กิจกรรม โครงการประชุม สัมมนา เสวนาวิชาการ

หน้าแรก / กิจกรรม

เสวนาวิชาการ

สัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “รถไฟลาว-จีน : ผลกระทบ โอกาสและความท้าทายต่อไทย หลังเปิดให้บริการ”

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “รถไฟลาว-จีน : ผลกระทบ โอกาสและความท้าทายต่อไทย หลังเปิดให้บริการ”


เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมไทย – ลาว เพื่อมิตรภาพ และกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “รถไฟลาว-จีน : ผลกระทบ โอกาส และความท้าทายต่อไทย หลังเปิดให้บริการ” ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประเมินโอกาส ผลกระทบ และความท้าทายที่จะเกิดขึ้นต่อไทยเมื่อรถไฟลาว – จีนเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ โดยมีนายเจษฎา กตเวทิน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ นายกสมาคมไทย – ลาว เพื่อมิตรภาพ และนางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เข้าร่วม
ในงานสัมมนาฯ มีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรางและโลจิสติกส์จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมให้ข้อมูล รวมถึงมีหลากหลายภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประเมินผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยประเด็นที่ฝ่ายต่าง ๆ ได้ให้ความสนใจและแลกเปลี่ยนมุมมอง ครอบคลุม ความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวและนโยบายการเชื่อมโยงทางรางของจีนกับภูมิภาค การเชื่อมโยงของโครงการฯ กับโครงการระบบรางต่าง ๆ ของไทย โอกาสของผู้ประกอบการไทย และความท้าทายที่จะมาพร้อมกับการเชื่อมโยงต่าง ๆ และแนวทางการรับมือของไทย

มีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า ๘๐ คน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ คุณเจษฎา กตเวทิน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, คุณอาจารี ศรีรัตนบัลล์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก, และคุณทรงชัย ชัยปฏิยุทธ ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก ๒ รวมทั้งคุณเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ นายกสมาคมไทย- ลาวเพื่อมิตรภาพ เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว.โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ คณบดีคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลาย มหาวิทยาลัยนเรศวร, ว่าที่ร้อยเอก ณัฏฐพร บัวผุด รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมการขนส่งทางราง, คุณภาวิณา อัศวมณีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์การลงทุน กองยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.พิษณุ เหรียญมหาสาร อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท V-Serve Group .ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ในประเด็นต่างๆ เช่น.”การใช้ประโยชน์ของไทยจากเส้นทางรถไฟลาว-จีน ก่อนโครงการรถไฟไทย-จีนจะแล้วเสร็จ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC), ท่าเรือแหลมฉบัง, ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) ต่างๆ และปัญหาการเชื่อมต่อ (Missing Link) กับโครงการรถไฟไทย-จีนในอนาคต”. “บทบาทเส้นทางรถไฟลาว-จีน ในการสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่ง และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของไทยกับโอกาสของไทยในการกลายเป็นห่วงโซอุปทาน (Supply Chain) ของจีน จากการใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีน ขนส่งสินค้าที่มีศักยภาพของไทยไปยังจีน”.”โอกาสจากเส้นทางรถไฟลาว-จีน ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย เฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ภูมิภาคและชายแดน รวมทั้งการเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ”.โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ลาว- จีน มูลค่า ๖ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นส่วนสำคัญของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(Belt and Road Innitiative : BRI) เริ่มต้นจากคุณหมิงในมณฑลยูนนาน ด้วยทางรถไฟสาย Yuxi-Mohan เชื่อมต่อด่านโมฮานของจีนเข้าสู่ชายแดนลาวที่ด่านบ่อเต็นในแขวงหลวงน้ำทาทางภาคเหนือของลาวไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ ความยาว ๔๑๔ กิโลเมตร ด้วยรถไฟความเร็ว ๑๖๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง และเชื่อมโยงกับระบบรถไฟของไทยบริเวณสถานีหนองคาย-ท่านาแล้ง โครงการนี้มีส่วนสำคัญที่จะทำให้พื้นที่ยากจนทางตะวันตกของจีน ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเลสามารถได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการเข้าสู่อาเซียน รวมทั้งเปลี่ยนลาว ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล (Land Locked) ให้กลายเป็นประเทศเชื่อมต่อ (Land Linked).เส้นทางรถไฟลาว-จีน จะมีผลประโยชน์แก่จีนเพียงเล็กน้อย หากไม่สามารถขยายเส้นทางไปยังไทยได้ ซึ่งเป็นจุดที่จีนต้องการเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจของอาเซียน ขณะที่โครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งเชื่อมโยงภูมิภาคกรุงเทพฯ-หนองคายช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง ๓๕๕ กิโลเมตร จะเริ่มดำเนินการในพ.ศ. ๒๕๖๓ และคาดว่าจะเสร็จในพ.ศ. ๒๕๖๘.ขณะนี้การก่อสร้างโครงการรถไฟลาว-จีน แล้วเสร็จร้อยละ ๙๐ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปลายพศ. ๒๕๖๔ เส้นทางรถไฟสายนี้จึงเป็นทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจต่อไทยในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งความท้าทายในมิติต่างๆที่ไทยต้องเผชิญและรับมือ.ผลของการสัมมนาครั้งนี้ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านแม่โขงศึกษา จะจัดทำเป็นหนังสือ (Monographs) บทความ (Commentaries) และข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Briefs) เสนอต่อรัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานรับผิดชอบ และสื่อในโอกาสต่อไป


รายละเอียด

วันที่

13 พฤศจิกายน 2563

เวลา

09:00 - 13:00

สถานที่

ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพ