สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

LGBT กับการต่างประเทศของญี่ปุ่น

โดย ดร.ทรายแก้ว ทิพากร


                                                                                      

เมื่อปลายเดือนเมษายนได้มีการจัดงาน Tokyo Rainbow Pride ครั้งที่ 22 ในกรุงโตเกียว เป็นงานที่มีการรวมตัวของชาว LGBTQ กว่า 10,000 คน ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย งานดังกล่าวปกติจะมีการจัดงานกันทุกปี ยกเว้นในช่วงการระบาดของโรคโควิดทำให้ต้องงดการจัดงานไป งาน Tokyo Rainbow Pride จัดขึ้นโดยกลุ่ม LGBT ในญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมการยอมรับและความเท่าเทียมกันในสังคม เป็นงานที่ทำให้มีการเปิดประเด็นและตั้งข้อสังเกตุต่างๆ เกี่ยวกับสังคมญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อต้นปีนี้เอง ได้เกิดข่าวใหญ่ในวงการเมืองเมื่อทีมงานของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะได้กล่าววาจาดูหมิ่นชาว LGBT จนเกิดกระแสต่อต้านขึ้น และนายกรัฐมนตรีต้องยุติการทำงานของผู้ช่วยทีมงานคนดังกล่าว  และในโอกาสที่จะมีการจัดการประชุม G-7 ครั้งที่ 49 ที่เมืองฮิโรชิมาในเดือนพฤษภาคมนี้ ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของชาว LGBT ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นในเวทีระหว่างประเทศ เกิดเป็นกระแสผลักดันจากภายนอกประเทศที่ขับเคลื่อนให้รัฐบาลของนายคิชิดะต้องพิจารณาเรื่องสิทธิตามกฎหมายของชาว LGBT กันอย่างจริงจัง

ประเด็นเกี่ยวเนื่องกับชาว LGBT เป็นเรื่องของความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิและสถานะทางกฎหมายตลอดไปจนถึงสถานะทางสังคมของ LGBT ในญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ในประเทศญี่ปุ่น LGBT ไม่ใช่สิ่งที่ต้องห้าม ได้รับการยอมรับตามรัฐธรรมนูญ และการใช้ชีวิตในฐานะ LGBT ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย กล่าวคือ ตามรัฐธรรมนูญ ทุกคนได้รับการรับประกันสิทธิมนุษยชน ห้ามการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ เพศ สถานะทางสังคม และกำเนิดของครอบครัว ตลอดจนมีแผนงานด้านความเท่าเทียมกันทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย ทั้งยังมีการจัดสรรงบประมาณเฉพาะสำหรับกิจกรรมด้านนี้ เช่น การมี LGBT hotline แต่ยังไม่มีการอนุญาติให้จดทะเบียนสมรส

เมื่อการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันตามกฎหมายทำไม่ได้ ก็ทำให้เกิดความไม่สะดวกในหลายๆกรณี ทั้งยังละเมิดสิทธิมนุษยชนในบางครั้ง ตัวอย่างเช่น ในการรับมรดกเมื่อคู่ชีวิตเสียชีวิต  และในกรณีที่คู่ชีวิตต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากไม่มีสถานะเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย โรงพยาบาลอาจไม่แจ้งข่าวให้ทราบเมื่อคู่ชีวิตป่วยหนักหรือเสียชีวิต หรือไม่สามารถให้ลงนามรับรองการรักษาพยาบาลในบางกรณี ยิ่งเป็นคู่ LGBT ที่ไม่เคยเปิดเผยให้ญาติได้รับรู้ ก็จะยิ่งไม่มีโอกาสจะได้รับทราบข่าวคราวของคู่ชีวิตเลย  ได้มีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของ LGBT ในช่วงภัยพิบัติแผ่นดินไหว 311 ที่ย่าน Tohoku  และพบว่า LGBT เป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ได้มีแผนงานสำหรับคนกลุ่มนี้ เช่น การจัดหายาบางประเภทสำหรับ LGBT การขอใช้บริการที่พักอาศัยชั่วคราวที่ไม่อนุญาตให้คู่เพศเดียวกันพักอาศัยร่วมกันในฐานะครอบครัว และการใช้ห้องน้ำในศูนย์อพยพ ซึ่งหากการแต่งกายที่แสดงออกไม่ตรงกับเพศสภาพก็จะถูกเฝ้ามอง ถูกเพ่งเล็ง  

ภายในสังคมของญี่ปุ่น การเป็นเกย์ในทุกรูปแบบยังไม่ใช่สิ่งที่สามารถเปิดเผย หรือเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป การเปิดเผยตนเองมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับการยอมรับ อาจถูกมองว่าเห็นแก่ตัว และบางครอบครัวก็ยังยอมรับไม่ได้ จะเห็นได้ว่าคนเด่นคนดังในสังคมยังไม่ออกมาเปิดตัวกันมากนัก ทั้ง ๆ ที่เพศที่สามไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นสิ่งที่สอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายที่เป็นผู้เลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็กชายให้เติบโตและมีความรู้ในสายงานวิชาชีพ (Nanshuko) เป็นเรื่องปกติ แม้แต่ในวัฒนธรรมซามุไรก็จะมีวัฒนธรรมที่เด็กชายเมื่อถึงวัยอันควร มีความปรารถนาที่จะเป็นซามุไรเต็มตัว ก็จะเริ่มติดตามซามุไรที่ตนชื่นชอบ ซามุไรผู้ใหญ่ก็จะมีผู้ติดตามและต้องมีความรับผิดชอบที่จะดูแลอบรมสั่งสอนทั้งเทคนิคการต่อสู้ และมารยาทสังคมให้แก่ผู้ติดตาม (Wakashu) วิถีของผู้ติดตามดังกล่าวก็จะต้องมีวัฒนธรรมของตน กล่าวคือเริ่มต้นเมื่อจะเข้าสู่ความเป็นวัยรุ่น ในทางกายภาพร่างกายยังไม่เติบโตเต็มที่ ต้องแสดงตัวไม่ใช่ทั้งชายและหญิง โดยมีการแต่งตัวทรงผมที่คล้ายผู้ชายคือโกนศีรษะครึ่งทางแต่ใส่เสื้อผ้าคล้ายผู้หญิง เมื่อผู้ติดตามเรียนรู้จนถึงช่วงอายุหนึ่งประมาณ 18 ปี มีความพร้อมที่จะเป็นซามุไรเต็มตัว ก็จะเป็นอิสระออกไป แล้วซามุไรผู้ใหญ่ก็สามารถจะมี wakashu คนใหม่ เมื่อพิจารณาถึงวัฒนธรรมซามุไรที่มีพื้นฐานมาจากคำสอนของพุทธ ทั้ง nanshuko และ wakashu จึงมีความสืบเนื่องกัน และทั้งสองแบบมีหมายความถึงการมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างชายกับชาย

วัฒนธรรม wakashu ยังมีอิทธิพลต่อการละเล่นที่เรียกว่า kabuki ในเวลาต่อมา ละครคาบูกิเริ่มจากวัฒนธรรมของพ่อค้า โดยที่อำนาจของความร่ำรวยทำให้กลุ่มพ่อค้าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลขึ้นมา แข่งรัศมีกับซามุไรซึ่งถูกลดทอนอิทธิพลทางเศรษฐกิจลงไปจากนโยบายของโชกุนที่ต้องมีการเดินทางเข้าไปเอโดะปีเว้นปี การละเล่นบันเทิงของพ่อค้าเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ต่อมาเมื่อมีการห้ามใช้ผู้แสดงเป็นหญิงในศตวรรษที่ 17 จึงมีการใช้เด็กชายเป็นผู้แสดง และเป็นที่นิยมอยู่ในช่วงหนึ่ง โดยประยุกต์วัฒนธรรม wakashu ของซามุไรเข้ามาสู่วงการคาบุกิ  ในเวลาต่อมาเด็กชายเหล่านี้ก็เข้าสู่วงการขายบริการทางเพศด้วย

กล่าวกันว่า ทัศนคติที่รังเกียจความรักของเพศเดียวกันเกิดขึ้นเมื่อสังคมญี่ปุ่นพยายามก้าวตามความทันสมัยในแบบของตะวันตก อิทธิพลของความเชื่อแบบคริสเตียนที่เข้ามาในปลายศตวรรษที่19 ทำให้สังคมญี่ปุ่นมองว่าความรักของเพศเดียวกันเป็นบาป

ในขณะที่การแก้ปัญหาในระดับชาติยังไม่สามารถขับเคลื่อนให้ผ่านพ้นไปได้  ชาว LGBT ได้พยายามรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนกันและกัน เช่น ในปี 1971 มีการตั้งกลุ่มชาวเลสเบียนขึ้นในกรุงโตเกียว เรียกชื่อว่า Young Grass Club[1] ต่อมาในปี 1998 การผ่าตัดแปลงเพศได้รับการรับรองตามกฎหมาย   ในระดับส่วนตัว LGBT ได้มีการพยายามแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ตามกฎหมายและได้รับสิทธิในฐานะครอบครัวตามกฎหมาย ด้วยการให้คู่ LGBT จดทะเบียนเป็นพ่อ-ลูกกัน  ส่วนในระดับรัฐบาลท้องถิ่นได้มีความพยายามที่จะช่วยเหลือชาว LGBT เริ่มตั้งแต่ปี 2013 เขตโยโดกาวะ ในเมืองโอซาก้าประกาศเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับ LGBT ต่อมาในปี 2015 เมืองนาฮาในโอกินาวาก็ประกาศเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับ LGBT ต่อมาในปี 2020 รัฐบาลท้องถิ่นใน 38 เมือง และเพิ่มขึ้นอีก 73 เมืองในปี 2021[2] ได้ริเริ่มมาตรการที่รับรองคู่แต่งงานเพศเดียวกัน รวมทั้งในเดือนพฤศจิกายน 2022 กรุงโตเกียวได้อนุญาตให้คู่เพศเดียวกันสามารถลงทะเบียน และได้รับใบรับรองเพื่อให้สามารถได้รับสิทธิบางอย่างที่เคยจำกัดเฉพาะคู่สมรสต่างเพศ จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2023 ได้มีการลงทะเบียนในลักษณะนี้แล้วถึง 500 คู่ สิ่งนี้เป็นสัญญานว่า ในปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นเริ่มเปิดใจยอมรับ LGBT กันมากขึ้น ในปี 2018 บริษัท Dentsu ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นต่อ LGBT และพบว่าร้อยละ 78.4 ของคนช่วงอายุ 20-50 ปียอมรับให้คู่เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้

แต่การปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ ในระดับรัฐบาลท้องถิ่นก็ยังไม่สามารถช่วยเปิดโลกของ LGBT ให้มีเสรีภาพได้ดังเช่นในประเทศพัฒนาแล้วที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนได้รับการยอมรับกันทั่วไป ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ประเทศญี่ปุ่นยังไม่ยอมรับการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันตามกฎหมาย ทั้งนี้อาจเกิดจากความกังวลของฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา ในปี 2016 พรรคฝ่ายค้านได้เคยเสนอร่างพรบ.เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติต่อ LGBT แต่ภายในพรรค LDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกลับมีกระแสต่อต้านพรบ.ดังกล่าว อดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะยังเคยกล่าวว่า เรื่องการอนุญาตให้มีการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังมาก แม้แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็มีทัศนคติเช่นเดียวกัน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมค่อนข้างกังวลว่า หากให้มีการรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันอาจทำให้ค่านิยมเกี่ยวกับครอบครัวต้องผิดเพี้ยนไป  และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ จึงได้เคยมีคู่เพศเดียวกันทำการร้องต่อศาลว่าการห้ามการสมรสระหว่างเพศเดียวกันก่อให้เกิดความเสียหาย ศาลได้ตัดสินว่า การห้ามการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญ แต่การขาดกรอบทางกฎหมายที่อนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ริดรอนสิทธิของประชาชน[3]

ป้ายสนับสนุนสิทธิการสมรสเพศเดียวกัน ในงาน Tokyo Rainbow Pride

.

เมื่อจะมีการจัดประชุม G-7 ในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ได้มีการเปรียบเทียบสังคมญี่ปุ่นกับกลุ่มประเทศ G-7 และสรุปว่าในสังคมของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันตามกฎหมาย  ประเด็นนี้ถูกนำมากล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำอีกในสื่อต่างๆ จนทำให้เกิดความเข้าใจว่า แรงผลักดันที่ญี่ปุ่นจะก้าวเข้าไปได้รับการยอมรับในเวทีผู้นำระหว่างประเทศ เป็นเหตุผลหลักของการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย มากกว่าจะพุ่งเป้าหมายไปที่การช่วยเหลือกลุ่ม LGBT ให้ได้รับความเป็นธรรม  ตัวอย่างของแรงผลักดันจากต่างประเทศนี้ มีปรากฎให้เห็นเช่นกันในช่วงของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโตเกียวในปี 2021 ซึ่งประเด็น LGBT ก็ได้รับความสนใจเป็นระลอกใหญ่มาแล้ว ทั้งสองเหตุการณ์ในช่วง 3 ปีนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสังคมญี่ปุ่นที่ชาวเอเชียชื่นชมในความสำเร็จในทางเทคโนโลยีอย่างสูงนี้ ยังคงดิ้นรนที่จะได้รับการยอมรับว่าทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก และความปรารถนานี้เป็นแรงขับเคลื่อนที่มีพลังสำหรับสังคมญี่ปุ่น  แต่ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นเอกลักษณ์อีกด้านหนึ่งของญี่ปุ่นว่า ความเหนียวแน่น ความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นคุณธรรมที่เข้มข้นมาก จนทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆของสังคมเกิดขึ้นได้ยาก

ประเด็นสิทธิและความเท่าเทียมกันของกลุ่ม LGBT  ทำให้เราได้เห็นอิทธิพลของตะวันตกต่อสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ในสมัยที่ประเทศตะวันตกขยายอิทธิพลเข้าสู่เอเชีย  ญี่ปุ่นถูกบังคับให้ทำสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ถูกมองว่าต่ำต้อยกว่าชาติตะวันตก ดังนั้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าสังคมญี่ปุ่นมีความทันสมัยไม่แพ้ตะวันตก สังคมญี่ปุ่นยอมรับวัฒนธรรมจากตะวันตกเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมจากการยอมรับความรักระหว่างเพศเดียวกันเป็นความรังเกียจและถือว่าผิดบาป  มาจนถึงในปัจจุบัน เหล่าประเทศผู้นำของโลกให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกันทางเพศ ญี่ปุ่นก็ต้องแสดงตนว่ามีทัศนคติที่ทันสมัยทัดเทียมกับสังคมของกลุ่มประเทศผู้นำ  อิทธิพลจากต่างประเทศจึงกลายเป็นข้อเรียกร้องที่มีพลังในการผลักดันให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบต่างๆเกี่ยวกับ LGBT อย่างจริงจังกันอีกครั้งหนึ่ง


[1] Ritsumeikan Asia Pacific University. “Pride in Japan : The history of the LGBTQ+Community” https://admissions.apu.ac.jp/blog/news/?page=164&type=

[2] Vindu Mai Chotani and Olivier Ammour-Mayeur, “The Politics of Sexual Minorities in Japan” in The Diplomat Available March 15, 2023 from www.thediplomat.com/2023/03/the-politics-of-sexual-minorities-in-japan/

[3] Isabel Reynolds. “Why Japan Is Considering a Move Toward LGBTQ Rights,” Bloomberg. Available March 6, 2023 from www.washingtonpost.com/business/why-japan-is-considering-a-mve-toward-lgbtq-rights/2023/03/02/


เอกสารอ้างอิง :

1.Diletta Fabiani. “History of Same-Sex Samurai Love in Edo Japan,” All about Japan.[May 1, 2017]  Accessed May 2, 2023 from https://allabout-japan.com/en/article/5187/

2.Ritsumeikan Asia Pacific University. “Pride in Japan : The history of the LGBTQ+ community,” Accessed from https://admissions.apu.ac.jp/blog/news/?page=164&type=

3. Isabel Reynolds. “Why Japan Is Considering a Move Toward LGBTQ Rights,” The Washington Post. [March 6, 2023] Accessed May 2, 2023 from www.washingtonpost.com/business/why-japan-is-considering-a-mve-toward-lgbtq-rights/2023/03/02/

4. Vindu Mai Chotani and Olivier Ammour-Mayeur, “The Politics of Sexual Minorities in Japan,” The Diplomat [March 15, 2023] Accessed May 2,2023 from www.thediplomat.com/2023/03/the-politics-of-sexual-minorities-in-japan/

5. “What is it like being LGBT in Japan?” Izanau [April 29,2020] Accessed May 2, 2023 from izanau.com/article/view/lgbt-japan


บทความล่าสุด

“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม
“เซี่ยงไฮ้” จุดหมายใหม่ของคนไทยติดแกลม

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ การยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2024 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวจีนเติบโตขึ้นถึง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน
“ผวน” และ “ฝ่าน”(反)ลูกเล่นทางภาษาของไทยและจีน

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลูกเล่นหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเล่น “คำผวน” ซึ่งเป็นการเล่นคำโดยการสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะต้น กับเสียงสระและตัวสะกดและวรรณยุกต์ของคำจำนวน 2 พยางค์ขึ้นไป เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีควาหมายก็ได้

ณัฐเสกข์ นาคสิทธิ์
2568
กระแสเอเชีย
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง
มองการเข้ามาของคนจีนผ่านข่าว “การซื้อพาสปอร์ต” ที่ห้วยขวาง

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพป้ายโฆษณาภาษาจีนที่ติดตั้งกลางสี่แยกห้วยขวางบนโลกอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และหลายฝ่ายให้ความสนใจ กระทั่งสำนักงานเขตห้วยขวางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกา

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2568
กระแสเอเชีย
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน
น้องหมีเนย Butterbear กับแฟนด้อมชาวไทยและจีน

กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ หลายคนคงรู้จักน้อง “หมีเนย” หรือ “น้องเนย” มาสคอตหมีสีน้ำตาลอายุ 3 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูจากร้าน Butter Bear Cafe แบรนด์ขนมในเครือของร้าน Coffee Beans by Dao ที่ตั้งอยู่ในห้าง Emsphere ชั้น G ซึ่งได้รับความชื่นชอบและได้รับการตอบรับเป็

กุลนรี นุกิจรังสรรค์
2567
กระแสเอเชีย
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS”

บทความนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) จากงานสัมมนา ACMECS FORUM เรื่อง “รู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สู่อนาคต ACMECS” ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษา

ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์
2567
กระแสเอเชีย