๆ เช่น ภูเขาไฟฟูจิกำลังจะปะทุ เกิดคลื่นสึนามิขนาดยักษ์นอกชายฝั่งอ่าวโตเกียว และชาวเกาหลีเป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้ที่ลุกลามไปทั่วเมือง อีกทั้งยังเตรียมตัวจะบุกเข้าโจมตีญี่ปุ่นเร็วๆ นี้ ข่าวลือเหล่านี้ปลุกปั่นให้เกิดความสับสนและหวาดกลัวในหมู่ผู้ประสบภัยยิ่งขึ้นไปอีก เป็นสาเหตุนำไปสู่การตามล่าและฆาตกรรมชาวเกาหลีผู้บริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยในช่วงสัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจหาทางกำจัดความตื่นตระหนกจากข่าวลือ ด้วยการออกเดินตรวจตราตามท้องถนนพร้อมประกาศว่า ชาวเกาหลีส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมกับการกระทำรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น [6] กล่าวได้ว่าภายหลังจากเกิดแผ่นดินได้ไม่กี่ชั่วโมง ภัยธรรมชาติได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นภัยจากมนุษย์ด้วยกันเองและดำเนินต่อไปเป็นเวลานานนับสัปดาห์
ภายใต้ความวุ่นวายและความหวาดกลัวที่แพร่ขยายไปทั่วพื้นที่ประสบภัยโดยเฉพาะในโตเกียว รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 2 ก.ย. เนื่องจากการเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันของรัฐมนตรีคนก่อนได้ดำเนินมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย มาตรการระยะสั้นของรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การควบคุมและจัดระเบียบทางสังคมให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ และการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากความเสียหายและความโกลาหลวุ่นวาย ส่วนมาตรการระยะยาวมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูทั้งทางกายภาพให้แก่เมืองหลวงโตเกียวและการฟื้นฟูทางจิตใจให้แก่ชาวญี่ปุ่น ในช่วงแรกสุดรัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดหาที่พักและสิ่งของบรรเทาทุกข์โดยเฉพาะอาหาร ยาและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุจลาจลดังตัวอย่างจากกบฏข้าวที่เมืองโกเบใน ค.ศ. 1919
อย่างไรก็ดี มาตรการเฉพาะหน้าในช่วงแรกจากรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ความเสียหายจากแผ่นดินไหวและพายุเพลิงได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในพื้นที่ประสบภัย เช่น ระบบประปา ไฟฟ้า รางรถไฟ ถนน สะพาน โรงพยาบาล การขนส่งผู้ประสบภัยตลอดจนสิ่งของบรรเทาทุกข์จึงดำเนินการได้อย่างยากลำบาก มีผู้ประสบภัยที่บาดเจ็บและหิวโหยติดค้างอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ภัยพิบัติได้ทิ้งผู้คนจำนวนมหาศาลให้หิวโหย ไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีงานทำ และส่วนใหญ่ก็จะไร้ทรัพย์สินติดตัว เรียกได้ว่าสิ้นเนื้อประดาตัวหลังจากภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในช่วง 2-3 วันแรกก็ประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากโรงพยาบาลและคลินิกถูกทำลายลงไปจำนวนมาก แม้จะมีความพยายามขนส่งเวชภัณฑ์เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ แต่ความเสียหายอย่างหนักในโครงสร้างพื้นฐานก็ทำให้การขนส่ง เวชภัณฑ์ได้รับบริจาค และบุคลากรทางการแพทย์จากทั่วประเทศดำเนินไปอย่างล่าช้า
ลักษณะเด่นของภัยพิบัติครั้งนี้คือมีผู้ประสบภัยสูญเสียที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ประมาณการว่ามีมากกว่า 2.5 ล้านคน ในบริเวณภูมิภาคคันโตทั้ง 7 จังหวัดที่ประสบภัย ปัญหาขาดแคลนอาหารเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุดเนื่องจากเพลิงไหม้ได้เผาทำลายโรงเก็บข้าวของรัฐบาลในเขตฟุคากาวะจนหมดสิ้น ส่วนคลังเสบียงของกองทัพที่เอ็ตชูจิมะ (Etchujima) ก็ถูกปล้นสะดม [6] เฉพาะในโตเกียวมีผู้ประสบภัยไร้ที่อยู่อาศัยซึ่งอาจจะเรียกว่า “ผู้ลี้ภัย” อยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน ในขณะที่จำนวนประชากรของโตเกียวก่อนเกิดเหตุมีประมาณ 2.5 ล้านคน กล่าวคือประชาชนในโตเกียวประมาณร้อยละ 60 เปลี่ยนสถานะกลายเป็นผู้ลี้ภัยเพราะไร้ที่อยู่อาศัย ผู้ลี้ภัยชาวโตเกียวเหล่านี้ต้องหาทางเอาชีวิตรอดด้วยการอพยพไปพักอาศัยในสถานที่ต่างๆ นอกบริเวณพื้นที่ประสบภัยซึ่งเหลือเพียงกองเถ้าถ่าน ช่วงวันที่ 1-2 ก.ย. ทางการจัดเตรียมสถานที่พักและของใช้จำเป็นสำหรับผู้ลี้ภัยได้ในปริมาณจำกัด โดยเมืองโตเกียวดัดแปลงโรงเรียนประถมให้เป็นสถานลี้ภัยที่รองรับผู้ลี้ภัยได้ประมาณ 3 หมื่นคน ส่วนอาหารที่จัดเตรียมได้ก็มีเพียงพอสำหรับผู้ลี้ภัยเพียง 2.5 แสนคนเท่านั้น [7]
ในช่วงเวลาที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่สามารถเข้าไปได้อย่างทั่วถึง ความร่วมมือของภาคประชาชนทั้งจากความช่วยเหลือระหว่างญาติพี่น้องคนรู้จัก เพื่อนบ้านร่วมชุมชน และองค์กรภาคประชาชนต่างๆ จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะคับขัน เนื่องจากความช่วยเหลือเหล่านี้อยู่ใกล้พื้นที่ประสบภัยและมักยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ได้มากกว่า การช่วยเหลือจากภาคประชาชนมีอยู่หลากหลายรูปแบบแต่มักไม่ถูกบันทึกไว้เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์และเลือนหายไปตามกาลเวลา จากบันทึกส่วนตัวของผู้ประสบภัยที่บอกเล่าเหตุการณ์ทั้งที่ตีพิมพ์ตั้งแต่หลังเกิดเหตุทันทีและที่เผยแพร่เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายสิบปีพบว่า ความช่วยเหลือจากประชาชนด้วยกันเองในช่วงแรกมีทั้งในรูปแบบของการร้องขอความช่วยเหลือจากคนรู้จักในบริเวณใกล้เคียงหรือจากคนในบ้านเกิด การให้ความช่วยเหลือปฐมพยาบาลหรือให้ที่พักแก่ผู้ลี้ภัยที่พลัดหลงเข้ามาโดยบังเอิญ โดยกลุ่มสมาคมในชุมชนนอกพื้นที่ประสบภัยมีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน การช่วยเหลือโดยประชาชนนอกพื้นที่ประสบภัยหรือนอกภูมิภาคคันโตซึ่งเดินทางเข้ามายังพื้นที่ประสบภัยเพื่อตามหาญาติพี่น้องคนรู้จัก นอกจากนั้นก็ยังมีการช่วยเหลือจากผู้คนภายในบริเวณพื้นที่ประสบภัย เช่น การช่วยเหลือจากกลุ่มกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียวที่พาผู้ลี้ภัยเข้ามาพักดูแลในบริเวณมหาวิทยาลัย [7]
เมื่อเข้าสู่วันที่ 2 กันยายน รัฐบาลใหม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่กรุงโตเกียว และในอีกสองวันถัดมาก็ขยายขอบเขตการบังคับใช้ไปถึงจังหวัดโดยรอบที่ได้รับผลกระทบ กองทหาร 5 หมื่นนายเคลื่อนพลเข้ามายังภูมิภาคคันโตเพื่อฟื้นความสงบเรียบร้อย ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย ปราบปรามอาชญากรรมและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย กำลังพลจากกองทัพซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานทางบก ขนย้ายตู้รถไฟที่เสียหายและถูกทิ้งร้างไว้ออกไปจากพื้นที่ สร้างรางรถไฟขึ้นใหม่ทดแทน และสร้างสะพานชั่วคราวข้ามแม่น้ำ กองทัพเรือมีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมท่าเทียบเรือที่เสียหายและสร้างท่าเทียบเรือใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จำเป็น นอกจากนี้ ทหารยังได้รับอนุญาตให้ดำเนินมาตรการพิเศษที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น การสลายการชุมนุม การควบคุมสื่อโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ การขอเข้าใช้พื้นที่ของเอกชน เป็นต้น การจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาระยะยาวสำหรับโตเกียว แม้จะมีผู้คนเกือบ 8 แสนคนอพยพออกจากโตเกียวหรือโยโกฮามาเป็นการชั่วคราวหลังวันที่ 1 ก.ย. แต่ยังมีผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมากที่ติดค้างในสวนสาธารณะหรือพื้นที่เปิดโล่งอื่นๆ ในตัวเมือง มีผู้ลี้ภัยเกือบ 6 พันคนสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่ศาลเจ้าเมจิ อีก 9.5 พันคนที่สวนอุเอโนะ และอีก 7 พันคนที่สวนฮิบิยะ วันที่ 24 ก.ย. คนไร้บ้านมากกว่าครึ่งล้านคนเดินทางกลับมายังสถานที่ที่บ้านของพวกเขาเคยตั้งอยู่และเริ่มสร้างที่พักชั่วคราวขึ้น เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงโตเกียวยังคงเป็นเมืองแห่งค่ายทหารซึ่งตั้งขึ้นเพื่อรองรับผู้ลี้ภัยที่ยังไม่มีที่พักอาศัย กว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายลงจนใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติก็กินเวลานานจนถึงสิ้นปี ค.ศ. 1924 [8] [9]
มาตรการระยะสั้นของรัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาโดยใช้กฎอัยการศึกและกำลังพลจากกองทัพเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อย สามารถยุติการจลาจลและเหตุรุนแรงจากความหวาดกลัวและสับสน และฟื้นฟูระเบียบทางสังคมได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานเสียหายอย่างหนักและต้องรอคำสั่งจากทางรัฐบาล ความช่วยเหลือจากภาคประชาชนจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและบรรเทาความเดือดร้อนได้ทันสถานการณ์มากกว่า อย่างไรก็ดี ความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้นสร้างปัญหาให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างมาก ชนชั้นนำและปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมในญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเห็นว่าเหตุความวุ่นวายหลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตสะท้อนเห็นถึงความตกต่ำทางศีลธรรมในสังคมญี่ปุ่น แผนการฟื้นฟูประเทศในระยะยาวของรัฐบาลและชนชั้นนำในระยะต่อไปจึงไม่ได้จำกัดเพียงการฟื้นฟูและปรับปรุงเพียงโครงสร้างของเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการฟื้นคืนจิตวิญญาณและค่านิยมอันดีงามแบบญี่ปุ่นที่สูญเสียไปภายหลังการปฏิรูปสู่ความเป็นสมัยใหม่ การฟื้นฟูภายหลังภัยพิบัติจึงกลายเป็นพื้นที่ปะทะของการเมืองวัฒนธรรมในญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1920 ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความตอนถัดไป
เอกสารอ้างอิง
[1] 内閣府政策統括官(2023) 「関東大震災100年」特設ページwww.bousai.go.jp/kantou100.
[2] 東京百年史編集委員会(1973)『東京百年史』第1巻, 国立国会図書館デジタルコレクション :https://dl.ndl.go.jp/pid/9640952.
[3] 内閣府政策統括官(2007) 「過去の災害に学ぶ(第14回):1923年関東大震災‐火災被害の実態と特徴‐」『広報ぼうさい』No.40,12-13.
[4] 梶田真(2019) 「関東大震災,空襲と町丁別にみた東京中心部の社会–空間パターン変化(1920-1965)」( Great Kanto Earthquake, Great Tokyo Air Raid, and Cho-scale Changes in the Socio-spatial Patterns of the Inhabitants of Central Tokyo (1920‒1965)), Journal of Geography(Chigaku Zasshi)128(6),855-878.
[5] 森下雄治 (2018)「関東大震災における地震火災と防火体制」 歴史都市防災論文集 -12,立命館大学歴史都市防災研究所,1-8.
[6] Borland, J. (2006). “Capitalising on Catastrophe: Reinvigorating the Japanese State with Moral Values through Education following the 1923 Great Kantô Earthquake. Modern Asian Studies, 40(4), Cambridge University Press, 875-907. doi:10.1017/S0026749X06002010.
[7] 鈴木淳 (2016) 『関東大震災 消防・医療・ボランティアから検証する』講談社.
[8]Schencking, J. C. (2013) The Great Kanto Earthquake and the Chimera of National Reconstruction in Japan. New York: Columbia University Press, 2013.
[9] Schencking, J. C.. (2007). “The Great Kanto Earthquake of 1923 and the Japanese Nation : Responding to an Urban Calamity of an Unprecedented Nature”. Education About ASIA,12,2,20-25.