สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

“วาย” โลกของผู้ชายที่ไม่ได้มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง : บทสำรวจเพศวิถีในสื่อบันเทิงบอยเลิฟของญี่ปุ่น

โดย ดร.กฤตพล วิภาวีกุล


ภาพฉลองยอดขายเกิน 1 ล้านเล่ม ของมังงะเรื่อง Caste Heaven Credit: twitter カーストヘヴン【公式】

.

ในปัจจุบันเรื่องเล่าความรักโรแมนติกระหว่างผู้ชาย หรือที่เรียกว่าสื่อบันเทิง “วาย” ปรากฏอยู่บนสื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น นวนิยาย ภาพยนตร์ซีรีส์ อนิเมชัน มังงะหรือเกมส์ และกำลังได้รับความนิยมทั้งจากผู้ชมชาวไทยและต่างชาติ รัฐบาลไทยคาดหวังว่าสื่อบันเทิง “วาย” จะสามารถเติบโตในตลาดโลกในฐานะสินค้าวัฒนธรรมที่เป็นแหล่งที่มาของซอฟต์พาวเวอร์ (resources of soft power) ให้แก่ประเทศไทยได้ ทว่ากระแสนิยมสื่อบันเทิง “วาย” ได้ก่อให้เกิดวิวาทะทางสังคมขึ้นมาหลายประเด็น เริ่มตั้งแต่การยอมรับอัตลักษณ์ของกลุ่มแฟนคลับที่เรียกว่า “สาววาย” ในสังคม หรือคำถามว่าสื่อบันเทิง “วาย” กับสื่อบันเทิง “เกย์” เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่? และข้อวิพากษ์ว่าสื่อบันเทิง “วาย” ควรเป็นพื้นที่ของ LGBT แต่กลับนำเสนอเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของ LGBT  ตลอดจนเน้นเฉพาะผลทางการตลาดแต่ขาดคุณค่าทางวรรณศิลป์ ?

คำถามเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดความเข้าใจต่อสื่อบันเทิงวายอย่างรอบด้าน สื่อบันเทิงวายในประเทศไทยมีต้นกำเนิดจากสื่อบันเทิงยาโออิ (Yaoi) หรือ บอยเลิฟ (boys love: BL) ของญี่ปุ่น ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น “สื่อบันเทิงโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง”(การสำรวจตลาดสื่อบันเทิงวายในไทย พ.ศ. 2563 พบว่าผู้ชม 72% เป็นผู้หญิง [1]) บอยเลิฟของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้นำเสนอภาพความเป็นจริงหรือ “ไลฟ์สไตล์ของเกย์” ในโลกความเป็นจริง รวมถึงหลีกเลี่ยงไม่วิพากษ์ประเด็นทางสังคมของเกย์ แต่ต้องการนำเสนอเพียงชายหนุ่มในอุดมคติที่ผู้หญิงญี่ปุ่นปรารถนาและวาดฝันอยากพบในชีวิตจริง การเสนอความรักระหว่างผู้ชายในบอยเลิฟจึงมักไม่มีวัฒนธรรมเกย์เป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี การพิจารณาบนฐานคิดที่ว่าสื่อบันเทิงวายของไทยต้องเหมือนกับสื่อบันเทิงบอยเลิฟของญี่ปุ่นที่ “ผลิตโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง”อาจเป็นมุมมองที่คับแคบเกินไป เพราะมองข้ามความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมบอยเลิฟที่หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมและสื่อในแต่ละท้องถิ่น จนสามารถพัฒนาไปสู่วัฒนธรรมข้ามชาติที่แตกต่างไปจากญี่ปุ่นได้ [2] [3]

ปัจจุบันวายหรือบอยเลิฟของไทยได้พัฒนาต่อยอดจากญี่ปุ่น และสามารถเปิดพื้นที่ที่สะท้อนความจริงของ LGBT มากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจกล่าวได้ว่าวายของไทยพัฒนาไปไกลกว่าบอยเลิฟของญี่ปุ่นแล้ว กระนั้นประเด็นถกเถียงทางสังคมที่ยังคงปรากฎให้เห็นอยู่ดังที่กล่าวมาข้างต้นก็สะท้อนว่าองค์ความรู้ภาษาไทยที่อธิบายคุณค่าทางวัฒนธรรมบอยเลิฟในฐานะเครื่องมือสำหรับสร้างเสรีภาพในการแสดงเพศวิถี (sexuality) ก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด [4] [5] บทความนี้จึงพยายามสำรวจความคิดของนักวิชาการด้านบอยเลิฟ (BL studies) เกี่ยวกับเพศวิถีในสื่อบันเทิงบอยเลิฟของญี่ปุ่นซึ่งถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษ 1990 จากมุมมองแบบสตรีนิยม เพื่อทำความเข้าใจว่าบอยเลิฟสามารถท้าทายอำนาจของสังคมชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย (patriarchy) ที่ผูกขาดความหมายของ “เพศวิถีที่ถูกต้อง” และสร้างโลกของผู้ชายที่ไม่ได้มีผู้ชายเป็นศูนย์กลางได้อย่างไร

.

การเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างเพศ

บอยเลิฟเป็นสื่อบันเทิงที่แพร่หลายอย่างมากในปัจจุบัน แต่กลุ่มแฟนคลับของสื่อประเภทนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาววัยรุ่นที่ถูกเรียกว่า “สาววาย” ในไทย และ “ฟุโจชิ” (fujoshi) ในญี่ปุ่น ยังคงรู้สึกว่าอัตลักษณ์ของพวกเธอเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดลบซ่อนจากสายตาของคนส่วนใหญ่อยู่ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือบอยเลิฟเป็นสื่อบันเทิงที่มีการแสดงออกทางเพศอยู่ภายในเนื้อหาค่อนข้างมาก [6] และสิ่งที่ดึงดูดใจแฟนคลับสาววัยรุ่นก็คือฉากรักอีโรติกที่เผยเรือนร่างของหนุ่มน้อยรูปงามเพื่อกระตุ้นจินตนาการทางเพศ  ปรากฎการณ์ที่ผู้หญิงชื่นชอบความรักระหว่างผู้ชายแบบเปิดเผยเช่นนี้เป็นเรื่องที่ผู้ชายที่เติบโตภายใต้อุดมการณ์ปิตาธิปไตยทั้งในญี่ปุ่นและไทยไม่อาจยอมรับได้ จึงไม่แปลกที่จะเกิดปฏิกิริยาเชิงลบทั้งสงสัย หวาดระแวง หรือกระทั่งรังเกียจ ในสังคมไทยผู้ชายจำนวนไม่น้อย “รับไม่ได้” หากรู้ว่าคู่รักของตนคลั่งไคล้การเสพสื่อบันเทิงประเภทนี้ เพราะยังมีความเข้าใจพฤติกรรมทางเพศวิถีของสาววายที่คลาดเคลื่อน  เช่น “ตกใจมากจริงๆ ไม่คิดว่าแฟนจะชอบเกย์” “รู้สึกเหมือนถูกหักหลัง” ทั้งที่ผู้หญิงอาจหลงใหลวายหรือบอยเลิฟเพียงเพราะชอบคนเพศเดียวกันรักกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องมีเพศวิถีแบบรักเพศเดียวกันเสมอไป [7]

“ความไม่เสมอภาค” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “สองมาตรฐาน” ในมิติของ “การแสดงออกทางเพศ” ปรากฎให้เห็นอยู่เสมอในสังคมชายเป็นใหญ่ทั้งในไทยและญี่ปุ่น ผู้ชายสามารถเสพสื่อบันเทิงหรือบริการทางเพศในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย ทั้งยังเป็นภาพลักษณ์เชิงบวกเพราะแสดงออกถึงความเป็นชายที่เข้มแข็ง หากยังคงกระทำใน “ระดับที่พอเหมาะ” แต่ในทางตรงข้ามสังคมในปัจจุบันก็ยังคงมีค่านิยมหลักว่าการเสพสื่อทางเพศสำหรับผู้หญิงเป็นสิ่งที่ไม่งาม เป็นเรื่องต้องห้าม หรืออาจถูกมองว่าวิปริตด้วยซ้ำ สอดคล้องไปนับนิยามของ “เพศวิถีที่ถูกต้อง” ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของอุดมการณ์ปิตาธิปไตย และยิ่งผู้หญิงชื่นชอบความรักแบบถึงเนื้อถึงตัวระหว่างผู้ชายด้วยกันเองแล้ว ก็ยิ่งสั่นคลอนทั้งความเข้าใจและความมั่นใจของผู้ชายที่ถูกประกอบสร้างขึ้นภายใต้โครงสร้างของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่

ทำไมสาวรุ่นใหม่ถึงชื่นชอบความรักระหว่างผู้ชาย? และความรักนี้สัมพันธ์กับการปลดปล่อยการผูกขาดความหมายของ “เพศวิถีที่ถูกต้อง” จากผู้ชายได้อย่างไร? การผูกขาดหรือการกำหนดนิยามของ “เพศวิถีที่ถูกต้อง” เป็นประเด็นสำคัญในการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคใน “การเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างเพศหญิงและชาย”  (Heterosexual politics) มานับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 กรอบความคิดหลักที่ครอบงำการกำหนดความหมายของเพศวิถีที่ถูกต้องได้แก่ความเชื่อของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกและความรู้ทางการแพทย์ ซึ่งต่างก็สนับสนุนการควบคุมเพศวิถีตามค่านิยมของสังคมชายเป็นใหญ่ แต่เดิมสังคมของชาวคริสต์นิกายคาทอลิกกำหนดความหมายและพฤติกรรมของ  “เพศวิถีที่ถูกต้อง”  เอาไว้คือ การประกอบกิจกรรมทางเพศต้องเป็นกิจกรรมเพื่อการสืบพันธุ์ของมนุษย์เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นล้วนแต่เป็นการกระทำที่บาปและชั่วร้าย ส่วนกามกิจแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน (Homosexual) การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง การไม่หลั่งอสุจิในช่องคลอด การร่วมเพศทางทวารหนัก และการร่วมเพศกับสิ่งของอื่นนอกจากอวัยวะเพศ ล้วนเป็น “เพศวิถีที่ไม่ถูกต้อง” ทั้งสิ้น ส่วนความรู้ทางการแพทย์โดยเฉพาะความรู้ทางจิตวิทยาก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการควบคุมพฤติกรรมทางเพศให้ถูกต้อง โดยทำหน้าที่จัดระเบียบมนุษย์ตั้งแต่การสำเร็จความใคร่  นิยามให้การประกอบกามกิจที่มากเกินพอดีเป็น “การเสพติดเพศ”  ไปจนถึงการนิยามให้รักร่วมเพศเป็นปัญหาสภาวะทางจิต นอกจากนั้น ความพยายามควบคุมอวัยวะเพศและความต้องการทางเพศของผู้หญิงด้วยความรู้แบบจารีตดั้งเดิมและความรู้สมัยใหม่ทางการแพทย์ก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันเรื่อยมาตลอดในประวัติศาสตร์ของสังคมชายเป็นใหญ่ [8]

แนวคิดในลักษณะชายเป็นใหญ่นี้มีมาแต่อดีตและตอกย้ำด้วยการผลิตซ้ำทางความคิดเรื่อยมา โดยเฉพาะหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งนำไปสู่การแบ่งแยกงานอย่างชัดเจนระหว่างชาย-หญิง โดยกำหนดให้ผู้ชายทำงานนอกบ้านหารายได้เลี้ยงครอบครัวและผู้หญิงมีหน้าที่ทำงานบ้านและเลี้ยงดูบุตร เป็นรากฐานที่สร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจในครอบครัวให้ผู้ชายเป็นใหญ่ และเป็นผู้นำของครอบครัวจากสถานะทางสังคม พร้อมกับสถาปนาข้อจำกัดต่างๆ ให้แก่ผู้หญิงทั้งทางครอบครัวและสังคม

ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง การแสดงออกทางเพศสำหรับผู้หญิงภายในสังคมปิตาธิไตยจึงไม่ใช่การปลดปล่อยอย่างอิสระ แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายใต้การกดทับทางสังคมด้วยความกลัวและความรู้สึกผิดบาปอยู่เสมอ ความรู้สึกแรกต่อกามกิจสำหรับผู้หญิงนั้นจึงไม่ใช่ “ความปรารถนา” แต่เป็น “ความกลัว”  และหากมีกลไกบางอย่างในร่างกายของผู้หญิงที่นำไปสู่ “ความปรารถนา” ได้ แรงกระตุ้นนั้นก็มักถูกควบคุมด้วยค่านิยมทางสังคม เช่น ความไร้ยางอาย [9] ในสังคมชายเป็นใหญ่มักเกิดแรงต้านต่อการแสดงออกทางเพศของผู้หญิง ความเชื่อเหล่านี้กดทับผู้หญิงตั้งแต่วัยแรกรุ่น ฝังลึกลงไปในจิตใต้สำนึกจนกลายเป็นปัจจัยที่ขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออกและรับรู้ทางเพศของผู้หญิง [10]

ความไม่เสมอภาคและการกดขี่ทางเพศในสังคมปิตาธิปไตยจึงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในชีวิตประจำวันโดยที่เราอาจไม่ตระหนักถึง หนึ่งในตัวอย่างที่แสดงถึงความไม่เสมอภาคในการแสดงออกทางเพศระหว่างหญิงและชายก็คือ “สื่อเร้าอารมณ์ทางเพศ” (Pornography) หรือที่นิยมเรียกว่า “สื่อลามก” โดยทั่วไปสื่อเร้าอารมณ์ทางเพศเป็นสื่อที่ผลิตขึ้นตามค่านิยมของสังคมชายเป็นใหญ่ โดยมักนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงซึ่งถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และทำให้กลายเป็นวัตถุ (Objectifying) หรือทำให้ต่ำต้อย (Degrading) กล่าวคือผู้หญิงที่ปรากฏในสื่อเร้าอารมณ์ทางเพศส่วนใหญ่มักแสดงท่าทางดึงดูดยั่วยวนมากเกินปกติ และท่าทางในลักษณะนี้สร้างความรู้สึกแปลกแยกให้แก่ผู้เสพสื่อที่เป็นผู้หญิง ลูกค้าที่เสพสื่อเร้าอารมณ์ทางเพศส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง [10] สื่อเร้าอารมณ์ทางเพศหรือ “หนังโป๊” ส่วนใหญ่ตอกย้ำให้เห็นความสุขทางเพศที่ฝ่ายหญิงได้รับโดยแสดงออกด้วยเสียงร้องของผู้หญิงจากการสอดใส่ด้วยอวัยวะเพศขนาดใหญ่ของผู้ชาย[8] สื่อเร้าอารมณ์ทางเพศกระแสหลักในสังคมจึงมี “ผู้ชายเป็นศูนย์กลาง” และแสดงออกถึงการกดขี่ทางอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง ใน 3 แง่มุม ได้แก่ 1) กำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบตายตัวระหว่างชาย-หญิง 2) ลดถอนสถานะของผู้หญิงหรือทำให้เพศหญิงเป็นวัตถุ 3) แสดงความรุนแรงทางเพศในรูปแบบที่ตายตัว [6]

เมื่อสื่อเร้าอารมณ์ทางเพศตามค่านิยมในสังคมชายเป็นใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้ชาย แล้วสื่อเร้าอารมณ์ทางเพศที่มี “ศูนย์กลางอยู่ที่ผู้หญิง” จะมีหน้าตาเช่นไร? ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ผู้ผลิตสื่อที่มีแนวคิดแบบสตรีนิยมได้พยายามผลิตสื่อเร้าอารมณ์ทางเพศสำหรับผู้หญิงมากขึ้น [10] แต่ความนิยมต่อสื่อประเภทนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัดหากกับกระแสความนิยมบอยเลิฟในปัจจุบัน แม้ว่าสื่อบันเทิงบอยเลิฟหลายเรื่องอาจมีเนื้อหาไม่ถึงขั้นที่เป็น “สื่อลามก” ในความหมายทั่วไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฉากอีโรติกที่เผยเรือนร่างของหนุ่มน้อยรูปงามเพื่อกระตุ้นจินตนาการทางเพศเป็นแก่นสำคัญที่ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ในแง่นี้บอยเลิฟจึงสามารถจัดวางให้เป็น “สื่อเร้าอารมณ์ทางเพศ” ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี กระแสนิยมบอยเลิฟก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่า บอยเลิฟกลายเป็นสื่อเร้าอารมณ์ทางเพศที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นเรื่องราวความรักโรแมนติกระหว่างผู้ชาย และหลายครั้งผู้หญิงแทบไม่มีบทบาทเลยด้วยซ้ำ

.

เพศวิถีในบอยเลิฟจากมุมมองแบบสตรีนิยม

บอยเลิฟหรือยาโออิเป็นชื่อเรียกรวมของเรื่องเล่าความรักโรแมนติคระหว่างผู้ชายที่เริ่มต้นพัฒนาจากมังงะสำหรับผู้หญิงในญี่ปุ่น กลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีเพศวิถีแบบรักต่างเพศ (Heterosexuality) คำว่ายาโออิเริ่มใช้กันช่วงทศวรรษ 1980 ในแวดวง “โดจินชิ” (Doujinshi) ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบทั้งมังงะ นิยาย หนังสือภาพ หรืออนิเมะขนาดสั้น ผลิตโดยกลุ่มแฟนหรือนักเขียนมือสมัคร เล่นเพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายกันเองในกลุ่มแฟนด้วยกันเองโดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์ตามระบบตลาดมาตรฐาน ในไทยเรียกกลุ่มงานประเภทนี้ทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นว่า “โดจินชิ” หรือภาษาอังกฤษว่า “แฟนฟิก” (fan fiction) ก็มี ที่มาของคำว่ายาโออิมีหลากหลายคำบอกเล่า แต่ก็ให้คำนิยามใกล้เคียงกันว่าย่อมาจากภาษาญี่ปุ่นว่า “Yama nashi, Ochi nashi, Imi nashi” แปลว่า “ไม่มีไคลแม็กซ์ ไม่มีประเด็นจบ และไม่มีสาระ” ซึ่งสะท้อนคุณลักษณะของงานเขียนประเภทนี้ว่าไม่ได้เน้นที่ขนบการดำเนินเรื่องที่ต้องมีประเด็นหรือสาระ แต่เน้นไปที่ความพอใจของผู้เขียนเป็นหลัก

เรื่องเล่าความรักโรแมนติคระหว่างผู้ชายของญี่ปุ่นสามารถแบ่งแยกออกเป็นแนวย่อยตามคุณลักษณะและพัฒนาการเป็น 4 แนวได้แก่ โชเน็นไอ (Shonen-ai) จูเนะ (JUNE) ยาโออิ (yaoi) และบอยเลิฟ โดยปัจจุบันจะเรียกรวมผลงานประเภทนี้ด้วยคำว่า “ยาโออิ” ที่ใช้ตัวอักษรวายตัวใหญ่ (Yaoi) โชเน็นไอแปลว่าความรักของเด็กชายเป็นชื่อเรียกมังงะที่เผยแพร่ในนิตยสารมังงะแนวโชโจะ (Shojo) หรือแนวสาวน้อยช่วงทศวรรษ 1970 จนถึงต้น 1980 เป็นหมุดหมายแรกของการสร้างสรรค์ผลงานแนวชายรักชายของญี่ปุ่น จูเนะ (JUNE) เป็นชื่อนิตยสารเฉพาะทางที่ลงตีพิมพ์ทั้งมังงะและนิยายรักระหว่างผู้ชายหรือทันบิ (Tanbi) เผยแพร่ระหว่างค.ศ. 1978-1996 ยาโออิ (yaoi) เป็นคำศัพท์ที่เริ่มใช้ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 เพื่อเรียกผลงานความรักโรแมนติกชายรักชายที่แต่งโดยผู้อ่านหรือโดจินชิ ทั้งผลงานประเภทล้อเลียน (Parody) จากมังงะหรืออนิเมะกระแสหลักสำหรับเด็กผู้ชายที่เรียกว่า “โชเน็น” (Shonen) รวมไปถึงผลงานที่แต่งขึ้นใหม่ ส่วนบอยเลิฟต์เป็นคำเรียกผลงานที่แต่งขึ้นใหม่ที่ไม่ใช่งานล้อเลียนตั้งแต่ ค.ศ. 1992  [9] นอกจากความรักระหว่างผู้ชายแล้วก็ยังมีงานประเภทความรักระหว่างผู้หญิงเรียกว่า “ยูริ” (Yuri) ด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างชาย-ชายหรือหญิง-หญิง จุดร่วมสำคัญของผลงานแนวนี้คือเป็นความรักโรแมนติคระหว่างเพศเดียวกัน

ภาพปกหน้าของนิตยสาร JUNE จากการนำเสนอผลงานวิจัยของฟูจิโมโตะ ยูการิ
ในงานสัมมนาของ Japan Society for Studies in Cartoons and Comics ,Credit: mediag.bunka.go.jp

.

บอยเลิฟของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักปรากฎในรูปแบบมังงะ โดยมีตัวละครหลักเป็นหนุ่มน้อยรูปร่างหน้าตาดีและดูอ่อนเยาว์ แม้ว่าบริบทในเรื่องอาจจัดวางให้ตัวละครเอกมีอายุในช่วงวัยกลางคนก็ตาม ความสัมพันธ์ของตัวละครหนุ่มน้อยทั้งสองในบอยเลิฟส่วนใหญ่จะเป็นไปตามกฎ “เซเมะ-อุเคะ” (seme-uke) ซึ่งกำหนดบุคลิกของตัวละครและเพศวิถีที่ปรากฎในเรื่อง “เซเมะ” หมายถึงตัวละครที่มีเพศวิธีความเป็นชายมากกว่าทั้งด้านรูปร่างและลักษณะนิสัย เช่น ตัวสูงกว่า ร่างกายแข็งแรงบึกบึนกว่า นิสัยแข็งกร้าวกว่า รวมไปถึงการแสดงเพศวิถีซึ่งมักเป็นฝ่ายรุกหรือเป็นผู้สอดใส่ ในภาษาไทยนิยมเรียกตัวละครเซเมะว่า “พระเอก” ส่วน “อุเคะ” หรือ “นายเอก” จะมีบุคลิกที่อ่อนโยนแสดงความเป็นหญิงมากกว่า อุเคะมักมีส่วนสูงน้อยกว่า รูปร่างบอบบางกว่า และแสดงบทบาททางเพศเป็นฝ่ายรับหรือผู้ถูกสอดใส่

หากบอยเลิฟเป็นความรักร่วมเพศระหว่างผู้ชายแล้วเหตุใดผู้หญิงจำนวนไม่น้อยถึงได้ชื่นชอบจนเกิดความรู้สึก “ฟิน” (หมายถึงภาวะสนองตอบทางอารมณ์ตามสิ่งเร้า [3] ) ด้วย? นักวิชาการด้านบอยเลิฟจำนวนหนึ่งเสนอว่ากระแสนิยมบอยเลิฟปรากฏขึ้นในญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษ 20 เป็นกลไกที่เสนอทางหลบเลี่ยงความจริงทางสังคมจากการกดขี่เพศสภาพและเพศวิถีโดยอุดมการณ์ปิตาธิปไตย เพราะความรักร่วมเพศระหว่างผู้ชายในบอยเลิฟช่วยเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ให้ผู้หญิงสามารถ “เล่นกับเพศ(วิถี)” (Play with Sex(uality)) ได้

การสร้างสรรค์จินตนาการบนเรือนร่างของชายหนุ่มรูปงาม และการวางโครงเรื่องในพื้นที่ซึ่งแยกขาดจากโลกความเป็นจริงเป็นโครงสร้างของเรื่องเล่าที่สามารถพูดถึงเพศวิถีที่เคยถูกครอบงำโดยค่านิยมแบบรักต่างเพศภายใต้อุดมการณ์ปิตาธิปไตยได้ ในการเสพบอยเลิฟผู้หญิงจะสามารถปลดปล่อยตัวเองด้วยความสัมพันธ์ “ต้องห้าม” ระหว่างผู้ชาย การแปลงกายเป็นคู่รักชายหนุ่มผ่านการจินตนการ ทำให้ผู้หญิงไม่ต้องมองเห็นตัวเองเจ็บปวดเพียงลำพังอีกต่อไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแสดงออกทางเพศผ่านบอยเลิฟคือทำให้ผู้หญิงเป็นอิสระจากตำแหน่ง “ผู้ถูกกระทำ” และเคลื่อนเข้าสู่มุมมองของ “ผู้มอง” หรือ “ผู้กระทำ” ทั้งยังสามารถโต้ตอบในฐานะ “ผู้กระทำ” ได้  [9]

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในบอยเลิฟแตกต่างจากสื่อเร้าอารมณ์ทางเพศที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง แม้ว่าบอยเลิฟจะแสดงความรักและกามกิจระหว่างผู้ชายซึ่งยังคงเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะมีการแบ่งบทบาทฝ่ายรุก-ฝ่ายรับอย่างชัดเจน ไม่ต่างไปจากความสัมพันธ์เชิงแบบต่างเพศระหว่างคู่รักชาย-หญิง อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคู่รักชาย-ชาย แตกต่างจากคู่รักแบบชาย-หญิงตรงที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเพศสภาพ เมื่อผู้หญิงไม่ใช่ตัวละครหลักจึงไม่เกิดโครงสร้างเชิงอำนาจระหว่างชาย-หญิงแบบตายตัวขึ้นภายในเรื่อง นอกจากนั้น บอยเลิฟแตกต่างจากสื่อเร้าอารมณ์ทางเพศที่มักแสดงภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ถูกทำให้กลายเป็น “วัตถุ” ตัวอย่างเช่นหากเปรียบเทียบหน้าปกระหว่างมังงะสำหรับผู้ใหญ่ (Adult Manga) ซึ่งมีผู้ชายเป็นลูกค้าหลักกับมังงะบอยเลิฟ ปกหน้าของมังงะสำหรับผู้ใหญ่มักปรากฎเฉพาะภาพเรือนร่างของตัวละครหญิง ฉายจากมุมสายตาซึ่งเน้นไปที่ร่างกายเฉพาะส่วน เช่น หน้าอกหรืออวัยวะเพศ ในขณะที่มังงะบอยเลิฟจะนิยมแสดงภาพของคู่รักชายหนุ่มโดยไม่ได้เน้นที่ร่างกายส่วนใดหรือของใครเป็นพิเศษ แต่จะเน้นให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มคู่รัก [6]

ภาพของคู่รักพระเอก-นายเอกจากมังงะเรื่อง Hana no mizo shiru Credit: bs-garden.com

.

นอกจากนั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคู่รักชาย-ชายยังมีความเลื่อนไหลมากกว่าคู่รักชาย-หญิง แม้บอยเลิฟจะมีโครงสร้างหรือ “กฎ” เซเมะกับอุเคะ ทำให้ถูกวิจารณ์ว่ายังผลิตซ้ำความรักแบบต่างเพศที่มีอุดมการณ์ปิตาธิปไตยครอบงำอีกชั้นหนึ่งอยู่ อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างเซเมะกับอุเคะในบอยเลิฟของญี่ปุ่นระยะหลังมักมีความเลื่อนไหลมากขึ้น กล่าวคือสามารถสลับการกระทำตามการดำเนินเรื่องได้ตามการสร้างสรรค์ของผู้แต่ง แม้โดยพื้นฐานตัวละครเซเมะส่วนใหญ่มักมีความเป็นชายสูง ส่วนอุเคะมักมีความเป็นหญิงสูง แต่ทั้งสองฝ่ายยังสามารถแสดงให้เห็นถึงส่วนผสมระหว่างเพศสภาพทั้งสองได้ ในเรื่องเล่าบอยเลิฟ บุคลิกของเซเมะกับอุเคะไม่ได้ถูกกำหนดโดยมาตรฐานทางสังคมเพียงหนึ่งเดียวแบบสังคมชายเป็นใหญ่ที่ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง ตัวละครแต่ละตัวในบอยเลิฟจะถูกประเมินด้วยมาตรวัดที่แตกต่างกันสามระดับ ได้แก่ สถานะทางสังคม ร่างกาย และจิตใจ ปัจจัยทั้งสามนี้หลอมรวมกันเพื่อสร้างระบบความสัมพันธ์ในระดับปัจเจกของตัวละครบนพื้นฐานของความสมดุลของอำนาจ เช่น ตัวละครที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่าอาจมีคุณสมบัติทางจิตใจด้อยกว่าคู่รักของตน ตัวละครที่มีจิตใจแบบเซเมะคือเป็นฝ่ายรุกเร้าเข้าหาแต่พฤติกรรมทางร่างกายอาจเป็นอุเคะ หรือตัวละครอุเคะอาจมีนิสัยแก่นแก้วแข็งกร้าวแบบเซเมะก็ได้ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของเซเมะกับอุเคะจึงขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของคู่รักด้วย [9] กล่าวได้ว่าแม้ว่าคู่รักเซเมะ-อุเคะในบอยเลิฟจะเลียนแบบเพศสภาพและเพศวิถีแบบชาย-หญิง แต่ความแตกต่างระหว่างพวกเขาก็เป็นคุณลักษณะที่เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเกิดการจับคู่กันเท่านั้น โดยเพศสัมพันธ์เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมาก ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักผู้ชายในบอยเลิฟจึงเป็นอิสระจากการกดขี่ด้วยความแตกต่างทางเพศภายใต้โครงสร้างของความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบชาย-หญิงที่มักตายตัวตามเพศสรีระ

การมองความสัมพันธ์และบทบาทระหว่างเพศแบบชายรักชายของบอยเลิฟให้มีลักษณะลื่นไหลเช่นนี้ยังสามารถสอดรับไปกับกระบวนทัศน์แบบเควียร์(Queer) ซึ่งปฏิเสธการจำแนกอัตลักษณ์ทางเพศให้เป็นแบบขั้วตรงข้ามกันระหว่างรักต่างเพศ-รักเพศร่วมเพศ กระบวนทัศน์แบบเควียร์มองประเด็นเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศอย่างเปิดกว้างลื่นไหลไปตามบริบทเฉพาะต่างๆ ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศพร้อมที่จะถูกรื้อสร้างอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีนักวิชาการที่เห็นด้วยว่าสามารถมองตัวบทของบอยเลิฟต์ให้มีลักษณะแบบเควียร์ได้ผ่านทางการเสนอเพศวิถีที่ไม่เสถียร [11] แต่ก็มีผู้เห็นต่างและมองว่าไม่จำเป็นที่บอยเลิฟต์จะต้องเควียร์เสมอไปเช่นกัน [12] ดังนั้นแม้ตัวบทของบอยเลิฟต์ทุกเรื่องอาจจะไม่มีลักษณะเควียร์หรือมีความลื่นไหลทางอัตลักษณ์ทางเพศอย่างสมบูรณ์โดยไร้ข้อโต้แย้ง แต่ความรักโรแมนติกของบอยเลิฟก็เป็นความพยายามสร้างโลกที่คู่รักต่างเพศไม่มีอภิสิทธิ์ในฐานะแบบอ้างอิงของวัฒนธรรมทางเพศ และยังแสดงออกถึงความขุ่นเคืองต่อการครอบงำของรักแบบต่างเพศ [13]

กล่าวโดยสรุป “บอยเลิฟ” หรือเรื่องเล่าความรักโรแมนติดระหว่างผู้ชายเป็นการนำเสนอกลไกที่ช่วยปลดปล่อยการแสดงออกทางเพศซึ่งถูกครอบงำจากนิยามของเพศวิถีที่ถูกต้องภายใต้อุดมการณ์ปิตาธิปไตยให้มีอิสระมากขึ้น เป็นการสร้างพื้นที่ “เล่นสนุกกับเพศวิถี” ในสื่อเร้าอารมณ์ทางเพศแบบใหม่ที่เป็นโลกของผู้ชายแต่ไม่ได้มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง ในด้านหนึ่งแม้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักชาย-ชายในบอยเลิฟจะยังอยู่ภายใต้กฎของเซเมะกับอุเคะที่กำหนดให้มีเฉพาะตัวละครฝ่ายรุกกับฝ่ายรับ แต่ในโลกของผู้ชายที่ไม่มีความแตกต่างทางเพศสรีระ ผู้ผลิตสามารถสร้างสรรค์เพศสัมพันธ์ที่หลอมรวมเพศสภาพที่หลากหลายและสร้างพลวัตของการแสดงเพศวิถีได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับที่ผู้เสพก็สามารถค้นหาเพศสัมพันธ์ในแบบที่ตัวเองชอบได้ เพราะบอยเลิฟเปิดอิสระให้แก่การเปลี่ยนหรือเลือกมุมมองต่อการแสดงออกทางเพศได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การเสพความรักโรแมนติคระหว่างผู้ชายไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่ม LGBT หรือสาววายเท่านั้น เพราะบอยเลิฟสร้าง“โลกที่เปิดให้เกิดการผสมผสานของเพศสภาพได้อย่างหลากหลาย” และทำให้ผู้เสพเป็นอิสระจากนิยามของ “เพศวิถีที่ถูกต้อง” ซึ่งตกอยู่ภายใต้อุดมการณ์ปิตาธิปไตยที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลางและยอมรับเฉพาะความสัมพันธ์แบบต่างเพศที่ไม่เท่าเทียมกันเพียงรูปแบบเดียว

.

.


เอกสารอ้างอิง

[1] LINE Insights. (2020). Y-Economy- Study: A major opportunity to reach consumers’ minds and hearts in 2020, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565: https://lineforbusiness.com/files/Y-Economy%20Study_whitepaper.pdf.

[2] นัทธนัย ประสานนาม. (2563). การเว้นระยะห่างทางเพศสถานะ: นวนิยายยาโออิของไทยในการเมืองเรื่องขนบ วรรณกรรมกับการตีความ. วารสารศาสตร์, 13(3): 160-187.

[3] ภูวิน บุญยะเวชชีวิน และณัฐธนนท์ ศุขถุงทอง (2564) โลกของวาย: ซีรีส์วาย ปรากฎการณ์วาย หัวนมวัยรุ่นชาย และวายาภิวัตน์. สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[4] รัตน์ชนก วงษ์สมบัติ (2564). What When Where “Y” การเดินทางของซีรีส์วาย, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565: https://thepotential.org/social-issues/what-when-where-y/.

[5] ชานันท์ ยอดหงษ์. (2565). วายคือวาย ไม่ใช่ LGBTQ? การปะทะกันของความหมายเพศชายรักกัน.สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565: https://thematter.co/thinkers/y-culture-and-lgbtq/147689

[6] 堀あきこ.(2020). 「ポルノとBL:フェミニズムによるポルノ批判から」守如子 (編)  『BLの教科書』有斐閣

[7] ณิชชารีย์ เลิศวิชญโรจน์. (2560). เรื่องจริงกึ่งประวัติศาสตร์ / เทพนิยายกรีก – โรมัน / Yaoi / Yuri / คู่จิ้น และสารพัดเรื่องราวเพื่อก้าวเข้าไปในหัวใจสาววาย.กรุงเทพฯ :บันบุ๊คส์

[8] ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (2556). เพศ : จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ.สำนักพิมพ์สมมติ:กรุงเทพฯ.

[9] Fujimoto, Y. (2015). The evolution of BL as “playing with gender”: Viewing the genesis and development of BL from a contemporary perspective. In Boys love manga and beyond: History, culture, and community in Japan (pp. 76-92). University Press of Mississippi.

[10] Beggan, J. K., & Allison, S. T. (2003). Reflexivity in the pornographic films of Candida Royalle. Sexualities, 6(3-4), 301-324.

[11] Nagaike,K. and Aoyama,T. (2015). What is Japanese “BL Studies?” A historical and analytical overview. In Boys love manga and beyond: History, culture, and community in Japan (pp. 129-140). University Press of Mississippi.

[12] Wood, A. (2013). Boys’ Love anime and queer desires in convergence culture: transnational fandom, censorship and resistance. Journal of Graphic Novels and Comics, 4(1), 44-63.

[13] นัทธนัย ประสานนาม. (2564). นวนิยายยาโออิของไทย: การเมืองวัฒนธรรมของเพศสถานะและเพศวิถีในโรมานซ์ประชานิยม.กรุงเทพฯ : ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.


บทความล่าสุด

เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค
เมื่อ “ไทย” กลายเป็น “หมากสำคัญ” ของอาชญากรรมจีนเทาในภูมิภาค

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเหตุการณ์ที่นายหวังซิง (หรือชื่อเล่นว่าซิงซิง) นักแสดงชาวจีนถูกหลอกให้มาแคสงานแสดงที่ประเทศไทย แต่สุดท้ายกลับถูกพาไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และถูกพาข้ามพรมแดนไปยังประเทศเมียนมาแล้วหายสาบสูญไป กระทั่งแฟนสาวของซิงซิงได

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ การยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวจีนเติบโตขึ้นถึง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลูกเล่นหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเล่น “คำผวน” ซึ่งเป็นการเล่นคำโดยการสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะต้น กับเสียงสระและตัวสะกดและวรรณยุกต์ของคำจำนวน 2 พยางค์ขึ้นไป เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีควาหมายก็ได้

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์
2568
กระแสเอเชีย
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนที่ติดตั้งกลางสี่แยกห้วยขวางบนโลกอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และหลายฝ่ายให้ความสนใจ กระทั่งสำนักงานเขตห้วยขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกา

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย