สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

ชูคัทสึ: การเตรียมตัวก่อนวาระสุดท้ายของคนญี่ปุ่น

โดย ดร.สุดปรารถนา ดวงแก้ว


การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่นพร้อมๆ กับ คนสูงวัยเริ่มมีทัศนคติต่อความตายที่เปลี่ยนแปลงไป สมัยก่อนการพูดเรื่องความตายเป็นสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นไม่ค่อยยอมรับ แต่ปัจจุบันคนญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับและเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วาระสุดท้ายมากขึ้น คนญี่ปุ่นเตรียมตัวสำหรับวาระสุดท้ายของตนเองผ่านกิจกรรมการเตรียมตัวที่เรียกว่า “ชูคัทสึ” กิจกรรมนี้กำลังได้รับความนิยมไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุ ยังรวมถึงหนุ่มสาวด้วย ความนิยมชูคัทสึของคนญี่ปุ่นแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบางประการของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นในด้านสาธารณูปโภค สวัสดิการ สินค้าและบริการต่างๆ ที่ต้องปรับให้เข้ากับความต้องการตามช่วงวัยของคนในสังคม รวมถึงทัศนคติและค่านิยมใหม่ต่อการดูแลตัวเองจนถึงวาระสุดท้ายชีวิต ประเทศไทยอาจจะนำบทเรียนสังคมสูงวัยจากญี่ปุ่นมาพิจารณาเพื่อเตรียมสาธรณูปโภคทางกายภาพและสุขภาพทางใจของคนไทย ซึ่งในอีกไม่ช้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่

ก่อนที่จะกล่าวถึงที่มาการชูคัทสึจำเป็นต้องอธิบายการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านประชากรของญี่ปุ่นแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงค่านิยมเกี่ยวกับความตาย ดังต่อไปนี้

โครงสร้างด้านประชากรในสังคมสูงวัย

ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมอุดมไปด้วยผู้สูงอายุ หรือ “สูงวัยระดับสุดยอด” (Super-aged Society) ปี 2018 ประชากรทั้งหมด 126,443,000 คน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 0.21 และลดลงติดต่อกัน 8 ปีแล้ว  จำนวนประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปีคิดเป็นร้อยละ 12.2 อายุระหว่าง 15-64 ปีคิดเป็นร้อยละ 59.7 และอายุมากกว่า 65 ปีคิดเป็นร้อยละ 28.1 นอกจากนี้ในกลุ่มช่วงอายุมากกว่า 65 ปีมีสัดส่วนอายุมากกว่า 70 ปีร้อยละ 20.7 อายุมากกว่า 75 ปีร้อยละ 14.2 (Statistics Bureau of Japan, 2018) นอกจากนี้คนญี่ปุ่นมีอายุยืนมาก อายุขัยโดยเฉลี่ยของผู้หญิงคือ 87.26 ปี และผู้ชาย 81.09 ปี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 ของโลก (The Asahi Shimbun, 2017) สังคมญี่ปุ่นนอกจากจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและอายุขัยเฉลี่ยสูง จำนวนสมาชิกในครัวเรือนก็มีการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านประชากรจากอัตราการเกิดของทารกต่ำในขณะที่อายุขัยเฉลี่ยประชากรมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนสมาชิกในครัวเรือนลดลง บางครัวเรือนประกอบไปด้วยสองสามีภรรยาวัยชรา หรือแม้แต่ผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียวก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากผลการสำรวจลักษณะครอบครัวโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ พบว่าในปี 1953 จำนวนสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 5 คน ลงลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2018 เฉลี่ย 2.44 คน กล่าวคือมีจำนวนสมาชิก 2-3 คน สถานการณ์จำนวนครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปีจำนวน 24,927,000 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 48.9 จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดแบ่งเป็นครัวเรือน“สองสามีภรรยาที่อายุมากกว่า 65 ปี” มากที่สุดคือมี 8,045,000 ครัวเรือน (ร้อยละ 32.3) รองลงมาคือ “อยู่ลำพัง” 6,830,000 ครัวเรือน (ร้อยละ 27.4) และ “พ่อแม่และลูกที่ยังไม่แต่งงาน” 5,122,000 ครัวเรือน (ร้อยละ 20.5) ตามลำดับ นอกจากนี้ครอบครัวที่มีเพียงสองสามีภรรยาวัยสูงอายุและผู้สูงอายุที่อาศัยลำพังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (Ministry of Health, Labour and Welfare, 2018: 4)

นอกจากนี้รายงานเกี่ยวกับลักษณะการเสียชีวิตของผู้สูงอายุโดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ในปี 2012 พบว่าร้อยละ 17.3 เสียชีวิตโดยลำพังซึ่งแบ่งเป็นผู้ที่อาศัยเพียงลำพังร้อยละ 45.4 และผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตเมือง เช่น ในกรุงโตเกียวมีแนวโน้มเสียชีวิตโดยลำพังเพิ่มขึ้น (สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น, 2018) ซึ่งทำให้เห็นลักษณะครัวเรือน การอยู่อาศัย และการเสียชีวิตของผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกันเพียงสองสามีภรรยาหรือโดยลำพังอย่างชัดเจน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวเนื่องตามมา ได้แก่ ผู้สูงวัยโดดเดี่ยว สุขภาพไม่แข็งแรงเจ็บป่วย การจัดการทรัพย์สินมรดก การเลือกที่จะจบชีวิตด้วยตนเอง การจัดงานศพ เป็นต้น (Kimura, 2017)

ในด้านการเงินจากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ พบว่าผู้สูงอายุคนญี่ปุ่นร้อยละ 64.4 ไม่กังวลเรื่องเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเนื่องจากร้อยละ 61.1 มีแหล่งรายได้จากเงินบำนาญ ร้อยละ 20.0 มีรายได้จากการทำงานหลังวัยเกษียณ ร้อยละ 59 มีรายได้จากผลกำไรที่ลงทุน (The Nikkei, 2019) นอกจากนี้วัย 60-69 ปี มีเงินออมสูงกว่าวัยอายุต่ำกว่า 29 ปีถึงเกือบ 10 เท่า และเป็นเงินเก็บสำหรับใช้ยามฉุกเฉิน แม้ว่าในอนาคตอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้เงินจ้างบริบาลเพื่อดูแลตนเองยามชราก็สามารถจ่ายค่าบริการเองได้ (สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น, 2018) กล่าวคือผู้สูงอายุคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความมั่นคงทางการเงินมีแนวโน้มไม่พึ่งพาเงินช่วยเหลือจากบุตร อาศัยโดยพึ่งพาตนเองเป็นหลัก และสามารถรับผิดชอบรายจ่ายในการเข้ารับบริการจากสถานบริบาลรวมถึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยใช้เงินของตนเอง นอกจากนี้ยังมีทัศนคติหรือค่านิยมที่ไม่ต้องการเป็นภาระหรือสร้างภาระให้กับบุตรหลาน (The District Economics Research Institute of Kumamoto Area, 2017; Okamoto el at., 2017)  ในระหว่างที่สุขภาพยังแข็งแรง กลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้มีความต้องการวางแผนวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยตนเอง ซึ่งภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ชูคัทสึ (Syuukatsu)”

ชูคัทสึ: ความเป็นมาและความหมาย

“ชูคัทสึ” เริ่มตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการจัดการงานศพและหลุมศพ ต่อมาช่วงทศวรรษ 1990 มีการถกประเด็นการเลือกจบชีวิตของคนไข้ภาวะสมองตาย ต่อมาช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 มีประเด็นการบันทึกวาระสุดท้ายลงในสมุดหรือ “Ending Note” (Kimura, 2017) และปี 2009 คำว่า “ชูคัทสึ” (終活; Syuukatsu) ถูกใช้ครั้งแรกโดยนิตยสาร Asahi Weekly และเริ่มเป็นที่รู้จักเนื่องจากคนญี่ปุ่นที่เกิดในช่วงปี 1947-1949 หรือยุคเบบี้บูมมีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้เกษียณอายุการทำงานจำนวนมาก คำนี้จึงเป็นรู้จักและแพร่หลายจนได้รับการคัดเลือกเป็นคำยอดนิยมแห่งปี 2012 และกลายเป็นคำที่คนส่วนใหญ่ยอมรับและใช้ในชีวิตประจำวันไปแล้ว ผู้สูงอายุโดยมากจะรู้สึกถึงวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเป็นผู้ที่จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องวาระสุดท้าย จึงทำให้ “ชูคัทสึ” ได้รับความนิยมในหมู่ผู้สูงอายุ  

The End of life Counselor Association สรุปคำนิยามคำว่า “ชูคัทสึ” ว่า ชูคัทสึคือการเตรียมตัวก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตและหลังจากที่เสียชีวิตแล้ว เครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยในการชูคัทสึคือสมุดบันทึกวาระสุดท้าย (ending note) แบ่งหัวข้อสิ่งที่ต้องเตรียมเป็น 4 ส่วน คือ (1) การเตรียมด้านทรัพย์สิน ได้แก่ เงินออม ประกัน หุ้น บัตรเครดิต อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินอื่นๆ โดยการจัดสรรแบ่งมรดกและเขียนพินัยกรรม (2) ด้านการรักษาพยาบาลและการดูแล คือการกำหนดสถานพยาบาลไว้ล่วงหน้าก่อนที่ตนเองจะกลายเป็นคนป่วยที่ไม่สามารถขยับร่างกายหรือไม่สามารถตัดสินใจได้เอง (3) พิธีงานศพและหลุมศพ คือการเลือกและจัดการรูปแบบพิธีกรรมและหลุมศพตามที่ตนปรารถนาหลังเสียชีวิต และ(4) สิ่งระลึก จัดทำอัลบั้มรูปภาพ บันทึกประจำวันเกี่ยวกับตนเองและครอบครัว (The End of life Counselor Association, 2013) ด้าน Okamoto และคณะทีมนักวิจัยด้านการดูแลสุขภาพและการพยาบาลได้อธิบายความหมายของคำว่า “ชูคัทสึ” ในเว็บไซต์ The End of life Counselor Association ว่าคือการเตรียมตัวต่างๆ ก่อนวาระสุดท้ายโดยไม่สร้างความลำบากเดือดร้อนแก่คนใกล้ตัว ได้แก่ ทำพินัยกรรม กำหนดรูปแบบพิธีศพ สมุดบันทึกวาระสุดท้าย (ending note) การรับบริบาลและการรักษาในระยะสุดท้าย พิธีงานศพ หลุมศพ การรักษาทางการแพทย์ การรับบริบาล การจัดการมรดกและทรัพย์สิน ประกันชีวิต เป็นต้น โดยมักจะจัดในรูปของงานสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลและร่วมประสบการณ์ทดลอง กลุ่มที่ให้ความสนใจมากคือผู้สูงอายุที่ต้องเตรียมตัวรับกับสภาพความชราและเตรียมตัวสู่วาระสุดท้ายของชีวิต (The End of life Counselor Association, 2019) ส่วน Kimura ได้อธิบายว่า สภาพสังคมสูงวัยและลักษณะครัวเรือนมีการเปลี่ยนแปลงมีผลทำให้ผู้สูงวัยต้องจัดการปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว การจัดการมรดก พิธีงานศพและหลุมศพ เป็นต้น (Kimura, 2017) ด้านสถาบันวิจัยเศรษฐกิจท้องถิ่นคุมะโมะโตะได้สำรวจการรับรู้และการเตรียมตัวชูคัทสึของประชากรวัยอายุ 50 ปีขึ้นไปในจังหวัดคุมะโมะโตะ จำนวน 620 คน พบว่ามากกว่าร้อยละ 90 รู้จักคำว่า “ชูคัทสึ” และคิดว่ามีความจำเป็นต้องทำร้อยละ 60  ส่วนเหตุผลที่อยากทำมี 5 อันดับดังนี้ (1) ไม่ต้องการเป็นภาระสร้างความเดือดร้อนให้กับสมาชิกในครอบครัว (2) ต้องทำเตรียมไว้เพื่อรองรับยามเจ็บป่วยและต้องการคนดูแล (3) แจ้งความประสงค์เกี่ยวกับพิธีจัดงานศพให้แก่คนในครอบครัว (4) จัดการระเบียบชีวิตของตนเอง และ (5) ต้องการดำเนินชีวิตในแบบของตนเองจนถึงวาระสุดท้าย (The District Economics Research Institute of Kumamoto Area, 2017) นอกจากนี้งานของ Okamoto และคณะสำรวจทัศนคติและการเตรียมวาระสุดท้ายของชีวิตโดยเปรียบเทียบผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตเมืองที่รายล้อมไปด้วยตึกสูงกับผู้ที่อาศัยในชนบทและประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงแบบดั้งเดิม พบว่าผู้สูงอายุทั้งสองพื้นที่สนใจต่อชูคัทสึสูงมากกว่าร้อยละ 80 และส่วนใหญ่ต้องการขอคำปรึกษาในเรื่องของการใช้ชีวิตและเตรียมการต่างๆ จากคนใกล้ชิด เช่น ครอบครัว เพื่อน และญาติพี่น้อง ส่วนอาการเจ็บป่วยและการรักษานั้นต้องการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเหมือนกัน แต่ผู้สูงอายุในเมืองมีความสนใจชูคัทสึมากกว่าผู้สูงอายุในชนบท (Okamoto และคณะ, 2017)

ด้วยเหตุนี้ “ชูคัทสึ” ในสังคมผู้สูงวัยญี่ปุ่นกลายเป็นเรื่องปกติและมีความจำเป็นมากขึ้น การทำชูคัทสึก่อให้เกิดประโยชน์ ได้แก่ ใช้ชีวิตส่วนที่เหลือในการพิจารณาชีวิตตนเองและใช้โอกาสนี้ในการเริ่มต้น หรือปรับปรุงในส่วนที่ทำได้ เป็นการลดภาระให้ครอบครัว เนื่องจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก คนใกล้ชิดย่อมโศกเศร้าเสียใจ และต้องดำเนินต่างๆ จนเสร็จสิ้นพิธีงานศพ (The End of life Counselor Association, 2013; 2019)

ธุรกิจชูคัทสึกำลังเฟื่องฟูในญี่ปุ่น

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของญี่ปุ่นทำให้มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากกว่าวัยเด็ก ซึ่งทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในอนาคต อย่างไรก็ตามธุรกิจดังกล่าวกลับมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมปี 2015 พบว่ายอดขายในธุรกิจงานศพนั้นสูงถึง 1.38 ล้านล้านเยน (3.75 แสนล้านบาท) โดยมีผู้ใช้บริการ 1.2 ล้านรายการ และคาดว่าธุรกิจนี้จะเติบโตต่อไป ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2040 จะมีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดคือ 1.67 ล้านคน

ที่ผ่านมามีการจัดงานนิทรรศการอุตสาหกรรมวาระสุดท้าย (ENDEX 2017)ที่โตเกียว Big Sight 23-25 สิงหาคม 2017 โดยมีบริษัทเข้าร่วม 334 บริษัทและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานถึง 25,867 คน ภายในงานมีสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ มีความหลากหลาย ตัวอย่างบริษัทที่เข้าร่วมนิทรรศการนี้ ได้แก่ บริษัทOhakan o midori ทำธุรกิจก้อนหินวัสดุสำหรับป้ายหลุมศพซึ่งขยายสาขากว่า 60 บริษัทใน 21 จังหวัด และภายในปี 2018 จะขยายพันธมิตรเป็น 200 บริษัท บริษัทNisse Eco นำเสนอหุ่นยนต์เรียกว่า พระPeppa ทำหน้าที่สวดในพิธีศพแทนพระที่ขาดแคลนในบางวัด บริษัทญี่ปุ่นร่วมกับบริษัทอเมริกาเพื่อนำกระดูกยิงขึ้นไปในอวกาศโดยเสนอราคา 4.5 แสนเยน (1.2 แสนบาท) ( เป็นต้น (Matsumoto J., 2017) และเกิดธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ทัวร์ชูคัทสึ โดยนั่งรถบัสไปทัศนศึกษาสถานที่เผาศพ หอเก็บกระดูก สุสาน และฟังบรรยายรวมถึงให้ข้อแนะนำต่างๆ ลูกค้าส่วนใหญ่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปและมาเป็นคู่สามีภรรยา ทัวร์ 1 วันในราคาประมาณ 10,000 เยน (2,721 บาท) ได้รับความนิยมมาก การเข้าร่วมทัวร์จะได้สัมผัสกับการฟังบรรยายและทดลองด้วยตัวเองโดยเฉพาะเรื่องการเขียนจดหมายมรดก การซื้อป้ายหลุมศพและจองวัด การทำพิธีศพตามงบประมาณและให้คนข้างหลังเดือดร้อนน้อยที่สุดเนื่องจากญี่ปุ่นมีพื้นที่จำกัดและมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 145,000 เยน (39,455 บาท) (Syukatsu Netto, 2019) ธุรกิจโรงแรมที่โยโกฮาม่าบริการที่พักสำหรับผู้เสียชีวิต รับได้สูงสุด 18 ราย มีบริการอาบน้ำ แต่งตัว แช่ในตู้เย็น บริการเตรียมและจัดพิธีศพ (Lastel, 2019) นอกจากนี้ทางสมาคมที่ปรึกษาด้านชูคัทสึยังได้ออกแบบหลักสูตรสำหรับผู้ที่สนใจต้องการเป็นที่ปรึกษาด้านชูคัทสึ โดยต้องสมัครเรียนและสอบให้ผ่านตามเกณฑ์หลักสูตรจึงจะได้ประกาศนีบัตร และสามารถนำไปเป็นหลักฐานในการทำงานได้

ค่านิยมชูคัทสึจากญี่ปุ่นสู่ไทย

ค่านิยมและทัศนคติของคนญี่ปุ่นเกี่ยวกับความตายเริ่มเปลี่ยนไป รวมถึงการไม่พึ่งพาลูกหลานยามชรา การเลือกใช้ชีวิตบั้นปลาย และสถานที่วาระสุดท้ายของชีวิต นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลและจัดการเตรียมพร้อมได้ด้วยตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นผู้สูงอายุเลือกใช้ชีวิตหลังเกษียณที่ต่างประเทศ บางส่วนไม่กำหนดเวลากลับอย่างชัดเจน บางส่วนตัดสินใจเลือกต่างประเทศเป็นสถานที่ใช้ชีวิตวาระสุดท้าย ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่ผู้สูงอายุคนญี่ปุ่นเดินทางมาใช้ชีวิตหลังเกษียณและอาศัยอยู่แบบไม่มีกำหนดกลับ และเลือกที่จะอยู่เมืองไทยจนวาระสุดท้ายของชีวิต เหตุผลหนึ่งคือมีภรรยาเป็นคนไทย และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มาใช้ชีวิตสองสามีภรรยาและอยู่ตามลำพัง นอกจากนี้พวกเขารวมตัวกันแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนวาระสุดท้ายและคอยช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกเพื่อลดความกังวลของตัวเองต่อครอบครัวหลังจากที่ตนเองเสียชีวิตแล้ว ได้แก่ การลงขันค่าฌาปณกิจ การเลือกรูปแบบงานศพแบบญี่ปุ่น แบบไทย คริสเตียน หรืออื่นๆ สถานที่จัดงานศพ กรณีที่ตัวคนเดียวไม่มีญาติพี่น้องก็เลือกพิธีกรรมแบบไทยซึ่งสามารถจัดพิธีในท้องถิ่นได้เลย ส่วนการเก็บกระดูกมีเลือกทั้งเก็บที่ไทยและที่ญี่ปุ่น การนำกระดูกกลับญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก บางรายไม่ทำหลุมศพ ป้ายสุสาน ค่าใช้จ่ายในการชูคัทสึหรือการเตรียมวาระสุดท้ายที่ไทยนั้นจึงมีราคาถูกกว่าและขั้นตอนการดำเนินการที่สะดวกกว่าที่ญี่ปุ่นมาก การเลือกมาอยู่เมืองไทยเป็นสถานที่ชูคัทสึจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้สูงอายุคนญี่ปุ่นและทำให้เห็นว่า “ความตายเป็นสิ่งที่เลือกได้”

ต่อไปในอนาคตรูปแบบครอบครัวในสังคมไทยเองเปลี่ยนจากครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ฉะนั้นการเตรียมวาระสุดท้ายของตนเองอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะอีกไม่ช้าสังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ทะลุระดับสุดยอด


อ้างอิง

1) โพสต์ทูเดย์ (16 กันยายน 2559). ธุรกิจวาระสุดท้ายของชีวิต…รับสังคมผู้สูงอายุ. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/life/healthy/456632.

2) เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ) (2559). ถอดบทเรียนจ้างงานและบริหารทรัพยากรมนุษย์ของญี่ปุ่นยุคสูงวัยระดับสุดยอด. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

3) Cabinet Office (2018). Heisei 29 nen ban koureisyakai hakusyo (zentaiban). Retrieved from https://www8.cao.go.jp/kourei/whitepaper/w-2017/html/zenbun/index.html.

4) Kimura Yuka (2017). Shimbun houdou ni okeru syuukatsu no torae kata to sono hensen. Doctoral thesis, Yokohama National Univeristy. Retrieved from  https://www.msi.co.jp/tmstudio/stu17contents/No21_muc17_TMS.pdf.

5) Lastel (2019). Rasuteru sinyokohama. Retrieved from http://lastel.jp/shinyokohama/.

6) Matsumoto Jun (2017 OCT 3). Tokusyuu: Nobiru syuukatsu bijinesu. Economist Weekly. Retrieved from https://www.weekly-economist.com/20171003feature/.

7) Ministry of Health, Labour and Welfare (2018). Setaisuu to setai jinin no jyoukyou. Retrieved from https://www.mhlw.go.jp/toukei/saikin/hw/k-tyosa/k-tyosa18/dl/02.pdf.

8) Okamoto Miyoko, Shimada Hiromi and Saito Nao (2017). View of Life and Death among Elderly People and Preparatory Actions for the End of life-A Comparison of Elderly Persons Living in Urban and Rural Areas in Japan-. Faculty of Health Care and Nursing, Juntendo University. 19, 62-69. Retrieved from http://www.nurs.juntendo.ac.jp/file/iryokangokenkyu13_2_07.pdf.

9) Statistics Bureau of Japan (2018). Jinkou suikei (2018 nen (Heisei 30 nen) 10 gatsu tsutachi genzai). Retrieved from https://www.stat.go.jp/data/jinsui/2018np/index.html#a05k30-a.

10) Syukatsu Netto (2019). Syuukatsu bus tour ni sanka siyou! Tsua naiyou ya sanka suru meritto mo syoukai. Retrieved form: https://syukatsulabo.jp/article/6394.

11) The Asahi Shimbun (18 March, 2018). Nyukan taiken de oi kangaeru nagano de ibento. Retrieved from https://www.asahi.com/articles/photo/AS20180318000573.html.

12) The Asahi Shimbun (20 July 2018). Heikin jyumyou, Danjuro Tomo saikou Kyushin Sekai de Josei 2 I, Daisei 3 i. Retrieved from https://www.asahi.com/articles/ASL7N51XSL7NUTFK01Y.html.

13) The District Economics Research Institute of Kumamoto Area (2017). “Syuukatsu” ni kansuru Ishiki Cyousa -Karoku ni musketeer jyunbi Suru syuukatsu toha-. Retrieved from https://www.dik.or.jp/wp-content/uploads/2017/05/p_syukatsu_1.pdf.

14) The End of life Counselor Association (2013). Meiwaku wo kakenai sinikata, Owarikata no jyunbi. Datsumikku.

15) The End of life Counselor Association (2019). Shukatsu to wa. Retrieved from https://www.shukatsu-csl.jp/.

16) The Nikkei (3 July, 2019). Koureisyasetai no syuunyuu, kou teki nenkin ga 6 wari sousyotoku wa 334 man en. Retreived from https://www.nikkei.com/article/DGXMZO46874810S9A700C1EE8000/.


บทความล่าสุด

เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค
เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเหตุการณ์ที่นายหวังซิง (หรือชื่อเล่นว่าซิงซิง) นักแสดงชาวจีนถูกหลอกให้มาแคสงานแสดงที่ประเทศไทย แต่สุดท้ายกลับถูกพาไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และถูกพาข้ามพรมแดนไปยังประเทศเมียนมาแล้วหายสาบสูญไป กระทั่งแฟนสาวของซิงซิงได

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ การยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวจีนเติบโตขึ้นถึง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลูกเล่นหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเล่น “คำผวน” ซึ่งเป็นการเล่นคำโดยการสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะต้น กับเสียงสระและตัวสะกดและวรรณยุกต์ของคำจำนวน 2 พยางค์ขึ้นไป เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีควาหมายก็ได้

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์
2568
กระแสเอเชีย
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนที่ติดตั้งกลางสี่แยกห้วยขวางบนโลกอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และหลายฝ่ายให้ความสนใจ กระทั่งสำนักงานเขตห้วยขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกา

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย