เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.30 – 11.30 น. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการจัดปาฐกถาพิเศษว่าด้วยความสำคัญของพันธมิตรหลากหลายอารยธรรม โดย ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League) ในโอกาสเยือนศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในการนี้ ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง “The Importance of Alliance of Civilizations” โดยได้รับการแปลและสรุปความเป็นภาษาไทยโดย ดร.มูฮัมหมัดอามีน เจะหนุ
เนื้อความโดยสรุป ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา ได้กล่าวถึงความหลากหลายทางด้านอารยธรรม ซึ่งมีทฤษฎีมากมายอันเกี่ยวข้อง บางทฤษฎีสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายด้านอารยธรรม บางทฤษฎีมีความเห็นต่าง ทั้งนี้เจตนารมณ์สำคัญที่สุดของทุกอารายธรรมคือทุกอารยธรรมนั้นต้องการที่จะเกื้อกูลระหว่างกัน ดังนั้น ในมุมของศาสนาอิสลาม อัลลอฮฺ ได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อให้รู้จักซึ่งกันและกันบนพื้นฐานความหลากหลาย ทุกอารยธรรมนั้นล้วนมีอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งเราให้การเคารพในทุกๆ อารยธรรม
อย่างไรก็ดี ทุกอารยธรรมก็ย่อมมีสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ดีต่ออารยธรรมนั้นๆ แต่จะทำอย่างไรให้ทุกอารยธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในด้านภาคปฏิบัติหรือการอยู่ร่วมกันในสังคมอันอยู่บนพื้นฐานของการมีความสามัคคีกัน ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า ประมาณ 10% ของทุกอารยธรรมจะมีคุณค่าที่เหมือนหรือสอดคล้องร่วมกันอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของมารยาทหรือคุณธรรมต่างๆ ที่ร่วมกันอยู่ประมาณ 10% ซึ่งในส่วนนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่สามารถทำให้ทุกอารยธรรมมองเห็นคุณค่ากันและกันได้
อันที่จริงแล้ว เป้าประสงค์หลัก ของการที่จะต้องเป็นพันธมิตรกันทางด้านอารยธรรมของความหลากหลายและหลักการที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้
ประการที่หนึ่ง ในศาสนาอิสลามหรือทุกๆ ศาสนาให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในทุกอารยธรรม
ประการที่สอง สิ่งที่เราร่วมมือกันได้คืออารยธรรมทางการศึกษา การใฝ่หาความรู้ การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ซึ่งจะนำมาสู่ความเข้าใจในการเป็นพันธมิตรด้านอารยธรรม
ประการที่สาม การที่มีพันธมิตรที่หลากหลายอารยธรรมนั้น เป็นการบ่งบอกถึงความเป็นพี่น้องไม่ว่าเราจะอยู่ในแผ่นดินใดประเทศใดก็ตาม ความรักชาติที่ทุกคนมีนั้นสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่น และเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คนที่เป็นประชาชนของประเทศนั้นๆ
ประการที่สี่ ในทุกอารยธรรมมีความต่าง แต่ในความต่างยังมีความเหมือน นั่นคือมีความต้องการรับและความต้องการให้ ดังนั้นจึงสามารถร่วมมือกันเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้
ประการที่ห้า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเราสามารถสังเกตได้ว่ามีกลุ่มสุดโดต่งที่นำความแตกต่างทางวัฒนธรรมมาใช้เป็นข้อขัดแย้ง เพื่อให้เกิดความวุ่นวายและเพื่อให้เกิดความเห็นต่างกันและกัน ถือเป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะทุกศาสนา ทุกอารยธรรมมีความดีงาม ความดีงามเหล่านี้จะทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกันในทุกอารยธรรม
เพื่อให้เกิดพันธมิตรในเรื่องความหลากหลายทางอารยธรรมและการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา ได้กล่าวว่า “เราจำเป็นที่จะต้องสอนลูกหลานของเรา และสร้างความเข้าใจให้เกิดความตระหนักว่า ความหลากหลายทางอารยธรรมไม่ได้เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน ความหลากหลายทางอารยธรรมเป็นสิ่งดีงาม และทุกคนก็ควรภาคภูมิใจในอารยธรรมตัวเอง”
ในช่วงท้ายของการปาฐกถาพิเศษได้มีกิจกรรมการกิจกรรมถาม – ตอบแก่ผู้เข้าร่วม สื่อมวลจาก จากนั้นจึงมีการ มอบของที่ระลึกแก่กันโดยเลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลกและรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่วมถ่ายภาพกับผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรและหน่วยงานที่เข้าร่วม เป็นอันจบกิจกรรม