“ความทรงพลังของสื่อทำอะไรกับประเด็นสุขภาพจิตได้บ้าง และสิ่งที่ทำสามารถส่งผลกระเพื่อมต่อสังคมได้มากน้อยเพียงใด”
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ โดยการสนับสนุนจาก สสส. ขอเชิญร่วมรับฟังการเสวนาว่าด้วยพลังของคนทำงานด้านสื่อ (media workers) กับการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี (mental health promotion)
Ep.1 / 3 เริ่มด้วยการเปิดใจเรียนรู้และ “ฟัง” คนที่มีชีวิตเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตใน 2 กลุ่ม ได้แก่
1) ผู้ที่เคยเผชิญปัญหา ผู้รักษา/ให้คำปรึกษา ผู้ดูแล
2) media workers ได้แก่ ผู้ผลิต นักเขียนบทละครโทรทัศน์ และผู้ฝึกสอน/ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสารด้วยแนวทางการแสดง

ลงทะเบียนงานเสวนา “สื่อจิต สื่อใจ: บทสนทนาของคนมีเรื่องเล่ากับคนเล่าเรื่อง”
เผยละครไทย พบเกิน 50% สร้างภาพจำสุขภาพจิตคลาดเคลื่อน สสส. สานพลัง สถาบันเอเชีย จุฬาฯ สร้างคู่มือเพื่อคนทำงานด้านสื่อ หวังเป็นพลังบวกส่งเสริม ป้องกัน สุขภาพจิตคนไทย
ดร.สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยความมั่นคงร่วมสมัยศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาแนวทางการสื่อสารประเด็นสุขภาพจิตในซีรีส์เกาหลีพบว่า 90 % มีการสอดแทรกประเด็นสุขภาพจิตที่ตรงกับชีวิตจริง ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกสงสารตัวละคร แต่เป็นเช่นเดียวกับโรคทางกายที่เมื่อป่วยก็เข้ารับการรักษาได้ ส่วนละครไทยพบเกิน 50% สื่อสารประเด็นสุขภาพจิตสร้างภาพจำทำให้เกิดการตีตราหรือความเข้าใจผิด เช่น คนเป็นออทิสติกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือโรคจิตเภทมีอาการประสาทหลอน ต้องมีฉากทำร้ายผู้คน ตอนจบนั่งอยู่ข้างถนน ผมรุงรัง เพื่อให้เกิดการสื่อสารเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชหรือสุขภาพจิตที่ถูกต้อง จึงได้จัดองค์ความรู้และพัฒนาคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อ ทั้งการยกตัวอย่างจากปัญหาในสังคมด้านสุขภาพจิต นำซีรีส์เกาหลีที่ประสบความสำเร็จและมีเนื้อเรื่องที่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพจิตมาเป็นกรณีศึกษา ปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวชในบริบทสังคมไทย แนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงสุขภาพจิตในละครและภาพยนตร์ โดยคู่มือจะเสร็จพร้อมใช้งานในสิ้นเดือน ต.ค.นี้
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนา สื่อจิต สื่อใจ บทสนทนาของ คนมีเรื่องเล่า กับ คนเล่าเรื่อง ว่า สสส. ร่วมกับสถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาโครงการการจัดการองค์ความรู้และพัฒนาคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต มีเป้าหมายขับเคลื่อนให้เกิดสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นมิตรกับจิตใจ ไม่ตีตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิต หรือผู้ที่มีความแตกต่าง ให้คนทำละครช่วยกันสร้างคอนเทนต์เชิงบวก จัดการองค์ความรู้เพื่อการสื่อสาร จากความร่วมมือของผู้ทำงานด้านสื่อภาพยนตร์ ละครในไทย พัฒนาคู่มือแนวทางการสื่อสารเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่ากลุ่มอื่น เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี มุ่งเน้น สร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ก่อนเจ็บป่วย มีแนวทางสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตดี สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ คนทุกช่วงวัยมีปัญญา อารมณ์ดี และมีความสุข อยู่ในสังคมอย่างทรงคุณค่า
น.ส.นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ กรรมการและเลขานุการสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์และนักเขียนบทละครโทรทัศน์ กล่าวว่า ละครไทยมีข้อจำกัดที่ต้องคำนึงถึงผลตอบรับเป็นหลัก ทำให้ละครที่ออกมาจะอิงกับสิ่งที่คนดูชื่นชอบ แต่ก็มีการสอดแทรกเรื่องความเข้าใจในเรื่องประเด็นสุขภาพจิตที่ไม่ไปตีตราว่า คนป่วยจิตเวชจะต้องทำร้ายคนอื่น หรือรักษาอาการไม่ได้ ขอบคุณ สสส. และสถาบันเอเชียศึกษาจุฬาฯ ที่จัดทำคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อมาเป็นหลักในการใช้สื่อสาร เพื่อถ่ายทอดพลังงานบวกให้กับคนเขียนบท ผู้จัดละคร คนดู และได้รับการสื่อสารประเด็นปัญหาสุขภาพจิตอย่างถูกต้องในวงการละครไทยต่อไป
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข