กิจกรรม โครงการประชุม สัมมนา เสวนาวิชาการ

หน้าแรก / กิจกรรม

เสวนาวิชาการ

การบรรยายพิเศษ เรื่อง “soft power กับโอกาสของไทยในเอเชีย”

การบรรยายพิเศษ เรื่อง “soft power กับโอกาสของไทยในเอเชีย” การบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชุดโครงการ “โปรแกรมวิจัยยุทธศาสตร์ภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง”

การศึกษาเพื่อขับเคลื่อนชุดโครงการ “โปรแกรมวิจัยยุทธศาสตร์ภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง” ได้นำคณะทำงานไปสู่องค์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการส่งออกภาพยนตร์ ละคร และสารคดีไทยในพื้นที่เอเชีย ความรู้ส่วนหนึ่งว่าด้วยแนวทางปรับตัวเพื่อสร้าง Thai soft power อีกส่วนสัมพันธ์กับองค์ความรู้ด้านพื้นที่ที่จะช่วยอำนวยงานส่งออกการปรับตัวเพื่อสร้าง Thai soft power มาจากการศึกษากรณีความสำเร็จของชาติชั้นนำ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ร่วมกับการค้นคว้าศักยภาพของไทยโดยอิงโมเดล soft power คณะทำงานได้ประมวลความออกมาเป็น ข้อจำกัดกับความเป็นไปได้ซึ่งเผยให้เห็นทิศทางการทำงานที่อาจเหมาะสมกับเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งในมิติบุคลากร ผลิตภัณฑ์และช่องทาง คณะทำงานเชื่อว่า หากไทยสามารถปรับตัวให้สอดรับกับทิศทางดังกล่าว การขับเคลื่อน soft power ของไทยจะมีความลื่นไหล ทั้งยังเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องสำหรับโอกาสของไทยในเอเชีย คณะทำงานอาศัยความร่วมมือจากคณะนักวิจัยภายในสถาบันเอเชียศึกษาและบุคลากรภายนอก โดยโอกาสของไทยในเอเชียคือการร่วมแบ่งปันความรู้เชิงพื้นที่ที่จะชี้ความเฉพาะบางอย่างเพื่อนำไปประกอบแผนปฏิบัติการ คณะนักวิจัยทั้งหมดคือผู้เชี่ยวชาญในสาขามุสลิมศึกษา จีนศึกษา เอเชียใต้ศึกษา แม่โขงศึกษา และญี่ปุ่นศึกษา ครอบคลุมความรู้ด้านประชากรและแนวโน้มการบริโภคในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น อาเซียนตอนบน และโลกอาหรับ ทั้งหมดถือเป็นตลาดสำคัญสำหรับไทยด้วยมีกำลังซื้อสูงและมีโอกาสที่ไทยจะสามารถขยายตลาด หรือ สร้างความนิยมในพื้นที่ใหม่ ๆ อย่างประเทศซาอุดิอาระเบีย ไต้หวัน หรือ ส่วนภูมิภาคในญี่ปุ่น ความรู้หมวดนี้สอดรับกับความต้องการทางเศรษฐกิจไทยยุคหลังโควิด-19 ไม่ว่าอย่างไรการถ่ายทอดชุดความรู้ทั้งสองจะอยู่ในรูปของการบรรยายโดยกระชับความ ประเด็นละ 20 นาที อาศัยวีดิทัศน์ ดนตรี และเอกสารภาพประกอบเสริมความเข้าใจ เมื่อเสร็จสิ้นการบรรยาย ผู้ร่วมรับฟังสามารถแลกเปลี่ยน ความเห็น หรือ ซักถามตามความสงสัย ทั้งนี้ soft power กับโอกาสของไทยในเอเชียจะช่วยให้แผนการสร้างเสน่ห์วัฒนธรรมไทยมีความชัดเจนและพร้อมพัฒนาไปเป็นงานปฏิบัติการ

  • ภารกิจ Soft Power ภายใต้ข้อจำกัด และศักยภาพของไทย – ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ หัวหน้าชุดโครงการ “โปรแกรมวิจัยยุทธศาสตร์ภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง” สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
  • โอกาสของไทยในญี่ปุ่น – ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ Division of Sociology, Graduate School, Kyoto Sangyo University
  • ความเข้าใจตลาดไทยในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง – อาจารย์อดิศร เสมแย้ม ผู้อำนวยการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ความบันเทิงไทยกับการเปิดตลาดประเทศอาหรับ – ดร.อารีฟีน ยามา ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ความเป็นไปได้ของไทยในการพัฒนาตลาดไต้หวัน – อาจารย์สมาน เหล่าดำรงชัย ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นฐานในเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ความเปลี่ยนแปลงในตลาดเอเชียใต้และจีน – อาจารย์จตุพร สุวรรณสุขุม นักวิจัยร่วมชุดโครงการ “โปรแกรมวิจัย ยุทธศาสตร์ภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง” สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.อารีฟีน ยามา ศูนย์มุสลิมศึกษาพูดถึงตลาดอาหรับ คนอาหรับเห็นแบบนี้ เสพความบันเทิงฮอลลีวูดอยู่นะจ๊ะ รองลงมาก็เป็นภาพยนตร์/ซีรีส์จากอียิปต์ ตามด้วยอินเดีย ของอินเดียเป็นที่นิยมเพราะแรงงานอินเดียในประเทศกลุ่มอาหรับเยอะครับ อีกประเทศที่มาแรงคือตุรกี คนอาหรับมองว่า มันเป็นส่วนผสมระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก ประเทศไทยก็สามารถส่งออกสื่อบันเทิงไปบ้านเขาได้ แต่ต้องเข้าใจความจำเพาะของเขาในเรื่องศาสนา วิถีชีวิต ส่วนคนบ้านเขามาบ้านเราเยอะ ชอบไมตรีจิตของเรา ชอบบริการทางการแพทย์ของเรา ฯลฯ ระหว่างจะแยกทางกัน ดร.ฟีมเล่าเพิ่มครับว่า ภาพยนตร์แรง ๆ อย่าง The Wolf of Wall Street ยังไปฉายในยูเออีเลย เขาไม่ได้แบน เพียงแต่เขาตัดออก และฉากที่โดนเอาออกรวมกันนานตั้ง 45 แน่ะ ส่วนซาอุดีอาระเบียยกเลิกการแบนภาพยนตร์เมื่อปี 2018 ถ้าเป็นก่อนนั้น คนซาอุดีอาระเบียต้องนั่งเครื่องไปดูภาพยนตร์ที่ยูเออีกัน

อาจารย์จตุพร สุวรรณสุขุม ใส่สองประเทศพร้อมกัน ได้แก่ จีนและอินเดีย ขอยกตัวอย่างสั้น ๆ ก็แล้วกันครับ อ.จตุพรบอกว่า คนอินเดียมาไทยค่อนข้างมาก เขาชอบบรรยากาศท่องเที่ยวไทย แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เข้าใจคือ เวลาเราโปรโมทการท่องเที่ยว เรามักเอาอาหารอย่างผัดไทยกับต้มยำกุ้งไปแสดง เขาไม่พิสมัย ส่วนคนจีน บางครั้งมาท่องเที่ยวไทยเพราะตามรอยซีรีส์บ้านเขาที่มาถ่ายทำบ้านเรา เขาอยากมาถ่ายรูปกับเซ็ตในซีรีส์ แต่อนิจจา เจ้าของร้านทุบทิ้งไปแล้ว ประเทศจีนคลั่งไคล้ไทยเยอะอยู่ เพียงแต่มันมีมาตรการชิงหล่างที่ต้องระวัง มันคือการควบคุมเนื้อหาในความบันเทิงและโซเชียลมีเดีย ดังนั้นความบันเทิงไทย ถ้าจะไปไม่ว่าอินเดีย หรือ จีน ต้องศึกษากติกา ความเป็นอยู่ ความชอบบ้านเขา ข้อมูลเหล่านี้ อ.จตุพรเอามานำเสนอด้วยครับ แต่มันเยอะเกินกว่าจะเล่าในที่นี้

อ.สมาน ศูนย์ ARCM อ.สมานกล่าวถึงไต้หวัน เห็นเขาเล็ก ๆ ประชากร 23 ล้าน แต่พลังซื้อเขาติดอันดับโลกเลยนะ คนไต้หวันชอบไทยมาก ซีรีส์เรา นักแสดงเราเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ชมที่นั่น ในเวลาเดียวกันไต้หวันต้องการผูกสัมพันธ์กับเราเสมอ มาจัดงานวัฒนธรรมบ่อยครั้ง เพียงแต่ความร่วมมือเรากับเขาติดขัดนโยบายจีนเดียว ดังนั้นเราต้องทำความร่วมมือระดับกรม ไม่ใช่กระทรวง แต่มันไม่สำคัญ ผู้ประกอบการของเราสามารถติดต่อเขา ได้เพื่อไปจัดงานแสดงร่วม อ.สมานย้ำครับว่า เรื่องความบันเทิงไม่ใช่เรื่องที่อ่อนไหวต่อนโยบายจีนเดียว เราทำได้ ถ้าใครสนใจ ติดต่ออ.สมานได้เลยครับ ให้ท่านแนะนำ แต่ถ้าเป็นเรื่องอาหรับ ไปหาอ.ฟีม อินเดียและจีนไปคุยกับอ.จตุพร หรือมาเอเชียศึกษานี่แหละครับ เราเปิดพื้นที่ด้านความบันเทิงกับ soft power นักวิจัยหลายท่านพร้อมลุย


รายละเอียด

วันที่

7 กรกฎาคม 2565

เวลา

09:00 - 12:00