ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง ปลาทูคู่ไทย : การวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน จากการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการความร่วมมือกับกรมประมงและหลายภาคส่วน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี กรมประมง ได้ประสบความสำเร็จในการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการวางไข่ของพ่อแม่พันธุ์ปลาทูได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก เป็นความหวังว่าเราจะสามารถเพาะเลี้ยงปลาทูได้เองนอกจากการจับปลาทูตามธรรมชาติ และช่วยกันรักษาทรัพยากรทางทะเลได้ยั่งยืนขึ้น

ทีมงานวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี ประสบความสำเร็จในการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการวางไข่ของพ่อแม่พันธุ์ปลาทูได้เป็นครั้งแรก!! จากที่ได้รับมอบหมายจากกรมประมง และกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ในการบูรณาการร่วมสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการปลาทูคู่ไทย โครงการย่อยที่ 2 ได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาทู จากธรรมชาติ แล้วนำมาขุนเลี้ยงด้วยอาหารที่ต่างกัน 2 ชนิดในบ่อผ้าในโรงเพาะ พร้อมทั้งนำมาทดลองฉีดฮอร์โมนที่ระดับความเข้มข้นต่างกัน ในระยะเวลาการขุนเลี้ยง 3 เดือนจากไข่และน้ำเชื้อในระยะที่ 2 จนเป็นระยะที่ 4 และพ่อแม่พันธุ์มีขนาดประมาณ 134 กรัม จึงนำมาฉีดฮอร์โมนกระตุ้น เวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง พบไข่ปลาทั้งหมด 44,500 ฟอง ได้ลูกปลาแรกฟัก 20,000 ตัว ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนอนุบาลลูกปลาต่อไป นับได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกในการทดลองฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ จากอดีตที่ปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ปลาผสมกันเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นความหวังในการเพาะพันธุ์เพื่อปล่อยสู่ทะเลในเชิงอนุรักษ์ หรือการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาทูเชิงพาณิชย์