ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย (Asian Research Center for Migration) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ องค์กรThai Action Committee for Democracy in Burma (TACDB) ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานเสวนาวิชาการ “1ปีหลังรัฐประหารพม่า”
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30- 15.30 น
ณ ห้องประชุมพูนศุข หรือ Facebook Live : PBIC THAMMASAT

“ประชาชนยังคงยืนหยัดไม่ยอมแพ้” – นฤมล ทับจุมพล
รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พาย้อนมองถึงสาเหตุของการทำรัฐประหาร โดยชี้ว่าเป็นเหตุจากการเลือกตั้ง ซุ่งผลการเลือกตั้งสะท้อนว่าพรรค National League for Democracy (NLD) ที่นำโดยนางอองซานซูจี กำลังประสบความสำเร็จ และขยับขยายความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่พรรคตัวแทนกองทัพพม่าอย่าง Union Solidarity and Development Party (USDP) กำลังเหลือพื้นที่ทางการเมืองน้อยลงมาก จนน่ากังวลว่าจะหายไปในที่สุด
การไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในเกมการเลือกตั้งและความกังวลต่อภูมิศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองที่เปลี่ยนแปลงมหาศาลจนถึงจุดที่ไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป จึงเป็นเหตุให้กองทัพพม่าตัดสินใจทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ผลที่ตามมาคือประชาชนพม่าพากันออกมาต่อต้าน จนนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างกองทัพกับประชาชนที่ยกระดับความรุนแรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
“ใน 1 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ารัฐบาลทหารพม่ายังไม่สามารถปกครองได้ จึงเลือกใช้วิธีการใช้กำลังอาวุธในการจัดการ แล้วยิ่งฝ่ายต่อต้านเริ่มมีการตั้งกองกำลังป้องกันตนเองภายใต้การฝึกฝนของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ อัตราการสู้รบก็สูงขึ้น และคนเสียชีวิตก็สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงพฤศจิกายน-มกราคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุด และมีการประมาณการว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสู้รบทั้งหมดอยู่ที่ราว 7,000 คน” นฤมลกล่าว
“หลังเหตุการณ์ผ่านไป 6 เดือน มีการก่อตั้งกองกำลังประชาชน (People’s Defense Force: PDF) สิ่งที่น่าสนใจคือในช่วงแรกๆ การต่อต้านมักอยู่ในเขตพื้นที่บะหม่า (บริเวณที่คนส่วนใหญ่เป็นคนชนกลุ่มใหญ่พม่า) ในพื้นที่ mainland ส่วนในปัจจุบันเมื่อครบ 1 ปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือการสู้รบย้ายจาก mainland มาที่พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์”
นฤมลให้ข้อมูลต่อไปว่าพื้นที่หลักๆ ที่กองทัพพม่ามองว่ามีการต่อต้าน รวมถึงให้การสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านกองทัพอย่างชัดเจน ได้แก่ รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะยา (กลุ่มกะเหรี่ยงแดงหรือกะเรนนี) และรัฐฉาน จึงเป็นพื้นที่ที่กองทัพพยายามเข้ามาปราบปราม จนเกิดการสู้รบ และเป็นเหตุให้มีผู้หนีภัยสงครามข้ามมายังฝั่งไทย เนื่องจากทั้งสามพื้นที่นี้ล้วนอยู่ติดชายแดนไทย โดยนฤมลเตือนให้จับตาการสู้รบในพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งอาจส่งผลให้มีผู้หนีภัยสงครามเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม บทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์ในการต่อต้านรัฐประหารถือว่ามีความซับซ้อนคลุมเครือ โดยนฤมลมองว่าเป็นผลพวงจากยุทธศาสตร์แบ่งแยกแล้วปกครองของกองทัพพม่าที่มีมายาวนาน
“กองทัพพม่ามีประสิทธิภาพมากในการดึงกลุ่มชาติพันธุ์ให้พยายามต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ยึดครองของตัวเอง แทนที่จะต่อต้านเผด็จการ ก่อนการรัฐประหาร เราพบว่าหลายกลุ่มสู้กันเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในพื้นที่รัฐฉาน ต่อมาหลังรัฐประหารก็เกิดสถานการณ์ว่า ครึ่งหนึ่งตัดสินใจเข้าร่วมกับนักศึกษาเพื่อต่อต้าน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังลังเลอยู่ เพราะยังมุ่งให้ความสำคัญกับการยืนยันการปกครองตัวเองในพื้นที่” นฤมลกล่าว
“แต่สิ่งที่ลูกศิษย์ของดิฉันที่เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์พยายามอธิบายก็คือว่า การให้ความสำคัญกับการควบคุมพื้นที่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะเอาด้วยกับตัดมาดอว์ คำอธิบายของเขาที่เราเห็นด้วยก็คือ เราไม่สามารถมองกลุ่มชาติพันธุ์แบบเป็นองค์รวม และการที่เขาสู้กันเองไม่ได้แปลว่าเขาเป็นเครื่องมือของกองกำลังทหารพม่า ทุกกลุ่มไม่มีใครชอบกองทัพพม่า แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่สู้กันเอง”
“แต่สิ่งที่เราเห็นแน่ๆ จากเรื่องนี้คือ ซากเดนของการแบ่งแยกแล้วปกครองที่กองทัพพม่าทำมาในอดีต จนทำให้กลุ่มต่างๆ วุ่นวายกับการต่อสู้เพื่อขอบเขตบูรณภาพเหนือดินแดนของตัวเอง ทำให้บางกลุ่มแทนที่จะต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตย ก็หันมาให้น้ำหนักกับการสู้กันเอง แล้วก็อยู่เฉยๆ ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ถ้าเขาอยู่เฉยๆ กองทัพพม่าอาจจะประนีประนอมขึ้น”
นอกจากนั้น นฤมลยังชวนมองผลกระทบของเหตุการณ์รัฐประหารพม่าในเชิงเศรษฐกิจ โดยชี้ว่าพม่ากำลังเดินกลับเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบ cash economy หรือเศรษฐกิจเงินสด เนื่องจากฝ่ายต่อต้านมีการโจมตีระบบโทรคมนาคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารและระบบการเงินออนไลน์ รวมทั้งมีการแห่ถอนเงินจากธนาคาร ทิศทางของเศรษฐกิจในพม่าจึงถือว่ากำลังขัดแย้งกับกระแส digital transformation (การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล) ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจในระบบดิจิทัลจะหายไปเสียทีเดียว เพราะยังมีการใช้ระบบ e-commerce อยู่โดยเฉพาะในบริเวณชายแดน
ในแง่การลงทุน ก็พบว่าหลังรัฐประหาร หลายประเทศที่เป็นผู้ลงทุนสำคัญในพม่า อย่างสิงคโปร์และไทย มีการลงทุนที่ลดลง เนื่องจากหลายเครือธุรกิจประกาศถอนการลงทุน จึงน่าสนใจว่าพม่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะถึงแม้จะมีรัฐประหาร แต่เศรษฐกิจพม่าก็ยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศสูงอยู่
อย่างไรก็ตาม ประเทศหนึ่งที่ทิศทางการลงทุนในพม่าสวนทางกับประเทศอื่นๆ ก็คือจีน ที่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหาร โดยนฤมลชี้ว่า “จีนยังคงเป็นมหามิตร การรัฐประหารไม่มีผลกับการลงทุนของจีนในพม่า แต่สิ่งที่จีนเป็นห่วงคือ ถ้าความรุนแรงยังเพิ่มขึ้น สถานการณ์เศรษฐกิจจะแย่ลง ดังนั้นจีนจึงเริ่มมีบทบาทที่จะกดดันกองทัพพม่าว่า ถ้าคุณปกครองไม่ได้ คุณก็ต้องประนีประนอม”
เมื่อมองไปที่ทิศทางของสถานการณ์ประเทศพม่าในอนาคต นฤมลมองว่า ถึงแม้การประท้วงบนท้องถนนจะทำได้ยากขึ้น เพราะมีการปราบปรามจากกองทัพพม่าอย่างหนักหน่วง แต่ประชาชนพม่าก็จะยังคงไม่ยอมแพ้
“แม้จะยังไม่เห็นชัยชนะและถูกปราบทุกวัน แต่ประชาชนก็พยายามประกาศข้อเรียกร้องกับนานาชาติ นี่คือสิ่งที่พวกเขาประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยพวกเขาขอให้นานาชาติเปลี่ยนจากวิธีคิดเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องประชาธิปไตย และขอให้เปลี่ยนจากวิธีคิดเรื่องเศรษฐกิจไปเป็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ในแง่นี้จึงจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และการพัฒนา แต่ถ้าให้สรุป ดิฉันคิดว่าความคาดหวังของพวกเขาค่อนข้างยาก”
“สถานการณ์การสู้รบที่เราเห็นในแต่ละวัน เราจะยังเห็นอยู่ไหม ดิฉันว่าจะยังเห็นอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนยังคงยืนหยัดว่าจะไม่ยอมแพ้” นฤมลสรุป
365 วันหลังรัฐประหารพม่า เมื่อประชาชนยังคงยืนหยัดไม่ยอมแพ้ – The 101 World World