สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์

ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา

ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลูกเล่นหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเล่น “คำผวน” ซึ่งเป็นการเล่นคำโดยการสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะต้น กับเสียงสระและตัวสะกดและวรรณยุกต์ของคำจำนวน 2 พยางค์ขึ้นไป เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีควาหมายก็ได้ ซึ่งคำที่ผวนแล้วนั้นจะสามารถเชื่อมโยงกับคำเดิมได้ เนื่องจากมีสัมผัสต่อกันทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร เช่น สิงโต-โสติง ผมลาย-ผายลม เทียนไข-ไทเขียน เป็นต้น

การผวนคำมีเป้าหมายในการสร้างความสนุกสนานในการใช้ภาษา และบางครั้งก็เป็นการประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์วรรณกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาเช่นกัน เช่น วรรณกรรมสรรพลี้หวนอันโด่งดัง และนิทานคำผวนเรื่องสิงโตตัวหนึ่ง

สำหรับการผวนคำนั้น โดยหลักการแล้วเป็นที่แน่ชัดว่าคือการสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะต้นและเสียงสระกับตัวสะกดท้ายพยางค์ รวมทั้งเสียงวรรณยุกต์ด้วย แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีความลักลั่นบางประการเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเสียงวรรณยุกต์ ว่าจะต้องมีการย้ายตามเสียงสระไป หรือให้คงอยู่กับเสียงพยัญชนะต้น เช่น คำว่า “คุณแม่” ควรจะผวนเป็น “แคมุ่ณ” ซึ่งสลับเพียงเสียงสระและเสียงตัวสะกด แต่ไม่สลับวรรณยุกต์ หรือควรจะผวนเป็น “แค่มุณ” ซึ่งสลับทั้งเสียงสระ ตัวสะกดและวรรณยุกต์

ทั้งนี้เราอาจพบลักษณะการใช้ภาษาที่คล้ายคลึงกันกับคำผวนของภาษาไทยได้ในภาษาจีนเช่นกัน โดยในอดีต สมัยที่ภาษาจีนยังไม่มีระบบการระบุเสียงด้วยเครื่องหมายแทนเสียงหรือสัทอักษรที่เป็นอักษรโรมัน ชาวจีนโบราณเหล่านั้นได้ประยุกต์ใช้ตัวอักษรจีนในการระบุเสียงให้กับตัวอักษรจีนด้วยกัน โดยแรกเริ่มนั้นชาวจีนโบราณใช้อักษร 1 ตัว ระบุเสียงของอักษรอีก 1 ตัว เช่น 璡,音津 ซึ่งบ่งบอกเสียงอ่านว่า อักษร 璡 มีเสียงอ่านเดียวกับอักษร 津 (ซึ่งอ่านว่า “จิน” ทั้งคู่) อย่างไรก็ตาม ระบบการระบุเสียงเช่นนี้มีข้อจำกัดอยู่ที่ผู้อ่านจำเป็นจะต้องอ่านอักษรตัวที่นำมากำกับเสียงนั้นออก เพราะถ้าหากอ่านไม่ได้ ก็จะไม่ทราบถึงเสียงอ่านของอักษรอีกตัวเช่นกัน การระบุเสียงนี้ก็จะไม่เกิดผล ดังนั้นจึงเริ่มมีการพัฒนาระบบการระบุเสียงแบบใหม่คือระบบการฝ่านเชี่ย(反切)ขึ้นมา ซึ่งระบบฝ่านเชี่ยนี้เป็นระบบการระบุเสียงที่ใช้อักษร 2 ตัวมาระบุเสียงให้กับอักษร 1 ตัว โดยอักษร 2 ตัวที่นำมาระบุเสียงนั้นจะแยกหน้าที่กันในการระบุเสียง โดยอักษรตัวแรกจะระบุเสียงพยัญชนะต้น ส่วนอักษรตัวที่สองจะระบุเสียงส่วนท้ายพยางค์ (สระรวมตัวสะกดและวรรณยุกต์) ซึ่งหากอธิบายแบบบรรยายเกรงว่าจะไม่เห็นภาพ จึงขอนำเสนอตัวอย่างดังนี้ 中,陟弓切  อักษร 中 (จง) คืออักษรตัวที่ถูกระบุเสียง ส่วนอักษรที่ระบุเสียง 2 ตัว คือ 陟 (จื้อ) และ 弓 (กง) ส่วนอักษรตัวสุดท้ายคืออักษร 切 (เชี่ย) นั้นเป็นเพียงคำอธิบายว่าเป็นการระบุเสียงแบบฝ่านเชี่ยเท่านั้น โดย 切ย่อมาจากคำเต็มว่าฝ่านเชี่ย(反切)นั่นเอง และในบางครั้งก็ย่อโดยใช้คำว่า 反 (ฝ่าน) แทน เป็น 中,陟弓反 ก็ได้

จากตารางจะสังเกตได้ว่าอักษร 中 จะมีเสียงพยัญชนะเดียวกับอักษร 陟 และมีส่วนท้ายพยางค์เดียวกับอักษร 弓 นั่นเอง ดังนั้นการระบุเสียงด้วยระบบฝ่านเชี่ยคือการนำอักษร 2 ตัวมาตัดครึ่งแล้วประกบกันใหม่ โดยเลือกเอาเสียงพยัญชนะต้นจากตัวหนึ่งมาประกบเข้ากับส่วนท้ายพยางค์จากอีกตัวหนึ่ง ก็จะได้เสียงอ่านของอักษรตัวที่ต้องการจะระบุเสียง หรือเทียบเป็นสมการโดยคร่าวได้ว่า A+B=C ในกรณีนี้คือ 陟+弓=中 หรือก็คือ (จื้อกง) รวมกันเป็น (จง) นั่นเอง ซึ่งวิธีการระบุเสียงเช่นนี้เป็นการระบุเสียงที่รัดกุมและแม่นยำ ทั้งยังลดข้อจำกัดของระบบการระบุเสียงด้วยอักษรตัวเดียวได้อีกด้วย

จะสังเกตได้ว่าหลักการของการระบุเสียงด้วยระบบฝ่านเชี่ยนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับการผวนคำอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะหลักการอันว่าด้วยการแยกส่วนเสียงในพยางค์ออกเป็น 2 ส่วน คือ เสียงพยัญชนะต้นและเสียงส่วนท้ายพยางค์ (ซึ่งควบรวมทั้งสระ ตัวสะกดและวรรณยุกต์) แล้วนำทั้ง 2 ส่วนนั้นมาสลับตำแหน่งกันเพื่อก่อให้เกิดการผสมเสียงเป็นพยางค์ใหม่เกิดขึ้น จะมีความแตกต่างกันก็เพียงภาษาจีนใช้ระบบนี้ในการระบุเสียงอ่านของตัวอักษร แต่ภาษาไทยใช้การผวนคำในการละเล่นทางภาษา ทั้งนี้นอกจากลักษณะที่คล้ายกันแล้ว คำว่า “ผวน” กับ“反”ก็ยังมีความสอดคล้องกันในบางประการ เช่น ความหมายที่หมายถึงการ “กลับ” ดังที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ในความหมายว่า “[ผฺวน] ก. หวน, กลับ, เช่น ผวนคำ, เรียกคำที่พูดทวนกลับเช่นนั้น เช่น ตกที่อิฐ ผวนเป็น ติดที่อก ว่า คำผวน.” ส่วนคำว่า “反”(ฝ่าน) ก็มีความหมายว่า “หวน, กลับ” เช่นกัน ในอักขรานุกรมซิวหฺวา(新華字典)ความว่า “翻转,颠倒;和原来的不同;反对,反抗;类推;回,还” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยคร่าวได้ว่า “พลิกกลับ, ล้มลง; ไม่เหมือนกับสภาพดั้งเดิม; ปฏิเสธ, ต่อต้าน; เปรียบเทียบ; กลับ, หวนคืน” และอีกประเด็นได้แก่ประเด็นด้านเสียงอ่าน หากพิจารณาจากเสียงอ่านของคำว่า “ผวน” เทียบกับเสียงอ่านของ “反”(ฝ่าน) ก็จะพบว่าเสียงอ่านของทั้งสองคำนั้นยากที่จะเชื่อมโยงหากันได้ แต่นั่นเป็นเพราะเราใช้เสียงอ่านที่ไม่ถูกต้อง การเทียบเสียงอ่านของภาษาไทยกับภาษาจีนควรที่จะใช้เสียงภาษาจีนโบราณ อย่างน้อยก็คือภาษาจีนโบราณยุคกลาง (Middle Chinese) ขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อเราพิจารณาจากเสียงอ่านของคำว่า 反 ในระบบเสียงภาษาจีนโบราณยุคกลาง จากอักขรานุกรมก่วงอวิ้น《广韵》ก็จะพบว่าคำว่า 反 นั้นอ่านว่า [pʰǐwɐn] ซึ่งอาจปริวรรตการระบุเสียงเป็นอักษรไทยโดยคร่าวว่า “ผยวาน” อันจะมีความใกล้เคียงกับ “ผวน” มากทีเดียว

บทสรุป

“ผวน” กับ “ฝ่าน”(反)ต่างก็เป็นลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในด้านการสลับตำแหน่งของพยัญชนะต้นและส่วนท้ายพยางค์ ทั้งยังมีความหมายทับซ้อนกันในความหมายว่า “หวน, กลับ” และยังมีเสียงอ่านที่ใกล้เคียงกันด้วย ทั้งนี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตจากลักษณะร่วมเหล่านี้ได้ว่าคำทั้งสองอาจอยู่ในสถานะคำร่วมเชื้อสายไทย-จีน ซึ่งจำเป็นต้องพิสูจน์ในเชิงลึกทั้งด้านสัทวิทยา อักขรวิทยาและศัพทมูลวิทยาต่อไป

หมายเหตุ

การถ่ายถอดเสียงภาษาจีนกลางในบทความนี้อ้างอิงตาม “เกณฑ์การถ่ายถอดเสียงภาษาจีนแมนดารินด้วยอักขรวิธีไทย” โดยคณะกรรมสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้ถ่ายถอดเป็นสัทอักษรสากลหรือสัทอักษรพินอิน เพื่อผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาจีนจะสามารถทำความเข้าใจได้โดยตรง

การถ่ายถอดเสียงภาษาจีนโบราณยุคกลางในบทความนี้อ้างอิงตามระบบเสียงสืบสร้างของหวังลี่(王力)ซึ่งถ่ายถอดเป็นสัทอักษรสากล โดยสืบค้นจากเว็บไซต์ ZDic.net

รายการอ้างอิง

  • สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2553). คลังความรู้ “คำผวน”. เข้าถึงจาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=คำผวน-๓๐-พฤศจิกายน-๒๕๕๓
  • สุรีพร ธรรมนุช. (2554). ภาษาไทยที่รัก “ภาษาไทยอลเวง”. เข้าถึงจาก https://b-sureeporn.blogspot.com/2011/
  • พิสูจน์ ใจเที่ยงกุล. (2012). คำผวน : ชั้นเชิง ลูกเล่น ลีลา ภาษาไทย. GotoKnow. เข้าถึงจาก https://www.gotoknow.org/posts/104407
  • E-Book Buffet: ห้องสมุดประชาชน อ.ท่าบ่อ. (2021). เกณฑ์การถ่ายถอดเสียงภาษาจีนแมนดารินด้วยอักขรวิธีไทย. เข้าถึงจาก https://pubhtml5.com/yqiq/mzxs/basic/
  • สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔. เข้าถึงจาก https://dictionary.orst.go.th/
  • 汉典. (N.D.).「反」中古音. ZDic.net https://www.zdic.net/zd/yy/zgy/反
  • 新华字典. (1998). Commercial Press

บทความล่าสุด

เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค
เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเหตุการณ์ที่นายหวังซิง (หรือชื่อเล่นว่าซิงซิง) นักแสดงชาวจีนถูกหลอกให้มาแคสงานแสดงที่ประเทศไทย แต่สุดท้ายกลับถูกพาไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และถูกพาข้ามพรมแดนไปยังประเทศเมียนมาแล้วหายสาบสูญไป กระทั่งแฟนสาวของซิงซิงได

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ การยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวจีนเติบโตขึ้นถึง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนที่ติดตั้งกลางสี่แยกห้วยขวางบนโลกอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และหลายฝ่ายให้ความสนใจ กระทั่งสำนักงานเขตห้วยขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกา

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา

ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์
2567
กระแสเอเชีย