โดย ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
เด็ก ๆ ในกรุงคาบูลกำลังนั่งอ่านหนังสือบนรถบัสเคลื่อนที่ ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มภาคประชาสังคม ที่ชื่อว่า Charmagz Team”
(ที่มาภาพ: https://womenyoushouldknow.net/freshta-karim-mobile-library-reading-kabul)
.
“การศึกษา” กลายเป็นประเด็นสำคัญในอัฟกานิสถานหลังตอลิบานเข้าปกครองในปี 2021 เนื่องจากตอลิบานเคยถูกตั้งคำถามในสมัยแรกที่เข้าปกครองอัฟกานิสถานตั้งแต่ ค.ศ. 1996-2001 โดยเฉพาะประเด็นการศึกษาในหมู่สตรี ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในเวลาต่อมา “ตอลิบาน” (เด็กนักเรียนศาสนา) ถูกก่อตั้งขึ้นมาท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง ช่วง ค.ศ. 1996 ซึ่งอัฟกานิสถานเต็มไปด้วย “ขุนศึกและการล้างแค้น” การบริหารราชการที่ล้มเหลว โดยเฉพาะเรื่อง “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน” โดยเฉพาะภัยของเหล่าสตรีที่ถูกคุกคาม ตอลิบานจึงช่วยเหลือสตรีชนบทจำนวนมากที่ถูกลักพาตัว กระทำชำเรา ล่วงละเมิดสตรี รวมถึงเรียกค่าไถ่โดยกลุ่มขุนศึกเดิมที่เคยเรืองอำนาจตามถ้อยคำทางประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ใน “The Hand Stand” จึงเป็นที่มาของท่านมุลลาห์ มุฮัมหมัด อุมัร (Mullar Muhammad Umar) ที่พยายามรวมตัว “กลุ่มนักเรียน” หรือ “บรรดาตอลิบ” เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้รอดพ้นจากการถูกคุกคาม (The Hand Stand, 2002)
ทางออกเดียวภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบของอัฟกานิสถานในช่วงนั้นสำหรับการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม นั่นก็คือ ตอลิบานได้ออกข้อบังคับ “ห้ามผู้คนออกจากบ้าน” โดยเฉพาะสตรี รวมทั้งห้ามการศึกษา เนื่องจากไม่มีความปลอดภัยในการเดินทาง เพราะมีการแก้แค้น การฆาตกรรม และการกระทำชำเราสตรีเกิดขึ้นทุกหัวระแหงในอัฟกานิสถาน อีกทั้งหลักสูตรการศึกษามีหลายรูปแบบ ซึ่งถูกกำหนดโดยขุนศึกและชนชั้นปกครองหลายกลุ่ม มีการผสมปนเปทั้งทางด้านแนวคิด ค่านิยม ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง ไร้ระบบที่แน่นอน
ตอลิบานจึงมองว่า ความไร้ระเบียบของระบบการศึกษาดังกล่าวเป็นที่มาของความไม่พร้อมในการสร้างเยาวชนอัฟกัน อีกทั้งเพื่อความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ตอลิบานจึงออกข้อบังคับว่า หากสตรีจำเป็นต้องออกจากบ้านนั้นจะต้องสวมใส่ชุดบุรกา (ชุดคลุมยาวที่มีผ้าปิดหน้า) ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อปกป้องการถูกล่วงละเมิดและลักพาตัว ด้วยเหตุนี้ การบังคับสวมใส่บุรกาจึงเป็นเหตุผลความปลอดภัย (Ludwig W. Adamec, 2003: 70)
อย่างไรก็ตาม แม้ชีวิตในสมัยนั้นถูกจำกัดด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและความไม่สงบภายในประเทศ กระนั้น “การศึกษา” ยังถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะตามเจตจำนงของหลักคำสอนอิสลาม อย่างไรก็ตาม การศึกษาในสถานการณ์ไม่ปกตินั้นจะต้องมีระบบการจัดการที่แตกต่างออกไปตามบริบทของวัฒนธรรมในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของเรื่องเล่าอันทรงพลังผ่านวรรณกรรมเยาวชนที่เรียกว่า “The Library Bus” นั่นเอง
.
The Library Bus: ในนามวรรณกรรม
บะราม เราะฮฺมาน (Bahram Rahman) ได้นำเสนอ “The Library Bus” ในปี 2020 ซึ่งว่าด้วยการต่อสู้ของครูสตรีที่คอยเผยแพร่ความรู้ไปยังผู้คนในชุมชนอัฟกันท่ามกลางสมรภูมิสงคราม The Library Bus คือ รถบัสที่ไม่มีที่นั่งผู้โดยสาร จะมีก็แค่เพียงเก้าอี้และโต๊ะสำหรับเรียนหนังสือ ซึ่งปารี (Pari) เด็กน้อยอายุ 5 ขวบได้เดินทางพร้อมคุณแม่ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาและอุปกรณ์การเรียนให้แก่เด็ก ๆ ในชนบทและค่ายอพยพ ไม่ว่าจะเป็นดินสอ กระดาษ และอื่น ๆ รวมถึงสอนหนังสือเด็ก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาปาร์ซี คุณตาของปารีเคยสอนว่า “ฉันต้องการให้เธอนั้นตั้งใจเรียน และอย่าหยุดในการเรียนรู้ แน่นอน เธอจะรู้สึกมีอิสรภาพ”
การเดินทางจึงเป็นที่มาของการได้พบกับมิตรสหายและสถานที่แห่งใหม่ กระนั้นความปรารถนาสำคัญของคุณแม่ปารีคือ การหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้อื่น ซึ่งแม่ของปารีได้กล่าวว่า “ฉันจะช่วยพวกเขาเหมือนกับคุณตาของเธอได้ช่วยฉัน” (Bahram Rahman, 2020) บะราม เราะฮฺมาน กำเนิดในคาบูล จบการศึกษาทางด้านแพทย์ศาสตร์จาก Kabul Medical University และจบปริญญาโททางด้านนโยบายสาธารณะจาก University of Erfurt เยอรมณี ในปี 2012 ได้อพยพไปยังแคนาดาและทำงานในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสทางด้านนโยบายประจำกระทรวงสาธารณสุข (Melania Ho, 2020, Pajama Press and Barnes and noble)
บะราม เราะฮฺมานเคยกล่าวว่า “เมื่อคุณลืมตาในสมรภูมิสงคราม เป็นเรื่องยากที่คุณจะเข้าใจคำว่าสันติภาพ ในทางกลับกัน สงครามคือเรื่องธรรมดาสำหรับคุณ”
บะราม เราะฮฺมานได้รับแรงบันดาลใจสำคัญในการเขียน The Library Bus ขณะตนเองนั้นเดินทางไปเยี่ยมญาติในศรีลังกา ซึ่งการแลกเปลี่ยนครั้งนั้นคือ การบอกเล่าชีวิตของเยาวชนในอัฟกานิสถาน จนเป็นที่มาของงานวรรณกรรมชิ้นดังกล่าว The Library Bus คืองานเขียนที่สดุดีแก่ครูสตรีที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์ความรู้ท่ามกลางความท้าทายและอุปสรรคนานับประการด้วยการกล่าวว่า “ข้าพเจ้าต้องการสดุดีแด่บรรดาครูสตรีที่กล้าหาญและมีไหวพริบผ่านแนวทางสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ซึ่งทำให้การศึกษาของเด็กผู้หญิงนั้นเป็นจริงทั้ง ๆ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคและสถานการณ์ไม่ปกติ” (Bahram Rahman, 2020)
บะราม เราะฮฺมานได้รับแรงบันดาลใจสำคัญในการเขียน The Library Bus ขณะตนเองนั้นเดินทางไปเยี่ยมญาติในศรีลังกา ซึ่งการแลกเปลี่ยนครั้งนั้นคือ การบอกเล่าชีวิตของเยาวชนในอัฟกานิสถาน จนเป็นที่มาของงานวรรณกรรมชิ้นดังกล่าว The Library Bus คืองานเขียนที่สดุดีแก่ครูสตรีที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์ความรู้ท่ามกลางความท้าทายและอุปสรรคนานับประการด้วยการกล่าวว่า “ข้าพเจ้าต้องการสดุดีแด่บรรดาครูสตรีที่กล้าหาญและมีไหวพริบผ่านแนวทางสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ซึ่งทำให้การศึกษาของเด็กผู้หญิงนั้นเป็นจริงทั้ง ๆ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคและสถานการณ์ไม่ปกติ” (Bahram Rahman, 2020)
แม้ The Library Bus จะเป็นวรรณกรรมเยาวชนขนาดสั้น กระนั้นก็ได้รับรางวัลมากมายไม่ว่าจะเป็น Northern Light Book Award (2020) South Asian Book Award และ Best Book for Kids (2021) อีกทั้งยังเข้ารอบสุดท้ายในรางวัล FLA Children’s Book Award (2022) (Pajama Press)
.
The Library Bus ในชีวิตจริง
The Library Bus ถือเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญที่ถ่ายทอดมาจากชีวิตจริงของกลุ่ม “Charmagz Team” (วอลนัท) ซึ่งมีสมาชิก 8 คน (Sorin Furcoi, 2019) นำโดยเฟรชตา กะรีม (Freshta Karim) สาวชาวอัฟกันที่อยู่ในปากีสถานฐานะ “ผู้อพยพ” และกลับมายังอัฟกานิสถานในปี 2002 เฟรชตา กะรีมจบนโยบายสาธารณะจาก Oxford University เธอเริ่มต้นขับเคลื่อนการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนชาวอัฟกานิสถาน (Anne Cassidy, 2019) ด้วยการเช่ารถบัส 2 คัน เพื่อใช้ห้องสมุดเคลื่อนที่ (Mobile Library) โดยมีที่นั่ง ชั้นวางหนังสือ และโต๊ะเขียนหนังสือ แรงบันดาลใจสำคัญของ “Charmagz Team” คือ “ความเป็นเด็กของพวกเขาที่ต้องสูญเสียไปไม่ต่างจากเด็กอีกหลายล้านคนในประเทศอัฟกานิสถานก่อนการดำรงอยู่ของชีวิต” (The National News, 2019)
ชีวิตในวัยเด็กของพวกเขาที่ต้องอยู่ท่ามกลางสมรภูมิความรุนแรง ส่งผลให้เด็กถูกบั่นทอนความฝันในวัยเยาว์ Charmagz Team จึงเน้นการศึกษาด้วยการคิดเชิงวิพากษ์ เน้นตรรกะ ฝึกตั้งคำถามเพื่อการต่อยอดองค์ความรู้ (Pary Shuaib, 2018) รถบัสห้องสมุดเคลื่อนที่จึงออกเดินทางไปจอดยังโรงเรียน ชุมชน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า สวนสาธารณะ รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ในชนบทจำนวน 4 แห่งในแต่ละวัน ซึ่งจะจอดที่ละ 2 ชั่วโมง (Sorin Furcoi, 2019) เฟรชตา กะรีมกล่าวว่า “รถบัสห้องสมุดเคลื่อนที่นั้นจะจอดริมถนนในชุมชนปราศจากคนพลุกพล่านเพื่อป้องกันการเป็นเป้าสายตาของกลุ่มก่อความไม่สงบ” (The National News, 2019)
ห้องสมุดเคลื่อนที่มีเด็กมาใช้บริการวันละไม่น้อยกว่า 300 คน มีหนังสือวรรณกรรมมากมายทั้งภาษาเปอร์เซีย ปัชโต อังกฤษ และอื่น ๆ หนังสือส่วนมากได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิม์และองค์กรภาคประชาสังคม (Pary Shuaib, 2018) ในปี 2018 มีผู้ใช้บริการรถบัสห้องสมุดเคลื่อนที่มากกว่า 40,000 คน อีกทั้งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการศึกษาและสามารถยกระดับอัตราการรู้หนังสือมากกว่าร้อยละ 36
ในปี 2018 เด็กอัฟกานิสถานได้เรียนหนังสือมากกว่า 8 ล้านคน ในขณะเด็กอีก 3.5 ล้านคนยังขาดโอกาส เนื่องจากปัญหาความรุนแรง ความยากจน รวมทั้งสถานศึกษาปิดเนื่องความไม่มีเสถียรภาพในประเทศ ในปี 2019 มีนักเรียนมากกว่า 9.65 ล้านคนที่มีโอกาสเรียนหนังสือ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีสตรีกว่า 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มจากปีก่อนหน้าประมาณ 203,028 คน (Afghanistan Asia-News, 2018)
The Library Bus ถือเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างโอกาสทางการศึกษาท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง เฟรชตา กะรีมที่ได้กล่าวว่า “แม้รถบัสห้องสมุดเคลื่อนที่นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาระบบการศึกษาร้อยแปดพันเก้าในอัฟกานิสถานได้ แต่อย่างน้อยการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวนั้นคือจุดเริ่มต้นของการการแก้ไขปัญหา” (Afghanistan Asia-News, 2018) เฟรชตา กะรีมยังตั้งเป้าว่า “อยากจะขับเคลื่อนห้องสมุดเคลื่อนที่ไปทั่วอัฟกานิสถานภายใน 5 ปี” เธอดีรับแรงบันดาลสำคัญจากบทกวีของเมาลานา ญาลาลุดดีน บัลกี หรือ “ท่านรุมี” ที่ได้กล่าวว่า “ใครก็แล้วแต่ที่ได้เดินออกจากวิถีแบบเดิม เขาจะพบกับเส้นทางแห่งใหม่” (Pary Shuaib, 2018)
The Library Bus จึงเป็นวรรณกรรมเยาวชนอีกเล่มที่น่าอ่านเพื่อทำความเข้าใจสังคมอัฟกานิสถาน อีกทั้งงานเขียนชิ้นนี้ได้ฉายให้เห็นถึงการศึกษาที่ไม่รู้จบและการเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้นท่ามกลางสมรภูมิความรุนแรง
.
อ้างอิง
- Afghanistan Asia-News. (2018). ‘Charmaghz library bus brings reading to Afghan children. Afghanistan Asia-News.’ 9 July, 2018. https://afghanistan.asia-news.com/en_GB/articles/cnmi_st/features/2018/07/09/feature-01
- Anne Cassidy. (2019). ‘Moving stories: inside the book buses changing children’s lives.’ The Guardian. 5 November 2019. https://www.theguardian.com/cities/2019/nov/05/moving-stories-inside-the-book-buses-changing-childrens-lives
- Bahram Rahman and Illustrated by Gabrielle Grimard (2020). ‘The Library Bus.’ Pajama Press.
- Barnes and noble. ‘The Library Bus.’ https://www.barnesandnoble.com/w/the-library-bus-bahram-rahman/1135711532
- Melania Ho. (2020). “The Library Bus” by Bahram Rahman. Asian Review of Books. 5 December 2020. https://asianreviewofbooks.com/content/the-library-bus-by-bahram-rahman/
- Pajama Press. ‘The Library Bus.’ https://pajamapress.ca/book/the_library_bus/
- Pary Shuaib. (2018). ‘Freshta Karim on her mobile library and spreading the joy of reading In Kabul.’ Women you should know. 28 august, 2018. https://womenyoushouldknow.net/freshta-karim-mobile-library-reading-kabul/
- Sorin Furcoi. (2019). ‘‘This is how we’ll change the country’ – inside Kabul’s book bus.’ Aljazeera. 7 March 2019. https://www.aljazeera.com/gallery/2019/3/7/this-is-how-well-change-the-country-inside-kabuls-book-bus
- The Hand Stand. (2002) ‘Afghan History by the Taliban and Others: Sayyid Rahmatullah Hashemi, the Taliban Ambassador’s Speech in the University of Southern California on March 10, 2001.’ The Hand Stand. http://www.thehandstand.org/archive/december2002/articles/afghan.htm
- The National News. (2019). ‘The library bus in Afghanistan that is driving change – in pictures.’ The National News, 14 July, 2019. https://www.thenationalnews.com/arts-culture/books/the-library-bus-in-afghanistan-that-is-driving-change-in-pictures-1.885652
Ludwig W. Adamec. (2003). Historical Dictionary of Afghanistan. Lanham: The Scarecrow Press.